เยาวชนเด่น :
นายธนชัย ศาลาคาม (โอ๊ต) อายุ 15 ปี
เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปัว
โครงการบริหารจัดการธนาคารขยะเพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนโดยเยาวชนบ้านแพะกลาง
ถาม ขอให้แนะนำตัว
ตอบ ชื่อนายธนชัย ศาลาคาม ชื่อเล่นโอ๊ต อายุ 15 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปัวตำแหน่งรองประธานโครงการ ทำโครงการคัดแยกขยะ เป็นแกนนำเยาวชนชวนน้อง ๆ เพื่อน ๆ ในชุมชนบ้านแพะกลาง รุ่นเดียวกัน มี กอล์ฟ ยา เท่ห์ มาช่วยทำงานโครงการ ทำงานใช้แรงงานเช่น คัดแยกขยะ เก็บขยะในหมู่บ้าน ไม่ค่อยรู้เรื่องงานเอกสาร
ถาม ก่อนหน้านี้เคยทำงานอาสาอะไรในชุมชนมาบ้าง
ตอบ ผมทำกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน แม่บอกให้ผมไปทำตั้งแต่เรียนชั้น ม.1 ถ้าผมว่างก็ไปทำตลอด ช่วงไหนติดงานที่โรงเรียนก็ไม่ได้ทำ ทำมาประมาณ 4 ปี แล้ว ช่วงหลังมีไปทำแปลงผักของหมู่บ้าน เก็บขยะในหมู่บ้าน เก็บกวาดใบไม้ลานวัด
ถาม ใครเป็นคนชวนมาทำงานอาสาสมัครในชุมชน
ตอบ พ่อแม่ และเพื่อนของพ่อแม่
ถาม ทำไมอยากทำเพื่อชุมชน
ตอบ อยากเล่นกับเพื่อน ๆ
ถาม โครงการนี้ใครชวนมาทำ
ตอบ พี่เอมและพี่อีกคน บอกให้มานั่งเล่น มาช่วยกันทำงาน ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำยาวขนาดนี้ พอทำแล้วสนุก ได้อยู่กับเพื่อน ๆ ได้เล่นกันไปด้วยระหว่างทำงาน ตอนแรกไปเก็บขยะรอบหมู่บ้าน นำมาแยก ผมไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ตอนนี้ได้รู้การเก็บการแยกขยะ ขยะพลาสติก ขยะอันตราย ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล เมื่อแยกแล้ว ขยะรีไซเคิลจะนำไปขาย ขยะเปียกนำมาทำปุ๋ย ผู้ใหญ่จะเป็นคนทำปุ๋ย เราก็จะมานั่งทำใบงานกรอกรายละเอียด
ถาม เคยทำงานเก็บขยะมาก่อนหน้านี้ไหม ที่ผ่านมา 3-4 ปี จำนวนขยะในชุมชนของเราเป็นอย่างไร
ตอบ จำนวนขยะน้อยลง ชุมชนสะอาดมากขึ้น เด็ก ๆ เห็นขยะจะช่วยกันเก็บขยะ น่าจะเป็นเพราะเด็ก ๆ ได้ฟังพี่เอมพูด เขาอยากเรียนรู้ เพราะหลังจากกิจกรรมเก็บขยะเสร็จจะมีการเลี้ยงข้าวและขนม เด็กก็ชอบที่จะมาทำกิจกรรม
ถาม โอ๊ตชอบอะไรในโครงการถึงได้อยู่มาปีครึ่ง
ตอบ ผมชอบได้อยู่กับเพื่อน ๆ ทำกิจกรรมเก็บขยะ ทำแปลงผัก ผมจะขุดหน้าดินใหม่ ขึ้นแปลงใหม่ เอาผักลงแปลง แปลงผักนี้เป็นของชุมชนและปลูกในวัด ผู้ใหญ่แบ่งเป็นกลุ่ม เขาจะนำผักไปขาย เก็บเงินเป็นรายได้ของกลุ่มที่ทำในชุมชน ผมได้ปลูกผักสลัด ข้าวโพด ผักบุ้ง ที่ปลูกง่าย ๆ
