เรณุกา หนูวัฒนา : โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

นางสาวเรณุกา หนูวัฒนา (ครูเร) อายุ 50 ปี

อาจารย์ประจำวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี

โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

­

­

ถาม ช่วยแนะตัวและโครงการที่ทำ?

ตอบ ชื่อเรณุกา หนูวัฒนา ชื่อเล่นชื่อ เร เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ครูเป็นพี่เลี้ยงโครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

ถาม จุดเริ่มต้นของการมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ?

ตอบ เริ่มจากการทำวิจัยท้องถิ่นกับพี่ธเนศและพี่ชิษณุวัฒน์ ตั้งแต่สมัยที่อยู่บางไทร ปี 2550 ตอนนั้นอยู่ที่วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร พอย้ายมาประจำที่นี่ได้ประสานงานและทำงานด้านเยาวชนมาตลอด หน้าที่ปกติรับผิดชอบเป็นหัวหน้างานกิจกรรมนักศึกษาและครูที่ปรึกษาคณะกรรมการโรงเรียนของนปท. เด็กที่เข้าร่วมโครงการเป็นแกนนำของวิทยาลัย เด็กพวกนี้เป็นนายกและรองนายก เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนและพัฒนาสมาชิก เวลาที่มาเจอพี่ธเนศเราจะได้เครื่องมือใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการพัฒนาเด็ก

ถาม การพัฒนาเยาวชนที่เพิ่มขึ้นเป็นในลักษณะไหน?

ตอบ พอเราทำงานข้างในวิทยาลัยเหมือนเราทำงานขับเคลื่อนคนเดียวกับเด็ก มีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วช่วยฝึกรุ่นน้อง อยู่ข้างในเหมือนว่าเราเป็นผู้ใหญ่คนเดียว เราจะฝึกเด็กไปตามธรรมชาติของเรา เราทำตามกรอบของวิทยาลัยว่าเด็กต้องทำอะไรบ้างตามปฏิทินงาน เวลาได้ไปเข้าร่วมกับโหนดของพี่ธเนศ เขาจะมีเครื่องมือในการพัฒนาเด็ก กระตุ้นให้เด็กคิดได้ด้วยตัวเอง พอเด็กได้ความรู้ตรงนั้นมาเขาจะนำมาเชื่อมต่อกับสิ่งที่เขาทำในวิทยาลัย ความรู้จะถูกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เด็กได้พัฒนาตัวเองเป็นเชิงก้าวกระโดด

ถาม วิธีการถ่ายทอด เครื่องมือความรู้ของโหนดเป็นอย่างไร?

ตอบ เขาให้เด็กรับผิดชอบโจทย์โดยตรง ตัวอย่างในโครงการอาวุโสโอเค เขาจะให้เด็กวางเป้าหมายโดยจะทำอะไรก็ได้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายมีแผนงานและปฏิทินให้เป็นเครื่องมือ โดยให้เด็กช่วยคิดและโหนดช่วยแนะนำ เครื่องมือมีกรอบและเวลาที่ชัดเจนให้เด็กช่วยกันคิด โหนดมีหน้าที่ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นเด็กๆ พวกเขาต้องตอบคำถามให้ได้ เด็กตอบคำถามจนมั่นใจและรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอะไร Focus ของเด็กจะชัดเจนมากขึ้น

ถาม โจทย์ที่โหนดใช้ตั้งคำถามกับเด็กเป็นลักษณะไหน แตกต่างกับสิ่งที่โรงเรียนทำอย่างไร?

