กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์ : โครงการ เยาวชนดีวิถีพุทธธรรมจิตอาสาพัฒนาวัดในชุมชน เยาวชนสวนพุทธธรรม

“เยาวชนดีวิถีพุทธ” เป็นเยาวชนจังหวัดลำพูน ที่ลุกขึ้นมาทำโครงการชักชวนเยาวชนในชุมชนรอบสวนพุทธธรรมเข้ามาทำจิตอาสาที่วัดต่างๆ รอบสวนพุทธธรรม พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาแก่เยาวชนที่ร่วมโครงการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเยาวชนจะเห็นว่าพื้นที่วัดสามารถเป็นพื้นที่ฝึกปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสา รวมถึงเห็นประโยชน์ของการมาทำกิจกรรมร่วมกัน และสร้างความเข้าใจใหม่ว่าพื้นที่วัดไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มาไหว้พระเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้และทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้
นอกจากการที่เข้าไปชวนน้องๆ ในชุมชนทำประโยชน์ในพื้นที่สวนพุทธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการที่ให้เยาวชนมีโอกาสได้ทำงานจิตอาสาแล้ว ทีม “เยาวชนคนดีวิถีพุทธ” เกิดการพัฒนาตนเองในการทำงานอีกด้วย ลองไปดูกันว่าพวกเขาพัฒนาตัวเองและได้บทเรียนจากการพาเยาวชนในชุมชนผ่านการทำงานจิตอาสานี้ได้อย่างไร

­

­

“การลดอัตตาของตัวเอง ที่เชื่อว่าความคิดตัวเองถูกเสมอ และ เปิดใจ ยอม รับฟัง ผู้อื่น เพื่อ เข้าใจ ความคิดพวกเขา และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองด้วย”

นุ๊กนิ๊ก ยอมรับว่าตัวเองเคยเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก่อนและมันก็ค่อยๆ ลดดีกรีลงนับตั้งแต่วันที่เธอลงมือทำโครงการนี้
“หนูเป็นคนที่เคยคิดว่าความคิดของเราถูกที่สุดแล้ว ใครจะมาลบล้างไม่ได้ คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ต้องเหนือกว่าไม่อย่างนั้นไม่ยอม ทุกคนต้องฟังหนูเท่านั้น แต่พอทำโครงการที่ต้องทำงานเป็นทีม ทำให้หนูกลับมาคิดว่าต้องฟังคนอื่นบ้าง พอฟังแล้ว มันก็ใช้ได้อยู่นะ ทำให้หนูรู้ว่าคนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องเอาความคิดของเราเป็นใหญ่อย่างเดียว เราต้องหัดฟังคนอื่นบ้าง แล้วพอได้ฟังก็ทำให้เราได้เห็นว่าคนอื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ขณะเดียวกันหนูก็ใจเย็นขึ้น นิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ”

นุ๊กนิ๊ก-กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์

­

“การค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร มุ่งมั่นทำสิ่งนั้นให้เต็มที่นอกจากจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว เรายังสามารถนำความรู้นั้น มาสร้างประโยชน์ต่อให้คนอื่นได้อีกด้วย”

สิ่งดีๆ ที่บิวได้กลับมาไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงของทักษะ แต่ถึงขั้นเปลี่ยนความคิดต่อการใช้ชีวิตของบิวตั้งแต่ วันนี้เป็นต้นไป
“เมื่อก่อนพอผมเรียนเสร็จ ก็จะไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถ และคิดว่าคงจะเป็นช่างไปเรื่อยๆ แต่การเข้ามาทำโครงการทำให้ผมค้นพบตัวเองว่าเราชอบทำกิจกรรม แล้วก็มาคิดต่อว่าจะทำกิจกรรมอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ จึงตัดสินใจลาออกจากร้าน เพราะอยากออกไปข้างนอกไปหาประสบการณ์ให้กับตัวเอง”
ประสบการณ์ที่บิวตั้งใจสั่งสมเกี่ยวกับการทำกิจกรรมนั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเขาเองเพียงคนเดียว แต่บิวตั้งใจว่าจะนำประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ในชุมชน
“โครงการนี้ทำให้เราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เรามีคือชุมชน เราต้องพัฒนาชุมชนเราก่อน เริ่มจากตัวเราและคนใกล้ตัว ที่สำคัญคือ ผมต้องพัฒนาเด็กในหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นรุ่นต่อไปที่จะขึ้นมาแทนเราให้ได้ โดยที่เราออกมาดูข้างนอก คอยสนับสนุนให้กับเด็กๆ ครับ

บิว-เจนณรงค์ กาสุยะ

­

“การฝืนตัวเอง ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ
ใครจะรู้ว่าสิ่งที่เราไม่อยากทำเหล่านั้น
มันกลับมาฝึกตัวเราเองให้ดีขึ้น”

“จากที่อยากมาก็กลายเป็นไม่อยากทำ เพราะรู้สึกเบื่อ ไม่ชอบเลย” ปุ๊กกี้สารภาพความรู้สึกที่มีต่อการทำโครงการช่วงแรก ก่อนเล่าต่อว่า
“แต่ลองฝืนใจมาต่อ กลายเป็นว่าหนูได้ฝึกฝนตัวเองเพิ่มหลายอย่าง มีทักษะการวางแผนมากขึ้น มีขั้นตอนการทำงาน ที่ได้เรียนรู้จากการทำโครงการ และที่สำคัญเข้ากับคนอื่นได้ง่าย

ปุ๊กกี้-จุฑามาศ ทะกาศ

­

แม้เมล็ดพันธุ์ที่พวกเขาหว่านไว้ในตัวเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอาจยังไม่งอกเงยเห็นผลในวันนี้ แต่เชื่อว่าต่อจะ ผลิดออกออกผลให้ชื่นชมอย่างแน่นอน ส่วนดอกผลที่เริ่มเติบโตขึ้นและค่อยๆ เบ่งบานแล้วคือเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในตัวพวกเขานี่เอง จนพวกเขาก็สัมผัสถึงสิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ จนกล้าพูดออกมาอย่างมั่นใจว่า

“การทำโครงการนี้ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา”