เดือนเพ็ญ ศรีสุข : โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

นางสาวเดือนเพ็ญ ศรีสุข (เดือน) อายุ 18 ปี

ระดับชั้น ประกาศนียบัตรวิชาชีพปี 3 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี

โครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563

­

­
ถาม ช่วยแนะนำตัวและโครงการที่ทำ?

ตอบ สวัสดีค่ะ หนูชื่อเดือนเพ็ญ ศรีสุข ชื่อเล่นเดือน อยู่ชั้นปวช.ปี3 เรียนสาขาพืชศาสตร์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ชื่อโครงการการค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ถาม ทำหน้าที่อะไรในโครงการ?

ตอบ เป็นหัวหน้าโครงการและคอยประสานงาน

ถาม หน้าที่ของหัวหน้าโครงการต้องทำอะไรบ้าง?

ตอบ ทำหน้าที่รับเรื่องดูว่าเราต้องทำอย่างไร กิจกรรมครั้งนี้เราจะลงบ้านไหน คอยประสานงานเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ระยะเวลาดำเนินงาน ดูว่าเราจะประสานงานกับใครบ้าง

ถาม ช่วยเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟัง?

ตอบ หนูเป็นคนชอบทำกิจกรรม เป็นคนกล้าแสดงออกแต่จะอยู่กับกลุ่มของตัวเอง ใครมีงานจะเข้าไปช่วย แต่ก็ไม่ได้สนใจใครมากเท่าไร สนุกสนานเฮฮาไปไหนไปกันกับเพื่อนได้หมด แต่ถ้าคนไหนไม่รู้จักเราจะเฉยๆ

ถาม ทำไมถึงสนใจทำงานที่เกี่ยวกับชุมชน?

ตอบ หนูเป็นคนชอบคุยกับคนแก่อยู่แล้ว เวลาลงพื้นที่หนูรู้สึกสนุกได้ไปพูดคุยกับคนอื่น หนูคิดว่าเป็นการสร้างมิตรภาพ ถ้าเกิดเราอยากได้รอยยิ้มจากเขาเราต้องคิดเสมอว่าเราต้องยิ้มให้เขาก่อนต้องคุยกับเขาก่อนถึงจะได้แบบนั้นกลับคืนมา

ถาม โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ทำใช่ไหม?

ตอบ ตอนปี 1 หนูเข้าร่วมโครงการของผู้มีรายได้น้อย หนูช่วยลงพื้นที่ในชุมชน หนูสนุกในการเดินทางหนูเป็นคนชอบอะไรแบบนั้น ความฝันของหนูคือการทำงานที่กรมป่าไม้ หนูเป็นคนชอบลุย

ถาม เราอยากทำหน้าที่อะไรในกรมป่าไม้?

ตอบ ถ้าเป็นผู้หญิงคนอื่นคงอยากทำอยู่ข้างใน แต่หนูอยากลาดตระเวนทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหนูชอบทำอะไรที่ท้าทายตัวเอง ถ้าให้หนูเรียนในห้องกับไปทำงานข้างนอก หนูชอบทำงานข้างนอกมากกว่า หนูไม่ชอบทำอะไรที่น่าเบื่ออย่างเช่นนั่งเรียนหนังสือในห้อง แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องปฏิบัติหนูจะทำหมด หนูไม่ชอบทฤษฎี ถ้าเรียนหนังสือหนูจะง่วง ถ้าทำงานหนูจะโอเค

ถาม ความสนใจพิเศษของเราคือเรื่องอะไร?

ตอบ ชอบลงมือปฏิบัติ อะไรก็ได้ลุยได้ท้าทายตัวเอง งานสานสัมพันธ์ชุมชน หนูได้ลองไปทำอะไรที่หนูไม่เคยทำ หนูไปดูหมอที่เขาตรวจสุขภาพหนูก็อยากรู้ว่าเขาทำอย่างไร

ถาม เรื่องที่ท้าทายที่สุดในการทำโครงการ?

