เยาวชนเด่น :
นางสาวบุษญรัตน์ เลิศใหม่ดี (เอม) อายุ 21 ปี
กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ถาม ขอให้แนะนำตัว
ตอบ ชื่อนางสาวบุษญรัตน์ เลิศใหม่ดี ชื่อเล่นเอม อายุ 21 ปี กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ตำแหน่งในชุมชนเป็นประธานเยาวชนบ้านแพะกลาง และเจ้าหน้าที่กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลตำบลทุ่งช้าง ทำโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเกี่ยวกับธนาคารขยะในชุมชน หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการคัดแยกขยะ เมื่อหลายปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก มีคนป่วยด้วยไข้เลือดออก 8 คน ถ้าไม่กำจัดแหล่งน้ำขังจะทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดไปเรื่อย ๆ พ่อซึ่งเป็นผู้ใหญ่จึงทำโครงการขยะ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายในตามแหล่งน้ำขัง เช่น ขวดขยะ และกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ และ 2 กำจัดขยะที่มีจำนวนมากในชุมชน
ในฐานะลูกผู้ใหญ่บ้านอยากทำโครงการเพื่อชุมชน หนูจึงเริ่มทำงานกับผู้ใหญ่ในฐานะผู้นำเยาวชน พวกเราเริ่มสำรวจพื้นที่ชุมชน พบว่ามีน้ำขัง มีลูกน้ำยุงลาย จึงเริ่มคว่ำกะลา เก็บเศษพลาสติก มาเรื่อย ๆ จนตั้งเป็นโครงการขึ้นมา
ถาม มีประสบการณ์ทำโครงการด้านเยาวชนอย่างไรบ้าง
ตอบ หนูเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านพ่อมีหน้าที่ เราจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมและเข้ามาอยู่ตรงนี้ด้วย ตอนแรกหนูไม่สนใจไม่ชอบทำอะไรแบบนี้เลย พอเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมช่วงปี 2-3 ปีแรก ก็ทำไปแบบนั้น ทำมาเรื่อย ๆ มีบางช่วงหยุดพักการทำโครงการไป ได้มาเจอกับพี่กอล์ฟจนทำโครงการปัจจุบัน เรารู้สึกว่าทำก็ได้นะ แต่ไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายของเราคืออะไร แค่ทำให้เสร็จ ๆ ไป จนถึงจุดที่ต้องนำน้อง ๆ ให้เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา รู้สึกว่าจากอดีตเราไม่มีจุดหมายอะไรในการทำโครงการ ก็เริ่มเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่าการที่อยากจะพัฒนาหมู่บ้านของเราเท่านั้น โดยที่มีเป้าหมายใหม่คืออยากให้เด็กที่เข้ามาทำกิจกรรมกับหนู มีความสามารถและต่อยอดจากโครงการนี้ได้ ทั้งเรื่องของการมีส่วนร่วมในชุมชน ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเลิกทำกิจกรรมกับเราไปแล้ว เขาสามารถเอาความรู้ความสามารถของเขาที่ได้จากตรงนี้ไปต่อยอด
ถาม ย้อนไปในอดีตอะไรที่ทำให้เราไม่อยากทำงานแบบนี้
ตอบ คนในชุมชนเขาไม่ค่อยสามัคคีกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกแตกแยก พอมาเจอหน้ากันก็ชักสีหน้าใส่กัน เรารับรู้ปัญหาต่าง ๆ นานา แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราอยากอยู่อย่างสงบ ไม่อยากเหนื่อย
ถาม ก่อนเข้าร่วมโครงการเราเป็นคนแบบไหน
ตอบ มีโลกส่วนตัวสูง ใช้เวลาในห้องทั้งวัน ไม่ออกไปไหนหรือสุงสิงกับใคร ไม่มีเพื่อน ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ ถ้าอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เรารู้สึกว่าใครก็ตามเธอต้องทำตามใจเรา ถ้าไม่ได้ดั่งใจจะออกและหนีไปไม่เอาอะไรเลย เรียกว่านิสัยแย่เอาแต่ใจตัวเอง
ถาม ทำงานชุมชนมานานเท่าไรและได้ทำอะไรบ้าง
ตอบ ประมาณ 5 ปี ช่วงที่หนูเรียนชั้น ม.4 หนูเป็นสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน จะต้องช่วยเหลือชุมชนทำกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ เช่น เก็บขยะ ปลูกป่า
ถาม เราเปลี่ยนความคิดรู้สึกอินกับงานเพราะอะไร เหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร
ตอบ การทำโครงการนี้มีโจทย์ที่ยากมากสำหรับหนู คือการเข้าหาคน ต้องทำให้เด็กเขาสนใจและเข้ามาทำโครงการของเรา ยากมากในช่วงแรก ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนกว่าจะดึงน้องเข้ามาร่วมได้ แต่ก็ยังไม่โอเคเท่าไร หนูก็ยังมีอารมณ์แบบเดิม ทีนี้พอทำไปเรื่อย ๆ เกิดความผูกพัน จากคนที่คับแคบเอาแต่ใจตัวเอง อะไรทำไม่ถูกใจก็จะไม่เอา เราต้องปรับตัวเอง อะไรที่ยอมได้หนูก็เริ่มยอม อะไรที่ควรเย็นหนูก็ยอม หนูได้เอาชีวิตของหนูเข้าไปฝากในชีวิตของน้อง ๆ หนูอยู่ในโลกมืด ๆ เทา ๆ ของหนูต่อไปไม่ได้แล้ว พวกเขาเป็นมากกว่าเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง เขามาเติมสีสันให้กับชีวิตหนู จากสีเทา ๆ เริ่มมีสีสันมากขึ้น
ถาม ในโครงการทำอะไรบ้าง
ตอบ ระยะแรก กิจกรรมที่ 1 จัดเวทีชี้แจงโครงการ ชาวบ้านรับฟังรับทราบมากขึ้นจากที่เมื่อก่อนไม่ฟังไม่เอาเพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ไม่มีความน่าเชื่อถือ ตอนนี้เขาก็โอเคมากขึ้น เวลาเราให้เขาทำแบบสอบถามเขาตอบตามความจริง ซึ่งมีประโยชน์กับหนูมาก ระยะที่สองด้วยสถานการณ์โควิด การเริ่มทดลองคัดแยกขยะ ต้องหยุดชะงักไปเมื่อเดือนก่อน ประกอบกับราคาขยะที่ตกต่ำมาก จากกล่องลังที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 40 บาท ตอนนี้เหลือโลละ 50 สตางค์ ทำให้เราต้องเก็บขยะไว้ก่อนรอราคาสูงกว่านี้ ตอนนี้โรงขยะของเราเต็มไม่สามารถรับขยะเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ไม่สามารถทำโครงการขยะ หนูจึงชวนน้อง ๆ คุย เพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับรักษาสิ่งแวดล้อม ที่หมู่บ้านทำโครงการปลอดสารพิษ หนูจึงชวนน้อง ๆ ไปทำแปลงผักด้วยกัน เพื่อรอเวลาราคาขยะเพิ่มขึ้น ระหว่างนี้จึงคุยต่อว่าจะนำเอาขยะมาทำงานประดิษฐ์
ถาม ตอนนี้ทำงานมาแล้วประมาณกี่เปอร์เซนต์
ตอบ ประมาณ 90 % เหลือการคืนข้อมูลให้กับชุมชน เราไม่สามารถให้ชาวบ้านมารวมตัวกันได้ จึงประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เมื่อก่อนเราเคยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านจึงเลือกเอาวิธีนี้มาแก้ปัญหา น่าจะทำให้คนทราบกันถ้วนหน้า
ตอนนี้อยู่ในขั้นสรุปข้อมูลและบันทึกข้อมูล หลังจากนั้นถ้าเราได้ข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว หนูจะประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านได้รู้ว่า เราทำโครงการไปถึงไหน ทำอย่างไร ใช้งบประมาณไปเท่าไร ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราพบปัญหาอะไรบ้าง วิธีการแก้ไข สถานการณ์ตอนนี้เราเยาวชนและชาวบ้านสามารถทำอะไรต่อไปได้บ้าง
ถาม การเปลี่ยนแปลง ทักษะการทำงานร่วมกับน้อง นิสัย พฤติกรรม จิตสำนึกของเรา เป็นอย่างไร เหตุการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนเป็นอย่างไร
ตอบ เรื่องแรกทัศนคติการมองโลกที่เปลี่ยนไป จากที่เป็นคนโลกแคบ ไม่สนใจว่าใครจะเป็นอย่างไร คุณทำงานร่วมกับเรา คุณต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็น “ได้รู้ว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียว โลกไม่ได้หมุนรอบตัวของเรา อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หันไปมองสิ่งรอบตัวบ้าง เมื่อหนูคิดแบบนี้ หนูเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนมากขึ้น” นิสัยตัวเองเปลี่ยน หลังจากที่หนูทำงานกับเด็ก ๆ ด้วยเวลาที่นานขึ้นในการทำกิจกรรมด้วยกัน มีความผูกพันเพิ่มขึ้น รู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นที่ขาดหายไปได้เติมเต็ม
ย้อนไปตอน ม.6 เป็นช่วงที่หนูเรียนหนักมาก มีแต่เรื่องถาโถมเข้ามา คนที่เรารักไปสวรรค์ มันทำให้เรากดดันในตัวเอง หนูเกิดภาวะซึมเศร้าหนักมาก อะไรก็มืดมนไปหมด “หนูอยู่กับความมืดมนนั้นหนึ่งปี จนได้มาร่วมทำโครงการกับพี่กอล์ฟ เราได้พบกับอะไรที่สดใส เด็กคือสิ่งที่เติมพลังชีวิตหนู ทุก ๆ ครั้ง ที่หนูรู้สึกเหนื่อยไม่ไหวแล้วจะมีพวกเขาเข้ามาอยู่ข้าง ๆ ให้กำลังใจเราเสมอทุกเรื่อง” เราสามารถคุยและเล่าเรื่องของเรากับเขาได้ทุกเรื่อง ซึ่งตอนนั้นเราไม่สามารถพูดเรื่องอะไรกับใครได้เลย หนูมีเพื่อนน้อย เขาให้ความรู้สึกอบอุ่นแก่เรา ฉุกคิดว่าทำไมเขาใส่ใจเราขนาดนี้ เขาแคร์เราทุกเรื่องของชีวิตไม่เฉพาะเรื่องในโครงการเท่านั้น ทำให้หนูรู้สึกว่าขาดพวกเขาไม่ได้ เมื่อก่อนหนูมีเป้าหมายในชีวิตเพียงอย่างเดียวคืออยากให้ครอบครัวสบายมีแต่สิ่งที่ดี ตอนนี้มีเป้าหมายเพิ่ม อยากให้น้อง ๆ ของหนูได้รับสิ่งดี ๆ นั้นด้วย แบบเดียวกันกับครอบครัวของหนู
เรื่องที่ 2 เมื่อก่อนหนูเขิน ประหม่า เข้าหาคนไม่เป็น เรื่องงานไม่รู้จะเริ่มต้นคุยอย่างไร ทั้งที่ได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว พอได้ทำโครงการร่วมกับพี่กอล์ฟ การเข้าหาคนไม่ยากอย่างที่คิด เขาทำโครงการขึ้นมาฝึกเยาวชนให้ทำงานกับชุมชน เขาสอนเราด้วยการให้เราเข้าหาคนที่เราอยากเข้าหาก่อน เราเดินเข้าไปคุยปกติ และถามสิ่งที่เราอยากรู้ ครั้งแรกที่เก็บข้อมูลกับคุณตา เราก็ถามคำตอบคำจบแค่นั้น หลังจากที่ทำไปสักพักประมาณ 4 เดือน เริ่มคุ้นเคยกับการทำงาน พุดคุยเพื่อสอบถามข้อมูลกับคนในชุมชนคล่องขึ้นไม่เขิน เพิ่มการผูกมิตรกับคนที่เราไปสอบถาม การเก็บข้อมูลเราต้องใช้ความกล้าและความเป็นธรรมชาติของเรา ไม่ถามด้วยภาษาวิชาการเพราะชาวบ้านก็อาจจะไม่อยากตอบ หนูจึงใช้ความเป็นเด็กของตัวเองเข้าไปสอบถาม เช่น ป้าจะเก็บขยะอย่างไร นำไปฝังหรือเผา ป้าจะตอบความจริง การเข้าหาผู้ใหญ่เพิ่มระดับความตื่นเต้นเข้ามาในชีวิตมากขึ้น ในการประสานงานกับหน่วยงานเทศบาล อำเภอ โรงพยาบาล เมื่อก่อนคงจะให้ผู้ใหญ่ประสานงานให้ ตอนนี้เราต้องทำเอง ได้ฝึกว่าถ้าจะเข้าหาคนนี้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ใช้ความเป็นธรรมชาติของตัวเองยังมีอยู่ และวิธีการเป็นทางการมากขึ้น เช่น รวบกวนเชิญคุณหมอมาให้ความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านเรื่องของการคัดแยกขยะ คุณหมอสะดวกไหม
ถาม เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองที่สุด
ตอบ ช่วงเดือนธันวาคมที่หมู่บ้านจัดงานประเพณี พวกเราเลือกการฟ้อนรำแบบวิถีชาวบ้านไปแสดงในงาน ตอนที่ซ้อมมีปัญหาจำบางท่าไม่ได้ หนูรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมจำกันไม่ได้ กลับบ้านไปนั่งคิดว่าเป็นเพราะเราสอนไม่ดีหรืออย่างไร หนูพูดกับเพื่อนว่าเราอยากเห็นเธอจริงจังกับการซ้อม หนูแสดงออกทางสีหน้าว่าหงุดหงิดมาก พวกเขาซึมไปเลย หนูคิดว่าเขาเข้าใจหนู เขาก็รู้ตัวเองว่าเป็นแบบนี้ไม่ได้ หนูก็ขอโทษเขาที่ปล่อยอารมณ์ออกไป และการแสดงในวันงานติดขัดบ้างแต่ไม่ถึงขั้นแย่มาก
