เรื่องและภาพ The Potential
- เพราะความรักและความผูกพันที่มีต่อหาดสวนกง ทำให้เยาวชนกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง จังหวัดสงขลา ลุกขึ้นมาปกป้องชายหาดของพวกเขาผ่านการทำโครงการค้นหาภูมิปัญญาบ้านสวนกง
- นอกจากจะปกป้องชายหาด เด็กๆ ยังได้สืบสานภูมิปัญญาชุมชน ผ่านการเรียนรู้ รวบรวมข้อมูลภูมิปัญหาที่มีในชุมชน ลงพื้นที่สัมภาษณ์ครูภูมิปัญหา เก็บข้อมูลแล้วนำมาเสนอในรูปแบบ ‘เวทีคืนข้อมูลชุมชน’ พร้อมกับชวนคนข้างนอกมาเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นดูหลำ ขุดบ่อน้ำจืด ปลาเค็มฝังดิน ปลาเส้น
- ยิ่งได้ลงมือทำ ได้เห็น ได้สัมผัส จากแค่รู้สึก ‘รักหาด’ ค่อยๆ พัฒนาเป็น ‘หวงแหน’ นอกจากชุดความรู้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชนชวนสวนกงแล้ว สิ่งที่เด็กๆ สัมผัสได้มากกว่านั้น คือ ความรักความผูกพันของพวกเขาและคนในชุมชนที่มีต่อหาดบ้านสวนกง หากเปรียบเยาวชนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของทะเล อาจเปรียบเสมือนเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ ที่รวมตัวทับถมกันจนเต็มหาดบ้านสวนกง เม็ดทรายที่พร้อมจะปกป้องชายหาดของตัวเองให้คงอยู่คู่กับชุมชน
เพราะชีวิตผูกพันกับทะเลมาตั้งแต่เด็ก หน้าหาดเปรียบเสมือนหน้าบ้าน และยังเป็นลานวิ่งเล่นช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียน ในขณะที่ทะเลที่เห็นตรงหน้า เปรียบเสมือนครัวขนาดใหญ่ที่ใช้หาเลี้ยงคนทั้งชุมชนบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
“ตอนเด็กๆ หนูจะตามพ่อไปไปไหนมาไหนด้วยตลอด เพราะพ่อเป็นนายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ เวลาสงสัยอะไรก็จะถามพ่อ ทำให้เราค่อยๆ ซึมซับความรู้เรื่องเกี่ยวกับทะล และผูกพันกับชายหาดและทะเลมาตั้งแต่เด็กค่ะ” และเพราะหาดคือชีวิต ทะเลคือลมหายใจของยะห์-ไครีย๊ะห์ ระหมันยะ เมื่อมีโอกาสแม้เพียงน้อยนิดที่จะปกป้องทะเล เธอจึงไม่รอช้า โดยเฉพาะกับการเข้าร่วมกิจกรรมวัดหาดสวนกงกับพี่น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี อดีตเยาวชนโครงการเยาวชนพลเมืองสงขลาและยังทำหน้าทีเป็นพี่เลี้ยงโครงการในปัจจุบัน
“หนูเข้าร่วมกิจกรรมวัดหาดกับพี่น้ำนิ่งอยู่ก่อนแล้ว และพอมีโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเปิดรับสมัคร พี่น้ำนิ่งก็ชวนให้ทำโครงการฯ ตอนนั้นยังลังเลเพราะกลัวจะเสียเวลา แต่พี่น้ำนิ่งแนะนำว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้เลยทั้งวัดหาดและทำโครงการ เราเห็นว่าน่าสนใจประกอบกับตอนนั้นเรามีหน้าที่แค่วัดหาดอย่างเดียว ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการค่ะ”
