นายชิณกร มียิ่ง แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ศรีสะเกษ
“ผืนป่าชุมชนบ้านหนองสะมอนกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง เกิดจากการเพาะบ่มความรู้และจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักรักษ์ชุมชน ผ่านการเข้าร่วมโครงการพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ที่สร้างผลสัมฤทธิ์ผ่านการลงมือทำ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่พันธุ์ไม้เติบโต เป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามาหาอาหารป่าไปประกอบอาหารในขณะที่เยาวชนเองเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีที่กำลังงอกงามอยู่ในสังคม หนึ่งในนั้น คือ นายชิณกร มียิ่ง หรือ เบลล์ แกนนำเยาวชนจากชุมชนบ้านหนองสะมอน จังหวัด ศรีสะเกษ
ปัจจุบันเบลล์เรียนอยู่ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสารคาม สาขารัฐศาสตร์- รัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปี 1 กับความฝันเล็ก ๆ ที่คิดไว้ว่าหากมีโอกาสอยากเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ หรือทำงานในกระทรวงที่สามารถพัฒนาจังหวัดสังคม พัฒนาจังหวัด พัฒนาประเทศชาติได้ “ความฝันที่ผมอยากจะทำให้มันได้คือได้เป็นจริงหรือไม่ได้เป็นก็ไม่เป็นไรเพราะมันคือภาพฝันของผม แต่ถ้าได้ทำงานตรงนั้นผมก็จะขอทำให้มันเต็มที่แล้วก็คิดว่ามันเป็นผลดีต่อครอบครัว ต่อชุมชน” เบลล์บอกความฝันเล็ก ๆ ของเขาใฟ้ฟัง และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ตนเลือกเรียนสายนี้
เบลล์ใช้ประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการ ฯ เป็นใบเบิกทางในการเข้าเรียนต่อรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านการทำแฟ้มสะสมผลงาน “ผมนำกิจกรรมที่ผมทำกับทางโครงการ ฯ เป็นผลงานยื่นสมัครโควต้าเพื่อสอบเข้าเรียนต่อ ตอนนั้นผมเป็นคนเดียวที่สอบผ่าน 9 มหาวิทยาลัยโดยใช้ portfolio นำเสนอกิจกรรมที่เราเคยทำงานที่ผ่านมา 3 ปีย้อนหลัง เริ่มตั้งแต่ที่ผมทำตั้งแต่ ม.3 นำผลงานที่ผมเคยทำโครงการทำมา ทั้งกิจกรรมโรงเรียนผลงานระดับประเทศระดับภาคร่วมด้วย” เบลล์เล่าสิ่งที่ได้รับจากการทำโครงการที่สามารถนำไปต่อยอดให้กับตัวเองได้
โครงการนี้ ทำให้เขาเปลี่ยนตัวเองไปมาก เบลล์บอกว่าแต่ก่อนตนค่อนข้างเป็นเด็กเรียน และชอบทำกิจกรรมมาก แต่ข้อเสียคือไม่กล้าตอบคำถามครูเพราะกลัวตอบผิด ยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ในชุมชนเบลล์บอกแทบเป็นศูนย์ “ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ผมตื่นเช้ามาไปเรียน เสาร์อาทิตย์เราอยู่บ้านก็ทำงาน การบ้าน แทบจะไม่ได้ไปคลุกคลีกับชุมชนเลยครับ แต่พอทำโครงการเรามีความสัมพันธ์ของชุมชนมากขึ้น เรามีประสบการณ์ด้านองค์ความรู้ที่เป็นด้านการพัฒนาต่าง ๆ ได้มากขึ้น กล้าคิดกล้าทำ เป็นผู้นำคน” เบลล์เข้าร่วมโครงการ ฯ ในระยะปีที่ 3 จากการชักชวนของพี่มวล ประมวล ดวงนิล โค้ชในโครงการที่พาไปดูโครงการปีที่ 1 และ 2 ในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งเขายอมรับว่าตอนแรกแอบไม่แน่ใจว่าเด็กอย่างเราจะทำโครงการอะไรแบบนี้ได้ แต่พอได้ลงพื้นที่เห็นเพื่อนคนอื่นจากหมู่บ้านอื่นเขาทำเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้เบลล์รู้สึกว่าหมู่บ้านอื่นทำได้ หมู่บ้านตัวเองก็ต้องทำได้จึงตอบตกลงเข้าร่วมโครงการ
โครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ เป็นโครงการในปีแรกที่เบลล์และสมาชิกร่วมกันทำ เพราะมองว่าเป็นพื้นที่เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกขุดลองคลองทำให้พื้นที่เคยอุดมสมบูรณ์หายไป ต้นไม้บางอย่างถูกตัดเพื่อทำเป็นแนวคลอง ทีมงานจึงเลือกทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง และคิดว่าการทำโครงการนี้จะทำให้คนในชุมชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าที่พวกเขาได้เข้าไปฟื้นฟู ในช่วงปีแรกเบลล์เน้นการปลูกต้นไม้ทดแทน ทั้งต้นไผ่ ขี้เหล็ก ต้นกก เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้
เบลล์เข้าร่วมโครงการในปีที่ 3 เขายอมรับว่าเดินช้ากว่าเพื่อนคนอื่นที่ทำโครงการต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี ทำให้เรื่องทฤษฎีหลายอย่างตามไม่ทัน เช่น เรื่องขององค์ความรู้หลักการเขียนโครงการยอมรับว่าตอนนั้นค่อนข้างเครียด แต่ถ้าในเรื่องปฏิบัติ การเข้าชุมชนนั้นไม่ยากสำหรับตนเพราะเป็นคนในชุมชนอยู่แล้ว หลังโครงการในปีแรกจบเขาตัดสินใจทำโครงการต่ออีกครั้ง โครงการศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบ้านหนองสะมอนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหาอยู่หากินของคนชุมชน คือชื่อที่เขาเลือกทำต่อ โดยปีนี้เน้นไปที่การฟื้นฟูป่าให้ยั่งยืน กว่าจะสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเบลล์ต้องหาสมาชิกเพื่อรวมกลุ่มทำโครงการใหม่ เป็นช่วงรอยต่อของการเรียนชั้น ม.6 ทำให้หลายคนลังเลไม่อยากทำโครงการต่อ เพราะอยากทุ่มเวลาให้กับการเรียน ในขณะที่บางคนมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะเก็บเป็นผลงานเพื่อใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อ
แม้จะเคยเดินตามหลังเพื่อนในช่วงทำโครงการ หลังเข้ามหาวิทยาลัยเบลล์พูดด้วยความภูมิใจว่าสิ่งที่เขาได้จากการทำโครงการหลายอย่างทำให้เขามีต้นทุนเพื่อนำไปใช้ในการเรียน เบลล์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ผมนำทักษะจากโครงการมาต่อยอดในวิชาที่เรียนด้วยครับ เช่น วิชาธุรกิจ วิชาทักษะชีวิต เป็นทักษะชีวิตที่เราได้ลงมือทำ แล้วก็สามารถนำมาบอกต่อเพื่อนในชั้นเรียนต่อได้ เด็กที่อยู่ในกรอบ พอมาในระดับมหาลัยแล้วเป็นอะไรที่กว้างมากขึ้น เขาเคยอยู่แค่ในกรอบลองทำแค่ในทฤษฎีแต่ฐานปฏิบัติเขาทำไม่ได้ แต่เราได้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ บ่อยครั้งเพื่อนจะถามว่าถ้าจะลงพื้นที่ เค้าต้องทำอย่างไร เขาต้องมีวิธีการอย่างไร เหมือนเราก็ได้นำความรู้ที่เราเคยทำในโครงการมาแนะนำเพื่อนในรายวิชาได้อีกทีครับ”
ปัจจุบันเบลล์ยังคงนำสิ่งที่ได้จากกโครงการมาปรับใช้กับชีวิตของตนเองอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่เพียงทักษะที่เขาได้รับจากโครงการ แต่ยังได้รับโอกาส รวมมิตรภาพที่เขาได้พบเจอระหว่างทำโครงการสานต่อมาจนถึงรั้วมหาวิทยาลัย จากกล้าไม้ที่เคยลงปลูกไว้ตอนนี้เขาบอกว่าแต่ละต้นสูง และให้แหล่งอาหารให้กับชาวบ้านได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่เขารู้สึกภูมิใจมาก นี่คือผลที่เขาได้จากการมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนของตนเอง