นพขวัญ แสวงโชคพาหะ : บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น โครงการฟื้นกาดหละอ่อนสอนเยาวชนปลูกผัก โดยเยาวชนบ้านก่อก๋วงและบ้านบ่อหลวง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

เยาวชนเด่น :

ชื่อ นายนพขวัญ แสวงโชคพาหะ (เชล) อายุ 20 ปี

เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

­

ถาม ขอให้แนะนำตัว

ตอบ ผมชื่อนายนพขวัญ แสวงโชคพาหะ ชื่อเล่น เชล เรียนอยู่ กศน.อำเภอบ่อเกลือ ชั้น ม.ต้น เป็นคนบ่อเกลือ


ถาม ก่อนเข้าร่วมโครงการเป็นคนแบบไหน นิสัย การใช้ชีวิตเป็นอย่างไร

ตอบ อยู่บ้านต้มเกลือขาย ปกติอยู่กับเพื่อน เป็นเด็กเสเพลธรรมดา เล่นเกม กินเหล้า


ถาม ส่วนใหญ่ เรียนหนังสือวันไหนที่ กศน.

ตอบ คุณครูจะนัดวันให้ไปทำกิจกรรมหรือไปเรียน ทำข้อสอบ แล้วแต่วัน


ถาม เชลมาร่วมโครงการได้อย่างไร ทำบทบาทอะไรในโครงการ

ตอบ ก่อนทำโครงการ มีพี่กอล์ฟเข้าไปเสนอโครงการ ให้เด็กใน กศน.เข้าร่วมโครงการ ผมสมัครเข้าร่วมกับครู กศน. มีเพื่อนร่วมโครงการสองคน คือปิยมาสกับยุทธการ ตอนแรกเราเสนอโครงการขยะในชุมชน แต่ในชุมชนไม่ค่อยมีขยะ เทศบาลจัดรถมาเก็บขยะในชุมชนแล้ว จึงทำโครงการปลูกผักปลอดสารพิษและฟื้นฟูกาดหละอ่อน

เมื่อก่อนที่บ้านก่อก๋วงมีกาดหละอ่อน และมีเด็กน้อย มาขายของ ขายผักแต่ช่วงนี้ไม่มี เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยให้ออกจากบ้าน ที่หายไปเพราะเด็กเขาเรียน ของขายหายากขึ้น ส่วนใหญ่ที่เอามาขายจะมีผัก ของขึ้นชื่อคือมะเขาควาย

ในโครงการมีเพื่อนมาร่วมกันทำ 4 คน เราเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ปิยมาสเรียน กศน. ชั้นเดียวกับผม ปิยมาสกับยุทธการเป็นแฟนกัน จึงชวนกันสมัครร่วมโครงการ ส่วนผมก็ดึงแฟนเข้าร่วมโครงการด้วย

ผมเป็นหัวหน้าโครงการ คอยดูแลเพื่อนและสนับสนุนเขา ชวนกันคุยเรื่องการประสานกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ผู้นำประกาศให้เด็กมารวมตัวกัน มาคุยกันว่าจะทำอย่างไร ต้องเริ่มคุยกับพ่อแม่ของเด็กก่อน แล้วค่อยคุยกับเด็ก ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้น ถ้าไม่คุยกับพ่อแม่ของเด็กก่อน


ถาม เชลไปคุยอะไรกับพ่อแม่ของเด็ก

ตอบ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ไปคุยเรื่องการเป็นอยู่ชีวิตประจำวันของเด็กว่าเขาทำอะไรบ้าง ได้ข้อมูลว่าเด็กส่วนมากไปเรียนหนังสือ วันเสาร์วันอาทิตย์จะพักอยู่หอพักที่โรงเรียน เพราะเขาต้องดูแลฟาร์มไก่ และฟาร์มหมูของโรงเรียน เป็นเด็กระดับประถม จากที่ลงไปคุยบางครอบครัวสนับสนุนเพื่อให้เด็กมีรายได้ขึ้น ถ้าทำกาดหละอ่อนได้ เด็กจะมีรายได้ช่วงปิดเทอม จะได้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ แต่บางครอบครัวบอกว่าไม่ต้องไปทำหรอกเหนื่อยเปล่า ให้เด็กไปเหนื่อยเปล่า


ถาม เชลคิดกับเรื่องนี้อย่างไร บางครอบครัวสนับสนุน บางครอบครัวว่าเด็กจะเหนื่อยเปล่า