ตอบ เช่นทำไมถึงต้องทำสิ่งนี้ เป้าหมายของเราคือใคร ถ้าทำแล้วเขาจะได้อะไร ชุมชนได้อะไร ตัวเราได้อะไร ซึ่งบางคำถามเราเคยตั้งคำถามแบบนี้กับเด็ก แต่พอไปตรงนั้นเด็กกลับตอบได้ชัดเจนมากกว่า บางทีก็ทำให้เรางงอยู่เหมือนกัน ทั้งที่เราก็ทำวิธีการนี้มานานแล้ว เราบอกให้เขาทำหนึ่งโครงการ อย่างเด็กผู้นำเขาจะทำโครงการตามความเป็นจริง เช่นเขาจัดกิจกรรมวันไหว้ครู เขาจะคุยกันว่าวันไหว้ครูประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เขาจะวางแผนร่วมกับรุ่นน้องรุ่นพี่เขาจะสั่งการลงไปตามสายชั้นปี อย่างโครงการอาวุโสโอเค เขาจะเรียกทีมมาคุยกันในบรรยากาศที่สบายๆ ไม่เกร็ง งานไหว้ครูยึดประเพณีที่สืบทอดมา พอมาทำโครงการอาวุโสโอเคพวกเขารู้สึกอิสระ ในการทำโครงการคือ ถ้าเขาทำผิดก็จะไม่มีใครว่าอะไร เช่น หลังลงไปที่อนามัยกลับมาพวกเขาจะมาคุยกันว่าได้อะไรมาบ้าง ได้ตามเป้าหมายไหม จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่มีใครว่าอะไร พอเป็นกิจกรรมไหว้ครูถ้าทำอะไรผิดขึ้นมาเขาจะเกร็งมากกว่า ถ้าเขาเกิดทำผิดพลาดขึ้นมา คนที่จ้องมองก็คือครูอาจารย์และน้องๆ สายตาหรือคำพูดพี่เขาได้ยินมากระทบใจเขา อาจเพราะสังคมของการเรียนรู้คนละแบบ ในโครงการบรรยากาศของการเรียนรู้จะมีแค่เรากับชุมชน สิ่งที่เราได้รับจากชุมชนส่วนใหญ่คือคำชื่นชม อยากให้ครูและคนภายในโรงเรียนรับรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้เขาเก่งขึ้นนะ เราอยากจัดเวทีให้คนในโรงเรียนรับรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขา เขารู้สึกได้เอง เวลาเราถามพวกเขาตอบได้หมด เขาอยู่กับโครงการมาเกือบ 1 ปี เราเห็นเขาเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวของเขาเอง โดยที่เราไม่ไปควบคุมเขา อย่างกิจกรรมในโรงเรียนเดือนมิถุนายนมีวันไหว้ครู เดือนถัดมามีงานแห่เทียน เดือนต่อไปมีงานอื่นๆ อีก เราเห็นพัฒนาการของพวกเขาในการทำกิจกรรม บางทีเรามีความกังวลว่าจะหนักเกินไปหรือเป็นภาระของพวกเขาหรือเปล่า โครงการอาวุโสโอเค พวกเขาชวนน้องมาเข้าร่วม มาคุยมาฟัง พวกเขาขวนขวายด้วยตัวเอง เขาช่วยกันคิดว่าวันนี้จะใช้พาหนะอะไร ถ้าไม่มีพาหนะเขาจะมาแจ้งให้ครูช่วย เช่น คุณครูช่วยขอรถวิทยาลัยได้ไหม แต่ถ้าเขาจัดการได้เขาจะไม่ร้องขอ เขารู้หน้าที่ ลักษณะการทำงานของพี่ธเนศเขาจะบอกเด็กๆ ให้รู้จักการแบ่งบทบาทหน้าที่ว่าใครทำอะไร เช่นใครทำเรื่องการเงิน ใครจดบันทึก พอทำหลายครั้งเด็กจะเริ่มรู้ว่าเขามีหน้าที่และต้องทำให้ได้ พัฒนาการของพวกเขาอาจจะเป็นเพราะว่ามีพี่เลี้ยงทางฝั่งพี่ธเนศช่วยดูแล และไม่มีผลกับคะแนนเขาพวกเขาหรือเปล่า อาจจะต้องถามเด็กว่ามันเกี่ยวไหม

ถาม ในฐานะพี่เลี้ยงคุณครูมีวิธีการทำงานอย่างไร?

