ธนัชพร โหมดตาด : โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

นางสาวธนัชพร โหมดตาด (น้ำฝน) อายุ 15 ปี

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม

โครงการศึกษากระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

­

­

ถามขอให้แนะนำตัว ชื่อ ชื่อเล่น โรงเรียน และโครงการ ทำไมสนใจทำโครงการนี้?

ตอบชื่อนางสาวธนัชพร โหมดตาด ชื่อเล่นน้ำฝน อายุ 15 ปี เรียนอยู่โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำโครงการครั้งแรกตอน ม.1 โครงการ อสม. น้อยปีนี้เป็นปีที่สาม ตอนปีหนึ่งเรายังไม่ได้ทำ เห็นเขาลงไปดูแลผู้สูงอายุ เข้าไปพูดคุยเราก็เลยสนใจ ขอไปเข้าร่วมเขาก็รับเราเข้าร่วม ทำไปเรื่อยๆ เกิดความผูกพัน ได้ใกล้ชิดกับเขายิ่งขึ้นจากที่ไม่เคยเข้าไปพูดคุย ก็ได้ใกล้ชิดเขายิ่งขึ้น พอเข้าไปใส่ใจในชีวิตพวกเขา ทำให้กล้ามากขึ้น กล้าพูดคุย กล้าเข้าหา

ถามเมื่อก่อนเราเห็นเขาทำ ดูแล้วเกิดประโยชน์ ก็อยากทำ น้องฝนเป็นหัวหน้าโครงการ แต่เดิมเราสนใจทำอะไร ก่อนจะมาทำโครงการนี้?

ตอบอยู่บ้าน ถ้าว่างก็ทำขนมอยู่ที่บ้าน เพราะว่าไม่ได้ทำอย่างอื่น อยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยออกบ้าน พอทำโครงการผู้สูงอายุ เราได้รู้สูตรทำขนมเพิ่มเติมด้วย ลองทำ ลองขายด้วย

ถามลองเปรียบเทียบภาพตัวเองก่อนทำโครงการเราเป็นคนอย่างไร พอทำโครงการได้เป็นหัวหน้าโครงการ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง พัฒนาตัวเองขึ้น?

ตอบก่อนทำโครงการเป็นคนไม่ค่อยพูด เข้าหาคนไม่เก่ง ไม่กล้าออกความคิดเห็นต่างๆ พอได้เข้ามาทำกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำค่ะ

ถามในเรื่องความรู้การดูแลผู้สูงอายุของเราเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบตอนแรกไม่รู้ว่าการใช้เครื่องวัดความดันใช้อย่างไร สายวัดเอวใช้อย่างไร พอเราลองทำได้รู้ว่าใช้อย่างไร อุปกรณ์พวกนี้มีกระบวนการใช้อย่างไรบ้าง ค่าคงที่อยู่ที่เท่าไร

ถามมีความรู้เรื่องเครื่องมือที่ไม่เคยรู้ ความรู้สึกของเราต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบพอเราเข้าหาเขา ทำให้เรามีความสุข ทำให้เราไม่เสียเวลาไปกับสิ่งอื่นที่ไร้สาระ ได้ใช้เวลาที่เราไปหาผู้สูงอายุ เกิดประโยชน์ต่อเราและเขาด้วย

ถามอะไรที่ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองจาก น้ำฝนที่เก็บตัวเองทำขนมอยู่ที่บ้านมาเป็นคนกล้าพูด ใช้เครื่องมือเป็น ไปคุยกับผู้สูงอายุ รู้สึกว่ามีประโยชน์นะ อะไรเป็นตัวที่ทำให้เราเปลี่ยน?

ตอบมาจากตอนแรกที่แง บอกว่าเขาท้อ ตอนนั้นเขาทิ้งเราไว้ที่อัมพวา พอเช้ามาเราหาเขาไม่เจอ แต่เราต้องอยู่โครงการต่อ เราเข้ามาสานต่อเขา พี่อ้วน ถามว่าท้อไหมที่แงหนีไปแบบนั้น เราตอบว่าไม่ท้อ เพราะว่าเราเข้ามาช่วยเขาสานต่อ เราต้องทำให้เสร็จ จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่อยากทำมากยิ่งขึ้น

ถามทำไมเราถึงรู้สึกฮึดขึ้นมา ไม่ทิ้งไม่ท้อ ณ จุดที่เพื่อนไปแล้ว อะไรในตัวเรารู้สึกว่าต้องทำต่อนะ?