ถาม โครงการเราทำเรื่องธนาคารขยะ คืนข้อมูลให้ชุมชนอย่างไร
ตอบ ผมพูดว่าถ้าเราช่วยกันเก็บขยะ ช่วยกันแยก จะมีรายได้เข้าตัวเอง หมู่บ้านจะได้สะอาด หลังจากที่เราพูดคนในหมู่บ้านก็ช่วยกันเก็บขยะ แยกขยะรีไซเคิลใส่ถุง ทุกบ้านได้รับแจกถุงสีฟ้าใส่ขยะรีไซเคิล ทุกวันอาทิตย์ ผู้ใหญ่จะขับรถมาเก็บ ลงบัญชีค่าขยะและจ่ายเงินคืนทุกสิ้นเดือน
ถาม บ้านโอ๊ตจัดการขยะอย่างไรบ้าง
ตอบ ที่บ้านผมก็แยกถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องกาแฟ ขวดแก้ว ไว้ ส่วนขยะเปียกทิ้ง ส่วนใหญ่พ่อผมจะเป็นคนแยกขยะ ที่บ้านแยกขยะพวกนี้ก่อนร่วมโครงการ บางครั้งหลงลืมไม่ได้เก็บแยกขยะไว้ พอมาทำโครงการ เราก็รู้ว่าขยะสร้างรายได้ สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของได้
ถาม ก่อนร่วมโครงการเราเป็นแบบไหน
ตอบ ผมอยู่บ้านตั้งแต่ ม.1 เพราะเรียนหนักไม่ออกไปไหนอยู่แต่ในห้อง เล่นโทรศัพท์ ติดโทรศัพท์บ้าง ผมเรียนไม่ค่อยเก่ง ผมก็ตั้งใจเรียนนะแต่บางวิชาผมไม่ค่อยเข้าใจ คือวิชาภาษาอังกฤษกับวิทยาศาสตร์ พอ ม.2 ผมเริ่มหาเพื่อน
ถาม มาร่วมโครงการแล้วเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตอบ ผมก็ได้อยู่กับเพื่อนเล่นกับเพื่อน สนุกกว่าเล่นโทรศัพท์เบื่อไม่มีใครคุยด้วย ผมเล่นน้ำกับเพื่อนซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใหญ่จะเป็นคนพาไปเล่น แต่ช่วงนี้ไม่ได้ไป หลังจากเก็บขยะในชุมชนแล้ว นอกจากเล่นน้ำก็ไปนั่งกินขนมดื่มน้ำอัดลมกัน ผมเล่นโทรศัพท์ลดน้อยลง ผมเปลี่ยนไม่ค่อยเล่นเกมแล้ว ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม กวาดบ้าน ก่อนหน้าผมไม่ค่อยทำเลย
ถาม เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองมองตัวเองอย่างไรบ้าง
ตอบ ภูมิใจที่ห่างโทรศัพท์ได้ ไม่ค่อยได้เล่น ภูมิใจที่ไม่ติดโทรศัพท์ ไม่ติดเกม
ถาม ได้ทักษะอะไรเพิ่มเติมและนำมาใช้ที่บ้านบ้าง
ตอบ รู้ทักษะการปลูกผัก ปลูกอย่างไร ผู้ใหญ่สอน ปลูกใส่ปุ๋ย เอาฟางมาคลุมรักษาความชุ่มชื้น และรดน้ำเป็นเวลา ซึ่งเขาติดเป็นสปริงเกอร์ไว้หมดแล้ว ผมปลูกผักที่บ้านและรดน้ำเอง ผักงอกงามดี
ถาม พ่อแม่เห็นเราเอาความรู้ที่ได้มาปลูกผักที่บ้าน พ่อแม่ว่าอย่างไรบ้าง
ตอบ ดีครับ พ่อแม่ได้รู้ว่าผมจะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองได้ พ่อแม่ก็เอาผักมาให้ผมปลูกด้วย ผมปลูกผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ข้าวโพด ปลูกไว้กินเอง ประหยัดรายจ่าย
ถาม ได้ทำงานเขาให้เราทำอะไรบ้าง
ตอบ ผมช่วยพิมพ์งานที่สัมภาษณ์ มีกระดาษให้แต่ละบ้านประเมินเกี่ยวกับหมู่บ้าน ให้เด็ก ๆ เอาไปแจก พี่เอมรวบรวมมา
ถาม จุดเปลี่ยนของชีวิตเราจากที่ทำโครงการมา อะไรที่ไม่เหมือนเดิม เราเปลี่ยนไป ภูมิใจ เลือกหนึ่งเรื่องที่เป็นจุดเปลี่ยนของเรา
ตอบ เรื่องโทรศัพท์ ตอนที่ติดโทรศัพท์ทำให้เราเรียนช้าลง อยู่คนเดียวเล่นไปเรื่อย ๆ ไม่ทำอย่างอื่นเลย เล่นเกมกับเพื่อนๆ พ่อแม่ด่าว่า ไม่ตั้งใจเรียน ไม่อ่านหนังสือ ผมรู้สึกโกรธ ว่ามาว่าทำไม เราทำงานเสร็จหมดแล้วก็มาเล่น พ่อแม่ไม่รู้ พอมาทำโครงการ ผมเปลี่ยนไปช่วยแม่ทำงาน พ่อแม่ก็ไม่ค่อยว่าผม พ่อแม่ชมว่าดี เอาเวลาไปช่วยงานหมู่บ้านในวันหยุด จะได้ไม่ต้องเล่นเกม ช่วยชุมชน เพื่อนบ้านบางคนก็ยอมให้ลูกมาทำเกี่ยวกับชุมชนเหมือนกัน แม้ว่าบางบ้านจะไม่ให้ลูกออกมาทำงานกับชุมชนเพราะไม่แน่ใจว่า ลูกมาทำจริงหรือเปล่า บางบ้านก็ให้ลูกมา
ถาม โอ๊ตเห็นตัวเองอย่างไร พอเราเปลี่ยนไปแล้ว
ตอบ ดีขึ้น ไม่ติดเกม สนุก
ถาม พอไปทำงานชุมชน คนในชุมชนว่าอย่างไรบ้าง
ตอบ ผู้ใหญ่ชื่นชม ดีแล้วเมื่อก่อนไม่ค่อยออกมาอยู่แต่ในบ้าน
ถาม เหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราวางมือถือลงแล้วไปทำงานกับพี่เอม
ตอบ ตอนแรกไม่ค่อยอยากไป ลองไปดูก็เลยไป ทำไปสนุกไป ก็ไม่ค่อยอยากเล่นโทรศัพท์แล้ว
ถาม มีเหตุการณ์อะไรที่เราประทับใจที่สุดในการทำโครงการ จากที่ได้อยู่ในทุกขั้นตอนของโครงการ
ตอบ การได้อยู่กับเพื่อน ๆ ตั้งแต่เริ่มทำโครงการ ผมช่วยไปเรื่อย ๆ ประทับใจการแยกขยะ พลาสติก ขวดแก้ว เศษเหล็ก ขยะอันตรายก็แยกอีกแบบหนึ่ง เรียนรู้การเอาขยะรีไซเคิลไปประดิษฐ์ เช่น เอาขวดพลาสติกมาทำไม้กวาด ตอนเก็บขยะเราจะแยกกันไปแต่ละบ้าน เก็บขยะใส่ถุง นัดเจอกันที่วัดเพื่อแยกขยะแต่ะละประเภทแล้วขาย แยกเสร็จพี่เอมก็เลี้ยงข้าว เลี้ยงขนมและพาไปเล่นน้ำ
ถาม การแยกขยะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนของเราอย่างไร ได้ประมาณเดือนละเท่าไร
ตอบ ไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ประมาณ 30 – 40 บาท