ตอบ ใช้วิธีการกระตุ้นถามพวกเขามากกว่า เช่นทำโครงการไปถึงไหนแล้ว เวลาทำอะไรให้บอกครูด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นการกระตุ้นเตือน ถ้าเขาเห็นว่าเราว่างเขาจะเดินเข้ามาปรึกษา แต่ถ้าเราไม่ว่างเขาก็สามารถจัดการเองได้เลย เราจะคอยบอกเขาเรื่องเวลาเพราะเขามีภาระหน้าที่หลายอย่างทั้งการเรียนและกิจกรรม เราต้องเข้าไปช่วยไล่ลำดับความสำคัญให้เขาได้ทบทวนตัวเองว่าอาทิตย์นี้จะต้องทำอะไร เขาจะได้มีกำลังใจไม่อย่างนั้นเขาจะท้อ บางครั้งเราก็ตั้งคำถามกับเขาแต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจด้วยตัวเอง เด็กกลุ่มนี้เราดูเค้ามาตั้งแต่ปี 1 จนถึงปี 3 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด พวกเขามีความอดทนและสู้ บางครั้งมีเสียงกระแสจากครูรอบข้างว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร เด็กๆ สู้ พวกเขาตัดสินทำต่อเพื่อพิสูจน์ตัวเองจนทุกคนยอมเรา สุดท้ายเราไม่ได้ยินเสียงวิจารณ์เหล่านั้นแล้ว พวกเขาได้เป็นผู้นำเพราะเขาได้ฝึกตัวเองตั้งแต่ต้น

ถาม เด็กๆ รับรู้ว่ามีเสียงวิจารณ์เหล่านั้นใช่ไหม?

ตอบ เด็กรับรู้เพราะมีเสียงคำถามว่าไปทำไม ไปทำอะไร เพื่ออะไรเสียเวลาเปล่า

ถาม ในตอนนนั้นครูเรช่วยเหลือเด็กๆ อย่างไร?

ตอบ เราใช้วิธีย้อนถามเด็กว่าพวกเราได้อะไรไหมจากการทำงานตรงนี้ เด็กๆ ก็ตอบมาว่าเขาได้อะไรบ้าง ท้ายที่สุดเราต้องให้กำลังใจพวกเขา ช่วยเขาปรับความคิดเพราะบางทีเขาอาจจะไขว้เขว ถ้าเราไม่ไปช่วยเขาอาจจะเก็บความรู้สึกนี้ไว้ทั้งหมด บางทีความคิดที่อยากทำต่ออาจจะหายไป

ถาม ครูมีวิธีการสังเกตเด็กอย่างไรเวลาที่เขารู้สึกไขว้เขว?

ตอบ เขาจะหายไป ปกติเขาจะต้องมาเจอกันทุกเช้าที่หน้าเสาธง พอเริ่มหายไปเราจะใช้โซเชียลเป็นหลักในการติดต่อ ว่าตอนนี้พวกเราทำอะไรกันอยู่ เราจะใช้โซเชียลติดต่อกันตลอดเวลา แต่มีส่วนน้อยที่เขาจะหายไป เขาจะบอกตลอดว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ วันไหนติดงานที่บ้านเขาจะคอยบอกตลอด เด็กกลุ่มนี้เก่งมากจริงๆ

ถาม วิธีการทำงานกับเด็กที่กล่าวมาข้างต้นได้มาอย่างไร?