ตอบ น่าจะเป็นเรื่องตรวจสุขภาพค่ะ เพราะเราจะต้องดูเข็มที่เค้าตรวจ และหนูเป็นคนกลัวเข็มเวลาไปเจอผู้สูงอายุมันท้าทายตัวเอง ว่าหนูจะไปชวนเขาเล่นเขาคุยอะไรดี หมาในชุมชนจะกวนหรือกัดเราไหม

ถาม ช่วงที่ลงชุมชนมีวิธีการทำงานอย่างไร?

ตอบ เราจะประชุมกับคนในทีมก่อนว่าเราจะทำอะไร ทำอย่างไหน ทุกคนในทีมโอเคไหม หลังจากนั้นคุยกับครูพี่เลี้ยงที่ปรึกษาโครงการ คุยเสร็จเราก็ติดต่อประสานงานกับทางอนามัย หมอจะคอยบอกว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหน ครั้งแรกหนูจะลงพื้นที่ไปกัน 2-3 คน ก่อน เพื่อสำรวจแล้วกลับมาบอกเพื่อนในทีมเพื่อแจกงาน ว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนมีใครอยู่บ้าง หลังจากนั้นเพื่อนจะไปสัมภาษณ์ หนูจะไปกับเพื่อนด้วย เราแบ่งกันไปว่าใครจะไปบ้านหลังไหน ส่วนใหญ่จะขี่รถไปบ้านละ 2 คัน เผื่อหลงทาง

ถาม ช่วยเล่าเหตุการณ์บ้านหลังแรกที่เราลงไปสัมภาษณ์?

ตอบ บ้านแรกคือบ้านลุงจือ ก่อนเข้าบ้านลุงจะมีคันคลองเขาจะเลี้ยงวัว ตอนนั้นวัววิ่งเข้ามาหาเราตอนที่ไปกลัววัวขวิดมาก หนูรู้สึกประทับใจเพราะว่าเราต้องข้ามคลองไปหาลุง ลุงจืดเป็นคนที่เล่าเรื่องสนุกมาก เมื่อก่อนลุงทำโรงงานยาสูบไปรับจ้างตัดต้นไม้ที่กาญจนบุรี

ถาม เกิดความรู้สึกอย่างไรหลังจากที่สัมภาษณ์วันนั้น?

ตอบ มีความสุข รู้สึกว่าอยากทำงานต่ออยากไปต่อ ถ้าเกิดเป็นแบบนี้ทุกบ้านจะเป็นอะไรที่ดีมาก ส่วนใหญ่ที่หนูลงชุมชนมาเกือบทั้งหมดก็จะเป็นแบบนี้ จะมีไม่กี่หลังที่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่หนูไม่ได้เก็บมาเป็นปัญหา หนูรู้สึกว่ามันท้าทายนะพี่เขาพูดแบบนี้กับเราแบบนั้น เขาอาจจะไม่เชื่อมั่นในตัวเรา

ถาม เราใช้วิธีการเดิมหรือวิธีการที่แตกต่างกันในตอนที่ลงชุมชน?

ตอบ เปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ค่ะ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปลงวันไหนเราไม่ได้แจ้งเขาล่วงหน้า เราไปพูดคุยกับเขาแต่ถ้าเขายุ่งงาน เช่น เขาอาจจะเก็บของอยู่เราก็เข้าไปช่วยเขา หนูจะบอกเขาว่า “หนูช่วยตรงนี้นะคะ” ชวนเค้าคุยและค่อยถามว่าคุณยายเป็นอย่างไรบ้าง ร่างกายแข็งแรงไหม อย่างบ้านลุงจือหนูประทับใจที่แกเป็นกันเองกับหนูมาก หลานของลุงจือเขาเรียนที่เดียวกับหนู ส่วนบ้านอีกหนึ่งหลังเป็นบ้านคุณยาย หนูไปมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 3 เดือน และหนูลงไปครั้งที่ 2 อีก ในตอนแรกคุณยายเดินไม่ได้ เหมือนว่าแกเป็นอัมพาตแต่ตอนนี้คุณยายดีขึ้น ยายชวนหนูคุยพอหนูจะกลับ ยายบอกว่าจะกลับแล้วเหรอไม่อยู่กินข้าวกับยายก่อนเหรอ หนูบอกแกว่าหนูจะต้องไปบ้านหลังอื่นต่อ ขาคุณยายดีขึ้นแล้วแต่ตายังฝ้ามัว หนูเห็นพัฒนาการของยาย

ถาม หลังจากที่เห็นคุณยายวันนั้นเรารู้สึกอย่างไร?