ถาม มีคนไปเก็บขยะ หรือสำรวจนอกหมู่บ้านเหมือนเราไหม
ตอบ มีคนไปสำรวจแต่ไม่ได้ไปเก็บนอกหมู่บ้านครับ เก็บเฉพาะในหมู่บ้าน ในบ้านของตัวเอง
ถาม ตอนนี้คือทุกคนแยกขยะในบ้านของตัวเอง เพื่อหารายได้และทำให้ชุมชนสะอาดมีธนาคารขยะของผู้ใหญ่บ้าน จดและคืนเงินให้ทุกเดือน มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการทำโครงการ
ตอบ มีครั้งหนึ่งเด็ก ๆ ติดงานโรงเรียนไม่มา มากันอยู่ 3-4 คน มีผม พี่เอม และเพื่อนผม ผมก็มานั่งคุยงานการแยกขยะแทน จะนำเอาขยะไปทำอะไรได้บ้าง เช่น ทำไม้กวาดแต่ไม่ได้ทำ เป็นปัญหาเพราะว่าเราจะไปเก็บขยะก็ไม่ได้เพราะคนน้อย ตอนแรกจะไปเก็บขยะของหมู่บ้านด้วย แต่น้องไม่มาจึงนั่งคุยกัน
ถาม รู้สึกอย่างไรเวลาที่นัดแล้วไม่มีคนมา
ตอบ เสียใจหน่อย แต่อาทิตย์หน้าเขาก็มาเหมือนเดิม
ถาม เราแก้ปัญหาอย่างไร
ตอบ ผมไปคุยกับเขาตอนเย็นแทน
ถาม อะไรที่ยากที่สุดสำหรับเรา
ตอบ การนำเสนอ ผมไม่ชอบที่ต้องไปพูดคุยต่อหน้าคนในหมู่บ้าน พี่เขาจะทำสคริปให้ไปอ่านถือป้ายเกี่ยวกับการแยกขยะ ผมไม่กล้าพูด กลัวพูดไม่ดีออกไป ผมก็ได้ลองทำก็พูดตะกุกตะกัก ได้ไปพูดในเวทีใหญ่ ก็ยังตะกุกตะกักเหมือนเดิม
ถาม ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นคนกล้าพูดไหม
ตอบ แต่ก่อนไม่กล้า
ถาม เวทีกลางพูดให้คนที่อื่นฟังเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ พูดได้ มองที่อื่นตอนนำเสนอไม่มองหน้าคน เตรียมตัวจดใส่กระดาษและจำไว้ ซ้อมพูดกับพี่เอมก่อนดูจากที่เขียนในสคริป เรื่องการแยกขยะและขั้นตอนการทำโครงการ ใช้เวลาเตรียมตัวเพราะต้องเขียนป้ายระบายสีที่จะนำเสนอด้วย พอถึงตอนนั้นก็ไม่คิดอะไร อยากพูดอะไรก็พูดไป ไม่อายแล้ว ร่างกายเป็นไปเอง จากพูดไม่ออก ก็พูดออกไปได้แล้ว
ถาม เหตุการณ์วันนั้นผ่านไปอย่างไร
ตอบ ผ่านไปด้วยดี ตอนแรกตะกุกตะกัก ถ้าไม่มองหน้าคนผมก็พูดได้ ผมก็มองกระดาษแล้วก็พูดไป
ถาม เหตุการณ์วันนั้นจบแล้ว เรารู้สึกอย่างไรกับตัวเอง
ตอบ กล้าพูดไม่อายเวลาพูดต่อหน้าคนแล้วตอนนี้ ไม่ตะกุกตะกักเหมือนเมื่อก่อน
ถาม ถ้ามีครั้งหน้าจะทำอย่างไร อะไรที่จะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น
ตอบ ยังเขินบ้าง แต่ก็เคยลองพูดแบบนี้มาก่อนแล้ว ต้องรอดูก่อนครับ ถ้าคนเยอะเกินก็ไม่ไหว
ถาม มั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์
