เจนณรงค์ กาสุยะ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน

นายเจนณรงค์ กาสุยะ  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน


“ถ้าไม่มีโครงการ Active Citizen ในวันนั้น คงไม่มีบิวในวันนี้” เป็นคำพูดของหนุ่มเหนือ แห่งจังหวัดลำพูน ตอนที่เราสัมภาษณ์ย้อนความทรงจำ และการเติบโตของตัวเขาเองเมื่อสมัยยังทำโครงการ Active Citizen หนุ่มเหนือ คนนี้ มีชื่อว่า ‘บิว’ อายุ 27 ปี ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยหริภุญชัย และกำลังเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ จังหวัดลำพูน

เด็กหนุ่มขาลุย สายบุญ ผู้หลงใหลงานจิตอาสา เพราะการได้เห็นรอยยิ้มของผู้รับ คือ ความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้

ที่มาที่ไปของคำว่า ‘ขาลุย สายบุญ ของหนุ่มเหนือคนนี้ มาจากการย้อนกลับไปก่อนที่บิวจะเข้าโครงการปีที่ 1 บิวได้เล่าให้เราฟังว่า ตัวเองชอบแนวการทำกิจกรรมแบบ Action สายลุย ไม่ชอบแนววิชาการ และมีพื้นฐานด้านกิจกรรมมาเยอะ เคยทำงานกับกลุ่มเครือข่ายและเยาวชนจังหวัดลำพูน ไม่ว่าจะเป็น’กล้าดีสีลำพูน’ ‘สภาเด็กและเยาวชน’ และ ‘กลุ่มเด็ก ๆ บ้านโฮ่ง’ เลยคิดว่าการทำโครงการ Active Citizen ไม่น่ายากอะไร บวกกับสนใจกับการทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ จิตอาสาเป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจมาเข้าร่วมโครงการจากการถูกชักชวนโดยรุ่นพี่ที่รู้จักกันที่สวนพุทธ เอารถไปซ่อมที่ ‘อู่’ ที่บิวทำงานพาร์ทไทม์เป็นเด็กช่างซ่อมเครื่องอยู่

ถึงแม้ว่าตอนนั้นจะไม่ได้ตั้งใจเข้าร่วมโครงการ และไม่ได้ร่วมเขียนโครงการตั้งแต่แรก บิวก็รู้สึกชอบและสนุกกับได้ทำโครงการ Active Citizen มาก ๆ เพราะด้วยความที่บิวเป็นคนในพื้นที่ คุ้นเคยและผูกพันกับสวนพุทธตั้งแต่สมัยที่เคยบวชเรียน และเข้ามาสวดมนต์เป็นประจำ ทำให้บิวรู้จักและสนิทกับคนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาวาส ภารโรง หรือการสานต่อเครือข่ายสวนพุธ นอกจากการรู้จักคนมากขึ้น บิวได้รู้จักสถานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยบิวเล่าว่า ‘ผมไปวัดแถว ๆ บ้าน เรารู้ว่าวัดนี้มีอะไร ยังไง แต่พอเราไปลงมือทำความสะอาดเอง เราลงมือทำกิจกรรมเอง หรือพาน้อง ๆ ทำกิจกรรม มันทำให้เรารู้ว่ารายละเอียดประวัติของวัดมันน่าสนใจ และที่น่าตกใจมากที่ทำไมเราไม่รู้ประวัติวัดเลย เช่น เจ้าอาวาสคนก่อน ๆ ชื่ออะไรบ้าง เพราะผมก็เป็นสายเก็บของเก่าคนนึง ดูพระ เล่นพระด้วย ทำให้เรารู้ประวัติวัดมากขึ้น ทำให้เรารู้จักชุมชนที่อยู่ในตำบลของตัวเองแทนที่จะเป็นเฉพาะหมู่บ้าน แต่ได้ความรู้ที่กว้างอีก เช่น ทำไมตำบลนี้มันชื่อบ้านหนองน้ำ มันทำให้เรารู้ถึงประวัติสถานที่ด้วย มันเป็นความรู้ประดับของเราสืบทอดให้กับลูก หลาน น้อง ได้เยอะแยะ

