อัศนีย์ ไหมแก้ว : บทสัมภาษณ์ถอดบทเรียนพี่เลี้ยงโครงการภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอ

โครงการภูมิปัญญาพื้นบ้านสมุนไพรปกาเกอะญอ

ชื่อ : อัศนีย์ ไหมแก้ว ชื่อเล่น : พี่ทอง

อายุ : 36 ปี

อาชีพ : ทำไร่ จบการศึกษา : มัธยมศึกษาปีที่ 3



ถาม : ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการเคยทำงานกับชุมชนมาก่อนหรือเปล่า

ตอบ : ไม่เคยทำ ได้แต่คิดว่าจะมีสักวันที่จะได้ทำงานกับเยาวชน เพราะพี่คิดว่าทำงานกับเด็กอาจสานความฝันของเราได้ แต่ว่าถ้าเราทำงานกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันเราไม่มีโอกาสออกไปสู่ข้างนอกแล้ว


ถาม : สานความฝันที่ว่าคืออะไรคะสำหรับพี่ทอง

ตอบ : คือการพัฒนาชุมชนและเสริมกำลังใจ ยกตัวอย่างพี่ตอนเป็นเด็กไม่มีโอกาส พี่เลยอยากให้โอกาสกับเด็กในหมู่บ้านของพี่ อยากให้เขาไปข้างนอก ให้เขาเห็นว่าระหว่างข้างนอกกับในชุมชน มันต่างกันอย่างไร เรามีปมด้อยที่เราเป็นกระเหรี่ยงเขาไม่ยอมรับเรา อยากให้เด็กๆ รู้ว่าถึงแม้ว่าเราเป็นกระเหรี่ยงแต่เราก็มีความสามารถเหมือนกัน


ถาม : พี่ทองไม่เคยทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาก่อนเลย แต่ว่าพี่ทองกับชุมชนเองได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน มาก่อนหรือเปล่า

ตอบ : เมื่อก่อนเราทำงานตามประเพณี กิจกรรมที่ทุกปีเราเคยทำกัน เราคิดว่าทำไมเราไม่หนุนเสริมเยาวชนให้เป็นกำลังในการพัฒนาหมู่บ้านของเราต่อไป ทำไมเราไม่หาโอกาสนั้นให้เด็กทำแล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน


ถาม : ก่อนหน้านี้ชุมชนกับเยาวชนความสัมพันธ์โอเคไหมคะ

ตอบ : เมื่อก่อนไม่ เพราะว่าในชุมชนเขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาเด็กมาทำอะไร พี่คิดว่าน่าจะเอาเด็กมาเรียนรู้กับเราด้วยเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่เขาบอกว่า เด็กทำไม่เป็นหรอก เขาทำไม่ได้ แต่พี่คิดว่าเด็กเขาน่าจะทำได้ดีกว่าเรา


ถาม : ลึก ๆ ของพี่ทองมีความเชื่อมั่นในตัวเด็กอยู่แล้ว พี่ทองกับน้องในทีม/ในชุมชนความสัมพันธ์เป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : พี่เปิดใจเหมือนพี่มีลูกสาว พี่ก็เปิดใจว่าทำไมเราไม่ถามเขาว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร  ความหมายของพี่หมายความว่าพี่อยากถามเด็กว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร เขาก็บอกไม่เหมือนกัน ความฝันเขาต่างคนต่างคิดแต่ไม่มีใครถามเขามาก่อน


ถาม : พี่ทองมาสนิทกับน้องกลุ่มนี้ได้อย่างไร

ตอบ : เริ่มแรกพี่ทำงาน คนสมัยก่อนมักคิดว่างานที่พี่ทำไม่มีความหมาย แต่พี่คิดทำไมเราไม่ทำแล้วให้คนอื่นที่ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรู้ มารับรู้กับเราด้วย ผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเราจะบอกว่าทำทำไม ล้าสมัยไม่มีประโยชน์ พี่คิดว่าทำไมเขาถึงบอกว่าไม่มีประโยชน์ ในเมื่อคนอื่น คนในเมืองเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในชุมชนเรามีอะไรบ้าง


ถาม : ก่อนหน้านี้พี่ทองกับน้องๆ สนิทกันอยู่แล้วหรือเปล่าคะ

ตอบ : พี่ไม่สนิทกับน้องๆ พี่เห็นว่าน้อง ๆ แต่ละคนมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน แล้วเด็กๆ ในชุมชนไม่กล้าแสดงออก เหมือนสมัยตอนที่พี่เป็นเด็กพี่ไม่กล้าแสดงออกทั้ง ๆ ที่ความคิดมีอยู่เต็มหัว พี่เลยคิดว่ามันเป็นเพราะว่าเขาไม่มีโอกาสหรือเปล่า เหตุผลมีหลายอย่างเราเป็นชาติพันธุ์เขาเลยไม่ยอมรับเราหรือเปล่า พี่เลยเรียนรู้ที่จะถามเด็กแต่ละคน เท่าที่พี่จำได้เจอใครพี่ก็จะถามว่า อยากทำอะไร อยากเป็นอะไรมากกว่า เพราะว่าพี่ไม่ได้สนิทกับใครเลย


ถาม : ที่บอกว่าเจอใครก็ถามว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร คือตอนที่เริ่มทำโครงการแล้วหรือว่าก่อนหน้า นี้พี่ทองก็จะเป็นแบบนี้

ตอบ : ยังไม่ได้ทำโครงการยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พี่อยากรู้ว่าเด็กเหล่านี้เขาคิดทำอะไร พี่เห็นเด็กบางคนมีความสามารถ เราคิดว่าทำไมเด็กคนนี้ทำได้ แล้วเด็กคนอื่นเขาจะทำได้ไหม มันเหมือนเราไม่มีของเล่นอะไร เราก็อยู่ตามประสาชาติพันธุ์ของเรา จะทำอะไรเราต้องคิดเอง มาศึกษาเองมากกว่าที่จะมีคนมาบอกให้เราทำแบบนั้น อย่างมากก็ได้เล่นวอลเลย์บอล แฮนด์บอล แชร์บอล อย่างอื่นเราต้องคิดทำเอง เรียนรู้จากภูมิปัญญาเองทุกอย่าง


ถาม : พี่ทองมารู้จักกับโครงการนี้ได้อย่างไร

ตอบ : ตอนแรกมีพี่คนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เขาบอกว่าได้รู้จักกับอาจารย์ที่ มจร. มีโครงการให้เด็ก ๆ ทำมีใครสนใจจะเป็นคนนำให้เด็ก ๆ ไปทำกิจกรรม แยากทำร่วมกันไหมก็เลยได้รู้จักอาจารย์ มจร. เรามีลูกสาวเราก็อยากทำ เพราะว่าเมื่อก่อนเด็กเขาไม่มีโอกาสได้ไปข้างนอกเลย ก็เลยถามน้องๆ ว่าสนใจไหม เขาบอกว่าน่าสนดี เด็ก ๆ แต่ละคนความสามารถเขามี แค่ไม่มีโอกาส เราก็เลยอาสา เราไม่มีรถ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ แต่ก็เอาไงเอากัน ไปหาความรู้เอาข้างหน้าดีกว่า ดีกว่าที่จะอยู่แต่ในบ้าน


ถาม : ตอนนั้นที่เขาบอกว่า ให้ไปเป็นพี่เลี้ยงพี่ทองคิดว่าคำว่าพี่เลี้ยงตอนนั้นเราจะต้องมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

ตอบ : ตอนนั้นพี่คิดว่าน่าจะเป็นคนดูแลเด็ก พาเด็กออกไปข้างนอก เราต้องไปดูแลลูกเขา  เพราะว่าไม่มีคนดูแล ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จักจังหวัดลำพูนเลยด้วยซ้ำไป บางคนบอกตรงนี้ถึงแยกไหน ตรงนี้ถึงไหนแล้ว เราไม่รู้จัก


ถาม : ตอนนั้นเราคิดว่าก็แค่ไปดูแล ไปรับส่ง แค่นั้นคอยดูแล

ตอบ : ตอนนั้นพี่คิดแบบนั้นจริง ๆ


ถาม : แล้วถ้าเป็นปีนี้พี่ทองคิดว่าคำว่าพี่เลี้ยง สำหรับพี่มันหมายถึงอะไร

ตอบ :สำหรับพี่ในตอนนี้ คือมีหน้าที่คอยดูแล และมีการถาม ตั้งคำถามกับน้อง ๆ ช่วยเขาวางแผนให้เขาได้คิดในสิ่งที่เขาอยากทำ ให้เขาคิดเองว่าเขารู้จักบทบาทหน้าที่หรือว่ารู้จักตัวเอง รู้จักกับสิ่งที่จะทำความคาดหวังและเป้าหมาย น้อง ๆ เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการทำโครงการต้องทำอะไรบ้าง


ถาม : หลัก ๆ คือเรามีหน้าที่ในการชวนคิด ชวนคุย แล้วพาน้องทำไปให้ถึงตามเป้าหมายที่เขาตั้งไว้

ตอบ : ค่ะ เพราะว่าแต่ละคนทีแรกเขาไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ตัวพี่เองก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าเป้าหมายคืออะไร เพราะพี่ไม่เคยคิดถึงสิ่งที่เราจะบอกว่าเป้าหมาย ทุกคนต่างไม่มีเป้าหมาย


