กันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

นายกันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.น่าน

.

ข้าวโอ๊ต หรือนายกันต์พิมุก ไชยกาอินทร์ แกนนำเยาวชนจากจังหวัดน่าน ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการสินค้าสมัยใหม่ ข้าวโอ๊ตบอกถึงแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสายนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ทำให้เขาค้นพบตัวเอง “ตอนทำโครงการปี 4 ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานแกนนำเยาวชนจังหวัดน่าน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องของการบริหารคน และการจัดการเวลา พอได้ออกมาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เลยมานั่งคิดว่าเราอยากเรียนบริหารธุรกิจ บริหารคน อย่างน้อยจบไปเราสามารถไปทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ บริหารคนได้” ข้าวโอ๊ตเล่าถึงที่มา

ข้าวโอ๊ตบอกว่าครั้งแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะอยากเปลี่ยนที่นอน อยากออกไปข้างนอก ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ถึงวันจริง ๆ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม สิ่งที่ได้นอกเหนือจากการนอนนอกบ้านคือการได้เจอเพื่อนต่างพื้นอำเภอ ต่างโรงเรียน ถึงจะอึดอัดในช่วงแรกที่ได้ทำกิจกรรมเพราะต้องอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก แต่พอได้เข้ากระบวนการกลุ่มทำให้รู้สึกสนุกและท้าทายความสามารถของตัวเอง จึงอยากที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมอีก ข้าวโอ๊ตทำโครงการเกี่ยวกับป่าไม้ในปีแรก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เคยทำอยู่แล้วในชุมชนก่อนเข้าร่วมโครงการ ข้าวโอ๊ตบอกว่าสิ่งที่ท้าทายสำหรับเขาในปีนั้น คือการก้าวข้ามคำพูดของคนในชุมชน “เด็กตัวแค่นี้จะทำอะไรได้” เป็นคำพูดที่ตนจำขึ้นใจ แต่เขาเลือกที่จะนำคำพูดนั้นมาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กอย่างเขาก็สามารถทำอะไรเพื่อชุมชนได้ และเขาก็ทำได้

หลังจบโครงการในปีแรก ข้าวโอ๊ตตัดสินใจทำโครงการต่อปีนี้เขาเลือกทำโครงการภายในโรงเรียน โดยเลือกจากปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนั่นคือปัญหาขยะล้นโรงเรียน จึงเป็นที่มาของโครงการธนาคารขยะในปีถัดมา แม้จะเจอปัญหาบ้างในช่วงที่ทำโครงการ เช่น เวลาว่างไม่ตรงกันของคนในทีม แต่สุดท้ายข้าวโอ๊ตสามารถแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญคือโรงเรียนเห็นความสำคัญชองการจัดการขขยะมากขึ้น โรงเรียนมีรายได้ ขยะลดลง

ยิ่งทำยิ่งสนุก ยิ่งทำยิ่งได้พัฒนาตัวเองข้าวโอ๊ตยังคงไปต่อ ในปีที่สามของการทำโครงการข้าวโอ๊ต เลือกโจทย์ปัญหาจากสิ่งใกล้ตัว คือเรื่องของสารปนเปื้อนในลำน้ำที่ตัวเองชอบไปเล่นเป็นประจำ โดยใช้ชื่อโครงการ IF YOU DO ถ้าคุณไม่ทำ จากที่คาดหวังว่าคนจะเลิกใช้สารเคมี แต่พบว่าเป้าหมายใหญ่เกินไป จึงปรับขยับมาเป็นการให้ความรู้แก่คนในชุมชนเรื่องสารเคมีแทน ซึ่งสิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับปีนี้ คือการเข้าหาชุมชนที่ต้องปรับการใช้ภาษา และเรียนรู้การหาข้อมูลเพื่อนำมาอ้างอิงในการให้ความรู้กับชุมชน

ผลของการเข้าร่วมโครงการมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ทำให้ข้าวโอ๊ตพบว่าสิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนไปคือทักษะในการนำเสนอโครงการ เขาเล่าว่า ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการถึงเวลานำเสนอโครงการข้าวโอ๊ตมักจดทุกคำพูดที่จะพูดลงในกระดาษและพูดตามที่เขียนไว้ แทบจะทุกคำ แต่เมื่อได้ทำโครงการได้สักระยะทำให้เขาเริ่มจับหัวใจหลักในการนำเสนอได้ จึงนำมาพัฒนาตัวเองต่อในปีที่สอง ข้าวโอ๊ตเริ่มจดหัวข้อสำคัญที่จำเป็นต้องนำเสนอเท่านั้น และอาศัยการลงมือทำของตัวเองจากโครงการเป็นตัวเดินเรื่องเล่ารายละเอียด ปีสามเริ่มมีการแสดงท่าทาง ผายมือประกอบเพราะตนเองรู้สึกมั่นใจมากขึ้น

ก่อนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ข้าวโอ๊ตมีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชน หน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ข้าวโอ๊ตเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ยากสำหรับเขาในฐานะประธานเครือข่ายฯ คือการคิดรูปแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่การถอดองค์ความรู้จากสิ่งที่น้อง ๆ ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อโยงเข้าไปสู่การเขียนโครงการ ข้าวโอ๊ตแอบกระซิบว่าครั้งนี้ทำให้เขาเข้าใจหัวอกของพี่เลี้ยงโครงการฯ ขึ้น ในเรื่องของการออกแบบกิจกรรมแต่ละครั้งเพื่อให้ตนและเพื่อนเมื่อครั้งยังเป็นแกนนำเยาวชนได้ทำกิจกรรม

แม้ปัจจุบันข้าวโอ๊ตจะเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว ถึงแม้จะห่างจากการทำโครงการ แต่ตนไม่เคยลืมที่จะหยิบจับสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้จากการทำโครงการตลอดระยะเวลา 4 ปีมาปรับใช้กับการเรียนของตัวเองเลย เขายกตัวอย่างเรื่องการวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง เป็นสิ่งที่เขาใช้ตั้งแต่เมื่อครั้งทำโครงการที่เขานำมาใช้ตลอดตั้งแต่ปีหนึ่งจนถึงตอนนี้

เมื่อถามถึงภาพฝันในอนาคตที่วางไว้ข้าวโอ๊ตบอกว่าตนอยากกลับไปทำร้านอาหารที่บ้านดอนใหม่ บ้านเกิดของตัวเอง เปิดให้ชาวบ้านนำวัตถุดิบจากในชุมชนมาจำหน่ายให้กับร้านของตน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ดึงศักยภาพชุมชนของตนเองให้เป็นที่รู้จักของคนภายนอก แม้จะจบโครงการไปแล้วแต่ข้าวโอ๊ตไม่เคยลืมชุมชน นี่คือสิ่งที่ฝังรากลึกเข้าไปในใจของข้าวโอ๊ต