ศดานนท์ วันเพ็ญ : โครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย จังหวัดศรีสะเกษ

เด็กชายศดานนท์ วันเพ็ญ (เจี๊ยบ) อายุ 14 ปี

เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

โครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย จังหวัดศรีสะเกษ

สัมภาษณ์วันที่ 26 มกราคม 2563

­

­

ถามขอให้แนะนำตัวเอง พื้นเพ และโครงการที่ทำ?

ตอบผมเด็กชายศดานนท์ วันเพ็ญ ชื่อเล่นเจี๊ยบ อายุ 14 ปี อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ทำโครงการกอนเจาเยาวชนสืบสานตำนานเสียงพิธีกรรมนางออชาติพันธุ์กวย ผมเป็นลูกหลานชาวกวยแท้อยู่ในหมู่บ้านชาวกวย พี่น้องชาวกวยอพยพถิ่นฐานมาจากประเทศลาว ตำนานเล่าว่าคนกวยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อนเป็นประเทศไทย เขาให้หนังชาวกวยมาเขียนแผนที่ประเทศของตัวเอง ชาวกวยเอาแผนที่ไปตากไว้แต่สุนัขคาบไปกินเรียกว่า อะจออะจาจิม ต่อมาประเทศไทยจึงให้ชาวกวยอยู่เป็นเผ่าหนึ่งจนถึงปัจจุบัน คนกวยมีเอกลักษณ์ของตัวเอง คือการแต่งกายด้วยผ้าพื้นบ้าน เสื้อผ้าไหมแขนยาวสีดำย้อมสีธรรมชาติ ผ้าโสร่ง ผ้าซิ่น ผ้าถุง ทำจากผ้าไหมในอดีตแต่ละบ้านทอใช้เอง แต่ปัจจุบันการทอผ้าเหลือน้อยลงมีเฉพาะบางบ้านเท่านั้น คนกวยพูดภาษาส่วยแต่ละหมู่บ้านจะมีสำเนียงต่างกันไป เช่น หมู่บ้านปราสาทที่ติดกับหมู่บ้านของผมสำเนียงเน่อ บางคำพูดต่างกัน และมีพิธีกรรมของตัวเอง

­

ถามเจี๊ยบเรียนการพูดภาษาส่วยจากใคร?

ตอบยายพูดภาษาส่วยกับผมตั้งแต่เด็ก ยายเป็นคนดูแลผม มีช่วงหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดภาษาส่วย พูดกับยายด้วยภาษาลาวบ้างภาษาส่วยบ้าง เพื่อนส่วนใหญ่พูดภาษาส่วย ผมจึงพูดภาษาส่วยคล่อง

­

ถามเจี๊ยบเป็นคนแบบไหน ชอบ สนใจอะไรบ้าง?

ตอบผมไม่ค่อยออกจากบ้านเป็นคนเก็บตัวชอบอยู่ในบ้านไม่ชอบไปเล่นกับเพื่อน วันหนึ่งแม่ขอให้บวชสามเณรภาคฤดูร้อน เมื่อเข้าไปบวชคุณครูและเพื่อนที่เล่นดนตรีสะเองในวัด ชวนให้เล่นดนตรีสะเอง เพราะว่าตอนนั้นจะมีงานสะเอง 2 งาน นักดนตรีไม่พอจึงชวนให้ผมฝึก ผมเล่นได้และเข้าร่วมโครงการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ถามวงสะเองมีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง?

ตอบวงสะเอง มีเครื่องดนตรีอยู่ 3 ชิ้น คือกลองหรือโทน 1 ใบ ฆ้อง 2 ใบ ปี่ 1 เลา ผมเล่นโทนเพราะว่าปี่ยากเกินไป ต้องใช้เวลาฝึกนานกว่าโทน ช่วงนั้นมีเวลาเพียง 6 วัน ก่อนวันแสดง หากฝึกปี่จะไม่ทันการจึงเลือกฝึกโทนหรือกลองดีกว่า


ถามการร่วมวงแสดงครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบครั้งแรกตีผิดตีถูกบ้างกลุ่มนางรำก็หันมาหัวเราะใส่บ้าง งานที่สองยังตีถูกบ้างผิดบ้าง หลังจากนั้นตีได้ถูกต้อง


ถามจากงานแรกที่ตีผิดบ้างถูกบ้าง มาสู่งานที่สองที่สาม อะไรทำให้เรายังอยากร่วมวง?

ตอบทำแล้วรู้สึกดี ไม่สุงสิงกับพวกยาเสพติด คิดว่ามาทำอย่างนี้ดีกว่าเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนพ่อแม่พี่น้องในหมู่บ้านของเราเอง


ถามในหมู่บ้านของเรามีปัญหายาเสพติด?

ตอบมีบ้างกลุ่มวัยรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไปเขาจะชักชวนเด็กไป เราช่วยดึงเด็กกลุ่มที่จะไปยุ่งกับเรื่องนั้นมาทำกิจกรรม ในกิจกรรมจะมีเด็กเยอะเราชวนมาฝึกด้วยกันแม้ว่าจะเล่นไม่ได้ก็ไม่เป็นไรชวนมาเล่นด้วยกันจะได้ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเกิดประโยชน์มากกว่า


ถามหลังจากที่เราตีกลองในวงสะเองได้แล้ว เข้ามาทำโครงการได้อย่างไร?

ตอบเมื่อเริ่มเข้ามาผมอายุ 12-13 ปี รุ่นพี่ที่เคยทำโครงการมาก่อนชักชวนมาทำ คุณครูพี่เลี้ยงชวนเข้ามาทำลองมาทำแล้วสนุกดี ตอนนั้นคุณครูแอ๊ดบอกว่าผมตีโทนเป็นแล้ว ทำไมไม่มาเล่นในวงด้วยกัน จะมีโครงการอีก ผมไม่รู้ว่าโครงการอะไร ครูก็บอกว่าทำไปก็รู้เองว่าต้องทำอย่างไรจะเกิดประโยชน์อย่างไร ครูบอกว่าถ้าเรียนจบมีใบประกาศจะทำให้ง่ายต่อการสมัครงาน เพราะมีใบรับรองว่าเคยช่วยเหลือสังคม


ถามตอนนี้เราอายุ 14 ปี เรียนชั้น ป. 6 เทียบดูช้ากว่าคนรุ่นเดียวกัน?

ตอบตอน ป.2 ผมเก็บตัวไม่อยากออกจากบ้านไปไหนเลย อายุน้อยกว่าเพื่อนไปโรงเรียนโดนแกล้งโดนเพื่อนว่าจึงไม่อยากไป รู้สึกกลัวเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน โรงเรียนไปบ้างไม่ไปบ้าง น้องสาวของยายพาผมไปเรียนต่อที่ชลบุรีครึ่งเทอม ผมกลับบ้านตอนกลางภาคเรียนจึงไม่ได้เข้าเรียนเพราะยังไม่ย้ายโรงเรียน ต้องเรียนเพิ่มอีก 1 ปี ตอนอยู่ที่ชลบุรีเกือบลืมภาษาตัวเอง ช่วงแรกที่กลับมาฟังภาษาส่วยไม่เข้าใจงงว่าเขาพูดอะไรกันจำได้เพียงบางคำ ตอนนี้จำได้หมดแล้ว


ถามดนตรีทำให้อยากไปโรงเรียนมากขึ้นไหม?

ตอบใช่ครับ คุณครูแอ๊ดมีเครื่องดนตรีอยู่ในห้องพักที่โรงเรียน และอนุญาติให้ฝึกซ้อมเครื่องดนตรีที่สนใจและให้ระมัดระวังเพราะทุกชิ้นมีครู เล่นกี่รอบไม่โดนตำหนิไม่โดนว่า ผมไม่โดนแกล้ง ทุกคนที่เล่นดนตรีสนิทกัน ผมได้ความเป็นเพื่อนกลับมา เราเล่นสะเองในพิธีตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้า ฝึกความอดทนได้ดีมาก ถ้าเปรียบเทียบเราไปเรียนเช้าถึงบ่ายทำไมเรารู้สึกเหนื่อย แต่เวลาเล่นสะเองตั้งแต่หัวค่ำถึงเช้ากลับไม่เหนื่อย


ถามเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากเจี๊ยบคนเดิมที่เก็บตัวไม่ค่อยสนใจเรียน?

ตอบเปลี่ยนไปเยอะมากจากคนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ตอนนี้หลังเลิกเรียนออกจากบ้านไปฝึกซ้อมดนตรี เล่นทั้งวงสะเองและวงพิธีนางออ ผมได้ฝึกเป่าแคนกับคุณตาพรหมมา ปราญ์ผู้รู้เรื่องแคน ได้รู้ว่าแคนเป็นอย่างไร การออกจากบ้านทำให้มีเพื่อนเพิ่มและสนิทกับเพื่อนมากขึ้น เมื่อก่อนอยู่ในบ้านรู้สึกไม่มีคุณค่า ชีวิตเหมือนเกิดมาอยู่คนเดียว อยู่ไปวันๆ พอได้เล่น รู้สึกว่ามีคนต้องการเรา เรามีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้านมีเพียงวงของพวกเราที่เล่นดนตรีในงานพิธีกรรมอยู่


ถามเรียนรู้ทักษะชีวิตอะไรบ้าง?

ตอบทักษะชีวิตที่ได้คือการเปิดตามองโลกภายนอกไม่ขลุกอยู่แต่ในบ้าน ออกไปเล่นกับเพื่อน ออกไปเที่ยวบ้าง จากเมื่อก่อนหนองน้ำใหญ่ไม่เคยลงเล่นเมื่อได้ไปเล่นกับเพื่อนรู้สึกสนุก ทักษะการเล่นดนตรี จากมองดูพวกเขาเล่นกันเหมือนง่าย พอเล่นเองยากกว่าจะคุมจังหวะบังคับเสียงให้ได้ดั่งใจ


ถามมองเห็นความพยายามของตัวเองในการฝึกอย่างไรบ้าง?

ตอบตอนฝึกรุ่นพี่ดุบ้าง เช่น ฝึกมาตั้งนานตีได้ไม่ดี รุ่นพี่พูดเป็นแรงผลักดันให้เราฝึกจนตีได้ตอนนี้เล่นได้สองอย่างคือฆ้องกับโทน แต่ปี่ขอยกครูมาแล้วแต่ยังไม่ได้ฝึก ยังเป่าไม่ได้


ถามใช้เวลาเท่าไหร่ในการฝึกเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น?

ตอบโทนฝึกนานเป็นเดือน ฆ้องง่ายตีหนึ่งจังหวะ โทนตีเป็นสองครั้ง จับมือเด็กมาหัดตีได้เลย ในวงสะเองฆ้องตีง่ายที่สุด


ถามการร่วมโครงการทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

ตอบผมเข้าหาเพื่อน เพื่อนก็เข้าหาผม แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียน จากรุ่นพี่เคยแกล้งจนผมร้องไห้เจ็บใจ พอมาเลยวงสะเองด้วยกัน เปลี่ยนเป็นนับถือกัน เป็นเพื่อนไม่แกล้งกัน


ถามอะไรที่ทำให้เรายอมรับเขาได้?

ตอบตอนเด็กผมคิดว่าเขาหมั่นไส้ผม ผมทำอะไรผิดหรือเปล่า ตอนนี้เข้าใจว่าเขาทำไปแค่แกล้งหยอกเล่น เมื่อก่อนถ้ามีคนมาเล่นสกัดขาจะแค้นในใจว่ามาเล่นทำไม พอได้รู้จักกันมากขึ้นก็เล่นกันไม่ถือสา มองโลกในแง่ดีขึ้น เมื่อก่อนเราก็คิดไปเองว่าเราไม่ได้ทำอะไรเขา เขามาทำอะไรเราทำไม เวลาที่เขาถามผมจะคิดว่าไม่ได้อยู่บ้านใกล้กัน มาถามเราบ่อยทำไม ที่มาถามเราหรืออยากแกล้งเรากันแน่


ถามมีรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่เคยโดนแกล้งแบบเราบ้างไหม?

ตอบคนที่เข้ามาทีหลังอยู่หมู่บ้านเดียวกับรุ่นพี่ ส่วนผมเป็นเด็กต่างหมู่บ้าน เด็กที่เข้ามาใหม่ก็ไม่มีใครโดนแกล้งแบบผม เขาก็สนิทกันเล่นกันตั้งแต่เด็ก


ถามพี่ติ๊กเล่าให้ฟังว่ามีครั้งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นเจี๊ยบลุกขึ้นมาชวนเพื่อนคุยในโครงการ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เราแค่เข้าร่วมฝึกดนตรี?

ตอบกำลังฝึกการเขียนผังความคิด เพื่อนคิดไม่ออก บอกเพื่อนว่าความคิดจะมาจากความเข้าใจ เราจะทำโครงการเพื่อต่อยอดจากสะเองสู่นางออ เพื่อนยังไม่เข้าใจจุดนี้ ผมใช้ความเป็นผู้นําบอกเพื่อนว่ามีความรู้สึกอย่างไรในการทำโครงการนี้ให้บอกออกมา ไม่ต้องกังวลผิดถูก อะไรเกิดขึ้นมาในใจรู้สึกอย่างไรให้พูดออกมา ตอนนั้นอธิบายเองแล้วชวนเพื่อนมาทำสนุกดีไม่ได้เสียหายอะไร อยู่กับเพื่อนอย่างนี้ดีกว่าเราอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรแค่กินแล้วก็นอน มาทำโครงการได้กินนอนอยู่กับเพื่อนทำให้สนิทกันมากขึ้น


ถาม อะไรที่ทำให้เราลุกขึ้นมาจับปากกาเป็นผู้นำ?

ตอบหัวหน้าไม่ว่างรองหัวหน้าไปกับหัวหน้าไม่มีใครผมเองมีความรู้ไม่มาก ครูโทรบอกให้นำเพื่อนผมก็ขึ้นมานำและตอนนี้เป็นรองหัวหน้าแทน


ถามหลังจากได้ชวนเพื่อนคุย เป็นรองหัวหน้าเราค้นพบอะไรบ้าง?

ตอบยากที่จะคุมเพื่อนได้ บางคนมึนคุยบอกไม่ฟัง ผมเอาคนที่สนใจก่อน ส่วนพวกเขาคุย เล่น กันเสร็จเมื่อไหร่ เราก็จัดหนักเข้มบอกให้เขาต้องทำให้ได้คิดไม่ได้ไม่ต้องกลับบ้าน ให้เขาคิดเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์พิธีกรรมนางออในอดีตจนถึงอนาคต เราทำเพื่ออะไรการเผยแพร่ทำอย่างไร ผมใช้การคุยเยอะมาก


ถามเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในการเป็นผู้นำอย่างไรบ้าง?

ตอบแปลกใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้เป็นผู้นำคนมีสิทธิ์ออกคำสั่งกับเพื่อน รู้สึกดีมากที่เป็นหัวหน้าในกลุ่มเพื่อนที่รับฟัง


ถามการเป็นหัวหน้าที่ดีในความคิดเจี๊ยบเป็นอย่างไร?

ตอบทะนุถนอมกับเพื่อนๆ ไม่เข้มมากและไม่อ่อนมากเกินไป คือถ้าเข้มมากไปเพื่อนอาจจะเครียดไม่สนุกกับโครงการ ถ้าอ่อนไปก็จะสนุกเกินไปจนมองข้ามโครงการมองว่าแค่เรื่องเล่นๆ ต้องมีความพอดี เราต้องกระตุ้นความสนใจเพื่อน ถ้ามีงานอะไรเข้ามาชวนเพื่อนสนใจไม่เล่นอย่างเดียว ไม่เข้มคือไม่ทำแต่งานโครงการจนหักโหมเกินไป ต้องมีเวลาให้ตัวเองแล้วก็แบ่งเวลาให้เป็น


ถามอะไรที่ทำให้เจี๊ยบเปลี่ยนแปลงตัวเองได้?

อบแม่ทำให้ผมได้เข้ากลุ่มทำโครงการนี้ ช่วงปิดเทอมใหญ่ผมไม่อยากไปหาแม่ แม่บอกว่าถ้าอยากอยู่บ้านขอให้บวชแม่จะโอนเงินให้ ตอนบวชไม่ได้บวชแบบศรัทธาอะไร เมื่อบวชแล้วได้ฝึกจิตใจตัวเอง ผมบวชช่วงปิดเทอมฤดูร้อนต่อเนื่องสามปี ผมขอบคุณแม่ที่ให้บวชสามเณรเป็นโอกาสได้เล่นดนตรีกับเพื่อนมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้บวชสามเณรคงจะอยู่คนเดียวที่บ้าน ตอนเป็นสามเณรมีเพื่อนสนิทเพิ่ม หลวงพ่อเจ้าอาวาสสนับสนุนการฝึกสะเอง พี่เลี้ยงโครงการปรึกษาเจ้าอาวาสขอใช้วัดเป็นสถานที่ฝึกซ้อมให้กับเด็กๆ จะได้ไม่รบกวนชาวบ้าน พระอาจารย์บางรูปเคยเล่นดนตรีมาก่อนช่วยสอนแนะนำการเล่น สามเณรใช้กะละมังแทนเครื่องดนตรีฝึกตี พอสึกออกมาก็เล่นเครื่องดนตรีสะเองที่วัดกับเพื่อน ผมเป็นเด็กวัดมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเล่นสะเองได้เพราะฝึกในวัด


ถาม เจี๊ยบได้ความรู้ใหม่อะไรบ้างจากการเล่นสะเอง?

ตอบ ดนตรีสะเองเป็นพิธีกรรมชาติพันธุ์กวยแท้ของชาวกวยทุกคน เราต้องเก็บเกี่ยวความรู้วัฒนธรรมประเพณีของเราเอง จากที่ผมไม่เคยเล่นไม่เคยดู ก็ได้เล่นได้ดูเสื้อผ้าการแต่งกายด้วยผ้าโสร่งผ้าไหม พอเราได้ใส่ผ้ามีราคาของมันเอง เสื้อผ้าที่เราใส่ทุกตัวไม่มีตัวไหนที่ราคาเท่าผ้าโสร่ง เมื่อก่อนมองดูแล้วไม่สวย พอได้ใส่สวยมากคือมันสวยในใจของเรา


ถาม สวยเพราะว่าอะไร?

ตอบ สวยเพราะผ้าแต่ละผืนกว่าจะได้มามีกรรมวิธีที่ละเอียดมาก ต้องปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ต้องสาวไหม ทอย่อมสี เรารู้ว่าทำยาก ถ้าเราไม่รู้เรื่องราวเราจะไม่เห็นคุณค่า ชาวกวยจึงบอกว่าใส่แล้วสวย


ถามทำไมเด็กรุ่นใหม่ในบ้านเราต้องเรียนรู้เรื่องกวย?

ตอบภาษากวยไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเองมีแต่ภาษาพูด ถ้าไม่ฝึกภาษาถิ่นกวยไว้จะสูญหายไป ปัจจุบันคนในชุมชนออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด จนจำภาษาตัวเองไม่ได้ เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน คนหนุ่มคนสาวจำภาษาที่เคยพูดในวัยเด็กไม่ได้ ประเพณีที่ในอดีตถูกลืมเลือนไป เรากลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหายไปจากเผ่ากวย ถ้าคนไม่นับถือศรัทธาประเพณีจะหายไป คงไม่มีใครจำได้ว่าเผ่ากวยนั้นรักษาประเพณีของเผ่าไว้ดีมาก คงจะไม่มีใครรู้ว่ามีเคยคนเผ่ากวยอยู่ในประเทศไทย


ถาม พิธีกรรมกับคนเผ่ากวยเชื่อมโยงกันอย่างไรในความคิดของเจี๊ยบ?

ตอบ ชาวบ้านศรัทธาการรักษาด้วย “ผีฟ้า” ถ้ามีคนเป็นไข้ไม่รู้สาเหตุ ปวดหัว ปวดท้อง ไม่สบาย คนกวยจะเชิญผีปู่ย่าตายายมารักษา ถ้าเป็นหมอผีจะบอกว่ามีผีมาทำร้ายคน แต่ของเราเชิญผีบรรพบุรุษมารักษาให้พี่น้องเราเอง เป็นการรักษาด้วยความเชื่อเมื่อหมอแผนปัจจุบันและพระรักษาไม่หาย ต้องสืบย้อนไปว่าครอบครัวนั้นนับถือกวยสะเองผ่านสายไหน ต้องจัดพิธีให้และนับถือตลอด ถ้าไม่ทำเขาจะมาเหยียบขาเหยียบท้องให้เจ็บเป็นการเตือนให้จัดการเล่นสะเองเมื่อทำแล้วอาการเจ็บจะหาย การรักษาด้วยวิธีการนี้เชื่อมโยงกับศรัทธาและความเชื่อ มีลุงคนหนึ่งตอนกลางคืนปวดหลังเดินไม่ได้หลังจากเล่น สะเอง สู่ขวัญ ทำขวัญ ถัดมาอีกวันลุงเดินขยับพูดได้บ้างจากปวดหลังลุกไม่ได้ พิธีกรรมสร้างแรงจูงใจให้กับจิตใจของคนที่จัดการเล่นคือมีกำลังใจ ทำแล้วสบายใจขึ้นไม่เครียด มีกำลังใจ เป็นพิธีกรรมที่เล่นเพื่อรักษาและขอบคุณบรรพบุรุษปู่ย่าตายายเป็นการไหว้สักการะบูชา เรารู้สึกเหมือนเป็นหมอได้รักษาคนไข้ รู้สึกดีทั้งที่เราเล่นก็ดีบ้างไม่ดีบ้างแต่เราทำให้เขามีกำลังใจขึ้น เราช่วยคนที่ไม่มีกำลังใจให้มีกำลังใจสู้ต่อไป


ถาม เราเชื่อตอนไหนว่าพิธีกรรมแบบนี้จะช่วยรักษาคนไม่สบายได้?

ตอบ เมื่อก่อนไม่เชื่อค่อนไปทางลบลู่ด้วยซ้ำ เล่นดนตรีแบบนี้จะช่วยรักษาได้อย่างไร มีเหตุการณ์ในของครอบครัวผมเอง คุณตาเสียทางบ้านจัดเล่นสะเอง น้าของผมเป็นคนรับสืบทอด ตอนที่มาประทับทรงไม่ใช่ปู่ย่ายตายาย เป็นผีอื่นดิ้นบนพื้นดินพื้นปูนจนแผลเต็มตัว เขาจะให้ป้าสืบสายแต่ป้าท้องเข้าไม่ได้ แม่ผมดวงแข็งเกินเข้าไม่ได้ เขาเลือกน้าแต่น้าไม่รับปัดออกจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องไปอยู่ที่อื่น ตามสายผมต้องนับถือนางออ แต่ผมฝึกสะเองและติดใจในการเล่นสะเอง การสืบสายจะมาลงที่ผม นางออเป็นสายรักษาเหมือนสะเองแต่ความเชื่อคนละอย่างต่างที่ดนตรี สะเองจะเล่นกลองตีไปด้านหนึ่งก็จะรำ มีการเป่าแคนรักษาเหมือนกัน นับถือปู่ย่าตายายเหมือนกัน ปะรำพิธีเหมือนกันแต่มีเครื่องเซ่นต่างกัน นางออจะเป็นบรรพบุรุษของใครคนหนึ่งของเราเช่น ย่า ตา พ่อ ทวด สะเองก็เป็นบรรพบุรุษเหมือนกันต่างเฉพาะเครื่องเซ่นกับดนตรี ในอดีตเครื่องเซ่นไม่มาก เงินบาทสองบาท เหล้าต้มเหล้าหมักแก้วเดียว ในอดีตไม่มีเครื่องดื่มอื่นๆ ปัจจุบันก็เพิ่มเข้ามาให้เยอะมากขึ้น


ถาม เจี๊ยบได้เริ่มฝึกแคนสำหรับวงนางออแล้ว?

ตอบตอนนี้เริ่มฝึก โครงการถึงขั้นสรุปประวัติ การเกลาการฝึกการแกะลายเพลงแคน ถ้าฝึกได้ก็จะเริ่มเอาไปแสดงนางออ ที่ผ่านมาคุณตาพรหมมาใช้การเปิดเพลง คุณตาอายุ 80 กว่าปีเป่าแคนได้ในช่วงเริ่มต้นไม่สามารถเป่าแคนถึงเช้า พิธีกรรมจะมีตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้าต่อเนื่องไม่พัก คุณตาอายุเยอะแล้วจำโน๊ตไม่ค่อยได้ ใช้การเปิดเพลงจากเครื่องเสียงแทน กลัวว่าเด็กรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก จำลายเพลงไม่ได้ เพราะในชุมชนบ้านซำมีเพียงคุณตาคนเดียวที่เป่าได้ รองหัวหน้าโครงการที่ไปฝึกเป่า พี่แม็กตอนนี้ออกไปฝึกงาน ถ้าฝึกงานจบ คุณตาบอกพี่แม็กว่าถ้ามีโอกาสให้กลับมาฝึกให้น้องๆ


ถาม ตอนที่ทำโครงการมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างไหม?

ตอบ เมื่อก่อนมีเฉพาะผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่เป็นนักดนตรีในพิธีกรรม เมื่อเด็กๆ เล่น ผู้ใหญ่บางมองไม่ดี บอกไม่สมควรเด็กมาเล่นจะผิดครู เด็กมันจะรักษาไว้ไม่ได้ เขาก็กลัวจะมีปัญหา เราก็ต้องทำให้เขาเชื่อว่าเราทำได้ เรารักษาครูไว้ได้ ทำให้เขาได้รู้ว่าเราตั้งใจทำ ไม่ใช่เพื่อเอาหน้าเอาเงินอย่างเดียวกำลังไปรักษา ทำให้ดูว่าเราเล่นได้ เมื่อทำได้แล้วทุกคนก็ภูมิใจที่ได้เล่นได้ทำ คนที่ตำหนิว่าไม่สมควรเขาจะได้เห็นว่าคนเฒ่าคนแก่เล่นไม่ได้แล้ว เด็กกำลังสืบทอด


ถาม ผู้ใหญ่เข้าใจมากขึ้นไหม?

ตอบเขารับฟังเหตุผลว่าทำไมให้เด็กเล่นเพราะผู้ใหญ่เล่นไม่ได้ คนแก่ที่เล่นได้ก็เสียไปแล้วเหลือรุ่นเด็ก คนรุ่นกลางรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่มีใครรู้เพราะออกไปทำงานต่างจังหวัด เหลือรุ่นลูกอยู่กับปู่ย่าตายายจึงต้องถ่ายทอดวิชาให้กับรุ่นหลาน ถ้าให้ผู้ใหญ่เล่นจะเล่นไปเมาไปเพี้ยนไป เพราะเขาจะมีของเซ่นให้นักดนตรี คนแก่ก็จะกินเยอะจนเมา ถ้าเด็กเล่นจะไม่กินแต่ตีไม่ทน มืออ่อนตีไปมือบวมมือด้านมือแตก


ถาม พี่ติ๊กสังเกตว่าช่วงนี้เจี๊ยบชอบจดบันทึกเขียนมากขึ้น?

ตอบ แต่ก่อนก็ไม่เขียนอะไรเขาพูดมาแล้วใช้การจำ จำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าเราจดจะรู้รายละเอียดรู้เบื้องลึกจับใจความได้ละเอียด จดดีกว่าแล้วพิมพ์ไว้ในคอมพิวเตอร์ ผลที่ได้คือรายงานสรุปเนื้อหาเล่มใหญ่


ถามจุดไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าจำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องจดบันทึกแล้ว?

ตอบเห็นรุ่นพี่ทำเป็นตัวอย่างไม่ยาก คือเขียนสิ่งที่เราเข้าใจสรุปออกมาเขียนได้ ไม่ได้ยากมาก ถ้าเราไม่ได้ทำโครงการที่พี่เลี้ยงผลักดันให้ไปถามคุณตาคุณยาย เราจะไม่รู้ประวัติความเป็นมาว่าใครเริ่มเล่นก่อน เมื่อได้มาฝึกจริงจังได้ถามว่าใครเป็นคนเล่นคนแรก ฝึกมาจากบ้านแถบไหน มาเล่นได้ยังไง รู้ที่มาที่ไปเพิ่มมากขึ้น


ถามเล่นที่ไหนประทับใจมากที่สุด?

ตอบประทับใจที่สุดงานสองและสาม ตีไปด้วยร้องไปด้วยคิดเพลงอะไรออกก็ร้องออกมา คนแก่ที่รำก็รำไปพวกเป่าปี่ก็เป่าไป ร้องเพลงช้างเพลงที่สนุก เราสนุกได้ เรามาฝึกให้มีรอยยิ้มด้วย ครั้งที่สองที่สามจึงสนุก ครั้งแรกยิ่งตียิ่งยากจำไม่ได้เกร็ง ครั้งแรกต้องตีให้ถูกเหงื่อแตก คุยไปด้วยเล่นไปด้วยไม่ได้ยิ่งเกร็ง เกร็งเกินไปจนลืมโน๊ต ครั้งที่สองหัวหน้าโครงการบอกอย่าตีหนัก มือจะด้านและบวมต้องผ่อนคลายไม่เกร็ง เขาเห็นเราใส่อารมณ์ตีหนัก จึงเขาบอกว่าเสียงแหลมให้ตีด้วยสองนิ้วและผ่อนคลาย เราต้องสนุกด้วยไม่ใช่ทำให้คนอื่นสนุกอย่างเดียว ครั้งแรกมือบวมครั้งที่สองมือไม่บวมมือด้านแล้ว


ถาม มีปัญหาอะไรอีกบ้าง?

ตอบ นอกจากปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก มีปัญหาเกี่ยวกับการเล่น คือตีไปเพื่อนไม่ได้ดั่งใจก็เถียงกันไป ตีไปเพี้ยนไปเถียงไป จะบอกกันว่าตีให้หนักตีให้แรงตีให้เข้าจังหวะ ถ้าตียังไม่เข้าจังหวะที่เพื่อนบอก ก็จะบอกเพื่อนมาตีให้ดู การซ้อมจะซ้อมเป็นวง ปี่ 1 โทน 2 ฆ้อง 1 โทนมีคนตีสองคน ป้องกันเมื่อตีผิดจังหวะต้องให้คนตีผิดหยุดตี อีกคนจะตีต่อเนื่องให้คนที่เหลือสามารถจับจังหวะตีต่อเนื่องในช่วงพิธีสำคัญ


ถาม ตอนที่ทะเลาะกันจัดการอารมณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจอย่างไร?

ตอบให้เพื่อนมาตีเอง การเปลี่ยนกลองเปลี่ยนทันทีไม่ได้ต้องบอกคนข้างหน้าว่าให้ตีไปก่อนเราจะเปลี่ยนกลอง ถ้าเราหยุดเลยเขาจะคิดว่าเราหยุดพักจะหยุดตามกัน เวลาที่จะเปลี่ยนจะต้องยกมือไหว้ขอเปลี่ยน เราต้องนับถือและลาครู จากนั้นตีต่อตีไปเถียงไปไม่เงียบสนุกหัวเราะกันเล่น บางคนจะเอาของตนเองคนเดียวก็ไม่สนุกไม่เกิดอารมณ์ เราต้องสนใจเพื่อนด้วยไม่ทิ้งเพื่อนเราเล่นวงเดียวกัน ปรับอารมณ์จากที่เถียงกันมาเป็นมาเปลี่ยนลองดูไหม เพิ่งเปลี่ยนมาตีเอง อีกแล้วเหรอทำตลกต่อ เพื่อนเป็นคนตลก ส่วนผมจะเป็นคนจริงจัง


ถามการที่เราเล่นอยู่ในวงสะเอง การคุยโต้ตอบแบบนี้มันเป็นรูปแบบที่ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นแสดงความรู้สึก เราได้สื่อสารกันแบบนี้ทำให้เราเป็นทีมเดียวกันมากขึ้นเล่นเข้ากันมากขึ้นแล้ว เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยอย่างนั้นไหม?

ตอบใช่ครับแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ใจเขาต้องการอีกแบบเราก็ปรับไปหาใจเขาหาจุดร่วมเป็นตัวเชื่อมระหว่างเราให้ไปได้ ไม่ใช่การเอาแต่ใจเรา ถ้าเล่นดนตรีแล้วไม่คุยกันเลยก็จะเงียบเหงาเป็นป่าช้าได้ยินแต่เสียงดนตรี ถ้าเป็นรุ่นผู้ใหญ่ก็จะเฮฮาหัวเราะกันเล่นสนุก ระหว่างที่เราคุยกันจะมีความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นไปด้วย


ถามได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการนี้?

ตอบ เมื่อก่อนรู้ว่าตัวเองเป็นคนกวยพูดส่วยได้เท่านั้น เมื่อมาฝึกดนตรีในโครงการคุยกับคนเฒ่าคนแก่ แลกเปลี่ยนความคิดกับรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อน ฝึกเพิ่มเติมจากสะเองไปเล่นนางออ มีเพื่อนและทักษะดนตรีเพิ่มขึ้น ได้ทักษะการหากินจับปลากับเพื่อน


ถาม รายได้จากค่าจ้างที่ไปเล่นเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ ค่าจ้างได้ตามฐานะเจ้าของบ้าน ร้อยถึงสองร้อยบาทเขาให้ตามกำลังศรัทธา บ้านไหนมีมากก็ให้มากเจ็ดถึงแปดร้อยบาทต่อคนก็มี บางงานคนเล่นสี่คน บางงานคนเล่นเกือบสิบคนได้รับค่าจ้างมาแบ่งกันหารออกมาแล้วได้น้อยบ้าง เพื่อนที่มานั่งดูถึงเช้าก็ให้แม้ว่าเพื่อนตีไม่เป็นมานั่งดูมานอนฟังมาเป็นเพื่อนก็ได้ค่าตอบแทน


ถาม ค่าจ้างที่ได้มาเราเอาไปทำอะไร?

ตอบใช้เวลาไปโรงเรียนตอนนี้ผมอยู่บ้านคนเดียว เป็นอาชีพเสริมระหว่างเรียน เมื่อก่อนจากได้เงินจากแม่และยาย ตอนนี้ไม่ขอเงินหาเลี้ยงตัวเองแต่ช่วงไหนไม่มีงานสะเองก็จะขอเงินแม่บ้าง


ถาม ปกติขอแม่เดือนเท่าไร?

ตอบ เดือนละห้าร้อยบาท ถ้าทำงานเดือนไหนได้สองสามร้อยบาทจะไม่ขอแม่ ใช้สองสามร้อยบาทที่มี ผมกินข้าวที่บ้านทวด ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ใช้เงินมาก

­

ถาม ทำไมไม่ขอแม่ เราไม่อยากเก็บเงินไว้เองเหรอ?

ตอบ ผมเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ถ้ามีเงินเยอะจะซื้อของที่อยากได้ ถ้ามีเงินน้อยก็จะไม่ซื้อ รู้ว่าแม่ไม่มีเงินมากก็ช่วยแม่ลดภาระเรื่องนี้


ถามยายรู้สึกอย่างไรบ้างที่เจี๊ยบเข้าร่วมโครงการนี้?

ตอบ ยายรู้สึกยินดีที่หลานฝึกเล่นได้ ไม่อยู่แต่ในบ้านให้ออกจากบ้านบ้าง ตอนแรกแม่เป็นห่วงคิดว่าเราติดเล่นกับเพื่อนมากเกินไป กลับบ้านค่ำไม่ค่อยสนับสนุน ตอนนี้แม่ก็เริ่มเข้าใจให้ความสนใจที่เราได้มาทำโครงการมีพี่ๆ มาสัมภาษณ์แล้วเอาไปลงสื่อโซเชียล แม่เห็นภูมิใจว่าลูกเราทำความดีให้กับสังคม การสื่อสารโซเชียลทำให้แม่เห็นว่าผมไม่ได้ไปทำอะไรเสียหาย แม่เข้าใจยิ่งขึ้นรู้ว่าเราทำอะไร


ถาม เจี๊ยบวางอนาคตตัวเองอย่างไร อยากทำอะไร เรียนอะไรอยากเป็นอะไร?

ตอบเป็นวิศวกรออกแบบตึก อยากได้เงินเดือนเยอะมาเลี้ยงดูยายแม่และตัวเอง


ถาม การที่เราได้ทำโครงการจะช่วยให้เราไปถึงอาชีพวิศวกรได้ไหม?

ตอบ คิดว่าเกี่ยวเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องทำเพื่อสังคม ถ้าเราไปสมัครงานเรามีหลักฐานว่าเราเคยทำงานเพื่อสังคมเคยเข้าร่วมโครงการน่าจะได้รับความมั่นใจจากนายจ้าง


ถาม การเรียนเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบได้ที่ห้า ครับ


ถามสรุปว่าการเรียนรู้ของเจี๊ยบได้ความเป็นผู้นำ ความคิด สร้างการยอมรับกับครอบครัว เข้าใจคนอื่น กระบวนการที่เล่าทำให้เราได้เห็นข้างในตัวเองด้วยว่าอารมณ์ตัวเราเป็นอย่างไร เอาใจเขามาใส่ใจเรา กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เราเข้าใจตัวเองที่เป็นข้างในตัวเองมากขึ้น?

ตอบ เป็นอย่างนั้นครับ