และการที่บิวหลงใหลทำงานจิตอาสาแบบนี้ เพราะบิวมีเชื่อว่าการทำกิจกรรมจิตอาสา คือการทำบุญอย่างหนึ่ง เป็นการตัดสินใจที่จะ ‘เลือก’ ทำสิ่งที่ดีต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น และสำคัญคือบิวรู้สึกภูมิใจในตัวเองเมื่อได้ทำเห็นรอยยิ้มของผู้รับ ‘กิจกรรมพวกนี้มันทำให้เราได้ทำบุญ อย่างที่บอกว่าผมบวชเรียนมาตอนบวชเรียน เราได้ศึกษาพระธรรมมา พระไตรปิฎก เราได้เรียนรู้เรื่องธรรมะเยอะ เขาถึงบอกว่าทุกอย่างเกิดจากกรรม ก็คือการกระทำ ถ้าเรามีโอกาสทำสิ่งที่ดี ก็ทำได้ แต่ถ้าบางครั้ง เราทำผิดพลาดหรือทำสิ่งที่ไปกระทบกับคนอื่น มันก็คือทำไม่ดี เราก็ทุกข์ คนอื่นก็ทุกข์ ซึ่งการทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ ทำให้ผมได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เราไม่รู้จัก เราได้ไปทำอะไรให้เขา เราไปทำกิจกรรมดี ๆ ให้กับชุมชน เราได้เห็นรอยยิ้มของลุงๆ ป้าๆ และน้อง ผมจึงชอบคนยิ้มมากกว่าชอบเห็นคนหน้าตึง ๆ หรือได้ทำอะไรให้สังคม ถ้ามันไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเราแล้วมันถูกต้อง มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจตัวเอง ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หนุ่มเหนือคนนี้ ถูกนิยามว่าเป็นขาลุย สายบุญ ผู้หลงใหลการทำงานจิตอาสา

พี่ใหญ่ของกลุ่ม ผู้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ซัพพอร์ตด้านจิตใจให้น้อง ๆ

บิวได้เข้ามาร่วมโครงการในปีที่ 1 ในฐานะเยาวชน ซึ่งตอนนั้นบิวมีอายุ 25 ปี เป็นพี่ใหญ่ของน้อง ๆ ในกลุ่ม บิวพูดอย่างติดตลกว่า น้อง ๆ เรียกว่าลุงบ้าง แต่ก็รู้สึกสนุกดีที่ได้ทำงานร่วมกับน้อง ๆ ซึ่งบทบาทความเป็นพี่ใหญ่ของบิวนั้น บิวบอกว่า ‘ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องเป็นผู้นำให้กับน้อง เราคอยที่จะซัพพอร์ตทางด้านความคิด กำลังใจให้น้องทำ ไปทำมันเหนื่อยแต่น้อง ๆ ก็รู้อยู่แล้ว ตอนเราทำกิจกรรมทุกกิจกรรม เราเป็นพี่ใหญ่ เราจะกลับมาทบทวนกันก่อนในกลุ่มเขาเรียกว่า ARE ผมก็ไม่รู้หรอกตอนนั้นว่าคืออะไร แต่ผมรู้ว่าประชุมเสร็จแล้วต้องมาถอดบทเรียนกัน เราใช้คำที่เด็กเข้าใจง่าย เช่น จากกิจกรรมนี้เจออะไรกันบ้าง ทำไมต้องมาทำอะไรแบบนี้ ล้างห้องน้ำเหม็นก็เหม็น เจอเป็นก้อน แล้วเราได้อะไรบ้าง บางครั้งมันตลกฟังเด็กเล่า’ ซึ่งในตอนนั้น จะมีพี่เลี้ยงโครงการ คือ อาจารย์น้อง หรือพี่โอ มาชวนสรุปอีกทีว่า ทำไมต้องทำ ทำแล้วสุดท้ายได้อะไร

และด้วยความที่บุคลิกที่เป็นมิตรของบิว ทำให้บิวมีวิธีที่จะเข้าหา สร้างความคุ้นเคยกับน้อง ๆ ในกลุ่ม เพราะตอนนั้นโครงการในปีที่ 1 เกิดปัญหาที่ว่ารวมตัวเด็ก ๆ ยาก บิวจึงใช้ความเฟรนลี่พูดคุยกับน้อง ๆ ไม่ถือตัวว่าตัวเองเป็นพี่แล้วน้องต้องมาฟัง หรือไม่ใช้วิธีการ ‘ตัวล่อ’ เช่น ทำงานเสร็จจะไปกินก๊วยเตี๋ยวนะ แต่บิวทำงานด้วยหลักคิดว่า ‘เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน’ ที่บิวถูกปลูกฝังและส่งต่อน้อง ๆ และด้วยความที่บิวชอบคุย แลกเปลี่ยนกับน้องๆ ตลอดเวลา ทำให้น้องๆ กล้าที่จะเข้ามาปรึกษาเรื่องครอบครัว เรื่องความรัก บิวยกตัวอย่างเคสน้องที่เข้ามาปรึกษาให้ฟังว่า ‘มีน้องคนนึงในโครงการอกหัก แล้วก็ช่วยกันดึงเข้ามาทำกิจกรรม พออยู่กับพี่ๆ มันไม่เหงา ทำกิจกรรมแล้วมันมีเพื่อน มันก็เลยมากันเรื่อย ๆ เราก็ใช้ตัวกิจกรรมมาดึงเด็กให้เข้ามาร่วม’

ด้วยหลักคิดในการทำงาน และความเป็นบิว ที่มีบุคลิกจริงใจ ตรงไปตรงมา เฟรนลี่ นอกจากจะทำให้บิวกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของน้องๆ แล้ว ยังทำให้บิวสามารถดึงให้น้อง ๆ กลับเข้ามาในโครงการได้ด้วย

เข้าใจถึงความหมายของ ‘Active Citizen’ กับบทบาทพี่เลี้ยงโครงการ 15 โครงการ จังหวัด ลำพูน

‘กิจกรรมปีที่ 1 ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่อยู่ในกิจกรรม ทำตามที่ได้รับมอบหมาย สนใจในการทำกิจกรรมแล้วเราสนุก ถึงแม้จะอายุเยอะ แต่พอขึ้นมาปีที่ 2 Advance มาก ๆ คือก้าวกระโดดจากเด็กเยาวชน มาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ดูแลเด็กทั้งหมด 15 โครงการ 15 พื้นที่ มันทำให้รู้สึกเราต้อง Active ตอนนั้นไปค้นหาเลยพิมพ์คำว่า Active มันคืออะไร มันคือการกระตุ้นตัวเองการมีพลังอะไรต่าง ๆ แล้ว Citizen คืออะไร ผมคิดว่าการค้นหาความหมายของคำ มันทำให้รู้ถึงหัวใจของการทำโครงการที่มากกว่าตัวเรา พอนำมารวมกันคือ ‘Active Citize ลำพูน’ คือ สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนในลำพูน มันทำให้รู้สึกว่าใหญ่มาก’

บิวเล่าให้ฟังถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองที่เติบโตจากการขยับขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ที่ทำให้บิวรู้สึกว่าตัวเองสามารถขับเคลื่อน สร้างจังหวัดลำพูนไดด้จากการได้รับภาระที่ยิ่งใหญ่ โดยการเป็นพี่เลี้ยงทั้ง 15 โครงการในปีที่ 2 ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เดิมที่บิวเคยอยู่ (สวนพุทธ) โดยพี่บิวเสริมว่า ‘ถ้าไม่มีโครงการในสวนพุทธครั้งนั้น ก็จะไม่มีบิวในวันนี้แน่นอน ถ้าไม่มีการให้โอกาสของผู้ใหญ่ในวันนั้น ไม่มีการดึงเข้ามาทำโครงการ ผมเชื่อได้ว่าไม่มีการทำแบบนี้ ไม่ได้สร้างกิจกรรมดี ๆ เพื่อชุมชนเพื่อส่วนรวมอย่างนี้แน่นอน

ความท้าทายระหว่างทาง คือสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนในวันนี้ และการเติบโตในวันหน้า

ถึงแม้ดูเหมือนว่าบิวจะได้ทำงานที่ตนเองรัก ได้ทำกิจกรรมอาสาแบบที่ตัวเองชอบ แต่ระหว่างทางที่บิวพบเจอตั้งแต่เข้าร่วมโครงการปีที่ 1 เต็มไปด้วยความท้าทาย อุปสรรคที่ทั้งทำให้เด็กหนุ่มคนนี้สับสน และเติบโต อย่างเช่น เรื่องแรก คือ การที่บิวเลือกที่จะลาออกจากงาน เพื่อมาทำโครงการ Active Citizen ซึ่งบิวเล่าให้ฟังว่า ‘ตอนนั้นที่ทำโครงการ คือตอนที่เรียนจบปวส. ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ค้นหาตัวเอง ว่าเราเรียนจบแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าอยากทำอะไร อยากทำด้านไหน ซึ่งตอนนั้นก็ทำงานเกี่ยวกับช่างอยู่ ทำงานอยู่ใน ‘อู่’ บังเอิญว่าออกมาทำกิจกรรม Active ทั้ง ๆ ที่มันเป็นวันอาทิตย์ จึงขออนุญาตจากอู่ออกมา แต่เขาไม่อนุญาต แต่ให้เราไปทำ O.T. ผมก็เลยบอกว่าผมไม่ได้ไปนะ แต่เขายืนยันที่จะให้ไปอยู่ เขาก็เลยให้เลือกระหว่างทำกิจกรรม กับทำงานจะเอาอะไร ผมบอกไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดงั้นก็ขอทำกิจกรรมดีกว่า เขาก็เลยบอกผมว่า งั้นพรุ่งนี้ก็ไม่ต้องมาทำงานเลยนะ ผมก็ตอบตกลงว่าไม่ทำงานก็ได้ ผมก็เลยออกเลย พอออกมาแล้ว เราก็ต้องหาจุดยืนของตัวเองให้ได้’ บิวเล่าประสบการณ์ตอนที่ตัดสินใจเลือกที่จะมาทำกิจกรรมมาฟังซึ่งหลังจากที่เลือกออกมาแล้วบิวก็จำเป็นที่จะต้องหาเส้นทางให้ตัวเองสามารถตอนนั้นเลี้ยงชีพตัวเองได้ โดยการรับจ๊อบทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ทางด้านวิชาการ ซึ่งเป็นสายที่บิวไม่ถนัด และไม่มีความรู้ เพราะเรียนสายช่างมา เพราะฉะนั้นการที่บิวจะต้องศึกษาข้อมูล เรียนรู้คำศัพท์ ทำให้บิวได้ปรับ Mindset ใหม่ทั้งหมด เริ่มขยับขอบความรู้ของตัวเองมาสายวิชาการและมาเรียนรู้การทำงานแบบระเบียบวิชาการ