ถาม : ปีหนึ่งเราพาน้องทำกิจกรรม พอมาเป็นปีที่สองทำไมพี่ทองถึงอยากให้เขาทำโครงการนี้ต่อ

ตอบ : เพราะว่าตอนแรกพี่คิดเองว่าน้อง ๆ เขามาถามว่าจะทำอะไรกันดี ก็บอกว่าแล้วแต่น้องเลย ถ้าคิดไม่ออกหรือไม่อยากทำอะไร โครงการของปีที่แล้วตัวพี่เองก็จะทำตลอด แต่น้องเขาบอกว่ามันยากไปสำหรับน้องๆ เขาไม่มีเวลา การทอผ้าต้องใช้เวลาเป็นเดือน แค่เสาร์-อาทิตย์เขาไม่มีทางเข้าใจเพราะว่าถ้าไม่มีประสบการณ์มาก่อน เราเลยบอกว่าก็แล้วแต่ แต่โครงการของปีนี้ยังอยู่กับตัวพี่เอง แล้วก็ชุมชน น้อง ๆ ลองไปปรึกษากันว่าจะทำโครงการเก่าหรือว่าโครงการใหม่ แต่จริง ๆ ใจลึก ๆ ของพี่ พี่อยากให้เขาเรียนรูวิถีชีวิตที่ผู้หญิงกระเหรี่ยงทุกคนต้องทำ แต่ว่าน้อง ๆ คิดว่าจะทำโครงการอื่นเราก็เปิดโอกาสให้กับเขา คิดว่าถ้าเขาสนใจเมื่อไหร่ เขามาถามเมื่อไหร่ก็ได้


ถาม : แล้วอย่างน้อง ๆ ในปีที่สองที่ทำโครงการพี่ทองใช้วิธีการอย่างไรหรือว่าน้องเขาสนใจมาทำโครงการกับเราเอง

ตอบ : อย่างที่น้องกานบอกว่าเขารู้จักกับพี่ลี้ แล้วมีเบ็น กับปูเป้ที่เป็นแกนนำเก่า ก็ไม่รู้ว่าเขามีการชักชวนกันหรือเปล่า แต่ว่าที่มาถามคือถ้าสมมุติว่าไม่ทำโครงการเก่าได้ไหม เขามาถาม เราก็บอกว่าได้ แต่พี่ลี้แกนนำหลักกับพี่หนึ่ง เขาออกไปเรียนข้างนอก เหลือ 3 คน แล้วเข้าใหม่อีก 2 คน เขามาถามว่าปีนี้ทำโครงการมีใครสนใจไหม เขาบอกว่าสนใจเ แต่พอไปสัมผัสโครงการจริง ๆ เขาบอกว่ามันเลยอายุของเขาสองคนแล้วที่จะไปร่วมกิจกรรมอะไรพวกนี้ เขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่าต้องมาร่วมกิจกรรมอะไรพวกนี้ เราตกใจว่าแล้วโครงการจะไปต่ออย่างไร ก็คิดหนักอยู่


ถาม : ตอนนั้นที่พี่ทองบอกว่าโครงการจะไปต่ออย่างไร แล้วเราทำยังไงต่อโครงการถึงมาจนจบได้

ตอบ : การให้ขวัญและกำลังใจกับคนอีกสามคนที่จะต้องสู้กับโครงการต่อไป ก็ถามว่าถ้าพี่สองคนเขาไม่ให้เวลาในการทำโครงการจริงๆ แล้วน้อง ๆ จะทำกันอย่างไร ทำได้ไหม จะถามเขาว่าเขาไปต่อหรือว่าจะหยุดดี เขาก็บอกว่าหยุดไม่ได้แล้วต้องไปต่ออย่างเดียว อย่างไรเราก็ต้องสู้กัน ลึก ๆ เราก็แอบดีใจที่เขาจะทำต่อ


ถาม : ช่วงที่รู้สึกแบบนั้นเป็นช่วงต้น กลาง หรือว่าปลายแล้ว

ตอบ : ถ้านับเป็นขั้นตอนก็จะอยู่ขั้นตอนที่สองแล้ว ประมาณสองกิจกรรมที่เขาไปร่วมหลัก ๆ จะเป็นน้องสามคน เราคอยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำบ้าง ถ้ามีอะไรที่น้องสามคนเขาไม่เข้าใจ เพราะว่าปีที่แล้วเขาแบ่งหน้าที่กัน หน้าที่ทั้งหมดไม่ได้ตกอยู่ที่สามคน ตกอยู่ที่ห้าคนเหมือนเดิม เขาจะรับผิดชอบไปช่วยกัน แต่ครั้งนี้ประธานโครงการแล้วก็เลขา ไม่ค่อยให้เวลากับแกนนำอีกสามคนเท่าไหร่ ก็แอบหวั่นอยู่ คุยกับพี่เดช พี่เลี้ยงอีกคนว่าไม่เป็นไร เขาสามคนทำได้อยู่ เราจะให้กำลังใจกันพี่เลี้ยงสองคน จากพี่เลี้ยงสี่คนเหลือสองคน ก็แอบหวั่นอยู่ว่าทำไมเหลือสองคน ผู้หญิงอีกคนที่เป็นพี่เลี้ยงลูกเขายังเล็ก อีกคนเขาเป็นผู้ช่วย อย่างปีที่แล้วเราคิดว่าเราน่าจะเอาผู้นำมาเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงกับเรา รับรู้ว่าตอนนี้ชุมชนเรากำลังทำอะไร เด็ก ๆ เขากำลังทำอะไร เอาไปเอามาเขาถอนตัว ก็เลยไม่เป็นไรเพราะว่าปีที่แล้วเราก็ผ่านมาได้ก็ให้กำลังใจกันสองคน แต่จะไม่ให้เด็กรู้ว่าพี่เลี้ยงถอยนะ เดี๋ยวเด็กก็จะถอยอีก แต่จริงๆ เด็กเขาก็ไม่ถอยเลย ทั้งที่ชุมชนให้ความสำคัญกับเยาวชนน้อยมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เขาไม่ค่อยให้ความร่วมมือหรือว่าเขาไม่มีเวลาหรือเปล่า ต่างคนต่างไม่มีเวลาแต่ว่าเราต้องสร้างเด็กให้เขาอยู่คู่ชุมชนเราต่อไป เรามีหน้าที่กันทุกคนแต่เราคิดว่าเราให้โอกาสเยาวชนดีกว่าให้โอกาสผู้ใหญ่ที่เขาไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ พี่เลยมาเน้นที่เยาวชนมากกว่า


ถาม : พอเราได้เด็กแล้ว ได้โครงการแล้วว่าจะทำเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรในชุมชน อยากรู้ว่าแล้วพี่ทองมีบทบาทหน้าที่ในฐานะที่เป็นพี่เลี้ยง เราไปช่วยเหลือน้อง ๆ ในแต่ละกิจกรรมอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : แต่ละกิจกรรมน้อง ๆ จะดูใบงานแล้วเขามาถามว่าถ้าอยากรู้เรื่องสมุนไพรต้องไปถามใคร แล้วเราก็แนะนำว่าไปหาลุงแก้ว จะมีปราชญ์แต่ละด้านอยู่ ด้านแผล ด้านเอ็น ด้านภายในจะมีนักปราชญ์แต่ละคนที่ถนัดไม่เหมือนกัน เราจะแนะนำให้เขา ยายดาเป็นหมอตำแยให้เข้าไปหาป้าดา แต่ถ้าอยากรู้เรื่อสมุนไพรที่ต้มบำรุงกำลัง หรือว่าถ้าไม่สบายจากกินอะไรก็ไปหาลุงแก้ว เราจะแนะนำให้เขาไปหาข้อมูลกันเอง อย่างภาษาเขาจะได้ภาษากระเหรี่ยงมาแล้วไม่รู้ว่าภาษาเมือง หรือว่าภาษาไทยมีชื่อเรียกอย่างไง เขาก็กลับมาถามเราว่าเรารู้ไหม เราก็แนะนำเขาไป


ถาม : ระหว่างการทำงานมีความยาก ง่ายหรือว่าเราเจอปัญหาอะไรระหว่างทางบ้างไหมคะ

ตอบ : สิ่งที่เด็ก ๆ เขาเจอปัญหาหลักจริงๆ คือตัวแกนนำ ที่เขาไม่มีความร่วมมือเท่าไหร่ มันหนักทุกด้านแล้วต่างคนต่างไม่ค่อยมีทักษะ หรือว่าความรู้เรื่องการเงิน การเก็บข้อมูล การทำสื่อ ทุกอย่างเขาต้องเริ่มใหม่หมดเลย อย่างปีที่แล้วเขาจะแบ่งหน้าที่กัน แต่ปีนี้ต้องช่วยกัน หน้าที่ทุกอย่างเขาจะไปปรึกษากันแต่ว่ามีบางช่วงที่ต้องแบ่งหน้าที่กันออกไปหาข้อมูล ต้องนัดเวลาเพราะว่าเวลาเขาไม่ตรงกัน จะนัดกันตอนเย็นหลังเลิกเรียนมากกว่า


