พี่เลี้ยงเด่น นางสาวคุณิตา เตชะสา (พี่ไก่) อายุ 42 ปี
ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปางสีเสียด หมู่ 6 ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
โครงการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านต้นสีเสียด
ถามขอให้แนะนำตัวค่ะ
ตอบชื่อคุณิตา เตชะสา ชื่อเล่นพี่ไก่ ตำแหน่งในชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน มีประสบการณ์ป็นผู้นำหลายปี เริ่มจากเป็น ส.อบต. มา 3 สมัย ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านปางสีเสียด ตำบลน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โครงการที่ทำคือเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านต้นสีเสียด ทำร่วมกับเด็ก ๆ โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากอยากให้เด็ก ๆ มีทักษะการใช้ชีวิตที่บ้านตัวเอง เพื่อไปสู่การเรียนรู้ในอนาคต
ถามบทบาทการทำงานเยาวชนหรืองานชุมชนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรบ้าง
ตอบเป็นผู้นำอยู่แล้ว มองว่าการให้ความสำคัญกับเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ในระดับของพี่คืออนาคตระดับหมู่บ้าน วันข้างหน้าเราก็ไม่ได้อยู่กันไปอย่างนี้ตลอด อยากจะสร้างรุ่นใหม่มาเรื่อย ๆ โดยการที่สร้างทักษะกระบวนการคิดของเด็ก ๆ เริ่มมาจากที่ตัวเองสนใจ
ถามก่อนหน้านี้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเยาวชนในชุมชนอย่างไรบ้าง?
ตอบยังไม่เคยเป็นเจ้าของโครงการ เคยร่วมมือกับ อบต. ในการรวมกลุ่มของเด็กเยาวชนของตำบลและเป็นคณะกรรมการให้กับเด็ก ๆ ที่ผ่านมาในลักษณะภาพรวมแบบนั้น มองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ พี่คุมได้เฉพาะเด็กเยาวชนในหมู่บ้าน มีการชวนเด็ก ๆ เข้าไปทำร่วมกิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนตำบลเพื่อให้เด็กสานสัมพันธ์กัน จะได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมากขึ้น ตำบลเราอยู่ใกล้เมือง เด็กไม่ได้มารวมตัวกันเหมือนชุมชนที่ห่างจากเมืองออกไป ส่วนใหญ่เด็กออกไปเรียนในเมือง กลุ่มเยาวชนที่บ้านพี่รวมกันจากหลายโรงเรียน
ถามโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการแรกที่ได้ชาวน้องๆ ในหมู่บ้านมาทำ
ตอบใช่ค่ะ เป็นโครงการแรก พี่พยายามคิดมาตลอด ว่าจะทำอย่างไร ลุงชาย คุณหมอสมชาย ศิริมาตร อดีตสาธารณสุขอำเถอเวียงสา ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเข้ามาบอกพี่ว่า เห็นผู้ใหญ่สนใจพัฒนาทุกด้าน จึงเอาโครงการนี้มาพูดให้ฟัง พี่ฟังแล้วสนใจจึงไปรวบรวมเด็ก ๆ มาประมาณ 15-20 คน มาทำโครงการ
ถามอะไรที่ทำให้เราสนใจที่จะทำงานพัฒนาเยาวชนในหมู่บ้านจนตัดสินใจมาทำโครงการนี้
ตอบสนใจ เพราะมองว่า “กระบวนการคิดวิเคราะห์ การฝึกตั้งแต่เด็กจะไปได้เร็ว” เรื่องของการพัฒนา ไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องอยู่ในหมู่บ้าน เขาอาจจะไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านก็ได้ แต่เด็กมีคุณภาพมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่ายุคนี้เป็นยุคสมาร์ทโฟน เด็กมีโทรศัพท์ทุกคนบางคนก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจจะเล่นในเกม เล่นเฟส เล่นไลน์ ถ้าเด็กไม่ได้มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีใครไปนั่งสอน ในชนบทผู้ใหญ่บางคนก็ไม่รับรู้เลยว่าการที่เข้าอยู่ในโซเชียลแบบนี้ บางสิ่งบางอย่างมันก็อันตราย ผู้ใหญ่ก็อาจจะตามไม่ค่อยทัน ก็เลยมีความคิดว่า ถ้าเด็กมีกิจกรรมทำแบบนี้ ซึ่งช่วยพัฒนากระบวนการคิดของเด็ก ๆ เมื่อเด็กพัฒนาตนเองขึ้นก็จะเป็นเด็กที่มีคุณภาพกลุ่มหนึ่งเป็นอนาคตต่อไป พี่สนใจจึงพาเด็กไปทำ เด็กสนใจก็ลงมือทำเลย
ถามผู้ใหญ่ไก่พาน้อง ๆ ไปเรียนรู้ที่ไหนบ้าง มีวิธีพาให้น้องเรียนรู้อย่างไร
ตอบพี่ก็พาไปได้หลายที่ ส่วนหนึ่งในโครงการก็มีไปดูงาน พาน้องไปดูต้นสีเสียดว่าเป็นอย่างไร พี่พยายามเสาะหา ต้นสีเสียดเพราะของหมู่บ้านหายไปแล้ว แต่ยังเป็นชื่อหมู่บ้านน้อง ๆ ก็สงสัยว่าทำไมชื่อปางสีเสียด พาน้องไปเรียนรู้ประวัติหมู่บ้าน พาไปดูที่ชุมชน เวลามีประชุมก็ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วม พี่ก็ให้เด็กเข้าไปถาม จะมีผู้ใหญ่ที่มีความรู้ตรงนั้นตอบ น้องมีความสนใจจึงทำลักษณะนี้ เวลาประชุมให้น้อง มาถาม การสำรวจน้องทำแบบสอบถามเอง ลงสัมภาษณ์เอง ช่วงหลังน้องทำกันเอง น้องมีกระบวนการคิด มีพี่ ๆ พี่มิน พี่กอล์ฟ คอยให้คำปรึกษาน้อง เด็กจึงทำกันเองได้
ถามนอกจากผู้ใหญ่จะเป็นตัวกลางคอยประสาน มีอะไรที่ทำอีกบ้างคะ
ตอบพาไปรู้พาไปดู ต้นสีเสียดที่ยังพอมีอยู่บ้าง ไปดู เก็บเมล็ด ลองเพาะเมล็ดจากต้นอ่อนที่หล่นอยู่ใต้ต้นสีเสียดก็ทำหมด
ถามผู้ใหญ่ทำด้วยใช่ไหม
ตอบใช่ค่ะ สนับสนุน หาอุปกรณ์ ดินปลูก อธิบายให้ฟัง พาไปถอนต้น เก็บเมล็ดที่เป็นฝักมา เราก็ไม่สามารถไปปีนได้ เพราะต้นมีหนาม เราต้องคอยเก็บที่ร่วงข้างลำต้น เอามาเพาะ ตอนนี้ยังไม่ได้ปลูก ไปทำกิจกรรมทุกอย่างกับเด็ก พาเด็กขึ้นดอย
ถามคิดว่าตัวเองในฐานะพี่เลี้ยงมีความโดดเด่นหรือหรือวิธีการทำงานช่วยสนับสนุนน้องๆ อย่างไรบ้าง
ตอบคิดว่าตัวเองไม่ได้โดดเด่น แต่มีความคิดว่า การจะพาเด็กหรือใครไปเรียนรู้ พี่จะต้องเรียนรู้ก่อนน้อง ๆ ทุกเรื่อง ต้องศึกษาข้อมูลพร้อมที่จะนำเด็กไป ไม่ใช่ว่าทำไปพร้อมกับเด็ก ต้องหาข้อมูล และให้เด็กทดลองทำกับตัวเอง ถ้าเรามัวหาข้อมูลป้อนให้กับเด็ก ไม่มีทางที่เด็กจะจดจำ
ถามก่อนพาน้องไปเรียนรู้ ผู้ใหญ่หาข้อมูล แต่เราไม่ได้บอกเขาหมด
ตอบใช่ค่ะ ต้องมีกระบวนการคิดของเราเองด้วยว่าทำอย่างไรให้เด็ก ๆ สนใจ ถ้าเราทำให้ทุกอย่าง เด็กทำไม่เป็น เลิกโครงการไปเด็กก็จบเหมือนกัน