ตอบ รู้สึกมีความสุข พอเราเข้าไปบ้านยาย ยายได้ยินเสียงเราก็หันมาแล้วบอกว่า “อ้าว ไอ้หลานคนนี้มาอีกแล้ว” ตาแกก็เดินกลับมาแล้วบอกว่า “มาอีกแล้วเหรอ” พวกเขาจะคอยถามว่าหนูจะมาอีกเมื่อไร

ถาม ช่วยเล่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเองก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ ?

ตอบ การเปลี่ยนแปลงของหนูคือเรื่องการประสานงาน การเป็นผู้นำ เมื่อก่อนหนูคิดว่าแค่เล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะทำตามเราหรือเปล่า แต่ตอนนี้เราเป็นหัวหน้าเราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด เราต้องรับมือกับปัญหาทุกอย่างเพราะว่าเราต้องโดนก่อนคนแรก ถ้าไม่ดีเราก็รับถ้าดีเราก็รับ ถ้าไม่ดีเราจะเอาปัญหามาคุยกันโดยที่เราจะไม่ด่าว่าคนในทีมกันเอง เราจะว่ากันไม่ได้เพราะจะเป็นการบั่นทอนจิตใจ เดี๋ยวเขาจะคิดว่าฉันก็ทำงาน แล้วทำไมต้องมาด่าฉันด้วย สมัยก่อนหนูเป็นคนไม่สุงสิงกับใคร ต้องเป็นคนที่สนิทเท่านั้นที่จะไปไหนไปกัน พอเข้าร่วมโครงการหนูจะคุยแต่กับเพื่อนหนู 2 คน หนูจะแค่ประสานงานกับน้อง หนูจะไม่เล่นกับน้องเลยคือไม่ได้สนิทกันกับน้องก็ไม่อยากเล่นด้วย ตอนหลังพอทำโครงการด้วยกันเริ่มสนิทผูกพันแล้วก็รักกัน วิธีปรับตัวเข้าหาคนของหนูดีขึ้น

ถาม อะไรในตัวเราที่ทำให้เกิดการเปิดใจยอมรับเพื่อนใหม่?

ตอบ การที่เราจะต้องทำงานร่วมกัน ต้องลงพื้นที่หลายครั้งเวลาทำงานเราไปไหนไปกัน เราทำกิจกรรมด้วยกันเกือบทุกอย่าง พอทำงานไปก็สนิทกันไปเรื่อย

ถาม เคยมีประสบการณ์อะไรที่ทำให้เกิดกำแพงในการคบเพื่อนใหม่?

ตอบ หนูไม่ค่อยคบเพื่อนผู้หญิง เพราะตอนสมัยหนูเรียน ม.2 หนูเคยคบกับเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งแล้วมีปัญหากัน เขาจะตบหนูแต่เขาไปบอกอาจารย์ว่าหนูจะตบเขา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหนูไม่คบเพื่อนผู้หญิงอีกเลย พอมาอยู่ที่วิทยาลัยนี้ตอนแรกจะไม่คบเพื่อนผู้หญิงจะไม่คบใครเลยเพราะหนูมาเรียนที่นี่คนเดียว ตอน ม.3 หนูมีเพื่อนแค่ 3 คน ผู้ชาย 2 คนและหนู 1 คน เราเคยมีปมในอดีตมาเราจริงใจกับเพื่อน แต่เพื่อนโกหกเราหนูก็เลยรู้สึกไม่ดีกับเพื่อนผู้หญิง แต่พอเราเข้าร่วมโครงการหนูก็เปิดใจไม่ตัดสินใคร พอได้เจอเพื่อนผู้หญิงที่จริงใจกับเราหนูเลยยอมเปิดใจคบทำงานร่วมกันได้

ถาม เรื่องอะไรที่ยากที่สุดในการทำโครงการ?