ตอบผมก็ไม่รู้สึกอย่างไร ถ้าเด็กอยากทำก็ทำได้ แต่ถ้าไม่ให้เด็กทำก็ไม่เป็นไร เราสนับสนุนให้เด็กมีรายได้


ถาม เชลรู้สึกอย่างไรกับหัวข้อที่ทำ มีเป้าหมายอะไรในการทำโครงการนี้
ตอบ เด็กในชุมชนไม่ค่อยมีเงินไปโรงเรียน เขาต้องขอเงินพ่อแม่ ต้องมานอนที่หอพัก พ่อแม่ต้องมาเยี่ยมบ่อยเอาเงินมาให้ เพราะเด็กไม่ค่อยมีเงิน เราทำโครงการฟื้นฟูกาดหละอ่อนขึ้นมาให้เด็กเก็บผักของเราไปขายจะได้มีรายได้ตอนปิดเทอม พอมาอยู่หอพักจะได้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่
ถาม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไหน

ตอบ ช่วงนี้ติดโควิดเลยไม่ได้ทำอะไรถ้าไม่มีโควิด ก็เริ่มฟื้นฟูกาดหละอ่อนแล้ว จะทำตลาด ตอนนี้ปลูกผักแล้ว ปลูกที่ กสช. บ้านก่อก๋วง จะให้เด็กขายช่วงหน้าหนาว ที่มีนักท่องเที่ยวลงมาเยอะถ้าไม่ติดปัญหาโควิดระบาด


ถาม เริ่มจากเราไปประสานงานในชุมชนชี้แจงกับพ่อแม่ของเด็กว่ากำลังทำอะไร ให้เด็กปลูกผักและเก็บผักมาขายที่กาด เชลทำตั้งแต่ต้นจนจบไหม

ตอบ ใช่ครับ จะมีการสอนวิธีปลูกผัก การดูแลผัก


ถาม หลังจากนำไปขายแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตอบ รวบรวมรายได้หนึ่งอาทิตย์ให้น้องๆ แบ่งรายได้กัน ผมเป็นผู้ดูแลจัดการให้เด็กๆ เป็นการฟื้นฟูกาดหละอ่อนให้มีกาดขึ้นมาอีกครั้ง ให้เด็กๆ มีเงินใช้บ้าง เป็นเศรษฐกิจหนึ่งของชุมชน เมื่อก่อนเคยมีตลาด แต่ตอนนี้คนไม่ค่อยมาซื้อของ เหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่มาขาย จนไม่ค่อยมีคนมาขาย เขาเข้าไร่ทำไร่กันช่วงนี้ ทุกวันนี้ซื้อผักจากรถพุ่มพวง


ถาม นอกจากสร้างรายได้ให้เด็กๆ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน มีอะไรที่คิดจะทำต่อไปอีกบ้าง

ตอบ คิดว่าจะฟื้นฟูกาดหละอ่อนและทำต่อไปอีกในปีที่สอง ทำไปเรื่อยๆ


ถาม ตั้งแต่ลงมือทำใช้เวลานานเท่าไร

ตอบ ประมาณหนึ่งปี


ถาม เชลเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้าง

ตอบ ตั้งแต่ผมทำโครงการนี้ ผมเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเป็นเด็กที่เกเรมาก ตอนนี้เปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการและสังคมมากขึ้น ผมเปลี่ยนตัวเองได้มาก


ถาม ช่วยยกเป็นเหตุการณ์ว่าเมื่อก่อนเราเป็นอย่างไรก่อนเข้าโครงการ เราเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอบ เมื่อก่อนเป็นเด็กเกเรติดเพื่อนติดฝูง ไม่ค่อยเข้าบ้าน ไปเกเร กินเหล้า มั่วสุมยากัน จากนั้นก็เริ่มไม่ดี โดนจับไป ออกจากคุก มาทำโครงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง


ถาม พอมาร่วมโครงการอะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนไป

ตอบ เพื่อนมีแฟนให้กำลังใจ พอไปทำโครงการที่คนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะ เปลี่ยนแปลงตนเองมาก มีความสุข มีความสดใสมากขึ้น มีความร่าเริงขึ้นเวลาอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เห็นเพื่อนที่หลากหลาย เพื่อนเขาสดใส แต่เราหม่นหมอง เราก็เปลี่ยนตัวเองขึ้นมา ผมก็กล้าพูด กล้าเล่น นำเสนอ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ไปโครงการผมก็พูดเยอะมากขึ้น แต่เมื่อก่อนไปโครงการแรกๆ ไม่พูด เพราะเริ่มสนิทกับพี่เครือข่าย พี่เลี้ยง เพื่อนในเครือข่ายและในโครงการ พอเริ่มสนิทก็มั่นใจที่จะพูด


ถาม ใครเป็นคนเข้าหาใครก่อน เขาทำอะไร เราทำอะไร

ตอบ ตอนทำกิจกรรมเล่นเกมในเวทีเครือข่าย เริ่มสนิทกับเพื่อนๆ ที่ทำโครงการด้วยกันมากขึ้น


ถาม เหตุการณ์ที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองมากที่สุดคือตอนไหน

ตอบ ค่อยๆ เปลี่ยนครับ เพื่อนในโครงการ แฟน เห็นว่าผมมีความกล้าและมีความเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้น


ถาม เพื่อนๆ ในโครงการ พี่เลี้ยงในเครือข่ายเขามาช่วยทำอะไรมีผลอย่างไรกับตัวเรา

ตอบ มาพูดคุย ถามถึงโครงการเราบ้าง ชวนไปหาปลา หาของป่า ไปทำกิจกรรมนอกโครงการด้วยกัน มีความสนิทคุ้นเคยกันมากขึ้น เราได้รู้จักคนนอกพื้นที่มากขึ้น


ถาม เมื่อก่อนเราอยู่กับเพื่อนกลุ่มเก่าไปกินเที่ยวกับเขา พอมาทำโครงการกับเพื่อนกลุ่มใหม่ รู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนตัวเอง จุดไหนที่ทำให้เชลรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีแรงบันดาลใจอย่างไร เพื่อนเขาแสดงออกอย่างไร

ตอบ การทำกิจกรรมร่วมกัน สนุกเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนที่รู้จักและสนิทกัน เช่น เพื่อนสาลี่ที่เวียงสา ทำโครงการฝายน้ำล้น ตอนทำกิจกรรมเวทีโครงการ ได้อยู่กลุ่มเดียวกับเขาจึงสนิทกัน


ถาม หนึ่งปีผ่านไปเชลมีความรู้อะไรใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ตอบ การดูแลผัก ผักบางชนิดโดนแดดร้อนๆ ไม่ได้ ต้องใช้ผ้าบัง คอยรดน้ำใส่ปุ๋ย ผักที่ปลูกไว้เราไม่ได้ทำหลังคาบังแดด บางต้นเหลือง เพราะโดนแดดเยอะ ผมได้ทักษะการเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน ผมอยู่อีกหมู่บ้าน แต่ไปทำโครงการอีกหมู่บ้านหนึ่ง ผมก็เริ่มคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น เราต้องสนิทกับคนในชุมชนให้มาก


ถาม ตอนที่ไปลงชุมชนอีกหมู่บ้าน เราไปคุยอย่างไร

ตอบ ผักชนิดนี้ปลูกอย่างไร ดูแลอย่างไรบ้าง ใส่ปุ๋ยอะไรดี มูลหมูหรือมูลวัวดี เขาก็ตอบมา


ถาม ก่อนถามข้อมูลเราเตรียมตัวอย่างไรในการเข้าหา

ตอบ ให้คนในพื้นที่พาเราไปคุยกับคนในชุมชน คนที่ขายของในตลาด ถามถึงลูกหลานของเขาว่าเคยไปขายของในกาดหละอ่อนไหม เขาก็ให้ความร่วมมือดี


ถาม เชลทำไมเลือกทำงานชุมชน พอลงไปแล้วเราอยากเปลี่ยนตัวเอง เพื่อทำงานนี้ ใครหรืออะไรที่ทำให้รู้สึกว่าการทำงานชุมชนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ตอบ เมื่อก่อนไม่สนิทกับใคร เขาก็มองเราไม่ค่อยดี ผมพูดน้อย เวลานำเสนอโครงการอะไรไปเขาไม่ค่อยเข้าใจ ผมเลยกล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอขึ้นมาบ้าง เขาจะได้เข้าใจ


ถาม ใครที่มองว่าเราไม่ดี

ตอบ เป็นความรู้สึกส่วนตัวครับ ที่มองว่าตัวเองดูไม่ดี เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจโครงการมาก ติดเพื่อน ไปเที่ยว เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ จึงตั้งใจทำให้สำเร็จ


ถาม งานชุมชนคนที่มาทำต้องเป็นคนดีด้วยเหรอ

ตอบ ไม่ต้องดีมาก พูดจาดีก็พอ ธรรมดาเวลาคุยกับคนในชุมชนก็มีหางเสียงครับ สร้างการยอมรับ ว่าเราทำได้ ในการที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเมื่อก่อนที่ไม่รับผิดชอบอะไร แต่เดี๋ยวนี้เรารับผิดชอบมากขึ้น เวลาจะทำอะไรก็ลงมือทำอย่างรวดเร็ว เวลาเพื่อนสั่ง ผมเป็นสมาชิกทีมผมก็เริ่มทำเลย


ถาม เกิดการยอมรับจากใครบ้าง เขาทำอย่างไรที่แสดงถึงการยอมรับในตัวเรา

ตอบ เพื่อนในโครงการ คนในชุมชนบ้าง เขาพูดว่าเราดีขึ้นมามากจากเมื่อก่อน ผมรู้สึกดีใจเวลาเพื่อนชม มีกำลังใจในการทำโครงการ เราไม่น่าเสียเวลาไปติดเพื่อนหรือทำอะไรที่ไม่ดี ผมก็คิดได้


ถาม มีทักษะการเข้าถึงคนอื่น การลงชุมชน ความรับผิดชอบ มุ่งมั่นในหน้าที่ ไม่ละเลย ทำให้สุดความสามารถ มีเรื่องอะไรอีกไหมที่เพิ่มมากขึ้น

ตอบ ไปช่วยสาลี่ทำฝาย คนในชุมชนรู้สึกดีกับเราที่เราไปช่วยทำฝาย เขาถามว่าเรามาจากไหน ผมบอกว่ามาจากบ่อเกลือเขาก็บอกว่ามาไกลนะ เขาดีใจที่เรามาจากบ่อเกลือมาช่วยเขา


ถาม เชลมีน้ำใจไปช่วยเพื่อน ช่วยเล่าเรื่องความมีน้ำใจในการไปช่วยเพื่อนอย่างไรบ้าง

ตอบ ไปช่วยเยอะครับ เกือบทุกโครงการไปกับพวกพี่เครือข่าย เหลือที่ใหม่ชายแดนที่ยังไม่ได้ไปช่วย ที่บ้านแม่กลางไปช่วยเก็บขยะและแยกขยะ บ้านทุ่งสุนไปให้ความรู้เรื่องขยะและเก็บขยะ


ถาม อะไรในตัวเราที่ทำให้รู้สึกว่าต้องไปช่วย

ตอบ อยากลงพื้นที่ไปนอกพื้นที่บ้าง เขามาช่วยเรา เราจึงไปช่วยเขาบ้างเหมือนการตบมือกัน ต่างคนต่างช่วยกัน


ถาม การช่วยคนอื่นทำให้เรารู้สึกอย่างไร

ตอบ เราได้ความรู้ใหม่ๆ ได้สนิทกับคนอื่นและคนในชุมชนของเขา


ถาม พลังที่เพิ่มขึ้นของเชลเกิดจากอะไร

ตอบ จากเพื่อนๆ ในโครงการ จากตัวเราเองด้วย จากครอบครัว เขาว่าเราดีกว่าแต่ก่อนที่ไม่ค่อยอยู่บ้านเที่ยว เดี๋ยวนี้ดีแล้วทำงานทำการอะไรบ้างไม่ค่อยไปเที่ยว เราไปพื้นที่เราก็ไปช่วยงานเขาไม่ได้ไปเที่ยวอะไร


ถาม คนใกล้ชิดคนในครอบครัวชื่นชมเราแตกต่างจากคนภายนอกที่ชื่นชมเราอย่างไร

ตอบ ต่างครับ รู้สึกว่าคนในครอบครัวเขาไม่เสียใจอีกแล้ว เขาดีใจขึ้นว่าเราเป็นเด็กดี


ถาม ความรู้สึกที่เชลรับรู้จากคนในครอบครัวว่าไม่เสียใจกับเรื่องของเราอีกต่อไปแล้ว เขาภูมิใจ สร้างความรู้สึกอะไรกับเชล

ตอบ มีกำลังใจให้ทำต่อไป เราก็ทำอย่างที่เราทำไปเรื่อยๆ ให้เขาเห็น ว่าเราทำงานไม่ได้เที่ยวเล่น