ถาม : ตัวพี่ทองเองมีปัญหาอะไรบ้างไหมคะในการเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ : ที่หนักใจคือตั้งแต่รู้ว่าพี่เลี้ยงถอนตัวสองคน คิดว่าเราเหลืออีกสองคนจะไปต่อได้ไหม มาอีกช่วงคือน้องกานอาสาทำสื่อ แล้วเขาไม่เคยทำ อย่างปีที่แล้วพี่ลี้ทำ พี่ลี้ก็ไม่ยอมกินข้าวเพราะว่างานไม่เสร็จ เพื่อนเองก็ไม่ไปเหมือนกัน สิ่งที่เจอเหมือนกันคือลี้กับกานต์เป็นคนเป๊ะมาก แต่ว่าถ้าเบญกับหนึ่งเขายังไงก็ได้ มาแนวเดียวกัน เลยแอบวิตกว่ากานจะเหมือนพี่ลี้ปีที่แล้ว แต่เขาบอกว่าเขาจะเปลี่ยนตัวเอง ก็รู้สึกดีใจที่เขาจะเปลี่ยนตัวเอง แต่ว่าพี่ลี้ไม่เปลี่ยนเลย เขาจะเป๊ะมากตลอด กานเครียดอยู่ช่วงหนึ่งที่ทำเกี่ยวกับสื่อแล้วเขาต้องคิด ไม่ตอบแชท ไม่ตอบไลน์ เพราะกลัวส่งงานไม่ทัน


ถาม : ความเป๊ะของน้องมันยากในการทำงานอย่างไรมันน่าจะดีไหมจริง ๆ แล้ว

ตอบ : ดีแต่ว่าเราก็แอบคิดอยู่ว่าความเป๊ะของกานกับลี้ จะทำให้เขาถอยหรือเสียใจมากไป เหมือนเขาคาดหวังเกินไป ที่จริงแล้วถ้าสมมุติงานออกมาไม่เสร็จจริง ๆ เราก็ขอระยะเวลาอีกนิดก็ได้ แต่ตัวเขาจะคิดมาก อย่างน้องกาว่าถ้าไม่ได้ดังใจเขาจะรู้สึกว่ามันร้อนขึ้นแล้วนะ


ถาม: ระหว่างที่ทำโครงการในแต่ละช่วงพี่ทองก็มีเข้าไปชวนตั้งคำถามชวนคุยใช่ไหมคะ

ตอบ : ชวนค่ะ ตอนที่เขาปรึกษากันสามคนแล้วเขาเงียบทั้งสามคนเลยยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน เราก็คอยดูว่าอะไรมาก่อน อะไรมาหลัง เขามีปัญหาอะไรอยู่ก็จะเข้าไปถามว่า มีอะไรเกิดขึ้น เป็นอย่างไรบ้าง คอยถามเป็นระยะ เพราะส่วนใหญ่เวลาเขาทำกิจกรรมเขาจะมาทำที่บ้าน พยายามสอดส่องดูแล ตั้งคำถามแต่ละคนว่าแต่ละคนทำอะไรกันอยู่ เป็นอย่างไรบ้าง ประมาณนี้


ถาม : พี่ทองส่วนหนึ่งใช้วิธีการสังเกตอารมณ์หรือว่าพฤติกรรมของเขาใช่ไหมก็เลยถาม

ตอบ : ใช่ค่ะแต่ละคนถ้ามีปัญหาจะแสดงอาการชัดเจนเลยว่าคนนี้กำลังมีปัญหาอยู่นะ


ถาม : เวลาเราตั้งคำถามพี่ทองจะใช้คำถามคล้ายกันไหมหรือว่าเลือกถามคำถามให้เหมาะกับแต่ละคน

ตอบ : เราทำงานกับเยาวชนทำให้เรารู้นิสัยของแต่ละคนว่าเขาเป็นอย่างไร แต่ว่าน้องกานเมื่อก่อนเขาไม่สนิทกับใคร ไม่ทักกันแต่เราจะรู้ว่าการพูดการจาของเด็กคนนี้ อาจจะดีกว่าสองคนที่ทำปีแล้วเพราะว่าเขาพูดฉะฉาน เขาเหมือนมีประสบการณ์เรื่องสมุนไพร เข้าใจคนที่กำลังป่วยอยู่


ถาม : ความรู้หมายถึงว่าโดยทั่วไปด้วยหรือเปล่าหรือเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร

ตอบ : ทั่วไปค่ะ เพราะว่าเด็กคนนี้เขาอย่างที่เขาบอกเขาไม่ค่อยคุยกับใครถ้าไม่สนิทจริง ๆ เราพยายามเข้าใจเด็กแต่ละคน เหมือนเราทำตัวเข้าใจเขามาก แต่ที่จริงเหมือนเราหลอกถามมากกว่า


ถาม : เวลาหลอกถามทำอย่างไร

ตอบ : จะถามเขาทางอ้อมหน่อย พอถามประเด็นนี้แล้วเขาจะรู้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร เหมือนเราถามอ้อมๆ  ไม่ได้ถามตรงๆ


ถาม : พี่ทองพอจะนึกถึงเหตุการณ์ได้ไหมคะ

ตอบ : จะถามเขาว่าที่ทำโครงการสมุนไพรเคยมีประสบการณ์ไหมที่จะทำโครงการนี้ สมุนไพรรู้จักบ้างไหม  จะไม่ถามว่าแม่เขาใช้ทุกวันเพราะเรารู้ว่าแม่เขาเป็นคนใช้สมุนไพร เขาไม่ค่อยกินยาปฏิชีวนะ เขาจะสังเกตอาการของแม่เขาเองแล้วมาพูดให้เราฟังว่า แม่เขาชอบกินเพราะแม่บอกว่ากินยาหมอ

เยอะ ๆ แล้วมันจะทำให้ดื้อยา เป็นเบาหวานความดัน แต่เราจะไม่ถามตรงๆ ว่าแม่ป่วยใช่ไหม แม่เป็นอะไรใช่ไหม แม่กินใช่ไหม


ถาม : เวลาที่เด็กทำกิจกรรมพี่ทองจะไปอยู่กับน้องด้วยไหมหรือว่าปล่อยให้เขาทำด้วยตัวเองเลย

ตอบ : ถ้าเริ่มแรกอาจจะนั่งข้าง ๆ พวกเขา ดูว่าเขากำลังคิด กำลังทำอะไรอยู่ แบ่งงานกันอย่างไร จะทำอะไรกัน เราจะสังเกตว่าแต่ละคนพูดอะไรกันบ้าง ใครแนะนำอะไรออกมาบ้าง จะอยู่หลัง ๆ มากกว่า


ถาม : พี่ทองคิดอย่างไรถึงได้ปล่อยให้น้องทำเอง แล้วเราแอบมองดูว่าเขาคิดอะไรกัน

ตอบ : ลึก ๆ แล้ว ก็อยากให้เขาคิดเอง แล้วปรึกษากันเอง มีปัญหาแล้วเราค่อยถามว่ามีปัญหาอะไรไหม เกิดอะไรขึ้นไหมแล้วจะทำอะไรต่อไป พี่จะถามเขาในช่วงเวลาที่เขามีปัญหา และจะแนะนำให้เขาเริ่มตั้งแต่ที่เขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างไร เราจะถามเขาแบบนี้


ถาม : วิธีการแบบนี้ทำงานกับน้องแบบนี้พี่ทองทำอยู่แล้วหรือว่าได้เทคนิคมาคะ

ตอบ : เมื่อก่อนจะคอยสั่ง คอยให้เขาทำตามเราแต่ว่าจริงๆ แล้วตั้งแต่รู้ตัวเองว่าบทบาทหน้าที่ของพี่เลี้ยงคือเราต้องคอยสังเกต คอยให้คำปรึกษาห่างๆ ไม่ใช่ไปจี้ไปอะไรเขา ตั้งแต่ทำโครงการนี้ก็ได้เรียนรู้ว่าคนที่เป็นพี่เลี้ยงเขาต้องทำแบบนี้มันคล้ายๆ เป็นแค่ที่ปรึกษา


ถาม : เหมือนก่อนหน้านี้เราก็เคยชี้นิ้วสั่งเขาเหมือนกันแบบนี้หรอคะ

ตอบ : เมื่อก่อนเราจะชี้บอกเลย อย่างพี่มีลูกสาวจะชี้นิ้วสั่ง ๆ แล้วให้เขาทำ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เขาก็มีความคิด บางอย่างเขาอาจทำได้ดีกว่าเราอีก ตั้งแต่เราทำโครงการมาจะคอยถามเขาว่าคิดอย่างไร อยากทำอะไร จะถามเขามากกว่าสั่ง ไม่บงการชีวิตเขา


ถาม : แล้วท่าทีของน้อง ๆ เขาเปลี่ยนไปไหมหรือว่าอย่างไร พอพี่ทองมาปรับตัวแบบนี้

ตอบ : ถ้าเริ่มแรกเลย เราคิดว่าเปลี่ยนแล้วแต่พอเด็ก ๆ เขามีความรู้เยอะกว่าเรา เขาสามารถเข้าใจอะไรได้ง่ายกว่าเรา ได้เร็วกว่าเราอีก