ตอบ 60 เปอร์เซ็นต์ครับ
ถาม เหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องอะไรที่เราต้องเติมให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์
ตอบ การพูดบ่อยขึ้น กล้าพูด ทำตัวให้ชินกับคนเยอะๆ
ถาม พี่เอมเป็นประธานและเป็นพี่เลี้ยง เขามีวิธีการชวนพวกเราคุยอย่างไรบ้าง ที่ทำให้เราอยากอยู่กับโครงการนี้
ตอบ เปิดเพลงให้ฟัง นั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ ฟังพี่เอมพูด ชอบตรงที่พี่เอมพาไปเล่นน้ำ สนุก เพราะว่าได้แกล้งพี่เลี้ยงด้วย
ถาม ก่อนหน้านี้ที่พี่เอมไม่ฟังพวกเรา ชอบดุ สั่ง เล่าเหตุการณ์ให้ฟังหน่อย
ตอบ แรก ๆ พี่เอมชอบดุให้ช่วยกันทำงาน บางครั้งเล่นกันไม่ช่วยกันทำงาน ส่วนมากเด็ก ๆ จะโดนดุ
ถาม อะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนใจจากที่เล่นกัน ไม่ทำงานมาตั้งใจทำงาน พี่เอมทำอะไรทำให้เราสนใจ
ตอบ ทำไปแล้วสนุกดีครับ จึงทำมาเรื่อย ๆ คนอื่นคิดอย่างไรผมไม่แน่ใจ ช่วงหลังพี่เอมดุน้อยลง ก็รู้สึกดี อยากทำงานมากขึ้น มีกำลังใจ เพราะถ้าพี่เอมดุก็ไม่อยากฟังเหมือนกัน
ถาม เวลามีเรื่องไม่สบายใจหรือปัญหา เราปรึกษาพี่เอมไหม
ตอบ มีปัญหาก็ถาม พี่เอมจะมาหาที่บ้าน ผมก็ไม่ค่อยถามอะไร
ถาม เราเรียนอะไรบ้างจากการทำโครงการ
ตอบ เรื่องเกี่ยวกับขยะ
ถาม คิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติอะไรพิเศษเพิ่มมากขึ้น นอกจากความกล้าพูด
ตอบ ความมีวินัยเก็บแยกขยะในบ้านในหมู่บ้าน ขยะขวดเราต้องเอาไปขายไม่ควรทิ้ง ต้องแยกขยะตลอดไม่ทิ้ง การทำกับเพื่อนผมสามารถบังคับใจเด็ก ๆ ได้หมด
ถาม ทำไมน้อง ๆ เชื่อเรา
ตอบ ผมพูดเขาก็มากันหมด ผมพูดขู่ ๆ ไป แต่ไม่ได้ทำจริง บอกว่าให้มามาดี ๆ ก็ไม่มา ต้องให้ดึงมา เขาไม่กล้าทำอะไรผม เพราะผมเป็นหัวโจก บางครั้งเขาก็ไม่กลัว
ถาม ทำอย่างไรให้น้องรัก อยากทำงานด้วย
ตอบ ผมก็เลี้ยงขนม พาไปเล่นน้ำแล้วพาไปส่ง
ถาม เหมือนเราเป็นพี่ เป็นเพื่อน และเป็นหัวหน้าเขา เวลาพี่เอมงานยุ่งฝากที่โอ๊ตได้ไหม
ตอบ ได้แต่ไม่บ่อย เช่นฝากซื้อของ ฝากให้เด็ก ๆ ไปทำงานโดยพี่เลี้ยงไม่มา เช่น เก็บขยะโดยไปกับผู้ใหญ่
ถาม โอ๊ตเป็นเหมือนหัวหน้าเด็ก ที่พูดอะไรเด็กทำตามหมด มีวิธีทำอย่างไรให้เป็นหัวหน้าเด็กได้ นอกจากเราต้องทำตัวเป็นเพื่อนเขา พาไปเล่น พาไปทำงานด้วย ดูแลไปรับไปส่ง
ตอบ บางครั้งต้องสั่งด้วย ไม่ไหวก็ด่า แต่ก็ไม่ค่อยได้ด่า
ถาม คุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าเด็กเราต้องทำอะไรบ้าง
ตอบ มาก่อนเด็ก ทำงานให้เขาเห็นก่อน เขาจะทำตาม
ถาม ตรงต่อเวลา ทำงานให้เด็กดูก่อนไม่ใช่สั่งอย่างเดียว พูดได้ไหมว่าคุณสมบัติของโอ๊ตที่เพิ่มมากขึ้นคือการตรงต่อเวลา
ตอบ ได้ครับ แต่บางครั้งผมก็ไม่ตรงเวลา พี่เอมมาก่อน
ถาม การตรงต่อเวลาของโอ๊ตดีขึ้นกว่าเดิมไหม
ตอบ ครับ ต้องตื่นให้ทันเวลานัด
ถาม การตรงต่อเวลาสำคัญต่อคนที่ทำโครงการอย่างไร
ตอบ ทำงานให้เสร็จเร็วจะได้เล่นเร็ว ถ้าไม่ตรงเวลาก็ต้องทำให้เสร็จ เราต้องมีความรับผิดชอบ
ถาม สิ่งที่โอ๊ตต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง
ตอบ การดูแลเด็กให้เด็กมาตรงเวลาและช่วยกันทำงาน
ถาม ให้โอ๊ตประเมินรุ่นน้องที่ทำงานด้วยกันในหมู่บ้าน ที่เราพามาทำงานเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีอะไรบ้าง
ตอบ เขามาตลอด ได้กินข้าวกินขนมฟรี ไม่เสียหายอะไร อยู่บ้านก็ว่างไม่ได้ทำอะไร
ถาม โอ๊ตรู้สึกอย่างไรที่ได้พาน้อง ๆ มาทำ ถ้าไม่ชวนมาเขาก็อยู่บ้านว่างๆ ไปเล่นเสี่ยง พอได้ทำประโยชน์เพื่อชุมชนของตัวเอง โดยมีโอ๊ตเป็นแกนนำ
ตอบ รู้สึกดีครับ ได้เห็นน้อง ๆ ไม่ติดโทรศัพท์เหมือนผม ช่วยกันทำงาน เกี่ยวกับเด็กว่าจะมาหรือไม่มา ถ้าเขาไม่ว่างไม่ได้มาจะมาบอกก่อน เราก็บอกไม่เป็นไรเพราะเขาติดธุระ ไม่อยากว่าเขาเป็นธุระเกี่ยวกับพ่อแม่ของเขา ถ้าไม่ว่างเพราะไปเล่นเกมผมจะว่าอยู่ เราก็ไม่ได้ว่างเหมือนกันทุกคน
ถาม โอ๊ตมีความเข้าใจน้องด้วย โตขึ้นความฝันอยากเป็นอะไร
ตอบ อยากเป็นครู อยากสอนคณิตศาสตร์ ผมชอบเลขตั้งแต่เด็ก สนุก ผมเคยเกือบได้ไปแข่ง A-MATH (เกมต่อเลขคำนวณ) แม่เคยซื้อให้ เป็นเกมที่แจกตัวให้ทำเป็นสมการจนตัวเลขในมือของเราหมด ผมไม่ได้ไปแข่งเพราะไม่มีใครลงด้วย ผมเล่นอยู่ที่บ้าน
ถาม ให้โอ๊ตประเมินจากที่บอกว่ามีคุณสมบัติพิเศษ การกล้าพูดต่อหน้าคน ตรงต่อเวลา การรับผิดชอบ เข้าใจเขา การเป็นผู้นำให้กับน้องที่เราพามา คุณสมบัติพวกนี้คิดว่าจะช่วยการเป็นครูอย่างไร
ตอบ รู้ว่าเด็กนิสัยอย่างไร เด็กอยากรู้อะไร ชอบอะไร
ถาม ทักษะการสังเกตว่าเด็กคนนี้รู้สึกอย่างไร แตกต่างอย่างไร เราจะได้สอนเขาได้ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง
ตอบ รู้ว่าเด็กต้องการอะไร ครูต้องเอาใจใส่เด็ก รู้ว่าเด็กนิสัยอย่างไร ผมก็อยากเป็นช่างอิเล็คทรอนิกส์ ชอบคอมพิวเตอร์ ผมชอบสามอย่างนี้ คือ เลข ช่างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
ถาม มีโครงการอะไรที่จะทำในอนาคตไหมที่เกี่ยวกับงานชุมชน อยากทำอะไรไหม
ตอบ ผมอยากทำสระว่ายน้ำในหมู่บ้าน เปิดบริการให้คนมาเล่น อากาศร้อน ให้เด็กได้มาเล่น พักผ่อน ต้องคุยกับผู้ใหญ่แต่ เขาไม่อยากทำเพราะใช้งบประมาณเยอะ
ถาม ประเมินโครงการว่าทำได้กี่เปอร์เซ็นต์
ตอบ 80 เปอร์เซ็นต์ เราทำให้หมู่บ้านสะอาดขึ้น คนในหมู่บ้านรู้จักการทำความสะอาด รู้ว่าต้องเก็บขยะอย่างไร เด็ก ๆ เปลี่ยน เห็นขยะตกถ้าเป็นขยะที่นำมารีไซเคิลได้ เขาจะเก็บมาไว้ที่บ้านใส่ถุงไว้ อีก 20 เปอร์เซ็นต์เหลือทำรายงานซึ่งผมไม่ค่อยรู้เท่าไร
ถาม พอโอ๊ตมาทำแบบนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน หนึ่งคือเปลี่ยนพื้นที่สะอาดขึ้น สองชาวบ้านแยกขยะ และแกนนำเด็ก ๆ ที่ ชวนมาถึงไม่ครบทุกคนอย่างน้อยเริ่ม เห็นขยะก็แยกได้ เก็บมาแยกประเภทที่บ้านตัวเอง เห็นแบบนี้แล้วโอ๊ตรู้สึกอย่างไร
ตอบ ทำมานานเป็นรูปเป็นร่าง รู้สึกดีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง บ้านเราสะอาดขึ้น ดี สะอาด ไม่ต้องทนเห็นขยะ
ถาม ตอนที่โอ๊ตแยกขยะที่เอามารวมกัน แยกประเภท ทำหลาย ๆ ครั้ง รู้สึกอย่างไรู้สึกอย่างไร
ตอบ รู้สึกอยากลองทำดู สนุก
ถาม เวลาที่เรากำลังแยกอยู่มีสายตาชาวบ้านมองเข้ามาที่โอ๊ต จากเดิมที่เราไม่เคยทำเราลองมาทำ ลองประเมินว่าเขารู้สึกต่อเราเปลี่ยนไปไหม
ตอบ เปลี่ยนครับ เขาบอกว่าเราดีขึ้น
ถาม โครงการธนาคารขยะเป็นโครงการที่ดีของชุมชน โอ๊ตคิดว่าโครงการนี้ควรจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากจบรอบนี้ไป โอ๊ตจะทำอย่างไร
ตอบ อยากให้ทำต่อไปเรื่อย ๆ ผมจะช่วยพาเด็ก ๆ เข้ามาเพิ่ม เพราะถนัดด้านนี้ และสอนงานน้อง
ถาม ตอนที่โอ๊ตประสานงานเพื่อน ๆ ให้กับพี่เอม เขามอบหมายให้ทำหรืออาสาเอง
ตอบ ทั้งสองอย่าง พี่เอมบอกและผมอยากช่วยด้วย
ถาม อะไรที่ทำให้อยากรับงานนี้
ตอบ อยากลองครับ ทำแล้วสนุก ทำได้ไม่หนักอะไร รู้นิสัยน้อง ๆ ว่าจะประสานอย่างไร แต่ละคนต่างกัน มีปัญหาบ้าง ส่วนใหญ่ก็ฟัง ปัญหาที่เจอเด็ก ๆ ไม่ค่อยมา ไปเรียกที่บ้าน และบอกพ่อแม่เขาให้พ่อแม่เชื่อว่ามาทำกิจกรรม ถ้าติดธุระเขาก็มาไม่ได้