ถามผู้ใหญ่คิดวางแผนอย่างไรที่จะให้น้องเรียนรู้ได้มากที่สุด
ตอบวางแผนคือเราก็ต้องไปหาแนวทางของเราเองก่อน ต้องศึกษาของเราเองก่อน ชวนเด็ก ๆ ทำ วันนี้เราจะทำอย่างนี้ดีไหม ที่สำคัญอยากให้เด็กกล้าแสดงออก ก็สร้างความมั่นใจให้กับเขา เราก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง เราเป็นผู้หญิงเรามาเป็นผู้นำตรงนี้เราต้องกล้าคิด จะผิดจะถูกก็ว่ากัน กล้าคิดแล้วก็ต้องกล้าทำกล้าลงมือปฏิบัติ เล่าประสบการณ์ตัวเองให้น้อง ๆ ฟัง จะผิดจะถูกไม่เป็นไร อะไรผิดก็แก้ไขอันไหนถูกแล้วก็ทำให้มันดีขึ้น
ถามมีช่วงไหนที่น้องบอกว่าทำไม่ได้ ท้อแท้ เล่าเหตุการณ์ให้ฟังหน่อย
ตอบก็มีอยู่บางทีมีเสียงของผู้ปกครองมาเหมือนกัน พี่ดูแลเด็ก ๆ ดีมาก สร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณพ่อคุณแม่ ตัวเราต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างความไว้ใจให้กับให้กับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กด้วย
ถามการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองยังไงคะ
ตอบช่วยสร้างความเชื่อมั่นคือ ด้วยครอบครัวที่บ้านสามีและลูก ๆ ค่อนข้างสนับสนุน ลูก ๆ อยู่ในโครงการด้วย คนที่เป็นผู้นำครอบครัวก็ต้องมาด้วย อย่างพี่มีสามีคอยช่วยเหลือตรงนี้มาก เรื่องงานเขาช่วยร้อยเปอร์เซนต์
ถามพี่เขาช่วยอย่างไรคะ
ตอบพี่ก็เขาไม่ได้มีบทบาท แต่ว่าเขามีแนวความคิดเดียวกัน เรามาอยู่ที่นี่ เราก็ต้องสร้างความเจริญ มีการพัฒนาทั้งด้านคน เราต้องทำทุกด้าน เวลาที่พี่ไม่อยู่ เขาเป็นคนพาเด็กไป พี่ให้สามีพี่คอยไปรับไปส่งเด็กไปอบรมบางทีมีไปนอนค้างด้วย พี่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่เด็กว่าเราไปดูแลเขา พี่ไปส่งเองกับมือไม่ปล่อยให้เด็กไปเอง ไม่ทิ้งเด็ก ส่วนการคิดให้เขาคิดกันเองทำกันเอง
ถามทำไมเด็ก ๆ ต้องคิดเอง
ตอบถ้าเราคิดให้เด็กจะไม่มีกระบวนการคิด ในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ถ้ามีคนทำให้ตลอดเวลาจบเลย เพราะเราเคยอยู่จุดนั้นมา ที่บ้านพ่อแม่ทำให้หมด เช่น เรื่องทำกับข้าว มีคนทำให้ทานตลอด เช้ามาเรียกกินข้าว สุดท้ายตัวเองจึงทำกับข้าวไม่เป็น พอมีครอบครัวมาก็ใช้ชีวิตไม่เป็น เช่นเดียวกันเด็ก ๆ ในอนาคตก็ต้องไปเรียนหนังสือ หรือ ต้องไปใช้ชีวิตเอง ถ้าเขาเดินทางผิดพลาดก็หมายถึงเรื่องอนาคต ต้องฝึกให้เด็กคิดอยู่ในกรอบของความเป็นจริงและไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็สามารถทำได้ พี่ไม่มีผิดไม่มีถูกกับเด็กที่มาร่วมโครงการ ส่วนใหญ่พี่ให้ความสำคัญกับการฝึกกระบวนการคิดที่ดี เด็กคิดได้พี่ภูมิใจมาก ช่วงนี้พี่จะยุ่งมากไม่ค่อยได้คุยอะไรกันเลย ติดตามอยู่ห่าง ๆ อย่างสามสี่วันมานี้มีการประกาศ เด็กไปให้ความรู้เรื่องโควิด 19 เขาทำงานของเขาเอง พี่มองเห็น พี่ไม่ได้ไปเป็นพี่เลี้ยง เขาทำเป็นสคริปออกมา มีพี่มิ้นท์ช่วยปรับให้ อันนั้นก็เป็นประสบการณ์ของเด็ก ๆ