ตอบ เรื่องเวลาเพราะเวลาบีบรัดตัว พวกหนูต้องเร่งจบต้องมีโครงการนี้และโครงการในวิชาเรียนมีงานที่ต้องแข่งขัน พอทุกอย่างมารวมกันเวลาเราเลยไม่ค่อยมี

ถาม แก้ปัญหาเรื่องเวลาอย่างไร?

ตอบ แบ่งเวลาดูว่าทำอะไรก่อนหลัง ทำอันนี้ก่อนและทำอะไรต่อไปหลังจากนี้ เวลาไหนว่างถ้าไม่มีวิชาเรียนหนูก็จะทำงานต่อเลย และแบ่งเวลาส่วนตัวของตัวเองสัก 1-2 วัน เพื่อไปเที่ยวกับครอบครัวแล้วกลับมาลุยงานกันต่อ

ถาม เรื่องประทับใจที่สุดในการทำโครงการ?

ตอบ ความประทับใจของหนูก็คือคนในทีมรักกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราไม่ทิ้งกันเราจะอยู่ด้วยกันตลอด

ถาม ปัญหาในการทำงานของทีมคือเรื่องอะไร?

ตอบ มีอยู่ช่วงหนึ่งคือต่างคนต่างไม่อยากมา น้องบอกว่า “หนูไม่ว่างพี่” “ผมไม่ว่างครับ ผมไปไม่ได้” เราก็ขอร้องว่าน้องช่วยพี่หน่อยพวกเราช่วยกันทำหน่อย สุดท้ายน้องก็หาเวลาว่างมาแต่น้องบางคนมาไม่ได้จริงๆ หนูเข้าใจเขา เพราะว่าเขาต้องทำงานไม่ทำงานก็ไม่มีรายได้ เพราะว่าเขาต้องช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ตัวหนูเองก็เหมือนกัน ทุกคนในทีมต้องทำงานเสาร์-อาทิตย์

ถาม แก้ปัญหาเรื่องคนในทีมไม่มีเวลาทำงานอย่างไร?

ตอบ เราประชุมกันในกลุ่มว่าให้พูดกันตรงๆ ถ้าใครไม่สะดวกมา เราสื่อสารผ่านโซเชียลใครมีปัญหาก็ให้บอกกันในกลุ่ม เราจะดูว่าพี่ช่วยกันแก้ปัญหานี้ได้ไหม ในเวลาประชุมเราจะแบ่งงานถ้าน้องไม่ว่างจริงๆ จะถามเขาว่าโอเคไหม หน้าที่นี้ทำได้ไหม อย่างครั้งที่แล้วที่หนูติดทำโครงการหนูไปไม่ได้หนูก็ให้น้องลงพื้นที่แทนสุดท้ายน้องก็ทำได้

ถาม รู้สึกอย่างไรที่ต้องมาทำงานวิจัย

ตอบ หนูไม่เข้าใจคำว่าวิจัยเลยค่ะ บอกตรงๆ ว่าหนูเป็นคนที่ไม่ชอบทำงานคอมพิวเตอร์ หนูรู้สึกน่าเบื่อ พอเริ่มทำโครงการหนูจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ต้องพิมพ์งาน หนูเชื่อว่าโครงการนี้ทำให้หนูพิมพ์คอมพิวเตอร์เก่งขึ้น และสามารถไปทำโครงการจบของหนูได้ เพราะตอนนี้หนูทำคอมพิวเตอร์ไวมากค่ะ จากคนที่พิมพ์คอมพิวเตอร์ทีละตัวอักษรแต่ตอนนี้พิมพ์ไวมาก สามารถทำ POWER POINT ได้ พอมาทำโครงการนี้หนูยอมรับว่าหนูพิมพ์ได้ไวขึ้นสามารถทำงานเสร็จไว เข้าใจในภาษามากขึ้นด้วย การตั้งค่าของคอมพิวเตอร์เราทำได้หมด นอกจากอันไหนที่เราทำไม่ได้เราจะคอยถามเพื่อนถามอาจารย์

ถาม การเรียนรู้ที่เป็นที่สุดคือเรื่องอะไร?