ถาม ปัญหาอุปสรรคการทำโครงการมีเรื่องอะไรบ้าง

ตอบ เรื่อง ไก่ น้ำ และพื้นที่ในการปลูก ไก่เราทำรั้วดีแล้ว แต่ไก่ก็เข้ามาได้ แปลงอื่นไก่ไม่เข้าไป เข้ามาแต่แปลงของเรา ผมรู้สึกแปลกใจกลัวโดนแกล้ง ผมไม่แน่ใจเรื่องน้ำในชุมชน น้ำแทงค์ในชุมชนต้องต่อท่อมา มีปัญหากับทางชุมชนเพราะเขากลัวว่าน้ำไม่พอใช้ เราใช้น้ำรดผักใช้เยอะ คนในชุมชนกลัวน้ำไม่พอใช้ เลยมีปัญหากันนิดหน่อย ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เราคุยกับชุมชนว่าต้องทำอย่างไร แท้งค์น้ำของชุมชนก็เป็นส่วนของชุมชน เราก็ทำแทงค์น้ำใหม่ของเรา คนในชุมชนเข้าใจแล้ว


ถาม เราใช้วิธีการไกล่เกลี่ยความเข้าใจกับชุมชนอย่างไร

ตอบ เขาบอกว่าถ้าใช้น้ำมากไม่ต้องใช้ ผมเห็นแทงค์หนึ่งที่ร้างและว่างอยู่ของชุมชน ผมจึงขอใช้แทงค์ร้าง แต่แท้งค์นี้ต้องรองน้ำฝนเพราะต่อท่อน้ำลงมาไม่ได้ ปัญหาเรื่องผักโตไม่ทัน ไก่ไปคุ้ยเขี่ย ผักเสียหายเยอะมาก


ถาม การแบ่งเวลาของเราเป็นอย่างไร

ตอบ ปกติต้มเกลือ ถ้าไม่อยู่ให้ตาดู ถ้าเราไปเรียนสองชั่วโมงก็กลับ ไปหาปลา แบ่งเวลามาทำโครงการ โครงการเราจะต้องนัดกันไปทำร่วมกัน


ถาม การนัดหมายในโครงการใครเป็นคนนัด

ตอบ ช่วยกันวางแผน


ถาม เชลทำงานพิเศษอะไรบ้าง

ตอบก่อสร้างครับ ทำทุกอย่าง เรียนจากพ่อตา ผมชอบทาสีมากที่สุด เพราะง่ายดีแต่เก็บมุมจะยาก ผมทาสีมาแล้วสามสี่หลัง ทำให้เราละเอียด


ถาม พี่เลี้ยงในโครงการมาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

ตอบ ช่วยเรื่องงานการเงินบ้าง ให้คำปรึกษาเรื่องการทำโครงการกาดหละอ่อน เราจะทำตลาดอย่างไร ทำเป็นซุ้มหรือกางเต้นท์ ต้องรอดูต่อไปหลังโควิด


ถาม มองภาพงานของเราสำเร็จไปกี่เปอร์เซนต์

ตอบ ประมาณ 70% เราคุยกับเด็กและปลูกผักไว้แล้ว เรื่องกาดหละอ่อน ตอนนี้ยังขายไม่ได้เพราะยังไม่มีนักท่องเที่ยว และติดเรื่องโควิด


ถาม ให้คะแนนตัวเองในฐานะที่ทำโครงการเท่าไร

ตอบ 80 คะแนน ครับ การช่วยเหลือสังคม การลงพื้นที่ไปช่วยเพื่อนในเครือข่าย การทำโครงการ อีก 20 คะแนนที่หายไป ยังทำโครงการของเรายังไม่เต็มที่ ผักผมให้เพื่อนเป็นคนดูแล เพราะว่าเพื่อนอยู่ในชุมชนนั้น เราดูแลบ้างแต่ส่วนน้อยเขาจะดูแลมากกว่า


ถาม เชลมีข้อดีในตัวเราอะไรบ้าง

ตอบ วิสัยทัศน์ดี คุยกับเพื่อน ความขยัน ไม่ยอมแพ้


ถาม เชลมีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวอย่างไร

ตอบ ปกติธรรมดา ผมเคยผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่เคยเกเรมาก่อน


ถาม เคยคิดว่าเราแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นในโครงการไหม

ตอบ ไม่ครับ


ถาม อะไรที่รู้สึกประทับใจที่สุดในการทำโครงการมาหนึ่งปี

ตอบ การเริ่มทำแปลงผัก เราคิดว่าทำไม่ได้ ไปไม่ได้พื้นที่ไม่ค่อยสมดุล พอเราทำไปเรื่อยๆ สวย ดูดีขึ้นมา รู้สึกว่าตัวเองทำได้ เพื่อนเริ่มไว้ในใจตัวเรามากขึ้น ผมทำอะไรเพื่อนไม่ค่อยทันผม ทำอะไรก็ทำก่อนเลย เพื่อนบอกว่าเราทำเร็ว


ถาม เกิดจากอะไรในตัวเรา

ตอบ ตัวเรามีหน้าที่ทำอยู่ เรายังทำไม่เสร็จต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบมาตอนที่แก้ไขแปลงผัก ตอนที่ไก่มาทำลายแปลงผัก เปลี่ยนจากเรื่องน้ำมาทำเรื่องไก่ เพราะเรื่องน้ำเราแก้ไปแล้ว ผมเริ่มคุยกับเพื่อน ตอนนั้นพี่เครือข่ายมาช่วยทำ


ถาม อะไรที่ยากที่สุดตั้งแต่ทำมาหนึ่งปี

ตอบ การดูแลผัก เพราะไม่ค่อยมีเวลาไปดูแล ไก่เข้าแปลง ผักโดนแดดมาก เราไม่ได้ทำโรงเรือน ทางแก้เรื่องไก่ทำรั้วสูงขึ้นแต่ยังเข้ามา อาจย้ายพื้นที่ทำแปลงผักให้เราสามารถดูแลได้


ถาม ทักษะการแก้ปัญหา ความไม่ท้อ สู้ ได้มาอย่างไร

ตอบ มาจากเพื่อนบางทีเห็นเพื่อนทำงานมาแล้ว มันเหนื่อยเราก็อยากทำให้เสร็จ


ถาม เชลคิดว่าสภาพแวดล้อม เพื่อน พี่เลี้ยง การเรียนรู้แบบนี้ช่วยให้ตัวเราได้เรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างไร

ตอบ เราได้เรียนรู้เรื่องความคิด วิธีการแก้ปัญหา


ถาม ถ้าเราไม่ได้ทำโครงการนี้ ตอนนี้เราจะเป็นแบบไหนทำอะไรอยู่

ตอบ อยู่บ้านใหญ่ อยู่ห้องกร

ถาม มีเป้าหมายในชีวิตอย่างไรบ้าง

ตอบ อยากอยู่บ้านช่วยตากับยายต้มเกลือ ขายเกลือ ไม่อยากไปไหน ไปอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีอะไร ใช้เงินมาก ผมดูแล้วว่าแต่ละครอบครัวไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีเงิน ส่วนมากโทรมาขอเงินทางบ้านอยู่ดี ผมคิดว่าอยู่บ้านดีกว่า


ถาม อะไรทำให้คนรุ่นใหม่แบบเชลอยากกลับมาอยู่บ้านทำอาชีพอยู่ที่นี่

ตอบ อยากอยู่กับตากับยายมากกว่า เพราะตายายดูแลเลี้ยงดูเรามา ชุมชนของเราไปเที่ยวบ้านเขา มีกับข้าวก็แบ่งกันให้กัน ที่นี่ก็มีของป่า ปลาแม่น้ำ ของดีบ่อเกลือ คือเกลือ บ้านเราเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราอยู่บ้านขายของขายเกลือ ดีกว่า


ถาม ในระยะใกล้เรามีเป้าหมายต่อโครงการอย่างไร

ตอบ อยากปลูกผักปลอดสารพิษ เอาผักชนิดใหม่ๆ มาปลูกบ้าง เราปลูกแต่ผักคะน้า ผักกาดขาว ปลูกต้นหอม ถั่วลันเตา ผักกาด คื่นฉ่าย เพราะเรายังปลูกผักได้ไม่มาก อยากมีผักชนิดใหม่ๆ ได้ผักก็ส่งให้เด็กขาย


ถาม เชลมองความยั่งยืนการปลูกผักในชุมชน ผลักดันให้มีตลาดของเด็ก สร้างรายได้ให้เด็ก อย่างไร

ตอบ เราได้ผลผลิตมาก็ส่งให้รีสอร์ท ตลาดขายของในชุมชน ผมเรียน กศน.อยากให้เพื่อนๆ ที่เรียนอะไรก็ได้มีส่วนร่วมในการเข้ามาทำโครงการบ้าง การมาทำโครงการได้เข้าสังคม มีส่วนร่วมในการทำโครงการ มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีความกล้าพูดกล้านำเสนอมากขึ้น ได้มากครับ