สัมภาษณ์เยาวชน Best Practice นายแง ยังอยู่ : โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

นายแง ยังอยู่ อายุ 15 ปี (แง)

เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม


โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

­

ถาม  สวัสดีค่ะ ขอให้แนะนำตัว ชื่อจริง อายุ ชื่อเล่น เรียนชั้นไหน เรียนโรงเรียนอะไร?

ตอบ  ผมชื่อนายแง ยังอยู่ครับ ชื่อเล่นแง อยู่จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอเมือง ตำบลบางจะเกร็ง เรียนโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม อายุ 15 ปี โครงการที่ทำเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในตำบลบางจะเกร็ง เรียนชั้น ม. 3

­

ถาม  ทำไมถึงสนใจเข้ามาร่วมโครงการนี้?

ตอบ  ตอนแรกผมไม่สนใจ ไม่ชอบอะไรพวกนี้ พอเราได้มาเห็นคนที่บ้าน พ่อ แม่ คนในชุมชน ที่เป็นผู้สูงอายุ ได้มาเห็น ได้ลงมือไปทำ รู้สึกว่าวันหนึ่ง เราก็ต้องเป็นผู้สูงอายุเหมือนพ่อแม่ เราก็ต้องมีวิธีการดูแลตัวเอง และวิธีการดูแลเขา ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ไร้ค่า มีคนคอยดูแลสนใจอยู่

­

ถาม  จากวัยรุ่นที่ต้องไปมีชีวิตของตัวเอง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเป็นอาสาสมัครคืออะไร?

ตอบ  เริ่มต้นได้เข้าร่วมกับ สกว. โครงการก่อนมาสนใจโครงการผู้สูงอายุ ได้ทำโครงการเกี่ยวกับชาวมอญร่วมกับพี่ๆ ในโรงเรียน ทำปีแรกยังไม่เห็นผลที่ได้ ช่วงหลังพี่ๆ ออกไป เหลือตัวคนเดียว งานทุกอย่างตกมาที่เราหมดเลย ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาหรือทำอย่างไรให้ดีเหมือนเดิม ดึงเพื่อนๆ มา เพื่อนมาใหม่ยังไม่รู้วิธีการดูแลโครงการเกี่ยวกับเรื่องราวของชาวมอญ พอเห็นปัญหาแบบนั้นเราก็ถอยออกมา ภาระทุกอย่างตกไปอยู่ที่เพื่อนหมด หลังจากนั้นเราไม่ได้สนใจ ไม่ไปยุ่ง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจาก 9 เดือนที่เราถอยออกมา เห็นแต่สิ่งดีๆ ที่เพื่อนทำออกมา คิดว่าทำไมเราถอยออกมาไม่ยอมสู้ เพื่อนสู้มาตลอดทั้งที่ไม่มีเรา ทั้งที่เขาไม่รู้อะไร เป็นเราที่รู้แต่กลับถอยออกมาก่อน เราคิดว่าถ้ากลับไปทำโครงการน่าจะดีขึ้น แต่ก็คิดว่า พี่ๆ ในโครงการที่เราถอยออกมา เขาจะด่าจะว่าเราไหม ในสิ่งที่เราทำลงไป

­

ถาม  อะไรทำให้เราถอยออกมาเลยตั้ง 9 เดือน ไม่อยากยุ่ง?