เรื่องที่สอง คือการที่บิวต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถเลี้ยงชีพตัวเองบนเส้นทางของการทำงานเพื่อสังคมได้ บิวเล่าว่า ‘แม่เป็นคนที่ทำงานโรงงาน ผมอยู่กัน 2 คน รายได้หลักมาจากแม่ แม่ก็จะมีภาระของแม่ที่จะต้องใช้จ่าย แต่โชคดีที่บ้านเราไม่มีหนี้เรื่องค่าเล่าเรียนตั้งแต่เด็ก ผมเองก็หาเองหาใช้ส่งตัวเองเรียนตั้งแต่เด็กทำงาน ไม่ได้รบกวนอะไรแม่เลย แต่ความหวังของแม่ ก็คืออยากให้ไปทำงานที่มีเงินเดือน บางครั้งก็อยากให้ไปสอบข้าราชการ (สอบ กพ.) ให้ได้มีเงินเดือนที่มั่นคง แต่ส่วนตัวผม ผมแอนตี้เกี่ยวกับระบบโรงงานมาตลอด ถ้าเกิดมีคนฝากไปทำงานโรงงาน ไปสมัครสอบตรงนี้ คำตอบของเราก็ ไม่ เพราะเราเห็นป้า ลุง แม่อยู่ในระบบนั้นตั้งแต่เด็ก แล้วเขาไม่มีอิสระในชีวิต เขาถูกกรอบของโรงงานครอบไว้ตลอด แต่พอมาดูอีกคนนึงซึ่งเขาก็ไม่ได้มั่งมีอะไร แต่เขาอยู่ได้ เขาสามารถเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เลี้ยงครอบครัวเขาได้แล้วเขาก็ไม่ได้เครียดเหมือนกับคนที่เขาเครียดกับทำงานโรงงานเลย แล้วพอมาทำกิจกรรมแบบนี้ มันทำให้เราเห็นว่า เราไม่อยากให้อยู่ในกรอบที่ใครกำหนดให้เรา แม่ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างงั้น ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองอยู่รอด และทำยังไงก็ได้ที่ให้ครอบครัวตัวเองอยู่ได้ทั้งตัวเราและครอบครัว ผมก็เลยขอเวลาอีกหน่อย แต่เราทำทุกวันเพื่อพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ถึงเราไม่ได้มีตำแหน่งอะไร แต่เราไปทำกิจกรรมที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก คนช่วยเหลือ คนคอยหนุนเสริม ที่คอยช่วยเหลือให้มีเครือข่ายทำงานง่าย’ ซึ่งการที่บิวมีเครือข่ายการทำงาน ทำให้บิวปรับตัวได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง แล้วยังสามารถทำงานอย่างที่หวังได้ด้วย ยิ่งกว่านั้นทำให้บิว กลายเป็นคนที่มีวินัยในตัวเอง จากแต่ก่อนจะไม่ค่อยมีวินัย

เรื่องที่สาม คืออุปสรรคระหว่างทางโครงการปีที่ 2 คือ งานโครงการไม่ค่อยเดิน ทำให้บิวรู้สึกเครียดและผิดหวังกับตัวเอง บิวเล่าว่า ‘มีช่วงกลางโครงการที่เรารู้สึกว่าโครงการมันดำเนินไปไม่ถึงไหน แต่ละที่มันไม่ขยับ มันทำให้เรารู้สึกดาวน์ลงไปเลย แล้วมาคิดว่าเราทำอะไรผิดพลาด เราออกแรงไม่พอเหรอ แต่ที่โครงการเราไม่ดำเนิน ไม่ได้เกิดมาจากเราอย่างเดียวเกิดจากหลาย ๆ องค์ประกอบด้วย มันเป็นเพราะวิธีการกระตุ้น การที่เราเข้าไม่ถึง หรือบางทีเราเข้าไปหาน้อง แล้วน้องไม่เปิดใจ ไม่เชื่อใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์เราก็ต้องขยันมากกว่านี้ เพิ่มพลังให้ตัวเองมากกว่านี้ เพราะต้องบอกตัวเองตลอดว่าต้อง Active ขึ้น ซึ่งโครงการปีที่ 2 สิ่งที่ชอบมาก ๆ เลย คือชอบที่ตัวเองฝ่าพันอุปสรรคเรื่องของชีวิตตัวเองได้ และปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองได้ว่า ตอนนี้เป็นพี่โตมาก ๆ แล้วขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยง เรามาอยู่ในกลุ่มของคนทำงานจริง ๆ’

ทั้ง 3 เรื่อง เป็นความท้าทายที่เข้ามาทักทายบิวตลอดในช่วงที่ทำโครงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำบิวเองทั้งเติบโต ได้ทักษะและเรียนรู้ในขณะเดียวกัน โดยที่บิวได้เล่าเพิ่มเติมถึงทักษะที่สำคัญ ที่เขาเองได้นำไปใช้ในชีวิต ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร (Communication) บิวบอกว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นได้ชัดภายในตัวเองได้ชัด เช่น สามารถเรียบเรียงคำพูดหรือประโยคต่าง ๆ ให้น้องเข้าใจได้ดีมากขึ้น ต่อมาคือทักษะการจัดการ จัดลำดับความสำคัญงานได้ดีขึ้น (Management) เพราะบิวได้ทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยงแล้ว ไม่สามารถที่เล่นสนุกอย่างเดียวได้ เพราะการทำงานต้อมีลำดับขั้นตอน ต้องมาใช้ชีวิตแบบจริง ๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น และสุดท้ายเป็นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) จากการทำงานมหกรรมปีที่ 1-2 ต้องประสานงาน และเป็นออแกไนซ์ ซึ่งบิวย้ำกับเราว่า ‘ประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่นอันนี้แหละที่จะติดตามเราไป เรารู้แล้วว่าในอนาคตอีกหน่อยถ้าเราไปเจอเหตุการณ์แบบนี้ กลุ่มคนแบบนี้ กลุ่มวัยแบบนี้ด้วยเราควรทำยังไง

การสร้างประโยชน์กับผู้คน และชุมชน คือความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ

เมื่อพูดถึงความฝันและอนาคต ของหนุ่มเหนือคนนี้ ซึ่งค่อนข้างมีความชัดเจนในตัวเองมากว่าอยากทำอะไร บิวเล่าให้ฟังว่า ‘อยากทำธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง มีฟาร์มเล็ก ๆ พื้นที่ประมาณ 2 ไร่กว่า ๆ แต่จะทำให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเลี้ยงตัวเองและชุมชน ช่วงวิกฤตโควิดมันทำให้รู้เลยว่าเรื่องของอาหารการกิน เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นพวกผักสวนครัว ข้าว มันทำให้เรากลับมามองว่า เรามั่นใจว่าบ้านเรามีศักยภาพที่จะทำเรื่องของผักปลอดสารพิษ ถึงงบจะน้อย แต่เราเห็นว่าคนในชุมชนของเราออกมาทำกิจกรรมออกมาปลูกผัก และเป็นการส่งเสริมเรื่องของผู้สูงอายุว่าเขาได้ออกกำลังกายจากการทำกิจกรรมกับเรา เขาได้ขุดดิน ปลูกผัก รดน้ำ เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งมีเวรประจำวันกัน เขาจะมีเวรของเขาในชุมชน ถึงแม้ว่าเม็ดเงินมันไม่ได้มากมาย แต่มันทำให้คนในชุมชนได้ความสัมพันธ์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ติดกับบ้านถ้าไม่มีกิจกรรมให้เขา เขาก็จะไม่ได้ออกมาเจอกันไม่ได้มาพูดคุยกัน ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มลดน้อยลง แต่พอมีโครงการหรือมีกิจกรรมอะไรที่เราสามารถนำไปแล้วทำให้คนในชุมชนเขาได้ร่วมกัน มันทำให้รู้สึกว่าเราสามารถต่อยอดไปได้’

และอีกความฝันที่ทำให้หนุ่มคนนี้เรียนคณะรัฐศาสตร์ ก็คือ การเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งบิวบอกว่าการจบปริญญา คือใบเบิกทางที่สามารถทำให้เขาเข้าไปทำในสิ่งที่อยากทำได้ และงานด้านภาคประชาคม ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมีการขับเคลื่อนในส่วนของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งบิวทิ้งท้ายความฝันของเขาอย่างมีความหวังว่า ‘ถ้ามีโอกาสก็จะลองดูสักตั้ง ยังไงแล้วถ้าเรามาสายนี้ก็ไม่พ้นเรื่องการเมือง แต่การเมืองจะเป็นแบบไหน เราจะทำยังไงให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และสุจริต ไม่มีเรื่องโกงกิน เพราะสิ่งที่เราทำได้ดี คือพัฒนาชุมชนคุณภาพของชีวิตคนในชุมชน