คืนสุดท้ายของงานวัยรุ่นต่างหมู่บ้านยกพวกตีกันกับวัยรุ่นในหมู่บ้าน หนูอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย วัยรุ่นในหมู่บ้านจะตามไปเอาคืน หนูต้องเข้าไปขอร้องกลุ่มวัยรุ่นว่าไม่ตีกันได้ไหม ยกเหตุผลว่าพ่อของเราตั้งใจจัดงานนี้มาก เตรียมงานหลายเดือนหนึ่งปีจัดเพียงครั้งเดียว วันนั้นหนูร้องไห้ทีมเข้ามาปลอบว่าไม่เป็นไร และมาอยู่ข้างร้องไห้ด้วยกัน หนูรู้สึกประทับใจมาก รู้สึกว่ารักพวกเขามาก
ถาม เหตุการณ์นี้มีผลต่อเอมอย่างไร
ตอบ เปลี่ยนการมองโลกของหนู ทำให้หนูรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญของเรา เดิมหนูคิดว่าการดูแลเด็กเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำ หลังจากเหตุการณ์นี้ หนูพบว่าไม่ใช่เรื่องหน้าที่ แต่เป็นความรู้สึกอยากปกป้องสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ที่เราไม่อยากให้สูญหาย เสียหาย หรือพังลงไป ทุกวันนี้ที่หนูอยู่กับเด็ก ๆ ไม่ใช่เรื่องหน้าที่แต่เป็นความรู้สึกเหล่านี้
ถาม ในระหว่างทำโครงการมีเหตุการณ์ขัดแย้ง ทะเลาะกันบ้างไหม
ตอบ มีบ้าง เราไม่อยากให้มาทะเลาะกันเอง เด็กในโครงการทะเลาะกัน เราก็ช่วยกันไกล่เกลี่ย เราไม่อาจรู้ว่าเรื่องที่เขาทะเลาะกันนั้นเป็นอย่างไร กระทบจิตใจเขาขนาดไหน ให้เวลาเขาหนึ่งเดือนซึ่งเป็นหนึ่งเดือนที่เขายังมาทำงานร่วมกัน ทั้งสองไม่มีปัญหากันระหว่างทำงาน แต่มีปัญหานอกเวลางาน จนกระทบกับความสัมพันธ์เขาไม่อยากทำงานร่วมกัน แม้ว่างานไม่เสียหายแต่บรรยากาศการทำงานไม่รื่นรมย์ หนูถามเขาไปตรง ๆ ว่าผิดใจอะไรกัน ทำไมถึงทำแบบนี้ เขาเล่าให้หนูฟังตรง ๆ เป็นเรื่องความรัก หนูจึงให้คำปรึกษาเขาไปว่า จะโกรธเกลียดกันอย่างไร ขอให้เขานึกถึงช่วงเวลาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ถามเขาทั้งสองไปว่าจะตัดความสัมพันธ์นี้หรือ พูดให้เขาทบทวนความสัมพันธ์ ย้ำว่าพวกเราเป็นมากกว่าเพื่อนเป็นพี่น้อง แต่พวกเราคือครอบครัว ให้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ขอให้เขาคิดทบทวนความผูกพันนี้ เขาเริ่มเข้าใจกันจนความสัมพันธ์กลับมาเป็นปกติ
ถาม ทำอย่างไรให้น้อง ๆ มีส่วนร่วม
ตอบ เรามีกลุ่มแชท (Group Chat) คุยกันทุกเรื่องทั้งกิจกรรมและสัพเพเหระ จนถึงการให้คำปรึกษาเรื่องความรัก เป็นการรักษาความสัมพันธ์ของพวกเราได้ดีมาก ต่างจากช่วงแรกที่ตั้งกลุ่มแชทขึ้นมา หนูคุยแต่เรื่องงานอย่างเดียว น้อง ๆ ไม่เอาเลย เด็กพูดว่าให้ทำแต่งานพี่เป็นใคร เด็กผู้ชายบอกว่าผมทำก็ได้แต่ไม่สนใจพี่ ในกลุ่มเด็กผู้ชายที่เข้ามาร่วมงานกันอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในช่วงแรกเขาไม่จริงจังอะไร พอทำงานกันไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นว่ามีเด็กผู้ชายตัวเล็กคนหนึ่งเขาเป็นเด็กชอบแว้น ชอบเที่ยว เข้ามา หนูเริ่มเข้าหาเขาจากคุยเรื่องที่เขาชอบทำที่เขาชอบไป เขาชอบไปเล่นน้ำ ซึ่งหนูกับน้อง ๆ ในทีมจะทำอะไรด้วยกันหลังทำกิจกรรมในโครงการเสร็จ เช่น ไปนั่งทานข้าว ไปเล่นน้ำ อยู่แล้ว จึงชวนเขาเข้ามาร่วมกิจกรรมหลังจากเสร็จงานด้วยกัน จนตอนนี้เขาจะเป็นคนทักมาเองว่าอาทิตย์นี้จะทำอะไร เช่น ทำแปลงผัก นั่งเล่นที่ศาลา เป็นต้น
ถาม หนูมีวิธีการดึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เข้ามาในโครงการโดยการ ตีสนิท ถ้าเราออกคำสั่งอย่างเดียวไม่มีใครทำ ต่อต้าน วิธีเข้าหาน้อง เราต้องเข้าหาน้อง น้องชอบทำอะไร รู้อะไร เราพาเขาไปด้วยตลอด พอเราใช้ความสัมพันธ์ไปตีสนิทเข้ากันได้เป็นแก๊งเดียวกัน หลังจากนั้นเราก็มอบหมายงานได้เลยใช่ไหม
ตอบ ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ถ้าเรามีเรื่องอะไร เช่น รถเสีย เขาจะมาช่วยเหลือทันทีโดยไม่ลังเล มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พวกเขานัดไปเล่นน้ำ หนูไปไม่ได้บอกปฏิเสธ เขาก็ตอบมาว่าทำไมจะไปด้วยกันไม่ได้ เราทำงานด้วยกันแล้วนะ ไปไหนต้องไปด้วยกันสิ กินข้าวกินด้วยกัน เล่นน้ำก็ต้องไปด้วยกัน เรารู้สึกว้าวกับเด็กคนนี้
ถาม อะไรที่ยากที่สุดในการทำโครงการนี้สำหรับเอม
ตอบ การเข้าหาผู้ใหญ่บางกลุ่ม ที่แบ่งพรรคแบ่งพวกอยู่ฝั่งตรงข้ามกับผู้ใหญ่บ้าน การเข้าหาผู้ใหญ่กลุ่มนี้เป็นเรื่องยากสำหรับหนู เพราะเขามีอคติต่อฝั่งที่หนูอยู่ เขามองว่าเราเป็นเยาวชนจะมีบทบาทอะไรในการทำโครงการ เขาอาจจะมีความคิดว่าเรายังเป็นเด็ก จะไม่มีความสามารถในการทำโครงการไหม เขาไม่ได้พูดแต่เรารู้สึกได้ว่าเขาต่อต้าน
ถาม หนูแก้ปัญหานี้อย่างไร
ตอบ เขาเป็นกลุ่มน้อย กลุ่มที่เราเข้าไม่ถึงจริง ๆ ถ้าไม่มีงานจะไม่เข้าหา เคยให้เขาทำแบบสอบถาม เขาก็ทำให้ความช่วยเหลือเรา แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้ไม่รู้ว่าเขาจะให้ความร่วมมือเปิดใจรับเด็กไหม กลุ่มเขายังไม่เปิดรับผู้ใหญ่บ้าน งานในชุมชนเขาไม่เอาไม่ทำ ผู้ใหญ่เองก็เข้าถึงเขายาก เยาวชนยิ่งยากกว่า หนูใช้ความเป็นเด็กเข้าไปสอบถามข้อมูล หนูถอดความเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านออก ใช้ความเป็นเด็กเข้าไปหาข้อมูล คุยกับเขาแบบเด็กคนหนึ่งในหมู่บ้าน เขาตอบรับประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เขาตอบคำถามเราไปเรื่อย ๆ สถานการณ์ดีขึ้น แต่เราไม่รู้ว่าภายในใจเขาเป็นอย่างไร
ถาม ความเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านของเราส่งผลต่อการทำงานอย่างไร
ตอบ ลำบากตรงที่ทำตัวแบบลูกชาวบ้านได้ไม่เต็มที่ เราอยากไปเที่ยวหรือทำอะไร เราทำได้ไม่เต็มที่ เราต้องคำนึงถึงชื่อเสียงของพ่อ ถ้าคนอื่นมองไม่ดี เขาจะว่าได้ว่าทำไมลูกผู้ใหญ่บ้านทำตัวนี้ ลำบากใจเวลาที่เราอยากทำอะไรแต่ไม่เต็มที่ ถ้าไปเที่ยวต่างอำเภอแล้วไปเจอคนในหมู่บ้านเดียวกัน เขาก็จะเอาไปพูดต่อ เด็กพวกนั้นไปทำอะไรกัน รู้สึกลำบากใจเวลาจะไปไหนมาไหน ถูกคนจับจ้อง ก่อนทำโครงการนี้หนูเข้าไปร่วมงานของชุมชนทุกครั้ง ช่วยเป็นตากล้องถ่ายรูป การเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านไม่จำเป็นต้องทำตัวใหญ่กว่าคนอื่น เท่ห์กว่าคนอื่น
ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการของเราคือเรื่องอะไร
ตอบ มีปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มที่ชาวบ้านบางกลุ่มที่ยังไม่โอเคกับเรา ได้พยายามเต็มที่เข้าหาเขา ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือสถานการณ์โควิด ทำให้เราไม่สามารถทำอะไรก็ได้อย่างเต็มที่ มีคนจับจ้องว่ามารวมกลุ่มทำอะไรกัน เวลานัดจะพบกันที่ศูนย์กลางชุมชนคือศาลาเอนกประสงค์บ้านแพะกลาง เพื่อแจกจ่ายงาน บางทีคนใดคนหนึ่งมาไม่ได้จริง ๆ เราก็จะแชทหรือโทรไปบอกเขาว่าทำให้อะไรบ้าง พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีบางส่วนเข้าร่วมการกิจกรรม ทำแปลงผัก ขุดดินเราไม่สามารถรวมตัวแบบที่ทำปกติได้ ทำเสร็จต่างคนต่างกลับ หรือมานั่งคุยเล่นกันอยู่แถวหอประชุม
ถาม ปัญหาการทำงานในทีมหรือปัญหาของตัวเองมีอะไรบ้าง
ตอบ ปัญหาขี้เกียจของหนูเอง หนูทำงานประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ ทำงานทุกวันเหนื่อยมาก รู้สึกอยากพักผ่อน แต่ต้องทำรายงานส่งจึงต้องใช้วันหยุดในการทำงาน ปัญหาอีกอย่างคือเด็กบางคนไม่มาช่วยงานอาจเพราะขี้เกียจ ทำให้รู้สึกว่าเหนื่อยคูณสองไปเลย