ตอบ  เกม เราเป็นเด็กติดเกม พอเราติดเกมทุกอย่างที่สำคัญเราจะไม่สนใจ จะสนใจแค่อย่างเดียวคือเกม การแข่งขันในเกมอย่างเดียว พอเกมถึงจุดที่ไม่มีการแข่งขันแล้ว ไม่มีอะไรที่ทำให้เราดูท้าทาย หรือมีคุณค่า เรามองไปที่เพื่อน รู้สึกเฉยๆ ไม่คิดว่าจะกลับไปทำ แค่มองแล้วรู้สึกว่าขนาดไม่มีเราในวันนั้น โอ้โหโครงการยังก้าวเดินมาถึงวันนี้ ใกล้จุดที่จะสำเร็จแล้ว ไม่มีเราเขาทำได้ขนาดนี้ คิดว่าถ้าเรากลับไปทำจะดีไหม ไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงต้องทำไป เป็นเพราะอะไร หรือเพราะเรามาอยู่ในชุมชนนี้แล้วรู้สึกว่ามีความสุขกับชุมชนนี้ มีอะไรก็ต้องช่วยเหลือกัน เราคิดแบบนั้นหรือเปล่า เรายังไม่รู้ตัวเองทำไมเราถึงกลับมาทำ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำหรับตัวเราคือเรากล้าพูด กล้าคิด กล้าลงมือตามเรา ทำทุกอย่างด้วยตัวเราเอง ไม่จำเป็นว่าต้องมีเพื่อน ถ้าไม่มีเพื่อนลงพื้นที่กับเรา เราก็สามารถทำคนเดียวได้ นั่นคือสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลง จากเด็กที่ไม่กล้าทำอะไรเลย

­

ถาม  แต่เดิมเป็นเด็กอย่างไรนะ?

ตอบ  ติดเกม และไม่สนใจเรียน ไม่เอาเลย ได้เกรด ตอนนั้น ไม่ถึงสามแต่ก็ไม่ตกจากสอง สองถึงสาม รู้สึกว่าแย่

­

ถาม  พอมาเข้าร่วมโครงการตัวเราเปลี่ยนแปลงไปไหม การเรียนวิถีชีวิตเรา?

ตอบ  ถ้าเป็นการเรียนไม่เปลี่ยน พอเรามุ่งหวังกับเรื่องหนึ่งเรื่องเรียนเราแค่ทำให้ดีแต่ไม่ดีที่สุด เรื่องเรียนเรียนได้ไม่แย่

­

ถาม  มีเป้าหมายเรื่องชุมชน อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร?

ตอบ  ถ้าผมทำโครงการอย่างหนึ่ง ผมจะคิดว่าสามารถทำให้สำเร็จได้ไหม จะต้องมีใครมาช่วยบ้างเราต้องคิดอย่างนี้ก่อน คนที่คอยสนับสนุนก็จะมี ครูที่สนิท พี่เลี้ยงโครงการ เพื่อน ถ้าเป็นเพื่อนจะช่วยเหลือกันตลอด แบ่งหน้าที่

­

ถาม  เป้าหมายของแงคืออะไร?

ตอบ  ทำอย่างไรให้ตัวเองมีความคิดเป็นผู้นำ เราสอนคนอื่นได้แต่สอนตัวเองไม่ได้ งานออกมาดีแต่เราไม่สามารถคุมตัวเองได้ แต่เรากลับสอนคนอื่น ถ้าเราเรียนรู้จากตรงนี้ไปเรื่อยๆ บวกกับการเรียนในชั้นที่สูงขึ้น เราน่าจะมีกระบวนการคิดที่มากขึ้นกว่านี้ และเรียนรู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับโลกภายนอก เราจบจาก ม.3 ก็ต้องไปเรียนรู้สังคมใหม่ ต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้อยู่กับโลกภายนอกได้

­

ถาม  ตอนนี้เราสอนน้องๆ ได้ เรื่องโครงการแต่ยังเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่ง?

ตอบ  ยังไม่เก่งพอ อย่างนี้ที่ฝนบอกว่ามีโลกโซเชียลเข้ามา การเล่นเกมตอนนี้เราก็เล่นแต่ไม่เล่นทุกวันจนติด เล่นในช่วงเวลาว่าง เล่นกับเพื่อนที่เรารู้จักในโลกออนไลน์ เราเคยสอนเขา ความคิดและคำพูดของเราดูเกินอายุ เขาเลยคิดว่าเราเรียนจบแล้วหรือเปล่า รู้สึกว่าเราไปได้ขนาดนั้นเลยเหรอ คนที่เขาพูดคิดว่าเราคิดได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ก็รู้สึกดีจึงทำต่อ พูดให้คนอื่นเขาฟังต่อไปเรื่อยๆ บางคนคิดได้ ต้องการเราในสถานการณ์ที่ย่ำแย่หรือช่วงที่รู้สึกแย่

­

ถาม  เราสามารถพูดให้เขาดีขึ้นได้?

