นางสาวณัฐนันท์ มณีดำ (พี่นุ้ย) อายุ 33 ปี
ตำแหน่ง ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ กองการศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา
โครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชนตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
สัมภาษณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563
ถาม ขอให้เล่าภูมิหลังที่มาของการทำโครงการ?
ตอบ เป็นเจ้าหน้าที่ของ อบต.ดอนคา ทำงานเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ อยู่กองการศึกษารับงานเกี่ยวกับสภาเด็กและเยาวชน ของตำบลดอนคา เด็กที่เข้ามาทำโครงการเป็นสภาเด็ก ของเราที่ได้เข้าร่วมโครงการเพราะน้องเพชร ที่อยู่บ้านพักเด็กแนะนำว่ามีโครงการดีๆ เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร น้องเพชรบอกว่าพี่นุ้ยสนใจไหม น้องเพชรคิดว่าพี่นุ้ยน่าจะทำต่อได้ เลยชวนน้องๆ 10 กว่าคน ส่งรายชื่อไปว่าจะทำอะไร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของโหนดโทรมาถามเก็บข้อมูล เป็นภาพต่อให้เราเข้าร่วมโครงการ
ถาม ทำประเด็นลาวโซ่ง มีต้นทุนมาหรือว่าสนใจอย่างไร?
ตอบ ตำบลดอนคา กว่า 80% เป็นชาวไทยทรงดำที่อพยพมาจากเวียดนามหลายร้อยปีแล้ว มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน เป็นชาติพันธุ์ลาวโซ่ง 6 หมู่บ้าน มีเพียงหมู่บ้านเดียวคือหมู่บ้านป่าหลวงที่เป็นไทยแท้ ที่เหลือเป็นไทยทรงดำ เห็นว่าไทยทรงดำเป็นวัฒนธรรมประจำหมู่ อยากให้เด็กๆ รุ่นหลังกลับไปมองทุนของตัวเองว่าไทยทรงดำวิถีชีวิตตัวเองมีดีอะไร จะชี้ให้เด็กเห็น ให้เด็กอนุรักษ์ ตอนนี้ไปงานอะไรเด็กไม่ใส่ชุดไทยทรงดำแล้ว เราจะมีงานไทยทรงดำประมาณเดือนเมษายน มีอยู่ 3 ที่ พี่ปลัดจะแนะนำว่า ให้ผู้หญ่บ้านประชาสัมพันธ์ให้เด็กในชุมชนแต่กายด้วยชุดไทยทรงดำไปร่วมงาน ไม่ใช่ใส่ขาสั้น ใส่เสื้อเอวลอย ไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา อย่างน้อยประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านแต่งตัว คือสิ่งที่อยากทำ ภาษาไทยทรงดำ บ้านแต่ละบ้านเด็กแต่ละคนพูดไทยทรงดำไม่ได้แล้ว เพราะคุ้นชินกับภาษาไทยกลาง
ถาม คนรุ่นเก่าๆ ยังพูดอยู่?
ตอบ ที่บ้านรุ่นประมาณพี่ก็พูดกันอยู่ แต่ลูกหัดให้พูดไม่พูด เพราะเขาคุ้นชินกับการพูดภาษาไทยกลาง
ถาม พี่นุ้ยเป็นคนที่นี่โดยกำเนิด?
ตอบ ใช่ค่ะ
ถาม เรียนจบทางด้านไหน ทำไมถึงได้มาทำงานในกองการศึกษา?
ตอบ เรียนเอกธุรกิจอังกฤษกลับมาทำงาน คิดว่าไม่อยากอยู่กรุงเทพ อยากกลับมาอยู่บ้าน สมัครงานที่นี่มีตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ เงินเดือนไม่เยอะแต่เราภูมิใจ และได้อยู่ในพื้นที่บ้าน ที่สำคัญได้อยู่กับชุมชน ก่อนหน้านี้ทำงานกับผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ภายในตำบล เราจะรู้จักพื้นที่ชุมชนดี
ถาม ก่อนหน้านี้เคยดูแลงานด้านเด็กและเยาวชนไหม?