ถาม : ตอนแรกที่บอกว่าจะชี้นิ้วสั่ง เป็นตอนปีหนึ่งหรือเปล่าคะ

ตอบ : ก่อนที่จะทำโครงการปีหนึ่ง เพราะว่าก่อนที่จะเริ่มทำโครงการเราได้เข้าไปนั่งคุยเฉพาะพี่เลี้ยง เราไม่มีประสบการณ์เลย แต่ว่าคนอื่นที่เป็นส่วนมากเขาเป็นข้าราชการเป็นครูแต่เราไม่ได้เป็นอะไรเลย เราก็สังเกตว่าเขาทำแบบนี้ เราก็จำมาใช้กับเด็กของเราบ้าง ไปใหม่ๆ เข้าห้องกลัวไมค์สั่น ไม่อยากอยู่แล้ว พอเริ่มทำโครงการจริง ปีหนึ่งนั่งไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ ถ้าเขาเรียกตัวพี่เลี้ยงไป เราจะกังวลว่าเขาจะถามอะไรเราไหม เรากลัวอย่างเดียวเลย ตั้งแต่ทำโครงการมาได้สักพัก ก็เริ่มรู้ว่าสิ่งที่เรากลัว เราต้องจัดการกับความกลัวของเราก่อน จะเรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งเราคิดว่าเราไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เรามาถึงจุดนี้เราไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว น้องๆ พอเขามีปัญหาหรือว่ามีอะไรเราก็บอกว่าไม่ต้องกลัว ทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งที่เราคิดอย่างไรเราก็พูดออกมาอย่างนั้น  ความกลัวมันหายไปตั้งแต่ที่ทำโครงการปีหนึ่งช่วงกลางๆ จะถามคนที่เขามีประสบการณ์ทำอย่างไรถึงจะให้ความกลัวหายไป เราก็ได้ความรู้จากคนนั้นหน่อย คนนี้หน่อยเริ่มที่จะไม่กลัว เราก็มาสอนน้อง ๆ ได้ว่าไม่ต้องกลัว เพราะว่าน้องเขาก็คิดเหมือนกันว่ากลัวเพื่อนที่มาจากต่างถิ่น แล้วเขาเป็นคนพื้นราบแต่เราเป็นกระเหรี่ยง เขากลัวเหมือนกับแรกๆ ทีเรากลัวแต่พอได้สัมผัสจริงๆ แล้ว เราบอกเขาได้ว่าไม่ต้องกลัวความสามารถของเรา เราก็ดึงออกมาเท่าที่เราเอาออกมาได้ เขาก็เริ่มไม่กลัว แรกๆ เราบอกว่าเด็กๆ ว่าไม่ต้องกลัวทั้งๆ ที่เราก็กลัวอยู่


ถาม : พี่ทองเห็นน้องๆ เขาตอบรับจากคำพูดของเราอย่างไรบ้างคะ พอเราบอกเขาว่าไม่ต้องกลัว เราเห็นพฤติกรรมของเขาเป็นแบบไหน

ตอบ : เขาบอกว่ามันก็ใช่ เพราะว่าแต่ละพื้นที่ทำอะไรไม่เหมือนกัน เราก็บอกเขาว่าเรารู้อะไร  เราอยากพูดอะไรเราก็พูดออกไป เราก็บอกเขา เขาก็ทำตามที่เราพูดว่าสิ่งที่เราทำมาหรือว่าประสบการณ์ที่ได้รับมา เขาได้ทำอะไร เขาได้รู้อะไรก็พูดออกมาจนบางคำเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันคืออย่างนี้หรือ เราได้รู้ว่าน้อง ๆ เขาก็มีความสามารถที่จะเอาชนะใจตัวเองได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน แต่พอมาถึงปีสองก็ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว เคยคิดว่าเราอาจจะทำหน้าที่พี่เลี้ยงได้ไม่ค่อยดีเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะว่าเขาอาจเป็นข้าราชการ เขามีประสบการณ์มากกว่าเรา เราไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เรากลัวว่าเรามายืนจุดนี้ได้อย่างไร แล้วเราต้องทำตัวอย่างไร แต่มันไม่ได้วัดที่ว่าเขาหรือเรามาจากไหน คนอื่นอาจจะบอกว่าตัวเองมาจากไหนเราก็ไม่รู้ว่าจะบอกว่าเรามาจากไหน เราก็แนะนำตัวธรรมดา ถึงเราไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าเราก็เป็นพี่เลี้ยงคนหนึ่ง


ถาม : เดี๋ยวนี้รู้สึกเปลี่ยนไปไหมความรู้สึกเวลาที่เขาถามมาว่าเราเป็นใครอะไรอย่างไร

ตอบ : เปลี่ยนมาก ตอนนี้ก็ไม่ได้กลัวอะไรอีกแล้ว เราอยากพูดอะไรเราอยากทำอะไรเราก็พูดก็ทำออกมาถึงแม้ว่าความรู้เรายอมรับว่าน้อย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องประสบการณ์ในชุมชน เราบอกได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นขั้น เป็นตอนจริงๆ มีหลักการมีขั้นมีตอน เรื่องวิธีการยอมรับว่ายังอ่อนอยู่ ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ แต่ว่าพี่จะพยายามทำตัวให้ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัว ถ้าเราตัดความกลัว ความกังวลออกไปไม่ได้งานต่อไปเราก็จะกังวล จะกลัวแบบนี้ต่อไป


ถาม : อย่างที่บอกว่าตอนแรกเพราะว่าคนอื่นเขาเป็นครู เป็นหมอ มีการศึกษากว่าเราแต่มาตอนนี้พี่ทองไม่ กลัวแล้ว พี่ทองคิดว่าสำหรับตัวพี่เองการเป็นพี่เลี้ยงในแบบพี่ทองประมาณ 2 ปีมีอะไรที่เราภาคภูมิใจในตัวเองบ้างไหมที่ทำให้เราไม่ต้องกลัวเรื่องพวกนี้แล้ว

ตอบ : พี่คิดว่าสิ่งที่เราคิดถ้าเราคิดดีมันก็ดี ถ้าถามว่ากลัวไหม ตอนนี้ความกลัวไม่ได้อยู่ในสมองแล้ว แต่ถ้าความรู้ยังอยากได้เพิ่มอีก เพื่อให้ตัวเองพูดได้ดีเหมือนคนอื่นเขาเพราะว่าทุกคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ที่สัมผัสมาทุกคนชอบคิดว่าตัวเองทำไม่ดีแต่พี่ก็ไม่รู้ว่าพี่เป็นคนอย่างไร เหมือนไม่มีหลักการ


ถาม : พี่ทองยังมองว่าเราไม่ได้มีความรู้ชัดเจน แต่ว่าในทางปฏิบัติจริงๆ พี่ทองทำงานกับเด็ก ๆ

ตอบ : พี่คิดว่าพี่ทำงานได้ แล้วก็คิดว่าน่าจะพัฒนาตัวเองอีกหน่อยในเรื่องการพูด เหมือนกับว่าพี่พูดไม่ค่อยเก่งเรียบเรียงไม่ค่อยถูก


ถาม : แล้วในบทบาทพี่เลี้ยงของพี่ทอง พี่ทองถนัดอะไรมากที่สุด

ตอบ : พี่สามารถพาให้น้องๆ เขาไปต่อไป ทำให้น้องมีขวัญและกำลังใจ ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่าเราไม่เหมาะกับการเป็นพี่เลี้ยง แต่ว่าถ้าไม่มีพี่สักคนน้องๆ จะไปต่ออย่างไร อย่างน้อยๆ เราก็มีประโยชน์ในการที่จะพาน้อง ๆ ไปต่อ


ถาม : ในแต่ละขั้นตอนพี่ทองบอกว่าเด็ก ๆ ก็จะมาอยู่บ้านพี่ทอง พี่ทองจะชวนเขาวางแผนกันอย่างไร หรือว่าให้เขาทำกันเองแล้วเราสังเกตอยู่ข้างนอกห่างๆ

ตอบ : จะถามว่าวันนี้จะทำอะไรกัน แล้วจะทำอะไรอย่างไรก่อน เหมือนจะหลอกถามเขาว่าเริ่มแรกเขาจะทำอะไรก่อน เขาจะทำงานแล้วเขาจะทำอะไรก่อน


ถาม : แล้วถ้าเขาบอกว่าวันนี้หนูจะมาประชุมตั้งคำถาม เสร็จแล้วแบบนี้พี่ทองจะว่าไงต่อ

ตอบ : ถามเขาว่าจะทำอะไรก่อนดี จะทำในแนวไหน เขาก็จะค่อยๆ อธิบายให้เราทีละอย่าง ๆ แบ่งหน้าที่กัน แล้วเขาจะมาถามว่าทำแบบนี้ได้ไหม ทำแบบนี้ดีไหม


ถาม : แล้วถ้าน้องมาถามว่าทำแบบนี้ดีไหม ได้ไหม พี่ทองจะตอบเขาไปอย่างไร

ตอบ : จะตอบว่าคนแรกคิดอย่างไร คนที่สองที่สาม คิดอย่างไร แล้วเรามาตกลงกันว่าจะเอาอันไหนขึ้นก่อนขึ้นหลังหรือว่าทำไปพร้อมๆ กัน เขาก็จะบอกเราว่าทำแบบนั้นแบบนี้ก่อน เพราะว่าหลายความคิดแล้วมารวมกันเขาจะปรึกษากันว่าจะเอาอันไหนขึ้นก่อน ขึ้นหลัง


ถาม : เห็นในรายงานมีทำแผนที่ชุมชน ทำปฏิทินฤดูกาลกันด้วย อันนี้คือพี่ทองชวนน้องทำหรือว่าอย่างไร

ตอบ : อันนี้เขาบอกว่าในการทำปฏิทินจะทำให้ง่ายกับการดูของแต่ละเดือน เพราะว่าอายุของสมุนไพรแต่ละเดือนหรือว่าการกินสมุนไพรแต่ละเดือนมันก็ต้องขึ้นอยู่สภาพอากาศหรือว่าร่างกาย อย่างฤดูร้อน เราจะกินของร้อนไหม ฤดูหนาวจะกินอะไร ตามฤดูมากกว่า ตามเดือน เพราะว่ายาบางตัวมันก็มี

ฤทธิ์ไม่เหมือนกัน คล้ายๆ กับอายุของสมุนของแต่ละตัวถึงเวลาเก็บแล้วหรือว่าเก็บไว้นานแล้วไม่ค่อยออกฤทธิ์ เลยชวนเขาทำปฏิทิน แล้วเข้าใจง่ายกว่า ดูง่ายกว่า


ถาม : พี่ทองเรียนรู้เรื่องนี้มาจากไหน

ตอบ : เรื่องฤดูกาล พี่ทำเกษตรพี่จะรู้ปฏิทินของแต่ละเดือนในการปลูกผัก ว่าหน้าไหนควรปลูกผักอะไรพี่ก็เลยคิดว่าแล้วน้อง ๆ จะทำอย่างไรให้เข้าใจง่าย ให้ดูแล้วเข้าใจง่ายกว่าที่เราจะเขียน พี่บอกเขาว่าแต่ละช่วงของปีจะทำปฏิทินผัก น้องๆ บอกว่าน่าสนใจเลยคิดว่าก็น่าจะทำสมุนไพรดูบ้าง


ถาม : พี่ทองให้เขาทำเองหรือว่าช่วยกันทำ

ตอบ : ทำกันเองให้น้องทำกันเองเขาจะมาถามว่าช่วงเดือนนี้เราต้องใส่สมุนไพรอะไร เราจะไล่ไปเรื่อยๆ


ถาม : เขาถามพี่ทองคนเดียวหรือว่าถามผุ้รู้ด้วย เรื่องวิธีการทำ

ตอบ : เริ่มแรกพี่ก็รู้มาก่อนน้องๆ ว่าในแต่ละเดือนช่วงอายุของสมุนไพร เก็บเกี่ยวแต่ละเดือนไม่เหมือนกัน แต่พี่แค่บอกว่าพี่จะทำปฏิทินผัก เขาก็บอกว่างั้นเราก็น่าจะทำแบบนั้นบ้าง


ถาม: แผนที่ชุมชนให้น้องทำกันเองใช่ไหมคะ

ตอบ : ตั้งแต่ปีหนึ่งเขาจะไปศึกษาข้อมูลมาแต่ว่ามันยากในการชี้จุดของแต่ละจุด อย่างปีที่แล้วทำเกี่ยวกับการย้อมผ้า มันยากต่อการชี้ให้คนอื่นเห็นว่าอันนั้นอยู่ตรงนี้ อันนี้อยู่ตรงนั้น เขาบอกว่าน่าจะทำแผนที่ชุมชน เพื่อที่จะเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละอย่าง เพื่อที่ดูแล้วเข้าใจและเห็นว่าตรงนั้นอยู่ตรงไหน ตรงนี้ อยู่ตรงไหน ระบุให้ชัดเจน เหมือนสิ่งที่เราต้องการแค่เราดูสัญลักษณ์ก็รู้แล้วว่าอยู่ตรงไหน


ถาม: พอน้องเขาทำทั้งตัวแผนที่ชุมชนและปฏิทิน น้องเขาไปใช้ประโยชน์ต่อไหมคะ

ตอบ : ถ้าถามถึงแผนที่ชุมชนน้องบางคนเขาไม่รู้จักนักปราชญ์ว่าคนไหน ชื่ออะไร อยู่บ้านไหน คนไหนอยู่ละแวกไหนเขาก็จะดูตามที่ชุมชนแล้วไปตามบ้านที่เขาได้เขียนไว้ เพราะว่าปราชญ์แต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน เขาจะดูว่าปราชญ์คนนี้ถนัดเรื่องไหน แล้วเขาจะไปได้ถูกโดยที่เราไม่ต้องพาไปโดยที่เขาไปได้เอง มีคนอื่นมาเห็นว่าเขาทำปฏิทินนักปราชญ์ เขาก็ดูว่าปราชญ์คนนี้ถนัดด้านไหน อยู่บ้านไหนเขาก็จะเข้าใจง่ายว่าเขาอยู่ซอยนั้นซอยนี้ละแวกนั้น ละแวกนี้ เขาถนัดเรื่องไหนประมาณนี้


ถาม : พี่ทองไปกับน้องด้วยไหมตอนสัมภาษณ์ผู้รู้

ตอบ : ก่อนไปน้องๆ จะมาถามก่อนแล้วเราก็บอกที่บ้านของเขา เขาถนัดด้านไหนเขาก็จะไปกันเอง แล้วพอข้อมูลไม่ครบ เขาก็จะกลับมาถามเราอีกทีหนึ่ง


ถาม : แล้วอย่างนี้พี่ทองต้องช่วยประสานผู้รู้เขาด้วยไหมคะ หรือว่าน้องเขาติดต่อไปเอง

ตอบ : เขาติดต่อไปเอง บางคนก็เจอ บางคนก็ไม่เจอ เวลาผู้รู้ไม่อยู่บ้านเขาก็จะไปวันหลัง


ถาม : แล้วทุกครั้งที่กลับมาจากการทำงานอะไรก็ตามเขาจะกลับมาคุยกับเราใช่ไหม

ตอบ : ถ้าเขาไม่เจอเขาจะกลับมาบอกเราว่าไปเสียเที่ยวนะ ไปมาไม่เจอ เราก็บอกว่าไม่เป็นไรวันหลังก็ยังมี เดี๋ยววันหลังถ้าไปก็ลองถามเขาก่อนว่าเขาจะกลับมากี่โมง วันนี้เขาจะไปไหน ผู้รู้บางคนไปเลี้ยงวัวในป่าลึก เราต้องให้เขาไปถามว่าแล้วเขาจะกลับมาวันไหนต้องถามครอบครัวของนักปราชญ์เอง เขาจะไปนอนกี่คืน ไปนอนหรือว่าไปกลับ


ถาม : พวกข้อมูลที่ได้เขาจะมาทบทวนกันไหมคะระหว่างพี่กับเด็ก ๆ

ตอบ : เขาจะมาบอกว่าไปหาข้อมูลมาแล้ว ได้เพิ่มเติมอะไรอีกไหม เขาทำอะไรอีกไหม ข้อมูลแค่นี้พอไหม หนักแน่น เพียงพอหรือยัง ถ้าเราเสริมได้เราก็จะให้เขามีโอกาสไปถามเรื่องนี้นะ ว่าเขาถนัดไหม เขาทำอย่างไร พอจะรู้ไหมเราก็ส่งเสริมให้เขา แต่ว่าตัวเราเองเรารู้ว่าผู้รู้เขาถนัดเรื่องไหน การถนัดของผู้รู้แต่ละคน มันจะมีคาถาด้วยแต่ว่าคาถาของนักปราชญ์เขาไม่ได้เผยแพร่ให้เยาวชนไปเรื่อยเปื่อย


ถาม : เท่าที่พี่ทองดูแล้วเราก็ปล่อยให้น้องไปสัมภาษณ์ผู้รู้อะไรเอง ข้อมูลที่เขาได้กลับมาเราพอใจไหมคะ

ตอบ : ถามว่าพอใจไหมก็พอใจนะ เพราะว่าสิ่งที่เขาอยากรู้เขาก็ได้ถามผู้รู้เอง ทั้งที่เราก็รู้พอ ๆ กับผู้รู้บางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ไม่รู้ มันก็คือความรู้ใหม่ของพี่เหมือนกัน เหมือนกับเรามาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า


ถาม : ตอนแรกที่รุ่นพี่สองคนที่เรารู้แล้วว่าน่าจะไม่ค่อยได้มามีส่วนร่วมแล้ว ตัวพี่ทองเองก็กังวลว่าโครงการ จะไปได้หรือเปล่า แต่พอถามสามคนที่เหลือว่าเขาจะไปต่อ มันมีจุดเปลี่ยนตอนไหนที่ทำให้เรารู้สึก มั่นใจว่าเด็กน่าจะทำกันได้ มีเหตุการณ์อะไรไหมคะ

ตอบ : เราพูดว่าถ้าสองคนนั้นไม่ให้เวลากับน้อง ๆ สามคนจะทำอย่างไรกัน เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอกไปกันได้ เขามั่นใจว่าเขาไปกันได้เราก็ดูว่าเขาจะไปกันจริง เขาจะมีปัญหา แล้วเขาจะท้อไหม เขาบอกว่าไม่เป็นไร บอกพี่ว่าไม่เป็นไรไปกันได้ มันเหมือนว่าเราไม่น่าถอดใจเลย น้องเขายังสู้แต่เราถอดใจ พี่ไม่ได้แสดงอาการชัดว่าพี่ถอดใจ แต่แอบกังวลในใจว่าถ้าสมมุติสองคนนั้นไม่ได้ไปต่อจริง ๆ สามคนที่เหลือเขาจะคิดอย่างไร เขาบอกว่าไม่เป็นไร คำว่า “ไม่เป็นไร” ทำให้เรามีกำลังใจขึ้น