ตอบ การสั่งสมเพราะว่าเราทำงานกิจกรรมมานาน เราต้องดูแลทั้งหมดเหมือนเราอยู่เป็นผู้ประสานงานมันหล่อหลอมให้เรามีบุคลิกแบบนี้ เราไม่สามารถปะทะกับใครแรงๆ เราต้องฟังให้มาก ฟังแล้วเราไม่ใช้อารมณ์โต้แรงกลับไป เราจะเล่นกับเด็กหยอกล้อกันนิดหน่อย เราจะไม่รุนแรงกับเด็ก เด็กในรุ่นแรกเคร่งขรึมกว่าเด็กในรุ่นปัจจุบัน เด็กเปลี่ยนแปลงเร็วเราเองต้องหนักแน่นให้มาก เด็กที่ได้ฝึกแตกต่างจากเด็กที่ไม่เคยฝึก บางทีเราโมโหเริ่มแสดงอารมณ์รุนแรงเด็กจะบอกเราว่าให้ใจเย็น เราทำงานลักษณะแบบนี้ บางทีเด็กเป็นคนเตือนเราก็มี เด็กจะบอกว่าครูใจเย็นไม่ต้องเครียดนะ เราเป็นกำลังใจให้กันและกัน เราทำงานด้วยกันจนรู้ใจ ด้านกิจกรรมไม่มีค่อยมีครูที่เป็นแบบนี้ บางทีเรานั่งถามตัวเองเป็นเพราะบุคลิกเรา หรือเขาเห็นว่าเราทำได้สำเร็จ เด็กเขาเก่งถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เขาจะไม่ร้องขอให้อาจารย์ท่านอื่นมาช่วย เขาบอกว่าแค่มีครูคนเดียวก็พอแล้ว ส่วนใหญ่เด็กจะเป็นคนเลือกครู ถ้าเห็นว่าครูคนนั้นไปกับเขาไม่ได้ เขาจะไม่ไปปรึกษา

ถาม อะไรที่ทำให้เรากับเด็กไปด้วยกันได้?

ตอบ ใจของเด็ก เด็กเกิดความรับผิดชอบ พอไปเจอโหนดเขาจะตั้งคำถามกับเด็ก บางทีเขาก็ไปทางพี่เลี้ยงของโหนดมากกว่าตัวเราอีก พี่เลี้ยงโหนดจะคอยบอกให้เขาทำ เค้าจะกลับมาเล่าให้เราฟังว่าเขาจะต้องทำอะไร เขาสามารถวางแผนได้และกลับมารายงาน อย่างช่วงสามวันที่จะถึงนี้เขามีงาน เขาสามารถเรียงลำดับโดยอัตโนมัติว่า เขาจะต้องทำอะไรซึ่งก่อนหน้านี้ต้องจี้เขาเยอะมาก พอมาตอนนี้เขากลับทำได้ราบรื่น พวกเขาทำกันเองได้ มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบความคิดของเขา เกิดความรับผิดชอบ ความเป็นทีมของเขาเกิดขึ้นมา น้องที่เขาชวนมาทำด้วยกันไปกับเขาตลอด งานประสานอนามัยน้องทำได้ด้วยตัวเองหมด เรามีหน้าที่ช่วยเขาในเรื่องของเอกสาร

ถาม เทคนิคหรือวิธีการอย่างไรที่ทำให้เด็กทำงานอย่างราบรื่น?

ตอบ ความไว้ใจ ไว้ใจว่าเขาทำได้เราเชื่อใจว่าเขาทำได้เขาก็ลุยเลย จัดการประสานรุ่นพี่รุ่นน้องและจัดการเวลาในการทำงานที่ไม่กระทบทั้งตัวเขาและตัวเรา เขาพูดว่าขอเพียงแค่ครูพูดว่าโอเค เขาจะรู้ว่าเขาต้องทำอะไร เขาบอกว่าครูไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ก็พอเพราะเขาคิดมาแล้ว บางทีเขาคิดว่ามันใช่แล้วแค่อยากได้กำลังใจเพิ่ม ช่วงหลังกลับกลายเป็นว่าครูไม่ต้องชี้นำเขาแล้ว พี่ธเนศจะคอยบอกว่าเป็นพี่เลี้ยงก็ต้องฝึก ต้องมาทบทวนตัวเองว่าเราก้าวหน้าเหมือนเด็กไหม เราก็ฝึกมาหลายรุ่นแล้วนะ

ถาม การเรียนรู้สำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงคือเรื่องอะไร?