ตอบ ทำเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ทำเรื่องสภาเด็กและเยาวชน เด็กให้ความร่วมมือ ส่วนใหญ่เราส่งเสริมกีฬา มีวอลเล่ย์บอล ฟุตบอล มีสนามเย็นๆ จะมีเด็กมาเล่น เราจะมีโครงการพี่ช่วยน้องสอนกีฬาจะมีการอบรม กีฬาให้กับเด็กและเยาวชน ช่วงเดือนเมษายนจะมีแข่งขันดอนคาคัพ ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล ตะกร้อ ฟุตซอล ชุดหลังจะมีพี่สอนน้อง พลักดันให้เด็กรักการเล่นกีฬา ทุกโรงเรียนจะมีใส่ผ้าไทย ของเราจะเป็นชุดไทยทรงดำใส่ในวันศุกร์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้บริหารจะให้เด็กใส่ชุดไทยทรงดำทุกวันศูกร์ มีกิจกรรมรำ หัดพูดบ้างวันละคำสองคำ ถ้าไม่ฝึกตั้งแต่เด็ก เด็กก็จะไม่รัก
ถาม วิถีไทยทรงดำมีอะไรอีกบ้างที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เราพยายามให้สืบทอดกัน?
ตอบ มีหลายเรื่อง ทั้งภาษา การแต่งกาย วัฒนธรรมทางพิธีกรรม แบ่งออกเป็นหลายประเภท มีพิธีเสนเรือนเป็นการเซ่นไหว้ บรรพบุรุษ แต่ละบ้านของไทยทรงดำจะมีห้องผีบรรพบุรุษ ในการเสนเรือนบ้านหนึ่งจะทำสามปีครั้ง จะมีการฆ่าหมู หนึ่งตัวเพื่อการเซ่นไหว้ ขนม ผลไม้ แล้วก็เรียกชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ไทยทรงดำมาร่วมพิธี มีหมอทำพิธีบอกกล่าวบรรพบุรุษมาทาน งานศพจะมีการแต่งกายของลูกชายจะคล้ายชาวจีนและเวียดนามที่ใส่ผ้าดิบและมีผ้าโพกหัวสีขาว มีวิธีสวดส่งแถน มีหลายอย่าง ก็ยังทำอยู่บ้าง แต่คนทำพิธีเหลือน้อย เรื่องนี้ยังไม่ได้พาเด็กไปเรียน วันสองวันนี้จะพาเด็กไปเรียนรู้พิธีกรรมตรงนี้ตำบลดอนคามีผู้รู้อยู่สองท่าน ที่เหลือก็ไม่แล้ว มีน้อยคนที่สืบต่อ พิธีกรรมในงานแต่ง เป็นพิธีที่เป็นเอกลักษณ์ ชาวไทยทรงดำจะใส่ชุดเสื้อหยีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผู้ชายจะยกขันหมากมาสู่ขอและไหว้หน้าห้องผี เพื่อขอสาว พิธีขึ้นบ้านใหม่ของไทยทรงดำจะมีการเดินรอบบ้าน เลี้ยงผี เป็นวิถีเดิมที่ยังคงมีอยู่และประยุกต์กับวิถีใหม่ร่วมกัน
ถาม วิถีการประยุกต์ขึ้นมาเกิดจากใคร ชุมชนคุยกันหรือว่าอย่างไร?
ตอบ บางอันสมัยก่อนของใช้จะเป็นเครื่องจักสาน ปัจจุบันไม่มีแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปใช้อย่างอื่นแทน ยังยึดอันเก่าอยู่แต่บางอันที่หาไม่ได้แล้ว ก็เปลี่ยนแปลง ของประกอบพิธีกรรม
ถาม จากเดิม อบต. มีกิจกรรมพัฒนาเด็กเยาวชน เรื่องกีฬา พอเปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวความเป็นมาของตัวเอง พี่นุ้ยปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มอะไรขึ้นจากเดิมไหม ในการทำประเด็นนี้?
ตอบ กีฬาคิดอีกแบบ ต้องคิดวิธีทำงานใหม่ เรื่องวัฒนธรรมต้องไปศึกษากับผู้รู้ในชุมชน ในชุมชนมีปราชญ์ที่มีความรู้ไหมเหมือนกัน เริ่มหาความรู้ ว่าใครอยู่ตรงไหน พาเด็กไปศึกษาทั้งประชาคม และเจาะจงเฉพาะคน เด็กสลับกันมาเรียนรู้สิบกว่าคน
ถาม ไปชวนอย่างไรให้เด็กสนใจเรื่องนี้?
ตอบ ตอนแรกชวน เรามีภาษาและเป็นเอกลักษณ์ น้องสองคนแรกน้องส้มกับแนน ไม่ใช่คนไทยทรงดำ อยู่หมู่บ้านไทยแท้ ส่วนอีกสองคนเป็นไทยทรงดำ ซึ่งน้องส้มและแนนเห็นวิถีชีวิตของคนไทยทรงดำมาตลอด เห็นตั้งแต่งานรำ งานประจำปีมีงานรำแคน อยู่โรงเรียนได้แต่งชุดไทยทรงดำ เขาพูดภาษาลาวไม่ได้ เขาฟังแล้วบอกว่าเป็นภาษาที่น่ารัก เวลาที่เพื่อนพูด อยากรู้เพิ่ม พี่หนูอยากรู้ หนูอยากเรียน ก็ถ่ายสำเนาคำแปลของคำศัพท์ภาษาไทยทรงดำให้น้องอ่าน บอกน้องว่าถ้าอยากเรียนลึกลงไปอีก พี่จะพาไปเรียน ประมาณนี้
ถาม ตอนที่ไปเรียนรู้ด้วยกันพี่นุ้ยช่วยกระตุ้นอย่างไร ช่วยให้เขาอยากเรียนรู้ ค้นหาโจทย์อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าน้องอยากเรียนรู้เรื่องนี้?