ถาม จัดการอย่างไรกับความขี้เกียจของตัวเอง
ตอบ ตอนนี้ท่องใจในบอกกับตัวเองว่าต้องทำให้เสร็จ เพราะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อาจจะมาตรวจ เราทำเงินของแผ่นดินเราต้องทำให้ถูกต้อง เนื่องด้วยเรารับเงินงบประมาณจากเขามาต้องทำให้เสร็จ แค่เหนื่อยกว่าคนอื่นนิดหน่อย ไม่เครียดอะไร
ถาม หนูบอกตัวเองให้สู้ จัดการความคิดของตัวเองอย่างไร
ตอบ มีเด็กบางคนที่เข้ามาช่วยหนูทำรายงาน แม้ว่าเขาไม่มาช่วยทำรายงานก็ตาม เด็กที่ไม่เข้ามาทำรายงานคือกลุ่มเด็กผู้ชาย ซึ่งไม่เป็นไรเพราะโดยปกติวันเสาร์วันอาทิตย์เขามาช่วยทำแปลงผัก ขุดดิน หนูจึงแบ่งงานให้กลุ่มผู้หญิงทำรายงานเพราะเป็นเรื่องที่ใช้ความละเอียด ส่วนผู้ชายให้ช่วยงานในแปลงผัก เตรียมดิน ปลูกผักแทน มีบางครั้งที่กลุ่มผู้ชายเข้ามาเข้ามาดูว่าผู้หญิงทำ ไปถึงไหนแล้ว เขาจะถามตลอดว่างานถึงไหนแล้วเสร็จหรือยัง แล้วก็นั่งเล่นเกม บางสถานการณ์โควิดเรารวมกลุ่มใหญ่กันไม่ได้ อาจจะมีคนเอาไปพูดว่าทำไมถึงรวมแก้งค์กัน เราจึงติดต่อกันผ่านแชทถามความคืบหน้าของงาน
ถาม โครงการได้ทำประโยชน์อะไรกับชุมชนบ้าง
ตอบ ในโครงการเราทำกิจกรรมแยกขยะเป็นประจำ และทีมของเราซึ่งเป็นแกนนำเยาวชนก็ไปทำกิจกรรมอื่นของชุมชนที่ผ่านมาพวกเราพากันไปทำ บวชป่า ปลูกป่า ทำฝายน้ำล้น ทำแนวกันไฟ กวาดลานวัด ทำแปลงผัก
ถาม หนูดึงน้องๆ ในโครงการไปทำกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชน ชุมชนเห็นพวกเราแล้วมีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง
ตอบ ร้องว้าว แล้วก็บอกว่า ทำไมเก่งกันจัง ทำไมลูกป้าไม่ทำอย่างนั้นบ้างนะ ก็จะมีเสียงมาบอกว่าวันหลังก็ดึงลูกของป้าไปด้วย ชวนไปได้ตามสบาย รู้สึกว่าทำไมชาวบ้านน่ารักจัง พอถึงวันเสาร์วันอาทิตย์ เขาเห็นเราซื้อน้ำแข็ง ก็ถามว่าเข้ามาทำกิจกรรมอีกแล้วเหรอวันนี้ พาลูกป้าไปทำด้วยสิ
ถาม หนูรู้สึกอย่างไร หนูมองเห็นอะไรจากเสียงสะท้อนเหล่านี้
ตอบ การทำกิจกรรมต่างๆ จะไม่สำเร็จถ้าเราทำคนเดียว มันไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน ที่ประสบความสำเร็จทุกวันนี้ เนื่องจากการที่เยาวชนแกนนำของเรามีความร่วมมือ มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นมาก ๆ เลยทำให้เราขับเคลื่อนกิจกรรมไปได้ มีสะดุดบ้าง บางทีเราอาจจะล้มบ้าง แต่เราก็ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่อเราก็ทำเลย ทำให้รู้สึกว่าการมีกลุ่มเยาวชนพวกนี้ ทำให้เราเดินหน้าต่อไปโดยที่เราไม่ต้องกลัวว่าข้างหน้ามันจะมีอุปสรรคที่ยากแค่ไหน เพราะเรายังมีกันอยู่ ลุยไปเรื่อย ๆ
ถาม การทำงานกับเด็กเยาวชนที่เป็นวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มแว้นที่ไม่ค่อยสนใจอะไรเลย ทำอย่างไร ถึงเอาเด็กกลุ่มนั้นมาเป็นแกนนำได้
ตอบ หนูคิดว่าอันดับแรกที่เราต้องทำคือเราต้องเข้าใจเขา เราต้องเข้าใจสภาพบริบทที่เขาอยู่ เขาอยู่กับสิ่งแบบไหน เขากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร เช่น เด็กน้อยที่เข้ามาทำโครงการกับหนู เขาเป็นเด็กที่กำลังจะขึ้น ม. 1 วัยหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นเด็กแว้น หนูสังเกตว่าเขาทำงานเสร็จแล้วเขาจะไปไหนกัน หนูรู้ว่าเขาไปเล่นน้ำกัน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี เราลองทำตามเขาดู เราทำตามแล้วเราชอบกิจกรรมที่เขาทำด้วย อีกอย่างคือเราสามารถดูแลเขาได้ ถ้าวันนี้เขาไปเล่นน้ำแล้วไปเจออะไรที่ไม่ดี เราสามารถดึงเขากลับมาได้ ตอนนี้หนูรู้เลยว่า ปกติถ้าไปเล่นน้ำเล่น ก็จะเจอคนดีบ้างไม่ดีบ้าง เช่น สูบบุหรี่ กินเหล้า กินยา เสพสิ่งไม่ดี เราบอกเขาได้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี หนูรู้สึกว่าได้ทำให้เขาห่างจากสิ่งที่ไม่ดีได้