ตอบคิดว่าเราเข้ามาทำแล้วจะทิ้งไป รู้สึกว่ามันน่าเสียดายเวลาที่เราได้ใช้กับสิ่งนั้นๆ ถ้าเราทำให้เสร็จ เหมือนกระดาษแผ่นหนึ่งพอเขียนได้ครึ่งแผ่นแล้ว คิดว่าไม่ชอบ เราทิ้ง ก็รู้สึกเสียดายว่าเราทำมาตั้งเยอะแล้วจะทิ้งไปทำไม

ถามเหตุการณ์นั้นทำให้เราเห็นว่าเราคิดแบบนั้นขึ้นมาเลย นานไหมกว่าจะฮึดขึ้นมาได้?

ตอบไม่นานมาก ช่วงเวลาที่รู้ว่าแงหายไปตอนเช้า จากนั้นเราก็ค่อยๆ ปรับตัวเองให้เข้ากับโครงการนี้ได้

ถามเราเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้วหรือว่าอย่างไร สำหรับบางคนเขาอาจทิ้งไปเลยแต่เราอยู่ ทำต่อนะ?

ตอบหนูเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้วค่ะ เวลาที่หนูทำอะไรนานๆ หนูชอบที่จะทำมัน ไม่ชอบที่จะมานั่งอยู่เฉยๆ

ถามตัวตนของเราชอบทำอะไรที่เป็นประโยชน์และทำให้เสร็จ?

ตอบค่ะ

ถามตอนนั้นมีพี่อ้วนที่คุยกับเรา ถามว่าเราจะไปต่อไหม ท้อไหม พี่เขาทำอะไรที่ช่วยเสริมกำลังใจให้เราทำต่อ?

ตอบชวนไปคุย ว่าเราอย่าท้อนะ เราต้องทำให้แงเห็นว่า ไม่มีเขาเราก็ทำได้ ก็เป็นตัวฉุดให้เรามีกำลังขึ้นมาด้วย

ถามตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรกับแง ที่แงไปเสียแล้ว?

ตอบตอนนั้นรู้สึกโกรธนิดหน่อยค่ะ อ้าวอยู่ดีๆ ก็ปล่อยเราไว้อย่างนี้โดยที่เราไม่รู้อะไรเลย

ถามจัดการความโกรธของเราอย่างไรตอนนั้น?

ตอบเราก็บอกว่าถ้าเขาไม่ทำก็ปล่อยเขาไป พอเขาเห็นว่าเราทำได้ก็กลับมาขอโอกาส ที่จะทำอีกครั้งหนึ่ง เราก็ให้โอกาสหลังจากนั้นก็ทำงานร่วมกันมาตลอด

ถามนานไหมกว่าจะคลี่คลายหายโกรธกัน ทำอย่างไรที่ปรับความสัมพันธ์กันจากที่ทำมาด้วยกัน ทิ้งไป แล้วกลับมาทำงานด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง?

ตอบนานค่ะ เพราะว่าเราโกรธ เขาไม่สนใจเขาก็ไปเล่นเกมของเขาต่อ เราก็ลงพื้นที่กันทำไปเรื่อยๆ จนเขาเห็นว่าเรามีความพยายามเขาก็กลับมาหาเรา

ถามเราคุยกับทีมอย่างไร เราต้องนำ เพราะหัวหน้าคนเก่าไปแล้ว เราคุยสื่อสารอย่างไรกับลูกทีม?

ตอบเวลาจะลงพื้นที่เราจะไปกันทั้งทีม เพราะว่าทีมตอนนั้นมี 4 คน ก็ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยกัน

ถามทีมรับรู้สถานการณ์เหมือนกันไหม?

ตอบเหมือนกัน

ถามทีมมีท้อ อยากหยุดไหม?

ตอบไม่มีค่ะ เรื่องท้อ มีตอนที่แงเขาปล่อยไว้

ถามเราเสริมกำลังใจกันอย่างไรเมื่อเราท้อ?

ตอบบอกว่าเราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้แม้ไม่มีเขา มันก็เป็นกำลังใจให้ทีมฮึดขึ้นมา ทำโครงการต่อไป

ถามมองว่าเป็นเรื่องท้าทายที่ทีมเราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ ที่แงทิ้งปีไหน?

ตอบปีสาม

ถามเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ทีนี้จุดเปลี่ยนตรงนั้น ที่ว่าใช้เวลานาน นานเท่าไรกว่าจะกลับมาคืนดีกัน?

ตอบประมาณสองถึงสามเดือน

ถามใครเริ่มคุยก่อน?

ตอบกิจกรรมที่โรงเรียน งานต้องแบ่งกลุ่ม แล้วต้องช่วยกันทำงานกลุ่ม ได้พูดคุยกันมากขึ้น ตอนนั้นที่เขาโอกาสอีกครั้ง เขาบอกว่าเขาจะพยายามให้ดีที่สุดจะไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีกแล้ว เราให้โอกาสเขาเพราะเห็นความพยายามของเขาที่จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ถามพอเราผ่านจุดนั้นมา ลองทบทวนว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้?

ตอบทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความอดทน การรู้หน้าที่ของตัวเอง หน้าที่นี้เราควรรับผิดชอบมันอย่างไร ทำให้รู้ถึง การรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง การทำให้เราไม่ท้อ การแก้ปัญหา

ถามการแก้ปัญหา เราได้แก้ปัญหาอะไรบ้าง ที่เราได้เรียนรู้?

ตอบตอนที่จัดเวทีชุมชน ผู้สูงอายุไม่เข้าใจว่าเราจะวาดเป็นแผนที่ แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนเป็น Mind Map อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เราได้ข้อมูลที่ไม่เคยได้รับมาก่อน มีปัญหาของแงที่ทิ้งไป เราแก้โดยคิดว่าถ้าไม่มีเขาเราก็ทำได้ เป็นจุดให้เราทำมันจนเสร็จสิ้น การปรับความเข้าใจกันในทีม ก่อนโครงการนี้มีเพื่อนผู้หญิงสองคน ตอนหลังเขาเปลี่ยนไป ไปกับแฟนติดแฟน เวลากลับจากโครงการเขาไม่ยอมกลับบ้าน ทางพ่อแม่เขาโทรมาถามว่าเลิกหรือยัง เราก็บอกว่าเลิกไปแล้ว หลังจากนั้นก็มาคุยกันกับเพื่อนว่า จะทำไหม เขาก็ไม่ค่อยพอใจไม่ค่อยสนใจแล้ว เราก็ปล่อยเขาไป เราจะไม่ยื้อในสิ่งที่เขาไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ไม่ยื้อเขามาทำโครงการ ตอนหลังเพื่อนผู้หญิงที่ออกไปก็กลับมาขอแก้ตัวอีกครั้งหนึ่ง เราก็ให้เขาแก้ตัวแต่เขาก็เหมือนเดิม เราก็ถามไปว่าเป็นแบบนี้จะทำไหวเหรอ ไปก็ไม่ได้ทำอะไร ได้ความรู้เหรอ ได้อะไรมาบ้าง เขาก็ไม่สนใจแล้วก็หายไปเลย

ถามมีคนเข้าออกทีมเรา การเข้าออกของคนในทีมมีผลต่อความรู้สึกของเราบ้างไหม?

ตอบมีผลค่ะ เพราะว่าเป็นเพื่อนที่เรารักมาก ออกไป ทำให้เราเสียใจพอมีน้องเข้ามาใหม่ เราก็รู้สึกว่าดียังมีน้องสนใจสนใจในสิ่งที่เราทำ

ถามในจุดนี้ที่มีผลต่อจิตใจเรา สถานการณ์นี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง?

ตอบเราได้เรียนรู้การไม่ยื้อคนที่ไม่ต้องการทำ มันทำให้เรารู้ถึงการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาไม่ไปยึดติดกับสิ่งเก่าๆ อะไรพวกนี้

ถามเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานเป็นทีม มีปัญหาอื่นอีกไหม?

ตอบไม่ค่อยมีค่ะ

ถามคิดว่าที่เราผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ อะไรในตัวเราที่ทำให้เราผ่านอุปสรรคมาได้?

ตอบไม่ได้มาจากตัวเราคนเดียว มาจากในทีมด้วยคนทีมเป็นแรงผลักดันให้เราขยับให้ไปตรงนั้นจนสำเร็จ

ถามคนในทีมช่วยกันให้งานสำเร็จ แล้วตัวของเราเองล่ะมีส่วนทำให้งานสำเร็จอย่างไรบ้าง?

ตอบความพยายามของเรา เป็นคนที่ไม่หยุดกลางคัน เวลามีงานค้าง ชอบทำงานงานให้เสร็จไม่ปล่อยค้างไว้นาน

ถามคือความพยายามและความมุ่งมั่นเรารู้ไหมว่าเรามีคุณสมบัตินี้?

ตอบมารู้ตอนที่ทำโครงการนี้มีคุณสมบัติอื่นอีกไหม

ถามนอกจากความมุ่งมั่นความพยายาม?

ตอบการกล้าที่จะทำ กล้าคิดกล้าทำ ตอนแรกเราไม่กล้าทำอะไรต่างๆ เก็บตัวอยู่คนเดียวไม่กล้าคุยกับเพื่อนใหม่ พอเราได้ทำโครงการ ทำให้เรากล้าที่จะทำ กล้าที่จะพูดต่อหน้าคนเยอะ มีเกร็งอยู่บ้าง มือเย็นบ้างเป็นนิสัยเดิมที่เคยชิน

ถามมีพี่เลี้ยง ครู หรือคนในชุมชนช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงไหม?

ตอบมีค่ะ คนในชุมชนเมื่อก่อนไม่ทำโครงการเราไม่รู้จักใคร ก็ทำให้เรารู้จักเขากล้าทักก่อน ทำให้เขารู้จักเราด้วย ส่วนพี่เลี้ยงทำให้เราได้ไปรู้จักตัวเอง โครงการทำให้เรากล้าทำกล้าคิด

ถามที่พี่เลี้ยงทำให้เรารู้จักตัวเอง เรารู้จักตัวเองว่าเป็นไร?

ตอบเรารู้ว่าเราเป็นคนที่มีความพยายามที่จะทำสิ่งนั้นๆ ให้สำเร็จโดยไม่สนใจสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรค

ถามในอนาคตฝนอยากทำอะไร มีความฝันว่าอย่างไร?

ตอบความฝันไม่ค่อยมั่นคง เมื่อก่อนอยากเป็นดีไซน์เนอร์ ตอนนี้มาชอบการทำขนม ถามว่าอยากทำโครงการแบบนี้ต่อไหม ต้องการที่ทำเพราะเราชอบทำโครงการแบบนี้ ทำให้เราได้เจอสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ

ถามเราชอบทำขนม การมาทำโครงการไปช่วยส่งเสริมให้เราทำขนมได้ดีขึ้นไหม?

ตอบช่วยค่ะ

ถามเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ตอบทำให้เราลองปฏิบัติในสิ่งที่ เช่น ขนมชนิดนี้ ตอนนี้เรากล้าลองทำเมื่อก่อนเราไม่กล้าทำเพราะกลัวมันเสีย กลัวทำพลาด แต่พอได้ทำโครงการมันทำให้เรากล้าลองทำ พอทำออกมามันใช้ได้

ถามเพิ่มให้เรากล้าลองทำ เรียนรู้พัฒนาต่อยอดไป กลัวความผิดพลาดไหม?

ตอบกลัวค่ะ

ถามเราจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความผิดพลาดนี้?

ตอบค่อยๆ เรียนรู้สูตรไปเรื่อยๆ เพื่อจะไม่ผิดพลาด

ถามโครงการ อสม.น้อยของเราทำมา 3 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 คิดว่าโครงการจะต่อเนื่องไปไหมถ้าหมดจากรุ่นเราไปแล้ว?

ตอบคิดว่าน่าจะมีต่อเพราะว่ารุ่นน้องๆ บอกว่าจะทำโครงการต่อ ไม่แน่ใจว่าทำกิจกรรมอะไร

ถามพี่อ้วนช่วยเราอย่างไร?

ตอบคอยช่วย กระตุ้นว่าเราขาดอะไร เรามีอะไรอยู่แล้ว เราต้องทำอะไร

ถามเรามีทักษะการเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้น มีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ เข้าใจเขามากขึ้น ทัศนคติของเราต่อผู้สูงอายุเปลี่ยนไปบ้างไหมเทียบก่อนเข้าและหลังเข้า?

ตอบเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนไม่เข้าไปสุงสิงกับผู้สูงอายุเท่าไร เข้ามาทำโครงการเราเข้าใจเขามากขึ้น พูดคุยมากขึ้น เข้าไปเล่นกับเขา เกิดเป็นความผูกพัน เหมือนว่าเขาเป็นคนในครอบครัวของเราอีกคน

ถามเรามีผู้สูงอายุที่บ้านไหม เราดูแลเขาอย่างไรเปลี่ยนไปจากเดิมไหม?

ตอบมีค่ะ เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนจะไม่ค่อยพูดคุยกัน ตอนนี้เราพูดคุยกันมากขึ้น

ถามสิ่งที่ชอบที่สุดในการทำโครงการนี้คืออะไรคะ?