ตอบ เรามีแผนการทำงานของโครงการ ว่าจะทำเรื่องอะไรกันบ้าง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่กว้างเรา ต้องกำหนดหัวข้อ วันนี้เราเรียนเรื่องอาหารนะ วันนี้เราเรียนเรื่องพิธีกรรม เราเรียนเรื่องแต่งกาย เราเรียนเรื่องภาษา จะบอกเด็กว่าวันนี้เราจะเรียนเรื่องอะไร เด็กก็จะเตรียมตัว เด็กจะถามตลอดว่าวันนี้เราจะทำอะไร เก็บข้อมูลอะไรบ้าง ก่อนลงเก็บข้อมูลทุกครั้งเราจะลงมาประชุมทีมย่อย ว่าเราจะไปถามผู้ใหญ่ เราจะถามเรื่องอะไร เราเก็บข้อมูลอย่างไร ใช้คำถามอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น อาหาร มีอะไรบ้าง ทำอย่างไร กรรมวิธีเป็นอย่างไร เป็นต้น
ถาม แผนของเราคือแผนที่มาจากโครงการ ก่อนเริ่มชวนน้องมาลงแผนปฏิบัติการไว้ พอจะลงมาเตรียมอีกทีว่าจะทำอย่างไร?
ตอบ ใช่ค่ะ เก็บมาเสร็จก็มาถอดบทเรียน ว่าแต่ละคนที่ไปได้อะไรบ้าง แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน เช่นเรื่องอาหาร ป้าบอกเคล็ดในการทำอาหาร วิธีนี้ใช้ได้ไม่ได้ เขาจะช่วยกันเสนอเวลาที่ถอดบทเรียน
ถาม ใช้วิธีการอย่างไรถอดบทเรียน?
ตอบ มีแบบฟอร์มของโครงการที่ให้มา จะตั้งโจทย์ให้แต่ละคนตอบไปทีละข้อ จากนั้นช่วยดูให้คนอื่นๆ เสนอเพิ่ม มีอะไรอีกไหม มีอะไรที่เรียนรู้เพิ่มจากเดิมบ้าง มองว่าอะไรเป็นปัญหาอุปสรรค เรามีวิธีการแก้ไขอย่างไร จะคุยกันเหมือนเพื่อน คุยกันได้ตลอด เพราะว่าน้องกับพี่อายุไม่ห่างกันมาก
ถาม หลังจากใช้วิธีการถอดบทเรียนเป็นอย่างไร สังเกตเห็นอะไรบ้าง?
ตอบ สังเกตเห็นว่าน้องมีพัฒนาการในการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อก่อนเขาไม่รู้ว่าไทยทรงดำเป็นอย่างไร เขามีความรู้เพิ่มมากขึ้นว่า อาหารเป็นอย่างนี้ ที่สำคัญน้องที่ไม่เคยจับไมค์พูด ออกชุมชน น้องพูดได้คุยได้ เป็นสิ่งที่ภูมิใจ เช่น วุ้นเส้น ส้ม แนน ไม่เคยจับไมค์เลย ไม่แสดงออก เวลาเข้าชุมชนต้องช่วยพี่นะ พี่ก็ถามให้ไม่ได้ น้องต้องเป็นคนทำ เราตกลงกันแล้ว ช่วยกันคิดคำถาม พี่ก็บอกว่าทำได้ทำเลยไม่เป็นไร ผิดถูกไม่เป็นไรถามได้เลย น้องก็ทำไปถามตอบผิดถูกเขาก็แก้ปัญหากันไป ภูมิใจอยู่อย่างว่าน้องทำโดยไม่มีปัญหา น้องสละเวลามาทำ ช่วงนี้น้องเรียน ขอมาช่วยพี่หน่อย โครงการรีบส่ง น้องก็บอกว่าพี่หนูขอหน่อยช่วงนี้หนูสอบ ก็คนละครึ่งทาง
ถาม ในความเป็นพี่เลี้ยงเป็นโคชของพี่นุ้ย คิดว่าตัวเองเป็นโคชแบบไหน?