ถาม : เหมือนช่วงนั้นเราต้องคอยตั้งคำถามแล้วสังเกตน้อง จากที่สังเกตน้องอยู่แล้วเราต้องสังเกตน้องเพิ่มขึ้นกว่าเดิมไหมช่วงนั้น

ตอบ : เยอะขึ้นเพราะว่าเขาต้องรับผิดชอบ แต่ละคนแบ่งหน้าที่กันแล้ว แล้วหน้าที่ของอีกสองคนที่ไม่ได้มาใครจะรับผิดชอบ เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเราค่อยช่วยกันเขาบอกอย่างนี้ แต่หน้าที่ของแต่ละคน เขาไม่ได้ทิ้ง เขาไม่ได้ลำเอียงว่าคนนั้นเยอะ คนนี้เยอะ แต่ว่าเขาจะช่วยกันมากกว่ารู้สึกดีที่เขาช่วยกันมีปัญหาอะไรเขาก็ช่วยกัน เขาจะปรึกษากันตลอด เหลือสามคนเขาจะเกาะกันมาก เขาจะรอกันตลอด ถ้าสองคนว่างอีกคนไม่ว่างเขาจะรอจนกว่าจะว่างครบสามคน เขาจะได้ปรึกษากัน เขาจะได้แก้ไขด้วยกัน


ถาม : ระหว่างพี่ทองกับพี่เดชทำงานด้วยกันอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : พี่ก็จะไลน์หากัน ตอนนี้เด็กเขาเจอปัญหาอุปสรรคแบบนี้ เขาบอกว่ารอดูก่อนว่าถ้าเขาไม่ไหวจริง ๆ เขาจะมาบอกเราแต่ว่าพี่เดชเขาไม่ค่อยมีเวลามาเข้าร่วมกิจกรรมกับน้อง ๆ แต่เขาไม่ได้ทิ้งน้อง ๆ เขาจะมาถามช่วงเย็นตอนหลังเลิกเรียนว่าเป็นไงบ้าง เจออะไรไหม มีอะไรที่ไม่เข้าใจไหม มีอะไรจะถามไหม แล้วเราจะมาคุยกันอีกทีว่าตอนนี้เจออะไรบ้าง แล้วปรึกษาจะหาทางแก้ไขกันอย่างไรต่อไป เหมือนให้เด็กเขาช่วยกันคิดอีกทีว่าที่ทำถูกต้องหรือเปล่า ดีหรือยัง


ถาม : ทั้งพี่ทองพี่เดชมีความเข้าใจเรื่องการเป็นพี่เลี้ยงไปในทิศทางเดียวกัน

ตอบ : ถ้าความหมายของพี่คือพี่กับพี่เดชมีปัญหาอะไรจะปรึกษากันทุกเรื่อง เรื่องเกษตร เรื่อเด็ก ทุกอย่างเราจะปรึกษากัน พี่จะอาศัยว่าเดชเขาอยากมาทำงานเพื่อชุมชนเหมือนพี่เหมือนกัน เราเลยเข้าใจกันมากกว่าคนอื่น ๆ ในชุมชน


ถาม : คนอื่นที่เขาถอนตัวไป เขาไม่เข้าใจในวิธีการหรือเป็นเพราะเหตุผลอะไรเขาถึงถอนตัว

ตอบ : ใหม่ๆ เขาบอกว่า เอาสิ...เป็นพี่เลี้ยงก็เป็นไปไหนก็ไปกัน เอาไปเอามาเราไปทำกิจกรรมเขาบอกว่ามันไม่โอเค เขาบอกว่ามันไม่ใช่แนวของเขา เราก็คิดว่าเราจะดึงผู้นำไปสักคนให้เขาดูแล ให้เขาเข้าใจเด็กเหมือนเรา แต่ไปจริง ๆ แล้วผู้นำที่บ้านพี่เขาไม่เสียสละเวลาให้กับส่วนรวม ต่างคนต่างไป ต่างคน ต่างคิด เขาคิดอะไร คิดอย่างไรเขาบอกว่าไม่โอเค เขาจะอ้างโน่น อ้างนี่ตลอด


ถาม : ไม่ใช่แนวเขา เรารู้ไหมว่าแนวเขาต้องเป็นอย่างไร

ตอบ : แนวเขาคือกลับมาจากอบรม จะเหมือนลักษณะแบบไปศึกษาดูงาน แต่อันนี้เราไปกับเด็กมันไม่สนุกมันไม่ใช่สำหรับเขา


ถาม : พี่เลี้ยงไม่ใช่แค่ไปเฉย ๆ ก็ต้องมีงานที่ต้องทำเหมือนกัน ซึ่งเขาไม่โอเคกับตรงนั้นใช่ไหม

ตอบ : ใช่ค่ะ เขาบอกว่าไม่ใช่ จะให้ไปพูดคุย ไปนั่งเฝ้าไม่ใช่แนวของเขา เขาน่าจะเปิดใจมากกว่าถึงแม้ว่าเราไม่มีความรู้ด้านไหนก็แล้วแต่ แต่พร้อมเรียนรู้ เราน่าจะเรียนรู้ตรงนี้ดีกว่าที่อยู่ในชุมชน มีบทบาทมีหน้าที่แล้วไม่ทำอะไรเลย เขามีบทบาทเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน


ถาม : โครงการที่น้องทำคนในชุมชนหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ เขาได้รับรู้หรือว่าให้ความร่วมมือในส่วนอื่นที่จะสนับสนุนเยาวชนบ้างไหม

ตอบ : เขารับรู้แต่เขาไม่สนับสนุน ถ้ามีอะไรที่เกี่ยวกับเยาวชนหรืองานในชุมชนเขาบอกว่าหาเรื่องอีกแล้ว เอาอีกแล้ว เหมือนความคิดไม่เหมือนกัน เหมือนเขารำคาญเวลาเด็กไปหา ไปถามข้อมูล ขนาดข้อมูลชุมชนยังไม่มีเลย เขาหาไม่เจอ


ถาม : ถ้าเป็นแบบนี้พอน้องมาหาข้อมูลแล้วไม่มี แล้วพอกลับมาในบทบาทของพี่เลี้ยงพี่ทองทำอย่างไรต่อ

ตอบ : แนะนำให้เขาทำใจ เราทำกันเองได้ จะพูดตรงๆ กับน้อง ให้เขาเข้าใจว่าต้องทำใจว่าเราต้องทำเอง เราต้องสู้เอง


ถาม : ก่อนมาทำโครงการจนถึงตอนนี้ทำมาแล้วสองปีในบทบาทพี่เลี้ยงพี่ทองคิดว่า มีอะไรบ้างไหมกับตัว พี่ทองเองที่คิดว่าเปลี่ยนไป

ตอบ : ที่เปลี่ยนคือความคิดของพี่เปลี่ยนไปมากเลย เมื่อก่อนไม่คิดว่างานชุมชนจะสำคัญกับเยาวชนด้วย เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่าชุมชนคืออะไร แล้วเยาวชนคืออะไร มีหน้าที่อะไร แต่ตอนนี้ตั้งแต่ที่ทำโครงการมาพี่รู้ว่าชุมชนคืออะไร เยาวชนคืออะไร สองสิ่งนี้ถ้าไปด้วยกันได้จะโอเคมากแต่ละชุมชน


ถาม : ทำไมถึงคิดว่าถ้าไปด้วยกันได้แล้วจะดี

ตอบ : เพราะถ้าในชุมชนไม่มีเยาวชนมันไม่น่าจะไปรอด ที่บ้านพี่เขาไม่ค่อยมีความรู้ไม่ค่อยมีประสบการณ์ เราต้องอาศัยเยาวชนที่จะเป็นกำลังหลักในการสร้างชุมชนของเราต่อไป


ถาม : ถ้าเป็นในเรื่องของความเข้าใจในตัวเด็ก มุมมองของพี่ทองก่อนหน้านี้กับปัจจุบันนี้เราเปลี่ยนไปไหม

ตอบ : อย่างที่ว่าเมื่อก่อนพี่ไม่ค่อยเข้าใจเด็ก เข้าใจแค่ว่าเด็กมีหน้าที่อะไร อยากทำอะไร คิดอะไร แต่ตอนนี้พี่รู้ว่าเด็กเขามีความคิดเป็นของตัวเอง มีความสามารถเป็นของตัวเอง มีความฝัน ตัวเราก็เมื่อก่อนไม่อยากให้ลูกออกไปเรียนข้างนอก แต่ว่าตอนนี้เริ่มเข้าใจว่าการให้โอกาสกับลูกตัวเองหรือว่าเยาวชนในหมู่บ้านคือสิ่งที่ดี เขาไปเรียนแล้วอาจกลับมาพัฒนาชุมชนของเราให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าให้อยู่แต่ในชุมชน เขาไปได้แต่ว่าถ้าเขาสนใจที่จะ

มาพัฒนาชุมชนจริงๆ เขาก็จะกลับมา

ตอบ : ถ้าไม่มีเยาวชน เรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไปในหมู่บ้าน แต่ว่าถ้าเขาไปเรียนกลับมาแล้วเขาอาจจะมีความคิดหรือว่ามีการพัฒนาตัวเองในการที่จะกลับมาพัฒนาชุมชนของเราก็ได้เราน่าจะให้โอกาสเด็กเหล่านี้ไปศึกษาหาความรู้แล้วก็กลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเองได้


ถาม : สำหรับพี่ทองคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรจากโครงการนี้บ้าง หรือว่าได้พัฒนาอะไรบ้างจากโครงการนี้

ตอบ : พี่คิดว่าตั้งแต่พี่ทำโครงการปีหนึ่ง ปีสอง พี่คิดว่าเด็ก ๆ ที่ทำโครงการเขามีความฝัน เขามีความคิดอยากกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง เมื่อก่อนไม่เคยได้ยินเลยว่าเด็กคนไหนจะกลับมาอยู่บ้าน พอหลังจากจบแล้วเขาทำงานในเมือง แต่พอทำงานกับชุมชน กับเด็ก ๆ เขาก็บอกว่าถ้าเรียนจบมาก็จะกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง ซึ่งพี่ก็รอดูอยู่ว่าเด็กที่ทำโครงการเขาจะกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเองจริงไหม ตอนนี้ชุมชนกำลังต้องการกำลังของเยาวชนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง เราก็น่าจะให้โอกาสเด็กเหล่านี้ ไปหาความรู้แล้วกลับมาพัฒนาจริงๆ บางคนเขาคิดที่จะกลับมาพัฒนาแต่ว่าไปต่อไม่ได้ บางคนเขาไม่มีทุนในการไปศึกษาต่อ หรือว่าพ่อแม่เขาไม่อยากให้ออกไปข้างนอก แต่ว่าความคิดของพี่ ณ ตอนนี้คือเราน่าจะให้โอกาสเยาวชนไปหาความรู้แล้วก็กลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเอง เดี๋ยวนี้เราจะอยู่เหมือนคนสมัยก่อนเราอยู่ได้แต่ว่าเราต้องมีการพัฒนาตัวเอง ในเมื่อเราพัฒนาตัวเอง พัฒนาเด็ก ๆ เขากลับมาพัฒนาชุมชน เราก็น่าจะทำเราก็มีความหวังถ้าเขากลับมาจริง ๆ ส่วนเราก็สร้างเด็กรุ่นหลังให้มาแทนที่เด็กที่กำลังจะออกไปได้


ถาม : ทำโครงการมาสองปีแล้วรู้สึกประทับหรือชอบอะไรบ้างในโครงการนี้

ตอบ : ชอบในการได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ความรู้ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ พร้อม ๆ กับ การเป็นพี่เลี้ยงการเป็นคนธรรมดา สิ่งที่ได้เรียนมาเราจะกลับมาคิด ทบทวนว่าเราจะทำอะไรต่อไปเราต้องคิดไว้ว่าปัจจุบันเราจะทำอะไรต่อไป ถ้าเด็ก ๆ เขาไม่มีผู้หนุนนำ หรือว่าผู้นำที่ให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ออกความคิดเห็นของตัวเองเราคนหนึ่งน่าจะแนะนำเขาได้ เด็กที่บ้านพี่เขาไม่เรียนต่อ เพราะว่าเขาคิดว่าเรียนไปก็เท่านั้นแต่ว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ เขาไปเรียนเขาอาจจะกลับมาพัฒนาชุมชนของเราเหมือนพี่รู้จักกับเดช เดชบอกว่าเขาจะกลับมาพัฒนาชุมชนของเราเพราะว่าบ้านของพี่ไม่พัฒนาสักด้านเลยไม่มีใครกลับมาพัฒนาเลย พี่กำลังเกาะกลุ่มกับเยาวชนที่จบออกมาแล้ว อย่างเช่นปัจจุบันจะมีปาน เขาสนใจเรื่องผ้าทอ เขาก็เรียนเรื่องผ้าทอ ทำวิจัยเรื่องผ้าทอ มีแฝดสองคน เขาจบป.ตรีแล้วแต่ว่าเขาไม่มีงานทำ เราบอกว่าช่วงที่ยังไม่มีงานทำเราน่าจะพัฒนาชุมชนอะไรสักอย่าง แต่ว่าไปหาผู้นำเขาไม่เล่นด้วย กำลังหาอยู่ว่าเราจะทำอะไรก่อนดี ตอนนี้ก็มีเยาวชนที่สนใจจะพัฒนาหมู่บ้านเหมือนกันแต่ว่าเราไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดีก่อน


ถาม : อย่างน้อยโครงการนี้ก็ทำให้พี่ทองรวมกลุ่มเยาวชนในชุมชนได้ อย่างนี้ถ้าจบโครงการไปแล้ว ยังอยากทำงานด้านเยาวชนต่ออีกหรือเปล่า

ตอบ : พี่คิดว่าพี่จะทำอยู่ เพราะว่าตั้งแต่พี่ทำงานกับเยาวชน พี่ได้รู้หลายอย่างเกี่ยวกับชุมชนของตัวเองและเยาวชนได้ดีระดับหนึ่ง เราเข้าใจว่าคนสมัยเก่ากับสมัยใหม่ความคิดเขาต่างกันมาก ในฐานะเราเป็นคนสมัยใหม่เราก็น่าจะปรับเปลี่ยนความคิดตัวเองและคนในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง เราก็น่าที่จะเริ่มที่ตัวเราเองก่อน แล้วค่อยให้คนอื่นทำเหมือนเราหรือว่าคนที่สนใจจริง ๆ ทำเหมือนเรา


ถาม : ตอนนี้บ้านพี่ทองเหมือนเป็นศูนย์รวมให้เด็ก ๆ มาทำกิจกรรมที่บ้านพี่ทองด้วยหรือเปล่า

ตอบ : ส่วนหนึ่งก็ใช่เพราะว่าพี่ก็ทำเรื่องผ้าทอ เด็ก ๆ เขาเห็นพี่ทำก็มีบ้างที่มาลองทำ ถ้าเป็นเรื่องย้อมผ้า คนที่เป็นแม่บ้านหรือว่าเป็นคนที่ทอเป็น เขาก็จะมาขอย้อมด้วยเพราะว่าเขาบอกว่าเขาทำไม่เป็น เขาเห็นก็อยากมาทำอยากมาทอ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีรายได้ สิ่งที่เขามาหามันจะเรียกว่าเป็นจุดรวมหรือเปล่า แต่ทั้งในหมู่บ้านเขาไม่ได้ทำสักหลังนอกจากบ้านพี่


ถาม : อยากถามเรื่องของบริบทชุมชนเพิ่มเติม เท่าที่ฟังว่าเราจะเห็นภาพว่าผู้นำไม่เอาด้วยเราเลยพึ่งพาเขา ไม่ได้เลย กลุ่มผู้ใหญ่ ผู้รู้เรายังสามารถไปขอความรู้จากเขาได้

ตอบ : ได้ค่ะ ผู้รู้บางคนสนับสนุนเต็มที่พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้


ถาม : ชาวบ้านคนอื่นๆ ถ้าเด็กไปถาม ไปทำอะไรด้วย จะมีทั้งที่รำคาญ ไม่รำคาญหรอคะ

ตอบ : ส่วนใหญ่ถ้าเป็นวัยทำงานเขาจะไม่ค่อยสนใจเพราะว่าถ้าพูดตรงๆ เขาต้องไปหาเงินให้ลูกมาเรียนเพื่อให้ครอบครัวมีเงินมาซื้อกับข้าว แต่ว่าบางส่วน ส่วนน้อยที่เขาจะเห็นด้วย อย่างที่พูดเขาถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ มันล้าสมัยทั้งเรื่องผ้าทอ เรื่องสมุนไพร เพราะว่าเขากินยาปฏิชีวนะไปแล้ว อยากกินแล้วหายขาดเลย ไม่กี่วันหาย แต่ถ้าสมุนไพรจะนานกว่าจะหายแล้วก็ต้องใช้เวลา


ถาม : จริงๆ แล้วพื้นฐานชุมชนของเราก็ยังเป็นปกากะญอ ยังทำข้าวไร่ ผู้หญิงก็ยังทอ อาจจะไม่ได้พูดถึง วัยเยาวชน แต่หมายถึงวัยรุ่นพี่ทองก็ยังทอผ้าได้

ตอบ : ยังมีข้าวไร่ ทุกอย่างยังมีความเป็นกระเหรี่ยงแต่ว่าพอโรงเรียนสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามา เขาจะเริ่มคิดว่ามันล้าสมัยแล้ว มันช้า ไม่ทันแล้ว ทุกวันนี้เขาแข่งกับเวลา บางส่วนเข้าใจว่าต้องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ต้องรับจ้างมาเลี้ยงครอบครัวแต่ว่าถ้าถามว่ามีข้าวกินไหม ไม่มีบ้านไหนที่ไม่มีข้าวกิน แต่เขาบอกว่าเงินคือตัวหลักของปัจจุบัน เพระว่าเมื่อก่อนเราจะทำกิน เราจะปลูกอะไรกินเองแต่ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ทันกินแล้วต้องซื้อกินอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วมันอยู่ได้ไม่ยั่งยืน


ถาม : แล้วค่านิยมเรื่องภาษาพูดเรายังพูดภาษากระเหรี่ยงกันอยู่ใช่ไหม

ตอบ : ในหมู่บ้านเหมือนพี่หรือว่าในละแวกใกล้เคียงยังใช้ภาษากระเหรี่ยงในการสื่อสาร นอกจากที่พี่จะไปหาหมอหรือว่าไปข้างนอกในเมืองเราจะใช้ภาษากลางและภาษาเมืองบ้าง แต่อย่างที่น้องกานว่าบางคนจะพูดไม่ชัดเพราะว่าเขาไม่ได้เรียน แต่ว่าเขาก็สามารถสื่อสารได้


ถาม : อยากให้บอกหน่อยว่าน้องแต่ละคนพี่ทองเห็นเขาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจุดเด่น ๆ ที่เห็น

ตอบ : น้องปาน ตั้งแต่ปีที่แล้วเขาสนใจเรื่องผ้าทอการย้อมสีธรรมชาติ ถึงแม้ว่าเขาจะไปเรียน ป.โท แต่ว่าเขาก็จะถามไถ่ตลอดว่าทำอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง เพราะเขาสนใจเรื่องผ้าทอ ที่เขาเข้ามาเป็นแกนนำเขาสนใจเรื่องผ้าทอและสีธรรมชาติ เขามีความมุ่งมั่นสูง จะทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น สิ่งที่พ่อแม่หรือว่าปู่ย่าตายายบอกว่ามันล้าสมัยแล้วไม่ต้องรื้อฟื้นแล้วเขาบอกว่าต้องรื้อฟื้น ต้องทำ เขาจะไม่ชอบอะไรที่เป็นสมัยใหม่ แต่ว่าเขาต้องไปเรียน เขาเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออกแต่ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์หรืออะไรที่เกี่ยวกับเก่า ๆ เขาจะชอบทุกอย่างองุ่น เขาจะเรียนที่แม่โจ้ ความคิดไม่เหมือนใคร เข้าด้วยยาก โลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยคุยกับใคร นอกจากคนที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของเขา เน้นเรื่องการเกษตรอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ถ้าเป็นเกษตรให้ถามเขาได้เลย เขาเข้ากับคนที่เป็นรุ่นน้องกว่ายากมาก เป็นคนที่รักครอบครัวมากกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น  เบ็น เป็นคนที่ใจร้อนนิดหน่อยแอุปนิสัยของเบ็นเป็นคนพูดเสียงดัง ชอบเถียงในที่นี้ หมายถึงเขาคิดอย่างไงเขาจะพูดออกมาอย่างนั้น ไม่ค่อยเป๊ะเท่าไหร่ อะไรก็ได้ ไม่ค่อยซีเรียส  กาน จะเป็นคนเป๊ะ ตรงต่อเวลา ชอบใช้ความคิดตั้งเป้าชีวิตได้ดีคนหนึ่ง จะวางแผน เหมือนเขาศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา ความคิดเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ตอนแรกเข้าใจว่าเขาอยากฝึกพูด เขาจะเร่งทำงาน เขาจะอยู่ในโลกของเขาอยากทำงานให้เสร็จ  ปูเป้ เป็นคนหัวร้อน แต่ว่าเป็นคนที่มีความติ๊งต๊องอยู่ในตัว ไม่ซีเรียส อะไรยังไงก็ได้ มีความมั่นใจในตัวเองสูง พูดไม่เก่ง เป็นคนเก็บอาการไม่อยู่ ไม่ค่อยเป็นการเป็นงาน ชอบอิสระ


ถาม : แล้วเขาดีขึ้นไหมคะ พอเขาทำงานร่วมงานร่วมกับเพื่อนแล้ว

ตอบ : ปูเป้จะรับผิดชอบงานโครงการแรกไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ปีสองรับผิดชอบงานมาก บางครั้งรอเพื่อนมาทำงาน แรก ๆ เขาหัวร้อน แต่สังเกตอยู่อย่างหนึ่งปูเป้ จะเป็นคนที่รับผิดชอบ อย่างงานกลุ่มเมื่อก่อนเขาจะอีกแบบ แต่พอได้ทำโครงการเขาจะเริ่มรู้แล้วว่าการที่ต้องรอเป็นอย่างไร ถ้างานไม่ทัน เพื่อนมาไม่ได้เขาจะทำเองของเขา ง เขาจะไม่รอเพื่อน นิสัยเขาเปลี่ยนอยู่ อีกอย่างช่วงที่ทำโครงการปีแรกจุดเด่นของเขา เขาจะแต่งตัวเก่ง ตอนนี้เขารู้แล้วว่าเขาทำไปได้อย่างไร เขาเริ่มรู้ตัวเองแล้ว แต่รวมๆ เด็กทุกคนเขามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น


ถาม : เรื่องความสัมพันธ์กับคนในชุมชนหรือว่าความคิด ความรู้สึกที่เขามีต่อชุมชน พี่ทองได้สังเกตเห็นไหมคะ

ตอบ : เขาจะเข้าหาผู้ใหญ่มากขึ้น ชวนผู้ใหญ่คุยมากขึ้น มีอัธยาศัยที่ดีกับเพื่อนมากขึ้น เเขารู้แล้วว่าเขาต้องพึ่งผู้ใหญ่ เขารู้แล้วว่าเขาต้องถ่อมตัว เหมือนคนนี้เราเคยไปสัมภาษณ์เราต้องทักทายเขาหน่อย เขาเริ่มรู้จักคนในชุมชน เริ่มทักทายผู้ใหญ่ในชุมชน


ถาม : ถ้าตามปกติแล้วเด็กกับผู้ใหญ่ในบ้าน ในชุมชนเด็กจะต่างคนต่างอยู่ใช่ไหมคะ

ตอบ : เราไม่ได้มีกิจกรรมให้เขาได้คุยกัน แต่ว่าตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เขาไปหาผู้ใหญ่เขาต้องพูด ต้องถ่อมตัว เมื่อก่อนเขาจะไม่สนใจ ไม่สนโลก แต่ตอนนี้เด็ก ๆ เขาจะคิดว่าเขาคือผู้ให้ความรู้ เขาต้องเคารพผู้ใหญ่ในชุมชน


ถาม : มีคนในชุมชนเข้ามาถามพี่ทองไหมว่าพี่ทองพาเด็ก ๆ ทำอะไร

ตอบ : มีคนมาถามว่าทำอะไร อย่างไร พาเด็กมาทำไม


ถาม : แล้วเขาอยากมีส่วนร่วมกับงานของเราบ้างไหม หรือว่าแค่มาถามเฉยๆ

ตอบ : บางรายเขาแนะนำปราชญ์คนใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้ว่าเขาก็ถนัดอีกด้านหนึ่ง เหมือนกัน เขาก็มาแนะนำให้เราแต่ต่างบ้านเยอะเลย เขาแนะนำให้ไปต่างบ้าน แต่เราเอาแค่คนในชุมชนของเราก่อน


ถาม : อยากถามพี่ทองในฐานะคุณแม่ พอเราได้มาลองเรียนรู้บทบาทพี่เลี้ยงมันมีเรื่องอะไรไหมที่เราเอาไปใช้เลี้ยง ดูแลลูกของเรา

ตอบ : ตั้งแต่เข้าโครงการมาเราจะถามเขาว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอะไร วันนี้ไปเจออะไรมาบ้าง วันนี้ไปเรียนอะไรมาบ้างก็จะถามทวนเขา มีช่วงหนึ่งที่เขามาบอกกับเราว่าจะเรียนจบ ม.6 แล้วยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร ก็ให้เขาถามตัวเองว่าชอบอะไร อยากทำอะไร ชวนให้เขาคิด เห็นเขาเครียด เขาคิดไม่ออกว่าเขาจะทำอย่างไรต่อดี เราก็ถามเขาว่า เขาชอบอะไร ให้ถามตัวเองว่าต่อไปจะทำอะไร คอยถามเขาว่าคิดออกหรือยังว่าจะเรียนต่ออะไรดี


ถาม : ปกติพี่ทองกับลูกสนิทกันไหม คุยกันบ่อยไหม

ตอบ : คุยกันได้แทบทุกเรื่อง มีอะไรก็จะปรึกษากัน ตั้งแต่ทำโครงการมารู้สึกว่าเข้าใจลูกมากขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นคนใช้อารมณ์ อยากให้ลูกทำเหมือนคนอื่น ความรู้สึกคือทำไมไม่ทำตามคนนั้นละ คนนี้ละ จะบอกกับลูกแบบนี้แต่จริงๆ แล้วเท่าที่ทำโครงการมาเราเมื่อก่อนไม่รู้ว่าคนเราถนัดไม่เหมือนกัน ความสามารถไม่เหมือนกัน เราไม่เข้าใจว่าคนนั้นเขาไปเป็นเรียนอันนั้น อันนี้ แล้วเราจะกลับมาบอกลูกเราว่าเขาไปเรียนอันนั้นอันนี้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว จะให้เขารู้จักตัวเองก่อน ถามตัวเองรู้จักตัวเองอยากทำอะไร ตอนพี่ยังไม่ได้ทำโครงการจะคอยคิดแทนลูก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเขาอยากทำอะไรก็ให้เขาถามตัวเอง ถ้าเขาอยากทำอะไรก็จะลองให้เขาทำเพราะว่าสิ่งที่ทุกคนบนโลกใบนี้ทำได้ไม่เหมือนกันแน่นอน ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เราเลี้ยงได้แต่ตัวเขา แต่ว่าความคิดเขาเราเลี้ยงไม่ได้ เขาต้องรู้จักตัวเองแล้ว