ถาม หนูเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างคะ
ตอบ เรียนรู้เรื่องวิชาการเรียนรู้เรื่องการเข้าหาคนจะปรับตัวอย่างไร เราอยากได้คนนี้เข้ามาในทีมของเรา เราต้องจัดการกับตัวเองก่อน ไม่ใช่จัดการกับเขา เราอยากได้เขาเข้ามาในทีม คุณต้องปรับปรุงตัวเองอย่างไร เราอยากได้คนนี้เข้ามาในทีมซึ่งเป็นคนที่หัวแข็งหัวรั้น ดื้อหน่อยเข้ามาในทีม ไม่ใช่ว่าเราจะจัดการกับคนนั้นก่อน ให้เขาสงบลงอย่างไร ให้เขาทำอย่างไร แต่เราควรต้องมารู้จักกับตัวเองก่อนว่า ถ้าเราอยากได้เขาเข้ามาทำงานของ เราควรจัดการอย่างเช่น ถ้าเขาสนใจในเรื่องแบบไหน เราลองเข้าไปศึกษาสิ่งนั้น เราลองเข้าไปพูดคุยกับเขาสิ่งนั้นก่อนไหม ว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะดึงเขาเข้ามาในทีมของเรา
เรื่องการปรับทัศนคติที่มีต่อโลกกว้างมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าโลกแคบของเราที่มีเรื่องอะไรไม่รู้ความเอาแต่ใจ ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าโลกของเรามันแคบและโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา แต่มันกว้างกว่านั้น เรารู้สึกว่ามันต้องเจออะไรอีกหลายอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องปรับตัวเข้าหามากขึ้น เราต้องปรับนิสัยมากขึ้น
เรื่องของการทำงาน รายงานตัวนี้ทำอย่างไร พี่เขาทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เราเรียนรู้วิธีการทำโครงการ วิธีการของบประมาณ การสื่อสารอยากได้โครงการนี้มาทำ ต้องทำอย่างไร ทำให้เรารู้ว่าโครงการนี้มีข้อติดขัดอยู่ตรงไหน หนูเห็นหลายโครงการจากหมู่บ้านที่ขอไปแล้วติด ทำให้เราเรียนรู้ว่าถ้าของบประมาณจากองค์กรนี้ หนูต้องทำอย่างไรเขียนรายงานประมาณไหน
ถาม หนูเรียนรู้จักวิธีการเขียนรายงาน การเขียนขอโครงการอย่างนี้ใช่ไหมคะ เมื่อก่อนเขียนอย่างไร
ตอบ ติดขัดมาก วิธีการของบประมาณ เราได้งบประมาณมาแล้วจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จะทำกิจกรรมอะไรบ้างในระยะเวลาที่กำหนดมาให้ เราสามารถแบ่งงบประมาณเข้าไปลงในจุดไหนบ้างที่สำคัญ ถ้าเราจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ใครได้รับผลประโยชน์ ทำให้รู้ว่าเราสามารถนำวัตถุประสงค์จุดนี้ หรือผลลัพธ์จุดนี้ไปดำเนินการต่อในกิจกรรมอื่นได้อีกไหม ทำให้เราได้เห็นว่าจุดนี้เราพลาดอะไรไปบ้าง ได้เรียนรู้
ถาม มีคุณสมบัติ ความสามารถ ศักยภาพเพิ่มขึ้นจากการทำโครงการเรื่องอะไรบ้าง
ตอบ การเป็นผู้ตาม ทำให้รู้ว่าทำแบบอื่นก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เพราะเราเป็นผู้นำมาตลอด ถามตัวเองว่าทำไมต้องเป็นผู้นำตลอด พออยู่โครงการนี้ได้ดึงเด็ก ๆ เข้ามา พวกเขามีความคิดหลากหลาย เด็กบางคนมีความคิดอีกแบบแต่ตรงประเด็น ส่วนความคิดของเราค่อนข้างเป็นตามแนวที่เขาวางไว้
ฝึกการเป็นผู้ตาม เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ฟังใคร เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จะทำกิจกรรมขึ้นมา เธอต้องฟังตามที่ฉันบอก ตัดของเธอออกไป ทำตามที่ฉันบอกดีที่สุดแล้วตามแบบแผนที่สุดแล้ว ตอนนี้ฟังเสียงเด็ก ฟังสิ่งที่เด็กคิด สุดท้ายถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน ความคิดเด็กน่าสนใจดี
ถาม อะไรที่ทำให้หนูเปลี่ยน
ตอบ การที่เราเข้าหาคนอื่นอย่างจริงจัง เราต้องเป็นผู้นำแบบใหม่ เกิดขึ้นช่วงที่มีพี่ ๆ มาสัมภาษณ์เด็ก หนูเริ่มคิดว่าเราจะเอางบตัวนี้ไปทำอะไรดี จะดึงเด็กเข้ามาเพิ่ม มีเด็กคนหนึ่งเขาสนใจและเข้ามา มีความกระตือรือร้น ลองฟังเสียงของเขา พอเขาเสนอความคิดขึ้นมา เจ๋งและน่าสนใจ พอเราฟังไปเรื่อย ๆ ลองปฏิบัติตามที่เขาแนะนำ วิธีการของเด็กเจ๋งกว่าแบบแผนที่เราคิดไว้ ถึงจะนอกกรอบไปบ้างแต่ก็บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ เราฟังมากขึ้น รู้สึกสนุกกับการได้ทำอะไรนอกกรอบไปบ้าง
การคิดวิเคราะห์แตกฉานมากขึ้น เรื่องการคิดแบบกิจกรรม ตั้งวัตถุประสงค์ วางแผนการดำเนินงานตามกระบวนการวิธีทำ ฝึกการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เรารู้ว่าควรจัดสรรงบประมาณของแต่ละกิจกรรมอย่างไร
ถาม อนาคตหนูอยากเป็นอะไร
ตอบ เมื่อก่อนหนูอยากเป็นทนายความ พอได้มาทำกิจกรรมนี้เป้าหมายชัดเจนมากขึ้น หนูอยากเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนงาน หรือปลัด ทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะเดินสายนี้แล้ว ตอนนี้หนูสมัครเรียน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทำให้เป้าหมายเราชัดเจนขึ้น
ถาม เหตุการณ์ไหนในโครงการที่ทำให้รู้เป้าหมายชีวิตตัวเอง
ตอบ ช่วงที่ได้ทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลทุ่งช้าง เป็นลูกจ้าง ทำให้รู้สึกว่างานที่ทำกับเด็กมีความสอดคล้องกับงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน ให้หนูลองศึกษาทำมาเรื่อย ๆ 4-5 เดือน หนูมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าหนูอยากทำตรงนี้ เพราะว่างานที่หนูทำอยู่มีความสอดคล้องกัน ทำแล้วสนุก
ถาม คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ในโครงการจะช่วยให้เป็นปลัด หรือนักวางแผนงานและนโยบายอย่างไร
ตอบ สำหรับหนูโครงการทำให้หนูเห็นว่าการวางแผนงาน การวิเคราะห์ ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชน อนาคตของเราต่อไปต้องเข้าร่วมชุมชนมากขึ้น โครงการนี้จุดประเด็นให้เราเข้าหาชุมชนมากขึ้น ทำให้เราได้เป็นนักวางแผนงานที่มีเหตุมีผลมากขึ้น
ถาม มองอนาคตของชุมชนอย่างไร หรืออนาคตการสร้างแกนนำเยาวชนของเราเป็นอย่างไร
ตอบ หนูมีแผนดึงเด็กในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านเข้ามาร่วมทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น กิจกรรมปลูกผัก กิจกรรมจิตอาสาพัฒนา หนูจะดึงเด็กทุกคนเข้าไปทำกิจกรรมนี้ เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าเด็กมีศักยภาพมากพอที่จะทำอะไรได้
ถาม หนูเห็นศักยภาพอะไรในน้อง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
ตอบหนูเห็นความความเป็นผู้นำ เห็นความคิดสร้างสรรค์ในตัวเขา ถ้าหนูออกจากโครงการนี้ไปแล้ว คิดว่า เขาผู้ดำเนินโครงการต่อไปได้ เขามีศักยภาพมากพอ
ถาม มุมมองของหนูที่มีต่อชุมชนเปลี่ยนไปอย่างไร
ตอบ รักชุมชนมากขึ้น อยากให้ชุมชนพัฒนาไปในทางที่ดี โครงการขยะทำให้ชุมชนสะอาดมากขึ้น หนูอยากทำให้เห็นว่าชุมชนบ้านหนูมีดี มีของดีอยากนำเสนอให้คนนอกชุมชน ได้เห็นศักยภาพและ เห็นความสวยงามของชนเผ่าลัวะ ที่ยังคงสืบสานประเพณีวิถีของชนเผ่า ทั้งการสู่ขวัญเลี้ยงผี การทำขวัญแบบเก่า การร่ายรำแบบดั้งเดิม เสื้อผ้าแบบชนผ่าลั๊วะ