ตอบ เป็นเหมือนเพื่อนที่ใครมีปัญหาอะไร ติดขัดเรื่องอะไรคุยกันได้ทุกเรื่อง ส่วนตัวเรื่องงาน เมื่อให้ใจน้อง น้องก็จริงใจกับเราเวลาทำงาน มีปัญหาถ้าเราไม่ให้ใจน้องทำเหมือนเป็นพี่น้องจะไม่ให้ใจเรา การให้ใจน้อง คือน้องจะทำอะไรลองคุยกันได้ไม่ได้ ได้ก็คือได้ ไปไหนไปกัน น้องจะไปไหนเราก็ไปกัน เหมือนไปกินที่นู่นที่นี่ก็ไปกัน กินหมูกะทะเราก็ไป นุ้ยไปไหมไป ต้องคุลกคลีอยู่กันเป็นวิถี เรียกมาคืนนี้พี่อยู่ อบต. นะ น้องก็มาช่วยพี่ทำงานที่ อบต. เตรียมงานที่ อบต.นะ หรือไปที่บ้านพี่ ก็เตรียมงานทำกัน ทำกับข้าวกินกัน ผู้ปกครองพอรู้ว่าทำงานกับเราก็จะไม่ว่าอะไร เพราะเราอยู่ตรงนี้ น้องส้มเป็นลูกผู้ใหญ่บ้าน เขารู้จักเราว่าเป็นคนอย่างไร ไม่พาลูกของเขาไปเสียหายแน่นอน ก่อนพาไปเราก็จะแจ้งว่า อาหนูพาน้องไปที่นี่นะ เขาก็ให้ไป เด็กทุกคนที่ไปกับเราจะบอกเลยว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะ ถ้ามีอะไรเราจะเคลียร์ให้ ใครผู้ปกครองไม่ให้ไปเราจะโทรไปขออนุญาติเลย ว่าไปกับเราตอนกลับบ้านจะไปส่ง ที่นี่เราจะทำงานกันตอนเย็น เพราะบริบทคนที่นี่ช่วงกลางวันจะประกอบอาชีพ เช่นทำบ่อเลี้ยงกุ้ง จะเลิกงานประมาณห้าโมงเย็น ดังนั้นเราก็ต้องทำงานตอนเย็น
ถาม งานของพี่นุ้ยเกินจากงานหลักที่เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ?
ตอบ งานนี้เป็นงานนอกอีกงานหนึ่งที่เราสนใจ พี่ปลัดเป็นคนโคราชแต่สนใจเรื่องวัฒนธรรมไทยทรงดำ แต่ก่อนมีแขกมาพนักงานทุกคนใส่ชุดไทยทรงดำต้อนรับ พอเราบอกว่าพี่คะหนูทำเรื่องนี้นะ ปลัดก็บอกว่าทำเลย ผู้ใหญ่ ปลัด นายก สนใจงานนี้ ข้างบนเต็มที่ ถ้าติดอะไรก็บอกผมนะ สนับสนุนเต็มที่
ถาม เทคนิคพิเศษที่เราใช้ช่วยสนับสนุนน้องๆ ในการทำงาน?
ตอบ ทำเสร็จแล้วมีรางวัล ไปกินกัน เช่น กินหมูกะทะกัน ทำโครงการนี้เสร็จไปกินกัน หรือไปเดินตลอดด้วยกัน ไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างเดียว ต้องมีกิจกรรมอื่น บันเทิงให้น้องบ้าง เช่น เวลาคิดงาน จะกินอะไรกัน เช่น กินหมูกะทะ หรือกินอะไรก็บอกเราก็ทำให้น้องกิน คุยงานไปด้วยกินกันไปด้วย การทำงานก็จะไม่เครียด เขาเลยทำงานไปสนุกไป เหมือนเราผ่อนคลายมาคุยกันไม่เหมือนมาทำงาน
ถาม มีจุดอะไรที่น้องรู้สึกยากและอยากให้ช่วย?
ตอบ บางจุดที่แก้ไม่ได้ การทำงาน ด้วยเรื่องเวลา น้องเรียนเราทำงานต้องหาเวลาจูนกัน ส่วนใหญ่ได้รอบเย็น กว่าจะลงชุมชน ชาวบ้านเห็นเป็นเด็กเขาจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ถามว่าเด็กจะมาทำอะไร แต่บ้างที่ก็เข้าใจ บางคนที่ไม่ให้ความสำคัญเราก็ช่วย ว่าไม่เป็นไร เขามาน้อยก็ยังดีกว่าไม่มา เราเต็มที่ไม่เป็นไร เราพอใจในสิ่งที่เราทำแล้ว คนมาน้อย ถือว่าเราได้ทำ การเขียนไม่มีปัญหาเพราะว่าทำด้วยกัน นั่งรวมกันเขียน ส่วนใหญ่ส้มจะเป็นคนเขียน อ่านโจทย์ปรึกษากัน พี่หนูตอบแบบนี้ได้ไหม พี่ว่าใช้คำนี้ไหม จะวิเคราะห์ช่วยแก้ไขคำให้น้องอีกรอบ
ถาม พอเราเป็นพี่เลี้ยงเราจะต้องเห็นภาพรวมทั้งหมด เห็นภาพกว้างกว่าเขา?