ไม่เฉพาะยะห์เท่านั้น กลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกงที่อาสาเข้ามาทำโครงการค้นหาภูมิปัญญาบ้านสวนกงในครั้งนี้ ยังประกอบด้วย นี-ณัฐกฤต หมัดเหล็ม, ฟี่-กฤษณา หมัดเหล็ม และ ซิกดิก-พายพัด หลำเจริญ
แปลง “ความผูกพัน” เป็น “พลัง”
ลำพัง ‘ความรัก ความผูกพัน’ มันไม่ส่งผลอะไรต่อการปกป้องดูแลหาดสวนกง น้องๆ กลุ่มนี้จึงพยายามแปลงความผูกพันให้เป็น ‘พลัง’ เพื่อที่จะส่งต่อความรัก และความผูกพันที่พวกเขามีให้กับคนอื่นๆ นี่คือเหตุผลของการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาในปีนี้
และอีกเหตุผลสำคัญของการเลือกมาทำโครงการนี้ ยะห์ บอกว่า เพราะเห็นความสำคัญของหาดที่เกี่ยวโยงกับการดำเนินชีวิต วิถีชีวิต การทำมาหากินของคนในสวนกง
“พี่น้ำนิ่งชวนเราวางแผนกันว่าเราจะทำอะไร พวกเราเลยตกลงกันว่าจะเอาภูมิปัญญาเกี่ยวกับทะเลและชายหาด เพราะอยากให้คนในชุมชนเขาเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาในหมู่บ้านสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อไป ถ้าเรากลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกงไม่ลุกขึ้นมาสืบสาน ภูมิปัญญาเหล่านี้ก็จะหายไป” ยะห์ เล่าที่มาของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
หลังจากที่โจทย์และเป้าหมายชัด ลำดับต่อมาคือ การระดมความคิดเพื่อวางแผนการทำงาน
“กิจกรรมแรก คือ จัดเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อเป็นการบอกเล่าที่มาของการทำโครงการในครั้งนี้” ทีมงาน เล่ากระบวนการทำงาน
และนอกจากการชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ทำ น้องๆ ยังใช้โอกาสที่ชุมชนมาร่วมประชุม สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาของบ้านสวนกง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการทำโครงการของตัวเอง
“เรานัดชาวบ้านประมาณบ่ายโมงแต่ชาวบ้านก็จะมาสามโมงกว่า เป็นปัญหาแรกที่เราเจอเลย เป็นปัญหาที่เราแก้ไม่ได้เพราะชาวบ้านมีหน้างานของตัวเอง พวกเราเลยปรับใหม่ว่าถ้านัดครั้งต่อไปเราจะก่อนเวลา เผื่อเวลาให้ชาวบ้านได้จัดการธุระของเขาก่อนแล้วเราค่อยเริ่มการประชุมไปพร้อมๆ กัน” ยะห์ เล่าให้ฟังต่อว่า พวกเธอเจอปัญหากันตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มวางแผนที่จะทำ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม น้องๆ ไม่ได้มองว่านั่นคือปัญหา แต่คือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการติดต่อประสานงาน เมื่อเข้าใจธรรมชาติของชาวบ้าน และปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ก็ทำให้พวกเธอสามารถเคลื่อนงานต่อได้
หลังชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนเรียบร้อยแล้ว น้องๆ เปิดรับสมัครชาวบ้านและเยาวชนที่สนใจเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเก็บข้อมูลภูมิปัญญาในชุมชน ซึ่งมีชาวบ้านอาสาสมัครมาจำนวน 12 คน โดยทุกครั้งก่อนลงพื้นที่ทีมงานจะประชุมกันอยู่เสมอ เพื่อหาข้อสรุปในการตั้งคำถามสำหรับใช้ลงพื้นที่
“คำถามที่พวกเราช่วยกันคิด จะถามเกี่ยวกับวิธีการ/ขั้นตอนการทำ ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง รายได้ และความสำคัญที่เชื่อมโยงกับทะเลและหาด เห็นความสำคัญของภูมิปัญญานั้นมากแค่ไหน ที่เลือกถามคำถามเหล่านี้เพราะต้องการสื่อสารให้รู้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ถ้าไม่มีหาดทรายจะอยู่กันอย่างไรค่ะ” ยะห์ บอกเล่าขั้นตอนการทำงานและเหตุผลของการตั้งคำถามเพื่อให้ได้ข้อมูลมา
หลังจากตกลงหัวข้อคำถามได้แล้ว ทีมงานจัดแจงลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลภูมิปัญญาชาวบ้าน “เราแบ่งบทบาทหน้าที่ ถามว่าใครถนัดเรื่องอะไรมากที่สุดให้รับหน้าที่นั้นไป อย่างยะห์พ่อเป็น ดูหลำ (เป็นคำเรียกคนที่ทำประมงด้วยการฟังเสียงสัตว์ทะเล พวกเขาจะฝึกฝนจนสามารถจับเสียงหายใจจากปลาและสัตว์น้ำใต้ทะเลได้) ก็จะรับอาสาทำเรื่องนี้ ส่วนฟีจะรับผิดชอบเรื่องปลากระบอกกับหาหอยเสียบ ซิกดิกจะดูแลเรื่องการทำไซปลากับดูหลำค่ะ เราจะแบ่งว่าใครจะเป็นสัมภาษณ์ ใครจะถ่ายรูป จดบันทึก เราอัดเสียงไว้ด้วยค่ะ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาถอดเทปและทำเป็นชุดข้อมูลสำหรับภูมิปัญญาสวนกงต่อค่ะ” ยะห์ ยกตัวอย่างวิธีการแบ่งงานเพื่อให้น้องๆ และตัวเองทำงานได้ง่ายในการเก็บข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ข้อมูล
จับคู่…สืบค้นภูมิปัญญา
พวกเธอเล่าบรรยากาศและความรู้สึกในตอนนั้นให้ฟังว่า “ตอนแรกเราคิดว่าเราจะได้แค่ที่เราตั้งคำถามไว้ แต่เอาเข้าจริงเกินกว่าที่เราตั้งคำถามไว้มาก บางครั้งเวลาเขาเล่าแล้วเราจะถามเขาต่อเพราะสงสัย พวกเราใช้เวลาสัมภาษณ์ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครูภูมิปัญญาหนึ่งคน ในหนึ่งวันเราจะได้ประมาณ 2 ภูมิปัญญาค่ะ แต่ที่ทำกันเป็นเดือนเพราะว่าไม่ค่อยมีเวลา แล้วต้องเรียนด้วยเลยค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะครบทุกภูมิปัญญา”
จากการลงพื้นที่สอบถามพูดคุยทีมงานรวบรวมได้ว่า ในชุมชนบ้านสวนกงมีภูมิปัญญากว่า 17 ภูมิปัญญา เช่น ดูหลำ ปลาเค็มฝังดิน เรือเกยหาด ปลาเค็มตากแห้ง ปลาเส้น ดูหลำเป็นภูมิปัญญาที่มีคนทำอยู่เพียงคนเดียว
ทีมงาน สะท้อนให้ฟังว่า จากการลงสัมภาษณ์ข้อมูลในครั้งนั้น ครูภูมิปัญญาบางท่านไม่ค่อยทราบความเปลี่ยนแปลงของหาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นโอกาสให้ทีมงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างการสนทนา
“เรามีข้อมูลเรื่องหาดกัดเซาะ เราก็ไปเล่าให้เขาฟัง จากที่เขาไม่ค่อยสนใจ เขาก็มาคิดว่าถ้าเขามาสร้างท่าเรือน้ำลึกแล้วจะไปหาหอยเสียบที่ไหน ทำให้เขาเริ่มมองเห็นความสำคัญของหาดมากขึ้นค่ะ” ยะห์เล่า
ด้านฟีและนี เล่าบรรยากาศการลงพื้นที่ที่ต้องฝืนตัวเอง ไม่ค่อยกล้าพูด แต่เพื่องาน เพื่อโครงการทำให้พวกเธอต้องกล้าที่จะเอ่ยถามข้อมูลออกมา “ไปครั้งแรกไม่กล้าเลย กลัวแต่พอเข้าไปพูด ไปถามเขาแล้วเขาเอ็นดูเรา แล้วก็เป็นคนอยู่ในหมู่บ้าน ก็ไม่เขินอะไรมาก ก่อนหน้านี้พวกเราไม่ค่อยสนิทกับผู้ใหญ่ เดี๋ยวนี้ไปไหนก็ทักเรา ‘ยะห์ นี ทำอะไรวัดหาดอีกเหรอ’ จากที่ไม่พูดกันระหว่างชาวบ้านกับเด็ก กลับกลายเป็นว่าเราทำงานควบคู่ไปด้วยกันค่ะ”
นอกจากความรู้และข้อมูลเรื่องภูมิปัญญาที่พวกเขาได้กลับมาเป็นกอบเป็นกำแล้วสิ่งที่หนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและคนในชุมชนที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นผ่านการสนทนานั่นเอง
คืนความรู้…คนรักสวนกง
กิจกรรมต่อไปที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายทีมงานมากที่สุดนั่นคือ ‘เวทีคืนข้อมูลชุมชน’ พวกเธอบอกว่ากลุ่มเป้าหมายของการคืนข้อมูลในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่คนในชุมชนบ้านสวนกงเท่านั้น แต่ทีมงานเชิญคนภายนอกที่มีชีวิตเกี่ยวโยงกับทะเลด้วยที่ควรได้รับข้อมูลที่พวกเธอทำการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
“เรายกตัวอย่างแค่ 4 ภูมิปัญญา คือ ปลาเค็มฝังดิน ดูหลำ ขุดบ่อน้ำจืดและปลาเส้น เพราะเป็นภูมิปัญญาที่พ่อกับแม่ของทีมงานเป็น และเราก็มีข้อมูลมากที่สุดค่ะ เราแบ่งเป็น 2 ห้องเรียน คือดูหลำจับคู่ขุดบ่อน้ำจืด ปลาเค็มฝังดินคู่กับปลาเส้น ดูหลำก็จะเรียนที่บ้านยะห์ ปลาเส้นจะเรียนที่บ้านนี โดยเราจะพาผู้เข้าร่วมลงพื้นที่ปฏิบัติไปพร้อมๆ กับบอกวิธีการและสาธิตให้ดู” ยะห์ อธิบายรูปแบบกิจกรรมในวันคืนข้อมูลที่เธอและน้องๆ ในทีมร่วมกันออกแบบ
ถึงจะวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ แต่ก็ไม่วายที่จะประสบปัญหาอยู่ดี เพราะช่วงเวลาที่จัดไม่ตรงกับฤดูของการทำปลาเส้นทำให้ขาดวัตถุดิบในการทำปลาเส้น ทีมงานแก้ไขปัญหาด้วยการสาธิตกรรมวิธีในการทำปลาเส้นแทน
“วันนั้นเพราะเวลาที่จำกัดประกอบกับวัตถุดิบไม่เพียงพอเพราะเป็นฤดูมรสุม เราเลยแก้ปัญหาด้วยการสาธิตกรรมวิธีให้เขาเห็นแบบคร่าวๆ แทนค่ะ ทำไปพรางก็เล่าให้เขาฟังด้วยว่า จากนี้แล้วจะต้องนำไปทำอะไรต่อถึงจะได้ออกมาเป็นปลาเส้นที่ขึ้นชื่อของชุมชนเราค่ะ” ฟีและนีช่วยกันปัญหาและวิธีการแก้ไปปัญหาเฉพาะหน้าในฐานที่ตัวเองอยู่ประจำให้ฟัง
ในขณะที่ซิกดิกอยู่ฐานขุดบ่อน้ำจืด รับบทเป็นวิทยากรสาธิตวิธีการขุดน้ำจืดให้กับผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันทำ ซิกดิกเล่าว่า “ตอนเขาจัดกิจกรรมมีคนที่เขาพาลูกๆ มาเรียนด้วย สนุกที่เด็กได้มาขุดริมหาด เด็กชอบ ตอนที่อธิบายก็มีเกร็งบ้าง พูดไม่ค่อยออกเหมือนกัน” แม้จะเขินอายบ้าง แต่ซิกดิกก็แก้ไขด้วยการเน้นทำมากกว่าเน้นพูด และกลายเป็นความสนุกทั้งผู้ร่วมและเจ้าของกิจกรรม
หลังเสร็จงานเวทีคืนข้อมูลทีมงานร่วมกัน ถอดบทเรียนการทำงานของตัวเอง เพื่อช่วยกันทบทวนกิจกรรมที่ทำมา ผ่านหัวข้อชวนคุยที่ว่า วันนี้เราเห็นอะไรบ้างที่เป็นข้อดี อะไรบ้างที่ควรปรับปรุง แล้วมาสะท้อนกันเอง ทำอะไรไปบ้างทำให้ได้นำเรื่องเหล่านั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
“เราเห็นความอบอุ่นมากกว่า ถึงจะมีจุดผิดหลายจุด แต่ว่าคนกลับมองไม่เห็นว่าเรามีจุดผิด เค้ากลับรู้สึกสนุกแล้วก็อบอุ่นไปกับข้อมูลที่เรามอบให้ แต่ว่าเรายอมรับว่าวันนั้น จุดพลาดของเราเยอะมาก แต่เป็นปัญหาเล็กๆ จุกจิกมากกว่าเช่น เรื่องเวลา มาสายกัน แต่ส่วนใหญ่ปัญหาเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยที่เราให้อภัยได้” ทีมงาน ช่วยกันเล่าภาพรวมวันงานให้ฟัง
แต่สิ่งที่พวกเขาคิดว่าทำได้ดีทีสุดตอนนั้นคือ การนำเสนอข้อมูลที่ทีมงานและข้อมูลที่ได้รวบรวมให้คนในงานได้รับฟัง ยะห์ในฐานะพี่โตให้เหตุผลว่า ที่คิดว่าทำกิจกรรมนี้ได้ดีสุดเพราะ น้องๆ ทั้ง 3 คน ฟี นี และซิกดิกกล้าพูด กล้านำเสนอจากเดิมตนยอมรับว่าแบบกังวลมากเพราะกลัวน้องๆ จะไม่กล้าพูดแต่สุดท้ายน้องๆ ก็ไม่ทำให้เธอผิดหวัง และรู้สึกภูมิใจในตัวน้องๆ ที่มากกว่านั้น นั่นคือการสร้างการรับรู้ให้กับคนในงานได้เห็นความเกี่ยวโยงของวิถีชีวิตกับหาดที่บ้านสวนกงที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
ผูกพัน หวงแหน ดินแดนสวนกง
หลังจากผ่านการลงมือปฏิบัติมานานหลายเดือน ตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ ลงพื้นที่สอบถามข้อมูล มาจนถึงเวทีคืนข้อมูล ทุกสถานการณ์ล้วนกดดัน และสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเขาทุกอย่าง เมื่อให้ลองทบทวนความเปลี่ยนแปลงของตัวเองกับการทำโครงการนี้ ทีมงานส่วนใหญ่ต่างสะท้อนว่า สิ่งที่พวกเขาพบว่าเปลี่ยนแปลงมากที่สุดนั่นคือความกล้า ทั้งกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าคิดและกล้าที่จะลงมือทำ
ซิกดิก เล่าแบบเขินอายว่า “ตอนแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกไม่อยากจะทำ ไม่ชอบเพราะเหนื่อย แต่ตอนนี้ความคิดเปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้มองว่าหาดทรายก็คือหาด ไม่มองเห็นความสำคัญของหาดว่ามีประโยชน์อะไรกับเรา กับคนในชุมชนสวนกง แต่พอได้มีลงไปพูดคุยเรื่องภูมิปัญญาขุดน้ำจืดทำให้เราเห็นว่าถ้าเราเล่นน้ำทะเล หลายๆ ชั่วโมงแล้วมาขุดบ่อริมทะเลเราก็ได้น้ำดื่ม เป็นความรู้ใหม่ที่เราได้จากการลงพื้นที่”
ยะห์ เสริมต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของซิกดิก คือ ถ้าแต่ก่อนพี่มาถามอย่างนี้ ซิกดิกจะไม่พูดกับใครเลย เวลาออกจากพื้นที่ซิกดิกจะพยักหน้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้เริ่มพูดบ้างแล้ว ถึงแม้จะเป็นภาษาใต้ แต่ซิกดิกก็กล้าพูดแล้วตอนนี้ แล้วซิกดดิกตอนนี้รู้จักคิดวิเคราะห์ได้แล้ว อย่างเช่นในกรณีของชายหาด ถ้าไม่มีหาดก็ขุดบ่อน้ำจืดไม่ได้
ส่วนนีและฟี่ สะท้อนว่า สิ่งที่พวกเธอได้มากที่สุดคือ เรื่องการกล้าพูดเหมือนกัน ทุกคนมีข้อมูลของตัวเองอยู่แล้วเพียงแต่ทุกคนไม่ค่อยกล้าพูด ทำให้พวกเธอได้เข้าใจและเห็นความสำคัญต่ออาชีพที่ครอบครัวตัวเองทำอยู่ ก่อนหน้านี้เห็นแม่ทำปลาเส้นแต่ก็ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญ แต่เมื่อได้ทำโครงการนี้ทำให้เธอเห็นคุณค่าของอาชีพมากขึ้น เห็นความสำคัญของหาดสวนกงมากขึ้นอยากที่รักษาไว้
ยะห์พี่คนโตสุดและเป็นคนที่รับผิดชอบมากสุด สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่ชอบเป็นผู้นำคน แต่ต้องทำเพราะเป็นเรื่องบ้านตัวเอง ต้องการบันทึกเรื่องภูมิปัญญานี้ไว้ให้กับชุมชนได้มีข้อมูลเก็บไว้บ้าง เก็บไว้ให้อ่านก็ยังดี นี่ก็คือเหตุผลที่มาทำโครงการ
ยะห์เผยให้ฟังอีกว่า ที่เห็นราบเรียบแบบนี้แต่บางทีก็มีช่วงขรุขระพอสมควร “มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกท้อ และเหนื่อยมากเพราะคิดว่าเหมือนเราทำงานอยู่คนเดียว เราตั้งความหวังของเรากับน้องๆ มากไปอยากให้เขาได้ประสบการณ์เหมือนกับเรา อยากให้เขาทำได้เหมือนเรา แต่เหมือนเรารู้อยู่คนเดียวเรามุ่งแต่จะเอาข้อมูลจนลืมมองน้องๆ ว่าเขามีความสุขไหม เขาอยากทำกับเราหรือเปล่า
“พอเราเริ่มคิดได้ก็เริ่มมาปรับตัวเองใหม่ วางท่าทีใหม่ วางรูปแบบวิธีการทำงานใหม่ ที่ไม่ใช่การทำงานแค่เราคนเดียว แต่ต้องทำงานกันเป็นทีม รู้ทั้งทีม ทำทั้งทีมงานเราถึงจะมีคุณภาพ” แต่เพราะได้ที่ปรึกษาดีอย่าง รุ่งเรือง ระหมันยะ พ่อของยะห์ที่คอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ ทำให้เธอสามารถผ่านปัญหานั้นมาได้ และเป็นบทเรียนให้เธอได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้นำ รวมถึงขั้นตอนการทำงานที่เป็นขั้นตอนขึ้น
จากแค่รู้สึกรัก ค่อยๆ พัฒนาเป็นหวงแหน ยิ่งได้ลงมือทำ ได้เห็น ได้สัมผัสยิ่งกลายเป็นความผูกพัน นอกจากชุดความรู้เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชนชวนสวนกงแล้ว สิ่งที่สัมผัสได้มากกว่านั้น คือความรักความผูกพันของเด็กและคนในชุมชนที่มีต่อหาดบ้านสวนกง หากเปรียบเยาวชนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของทะเล อาจเปรียบเสมือนเม็ดทรายเม็ดเล็กๆ ที่รวมตัวทับถมกันจนเต็มหาดบ้านสวนกง เม็ดทรายที่พร้อมจะปกป้องชายหาดของตัวเองให้คงอยู่คู่กับชุมชน