ตอบการได้เข้าไปลงมือปฏิบัติกับน้องๆ ในทีมและคนในชุมชน

ถามมีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง ถ้าจะทำโครงการให้ดียิ่งขึ้น?

ตอบตอนนี้เหลือนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับชุมชน ถ้าจะให้ดีกว่านี้น่าจะมีจัดรวมผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ที่เราทำตอนนี้แค่หมู่ 5 น่าจะขยายไปทั้งตำบล

ถามเราเจอคำตอบของโจทย์โครงการที่ว่า กระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางจะเกร็งที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร หรือยัง ควรเป็นอย่างไร?

ตอบเราไม่ควรไปถามเรื่องสุขภาพของเขาตรงๆ เราควรพูดคุยให้เราและเขาคุ้นชินกันก่อน ให้เราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา ความสัมพันธ์จะราบรื่นไม่มีปัญหา เราก็สามารถดำเนินกระบวนการตามที่เราได้วางไว้ กระบวนการที่วางไว้ มีเรื่องเก็บข้อมูลสุขภาพ ความเป็นอยู่ พฤติกรรมของผู้สูงอายุ การใช้อุปกรณ์ การเข้าใจเขาเข้าใจเรา มีอีกหลายอย่าง

ถามฟังดูเหมือนว่ากระบวนการที่จะดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม ต้องสร้างความสัมพันธ์ก่อน ระหว่าง อสม. น้อยกับผู้สูงอายุ ให้เข้าใจมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จากนั้นเข้าสู่กระบวนการดูแลสุขภาพตามโรค ตามวิถีชีวิตของเขา อสม.น้อยสามารถช่วยวัด ความดันโลหิต ใช้สายวัดเอว ให้คำแนะนำเรื่องการกินการอยู่ของเขา มีอะไรต่ออีกไหม?

ตอบมีการนำข้อมูลไปเผยแพร่ ให้คนในชุมชน เพราะผู้สูงอายุบางคนมีคนดูแล เราไปบอกเขาได้ว่าเวลานี้ควรกินอะไร ทำอะไรให้เขามีความสุข

ถามคือข้อมูลที่ได้คืนให้กับคนในชุมชนที่เขาดูแลผู้สูงอายุ เพื่อที่เขาจะได้ดูแลต่อ?

ตอบค่ะ

ถามคืนให้ใครอีกบ้าง?

ตอบไปคืนให้กับอนามัย เพื่ออนามัยจะได้นำข้อมูลที่เราให้ไปใช้ประโยชน์ วันนี้ผู้สูงอายุคนมีความดันเท่าไร ใครมีความดันสูงบ้าง หมอจะลงไม่กี่ครั้ง เราก็เป็นตัวช่วย ลงไปได้ข้อมูลไปส่งให้เขา

ถามเราทำงานร่วมกับ อสม. ผู้ใหญ่ด้วยไหม ในโครงการ อสม.ใหญ่เข้ามาช่วยอย่างไร?

ตอบทำค่ะ ความรู้ดูแลผู้สูงอายุ มี อสม. และหมออนามัย มาให้ความรู้พวกเรา

ถามแสดงว่าพวกเราก็เป็นหนึ่งในกระบวนการดูแลผู้สูงอายุในหมู่ 5 น่าขยายไปหมู่อื่นไหม?

ตอบน่าจะขยายไปหมู่อื่น พวกเราก็อยากทำทั้งตำบลแต่เราเป็นแค่กลุ่มแกนนำเล็กๆ ไม่ได้มีอะไร ทำได้แค่หมู่เดียว

ถามผู้ใหญ่จะขยับไปทำหมู่อื่นต่อไหม?

ตอบผู้ใหญ่เขาไปหมู่อื่นด้วยค่ะ

ถามต่อไปเราอาจเป็นแกนนำไปสอนเพื่อนๆ หมู่บ้านอื่นก็ได้ เป็นไปได้ไหม?

ตอบเป็นไปได้ค่ะ น้องบางคนเข้ามาใหม่ไม่รู้วิธีการใช้อุปกรณ์ เราก็จะสอนเขาวิธีใช้ให้เขา

ถามโรงเรียนของเรามาเรียนทั้งตำบลหรือเฉพาะบางหมู่บ้าน

ตอบทั้งตำบลค่ะ

ถามขอบคุณมากสำหรับวันนี้

ตอบ ขอบคุณค่ะ