ตอบ ใช่ เราต้องรู้เยอะ รู้มากกว่าเขา เรารู้แต่ว่าต้องให้น้องไปเจอ
ถาม จัดกระบวนการให้เขาเจอ?
ตอบ ใช่ค่ะ เรารู้แล้วแต่ไม่สามารถบอกน้องได้ว่าคำตอบคืออันนี้ บอกว่าสิ่งที่น้องเจอคืออะไร น้องจะต้องไปลุย ไปรู้เอง ไปเห็นเอง พาไปศึกษาเรื่องชุด เรารู้แล้วว่าการแต่งกายเป็นอย่างไร แต่น้องไม่รู้ พี่พาไปดู จะมีป้าที่อยู่พื้นที่ข้างเคียงเป็นผู้รู้ ให้น้องตั้งคำถามที่อยากถามกับป้า ว่าชุดมีกี่ชุด อะไรบ้าง มีงานที่จะต้องไปแสดงที่ตลาดนัด มีคนเดียวที่รำเป็น คือน้องวุ่นเส้น คนอื่นรำไม่เป็น เราจะต้องแสดงโชว์ จะต้องทำอย่างไร ก็ให้แนน ส้ม รำ โดยมีน้องวุ้นเส้นเป็นคนสอน ฝึกกันพักใหญ่ น้องเขาก็ฝึกรำ ฝึกออกมาได้
ถาม วิธีการที่ค่อยๆ รอ แล้วถอดบทเรียนออกมา ได้มาจากไหน ทำไมถึงเลือกกระบวนการนี้?
ตอบ กระบวนการนี้เป็นวิธีการที่อาจารย์ธเนศ บอกไว้ในเวทีพี่เลี้ยง ว่าเป็นพี่เลี้ยงเราไม่จำเป็นต้องบอกน้องทุกอย่าง เราต้องทรมานในการเก็บความรู้ของเรา ต้องทำให้น้องไปเรียนรู้ให้ได้ ให้น้องเรียนรู้เอง เรารู้จากกระบวนการของอาจารย์ธเนศว่าทำให้น้องเรียนรู้เองความรู้จะอยู่ในความทรงจำเขาดีกว่า ที่เราไปบอก
ถาม พี่นุ้ยใช้อะไรขับเคลื่อนโครงการ กระบวนการนี้เป็นอย่างไร?
ตอบ การฝึกเด็กเพราะเด็กบางคนไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เขาเห็นว่าเพื่อนทำโครงการมีประสิทธิภาพ สามารถคิด วิเคราะห์ ทำกิจกรรม กล้าแสดงออก จากเดิมที่ไม่มา น้องคนนั้นเห็นเพื่อนก็อยากเข้ามาร่วมทำด้วย ได้พาน้องเข้าร่วมเวที น้องก็สนุกอยากทำงานต่อ กระบวนการนี้สร้างให้เด็กมีความคิด กล้าแสดงออกทำงานอย่างเป็นระบบ เหมาะกับเด็กที่เริ่มโต ม.ปลาย ถึง มหาวิทยาลัย ชุดใหญ่ก็จะมีคำถามที่ตั้งไว้แล้วเวลามีกิจกรรม ถ้าเด็กเล็กเริ่มทำได้ น้องก็ช่วยเรื่องลงทะเบียน ยังไม่กล้าขนาดนั้น ได้เริ่มให้ลองถามคำถามผู้ใหญ่คนละสองคำถาม เพิ่มกระบวนการให้น้องได้ฝึกคิด ทีมเราส่วนใหญ่เป็นฯ ม.ปลาย ประถม และมหาวิทยาลัยปี 1
ถาม เป็นกลุ่มเยาวชนทั่วไปในหมู่บ้านที่เรียนหนังสือ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพเขาให้กล้าพูดกล้าทำงานนี้ เด็กกลุ่มนี้มีเสียงความห่วงใยของพ่อแม่อย่างไรบ้าง?
ตอบ เด็กชุดนี้เป็นเด็กที่ทำกิจกรรมอยู่แล้ว จะไม่ห่วงว่าจะทำอะไรไม่ดี เป็นเด็กที่อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ มีอีกกลุ่มที่เราดึงมาช่วยงาน แต่ในโครงการนี้ ยังไม่ได้ช่วยเต็มตัว มาช่วยจัดสถานที่ทำกิจกรรม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเด็กแว้นซึ่งพูดจาไม่เพราะ ถ้าเป็นเราไปขออะไร น้องมาจัดสถานที่ช่วยพี่ไม่มีปัญหา เริ่มดึงๆ เขามาร่วมกิจกรรม เป็นกลุ่มเกเร ออกจากโรงเรียนกลางคัน ไม่เรียนหนังสือ น้องไม่ได้เลวร้ายอะไร ไม่อยากเรียน แล้วก็แข่งรถซิ่ง ถ้ามีกิจกรรมของสภาเด็ก กิจกรรมโครงการวิจัย ก็จะชวนเขาเข้ามา ช่วยจัดสถานที่ ยกของ เขาก็จะมามีส่วนร่วมนิดๆ หน่อยๆ ได้อยู่บ้าง แต่ให้เข้าร่วมกระบวนการยังไม่ได้ เพราะว่าน้องเขายังแข็งๆ ขัดๆ อยู่ เรายังพอดึงเขามาได้บ้าง ถ้าคนอื่นชวนน้องจะไม่ทำ เช่น วิ่งไปถ่ายรูปให้พี่หน่อยน้องจะทำ จัดสถานที่ให้พี่หน่อยตอนเย็นก็จะมาทำกันเต็ม ก็ยังดีที่น้องยังฟังเราบ้าง
ถาม คิดว่าเพราะอะไรที่น้องฟัง?
ตอบ บอกน้องว่ามีอะไรให้พี่ช่วยก็บอก น้องเขาชุดหนึ่งของสภาเด็กเหมือนกัน
ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรที่หนักและเราสามารถแก้ไขผ่านมาได้แล้ว?
ตอบ เรื่องการทำงาน กองการศึกษามีโครงการเยอะอยู่แล้ว ต้องพาเด็กลงพื้นที่ ดังนั้นก็ต้องแบ่งเวลา เสาร์อาทิตย์ไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว แฟนที่บ้านไม่ว่าอะไร ไปทำงานก็ไปด้วยกัน น้องจะไปทำงานที่บ้าน แฟนก็พาไปหาอะไรมาให้ทาน หนักตรงที่งานเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำ งานทางนี้ก็ต้องช่วยน้องคิด
ถาม มีความเหมือนพี่เลี้ยงหลายคน เสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องไป เวลาของเด็กไม่ตรงกับเรา
ตอบ ของเราทำงานเด็กเรียน บางทีน้องไม่ว่าง มีกิจกรรมที่โรงเรียนบ้าง เราก็ต้องเร่งแล้วเร่งอีก มาจูนกันส่วนใหญ่ได้รอบเย็น
ถาม มีความเป็นไปได้ไหมว่าที่นี่จะปรับกิจกรรมเรียนรู้ไปในแนวนี้ ให้ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น?
ตอบ มีค่ะ พี่ปลัดจะมีโครงการต่อเนื่องภาษา แต่ทำได้อยาก พูดก็ยากอยู่แล้ว ภาษาเขียนยิ่งยากกว่า ที่ปลัดอยากทำคือภาษาไทยทรงดำ การฝึกเกล้าผมทรงไทยทรงดำ มีวิธีเกล้าที่ผมแตกต่าง คนในตำบลนี้ยังไม่สามรถเกล้าได้ ทำแต่ละทีต้องไปรับคนที่หัวเขาจีน ซึ่งไกลไปครั้งหนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย พี่ปลัดให้โจทย์เรื่องนี้มา กำลังหาความเป็นไปได้อยู่ที่จะทำ จะอบรมเด็กและผู้ที่สนใจในชุมชน
ถาม อยู่ในช่วงการทำให้วิถีไทยทรงดำกลับมาอีกครั้ง?
ตอบ เราจะมีงานไทยทรงดำ วัดตากแดด วัดดอนคา วัดดอนพรหม เวลามีงานไม่มีคนเกล้าผม มีงานทีจะต้องไปรับที่หัวเขาจีน ปากท่อ เพื่อมาทำผม รับเสร็จเราต้องไปส่ง เรามีวิธีไหนที่จะทำ พี่ปลัดให้โจทย์มา คิดเรื่องการอบรมเผื่อจะได้มีใครทำได้ ไม่ต้องให้ป้ามา
ถาม งานนี้ผู้ใหญ่ค่อนข้างเห็นอะไรบางอย่างที่จะทำต่อในชุมชนได้
ตอบ ใช่ค่ะ
ถาม พี่นุ้ยมีบทเรียนรู้สำคัญของการเป็นโคช พี่เลี้ยงให้น้องๆ บ้าง?
ตอบ การเอาเด็กร้อยพ่อพันแม่มาทำงานด้วยกัน ปัญหาแต่ละคนเยอะ ทะเลาะกันบ้าง พี่เลี้ยงต้องทำความเข้าใจบริบทของแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้เด็กทำงานร่วมกัน มีปัญหาน้องไม่ให้ความร่วมมือ หลุดวงโคจร จะทำอย่างไรให้น้องกลับเข้ามาในทีมได้ ซึ่งสอนเราว่าเราเป็นพี่เลี้ยงนะ ผ่านมาได้อย่างไร น้องทะเลาะกันแรงจะไม่ทำงานร่วมกัน เราก็ต้องคุยกับทั้งสองฝั่ง ฝั่งที่ออกไปเราก็คุยว่าที่พี่เขาพูดก็ถูกเราเป็นคนผิด เราก็มาประณีประนอมฝั่งที่ทำงานว่าน้องเขารับผิดแล้วเราก็ต้องให้อภัยน้อง ไม่อย่างนั้นทีมจะไปไม่ได้ เรียกน้องมาเจรจา งานก็ผ่านไปได้ ตอนนั้นออกประชาคมรอบแรกน้องหนี สคริปทุกอย่างที่วางไว้ไม่มีคนทำ ไม่แปลกที่อีกชุดจะโมโหเพราะเป็นการทำงานของทีม กว่าจะเรียกกลับมาก็ใช้เวลาอยู่
ถาม เพราะอะไรเขาถึงหนีไป
ตอบ เขารักการเล่นบอลเลย์บอลจะไปแข่งขัน ทีมก็บอกว่าเป็นหมู่บ้านของคุณและเป็นชาติพันธุ์คนไทยทรงดำของคุณทำไมถึงไม่ทำ มีเรื่องทะเลาะกัน ปิดโทรศัพท์หายไปหนึ่งอาทิตย์ก็ตามกลับมาถาม เขาบอกว่าเขาไม่มีตัวเล่น เราก็ฟังไม่เป็นไร ไม่มีคนเล่นพี่ว่า แต่เราผิดใช่ไหม ก็ไปเจรจาทางนี้ ว่าเราผิด งานหน้าเราต้องเป็นคนทำ เพราะงานนี้เธอทิ้ง งานหน้าเธอต้องเป็นคนนำกระบวนการ เป็นหลักในการดำเนินงาน เขาก็โอเคตกลง ไปเจรจากับอีกสองคนเขาโอเคแล้ว เราเป็นพี่ทำงานด้วยกันต้องให้อภัย เขาก็บอกไม่เป้นไรให้อภัย กลับมาคุยกันเหมือนเดิม ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ทะเลาะกันแรงมากไม่คิดว่าเขาจะกลับมาทำงานด้วยกันได้
ถาม ใช้หลักอะไรในการจัดการ?
ตอบ ความเป็นพี่ เหมือนอยู่บ้านเดียวกัน ที่พี่น้องทะเลาะกัน พี่ใหญ่กว่าทำอย่างไรก็ได้ให้น้องกลับมาคุยกัน ทุกวันนี้เราไม่เหมือนพี่เลี้ยงคนอื่น เราจะเป็นพี่คนโตสุด แล้วก็มีน้องๆ เวลาทำงานก็เป็นพี่เป็นน้องทำงานก็ไม่ค่อยมีปัญหา
มีชุมชนบางที่ไม่ให้ความร่วมมืองานผ่านไปไม่ได้ ขอความร่วมมือไปทางกำนัน สมาชิก อบต. พอถึงเวลาไม่ใครมาให้น้องเลย คุยกับน้องว่าสู้ไหม เรารอตั้งแต่บ่ายสองโมง ประสานงานแล้วแต่กลุ่มคนให้ความรู้ไม่มา น้องๆ บอกไม่เป็นไรเขาเสร็จตอนไหนเราทำตอนนั้น เราก็ให้สมาชิก อบต.ประสาน กลุ่มทำน้ำพริกให้ ก็รีบทำรีบกลับ นี่ก็คือปัญหาหนึ่งคือเรื่องความร่วมมือของชุมชน ถ้าไม่ร่วมมือทุกอย่างจะผ่านไปไม่ได้ บางชุมชนเราจะเก็บข้อมูลเรื่องไทยทรงดำ เขาก็บอกว่าจะทำได้เหรอ จะมีใครมาตอบให้ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร คำถามไม่ยาก แค่อาผู้ใหญ่พาคนมาให้ 10 – 20 คน ก็ได้ เขาก็ไปหาคนในหมู่บ้านมาให้ รอบนั้นเด็กภูมิใจมาก เพราะพี่ป้าน้าอาให้ความร่วมมือมากในการทำงาน คิดว่าชุมชนเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการทำงาน ที่จะให้ผ่านไปทำกิจกรรมได้
ถาม เราก็เห็นกลไกชุมชนที่จะไปแตะตรงไหนเพื่อให้เคลื่อน?