ตอบ เรื่องคอมพิวเตอร์และการพูดคุยกับผู้สูงอายุ รู้วิธีการคุยว่าเราต้องคุยยังไงเพราะบางทีเราเป็นวัยรุ่นเราพูดคำหยาบคายพูดแบบบ้านๆ แต่พอเราไปคุยกับผู้ใหญ่เราต้องรู้ว่าเราต้องพูดค่ะ ครับ ต้องรู้จักสัมมาคารวะกาลเทศะ พ่อของหนูจะสอนตลอดว่าเจอผู้ใหญ่ให้ยกมือไหว้ทักทายสวัสดี หนูได้เรียนรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างตอนที่เราไปจัดเวทีผู้สูงอายุที่ต้องจัดร่วมกับอนามัยเขาไม่มีตารางงานให้เรา เราจะต้องหาช่วงเวลาแทรกเพื่อไปจัดกิจกรรมต้องดูน่างานว่าผู้สูงอายุมีจำนวนเท่าไหร่ เราจะทำอะไรดี ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต้องตัดสินใจ หนูจะปรึกษาทีมว่าทีมโอเคไหม ถ้าไม่โอเคจะต้องเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนอย่างไร

ถาม ถ้าให้ชื่นชมตัวเอง อยากบอกตัวเองว่าอะไร?

ตอบ เรื่องการพูดคุยกับคนอื่น หนูเป็นคนชอบยิ้มเดี๋ยวนี้หนูยิ้มง่ายขึ้น หนูเป็นคนพูดเก่งมากถ้าได้พูดแล้วจะพูดไม่หยุด การสื่อสารที่เป็นมิตรของหนูมันช่วยให้โครงการราบรื่น ถ้าเราไม่พูดคุยเราไม่ยิ้มแย้มกับเขาเราไม่รู้หรอกว่าเขาจริงใจกับเราหรือเปล่า จะคุยกับเราไหม บางคนอาจจะอายเราก็เป็นคนเริ่มที่จะพูดก่อนชวนเขาไปทำกิจกรรมร่วมกับเรา

ถาม เป้าหมายในอนาคตคือเรื่องอะไร?

ตอบ อยากเป็นผู้พิทักษ์ป่าไม้ และอยากทำงานสร้างอนาคตของตัวเองให้ดีให้พ่อกับตาหนูสบายอาจจะไม่มีบ้านหลังใหญ่โต แต่เราจะมีบ้านที่พอดีใช้ชีวิตอยู่อย่างพอกิน หนูจะเดินทางสายกลางไม่ใช้ชีวิตสวยหรู ขอให้คนในครอบครัวเรามีความสุขคนรอบข้างเรามีความสุขแค่นั้นพอ

ถาม นิยามความสุขของเราคือ?

ตอบ ตั้งแต่เด็กหนูคิดไว้เสมอเลยว่า อยากสูงต้องเขย่ง อยากเก่งต้องขยัน ถ้าเราไม่ขยันเราก็ไม่มีวันเก่งหรอกค่ะ ป้าหนูจะค่อยบอกหนูว่า “อะไรที่ไม่เคยทำก็ลองทำไปซะ ชีวิตเรามีแค่วันนี้เราไม่รู้เรื่องบอกว่าพรุ่งนี้เราจะมีหรือเปล่า” หนูจะทำวันนี้ให้เต็มที่ ในวินาทีนี้เราทำอะไรได้เราทำไป อยากบอกรักใครเราก็ทำเพราะเราไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้เราจะยังอยู่หรือเปล่า