ตอบ ความอดทนเราต้องอดทนกับเด็กๆ ในเด็กรุ่นแรกอาจจะไม่ต้องอดทนเท่านี้ ต้องใจเย็นมากๆ ต้องคิดก่อนพูด เมื่อก่อนใช้วิธีกดดันเด็กก็มีแต่บางรุ่นเราไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ การกดดันอาจจะทำให้เขาเครียด เด็กบางคนก็จะรู้ว่าเรากดดันไปอย่างนั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจที่จริงครูไม่ได้มีอะไร

การสังเกตเด็ก เด็กแต่ละคนมีบุคลิกมีความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน ในทีมเด็กต้องมีผู้นำเพื่อให้ผู้นำคิดและช่วยพาทีมไป เขาไม่แย่งกันนำซึ่งเราเห็นว่ามันไม่จำเป็น เราบอกให้เขาช่วยกันคิดช่วยกันเสนอความคิดเห็นผลัดกันเป็นผู้นำ เราอยากให้เด็กไม่ต้องรอแต่ผู้นำ เราต้องฟังเด็กให้มาก ๆ บางทีเขาพูดก็ขัดใจเราแต่เราก็ต้องฟัง เราก็ไม่เคยถามเขาว่าทำไมเขาถึงไม่สลับกันนำ เด็กรุ่นนี้เขาจะยึดบทบาทของตัวเอง ยึดถือคำที่เคยพูดเคยตกลงกันไว้ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรกระทันหันเขาจะไม่ยอม บางทีเรามีคำถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยเหรอ เราต้องเรียกเขามาคุยว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ใครจะมีบทบาทในการตัดสินใจหรือในเรื่องนี้บ้างต้องคุยกับเขาให้หมด ในเด็กรุ่นแรกๆ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงถ้าพูดให้ฟังพวกเขาก็จะเชื่อเลย เราไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องช่วงอายุหรือเปล่า บางทีเขาจะโวยวายว่าเมื่อกี้ครูไม่ได้พูดอย่างนี้ ทำไมไม่ทำตามข้อตกลง ครูก็ต้องปรับตัวตามเขาตลอดทุกอย่าง บางทีเราก็เครียดว่าทำไมพวกเธอไม่เชื่อฉัน

ถ้าเราให้อำนาจการตัดสินใจกับเขาแล้ว เขามองเรื่องทีมเขาเป็นหลัก พวกเขาจะมีความมั่นใจ เขาจะขยายทีมของเขาชวนน้องๆ มาเข้าร่วม เรามองว่าน้องเดือนเก่งที่รักษาทีมเดิมไว้ได้และยังหาทีมใหม่เข้ามาช่วยได้อีก น้องๆ ให้ความเชื่อมั่นในเดือน เวลาพวกเขามาเจอกันเขาก็จะใช้กระดานจดเพื่อเขียนแบ่งบทบาทหน้าที่ กระดานที่เขียนอาจจะไม่เรียบร้อยแต่อย่างน้อยเขาได้ลองทำ เขาจะทำกันได้

แต่บางทีเราต้องขอไปดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขาทำได้มากน้อยแค่ไหนครูจะทำแบบนี้เป็นประจำ เรื่องการจัดข้อมูลของเขามันจะไวมากยิ่งขึ้น ครูต้องไม่ปล่อยทิ้งไว้นาน ถ้าปล่อยไว้นานพอกลับไปถามอีกครั้งพวกเขาจะลืม เรื่องการจัดระบบข้อมูลที่ครูมองเขายังทำไม่ค่อยได้เราต้องช่วยเขา

ถาม ครูช่วยเด็กจัดระบบข้อมูลอย่างไร?

ตอบ ชวนตั้งคำถาม ให้กลับมาดูที่เป้าหมาย การวางแผน ให้เขากลับมาดูว่าแต่ละครั้งที่ลงพื้นที่ไปไปทำอะไรตรงตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่ งานบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่บรรลุเป้าหมายเป็นเพราะว่าอะไร ให้เขาเขียนและจด ส่วนคนไหนมีหน้าที่พิมพ์ต้องพิมพ์เลย ให้เขาแบ่งหน้าที่การงานจะได้ไม่พอกงานไว้

ถาม ตอนนี้โครงการดำเนินงานมากี่เปอร์เซ็นต์?