ตอบ ใช่ ดีตรงที่ว่าเด็กรอได้ สิ่งที่น้องพูดกับเรา รอด้วยกัน น้องมีความมานะที่จะทำ
ถาม มีสิ่งที่อยากพัฒนาตัวเองในฐานะพี่เลี้ยงเพื่อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น?
ตอบ มีความรู้ของไทยทรงดำอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ อยากศึกษาเพิ่มเติม เป็นฐานความรู้ของตัวเอง เรายังสามารถทำเป็นรูปเล่ม เพื่อชนรุ่นหลังจะได้ดู เรื่องพิธีกรรม บางอันเราก็ยังไม่รู้ลึก อยากรู้มากขึ้นเพื่อสอนน้องๆ และเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ใจจริงอยากให้น้องทำกิจกรรมใหญ่ในชุมชน ก่อนจบอยากให้ทำอีกอย่างหนึ่ง คุยกับน้องไว้ว่าเราอาจจะไปจัด บูธในงานวัฒนธรรมเพื่อให้เรารู้ว่าจากการที่เราเก็บข้อมูลมาแล้วชุมชนของเรามีอะไรดีบ้าง นี่คือสิ่งที่คุยกับน้องไว้ ยังไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า อยากให้รู้ว่าเราทำให้ชุมชนแล้วนะ ก่อนจบกิจกรรมหรือจบไปแล้วอยากจัดกิจกรรมเพื่อชุมชนให้ความรู้
พิธีกรรมกับภาษา พิธีกรรมยังคิดโจทย์อยู่ว่าจะทำอย่างไร เป็นโจทย์ที่กว้างและพิธีกรรมมีเยอะ ดังนั้นคิดโจทย์ย่อยจะทำตามพิธีกรรมหรือเรียกชาวบ้านมาระดมความคิด เป็นอีกโจทย์ว่าน้องอยากทำงานแบบไหน เจาะบุคคล หรือทำแบบชุมชน เรื่องภาษาต้องหาผู้รู้เพราะมีความยากและลึกซึ้ง
ถาม มีภาพเยาวชนในตำบลดอนคาในอนาคตไว้อย่างไร ที่อยากทำ อยากให้เกิด?
ตอบ ไม่ว่าไปงานไหนเด็กแต่งไทยทรงดำ เอาการแต่งกายก่อน เวลามีงานกิจกรรมให้แต่งชุดชาติพันธุ์ สะท้อนเอกลักษณ์ของไทยทรงดำ ให้เป็นสภาเด็กแต่งเป็นตัวอย่าง ให้เด็กเห็นตัวอย่างและอยากทำตาม
ถาม ในส่วนการเป็นพี่เลี้ยงอยากพัฒนาส่วนไหนบ้างให้เสริมการทำงานกับน้องเยาวชน?
ตอบ อยากเรียนภาษาเพิ่ม ภาษาไทยทรงดำ เพราะมีคนพูดไม่กี่คน อยากสืบทอดตรงนี้ ผู้ใหญ่ก็ล้มหายไป ถ้ารุ่นหลังไม่สืบต่อก็จะสูญหายไป
ถาม โจทย์ของที่นี่คือการสืบภูมิรู้มันเป็นจุดที่ว่าเรากำลังยืนอยู่ว่าจะสืบต่อไปยังเด็กรุ่นใหม่อย่างไร ที่เลือนไปแล้ว?
ตอบ ใช่ เหมือนงัดที่สิ่งที่มีดีอยู่แล้วขึ้นมา ซึ่งของดีเรามีแต่เด็กไม่เห็นความสำคัญ เขามองข้ามตรงนี้ไป
ถาม เรื่องการสร้างทีมไม่มีปัญหา น้องทำงานกันได้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพี่เลี้ยง ความลึกภาษา ความเข้าใจชุมชน อดีตความเป็นมาเป็นจุดนี้
ตอบ ใช่ค่ะ
ถาม ทำงานกับใครบ้าง?
ตอบ มีหัวหน้าพี่อุเทน เป็นนักวิชาการศึกษาที่ช่วยในเวทีใหญ่ นายกและปลัดก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ เวลาลงทำงานในชุมชนพี่จะทำงานกับเด็กๆ