ตอบ  พอเขาดีขึ้น เรารู้สึกดีตาม ทำต่อ นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

­

ถาม  มีนิสัยอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

ตอบ  เรื่องคำพูด เมื่อก่อน แย่มาก พูดเรื่องลามกหื่นๆ บ่อย คำพูดคำจาหยาบคายเยอะมากไม่มีคำดีๆ เลย พอเราเข้ามาปีแรกที่เข้าโครงการยังมีคำพวกนี้อยู่ คือเราห้ามตัวเองไม่ได้ปีเดียว พอเราเปลี่ยนเราก็รู้สึก ว่าโตขึ้นต้องทำอย่างไร ให้อยู่กับสังคมที่เราต้องอยู่ตรงนี้ให้ได้ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร

­

ถาม  อะไรที่ทำให้เรามีความคิดแบบนี้ว่า ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง?

ตอบ  ผมเคยดูพี่คนหนึ่งใน YouTube เขาเคยเป็นเด็กไม่ดี แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นอีกคนหนึ่งได้ เรามีจุดมุ่งหมายว่าทำไมเขาเปลี่ยนได้ เขาหนักกว่าเราอีก เขาเปลี่ยนได้เราไม่หนักขนาดนั้นเท่าเขา ถ้าเราจะเปลี่ยนแบบเขาได้ไหม นั่นคือจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป

­

ถาม  แงมีความฝันไหมว่าอยากทำอะไร?

ตอบ  จากที่บอกตอนแรกที่ผมติดเกม ตอนนี้ความรู้สึกอยากเป็นเกมเมอร์ พวกสตรีมเกมให้คนอื่นเห็น มันเชื่อมโยงกับโครงการที่เราทำ พอเราทำโครงการ เกมเมอร์ของเรายังมีแต่คนน้อยลง สิ่งที่เพิ่มมาเราอยากบรรยายให้คนอื่นเห็นคนอื่นฟัง ให้น้องๆ ฟัง ไปเป็นผู้บรรยาย เป็นคนทำสื่อ

­

ถาม  เป็นผู้บรรยาย เป็นวิทยากร อย่างนี้เหรอ เป็นคนทำสื่อ เกี่ยวกับอะไร?

ตอบ  ใช่ครับ สื่อที่ผมคิด เรื่องความรัก คติสอนใจให้กับน้องๆ หรือเพื่อนๆ อาจเป็นสังคมภายนอกที่คุณไปอยู่แล้วคุณจะมีสิ่งที่ต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร

­

ถาม  มีเป็นนักพูดด้วย?

ตอบ  ใช่ครับ คือทำให้ความฝันเราเปลี่ยนได้ครับ

­

ถาม  หมายถึงตัวแงสามารถเป็นสื่อกลาง ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนอื่นได้ ถ้าให้เลือกหนึ่งอย่างจากแงคนเดิมที่ไม่ค่อยเรียนหนังสือ จนถึงปัจจุบันที่มาถึงการเปลี่ยนแปลงหนึ่งอย่างที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สุดของแง คือเรื่องอะไร?

ตอบ  ความคิด เมื่อก่อนเราคิดอะไรไม่ได้ว่า ใครสำคัญบ้าง หรือใครไม่สำคัญกับเราบ้าง คนที่ไม่สำคัญคือวันหนึ่งเขาจะสำคัญกับเราไหม เราจะต้องให้ความสำคัญกับเขามากน้อยแค่ไหน พอเราคิดได้เราก็อยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ

­

ถาม  มีเหตุการณ์ไหนที่เราได้เห็นว่า ได้เรียนรู้เรื่องนี้ว่ามีคนสำคัญกับเรา สำคัญมากน้อยแค่ไหน?

ตอบ  เรื่องการติดเกม พอเราติดกลับมาบ้านพอเกมจบเรารู้สึกว่าทำไมเราถอยออกมา เราทิ้งเพื่อนๆ ไว้อย่างนี้ พ่อแม่ถามว่างานเสร็จแล้วเหรอ เราก็บอกว่าเราเสร็จแล้ว แต่จริงๆ เรากลับมาเล่นเกม เรารู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์กับเราเลย โกหกพ่อแม่ทิ้งเพื่อนให้ทำงาน อะไรก็แย่ไปหมดเลย ก็ยอมรับกับพ่อแม่ว่าตอนนั้นเราดีดตัวออกมาจริงๆ ตอนนี้ เหมือนพ่อแม่ยังไม่เชื่อใจว่าไปไหน

­

ถาม  ใครเป็นคนฉุดเราขึ้นมา?

ตอบ  ตัวเราเอง เราไม่รู้ว่าเปลี่ยนได้อย่างไร จุดนั้นเราก็อยากจะลุกขึ้นมาทำโครงการต่อกับเพื่อนๆ เราเห็นเพื่อนๆ จากที่ไม่มีเราเขาก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ คิดว่าถ้ามีเราคอยช่วยเหมือนเดิมจะดีไหม

­

ถาม  ตอนที่ไปบอกใน น้องๆ ทีมงานว่าฉันจะกลับมาแล้ว?

ตอบ  โอโห ตอนนั้นเราพูดในใจว่าจะได้กลับไปไหม หวาดเสียวเหมือนกัน เพื่อนบอกว่าจะกลับมาจริงๆ เหรอจะช่วยอะไรได้ คำนั้นคือตัดกำลังใจเราไปแล้ว แต่เราก็ยังไม่เป็นไร เคยทำพลาดขอกลับมาแก้ไขหน่อยนะ อย่างน้อยเพื่อนยอมรับให้เรากลับมาทำ เราเปลี่ยนตัวเองได้ ผมเคยทำโครงการก่อนหน้าเพื่อน ทำมาห้าปีกับพี่ๆ สกว. เราอาจมีความรู้ที่แน่นกว่าเพื่อน เราก็คอยสอนเพื่อนๆ มาตลอด

­

ถาม  เราไปช่วยเติมเต็มทีมอย่างไรบ้างให้โครงการประสบความสำเร็จ?

ตอบ  เราพูดเนื้อหาประสบการณ์ที่เราได้มา เช่น ถ้าทำแบบนี้เสร็จออกมาอย่างน้อยเพื่อนจะได้กล้าแสดงออก จะได้เห็นตัวเราเองด้วยว่าสนใจมากน้อยแค่ไหน โครงการอื่นที่ทำโครงการร่วมกันเรา เวลาเข้าร่วมประชุม ผมมองเห็นว่าเด็กบางคนเขาไม่สนใจ มากับเพื่อนเฉยๆ ตัวเขาไม่ให้ความสำคัญ มาสนุกอย่างเดียว ไม่ได้ใส่ใจมาเอาความรู้

­

ถาม  แงเป็นคนให้กำลังใจเพื่อน ชี้ให้เพื่อนเห็นว่ามีความรู้จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงไป?

ตอบ  ผมไม่ได้ช่วยแค่ในโครงการเรา ถ้ามีน้องๆ ในโครงการไหนที่ผมมีไลน์ ก็จะถามว่าถึงไหนแล้วเดินหน้าหรือยัง

­

ถาม  เป็นคนช่วยติดตามงาน?

ตอบ  ใช่ ตรงไหนยังไม่ได้ ถ้าช่วยได้เราก็ช่วย

­

ถาม  แงทำหน้าที่อะไรในโครงการ?

ตอบ  ลงพื้นที่ สรุปเก็บข้อมูล มานำเสนอ ให้พี่ๆ ในโครงการฟัง ว่าโครงการมาอย่างไร เดินหน้าไปถึงไหน สัมภาษณ์ ถ้าคนน้อยเราก็ทำมาก ถ้าคนในทีมมีมากเราก็แบ่งหน้าที่ให้เรามีบทบาทน้อยลง เพื่อให้เพื่อนมีบทบาทมากขึ้น เท่าเทียมกับเรา

­

ถาม  เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโครงการ?

ตอบ  เรื่องเพื่อน บางทีเพื่อนที่ใกล้ตัวที่สุดแต่อาจจะอันตรายที่สุด บางทีเราอยู่ใกล้กับ เขาคอยให้คำปรึกษาเราก็จริงแต่เขาก็เป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกแย่ รู้สึกว่าเขาเอาเรื่องของเราไปพูด ซึ่งเป็นความจริงแต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าพูดออกมาให้คนอื่นได้ยินแล้วเรารู้สึกแย่ เราแค่ให้เขามองมาในตัวเราก็พอ ให้เขามองที่การกระทำของเรามากกว่า บางทีผมทำอะไรไม่ต้องการให้ใครรู้ เรื่องดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ เรื่องดีเราก็เก็บไว้ เรื่องไม่ดีเราก็เก็บไว้ ไม่ต้องการให้ใครรู้ ใครรู้ก็ปล่อยให้รู้ไป ถ้าไปพูดต่อก็เรื่องของเขา การเรียนรู้นี้เกิดขึ้นจากในโครงการ โลกภายนอก และชุมชนเราด้วย ไม่ยึดติดอะไรตรงนั้น เราทำอะไรก็รู้อยู่ในใจเรา

­

ถาม  ข้อเรียนรู้ข้อที่สองของแง?

ตอบ  การปรับตัวของผมที่มีต่อผู้สูงอายุภายในชุมชน เมื่อก่อนเราไม่กล้าเข้าหาพูดคุยกับผู้สูงอายุ คนในชุมชน ถ้าไม่รู้จัก พอได้เข้ามาเรียนรู้ได้ลงพื้นที่ เราไม่รู้จักพอเราได้ไปพูดคุย ไม่รู้สึกว่าแย่ เขาก็รู้สึกดีด้วยที่คุยกับเรา เมื่อก่อนเราไม่กล้าที่จะถามเขาก่อน เราเข้าไปแค่ถามชื่อ ไม่ได้ถามลึกละเอียด ตอนนี้เราสนิทเราสามารถถามทุกอย่างในตัวเขาได้ ชื่ออะไร เป็นอย่างไร

­

ถาม  สังเกตเห็นและปรับทัศนติ มีทัศนคติต่อผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง?

ตอบ  เปลี่ยนแปลง เขาสนใจเรามากขึ้น และเราก็สนใจเขามากขึ้นไม่มีช่องว่าง สามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเล่าได้มากน้อยแค่ไหน

­

ถาม  พอเราได้คุยกับผู้สูงอายุความรู้สึกของแงเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ  ตอนแรกคือไม่ชอบเลย ไม่อยากรับฟังเวลาเขาเล่าอะไรเลย พอเราเข้าใจ ไม่รู้สึกรำคาญเลย รู้สึกว่าเรามาทำงานเราต้องรับ อดทนได้ ข้อเรียนรู้ข้อที่สามคือ การออกแบบข้อมูลของเราเอง แบบสอบถามจากที่ไม่มีใครเคยทำ คิดค้นขึ้นมาใช้เองได้ แบบบันทึกข้อมูลของเราเอง เราจะแยกผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยติดสังคม แยกออกไป พอลงพื้นที่จะเอาแบบสอบถามลงไปด้วย ถามเขาแล้วก็จดตาม

­

ถาม  เราสามารถหาข้อมูลได้ จัดหมวดหมู่ได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยของเรา สามารถจัดหมวด และบริหารจัดการได้ แบบบันทึกที่คิดค้นขึ้นมาใช้ได้ไหม?

ตอบ  ได้ไม่ได้อยู่ที่การลงพื้นที่ครั้งนี้จะเห็นผล ดีหรือไม่ดี ก็จะไปเล่าให้เขาฟัง ถ้าไม่ดีพร้อมปรับแก้

­

ถาม  ถ้าให้ชื่นชมตัวเองข้อดีของแง ในการทำโครงการนี้คืออะไร?

ตอบ  เวลาเราพูดแล้วคนอื่นเข้าใจ เมื่อก่อนเราพูดไม่เข้าหูใคร พูดอะไรก็น่ารำคาญไปหมด ตอนนี้เราพูดแล้วมีคนชอบสิ่งที่เราพูดก็ดีใจ

­

ถาม  แงคิดว่าความเข้าใจของตัวเองต่อโครงการนี้ ช่วยให้แงพูดเป็นขั้นตอนมีลำดับขั้น มากขึ้นไหม อย่างไร?

ตอบ  มากขึ้น โครงการนี้ช่วยทุกอย่าง ทำให้เราเปลี่ยนได้ก็รู้สึกดีแล้วครับ พี่อ้วน พี่เลี้ยงในโครงการเคยพูดเสมอว่า ถ้าเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนจากตัวเราเอง พอเราเปลี่ยนตัวเองได้เราก็รู้สึกว่า อยากทำต่อเดินหน้าต่อไม่ท้อแล้ว โครงการแรกอยู่ที่เราด้วยว่าจะหยุดหรือทำต่อ พอทำต่อและจบโครงการนี้เราก็อยากทำต่ออีก แค่ว่าต้องหาเพื่อนใหม่ พอจบ ม. 3 จะต้องแยกย้ายกันหมด

­

ถาม  โครงการต่อไปในอนาคตหลังจบโครงการนี้ มีวางแผนว่าจะทำโครงการอะไรต่อไหม?

ตอบ  น่าจะเกี่ยวกับโรงเรียนที่ผมจะไปศึกษาต่อคือ ยังไม่เห็นข้อเสีย จะค้นหาว่ามีอะไรบ้างแล้วเอามาแก้ไข ตรงนี้ได้พูดกับทางโรงเรียน ติดต่อกับทางโรงเรียนไว้แล้วว่าจะไปเรียนที่นั่น จะมาพัฒนาโรงเรียนไปเรื่อย โรงเรียนที่ดีอาจจะไม่ได้มีข้อดีเสมอไป อาจมีข้อเสียอยู่ อยากจะพัฒนาโรงเรียน แต่ว่า พอพัฒนาโรงเรียนจะต้องมีข้อเสียที่ใหญ่ เมื่อได้เข้าไปศึกษาต่อ จะต้องมีการจัดชมรมขึ้นมา คิดว่าจะจัดชมรมโครงการเกี่ยวกับการดูแลโรงเรียนขึ้นมา ถ้าใครสนใจก็มาทำ สร้างทีมใหม่ เอาคนที่สนใจจริง ทำให้เราเปลี่ยนตัวเองไปด้วยเพราะต้องไปเจอสังคมที่ไม่เหมือนสังคมที่เราอยู่ตอนนี้ เพื่อนที่นี่เข้าใจเรา ไปอยู่ตรงโน้นอาจจะเจอเพื่อนที่ไม่เข้าใจเราและอยู่กับเราไม่ได้

­

ถาม  สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับโครงการนี้คืออะไร?

ตอบ  การตอบคำถามของพี่เลี้ยงที่เขาถามเรามาเพราะว่าบางทีเขาเจาะลึก เข้าไปจนเหมือนกับว่าเรามีความรู้ที่ยังไม่พอ ต้องไปหาเพิ่มจนรู้สึกว่าไม่ยากแล้ว ตอนนี้ไม่มีอะไรยากอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันออกมาดีมากกว่า เวลาที่เขาถาม คำถามแรกเราตอบได้เพราะเราหาข้อมูลมาแล้ว แต่พอเขาถามลึกเข้าไปอีก ลึกจนถึงข้อมูลที่ไม่เพียงพอเราไม่ได้ขอมา เราก็ต้องไปหาเพิ่ม เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาทำอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด ต้องรู้ให้ถึงที่สุด

­

ถาม  สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการทำโครงการของแง?

ตอบ  ไม่ประทับใจตัวเอง ประทับใจเพื่อนมากกว่า เพราะเห็นเพื่อนเปลี่ยนไปมากกว่าเราด้วยซ้ำ ทั้งที่ไม่มีเราเขาก็สามารถดำเนินโครงการเราต่อจนเสร็จ ตลอด 9 เดือน นานมาก ตอนนั้นเราลืมด้วยซ้ำ พอเรากลับมาอีกที ถามเพื่อนอ้าวจะไปค้างคืนที่ไหน เพื่อนลาครู ไปทำโครงการสิ่งที่เห็นกลับมาคือเพื่อนทำจนสำเร็จ เราก็เลยอยากทำต่อ

­

ถาม  สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาในตัวเราคืออะไร?

ตอบ  การเป็นผู้นำ การพูดให้คนอื่นเข้าใจคล้อยตาม คือสิ่งที่ได้มามากที่สุด

­

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