ศศิธร เมืองมูล : บทสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด่นโครงการแต่งตัวสบายๆตามสไตล์บ้านแพ

พี่เลี้ยงเด่น โครงการแต่งตัวสบายๆตามสไตล์บ้านแพ บ้านหนองหลัก  ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน

ศศิธร เมืองมูล ชื่อเล่น เครือ

อายุ 41 ปี อาชีพ เครือรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครว่างงานที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา



เดี๋ยวจะถามพี่เครือไปทีละคำถามเกี่ยวกับโครงการที่ทำร่วมกับน้อง ๆ ก่อนอื่นให้พี่เครือแนะนำตัวก่อน ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น อายุ

ค่ะ ชื่อนางสาวศศิธร เมืองมูล อายุ 47 ปี ชื่อเล่นพี่เครือ


ตอนนี้พี่เครือทำอาชีพอะไรอยู่นะคะ

ช่วงนี้พี่ทำเป็น อว. ค่ะ อาสาสมัครว่างงานที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากทั้งเกษตรกรและเราไม่ทิ้งกัน ก็เลยไปสมัครกับที่ราชภัฏลำปาง ได้ทำงานอยู่ เข้าเดือนที่สองแล้วค่ะ อีกเดือนหนึ่งก็จะเป็นเดือนกันยายน สิ้นสุดเดือนกันยายนค่ะ


งานตรงนี้ต้องทำอะไรบ้างคะ

จะเป็นการลงเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ คีย์ข้อมูลช่วย พี่เครือเลือกลงทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนปม


แล้วก่อนหน้านี้พี่เครือทำอะไรคะ

ก่อนหน้านั้นพี่เครือเป็นแม่บ้าน แล้วก็ทำงานภาคประชาสังคม จะเป็นเรื่องของสภาองค์กรชุมชนบ้าง คณะกรรมการออมทรัพย์สัจจะในหมู่บ้านบ้าง ช่วยงานสังคม เป็นจิตอาสาค่ะ


ทำไมพี่เครือถึงมาสนใจทำงานด้านจิตอาสาพัฒนาชุมชนแบบนี้

อาจจะเริ่มจากเราเรียนเอกการพัฒนาชุมชน จบจากสถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงราย และก็มาอยู่ที่ลำพูนมาแต่งงานที่นี่ มีลูกสองคน ด้วยความที่เราถนัดการทำงานกับชุมชน ก็เลยเลือกทำงานกับชุมชนมากกว่า


แล้วพี่เครือมารู้จักโครงการแอคทีฟซิติเซนได้อย่างไรคะ

พอดีว่าก่อนหน้านั้นเคยทำงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน แล้วก็เคยทำโครงการ สสส. และเคยทำงานร่วมกับพี่ ๆ หลายคนที่อยู่สถาบันพาณิชย์ชิงชัย แล้วก็พอดีมีโครงการหนึ่ง เขาสละสิทธิ์ พี่เขาติดต่อมา มันเป็นโอกาสของเด็กในชุมชนที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เราก็เลยชวนน้อง ๆ ว่าเขาสนใจไหม เด็ก ๆ ก็สนใจ ก็เลยทำค่ะ


โครงการนี้เป็นครั้งแรกเลยไหมคะ ที่พี่เครือจับงานด้านเด็กและเยาวชนเต็มตัว หรือว่าเคยทำมาก่อนหน้านี้

เป็นครั้งแรกค่ะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นเคยทำโครงการของ สสส. ชุมชนน่าอยู่ ก็ได้ทำบ้าง หมายถึงว่า เราก็มีกิจกรรมบางกิจกรรมที่เราทำกับเด็ก ๆ แต่ของโครงการแอคทีฟ เราทำเต็มตัว เราเป็นพี่เลี้ยง คอยแนะนำเด็ก ๆ ไม่ได้ช่วยทำโครงการกับเด็ก ๆ เลยมีความแตกต่างนิดหนึ่ง อย่าง สสส. เราทำงานทั้งกับผู้ใหญ่กับเด็ก มีแผนงานกำหนดให้เขาทำ แต่ในโครงการนี้เราเขาออกแบบเองเลย ทำโครงการเองเลย เขาได้ลงมือทำจริง ๆ จัง ๆ ได้พัฒนาศักยภาพตัวเองด้วย


พี่เครือคิดว่าทำไมงานด้านเด็กและเยาวชนถึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะให้โอกาสเด็กได้ทำโครงการแบบนี้

เราเห็นว่าเด็กจะเป็นพลังในภายภาคหน้า เป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาชุมชนตัวเอง ถ้าเขาก้าวไปไกลกว่านั้นอาจจะพัฒนาจังหวัด หรือประเทศได้ ถ้าเขาได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ พี่เครือเชื่อว่าศักยภาพของเด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มันจะเป็นอะไรที่แบบน่าจะดีต่อประเทศ และอาจจะต่อโลกด้วย


พี่เครือก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ตอนนี้ สถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้างคะ

เอากันจริง ๆ ในพื้นที่มีเรื่องของยาเสพติดบ้างเหมือนกัน เรื่องของการติดเกม ติดโทรศัพท์ ท้องก่อนแต่งก็มี สถานการณ์ในพื้นที่ เราก็คิดว่าโครงการของแอคทีฟดีมาก ๆ อยากให้มีหลาย ๆ ปี ลงมาเข้มข้น ใช้ระยะเวลาเป็นปี น่าจะโอเค


พี่เครือไม่รู้สึกว่ามันไม่หนักไปใช่ไหม ถ้าเป็นปี

ถ้าพูดถึงว่าระยะเป็นปี กิจกรรมไม่เยอะ เราอาจจะมีโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพเยอะกว่านี้ อย่างระยะเวลาสามเดือน กิจกรรมเยอะมาก สิบกว่ากิจกรรม เขาไม่มีเวลาให้เรา แต่ถ้าสักปีหนึ่งค่อย ๆ ทำไป มีเวลาว่างก็ทำ ถ้ามีระยะเวลาเยอะแล้วค่อย ๆ ให้เขาทำกิจกรรม มันน่าจะโอเคมากกว่า


เวลาน้อง ๆ เขาไม่มีเวลา เขาเรียนเหรอคะ หรือว่าต้องช่วยงานบ้าน หรือว่าต้องทำอะไร

ใช่ ๆ เขาเรียนด้วย อย่างเด็ก ๆ บ้านพี่เครือ พ่อแม่ของเด็กทำการเกษตร เสาร์อาทิตย์ไปเก็บลำไยก็ต้องไปเก็บ ผลผลิตทางการเกษตร หรืออยู่บ้านดูน้อง ไม่สามารถมาทำกิจกรรมได้ เวลาที่เราทำกิจกรรมร่วมกัน คนนั้นมาได้บ้าง คนนี้มาไม่ได้บ้าง เราก็จะมาพูดคุยกัน


หนูไม่เคยไปพื้นที่เลย หนูอยากให้พี่เครือเล่าให้ฟังได้ไหมคะ ว่าบริบทชุมชนของบ้านหนองหลักเป็นอย่างไรบ้าง เป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่ใช้ชีวิตกันอย่างไร ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร แบบนี้ค่ะ

พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านหนองหลัก เป็นพี่น้องกะเหรี่ยงกลุ่มแต่มีปกาเกอะญอผสมบ้าง ยังมีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำสวน ปลูกข้าว มีลำไย ถั่วแระ ตามฤดูกาลที่ทำ แล้วก็วิถีความเชื่อเรื่องของการเลี้ยงผี เวลาเลี้ยงผีจะปิดหมู่บ้านเลย ไม่ให้รถสัญจรไปมา ในหมู่บ้านไม่ใช้รถยนต์ จะปั่นจักรยาน แล้วมีความเชื่อเรื่องของรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพร มีภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพร แต่งกายตามงานเทศกาลต่าง ๆ ที่เราทำแล้วเด็ก ๆ เริ่มให้ความสนใจ