ตอบ 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือเรื่องการจัดเวทีเพื่อคืนข้อมูล

ถาม ในช่วงการลงพื้นที่ พี่เลี้ยงประสานงานกับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร?

ตอบ ส่วนใหญ่เวลาที่เด็กไปเราไปกับเด็กด้วย เบื้องต้นเด็กจะไปติดต่อด้วยตัวเอง ผู้อำนวยการของ รพ.สต. มีความคุ้นเคยกับเด็ก เครือข่ายเขารับรู้ เด็กๆ รู้จัก อสม. ของชุมชนอยู่แล้ว เขาจะติดต่อประสานงานได้เลย สิ่งหนึ่งที่เราต้องย้ำเขาคือเขาจะต้องจดบันทึก ต้องจำตัวบุคคลให้ได้ว่าไปสัมภาษณ์ใคร มีอาจารย์ธนพล (ครูเอ็ม) คอยช่วยปรับข้อมูลให้พวกเขา พวกเด็กเขาเอากิจกรรมนี้ไปเสนอในระดับภาคแล้วเขาชนะ ครูเอ็มเคยทำงานกับโครงการ Active citizen มาก่อนหน้านี้ เด็กๆ ให้ความไว้วางใจอาจารย์ธนพล และเอาข้อมูลไปปรึกษา ครูเอ็มใช้กระบวนการตั้งคำถามและช่วยลำดับข้อมูลให้ เด็กๆ เชื่อเขา ครูเอ็มเป็นครูรุ่นใหม่เข้าใจเด็กกลุ่มนี้

ถาม ครูเรกับครูเอ็มทำงานส่งต่อข้อมูลกันอย่างไร?

ตอบ ส่งต่อข้อมูลกันค่ะ ให้ครูเอ็มช่วยตั้งคำถามเพราะเขาเป็นคนใจเย็นกว่าเรา เขาจะเว้นระยะให้เด็กตอบคำถาม ค่อยๆ ไปทีละขั้นตอน เด็กจะบอกว่าถ้าคุยกับครูเร ครูเรจะเป็นคนใจร้อนกว่า เวลาลงพื้นที่ครูเอ็มจะไปลงพื้นที่กับเด็กๆ ด้วย บางทีสมาธิของครูเรก็ไม่อยู่กับเด็กตลอดเพราะต้องทำอะไรหลายอย่าง นี่อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราใจร้อน ความที่เด็กเห็นเราทำหลายอย่าง เด็กอาจจะไม่อยากกวนเรา บางทีเราถามเขาว่าเป็นข้อมูลจริงหรือเปล่า เพราะเห็นเขาตอบเราแบบรีบๆ ครูเรคิดว่าการเป็นพี่เลี้ยงจะต้องใจเย็น การจะฝึกเด็กให้คิดเป็นระบบครูเองก็ต้องลำดับความคิดตัวเองให้ชัดเหมือนกัน

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในด้านไหน?

ตอบ การทำงานให้มีระบบจัดระบบความคิดให้ชัดเจน ใจเย็นขึ้น ใจเราไม่จดจ่อกับเด็ก อาจารย์ธนพลก็ฝึกมาพร้อมกับครูเร แต่การจัดระบบของครูเอ็มชัดเจนกว่าครูเร ดูจากการตั้งคำถามของเขา เด็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่า บางทีเราก็ย้อนคิดแทนเด็กว่าเป็นที่อายุของเราไหม มันเกี่ยวข้องกันไหม เราก็คิดว่าไม่น่าเกี่ยว เสียงสะท้อนของเด็กสำคัญ อยากจะลองจัดวงคุยฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ เหมือนกันว่าพวกเขาคิดอย่างไร เด็กรุ่นแรกที่เราเคยฝึกตอนนี้เขาจบไปแล้ว เขาไปทำงานกับพี่ธเนศเรียบร้อยแล้ว ทุกครั้งเวลาชวนเขาคุยเขาจะสะท้อนได้ดี

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำงานมีเรื่องอะไรบ้าง? มีวิธีจัดการกับปัญหาอย่างไร?

ตอบ ปัญหาเรื่องงานที่ได้รับมอบหมายทั้งของเด็กและงานของครู มีกิจกรรมต่อเนื่องและจำนวนเยอะ ทำงานต่องานตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่ก็แปลกสุดท้ายมันก็ผนวกกันและสามารถจบงานได้ จนถึงวันนี้เด็กสามารถทำโครงการอาวุโสโอเคได้สำเร็จ เดือนกับเพื่อนเขามีทั้งเรื่องส่วนตัวทั้งเรื่องการหารายได้ ต้องทำงานรับจ้างแต่เขาก็ทำทุกอย่างออกมาได้ ไม่มีขาดเลยแม้สักเรื่องเดียว ครูก็เช่นกัน เด็กเขาทำได้ก็เพราะว่าเราไว้ใจเขา เราวางใจเขาเราคอยติดตามถามหลังจากนั้นเขาก็ลุยกันเลย อีกอย่างเขามีพี่เลี้ยงที่โหนดและรุ่นพี่เขาที่คอยให้คำปรึกษา รุ่นพี่ที่ชื่อแป้งเขาจะคอยกระตุ้นน้องตลอด คอยให้กำลังใจน้อง แป้งดูออกว่าน้องแต่ละคนเป็นอย่างไร คอยบอกเราว่าครูต้องใจเย็นๆ ครูเรต้องพูดแบบนี้แบบนั้น เขาจบไป 2 ปี แล้วแต่ยังช่วยดูแลน้อง เวลาแป้งมาจะใช้วิธีตั้งคำถามถามจนน้องตอบตรงประเด็นมากขึ้น บางทีเราก็คิดว่าถ้าเกิดไม่มีแป้งครูเรจะทำเองได้ไหม

ถาม แสดงว่าการทำงานของครูเรจะทำร่วมกับครูเอ็มและแป้งเป็นลักษณะทีมพี่เลี้ยง?

ตอบ ใช่ค่ะ จะส่งต่อข้อมูลกันตลอดเวลา ถ้าเทียบเหมือนคุณเรจะคอยเป็นเหยี่ยวที่คอยช่วยมองภาพรวม ไม่ค่อยมองเรื่องรายละเอียดด้วยความที่เราทำงานหลายด้าน แต่เราโชคดีที่เรามีอาจารย์ธนพลและแป้งเข้ามาช่วยเลยทำให้โครงการสมบูรณ์

ถาม ได้คำตอบของโจทย์โครงการที่ตั้งไว้แล้วหรือยัง น้องๆ ได้คำตอบว่าอย่างไร?

ตอบ น่าจะได้แล้ว คงได้กระบวนการที่เขาทำร่วมกับ รพ.สต. เวลา รพ.สต. เข้าไปตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเด็กๆ ก็เข้าไปช่วย รพ.สต. จะถามน้องเดือนว่า อาทิตย์นี้ผู้สูงอายุเข้ามาตรวจนะ น้องเดือนอยากมาทำอะไร พวกเขาจะไปช่วยทำเรื่องออกกำลังกายพื้นฐานเบื้องต้นทำให้ผู้สูงอายุสนุกผ่อนคลาย อนามัยให้พื้นที่เวทีให้พวกเขาแสดง เช่นปีใหม่พวกเขาไปรำ พวกเขาเข้าไปเพิ่มความสุขกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องการเล่าความหลัง เวลาเด็กๆ เข้าไปคุยเขาไปถาม เขาก็จะได้ฟังเรื่องราวความหลังของผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อสม. เรื่องการแช่เท้าด้วยสมุนไพร พวกเขาเรียนเกษตรมาเขาจะได้แลกเปลี่ยนกัน เรื่องพืชสมุนไพรที่เรียนในห้องเรียนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เด็กได้เรียนรู้ว่าการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้นทำอย่างไรบ้าง สะท้อนกลับมาที่ตัวเขาเองว่าเขาจะดูแลตัวเองเรื่องอะไรได้บ้าง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้สูงอายุ เรื่องของอาหารลดเค็ม ลดหวาน ลดเปรี้ยว เวลามีงานประชุมวิชาการที่วิทยาลัยพวกเขาจะเอาเรื่องราวเหล่านี้มาส่งต่อกับเพื่อนๆ ในวิทยาลัย และเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการของเขาเพิ่มมากขึ้น

ถาม งานของนักศึกษาชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานวิจัยของอาจารย์ด้วยหรือไม่?