ถามมีเทคนิคหรือวิธีการเครื่องมืออะไรที่ใช้ได้ผล สร้างการเรียนรู้ เด็กพัฒนาได้จริง พี่ไก่ใช้ตอนไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
ตอบการใช้ชีวิตของพี่ พี่มองว่าสังคมผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวบ้านที่มีประสบการณ์มากกว่าการศึกษา ประสบการณ์เขาจะดีกว่าพี่ การที่เราเรียนหนังสือได้พบอาจารย์ ระดับดอกเตอร์ พี่เป็นคนที่ชอบพูดคุย อ่านหนังสือ อ่านบทความเอาเทคนิคเหล่านั้นมาใช้กับเด็ก ๆ นำเอาข้อดีของหลายบทความที่ตรงกับงานสถานการณ์ของเรา ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ การตั้งคำถาม ว่ามีปัญหาอะไรไหม ถ้าบอกว่าไม่มี ถามต่อวันนี้ทำอะไร อย่างนี้ดีแล้ว อย่างนี้ต้องปรับ สนใจเขาตลอดเรื่องทำงานแต่ไม่บอกว่าต้องทำอะไร ให้เขาลองไปเลยแล้วเราค่อยมาปรับ
ถามใช้เทคนิคให้เขาได้ลองผิดลองถูก แล้วชวนน้องคิดวางแผน ตั้งคำถาม ใส่ใจคอยถามไถ่ดูแล
ตอบใช่ ต้องเอาใจใส่น้องอยู่ตลอด สร้างความเชื่อมั่นให้เด็ก ๆ ไม่ปล่อยให้เขา เดินทางคนเดียวคิดคนเดียว
ถามช่วยยกตัวอย่างการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ
ตอบพี่เอาใจใส่ทุกคน พี่ปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกัน คอยถามไถ่อยู่ตลอด ว่าหนูมีปัญหาอะไร จะให้ทางป้าช่วยเหลืออะไร คิดว่าไม่เคยทำให้เด็ก ๆ ผิดหวัง ถ้าพี่ไม่อยู่แต่น้องจะทำกิจกรรมต้องการใช้สถานที่ส่วนรวม จะแนะนำเด็กว่าถ้าไม่ทำที่บ้านของพี่เลี้ยง ก็ให้ใช้ที่อาคารเอนกประสงค์หมู่บ้าน
ถามเวลาเขามีปัญหาเขามาปรึกษาเรื่องอะไรบ้าง
ตอบปัญหาช่วงที่น้อง ๆ สอบ เด็กในกลุ่มเรียนหลายที่ แต่ละที่สอบไม่เหมือนกัน บางคนเรียนห้องพิเศษ เด็ก ๆ ก็จะหนักมาก ช่วงสอบมีงอแงกันบ้าง เหนื่อยปวดหัว พี่ต้องเข้าไปคุยว่า “ไม่เป็นไร เอาอย่างนี้เอางานหลักตัวเองก่อน เอาการเรียนของตัวเองก่อน” ส่วนงานตรงนี้พี่ก็เข้าไปคุยกับครูมิ้น ว่าช่วงนี้เด็กสอบ เด็กก็คลายเครียดขึ้นมาบ้าง
ถามพี่ไก่เป็นตัวเชื่อมกับทั้งชาวบ้านและโหนด เป็นโคชในโครงการเวลาที่น้องมีปัญหา พอพี่ไก่ไปช่วยปัญหาคลี่คลายไปอย่างไร น้องรู้สึกอย่างไร
ตอบพี่คิดว่าน้อง ๆ คงอบอุ่น คิดว่าถ้ามีอะไรแล้ว มีพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ไม่ทิ้งเขา พี่พาลูกๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้เห็นว่าลูกของผู้นำก็ยังเข้ามาทำ เวลาที่เด็กทำงานด้วยกัน ถ้ามีปัญหาอะไรหรือเรื่องอื่น ๆ ด้วยความที่ลูกอยู่ในทีม เด็กก็อาจสะดวกใจที่จะไหว้วานกัน ว่าไปบอกแม่ให้หน่อย มันก็ง่ายกว่าเวลาที่เด็กคุยกัน ถ้าเขามีปัญหาก็จะฝากกันมาปรึกษา ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีมาถาม พี่เป็นกันเองกับเด็กทำให้เด็กไม่เครียด ไม่ตึงมากเวลาอยู่กับพี่เลี้ยง พี่เฮฮาปาร์ตี้ ทำให้เด็กทำงานอย่างมีความสุข ทำเหมือนเขาเป็นลูกเราคนหนึ่ง เท่าเทียมกัน คอยสนับสนุนดูแลกันแบบนั้นเลย
ถามที่พี่ไก่บอกว่า เท่าเทียม ทำให้ทุกคนเท่ากันหมด อยากรู้แนวความคิดนี้ว่าพี่ไก่ทำไมถึงมีความเชื่อว่าเราอยากจะดูแลเด็ก ๆ ทุกคนเท่ากัน
ตอบ“อยากให้เขารู้สึกว่าเขามาแล้วเขาสบายใจ ได้เรียนรู้ รับรู้ โดยไม่รู้ตัวอย่างเต็มที่ตรงนั้น เขาสบายใจ พอคนสบายใจมีความสุขในการทำงาน จะรับรู้กับประสบการณ์เต็มที่ และเป็นการให้เกียรติเขาและครอบครัวของเขาด้วย” สร้างการเรียนรู้ เด็กบางคนมีโอกาสไม่เท่ากัน พี่ทำหลายอย่างมากเลยนะ เสร็จจากงานแล้วพี่ก็มีรางวัลให้เด็ก ๆ พาไปกินพิชซ่าหรืออะไรที่ครอบครัวเขาไม่น่าจะเคยพาไป ส่วนใหญ่จะพี่ใช้ทุนตัวเอง
ถามการพาเด็กไปกินข้าวในที่ที่ไม่เคยไปกิน นอกจากการทำโครงการ ช่วยอย่างไรในการทำงาน
ตอบช่วยทำให้เด็กๆ มีความสุข เปิดรับประสบการณ์ได้เต็มร้อย และเด็กจะจดจำ ช่วงที่ผ่อนคลายและทำให้เราสนิทกับเขา ส่วนใหญ่ตอนกินข้าวจะถามมีปัญหาอะไรไหม ถ้าไม่มีก็แค่ถามแค่นี้ แก้ไขนิดหน่อยก็จบ เด็กก็มีความสุขอย่างเต็มที่ เราต้องเสียสละทุกอย่าง ให้เท่าเทียม เสียสละทั้งเวลาเงินทอง ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะคิดไหมว่าต้องพาลูกคนอื่นไปขนาดนี้ด้วยเหรอ มีใครทำบ้าง แต่พี่ทำเพื่อให้มีความเสมอภาค เด็กควรได้รับแบบนี้บ้าง จะสามารถสร้างกระบวนการทำงานของเด็ก ครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กด้วย บางคนอยู่ท่ามกลางที่ครอบครัวมีพี่ชายชอบดื่มกินเหล้าตั้งวง เราจะมีแบบอย่างชีวิตให้เขาได้รู้ว่าแบบนี้กับแบบนั้นอันไหนดีกว่า ต้องเรียนรู้ ที่ทำทุกอย่างนี้คือการสร้างกระบวนการคิดของเด็กทั้งหมด ทำให้เห็น พอไปพบประสบการณ์จริง เปิดโอกาสให้เขาเท่าเทียมกัน ไม่ได้แบ่งว่าคนนี้ลูกต้องเอางบประมาณไว้เท่านี้ของลูกโดยเฉพาะ ส่วนคนนั้นไม่ใช่ไม่ให้งบ ไม่ทำแบบนี้ เน้นให้เท่าเทียมกัน
ถามพี่ไก่ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างคะจากประสบการณ์ทำงานกับเด็ก ๆ กับชุมชน
ตอบเราสามารถคิดไว้เพื่ออนาคต เรื่องของเด็ก ๆ เราสร้างกลุ่มนี้ไป ถ้าทำไปเรื่อย ๆ ทำตลอด ในชุมชนมีคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เป็นเกษตรกร รับจ้าง ข้าราชการ ไล่ระดับกันไป อยากเห็นว่าที่หมู่บ้านไม่อยากให้ มีกลุ่มล่าง ๆ แล้ว อยากให้มีกระบวนการคิด ถือว่ากระบวนการคิดสำคัญ
ถามกระบวนการคิดสำคัญเป็นอย่างไรคะ
ตอบเรื่องของการคิดอย่างเป็นระบบ จะกลายเป็นอนาคตของชาติของบ้านเมืองไปได้ด้วย
ถามพอคนคิดเป็นระบบจะช่วยชุมชนของเราอย่างไร
ตอบช่วยในเรื่องที่ว่าต่อไปเป็นยุคดิจิตอล ยุคไอทีที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้กับมัน เป็นสิ่งที่ใหม่ ณ เวลานี้ งานที่ผู้ใหญ่ทำส่วนใหญ่มาแบบฟ้าผ่า สังเกตว่าการช่วยเหลือเยียวยาอะไรก็ไปลงที่เว็บไซต์ ถ้าเด็กมีกระบวนการเรียนรู้ก็สามารถเล่าให้พ่อให้แม่ฟังได้
ถามเป็นการเรียนรู้ข้อที่ 1 การเรียนเรียนรู้เรื่องกระบวนการที่จะชวนเด็กพัฒนา มีเรื่องอะไรอีกบ้าง
ตอบเรียนรู้เรื่องที่เด็กมาจากหลายที่หลายแบบ เราต้องอยู่กับเขายังไง ต้องพยายามให้เขาเปลี่ยนวิธีของเขา พี่มองว่ามันอาจจะหมิ่นเหม่กับเด็กที่เสี่ยง จะต้องใช้วิธีอย่างไร พี่ใช้ความคิดมาก ส่วนใหญ่จะไม่พูดตรง ๆ แต่ทำให้เห็น เช่นลูกสาวตัวเอง กว่าพี่จะเลี้ยงมาได้แบบนี้ กลุ่มเสี่ยงพี่ให้ความสำคัญกับเขา ให้เขาได้แสดงความสามารถของตัวเอง สร้างขวัญและกำลังใจให้เขาตลอด ชมน้องตลอดตรงข้อดีของเขา ข้อเสียเราก็ปรับ ถ้าเราจะติเขาต้องมีวิธีการพูด
ถามพี่ไก่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรของเด็กคนนี้
ตอบเขาเป็นผู้นำขึ้นมาได้เลย คือตอนหลังเวลาที่มีนัด เขาจะขึ้นมาเป็นคนแรกเลย ในสนทนาเขาจะทักมาหาพี่ ว่าวันนี้จะมีอย่างนี้นะคะ โครงการต่าง ๆ เขาเป็นคนเขียน สั่งน้อง ๆ ให้คนนั้นทำอย่างนี้คนนี้ทำอย่างนั้น พี่สังเกตได้ว่าเด็กรู้สึกว่าตัวเองมีค่า เขาเปลี่ยน
ถามอยากจะเพิ่มเติมอะไรอีกไหมเรื่องการเรียนรู้ของเราในฐานะพี่เลี้ยง
ตอบเรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละครอบครัวเลี้ยงต่างกัน บางคนที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็มี เราก็ต้องปล่อยไปก็มี มันไม่ไหวจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่จะโอเคหมด
ถามปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาในการเป็นพี่เลี้ยงของพี่คืออะไร
ตอบเวลาของพี่เองอย่างอื่นจัดการได้ไม่มีปัญหา อย่างช่วงโควิด 19 ต้องควบคุมงานที่สั่งการมาตลอด บางทีด่วน เด็กก็ต้องทำเอง พี่ก็ปล่อยไว้วางใจได้จากที่เราติดตาม
ถามเวลาของพี่ไก่ไม่เพียงพอที่จะทำงานกับน้อง ๆ ณ เวลานี้ วิธีแก้ไขทำอย่างไร
ตอบติดต่อสอบถาม กับน้อง ๆ ตลอด แม้ไม่มีเวลาเราก็ยังคุยประสานงานตลอดเวลา ส่วนมากเขาก็โทรมาประสานงานตลอด ถ้าให้คำตอบไม่ได้ก็ไปถามพี่กอล์ฟ ครูมินท์ พี่ ๆ เขาก็น่ารักมาก ถ้ารู้ว่าน้อง ๆ มีปัญหา พี่ก็ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ทันที
ถามอยากรู้ว่าวิธีการแบบที่เราทำอยู่เปลี่ยนมุมมองความคิดของเราอย่างไรบ้าง
ตอบไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อยากจะหาวิธีการสร้างรุ่นต่อไปให้พี่ๆ ช่วย เราจะทำอย่างไรให้เด็กหันมาสนใจตรงนี้ด้วย ที่ทำอยู่จะถ่ายรูปผลงานของเด็ก ๆ เข้ามาในไลน์หมู่บ้านโฆษณาให้เขา เด็ก ๆ เห็นเขาก็มีความสุข ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านก็ช่วยกันชมเด็ก ๆ ทำได้ดีมาก เด็กเกิดกำลังใจขึ้นเยอะมาก
ถามที่จะให้พี่ ๆ ในโครงการช่วยเป็นแกนนำพัฒนาน้องๆ เป็นอย่างไร