เรื่องการแต่งกายก็เป็นโครงการของเรานะพี่เครือ ถ้าจากมุมมองของผู้ใหญ่มอง พี่เครือมองว่ามันเป็นปัญหาไหมคะ ที่ว่าหมายถึงคนไม่ค่อยแต่งตัวกันแล้ว แต่งตัวเฉพาะช่วงเทศกาล

ถ้าพูดว่าเป็นปัญหาไหม เราต้องยอมรับว่าปัจจุบันบ้านหนองหลักเป็นชุมชนเปิด เปิดหมายถึงว่า เปิดเอาวัฒนธรรมข้างนอกเข้ามา อาจเป็นเหมือนกับคนภายนอกที่ไปแต่งงาน ไปเรียน ไปทำงาน หรือแม้แต่อย่างพี่เครือ พี่เครือเป็นคนเมือง มาแต่งงานกับพี่น้องกะเหรี่ยง วัฒนธรรมเขาจะเริ่มเปิด ถามว่ามันเป็นปัญหาไหม ก็ไม่เชิงนะคะ มันก็ต้องยอมรับกับสมัยใหม่ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงนิดหนึ่ง แต่ที่เด็ก ๆ สนใจและอยากทำ เขาอยากรณรงค์ให้เพื่อน ๆ ให้คนในชุมชนได้รู้สึกภูมิใจในการใส่ชุด ปัจจุบันเอง เราเห็นว่าเด็ก ๆ ไม่กล้าใส่เพราะอาย แต่เวลาที่เขาไปทำกิจกรรมแอคทีฟหรือไปทำอะไรกับพี่เครือเขาได้ใส่ แล้วมีคนชมเขา เขาก็ภูมิใจในอัตลักษณ์ในชุดการแต่งกาย


ถ้าเป็นรุ่นเด็กหรือเยาวชน เขาอาจจะใส่หรือไม่ใส่ ก็ไม่ได้รู้สึกถึงคุณค่าหรือภูมิใจ แต่ว่าน้อง ๆ ในโครงการก็อยากจะสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นถึงเรื่องนี้ใช่ไหมคะ

ค่ะ อยากให้ตระหนัก หวงแหน ภาคภูมิใจในชุดของตัวเอง แล้วยิ่งเราได้ค้นหาความหมายของชุดกะเหรี่ยง เจอวิธีคิดที่แฝงอยู่ เช่น ทอข้างหน้าข้างหลังถึงกัน หมายถึง ต่อหน้าอย่างไร ลับหลังอย่างนั้น เรื่องของความพอเพียง มีที่มาที่ไปของชุดกะเหรี่ยง ยิ่งทำให้เด็กๆ สนใจ


พี่เครือรู้จักน้อง ๆ กลุ่มนี้ได้อย่างไร ไปชักชวนมาได้อย่างไร

พูดถึงน้อง ๆ เป็นหลาน น้องนนท์เป็นหลาน อีกสองสามคนเราเห็นว่าเวลาที่เราทำกิจกรรมเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา เขาสนใจ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเลยลองชวนดู วันที่มาเขามาตามคำชวน เจ้าหน้าที่สถาบันน้องดิว น้องนุ๊กนิ๊ก แล้วก็น้องป๊อปมาชวนพูดคุย เด็ก ๆ ก็ทำตาม ให้วาดแผนที่ก็วาด เขาถามว่าในชุมชนมีปัญหาอะไรบ้าง เด็ก ๆ ก็เขียน พี่ๆ พยายามให้เด็ก ๆ ลองแสดงความคิดเห็นออกมาว่า อันไหนที่เป็นปัญหา อันไหนที่น่าสนใจ ทำไมถึงคิดว่าเป็นปัญหา เป็นปัญหาเพราะอะไร พี่ ๆ เขาเก่งนะ ออกมาก็เป็นโครงการนี้ โครงการแต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพ


แล้วในส่วนของพี่เครือ ชวนน้อง ๆ วางแผนทำงานอย่างไรบ้างคะ ตั้งแต่เริ่มโครงการ

เราก็ดูตามกิจกรรมที่อยู่ในโครงการ ว่าเราจะทำอะไรก่อนได้บ้าง เลือกทำกิจกรรมที่สะดวกที่สุดก่อน แต่เด็ก ๆ จะเป็นหลักในการทำ พี่เครืเป็นคนหนุนเสริม ดูว่าเขาสามารถทำอะไรได้ เวลาตรงกันไหม ก่อนทำงานเราจะประชุมกันก่อน กิจกรรมที่หนึ่งเรื่องชี้แจงโครงการ สร้างความเข้าใจให้คนในชุมชน เราจะวางแผนกันก่อนว่า พรุ่งนี้มีกิจกรรมนะ ใครมีหน้าที่อะไรทำอะไร มอบหมายงานกัน


บทบาทของพี่เครือ อาจจะเปิดงานหรือเริ่มอะไรให้ก่อนตอนแรก หลังจากนั้นให้เขาคิดเริ่มกระบวนการกันเองต่อไป

ค่ะ อันดับแรกพี่เครือจะให้เด็ก ๆ แบ่งบทบาทหน้าที่ จับสลาก เอาตำแหน่งใส่ในกล่อง แล้วก็จับกันเองว่าใครได้ตำแหน่งอะไร เราจะถามว่าเขาอยากทำอะไร ๆ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะเลือกทำอะไร อาจจะไม่กล้าตัดสินใจ พอเราจับสลาก แต่ละคนได้ ถ้าคนไหนคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสม ไม่สามารถทำได้ก็ให้เปลี่ยน ทีนี้พอออกมาแล้ว มันจะมีประธาน รองประธาน ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง มีเลขาธิการ มีเหรัญญิก มีประชาสัมพันธ์


พอวางแผนแล้ว เขาทำอะไรกันต่อคะ พี่เครือ

พอวางแผนเสร็จ ได้บทบาทหน้าที่แล้ว เวลาทำงานเราจะทำตามแผนงาน แต่ก็ดูตามหน้างานที่เขาคิดว่าจะทำได้ ยกตัวอย่างครั้งหนึ่ง เด็ก ๆ คิดว่าตอนนั้นปัญหาเราก็คืออยู่ไกลจากร้านทำป้ายไวนิล ที่จะนำไปประกอบการนำเสนอให้กับผู้นำชุมชน ถ้าทำป้ายไวนิลต้องรอป้ายไวนิล สิ่งที่ทำได้ก็คือเด็ก ๆ จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรื่องผ้าทอก่อน เด็ก ๆ จะใช้เวลา ถ้าไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ ก็ใช้เวลาช่วงเย็น ๆ แบ่งกลุ่มลงพื้นที่กันไปตามพื้นที่ที่เด็ก ๆ อยู่ใกล้ ใครบ้านใกล้กันก็จับกลุ่มกัน ลงไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องผ้าทอในชุมชน


แล้วในขั้นตอนตรงนี้ พี่เครือได้เข้าไปช่วยหนุนเสริมอย่างไรบ้างคะ

ก่อนลงพื้นที่ เราประชุมกันก่อนว่า ข้อมูลที่อยากได้มีอะไรบ้าง เราก็จะลิสต์มาเลย ว่าเราอยากรู้ข้อมูลอะไรด้านไหน แล้วจะระดมความคิดเห็นว่าควรถามอย่างไร แล้วหลังจากนั้นเราก็จะทำเป็นแบบสอบถาม เด็ก ๆ ก็ไปถาม เวลาไปถามเราต้องเข้าใจว่าภาษาไทยกับภาษาชนเผ่า มันไม่ได้มีความหมายตรงตัวเป๊ะ ๆ อย่างพี่เครือเป็นคนเมืองจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร แต่ว่าเวลาเด็ก ๆ เขาไปถาม เขาเขียนมา ก็มีจะมีแฟนของพี่เครือเป็นที่ปรึกษาโครงการอีกคนหนึ่งมาดูว่าความหมายที่เขาสื่อออกมาเป็นลักษณะแบบนี้ ๆ


งั้นเวลาทำงานกับน้อง ๆ พี่เครือกับพี่เอกจะทำงานด้วยกัน หรือแบ่งงานกันอย่างไรคะ

ทำงานร่วมกัน เพราะว่าปกติจะใช้พื้นที่บ้านพี่เครือเป็นหลักในการประชุมปรึกษาหารือ ถึงเขาเป็นเด็ก แต่เขาก็ตามได้นะ จะโพสต์ในเฟซว่าเด็ก ๆ เทคิวให้พี่เครือหน่อยนะ จะประชุมกันสัก 30 นาที เด็ก ๆ ก็จะมา คนที่มาไม่ได้ก้จะตามงานในเฟสบุ๊กกลุ่มว่า เราจะทำงานตามลำดับหนึ่งสองสามสี่ห้านะ เด็ก ๆ ก็จะรับรู้ ไม่ได้มา หรือไม่สะดวกมา ก็ตามงานกับเพื่อน พี่เอกกับพี่เครือก็จะสแตนด์บายอยู่ที่บ้าน


แสดงว่าตอนน้อง ๆ ไปเก็บข้อมูล พี่เครือกับพี่เอกก็ต้องไปด้วยไหม

เด็ก ๆ ลงไปกันเองค่ะ ลงเอง ลงเสร็จแล้วจะนัดหมายกันว่ามีกิจกรรมการรวบรวมข้อมูล เด็ก ๆ จะมารวบรวมข้อมูล มาขมวดว่าใครสัมภาษณ์แล้วได้อะไรบ้าง


พี่เครือคิดอย่างไร ถึงไว้ใจให้น้อง ๆ ไปสัมภาษณ์ผู้รู้เอง

เพราะว่า บทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงคือแนะนำหรือเสริมและช่วยเหลือ มากกว่าลงมือทำ แต่ให้เด็ก ๆ ลงมือทำเอง ปัญหาอุปสรรคมีอะไรบ้าง เขาต้องทดลองแก้ปัญหา เพราะถ้าเราไปช่วยเขาหมด เขาก็ไม่ได้แสดงศักยภาพ และก็ไม่รู้ว่าเด็กคนไหนเป็นอย่างไร ทำได้ไหม เขามีขีดความสามารถประมาณไหน เลยให้เขาลองลงไปก่อน ลองเปลี่ยนกันว่า คนนี้สัมภาษณ์ คนนี้ถามดู เราก็จะได้รู้ว่าคนนี้ถนัดแบบนี้ คนนี้ถนัดจด คนนี้ถนัดถาม เราก็จะรู้


พี่เครือเข้าใจบทบาทพี่เลี้ยงแบบนี้มาตั้งแต่แรกหรือพี่เครือเองก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัวเหมือนกัน

เราคุยกันตอนพี่เลี้ยงที่สถาบันลงมาในพื้นที่ เขาจะบอกบทบาทเราเลย เป็นกิจกรรมของเด็ก พี่เลี้ยงจะเป็นคนคอยหนุนเสริม อาจมีบ้างที่เด็ก ๆ คิดไม่ออก เราไกด์ไลน์ให้ ลองชวนคิดชวนคุย เพราะฉะนั้น เราจะรู้ว่าเป็นกิจกรรมที่เด็กต้องลงมือทำเอง เราทำหน้าที่ให้กำลังใจ ช่วยแก้ปัญหาบ้างในบางเวลา


พี่เครือพอจะจำได้ไหม ปัญหาที่ต้องไปช่วยน้อง ๆ แก้ ที่อยู่ในความทรงจำเลยคือเรื่องอะไร

เด็ก ๆ บางทีความคิดไม่ตรงกัน อาจมีบ้างที่ทะเลาะกัน พี่เครือจะเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ย เราดีหน่อยมีพี่บุ๋มที่เป็นประธานกลุ่ม พอเรารู้ว่าเด็กทะเลาะกันก็จะสังเกตพฤติกรรม เห็นเขามานั่งกันคนละมุม แล้วไปอินบ็อกซ์กับพี่บุ๋ม ลองให้เขาคุยกัน ทำความเข้าใจกัน ปรับความเข้าใจระหว่างเพื่อนในกลุ่ม แล้วพี่บุ๋มก็ทำได้ดี เป็นคนใจเย็น เราจะให้เด็ก ๆ เขาเคลียร์กันเอง เวลาเขามาเจอกันอีกทีหนึ่ง เราก็จะละลายพฤติกรรม ไม่อยากให้เขาเครียดกับการทำงาน สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน ค่อย ๆ ปรับไป เพราะว่าบางทีบางอารมณ์ อีกคนอาจจะเหนื่อย ปรับอารมณ์ไม่ทัน อาจจะมีปะทะกันบ้าง


นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีความยากหรือเรื่องอะไรอีกไหม ที่เรามักจะเจอในการทำโครงการกับน้อง ๆ

เรื่องที่ยากน่าจะเป็นเรื่องเอกสาร เพราะว่าเด็กไม่ถนัดภาษาวิชาการ สิ่งที่ได้คือเก็บเป็นข้อมูลดิบ พอมาพิมพ์เป็นข้อมูลภาษาวิชาการรูปเล่มเพื่อนำเสนอจะยากสำหรับเขา เด็ก ๆ จะมาถาม เรื่องการทำบัญชี เพราะว่าจะต้องทำบันทึกทุกรายละเอียด


อันนี้รวมถึงตอนที่น้อง ๆ ต้องเอาข้อมูลมารวบรวมเป็นเอกสารด้วยไหมคะ ที่เป็นความยากอย่างหนึ่ง

ใช่ค่ะ


แต่ถ้าเด็กมีปัญหาอะไรก็จะเข้ามาปรึกษาพี่เครือใช่ไหมคะ

ค่ะ เข้ามาปรึกษา อย่างน้องจีจี้เองกับพี่มลที่เป็นเลขาและเหรัญญิก เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องกันเวลามาก็มาครบคู่ มาถึงก็จะมานั่งบ้านพี่เครือ ให้เขาดูเขาพิมพ์แล้วก็เขียน เราก็ให้คำปรึกษาคำแนะนำไป


มันจะมีส่วนที่จะต้องประสานงาน เท่าที่จำได้คือน้อง ๆ ต้องไปสอนสาธิตในโรงเรียนด้วยไหมคะ มีกิจกรรมในโรงเรียน หรืออาจจะเป็นส่วนอื่นด้วย พี่เครือมีส่วนช่วยประสานงานให้ตรงไหนบ้างคะ

ถ้าพูดถึงตอนที่ไปสาธิตและไปให้ความรู้กับเด็ก ๆ ว่า เราทำกิจกรรมแล้วเราได้อะไร ตอนนั้นเรามีพี่เลี้ยงอยู่สามคน ครูสาไม่ค่อยได้มาร่วมกับเรา หลัก ๆ ก็มีพี่เครือกับป้าเดือน เวทีวันนั้นป้าเดือนจะเป็นคนประสาน ป้าเดือนก็ประสานแล้วพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมวันนั้น


แล้วในกิจกรรมอื่น ๆ พี่เครือมีฝ่ายช่วยประสานอะไรอีกไหมคะ

ถ้าเป็นกิจกรรมอื่นจะเป็นเรื่องเวทีชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้นำและคนในชุมชน เรื่องที่มาที่ไปของโครงการ เราประสานพ่อหลวงบ้าน บอกว่าพ่อหลวงมีเด็ก ๆ ทำโครงการ แล้วเขาก็อยากมาพูดให้ฟังที่มาที่ไปว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีงบประมาณเท่าไร มีใครเป็นทีมงานบ้าง เราจะต้องทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง ก็ประสานผู้นำชุมชน มีผู้ช่วย พ่อหลวงบ้าน ศอ.บต. ประธาน อสม. แล้วก็ชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องผ้าทอ


ปราชญ์ชาวบ้านนี่พี่เครือรู้จักอยู่แล้ว หรือว่าเราต้องไปเสาะหาช่วยน้อง ๆ คะ

รู้จักอยู่แล้วบ้างบางคน ด้วยความที่เด็ก ๆ ก็รู้จัก เช่น พี่มล แม่เขา คุณเยาวเรศเป็นคนที่ทอผ้าได้สวย แกะลายได้ และรู้ว่าลวดลายดั้งเดิมเป็นลวดลายอะไรบ้าง พี่มลก็จะรู้ ผู้รู้คนนี้เด็ก ๆ ก็รู้จัก เราก็รู้จักแต่บางครั้งเด็ก ๆ อาจไม่สามารถไปอธิบายได้ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง เราก็ไปทำความเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นแบบนี้นะ เด็ก ๆ จะต้องขอความร่วมมือขอความรู้อย่างไรได้บ้าง เราก็ช่วยอธิบายเพิ่มอีกหน่อยหนึ่ง เสริม ๆ เพราะว่าเด็ก ๆ จะต้องเป็นคนทำ


ในภาพรวม พี่เครือคิดว่าชุมชนหรือผู้นำชุมชนให้ความร่วมมือดีขนาดไหนคะ

ระดับหนึ่งนะคะ รับรู้ว่าเราทำกิจกรรมโครงการแต่งตัวสบาย ๆ ตามสไตล์บางแพ แล้วก็เอื้ออำนวยให้ความร่วมมือ เช่น เราจะมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์เรื่องผ้าทอ มีงานวัด เขาก็มีพื้นที่ให้เราจัดนิทรรศการ เรานำผ้าทอไปโชว์ แล้วเด็ก ๆ ก็ไปประชาสัมพันธ์ร่วมงานร่วมกิจกรรม ที่โรงเรียน เขามีแผ่นป้ายไวนิลโครงการ แล้วก็มีการสาธิตทอผ้า ซึ่งในโครงการเราจะมีน้องจีจี้กับพี่บุ๋มที่ทอได้ เด็ก ๆ จะให้ความสนใจมาดูพี่ ๆ เขาทอ มีป้า ๆ นั่งอธิบายเรื่องลาย


จีจี้กับพี่บุ๋มเขาทอผ้าเป็นอยู่แล้วเหรอคะ

จีจี้ทอผ้าเป็นอยู่แล้ว แต่ว่าแกะลายได้บางลาย ลายที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เขาก็ทำได้อย่างลายกากบาท พี่บุ๋มก็ทอได้อยู่


พี่เครือช่วยเรียงลำดับอายุ หรือรุ่นของน้อง ๆ ในทีมให้หน่อย ใครเป็นรุ่นโต ไล่ ๆ อายุกันลงมา

รุ่นโตจะเป็นพี่บุ๋ม พี่มล พี่ใบตอง ไอเผือก ไอดั๊ม ไล่ลงมาจะเป็นน้องแป้ง จีจี้น้องสุดในกลุ่ม แล้วจะมีลูกสาวพี่เครือเป็นแถวสอง เวลาทำกิจกรรมก็จะไปด้วย เพราะแม่ชอบ เขาก็จะไปด้วย หลัก ๆ มี 7 คน 5 คน เรียนอยู่ ม.3 ทั้งหมด ขึ้น ม.4 ปีนี้ มีน้องแป้งที่อยู่ ม.3 ปีนี้ มีน้องจีจี้ที่อยู่ ม.2 ปีนี้


จีจี้พอจะมีความรู้อยู่บ้างเป็นเพราะอะไรคะ เกี่ยวกับการทอแบบนี้

จีจี้เป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรม เวลาเราทำกิจกรรม สสส. จีจี้ก็มาร่วม เวลาเราทำกิจกรรมเชิญอบรมเยาวชน จีจี้ไปไหมลูก เขาไปตลอด ไปแล้วได้ความรู้ ทำให้เขากล้า เหมือนเปิดโลกของเขา เวลาอยู่บ้านเขาไม่รู้จักใคร ความรู้อะไรก็ไม่ได้ อย่างวันก่อนมีอบรมเรื่องนวัตกรเพื่อพัฒนาชุมชน ที่ พมจ. จัด จีจี้ก็ไปเป็นหนึ่งในนั้น ไปเรียนรู้การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุ การปั๊มหัวใจ เขาก็ได้ความรู้ เวลาเขาอยู่บ้านอยู่กับตายาย เขาสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ การจับชีพจร แม่ทำเขาก็อยากจะทำ เขาเป็นคนที่แบบขวนขวาย ไม่รู้สึกหนักหนาอะไรในการเรียนรู้


คือเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาด้วย ชอบที่จะเรียนรู้ใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ


พี่เครือในโครงการจะมีอบรมพี่เลี้ยง แบบที่เราต้องไปรวมกลุ่มกันเรียนรู้ มีถอดบทเรียน เรียนรู้เรื่องเครื่องมือ ศึกษาชุมชน พี่เครือได้เอาเรื่องพวกนี้มาใช้กับน้อง ๆ บ้างไหม

ใช้เยอะมาก จริง ๆ แล้วที่พี่เครือไปอบรม สิ่งที่เราได้ก็คือ คนเราเวลาแสดงอารมณ์จะมีไฟเขียว ไฟเหลือง ไฟแดง สามารถนำมาปรับใช้ได้ บางครั้งเราอาจจะเหนื่อย กำลังล้า แต่พอมาเจอสถานการณ์หนึ่ง มันสามารถทำให้เราเตลิดได้ ลองปรับเปลี่ยนความคิด มองโลกในแง่ดี ถ้าทำงานกับเด็ก เด็กก็เหมือนผ้าขาว เราจะต้องเป็นคนที่ไม่ทำให้เขาเปื้อนอารมณ์ของเราต้องรู้ตัวเองว่าควรจะมีอารมณ์ประมาณไหน อย่าให้มันอยู่ไฟแดงนะ สมมติว่าจะแดงแล้วก็ทำให้กลับเป็นเขียว เวลาคุยกับเด็ก ๆ เราจะพยายามไม่ให้เขาเครียด ให้ทำสบาย ๆ เป็นธรรมชาติห้เขาได้แสดงความสามารถเต็มที่


มีถอดบทเรียนบ้างไหม

ถอดค่ะ ช่วงตอนท้าย ๆ ต้องถอดบทเรียน เขาทำแล้วเขาได้อะไรบ้าง ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ หลายคนบอกว่าเขาสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ด้วยนะ อย่างน้องใบตองเป็นคนที่ปกติไม่ใช่นักกิจกรรม เขาไม่เที่ยว ชอบอ่านหนังสือที่บ้านมากกว่า พอมาทำกิจกรรมก็ได้เรียนรู้วิธีการเข้ากับเพื่อน เด็กๆ มาทำโครงการได้เรียนรู้การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น หลายคนจะปรับเปลี่ยนตัวเอง การเข้าสังคม การเรียนรู้เรื่องสื่อผ่านการทำงานเป็นทีม เรื่องความสามัคคี เรื่องการจัดการกับอารมณ์ตัวเอง เรื่องของการทำงาน บทบาทหน้าที่ เรื่องของทีมงาน เรื่องของการเงินทำบัญชี


ไหน ๆ ก็พูดถึงน้อง ๆ แล้ว อยากให้พี่เครือช่วยสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ เท่าที่พี่เครือเห็นให้หน่อยได้ไหมคะ อย่างที่พี่เครือบอกว่าน้องใบตองเคารพความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้นหรือคะ

ไม่ค่ะ ปกติเขาเป็นคนไม่เข้าสังคม เป็นคนที่เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร เป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอเราชวนเขามาทำกิจกรรม เขาเริ่มเปิดตัวเองมากขึ้น ถ้าไม่รู้จักไม่เคยเจอกัน เขาจะเป็นคนนิ่ง ๆ แต่เวลาทำกิจกรรมเขาเหมือนเปิดตัวเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส แหย่คนนั้นบ้างคนนี้บ้าง เขาก็เปลี่ยน เรื่องของสื่อเรื่องของอะไรเขาก็ได้ พี่ใบตองเห็นว่าเขาอ่านหนังสือเยอะ เวลาเขาตอบคำถาม เวลาที่เราลองกระตุ้นให้เขาได้แสดงความคิดเห็น เขาเป็นคนที่พูดได้สาระเป็นวิชาการได้ อย่างไอ้ดั้มเป็นคนขี้อายมาก ไปเตะบอลกับเพื่อน ถ้าอยากกินลูกชิ้น ไม่กล้าเดินไปซื้อคนเดียว ต้องให้เพื่อนไปด้วย พอเวลาเขาทำงาน เขาต้องเป็นรองประธานฝ่ายชาย เขาก็กล้าขึ้น เรียนรู้เรื่องสื่อ เพราะเขาไปอบรมแล้วเขาให้ถ่ายคลิป ทำวีดิโอนำเสนอตัวเอง ชุมชนของตัวเองบ้าง นำเสนอตามหัวข้อที่เขามอบให้ ก็ได้เรียนรู้เรื่องของสื่อ


ตอนนี้ดั๊มมีความกล้ามากขึ้นไหมคะ

ใช่ค่ะ กล้ามากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น ปกติถามอะไรก็จะอาย แต่ช่วงหลังมาเขาเปลี่ยน จากปกติเวลาเราถ่ายวีดิโอมาตัดต่อคลิป เขาไม่กล้าเข้ากล้อง ช่วงหลังพอเราถ่ายบ่อยเข้าไม่อายละ กล้าแสดงออกในคลิปที่เราถ่ายทำอยู่


แล้วเผือกเป็นอย่างไรบ้างคะ

พี่เผือกเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่ มีความจริงจังกับงานที่ได้รับมอบหมายมาก ถือว่าสุดยอดเลยในการทำงาน การทำคลิปหรือเรื่องอื่นๆ เขาจะเป็นคนเดินเรื่องตลอด ติดตามงาน ติดต่อเพื่อน ๆ เขามีความเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ


เขาเป็นคนไม่ค่อยพูดไหม พูดน้อยไหมคะ เหมือนพวกหนูสัมภาษณ์เผือกมา เผือกจะเหมือนแบบ พูดได้ พูดสั้น ๆ ไหม หรือจริง ๆ เขาเป็นอย่างไร

ถ้ารู้จักกันจริง ๆ หรือสนิทกันจริง ๆ เขาจะคุยนะคะ แต่เขาจะพูดแบบสั้น ๆ ไม่ได้อะไรมาก มีครั้งหนึ่งที่มานั่งรอเพื่อน ๆ เด็กๆ ก็ไปถ่ายคลิปกันแล้วโพสท่าเหมือนกะเทย เขาก็ทำด้วย ไม่อาย อาจจะเป็นเพราะว่าไม่สนิท เราเลยเห็นว่าเขาไม่ค่อยคุย


แต่เขาจริงจังกับการทำงานใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ จริงจัง มีความรับผิดชอบ บางครั้งคนอื่นยังไม่ทัน แต่พี่เผือกทันเกือบทุกครั้งที่เราชวน เขาทุ่มเทนะ คน ๆ นี้ถ้าพูดถึงพัฒนาศักยภาพได้เยอะมาก


แล้วมลล่ะคะ พี่เครือ

พี่มลน่ารัก เขาเรียบร้อยนะ


เขาเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าพูดแบบนี้อยู่แล้วไหมคะ

พี่มลเป็นคน กล้าแสดงออก อาจเพราะเป็นเด็กเรียบร้อย จะพูดเสียงเบา ๆ หวาน ๆ แต่เวลาขึ้นเวทีให้นำเสนออะไรเขาทำได้


น้องมลมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างคะ

กล้าขึ้น ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการพิมพ์งานเอกสารเพราะทำหน้าที่เลขา การจดบันทึก มีความรับผิดชอบ พี่เผือก พี่มล พี่ปุ๊กกี้ สามคนนี้ทุ่มเทตลอด ทำงานหนัก ยิ่งช่วงที่ทำคลิปอัดเสียง พี่มลมาตลอดมาทุกวัน


คือทำงานเป็นทีมกันได้ดี

ค่ะ เสียดายที่พี่เผือกกับพี่ดั๊มไปเรียนที่ป่าซาง เลยเหลืออยู่ห้าสาว เพราะฉะนั้นปีสองก็จะถามก่อนว่าสะดวกต่อยอดกันไหม


ในใจพี่เครืออยากจะทำต่อไหม

ถ้าพูดถึง ในใจพี่นะ อยากให้เด็ก ๆ ทำ เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่เด็ก ๆ ว่าเขาจะทำไหม แต่ว่าจีจี้บอกแล้วว่าจีจี้จะทำ ถ้าไม่มีใครทำ จีจี้จะเป็นประธาน จะหาลูกน้องมา เขาพูดเล่นพูดหัวกัน ก็ยังไม่แน่ใจ ถ้ามีเฟสสอง หรือมีปีที่สอง เด็ก ๆ เขาคงต้องคุยกัน


พี่เครือเองก็อยากจะเป็นพี่เลี้ยงต่อไหม

พอเราไปอบรมพี่เลี้ยงเพราะเราทำงานกับเด็ก ๆ เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้เก่งนะ เพียงแต่ว่าเราต้องจับจุดให้ได้ ว่าสิ่งที่เขาสนใจสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ คืออะไร เราสนุกกับเขานะ เราก็ได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาเรื่องอารมณ์ พัฒนาเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงที่ดี เปลี่ยนเยอะมาก เพราะว่าปกติเราทำกับผู้ใหญ่ เราจะชินกับการออกแบบ กำหนดให้เขาทำ ทำแบบนี้นะคะ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ทีนี้ เรามาเป็นพี่เลี้ยง เป็นแค่คนหนุนเสริม แล้วเห็นพัฒนาการของเขา มีความรู้สึกว่า เด็ก ๆ สมัยนี้ทำอะไรได้อีกเยอะ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีพื้นที่ให้เขาเอง ถ้าจับจุดดี ๆ เราสร้างเด็กที่มีคุณภาพต่อสังคมได้เยอะเลย


มันทำให้ความคิดความเข้าใจของเราที่มีต่อเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไปด้วยใช่ไหม

ใช่ เวลาผู้ใหญ่คุยกันว่าเด็กมีปัญหา เราอาจต้องมาคุยว่าจริง ๆ แล้วเด็กเป็นปัญหาไหม สิ่งที่เขาต้องการคืออะไร หรือการที่เรายื่นมือให้โอกาส มันเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราบอกว่าปัญหาในชุมชนเด็กติดยาเสพติด แต่ถ้าเรามีโอกาสให้เขา มีพื้นที่แสดงความสามารถ หรือให้เขาได้แสดงออกอย่างถูกต้อง มันอาจจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาสังคมได้หลายทางหลายปัญหา


นอกจากเรื่องพัฒนาอารมณ์ตัวเองแล้ว พี่เครือได้พัฒนาตัวเองเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ อีกไหมคะ

เรื่องสื่อ เพราะว่าอยู่กับเด็ก ๆ เวลาเขาทำสื่อ เขาตัดต่อ เราก็มานั่งดูด้วย เราให้ลูกสาวอัดคลิปเรา อันไหนที่เราพูดไม่รู้เรื่อง พูดวนไปวนมา เราสามารถตัดให้ฟังแล้วดูดี อย่างพี่เลี้ยงสถาบัน เขาลงมาช่วยเรื่องเทคนิควิธีการทำสื่อด้วย แอบดูแอบศึกษาแอบเห็น มีความรู้สึกว่าถ้าเราลงมือทำ หรือมีโอกาสได้ทำ เราน่าจะทำได้ดีนะ อย่างการนำเสนอคลิปวีดิโอแต่ละพื้นที่ เราเห็นว่าบางพื้นที่ทำได้ดีมากเลย เราก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง ถ้ามีโอกาสนะ ปีหน้าอาจจะได้เห็นที่สวยกว่าปีแรก


มีเรื่องสื่อแล้ว เรื่องพัฒนาอารมณ์แล้ว มีเรื่องอื่นอีกไหมที่พี่เครือได้พัฒนาตัวเอง

การเรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับเด็ก เด็กเหมือนจับปูใส่กระด้ง เราต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไร หาวิธีการอย่างไร ไม่ให้เขาออกจากกระด้ง อยู่ขอบ ๆ ก็ได้


น้ำอิงเป็นลูกพี่เครือใช่ไหม มันส่งผลต่อการดูแลลูก หรือการแสดงออกของเราที่มีต่อลูกด้วยไหมคะ หลังจากที่เราได้มาเรียนรู้ที่โครงการแล้ว

ใช่ เยอะมากค่ะ เราคุยกับลูกด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น ไม่ได้ใช้อารมณ์ ถ้าเขามีปัญหา หรือเกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เราสามารถปรับตัวและสังเกต ไม่แสดงออกเหมือนที่ผ่านมา ไม่โวยวาย แต่มีเหตุผลมากขึ้น นั่งคุยกัน มันเกิดอะไรขึ้น แล้วหาทางแก้ไข ทั้งพี่และพี่เอก


ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราทำอย่างไรคะ

ด้วยความที่เราเป็นคนที่เสียงดัง อาจจะโวยวายใส่ ไม่ฟังเขา เราอาจจะเอาความรู้สึกของเราตัดสิน แต่หลังจากที่เราไปอบรมเรื่องการทำงานร่วมกับเด็ก เราซอฟต์ลง ถ้าไม่ซอฟต์ลงก็อย่าให้มันแรงเกินไป พยายามให้กำลังใจเขา ชมเขา ไม่ด่าไม่ซ้ำเติม ให้กำลังใจ มันไม่มีผิดไม่มีถูกนะ เด็ก ๆ น่ารัก ทำอะไรก็น่ารัก ยิ่งเรากล้าแสดงออก ยิ่งทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเราสามารถเป็นผู้นำได้ ให้กำลังใจเขา เวลาที่เด็กๆ ตอบไม่ชัดเจนหรือตอบไม่ได้ ทำไม่ได้ เราบอกเขาว่า ไม่เป็นไรลูก ไม่มีผิดมีถูก ทำสุดยอดแล้ว เก่งมาก พยายามให้กำลังใจ เพราะมันคือการเรียนรู้ มันคือการพัฒนาศักยภาพของเขา ถ้าเราบอกอย่างนี้เขาจะรู้สึกโอเค เขาก็จะสามารถนำไปปรับปรุง รอบหน้าเอาใหม่


พอเราเปลี่ยนแล้วเราเห็นปฏิกิริยาของเด็ก ๆ ที่ตอบกลับมาเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมคะ

เขาก็มองโลกในแง่ดีขึ้น อย่างเวลาที่กำลังเครียดกับสิ่งนั้น เขาก็คลายลง ลดความกดดัน ลดความตึงเครียดลง บางครั้งอาจรู้สึกว่าทำไมทำไม่ได้ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เอาใหม่ อย่างตอนอัดคลิป เรามีโพยให้ท่อง พูดผิดพูดถูกหลายรอบ ตอนพี่เผือกมาอัดหลายรอบ ต้องอัดใหม่ เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเลี้ยงข้าวเย็น เขาก็อารมณ์ดีขึ้น เวลามีความเครียดก็ไม่อยากให้เขาเครียด เพราะผลออกมาก็จะไม่ได้ประสิทธิภาพ


แล้วน้ำอิงเอง พี่เครือเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเขาบ้างไหม

เขากล้าขึ้นนะ ปกติพี่เครือกับพี่เอกจะพาลูกไปหลายที่ ถ้าไปเที่ยวก็ชอบ เวลาอยู่ด้วยกันสามสี่คนหรืออยู่กับญาติพี่น้อง เขาก็คุยเก่ง แต่เขาไม่เคยมีโอกาสขึ้นบนเวที เขาจะอาย ไม่กล้า เราพยายามสอนเขาว่าไม่เป็นไรนะ อย่างที่พี่บอกเด็กทำอะไรก็ถูกหมด น่ารัก ถ้าน้ำอิงกล้า ผู้ใหญ่เขาจะชอบ ตอบไปเถอะ อยากตอบอะไรก็ตอบ พอเราไปอบรมนวัตกรของ พมจ. เขาได้ขึ้นไปนำเสนอ ตอนแรกก็สั่น พี่เครือไปด้วยอยู่กลุ่มเดียวกัน ตอนลงมาก็บอกว่าลูกสุดยอด ๆ เขาก็กล้าขึ้น  วันก่อนครูมงคล ครูประจำชั้น ให้ไปนำเสนอเรื่องของคำวิเศษณ์ เขาก็ให้เราช่วยนะ บอกว่าแม่อยากให้ขึ้นไปพูดแบบไม่มีกระดาษ พูดแบบธรรมชาติ พูดเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง เขาทำได้ เขาลืมไปข้อหนึ่ง เพราะคำวิเศษณ์จะต้องไปขยายคำ เราก็บอกว่าสุดยอดแล้ว เมันทำให้เราปรับใช้กับลูกได้


จากประสบการณ์ที่ทำงานกับน้อง ๆ มา พี่เครือคิดว่าการให้กำลังใจมันสำคัญอย่างไร

สำคัญมาก เอาจริง ๆ เหมือนเราตอนเด็ก ๆ ถ้าเราจะขึ้นไปจับไมค์ หรือไปนำเสนออะไรสักอย่าง มันจะกดดันนะ ปวดฉี่ เข้าห้องน้ำ เยอะแยะ แต่พอมีคนมาจับมือเรา ใจเย็น ๆ นะ หายใจลึก ๆ ไม่เป็นไร เราก็มีความรู้สึกที่ดีต่อใจ เพราะฉะนั้นการให้กำลังใจ ทำให้เราอุ่นใจ แล้วเขาจะคลายความตื่นเต้น


พี่เครือมียกตัวอย่างไหม เหมือนพี่เครือยกตัวอย่างไว้ แล้วเสียงมันหายไป

ตอนที่เด็กจะขึ้นไปนำเสนอให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เด็ก ๆ ก็ตื่นเต้น เพราะหลายคนไม่เคยขึ้นเวทีนำเสนอแบบนี้มาก่อน เพราะว่าเราก็ปีแรกนะ เราก็ให้กำลังใจว่าไม่เป็นไร สู้ ๆ แล้วเราก็ทำการบ้านกันหนักมาก เตรียมความพร้อมว่าถ้ากรรมการถามแบบนี้ ต้องตอบแบบนี้นะ พี่เครือก็ลุ้นอยู่ข้างหลังพี่โจ้เขานะ เขาเห็นเราชูนิ้วให้ตอนตอบได้


เขามีเราอยู่ด้วยเขาก็อุ่นใจ มั่นใจมากขึ้น?

ใช่ ๆ เหมือนกับเด็ก ๆ ที่เขาเต้นฟ้อนอยู่บนเวที แล้วมีครูฝึกซ้อมทำท่าอยู่ข้างหน้า ถ้าเราจำไม่ได้ก็ทำตามครู เพราะครูทำให้ดูอยู่ข้างล่างเวที นี่ก็เหมือนกัน เหมือนกับเราอยู่กับเขา เราไม่ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว ไม่ให้เขาเผชิญต่อปัญหาตามลำพัง


ถ้าให้พี่เครือวิเคราะห์ตัวเอง ความเป็นพี่เลี้ยงของพี่เครือ มีความถนัดหรือเชี่ยวชาญเรื่องอะไรมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เชี่ยวชาญเรื่องการวางแผนมากที่สุด เชี่ยวชาญเรื่องการถอดบทเรียน การเสริมพลัง พี่เครือคิดว่าตัวเองเชี่ยวชาญด้านไหน

อาจจะเป็นเรื่องของการเสริมพลังมากกว่า เพราะว่าถ้าพูดถึงแล้ว เรื่องการวางแผนเด็ก ๆ ก็ทำตามสเต็ปที่น่าจะเป็น วันที่เขาทำโครงการ ทางเจ้าหน้าที่ที่สถาบันวิจัยมาร่วมชี้แนะ วางแผนงาน พี่เครือเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นเด็กอยู่เหมือนกัน เราอยู่กับเขาเราได้เรียนรู้เหมือนกัน ต่างคนหนุนเสริมกัน ต่างคนก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการทำงานทั้งเราและเด็ก


พี่เครือชอบหรือประทับใจอะไรจากการทำโครงการนี้บ้างคะ

ถ้าพูดถึงชอบ อย่างที่พี่พูดตอนต้น เราเคยทำงานที่เป็นคนทำทั้งหมด แต่ตอนนี้เราเป็นแค่คนหนุนเสริม และเราได้เห็นพัฒนาการเด็ก ๆ เราเห็นว่าเด็กมีศักยภาพ เขามีความสามารถอยู่ในตัวของแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกัน มันทำให้เราได้เรียนรู้เด็ก ได้เรียนรู้พฤติกรรม เรียนรู้ความเป็นเด็ก มันก็ทำให้เราประทับใจว่า ถ้าพูดถึงการทำงานของเราทั้งหมด เราเป็นนักพัฒนา เราคอยหนุนเสริม เราสอนให้เขารู้ ไม่ใช่ไปอุปถัมภ์นะ แต่เราสอนให้เขาสานแห มันจะทำให้มีวิชาชีพ มีความรู้ มีความสามารถติดตัวเขาไป ในอนาคตไม่แน่นะ อาจจะโตไปเป็นนักข่าว คนหนึ่งอาจจะไปทำงานด้านสื่อ


จากการทำโครงการมา พี่เครือมองว่าโครงการประสบความสำเร็จไหมคะ ในความคิดของพี่เครือ

ประสบความสำเร็จนะคะ เด็ก ๆ เขามาสรุปตัวเอง เขาเกิดการพัฒนาตัวเอง เท่านั้นพี่เครือก็พอใจแล้ว ไม่ได้เป็นรูปธรรมมากมาย แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เราถือว่าเราโอเค


งานของโครงการนี้ได้ไปเชื่อมโยงกับชุมชนภายนอกบ้างไหมคะ หรือเราเน้นในชุมชนของเรา

ตอนนี้ทาง พมจ. หน่วยงานพัฒนาบนพื้นที่สื่อ เป็นหน่วยงานของ พมจ. เอาหมู่บ้านหนอกหลักเป็นหมู่บ้านนำร่อง หมู่บ้านตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มเปราะบาง และนวัตกร เราได้เอาเด็ก ๆ ไปร่วมกิจกรรมกับเขา นวัตกรเหมือนกับมีบทบาทหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุด้วย แต่ว่าถึงเราทำเองไม่ได้ เราสามารถติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรื่องของเด็กที่ด้อยโอกาสในชุมชนเชื่อมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะมาหนุนมาช่วยเหลือ เด็ก ๆ ก็ได้ร่วมได้ทำ


ถ้าทำโครงการต่อ อะไรเป็นเรื่องที่พี่เครือคิดว่าเป็นเรื่องยากและน่าจะเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับตัวพี่เครือเอง

อาจจะเป็นเรื่องทอผ้าค่ะ ถ้ายังทำเรื่องผ้าทออยู่นะ เรื่องอื่นน่าจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเราเคยทำงานภาคประชาชนมาก่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทอผ้าและลายผ้า มีหลากหลายขั้นตอน สมมติว่าเด็กรุ่นพี่ดั๊มกับพี่เผือกไปเรียนป่าซาง อาจจะต้องหาคนมาร่วมใหม่ ปกติพี่เผือกกับพี่ดั๊มเป็นหลักในการทำ เพราะฉะนั้นถ้าทำใหม่จะต้องใช้พี่ ๆ ผู้หญิง พี่บุ๋ม พี่มล มันก็จะมีปัญหาตรงนี้นิดหนึ่ง


แล้วก็เหมือนที่พี่เครือบอกเนอะ ว่าจะต้องถามน้อง ๆ ว่ายังจะมีไฟทำต่อไหม

ใช่ ๆ สมมติว่าพี่มล พี่บุ๋ม พี่ใบตอง พี่แป้งไม่เอาแล้ว พี่จีจี้อยู่คนเดียว มีน้ำอิงมาร่วมด้วย ต้องหาทีมใหม่ มันก็จะเรียนรู้กันใหม่ ยากขึ้นนิดหนึ่ง


อยากย้อนกลับไปตอนแรกเลย ที่พี่พาน้องทำกิจกรรมเนอะ ช่วงแรก ๆ เลย เราวางบทบาทตัวเองในการเป็นพี่เลี้ยงไว้แบบไหน คือเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกเลย หรือว่าอย่างไร มาเปลี่ยนแปลงตอนไหน

วางไว้แต่แรกเลย เพราะว่าตอนที่เจ้าหน้าที่ทางสถาบันลงมาคุยกันว่าบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงประมาณไหน เด็ก ๆ จะเป็นคนทำกิจกรรมทั้งหมด เราแค่เสริมแนะนำ


ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรม ทางพี่เลี้ยงของลำพูนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทพี่เลี้ยงก่อนแล้วใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ เพราะว่าวันนั้นที่เราคุยกันเสร็จ พี่เลี้ยงทางลำพูนชวนพูดชวนคุยกับเด็ก ๆ ให้เด็ก ๆ แสดงความคิดของเขาทั้งหมดนะ โดยที่เราแค่แนะว่ามันเป็นแบบนี้ไหม มันมีอะไรอีก อยากทำสีใช่ไหม มีอะไรอีกที่เราอยากทำ จะเป็นประมาณนั้นมากกว่า ทั้งพี่เลี้ยงของสถาบันและเราด้วย เราแค่แนะ หรือว่าแค่ชวนคิดชวนคุย ให้เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นแบบไหน


จะถามรายละเอียดช่วงก่อนเก็บข้อมูลค่ะ พี่เครือ ช่วงที่น้อง ๆ ระดมความคิดกันว่าจะเก็บข้อมูลอะไร ตอนนั้นพี่เครืออยู่กับน้อง ๆ ถูกไหมคะ ช่วงก่อนที่จะลงพื้นที่ที่เขาคุยกันว่าอยากจะได้ข้อมูลอะไรกันบ้างตอนไปสัมภาษณ์ผู้รู้ พี่เครือมีในใจไหมว่า เด็ก ๆ ควรจะไปเก็บข้อมูลอะไรบ้าง หรือว่าพี่เครือก็เรียนรู้ไปพร้อมกับน้อง

จริง ๆ เราแอบมีอยู่ในใจ แต่ว่าเราไม่ได้คิดว่าต้องทำแบบที่เราคิด เราก็ต้องถามความคิดเห็นของเด็กก่อน เติมให้เขาในส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม แบบนี้พอไหม น่าจะมีอะไรอีกไหม ก็จะโยนคำถามไปให้เขาคิดต่อ ว่าอยากรู้อะไรมากกว่าที่เราอยากรู้ เราก็จะได้บอกข้อที่จะสอบถามออกมา


แปลว่าตอนนั้นให้เขาคิดเอง เขาก็คิดไม่ครบหรอก ถูกไหมคะ เราก็เห็นแล้วว่าเรื่องนี้เขายังไม่ได้คิด เราก็ใช้การถามต่อ

มันพอไหม มันน่าจะมีอะไรอีกไหม มันสามารถไปต่อได้อีกไหม จะประมาณนั้น


พี่เครือพอจะจำได้ไหมคะ ว่าเรื่องอะไรบ้างที่เด็ก ๆ เขาระดมเอง มีเรื่องอะไรบ้างที่พี่เครือเติมให้น้องคิดต่อ

วันนั้นที่เขาถาม ตอนแรกเขาอยากรู้แค่ว่ามีลวดลายอะไรบ้างที่เป็นลวดลายดั้งเดิมในชุมชน แล้วก็จะไปถามใคร แล้วก็อยากรู้ขั้นตอนทำอย่างไร แต่เราก็อยากจะให้เขาได้รู้ว่าที่มาที่ไปของผ้าทอมาอย่างไร เราก็บอกว่า มันต้องถามยายด้วยไหมลูก ว่าทำไมถึงต้องใช้ผ้าทอ ผ้าทอมีประวัติอย่างไร จะเป็นลักษณะของถามเด็ก มีเรื่องนี้นะ หนูสนใจจะเก็บเพิ่มไหม


แล้วช่วงที่เด็กๆ เก็บข้อมูลมาได้ แล้วต้องมารวบรวมสรุปค่ะ พี่เครือจะต้องเข้าไปช่วย คือเขาสามารถสรุปข้อมูลได้เองเลยไหม หรือว่าพี่เครือต้องไปช่วยตั้งหลักอะไรบางอย่างให้น้องเขาก่อน

จะต้องไปช่วยในเรื่องของขมวดค่ะ เพราะว่าแบบสอบถามเป็นข้อเขียนไม่ใช่ข้อกากบาท พอเป็นข้อเขียนความคิดจะต่างกัน เราก็จะต้องไปดูประเด็นว่าอันไหนเป็นประเด็นเดียวกัน ก็เอามาขมวดเป็นประเด็นเดียวกัน อันไหนที่มันแตกประเด็นได้อีก เราก็ถามว่าอันนี้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งไหม


พี่เครือใช้เครื่องมือหรือวิธีการอะไร ที่ทำให้น้องขมวดประเด็นได้

อาจจะเป็นการเปรียบเทียบ เช่น เขาบอกว่าประวัติผ้าทอ มีการทอมานานแล้ว บางคนไม่รู้ว่ามาจากไหน บางคนบอกว่า จำแบบสอบถามไม่ได้แล้ว มันก็มีหลายคำตอบ หลักก็คือว่าถ้าลักษณะคำตอบมันคล้าย ๆ กัน ให้เขาจัดหมวดหมู่อันเดียวกัน


ให้หลักว่าถ้าอันไหนสอดคล้องกันก็คือเป็นทางเดียวกันนะ

ใช่ค่ะ


แล้วเขาสามารถทำได้เองไหมคะ หลังจากที่พี่เครือให้แนวไปแบบนั้น

มาตรวจสอบทีหลังเหมือนกัน หลังจากที่เขาทำเสร็จ พี่เครือจะมาดูให้เขาอีกที ทุกครั้งเวลาที่เราเจอกัน เราประชุมกัน เราจะคุยกันหลังทำกิจกรรม ว่าโอเควันนี้เราทำอะไรบ้าง เหมือนสรุปเป็นรายวันรายกิจกรรมไป


มันยากสำหรับเขาไหมคะ ที่จะต้องมาทำอะไรแบบนี้

อันนี้ความรู้สึกพี่เครือนะ เด็ก ๆ อาจจะคิดว่ายาก เพราะว่าพอเป็นวิชาการ แล้วเขาก็ยังไม่ได้ผ่านถึงขั้นนั้น เลยอาจจะยากสำหรับเขา เราก็ต้องให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ทำไป แบบนี้ค่ะ


เราก็ไม่ได้เร่งรัดอะไรเขามาก

ไม่ได้เร่งรัดนะ เวลาที่เขาทำเสร็จแล้วก็ให้พี่เครือช่วยดูให้ว่าโอเคไหม อาจจะเพิ่มเติมในบางส่วนที่ยังไม่ครบ


หลังจากทำเสร็จ เขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาได้ทำ เขามีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นไหมคะ

ถ้าพูดถึง เขาก็รู้ประวัติความเป็นมา รู้ความหมาย จุดเด่นของชุด รู้ลายผ้าดั้งเดิม จะมีความรู้เพิ่มมากขึ้น อย่างหนุ่ม ๆ เองเนี่ย เขาจะไม่ค่อยมาสนใจเรื่องผ้าทอ แต่พอทำเสร็จ พี่เผือกกับพี่ดั๊มจะรู้ข้อมูลมากขึ้น


เด็ก ๆ เก็บข้อมูลกันกี่รอบคะ

เก็บสองค่ะ


แล้วสรุปกันทุกรอบไหมคะ หรือว่ามาสรุปทีเดียว

จะแบ่งเป็นสองครั้งค่ะ


เราต้องช่วยทั้งสองครั้งเลยไหมคะ หรือว่าครั้งที่สองเขาเริ่มทำเองได้

เหมือนกับว่าทุกครั้งที่สรุป เราก็ต้องร่วมกิจกรรมกับเขา ส่วนมากเด็ก ๆ จะมาทำกิจกรรมที่บ้านพี่เครือ พอเวลาเขารวมกลุ่มกันก็จะมาบ้านพี่เครือ เราก็จะอยู่กับเขาเกือบทุกครั้ง ให้กำลังใจบ้าง มีอะไรที่เราซัปพอร์ตเด็ก ๆ ได้บ้าง เราก็ช่วยเหลือเขาค่ะ


มีงอแงไม่อยากทำกันบ้างไหมคะ

มีบ้างค่ะ บางอารมณ์นะเด็ก ๆ เราก็ให้กำลังใจ ไม่เป็นไรนะ สู้ ๆ โดยมากจะเน้นกำลังใจมากกว่า กระตุ้นหน่อย ยุหน่อย เก่งมาก สุดยอด ทำเลย


เขาได้พูดอะไรกับพี่เครือบ้างไหมคะ

เหมือนเวลาที่เราถอดบทเรียน เขาก็พูดว่าเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เราก็โอเคนะ หลาย ๆ ครั้งที่เจอกัน เขาไม่ได้คุย แต่พอเวลาเราถอดบทเรียนว่าสิ่งที่เราได้จากการทำโครงการมีอะไรบ้าง เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง เขาได้ในเรื่องสื่อ รู้จักเพื่อนใหม่บ้าง เราก็โอเคนะ

­