พเยาว์ หาดสมบัติ : โครงการกระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวของคนในตำบลบางนางลี่

นางสาวพเยาว์ หาดสมบัติ (พี่อ้อย) อายุ 56 ปี ตำแหน่ง ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ประธานกองทุนหมู่บ้าน

โครงการกระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวของคนในตำบลบางนางลี่

สัมภาษณ์วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

­

­

ถาม ช่วยแนะนำตัวและโครงการที่ทำ?

ตอบ นางสาวพเยาว์ หาดสมบัติ ชื่อเล่นชื่ออ้อย เป็นพี่เลี้ยงโครงการกระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผ่านการเรียนรู้ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากมะพร้าว เราเน้นทำงานกับกลุ่มสภาเด็ก สภาเด็กเป็นส่วนหนึ่งที่ อบต.จัดตั้งขึ้น แต่การดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาเขาไม่มีกำลังคน พี่เลยมาทำ พี่ชอบทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ตอนที่ทำงานวิจัยกับคุณธเนศพี่ทำเรื่องพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการวันละบาท ทำจนสืบเนื่องมาถึงโครงการของสยามกัมมาจล พี่เลยได้มาเป็นพี่เลี้ยงของเด็กๆ

ถาม พี่ทำงานเกี่ยวกับด้านชุมชนมานานเท่าไหร่?

ตอบ เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 หรือ พ.ศ. 2552 ค่ะ หลายปีแล้ว 10 กว่าปีได้ ที่ทำงานด้านจิตอาสาทั่วไปแล้วแต่เขาจะให้ทำอะไรพี่ก็ทำ

ถาม ทำงานกับโครงการ Active citizen มานานเท่าไหร่?

ตอบ พี่ทำมาสองโครงการติดต่อกันแล้ว รอบแรกทำกับเยาวชนทั่วไปส่วนรอบนี้ทำกับทีมสภาเด็กพี่ได้เอาทีมสภาเด็กมาร่วมพัฒนา

ถาม ความแตกต่างระหว่างตอนที่ทำโครงการปีที่แล้วกับปีนี้คืออะไร?

ตอบ ความแตกต่างสำหรับตัวพี่คือ พี่เข้าใจในตัวเด็กมากขึ้น เวลาที่ทำงานกับเด็กเราต้องทำความเข้าใจกับเขามากๆ ไม่ว่าจะเรื่องนิสัยหรือความประพฤติ เราต้องสังเกตว่าเด็กต้องการอะไร เขาถึงสามารถพัฒนาตัวเองได้แต่เราต้องมีพื้นที่และสร้างกระบวนการให้เขาได้เรียนรู้ ตัวเราได้พัฒนาตัวเองจากส่วนกลาง เรานำเอามาปรับใช้ในพื้นที่ซึ่งมีประโยชน์เพราะพี่ธเนศเขาจะให้ความรู้กับพี่เลี้ยงตลอด เรากลับเอามาปรับใช้กับพื้นที่ของเราและเด็ก เขาสอนเราทำเครื่องมือหลายอย่างเพื่อเอามาใช้ทำกิจกรรมในโครงการ

ถาม เราได้หัวข้อวิจัยนี้มาอย่างไร?

ตอบ เราถามเด็กๆ ว่าเค้าอยากทำอะไร เด็กอยากสืบค้นเรื่องประวัติมะพร้าว ถามเขาว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง ชุมชนนี้เมื่อก่อนมะพร้าวเยอะมากแต่ตอนนี้ไม่มีตอนนี้เหลือ ตอนนี้เหลือเตาที่เคี่ยวตาลอยู่แค่ 2 เตา จากเมื่อก่อนเป็น 100 เตา เมื่อก่อนตัวเองก็ยังเคี่ยวตาลอยู่ ตอนหลังหมดไปไม่มีโดยสภาพความเป็นอยู่เพราะขาดแรงงานที่เป็นวัยกลางคนที่สามารถขึ้นต้นมะพร้าวได้ เขาไปทำงานในโรงงานกันหมด ผู้สูงอายุก็อยู่กับบ้านไม่มีแรงงานที่จะทำเรื่องนี้ ทุกคนก็เปลี่ยนอาชีพกันไป

ถาม ทำไมเด็กๆ ในชุมชนถึงสนใจศึกษาเรื่องมะพร้าว?