ตอบ เป็นด้วยค่ะ ตอนนี้ก็เป็นเรื่องระดับภาคที่ไปด้วยกันได้หมดเลย เหมือนว่าเด็กเขาเหนื่อย แต่เหนื่อยอย่างเดียวได้หลายต่อ งานจะส่งต่อไป ทำงานชิ้นเดียวได้ตอบตัวชี้วัดร่วม แต่กว่าเด็กๆ จะเข้าใจก็มาตอนสุดท้าย เดี๋ยวเขาก็ได้รางวัลมา เป็นกระบวนการสร้างเด็กโดยใช้หลายภาคส่วนเป็นเรื่องที่ดีมาก เด็กเป็นตัวแทนฝึกแค่ 5 คน พอกลับมาก็เป็นแกนนำ พี่ธเนศเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กพักที่วิทยาลัย ถ้าเราฝึกเขาได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ดูแลรุ่นน้องต่อไป อาจจะขาดตรงที่ครูเขาไม่สามารถจะมาเรียนรู้ได้แบบเรา

ถาม ทักษะพี่เลี้ยงที่ตัวเราคิดว่าโดนเด่นในการพาเยาวชนเรียนรู้คือ?

ตอบ จุดแข็งคงเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะทำไม่ได้ การเพิ่มงานและเพิ่มศักยภาพให้กับเด็กและตัวเรา เรามองว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ตัวเราจะทิ้งไม่ได้ ใจเราสู้ใจเราเสียสละไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ มองว่าเป็นความสุขที่เห็นเด็กเขาเติบโต มองเป็นความอดทน เราต้องคอยให้กำลังใจเด็ก ในใจลึกๆ เราก็แอบคิดนะว่าเราเพิ่มภาระให้เด็กๆ แต่เราต้องสลัดความคิดแล้วบอกกับเด็กว่า “มันเป็นประโยชน์กับพวกเธอนะ” เวลาเด็กมาพูดว่าหนูไม่ไปได้ไหมคะ วันนี้วันหยุดหนูต้องไปรับจ้างไม่อย่างนั้นหนูไม่มีเงินเรียน พอได้ฟังเราเองก็ต้องฮึดให้เด็กไป บอกว่าแล้วแต่เธอก็ไม่ได้ แต่เราต้องคอยอธิบายให้เขาเข้าใจว่ามันเป็นประโยชน์กับเขาจริงๆ

แต่ถามว่ามีไหมที่อยากจะเลิก บางครั้งก็รู้สึกว่าเราเลิกทำเถอะ เราไม่ต้องหาเรื่องใส่ตัวหรอก เพราะเรื่องข้างในเราก็เยอะแล้ว เหมือนเราคุยกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำมันดีนะ เวลาเด็กเขาทำเขาได้ตัวเราก็ได้ เวลาเด็กเขากลับจากการไปประชุมได้ไปแลกเปลี่ยน เขาได้รับข้อมูลข่าวสาร ใน 1 เดือน ไป 1 ครั้ง เขาได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอด อย่างน้อยเด็ก 5 คน ที่เราพาไปเขาก็ได้ เป็นเรื่องที่เราทิ้งไม่ได้เราต้องใจสู้ เราต้องให้เด็กเขามองเห็นเป้าหมาย ซึ่งเด็กทุกวันนี้จะอยู่แต่กับเรื่องของเขา เพราะเพื่อนส่วนใหญ่อยู่กับโลกของตัวเอง โลกโซเซียลถ้าครูไม่คอยเปิดช่องทางให้เขาดึงเขา เด็กเขาก็จะไปหมดเลย