ตอบการที่จะได้รับประสบการณ์ไม่ใช่จากพี่เลี้ยงอย่างเดียว ถ้ามาจากพี่ในโครงการเขาเจอเด็กมาหลายรุ่น ปัญหาแต่ละรุ่นน่าจะมีหลากหลายกว่า ถ้ามีพี่เข้ามาช่วย ได้มีประสบการณ์ มีปัญหาอะไรเด็กก็จะคุยกับพี่เขาที่โครงการ เขาก็หาคำตอบให้เราอยู่ตลอด รู้สึกว่าอบอุ่นใจมากถ้าเด็ก ๆ ได้อยู่โครงการ มีพี่คอยดูแลหลายคน เด็ก ๆ ก็จะเก่งขึ้นสามารถเป็นเป็นแกนนำได้อีก ช่วยเหลือน้อง ๆ อนาคตได้อีก หรือไม่อาจจะไปช่วยงานของพี่ ๆ ที่โครงการก็ได้
ถามมุมมองอนาคตเรื่องเยาวชนกับชุมชนมองอย่างไรในฐานะผู้ใหญ่บ้าน
ตอบชุมชน ณ ตอนนี้ มีแต่ผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ วัยกลางคนเหมือนพี่จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ มีกลุ่มเด็กหนึ่งกลุ่ม คิดว่าถ้าเราไม่ได้ส่งเสริมหรือว่าเอาตรงนี้เข้ามา มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก ๆ อนาคตจะเป็นอย่างไรอาจจะไม่มีผู้นำ ใครก็ไม่อยากมาทำตรงนี้เพราะว่ามันเป็นการเสียสละ เพราะฉะนั้นการฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักเสียสละก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำพาให้ชุมชนไปได้ในอนาคต
ถามมีโครงการอะไรที่จะทำต่อไหมคะ
ตอบใช่ค่ะแต่ว่าอะไรหลายอย่าง พี่นำโครงการเข้ามาให้เด็ก ๆ ทำได้ จึงฝันอยากให้กลุ่มผู้ใหญ่ได้มองเห็นเกิดอยากทำขึ้นมาบ้าง ได้ส่งโครงการของผู้ใหญ่ไป เริ่มเอาผู้ใหญ่แกนนำและผู้นำชุมชนหลายคนที่สนใจเข้ามา ตอนนี้ยากเพราะ อสม. และผู้นำชุมชนทำงานหนักในเรื่องโรคระบาด งานเฝ้าระวัง
ผู้ใหญ่เห็นภาพว่าเด็ก ๆ ทำได้ กล้าคิดกล้าแสดงออก ตอนแรกเขินในการคุยกับชุมชน ตอนหลังคุยได้คล่อง มีการเตรียมสคริป โครงการต่อไปถ้าเขาสนใจจะเพิ่มความยากขึ้น ที่ทำออกมาแล้วมีผลงานอยู่ตลอดไป เมื่อเขากลับมาดูผลงานจะได้มีความภาคภูมิใจ นี่คือกระบวนการคิดของเขาที่อยากให้เป็น ในส่วนของผู้ใหญ่อยากให้ทำตรงนี้ มีประโยชน์กับตัวเองและชุมชน ตัวเองก็มีรายได้เมื่อมาทำตรงนี้ ชุมชนก็มีชื่อเสียง มีความตั้งใจอยากทำหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่อยู่ ๆ จะมาทำเป็นท่องเที่ยว คนไม่มีความรู้ไม่มีกระบวนการคิดมันยาก ในตำบลพี่มีจุดเด่นเยอะมากแต่ไม่ถูกดึง บ้านน้ำปั้วเขาพูดลาว มีวัฒนธรรม ทอผ้าซิ่นตีจก เริ่มดึงกลุ่มนี้เข้ามาทำเรื่องสมุนไพร
ถามแสดงว่าการทำโครงการนี้พี่ไก่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ความคิด ความมั่นใจ การกล้าแสดงออกอยากดึงผู้ใหญ่ในชุมชนให้มีกระบวนการคิดแบบเด็ก ๆ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านต่อไป
ตอบใช่ค่ะ เราไม่ได้ไปคนเดียว มีพี่ ๆ น้อง ๆ ในโครงการ คอยให้คำปรึกษาตลอด คิดว่าไปได้ เป็นโอกาส
ถามช่วยเล่าความเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างไรบ้าง
ตอบเด็กเปลี่ยนแปลงกล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออก เขาไม่กลัวผิด เพราะว่าการผิดการถูกคือประสบการณ์ เช่น หนูเฟซที่เป็นประธาน น้องเขามีภาวะผู้นำเพิ่มขึ้น เสียสละกว่าคนอื่น ทำงานมากกว่าคนอื่น เอางานไปทำมากกว่าคนอื่นเสร็จแล้วก็เอามากระจายให้น้อง น้องเชื่อฟังพี่เฟซ ส่วนหนึ่งการเป็นพี่เลี้ยงเราให้ใครเป็นหัวหน้าเราต้องยอมรับเขา ทำปฏิบัติตาม ต้องเชื่อฟังเขา หนูเฟซก็ถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยง พอทำโครงการเขาพัฒนาขึ้นหลายด้าน “พี่ไม่เคยดูถูกเด็ก พี่คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้เด็กเปลี่ยน ไม่ต้อง 100% ขอ 50 - 70% พอใจแล้วในระดับนี้” แต่เกินสิ่งที่คิดไว้ ถือว่าประสบความสำเร็จอยู่ ไม่เสียแรงที่ได้ทำมา ทั้งเสียสละเวลาแล้วก็เงินทองก็ดีใจมาก
ถามอยากพัฒนาตัวเองในด้านไหนอีก มีงานพัฒนาเยาวชนส่วนไหนอีกบ้างคะ
ตอบอยากเรียนรู้การดูแลเด็ก ๆ อย่างอย่างจริงจัง การเป็นผู้นำตรงบทบาทพี่เลี้ยง เราจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนหรือว่าชุมชนข้างเคียงเห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้น ตอนนี้ยังไม่ได้ชุมชนข้างเคียงมาร่วมทำ เคยชวนเขาให้นำเยาวชนของแต่ละหมู่บ้านทำแบบนี้ไหม แต่เรายังสร้างความโดดเด่นของเด็กให้เขาเห็นขนาดนั้นไม่ได้ อยากจะพัฒนาตัวเองต่อไป วิธีการชวนคนมาร่วมทำอย่างไร อยากเห็นเด็กเยาวชนทั้งตำบลสนใจทำงานแบบนี้จะทำอย่างไร
อยากเพิ่มเติมความรู้จิตวิทยาในการดูแลเด็ก เพราะว่าไม่เคยเรียน ใช้ประสบการณ์ของตัวเอง ทำดีกับเด็กแล้วก็ดีขึ้นมาจริง ๆ เลี้ยงลูกเราใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงลูก เราศึกษาเฉพาะของที่บ้านเรา ลูกมีพฤติกรรมอย่างไรเราก็ต้องไปศึกษาตามนั้น แต่ว่าเด็กคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็หลายแบบ อยากรู้วิธีการเข้าหาเด็ก เราก็ต้องเสียสละเวลาส่วนนั้นด้วย ซึ่งผู้ใหญ่บ้านหลายคนเขาก็ไม่มีเวลาขนาดนี้ พี่แบ่งเวลามาก เพราะว่าช่วงหลังมานี้ผู้ใหญ่บ้านรับงานบทบาทหน้าที่เยอะมาก รับของทุกกระทรวงเรื่องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อันนี้คือปัญหาและอุปสรรคของพี่
ถามผู้นำที่เป็นผู้ใหญ่บ้านลุกขึ้นมาให้ความสนใจกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เขาจะมาต่อรุ่นชุมชนจะรอดก็เพราะรูปแบบนี้
ตอบคนที่จะมาเป็นผู้นำได้ต้องมีการเสียสละ มีทักษะในการใช้ชีวิตของตัวเองด้วย มีหลายอย่างมาก อยากให้เด็ก ๆ เป็นแบบนั้น ช่วงกระบวนการปฏิบัติงาน เป็นการฝึกกระบวนการคิด ตรงนี้สร้างให้เกิดกระบวนการคิดซึ่งเด็กๆ จะเรียนรู้ซึมซับเข้าไปเอง
ถามสะท้อนจากที่ฟัง พี่ไก่อยากทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการจัดการท่องเที่ยว ต้องจัดการทุนทรัพยากรให้มีคุณค่าผ่านโครงการต่าง ๆ ก่อน แล้วก็เพิ่มมูลค่าของทุนในชุมชน โครงการแบบนี้เป็นการพัฒนาศักยภาพ คนในชุมชนของเราให้พร้อมที่จะ รับมือกับการท่องเที่ยว เห็นคุณค่าเพิ่มมูลค่าของทุนในชุมชน
ตอบแบบนี้เลยค่ะ