ตอบ เขาถามว่าน้ำตาลมะพร้าวทำไมมันมีอยู่ในที่อื่น แต่ทำไมไม่มีในพื้นที่เรา พอเขาลงไปสำรวจก็เหลืออยู่เตาเดียว ส่วนอีกเตาหนึ่งเขารับซื้อน้ำตาลและไปเคี่ยวเอง อีกหนึ่งบ้านคือเคี่ยวเองขายเองเขามีแค่เตาเดียวเหมือนกัน

ถาม ในโครงการมีพี่เลี้ยงจำนวนกี่คน?

ตอบ มีทีม 5-6 คน มีเพื่อนๆ ที่เป็น อสม. ส่วนใหญ่เป็น อสม. และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

ถาม ช่วยเล่าบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยง?

ตอบ ของพี่จะทำหน้าที่ประสานงานแจ้งเพื่อนที่เป็นอาสาด้วยกัน อย่างวันเสาร์นี้เราจะนัดให้เด็กทำกิจกรรมต่อเนื่อง เด็กจะถามเราว่า “เมื่อไหร่ป้าจะพาลงพื้นที่พาพวกเขาไปทำกิจกรรม” ป้าจะบอกเขาว่า “เสาร์นี้ป้าจะรวมทีมและพาไปดูวิธีการปลูกมะพร้าว” พี่จะเป็นคนประสานงานเพราะว่าพี่เลี้ยงมาจากหลายหมู่ หมู่ละประมาณ 1-2 คน เด็กก็มาจากหลายหมู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานพี่เลี้ยงและลูกหลานก็ไปชวนเพื่อนๆ มาทำกิจกรรม มาครั้งหนึ่งเกือบ 20 คน ส่วนพี่เลี้ยงประมาณ 10 คนแล้วแต่ว่าใครจะว่าง หน้าที่ของพี่เลี้ยงคนอื่นเขาจะประสานเด็กในพื้นที่ของตัวเอง ถ้าจัดงานเวทีพี่จะเป็นคนชี้แจงงาน พี่เลี้ยงคนอื่นก็ทำหน้าที่ลงทะเบียน ช่วยดูเด็กๆ ช่วยทำกิจกรรมสันทนาการ

ถาม ใครเป็นคนวางแผนงานเวลาลงสำรวจชุมชนให้กับเด็ก?

ตอบ โครงการจะมีแผนมาให้เราจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งแผนงานส่วนหนึ่งเด็กจะเป็นคนคิดว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร เด็กไปพัฒนาโครงการ 3 รอบแล้วได้โครงการมา เรามีหน้าที่พาเด็กไปประชุม

ถาม เวลาที่ลงชุมชนพี่เลี้ยงทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ตอบ เราประสานงานเจ้าของสวนส่วนใหญ่ซึ่งเขาจะปลูกมะพร้าวน้ำหอม ไปดูวิธีการปลูกวิธีการเลี้ยงวิธีการตัด เราจะให้เด็กจดบันทึกและเราจะชวนเด็กมาถอดบทเรียน เราจะแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มๆ ละประมาณ 10 คน ให้เขาตั้งชื่อกลุ่มและทำงานเป็นกลุ่ม เราจะถามเขาว่าเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างและให้เขานำเสนอหน้าเวทีเป็นการฝึกให้เขามีความกล้า เด็กๆ เขาก็ทำกันได้ บางทีเขาเถียงกันในทีมแต่สุดท้ายเขาก็ตกลงกันได้ เราจะเปลี่ยนคนนำเสนอไปเรื่อยๆ ให้เด็กจัดสรรกันเองในกลุ่ม

­

ถาม วิธีการในการชวนเด็กๆ เรียนรู้ทำอย่างไร?

ตอบ พี่เป็นคนที่คุยกับเด็กอยู่แล้ว สร้างความเป็นกันเองกับเด็ก ทุกวันนี้เวลาที่เจอเด็กตามชุมชนเขายกมือไหว้เราตลอด เขาให้ความสนิทสนมกับเรา เมื่อวันก่อนเราไปทำบุญที่วัดในวันมาฆบูชาเราเจอเด็ก เขาจะเข้ามาไหว้เข้ามาพูดคุยกับเรา อาจเป็นเพราะว่าเราสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก บางทีเขาถามว่าเมื่อไรจะพาพวกเขาไปทำกิจกรรมอีก อีกอย่างเวลาเราทำกิจกรรมเราจะทานข้าวด้วยกัน บางทีเราทำอาหารทานกันเองให้เด็กๆ ช่วยกันทำ เด็กจะสนุกสนานเด็กจะช่วยกันทำขนมถ้าเลอะเทอะเราก็ปล่อยให้เขาทำไป คราวที่แล้วเด็กช่วยกันทำขนมบัวลอยอย่างสนุกสนาน เด็กเขาก็จะได้เรียนรู้กันไปเราจะค่อยๆ บอกค่อยๆ สอน


ถาม ปัญหาอุปสรรคของพี่เลี้ยงที่พบคือเรื่องอะไร?

ตอบ เด็กชุดแรกจะเป็นเด็กโตกำลังจะจบ ม.6 และเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงที่จะขึ้นโครงการเด็กเขาจะเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนเด็กพี่เป็นทีมสภาเด็กจะอยู่ ป.5 ป.6 ม.1 เป็นอะไรที่พี่รู้สึกกลุ้มมาก เด็กชุดก่อนเขาทำกิจกรรมได้ดี ถอดบทเรียนได้ เรื่องความคิดเขาทำได้ แต่มาชุดปัจจุบันนี้พวกเราต้องสร้างกันใหม่ อย่างช่วงที่ต้องเขียนรายงานพี่ก็ต้องช่วยพวกเขาไปก่อน หาเด็กคนที่จะทำรายงานยาก

­

ถาม ตอนที่เด็กชุดเก่าออกไปตัวเรารู้สึกอย่างไร? แก้ปัญหาอย่างไร?

ตอบ ตอนแรกพี่ค่อยๆ พูดกับเด็กชุดแรกว่าพอจะมีเวลาให้ทีมพี่บ้างไหม แต่ตัวพวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน พี่ก็เข้าใจเขาส่วนหนึ่งไปอยู่กรุงเทพเลย ช่วงนั้นพี่คิดหนักพี่ประสานงานกับ อบต. เขาจัดการประสานเด็กให้เพราะเขามีรายชื่อเด็กและเราจัดการประสานงานกับเด็กเองต่อ เราได้ทีมใหม่มาหลายคน เด็กชุดนี้เข้ามาทำกิจกรรมกับเราได้ ในเวทีสรุปเขาทำได้แต่พอเป็นรายงานเขายังไม่เข้าใจ พี่กับพี่เลี้ยงทีมน้องแอลต้องช่วยกันไปก่อน เรื่องการพัฒนาเด็กก็ยากให้เขาเข้าใจว่าต้องสรุปงานแบบไหนต้องทำอย่างไรต้องซึ่งใช้เวลาเรียนรู้นาน เด็กชุดใหม่มีทั้งที่อยู่ในสภาเด็กและบางส่วนไม่ใช่ทีมสภาเด็กก็มี เรารับเด็กมาหมดให้เป็นทีมเดียวกัน

­

ถาม เทคนิควิธีการในการสร้างทีมทำอย่างไร?

ตอบ เด็กชุดก่อนเขาจะมีความคิดดี เขาสนใจอยากเรียนรู้เรื่องมะพร้าวแต่เด็กชุดใหม่เขาไม่ได้คิดว่าเขาจะมาเรียนรู้เรื่องมะพร้าว แต่เราทำโครงการไปแล้วเราก็ต้องดำเนินการต่อไป พี่ต้องทำความเข้าใจกับเด็กว่าทำไมเราต้องมาเรียนรู้เรื่องนี้ เด็กส่วนหนึ่งก็รู้สึกไม่เป็นไร เขาสนใจเพราะเขาได้เรียนรู้เรื่องว่าน้ำตาลหายไปไหน มันยากที่จะให้เด็กรุ่นนี้เข้าใจเรื่องงานวิจัย พี่พยายามทำความเข้าใจกับเขาว่าถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไรเราต้องค้นหา ค้นหาเสร็จเราต้องมาสรุปมาถอดบทเรียน พี่ชวนเขาคิดชวนเขาทำตลอดซึ่งพวกเขาทำได้ดี พี่ต้องคอยช่วยกระตุ้นเพราะเด็กรุ่นนี้จะติดเล่น บางทีเขาไม่สนใจเขาจะเล่นในขณะที่เพื่อนทำกิจกรรมอยู่ เราต้องคอยเรียกให้ช่วยกันคิดถ้าหนูยังคิดไม่ได้หนูช่วยพี่เขาวาดรูปซึ่งเด็กเขาก็ทำเพราะเด็ก ป.4-5 เขาชอบวาดรูป เราจะบอกเขาว่าวาดรูปต้นมะพร้าวต้นส้มโอหรืออยากวาดอะไรก็ได้

­

ถาม ในความคิดของพี่เลี้ยงคิดว่าปัญหาอุปสรรคในโครงการมีเรื่องอะไรบ้าง?

ตอบ ปัญหาคือเวลาว่างของพี่เลี้ยงที่ไม่ตรงกันเพราะว่าพี่เลี้ยงทำงานหลายอย่าง ตอนนี้ทิ้งช่วงเวลาในการทำกิจกรรมไปถึงสองอาทิตย์ ปัญหาคือติดอยู่ที่ตัวเราเองเพราะว่าเรางานเยอะมีงานที่ต้องรับผิดชอบและเวลาซ้อนกัน เราต้องดูว่าอันไหนสำคัญเราก็ไปทำก่อน ส่วนเด็กๆ จะมีปัญหาเรื่องสืบค้นเขายังไม่รู้วิธีการตั้งคำถามกับผู้รู้ในชุมชน เราต้องสอนเขาว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร หนูต้องจดว่าหนูอยากถามอะไรคุณยายบ้าง พี่ให้เขาถามในประเด็นที่อยากรู้แล้วเอามาสรุปถอดบทเรียนด้วยกัน


ถาม พี่เลี้ยงนักประสานงานต้องใช้ศักยภาพอะไรบ้าง?

ตอบ เยอะนะ พี่ต้องประสานงานกับพี่เลี้ยงกันเอง บางทีด้วยความคุ้นเคยเราลืมบอกเขาบางเรื่องเขาก็ต่อว่าเราเหมือนกัน ในส่วนของเด็กที่อยู่หมู่ 2 พี่ต้องประสานงานกับผู้ปกครอง ส่วนหมู่อื่นๆ พี่จะให้พี่เลี้ยงมีสิทธิ์ในการประสานงานด้วยตัวเขาเองซึ่งเขาทำได้ดีและได้เด็กมา เขาจะมีเงื่อนไขอยู่หนึ่งอย่างคือถ้าจะประสานงานมาต้องบอกล่วงหน้า 3-5 วัน ถ้าให้เวลาน้อยเกินไปผู้ปกครองเขาจะบ่น นั่นก็เป็นข้อเรียนรู้ของเราที่จะพัฒนาตัวเองในเรื่องของการประสานงาน

­

ถาม อยากพัฒนาหรือเสริมศักยภาพตัวเองในเรื่องใด?

ตอบ ความรู้และเครื่องมือที่จะนำมาใช้กับเด็ก อยากได้อะไรที่แปลกใหม่เพราะว่าเด็กจะสนใจอะไรที่แปลก บางทีแค่นั่งพูดคุยกันเด็กจะเบื่อ เราก็มีเครื่องมือให้เด็กทำอย่างวิธีที่ผ่านมาทำเรื่อง Mind map ให้เด็กช่วยกันตั้งประเด็นและเชื่อมโยงต่อกันไปเรื่อยๆ เราจะคอยสอนคอยกระตุ้นเขาก็ทำได้ เช่น ถ้าเราอยากรู้เรื่องนี้แล้วเราอยากรู้เรื่องอะไรได้อีกบ้าง เราอยากได้เครื่องมือให้เขาเขียนล้อมวงช่วยสรุปจะได้จัดหมวดหมู่ได้ง่าย แต่ทีมงานเขาให้เครื่องมือมาเยอะมาก พี่เอามาใช้ในเวทีนี้ทั้งแผนที่ ปฏิทิน Timeline Mind map พี่เอามาใช้กับเด็กหมด พี่เลี้ยงจำเป็นต้องรู้เทคนิคการพูดการใช้เครื่องมือ พี่เลี้ยงต้องใช้ความสามารถในการเรียนรู้และความจำ


ถาม เรียนรู้เรื่องอะไรจากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ?

ตอบ เรียนรู้เรื่องการพูด เมื่อก่อนพี่พูดไม่เก่งพี่จับประเด็นไม่ถูก พอพี่ได้เรียนรู้เรื่องการจับประเด็นพี่ได้เรียนรู้หลายอย่างจากทีมส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงของพี่คือพี่พูดดีขึ้น สามารถสรุปงานเป็นประเด็นได้ เรียงลำดับความคิดได้ พี่เคยไปประกวดผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่นพี่เอาความรู้ตรงนั้นมาใช้กับโครงการ พี่ได้เป็นผู้นำดีเด่นในปี 2559 พี่เรียนรู้เรื่องการคิดอย่างเป็นระบบสามารถนำมาต่อยอดกับงานของพี่ได้ สมัยก่อนทำงานวิจัยเรื่องวันละบาทพี่เอาความรู้ตรงนี้มาใช้กับงานกองทุนหมู่บ้าน การทำวิจัยจะต้องรู้เรื่องข้อมูลเป็นสำคัญพี่เอามาพัฒนางานของพี่ ข้อมูลของงานวิจัยจะต้องเป็นปัจจุบันปีต่อปี พี่นำไปใช้กับกองทุนหมู่บ้านเช่น กองทุนหมู่บ้านจะต้องมีวันที่มีรายชื่อและยอดเงินพี่เอามาจัดให้เป็นระบบมากขึ้น

­

ถาม การเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่สุดของตัวเราคือเรื่องอะไร?

ตอบ เรื่องการคิด พี่สามารถเอามาต่อยอดกับงานของพี่ได้หลายอย่าง เช่นงบประมาณของรัฐที่ให้มากับสภาสตรีในตำบล พี่เอาความคิดตรงนี้มาต่อยอดงานแม้โครงการนั้นจะจบไปแล้วแต่พี่รวมกลุ่มสตรีมาทำงานเย็บกระเป๋าผ้าจากงบประมาณเดิมของรัฐต่อยอดโครงการต่อไปได้

­

ถาม ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการวางแผนงานในอนาคตไว้อย่างไร?

ตอบ อยากพัฒนาเด็กต่อไป อาจจะเป็นเรื่องที่เขาอยากทำเพื่อให้เขาได้มีกิจกรรม เราต้องคุยกับเด็กอีกที เราจะเป็นตัวเชื่อมประสานงานให้เด็กมาพบเจอกัน ให้เขามาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางความคิด การพูด การเขียน การงานวางตัวในชุมชน เราจะช่วยสอนไปด้วย อยากให้พวกเขาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ดีกว่าไปยุ่งกับยาเสพติด

­

ถาม อะไรในตัวเราที่ทำให้เรายังคงทำงานกับเด็กในชุมชน?

ตอบ ถ้าเราไม่เอาตัวเองเข้ามาทำงานในชุมชนนี้ก็ไม่มีใครทำ ถ้าพี่ไม่ทำพี่เลี้ยงคนอื่นเขาก็ไม่ทำ ถ้าพี่ไม่รับโครงการที่เกี่ยวกับเด็กๆ มาเรามองว่าคนอื่นคงไม่อยากทำ เราเลยจำเป็นต้องทำ อยากให้เด็กมีพื้นที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เราให้โอกาสเด็กได้มีพื้นที่แสดงความคิดของตัวเอง อะไรที่เขาอยากทำให้เขาได้ทำ

­

ถาม พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กสำคัญอย่างไร?

ตอบ คิดว่าถ้าไม่มีผู้ใหญ่ยื่นมือเข้าไปชักชวนเด็กให้ทำในสิ่งที่ดี เด็กอาจจะไปมั่วสุมทางอื่นซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ อย่างน้อยเราช่วยได้บ้างก็ยังดี อยากให้เด็กเขาได้มาเจอกันทำกิจกรรมร่วมกัน

­

ถาม หลังจากที่เด็กๆ เข้าร่วมโครงการพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

ตอบ ส่วนใหญ่เด็กมีสัมมาคารวะกับผู้ใหญ่มากขึ้น เวลาเจอที่ไหนเด็กจะยกมือไหว้ทักทายเป็นกันเอง เห็นพัฒนาการทางด้านความคิดของเขา ตอนนี้เด็กในโครงการประมาณ 20 คน พอจบเวทีในแต่ละครั้งจะมีเด็กเพิ่มขึ้นมา1-2 คน ซึ่งเกิดจากการที่เพื่อนชวนกันมา เด็กๆ เขาอาจจะไปคุยกันว่ากิจกรรมนี้ดีน่าสนใจจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เรื่องพัฒนาการอาจจะยังไม่เด่นมากตอนนี้เราพยายามกระตุ้นให้เขาทำ เด็กสมัยนี้เขาจะมีโลกส่วนตัวสูงต้องคอยดูแลว่าอะไรดีอะไรไม่ดีมันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเขา