สอและ หลงสมัน : บทบาทผู้ใหญ่ในการเป็นกลไกพัฒนาเยาวชนชุมชนเขาน้อย จังหวัดสตูล

บทบาทผู้ใหญ่ในการเป็นกลไกพัฒนาเยาวชนชุมชนเขาน้อย


พี่เลี้ยงโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย ต.ย่านซื่อ อ.ควนโดน จ.สตูล

สอและ หลงสมัน ชื่อเล่น สอและ

อาชีพ ผู้บริหารและฝ่ายวิชาการมัสยิด ครูสอนศาสนาโรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา



แนะนำตัวเอง ชื่อ นามสกุล อายุ ถ้ามีตำแหน่งอะไรในชุมชนหรือในโรงเรียนให้ครูแนะนำได้เลยค่ะ

สวัสดีครับ ผมนายสอและ หลงสมัน พี่เลี้ยงโครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย ตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบนอกเหนือจากงานของเยาวชนแล้ว เป็นผู้บริหารศาสนสถาน (มัสยิด) รองจากอิหม่าม ทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการของมัสยิด แล้วอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นครูสอนศาสนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา นี่คือหน้าที่หลัก ๆ อีกหน้าที่บางช่วงบางปีเป็นผู้นำผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หน้าที่ที่ทำเป็นผู้นำแบบธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในเรื่องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชุมชนรวมถึงเยาวชน สำหรับการทำงานของผมในชุมชนบ้านเขาน้อยเป็นชุมชนที่ค่อนข้างได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกเยอะ สืบเนื่องมาจาก พ.ศ. 2558 ทางมัสยิดได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมสุขภาพ  คำว่ามัสยิดส่งเสริมสุขภาพก็คือเป็นมัสยิดที่ให้การดูแลเรื่องของสุขภาพของผู้ที่อยู่ในชุมชนและสุขภาวะต่าง ๆ ของมัสยิดนั้น มีความพร้อมด้านสุขลักษณะที่ถูกต้องตามหลักกระทรวงสาธารณสุขซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับเยาวชน เป็นครั้งแรกที่นำเยาวชนเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องในการทำงานกับชุมชนในส่วนของมัสยิด จนเป็นที่มาให้เราได้เข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิสยามกัมมาจล แรก ๆ ผมก็ยังไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าโครงการนี้มาจากไหน ต้นตอมาอย่างไร ค่อนข้างเป็นห่วงในเบื้องต้น แต่เมื่อได้ทำงานมาสักระยะหนึ่ง เราได้รับการพัฒนาทั้งพี่เลี้ยงแล้วก็เด็ก เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ความรับผิดชอบ และความหวงแหนกับพื้นที่มากขึ้นจากเยาวชน เดิมทีเยาวชนไม่ค่อยให้ความสนใจกับกิจกรรมในพื้นที่ เพราะเขายังไม่เห็นความสำคัญว่ากิจกรรมหรือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มันเกิดอยู่ในชุมชน จะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร มันจะเป็นผลดีกับเขาอย่างไรบ้าง ตอนแรก ๆ ปัญหามันจะเป็นอยู่อย่างนี้  สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าว เราได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ขององค์การบริหารส่วนตำบล เข้ามาจัดกิจกรรมและดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนเรื่องของการสูบบุหรี่ของบุคคลที่ติดบุหรี่ในพื้นที่ และเราก็ทำกิจกรรมนั้นเรื่อยมา โดยเฉพาะโครงการสกัดนักสูบหน้าใหม่ เพื่อที่จะให้คนในชุมชนได้ลดละเลิกการสูบบุหรี่ ประกอบกับโครงการแอคทีฟซิติเซนเข้ามาด้วย จริง ๆ ในปีแรกเราก็ทำงานกับชุมชน เราคิดว่าเราจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเยาวชนกับผู้สูงอายุในพื้นที่ ในปีแรกเราทำ โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพของผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน เราก็คิดทำโครงการนี้ขึ้นมา จนตกผลึกแล้วลงมือดำเนินโครงการไปได้ประมาณ 2 เดือน ทางพี่เลี้ยงใหญ่คือทาง สกสว. ของสตูล ทางน้องเชษฐ์และคณะทำงาน บอกว่าตอนนี้มีชุมชนหนึ่งไม่สามารถเดินโครงการไปได้ เนื่องจากปัญหาในพื้นที่ของเขา ถามว่าบังจะรับเพิ่มสักโครงการไหม ก็มานั่งปรึกษาหารือกับน้อง ๆ เยาวชน เขาบอกว่าทำ ทีมเรามีอยู่ประมาณสิบกว่าคน เราแบ่งออกเป็นสองชุด ชุดหนึ่งรับผิดชอบโครงการของผู้สูงอายุ  และอีกโครงการหนึ่งที่รับมา เป็นโครงการที่หลายคนพะวงกับการทำงานของเยาวชน คือโครงการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทีมงานต่างกังวลว่าเด็กจะทำได้หรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของบุคคล มันถือเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ได้รับการสนับสนุนมาจากอีกส่วนหนึ่งก็คือเราทำงานของ สสส. อีกชุดหนึ่ง ทำงานที่เดินไปร่วมกันของคุณเตือนใจ ชูอักษร (ป้าป้อม กลุ่มพัทลุงยิ้ม) เป็นเรื่องของเรียนรู้อ่านกินเล่น แล้วก็อีกองค์กรหนึ่งที่เข้ามาร่วมกับเรา ท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล ก็เข้ามาเป็นแรงเสริมในการดำเนินกิจกรรมของเรา สรุปแล้วที่ผ่านมาเราทำงานกับ สปสช. ผ่าน อบต. มี ททท. พัฒนาชุมชน และ สสส. ผ่านป้าป้อม ส่วนในปีนี้ โครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านเขาน้อย สถาบันราชมงคลศรีวิชัย เข้ามาช่วยยกระดับ สร้างความร่วมมือของชุมชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย ทำให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้นต่อเนื่องจากโครงการที่เยาวชนทำอยู่แล้ว ร่วมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องถนนสุขภาพ แล้วก็เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ในส่วนของตรงนี้ สำหรับปีนี้ทางชุมชนประชุมประชาคมกันสองครั้งแล้ว มาออกมาสเตอร์แปลนทำแผนที่เดินดินใหม่ทั้งหมด เพื่อสานต่อโครงการของเยาวชนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น


ถ้าเราย้อนกลับไปก่อนปี 2558 ที่ทางชุมชนเริ่มทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ก่อนหน้านี้สถานการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาหลัก ๆ คือปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาใหญ่มากเลยในตอนนั้น ประมาณปี 2556 ความเจริญเข้ามาสู่ตำบลย่านซื่อ ตรงข้ามกับชุมชนของเรามีโลตัสเกิดขึ้นมา เมื่อความเจริญเข้ามา ปัญหาก็ตามมาเยอะ ที่จริงปัญหาในพื้นที่มีอยู่แล้วก็คือปัญหายาเสพติด ช่วงนั้นผู้ใหญ่บ้านก็เพิ่งได้รับตำแหน่งมาใหม่ ๆ ก็ร่วมกันทุกวิถีทางที่จะช่วยให้น้อง ๆ รอดพ้นจากตรงนั้น เมื่อโลตัสเข้ามา มันเป็นศูนย์การค้า เป็นศูนย์การค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกระบวนการของโลตัสก็โอเค แต่ศูนย์การค้าที่ผิดกฎหมายก็คือเรื่องยาเสพติด พอคนหมู่มากเข้าไปอยู่ตรงนั้นมากหน้าหลายตาก็สามารถทำงานในรูปแบบอื่นได้ มันเป็นเหมือนฮับที่กระจายของไปได้ทั่วเลย พื้นที่ของเขาน้อยบางส่วนเป็นเส้นทางผ่านและเป็นจุดพักยาเสพติด สังคมก็มานั่งร่วมคิดกัน ฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกันหาทางออก หากเราไม่มีกิจกรรม ไม่มีพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความสามารถ อนาคตปัญหาชุมชนเราอาจแย่ไปกว่านี้ เมื่อเรามีกิจกรรม เรามีเวที เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ใหญ่ เด็กก็มีความรักความเป็นห่วงกับพื้นที่มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน


ก่อนหน้านี้มีกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ เยาวชน มาทำร่วมกับผู้ใหญ่บ้างไหม

มีครับ แต่มันประปราย มันเป็นกิจกรรมประเภทที่โดนสั่งลงมา เป็นกิจกรรมเฉพาะว่าวันนี้ต้องการเยาวชนสิบคนยี่สิบคนมาทำกิจกรรม ทำเสร็จแล้วก็เลิกรากันไป ส่วนราชการส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ให้มาเราก็ทำแบบไฟไหม้ฟาง ทำเสร็จแล้วก็จบกันไป แต่เมื่อเราเข้าสู่โครงการนี้ เราจะสร้างกระบวนการทำงานให้กับเด็ก เราได้สอนวิธีคิดให้กับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความรักและความหวงแหนในโครงการที่เขาคิดขึ้นมา เพราะว่าทุกกิจกรรม 3 กิจกรรมที่เขาน้อยได้ทำในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็คือ ปีแรกสองโปรเจกต์ ปีที่ผ่านมานี่อีกหนึ่งโปรเจกต์ มันเป็นความคิดที่มาจากเด็ก ๆ ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่แค่แนะนำเสนอไปบางส่วนเพื่อทให้เกิดความเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้เด็กเขารักในสิ่งที่เขาทำ


ตอนปีแรกสองโปรเจกต์ คือโปรเจกต์อะไรบ้าง

โปรเจกต์แรก ศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน โปรเจกต์ที่สอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นสองโปรเจกต์ มาปีที่สองศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชน


ถ้าพูดถึงทำเลที่ตั้งหรือสภาพแวดล้อมของบ้านเขาน้อย อยากให้ครูช่วยฉายภาพให้เห็นหน่อยว่าเป็นอย่างไร

ทำเลที่ตั้งของเขาน้อย เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ มีสายน้ำชลประทานไหลผ่าน เป็นพื้นที่ราบและมีภูเขาล้อมรอบสามด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนอยู่กันแบบครอบครัวเดียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเป็นครอบครัวเดียวกันเพิ่งมาเฉลยในปีที่ผ่านมาจากโปรเจกต์ของเยาวชน หลังไปสำรวจเรื่องการสืบสานวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่ พบว่า ผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อยเป็นต้นตระกูลคนเขาน้อย เขามีลูกทั้งหมด 6 คน แล้วก็แยกไปมีครอบครัว กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณใกล้เคียง กลุ่มแกนนำเยาวชนที่ทำงานในปีที่ผ่านมา พบว่า 80% ของคนในชุมชน เป็นลูกหลานของผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อย ผู้ใหญ่ทอง สาดี หมายความว่าคนในชุมชนเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ ถ้าดูสภาพเดี๋ยวผมหมุนกล้องให้ดู ผมอยู่หน้าบ้านเลยครับตอนนี้ นี่ก็เป็นทุ่งนา มีเขา ภูเขาล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน ผมเปิดเป็นโฮมสเตย์ เอาบ้านหลังเก่ามาทำเป็นโฮมสเตย์แล้วให้เป็นที่ทำงานของเยาวชนครับ


ในส่วนของโฮมสเตย์กลุ่มเป้าหมายหรือคนที่จะเข้ามาหาเรา เป็นใคร

พี่น้องทั่ว ๆ ไปที่เดินทางมาในพื้นที่ หรือจะมาท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล หาที่ที่บรรยากาศดูดี ร่มรื่น บรรยากาศวิถีชุมชนจริง ๆ ก็มาพักตรงนี้ แล้วเป็นที่พักถูก ๆ ราคาสามร้อยกว่าบาท สามร้อยห้าสิบบาทต่อคืนต่อห้อง ถือว่าช่วยกัน ให้พี่น้องได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มีจุดชมวิวของเขาน้อยที่เราก็ได้ร่วมกันพัฒนาทั้งเด็กและผู้นำท้องที่ เสาร์อาทิตย์คนจะค่อนข้างเยอะ จัดให้มีตลาดตอนเช้า เป็นตลาดอาหาร ในตลาดนั้นนำโปรเจกต์ของน้อง ๆ เข้าไปใช้ก็คือเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ คนมาจากที่ไหนก็ตาม เมื่อมาชอปที่ตลาดนี้ตอนเช้าก่อนขึ้นไปชมวิวในตลาดนี้จะไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ปลอดเรื่องนี้จริง ๆ


ตลาดมีมานานหรือยัง

ตลาดมีมา 2 ปีแล้ว


มีชื่อไหม

เราจะพูดว่าตลาดเช้าเขาน้อย มีคนมานั่งกินน้ำชากัน มาซื้อของกัน เพราะว่าลงมาจากเขาก็ลงมาทานอาหารกันตรงนั้น


เปิดตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง

ตั้งแต่หกโมงเช้า – เก้าโมง


ขายอะไรกันบ้าง

พวกอาหาร มีผักพื้นบ้าน มีผลไม้พื้นบ้าน พี่น้องในชุมชนเอามาขายตรงนั้น ทุกวันพุธมีตลาดเย็น สืบเนื่องมาจากตรงนี้ทั้งหมดเลย พอเรามาทำกิจกรรมด้วยกัน เราก็เริ่มสร้างธุรกิจของชุมชนขึ้นมา มีตลาดได้ช่วยพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่


ส่วนที่เป็นมัสยิด มีชื่อเฉพาะไหม

มัสยิดดารุลนาอีม ในโปรเจกต์ปีแรก เราใช้มัสยิดเป็นฐานทุกกิจกรรม ประชุมเด็ก ลงมาติดตามงานใช้มัสยิดทั้งหมด แต่พอปีที่สองใช้พื้นที่ทั้งที่มัสยิดและโฮมสเตย์ แยกกันไปว่างานเล็กงานใหญ่ ตรงไหนที่รับคนจำนวนมากได้ก็ต้องไปมัสยิด แต่ถ้าจำนวนน้อยสิบคนยี่สิบคนก็ที่โฮมสเตย์ ที่นี่สะดวกเรื่องของ WiFi ที่มัสยิดไม่มี WiFi


ช่วงปีแรกทำไมเราถึงใช้มัสยิดเป็นฐาน

ปกติงานทุกงานของชุมชุน เราใช้มัสยิดเป็นฐานในการทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายปกครอง หรือของฝ่ายศาสนา เมื่อมีกิจกรรมขึ้นมาจะมาทำกันที่มัสยิด มัสยิดถือเป็นจุดยึดเหนี่ยวของคนในพื้นที่ด้วย แล้วก็ทำให้การทำงานเกิดความคล่องตัว ทุกคนก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่กับสถานที่ด้วย


ถ้ามองในมุมที่มัสยิดเป็นศูนย์กลาง แล้วมีผู้ใหญ่ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาจับงานด้านเยาวชน เป้าหมายเรื่องการพัฒนาเยาวชนของชุมชนคืออะไร

ถ้าพูดถึงจริง ๆ แล้ว เราดูจากชุมชนแล้วก็พื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่ทั้งในจังหวัด เราเห็นแล้วว่าเวทีของเยาวชนถูกปิดโดยสิ้นเชิง เหมือนที่คุยตอนต้นว่าทุกกิจกรรมทุกงานที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาสนา หรือสาธารณสุขเข้ามา มันเป็นงานเฉพาะกิจ ทำแล้วก็จบกันไป แต่ที่เรามาทำงานกับเยาวชน เราคิดว่าเราต้องสร้างเยาวชนให้เกิดความเข้มแข็ง ให้เกิดความหวงแหนกับพื้นที่ และสร้างให้เยาวชนได้เปิดหูเปิดตาได้ไปศึกษาจากพื้นที่อื่น แล้วเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง มาทำงานตรงนี้เราได้นำเยาวชนออกไปดูงานสองครั้งแล้ว ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เปิดวิสัยทัศน์ของตัวเอง เพื่อกลับมาพัฒนาในพื้นที่ มีอีกโครงการหนึ่งที่เมื่อกี้ตกไปยังไม่ได้บอก คือโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เป็นชุมชนเดียวในจังหวัดสตูลที่ยังคงอยู่ได้ นอกนั้นล้มหมดแล้ว ปีที่ผ่านมาสามารถทำให้จังหวัด หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสามารถรับเข็มพระราชทานจากทูลกระหม่อมฯ ที่เมืองทองธานีในปีที่ผ่านมา จากเยาวชนชุดนี้แหละที่ไปช่วยดำเนินงานตามโครงการทูบีนัมเบอร์วัน สามารถสืบได้เลยว่าสตูลมีแค่พื้นที่เดียว คือ พื้นที่เขาน้อย


ฟังดูแล้วเหมือนช่วงที่ผ่านมา กิจกรรมของเยาวชนก็ทำให้ชุมชนคึกคักขึ้นใช่ไหม

ใช่ครับ พอกิจกรรมเยาวชนถูกขับเคลื่อนขึ้นมา ตอนนี้หลายพื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ ก็มองเห็นแล้วมาถามว่าชุมชนเขาน้อยทำอย่างไร คำถามมันเริ่มมาแล้ว แต่ละพื้นที่ต้องการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเองเหมือนกัน จนในที่สุดโปรเจกต์ปีที่ผ่านมาสามารถดึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงคือชุมชนบ้านลานเข้ามาด้วย จากที่เมื่อก่อนไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วยได้มาทำโครงการร่วมกับเราด้วย


แล้วเวลาครูได้รับคำถามว่าทำอย่างไร ครูจะตอบอย่างไรก่อน ในลำดับแรก

ลำดับแรกที่ตอบ คือ ทุกชุมชนเราต้องให้สิทธิเสมอภาคเหมือนกัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เราต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูดได้แสดงความคิดเห็น เขาอยากจะทำอะไรเขาพูดมา มันทำให้เกิดการประสานงานการทำงานร่วมกันได้ เป็นจุดที่เราเปิดโอกาส เมื่อก่อนเราไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กพูด ถึงเวลาเราก็บอกว่าขอยี่สิบคน ขอสามสิบคน ขอสิบห้าคน แต่บางทีเขามาด้วยความอึดอัด เขาไม่อยากทำในส่วนตรงนั้น


อยากรู้ว่าช่วงไหนที่ครูสอและและชุมชนรู้ตัวว่าเราต้องมาเปิดโอกาสให้เด็กนะ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้การทำงานผู้ใหญ่กับเด็กก็อาจจะเป็นในรูปแบบสั่งการ หรือว่าออกคำสั่งให้เด็กมาร่วมกิจกรรม

ที่ฉุกคิดขึ้นมา เป็นช่วงที่อาจจะเดินไปไม่ได้แล้วคือปี 2557 ปัญหาในชุมชนรุนแรงมาก ทั้งติดยา เรื่องชู้สาวก็เยอะ หลังจากนั้นปี 2558 ผู้ใหญ่มาร่วมกันระดมความคิด แล้วก็เห็นว่าฐานที่ช่วยให้สิ่งเหล่านี้ทุเลาเบาบางลงได้ก็ต้องเอาองค์กรศาสนามาเป็นตัวหลัก แล้วองค์กรฝ่ายปกครองเข้ามาช่วยเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทุกกิจกรรม ถ้าทุกคนยึดเหนี่ยวอยู่ในศาสนาแล้ว ปัญหาต่าง ๆ จะคลี่คลายลงได้เร็ว คือจุดคิดที่ทางชุมชนได้เริ่มต้น


ความใกล้ชิดระหว่างชุมชนกับศาสนาก็ยังอยู่ในระดับที่โอเคใช่ไหม

ตอนนี้โอเค ตอนนั้นก็ไม่โอเค เมื่อก่อนเด็กห่างเหินกับองค์กรศาสนากับผู้นำชุมชน เด็กไม่ค่อยเข้าใกล้ เด็กไม่ปฏิสัมพันธ์ด้วย เราก็มาคิดร่วมกันระหว่างองค์กรศาสนากับองค์กรปกครองในท้องที่ แล้วก็ได้ให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย


ตอนแรกที่รับโครงการมาทำในปี 2558 คือเราต้องหากลุ่มเยาวชนเป้าหมายใช่ไหม ตอนนั้นครูมองอย่างไร จะต้องดึงใครเข้ามา หรือว่ามีหลักเกณฑ์ในการดูอย่างไรบ้าง

ในปี 2558 เราเน้นเรื่องบุหรี่เป็นประเด็นแรก เราคิดอยู่เสมอว่าบุหรี่คือต้นตอของปัญหายาเสพติดทุกประเภท เราลงพื้นที่ใช้คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดลงสำรวจพื้นที่เต็มพื้นที่ ในหนึ่งครอบครัว สมมติว่ามีห้าคน พ่อสูบไหม สูบอย่างไร สูบแบบต่อเนื่อง สูบบ้างเว้นบ้าง ลูกสูบไหม สูบอย่างไร สูบวันละเท่าไร สูบกี่ซอง สูบประเภทไหน เราเอารายละเอียดมาทั้งหมด มาประมวลข้อมูลทั้งหมด แล้วรายงานไปยังสาธารณสุขจังหวัด ตกลงว่าบ้านเรานั้นติดอยู่ในระดับต้น ๆ ของจังหวัด มันไม่ได้หนึ่งในสิบแต่อยู่เป็นหนึ่งในยี่สิบของจังหวัดสตูล นั่นคือสิ่งที่เราค้นพบ เลยจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เราเกณฑ์เยาวชนทั้งหมดทั้งหมู่บ้านมาประชุมจัดกิจกรรมลดละเลิกการสูบบุหรี่ เป็นกิจกรรมที่จัดแบบเข้าค่ายสามวันสองคืน อยู่ที่มัสยิด ให้ความรู้ทั้งวิชาการแล้วก็หลักศาสนาประยุกต์เข้าด้วยกัน เมื่อเราเข้าค่ายเสร็จแล้ว ก่อนที่ออกจากค่าย เรานำเยาวชนทั้งหมดไปทำกิจกรรมสาธารณะอื่น ๆ บำเพ็ญประโยชน์ หลังจากนั้นมาเราจัดกิจกรรมกับน้อง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งเราสามารถลดปัญหาในพื้นที่ลงได้


แล้วตัวเยาวชนแกนนำที่มาทำโครงการ เขาเป็นอาสาสมัครเข้ามาหรือว่าอย่างไร

เริ่มต้นมีประมาณ 6 – 7 คน รวมกลุ่มกัน ทุกวันนี้หลังทำพิธีละหมาดตอนเย็นเสร็จแล้วเขามานั่งคุยกัน บางทีก็มานั่งปรึกษาหารือกัน บางโอกาสก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาทำอะไร เขาก็ไปพัฒนาตรงนั้นไปทำตรงนี้ มีอยู่ประมาณ 6 – 7 คน มันเริ่มจากกลุ่มนี้ที่สามารถดึงชุดอื่นเข้ามาทำกิจกรรม ที่เราเห็นว่าประสบความสำเร็จตอนนี้ ชุด 6 – 7 คนนี้ 6 คนเรียนต่อ อีก 2 คนที่ไม่มีความสามารถในการต่อระดับอุดมศึกษาได้ก็มีอาชีพของตัวเอง นี่คือจุดเริ่มต้น แล้วน้อง ๆ ก็ได้โมเดลจากตรงนี้ จากรุ่นพี่ หนึ่งในรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำชุดนั้นก็เรียนอยู่มัธยมปลาย เขาไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ไปเรียนตัดผม เขาเรียนมัธยมปลาย ตอนเย็นกลับมาเขาตัดผมที่บ้านทุกวัน วันหนึ่งสิบห้าสิบหกหัว กลับจากโรงเรียนมีรายได้ก็เป็นโมเดลให้กับน้อง ๆ ที่มาทีหลัง ถึงแม้ว่าเรียนก็สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เมื่อปีที่แล้วเขาไปต่อระดับอุดมศึกษาแล้ว


ของเราเป็นชุมชนใหญ่ขนาดไหน ประมาณกี่ครัวเรือน

เป็นชุมชนที่เล็กนะ ก็มีอยู่ 161 ครัวเรือน ประชากรก็หนึ่งพันต้น ๆ ประมาณ 1,200 คน


อยากให้ครูช่วยวิเคราะห์จุดแข็งของกลไก แต่ทีนี้อาจจะแยกส่วน อย่างส่วนของเยาวชน เพราะเราก็รู้ว่าชุมชนนี้เยาวชนที่เข้ามาร่วมมีจำนวนเยอะ ผู้ใหญ่ก็เยอะ ถ้าเริ่มจากตัวเยาวชน ครูคิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งหรือจุดเด่นของชุมชนบ้านเขาน้อยเลยที่ทำให้เด็ก ๆ มาสนใจกันในจำนวนเยอะ

ถ้าพูดถึงตรงนั้นก็หลังจากที่เราได้ผู้ใหญ่คนปัจจุบันมาประมาณปี พ.ศ. 2552 สืบเนื่องว่าก่อนหน้านี้ จุดด้อยของพื้นที่ก็คือผู้นำศาสนา ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่นไปกันคนละทาง ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่ปรึกษาหารือ เกิดมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เพราะว่าในยุคนั้นเลือกตั้งบ่อย ท้องถิ่นก็เลือก ผู้ใหญ่บ้านวาระก็แค่ห้าปีต้องเลือกใหม่ ท้องถิ่นสี่ปีก็เลือกใหม่ แล้วก็เกิดความขัดแย้งเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งฝ่าย แต่องค์กรศาสนาเป็นองค์กรที่มั่นคง สององค์กรนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เลยไม่สามารถหลอมรวมคนในพื้นที่ให้มาอยู่ในจุดเดียวกันได้ แต่หลังจากได้ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันมา เขาเข้าหากับผู้นำศาสนา มานั่งพูดคุยกัน มานั่งแก้ปัญหาร่วมกัน กลายเป็นโมเดลในท้ายที่สุด ทำให้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกัน จะสนับสนุนบุคคลที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น หากว่าใครไม่ตามมติของผู้นำในพื้นที่ ผู้นำท้องที่กับผู้นำศาสนา ถือว่าโดนดิสเครดิตทางอ้อม ถึงลงเลือกตั้งไปโอกาสที่จะได้ตำแหน่งมันไม่ได้ พอเราได้ทั้งสามส่วนที่นำมาเป็นองค์รวมได้ทั้งหมด อยู่ด้วยกันได้ทั้งหมด ร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งหมด ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งขึ้นมา หลังจากปี พ.ศ. 2557 ขับเคลื่อนขึ้นมาเรื่อย ๆ ในช่วง พ.ศ. 2552 – 2557 เป็นช่วงที่สังคมกำลังปรับเปลี่ยน แล้วกลับมาเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข


ช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2557 ที่ครูบอกว่าสังคมกำลังปรับเปลี่ยน ตอนนั้นโลตัสก็มาปี พ.ศ. 2556 ใช่ไหม ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านไหนอีกบ้าง นอกจากการมีทุนใหญ่เข้ามาในชุมชน

พอทุนใหญ่เข้ามาในชุมชน ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ คนเกิดการตื่นตัวขึ้น พาความเจริญมาแบบเร็วเกินกว่าที่สังคมจะยอมรับได้ ที่เห็นชัดเจนก็คือเมื่อโลตัสมา ต่างคนต่างคิดในเชิงธุรกิจว่าเราจะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีธุรกิจที่ดีขึ้น แต่ลืมเรื่องปัจจัยทรัพยากรบุคคล ไม่ได้คิด คิดแต่เรื่องของเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับว่าจากราคาที่ดินไร่หนึ่งประมาณห้าถึงหกหมื่นบาท ดีดขึ้นมาไร่หนึ่งหกเจ็ดแสนถึงหนึ่งล้านบาท เป็นเศรษฐกิจก้าวกระโดด พอก้าวกระโดดขึ้นมาวัตถุต่าง ๆ ก็เข้ามาในพื้นที่เยอะ ปัญหาก็เข้ามาเยอะด้วย หากไม่ร่วมมือกันเราไม่สามารถแก้ได้ เพราะว่าในพื้นที่ของโลตัสเอง ชุมชนก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ ยังแก้ได้ไม่จบ ปัญหาการพนันก็เกิดขึ้นเยอะ


ถ้าฟังจากไทม์ไลน์ที่ครูเล่า เริ่มต้นจากกลุ่มผู้นำชุมชน ทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นมีความเข้มแข็งขึ้น นับจากปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา จนเข้ามาจับงานเด็กและเยาวชนในปี พ.ศ. 2558 ถ้าเป็นในกลุ่มเด็กและเยาวชนเอง จุดแข็งหรือว่าจุดโดดเด่นของชุมชนบ้านเขาน้อยในมุมมองของครูคืออะไรบ้าง

ตอนนี้ถ้ามองในมุมของเยาวชน ตอนนี้เยาวชนสามารถคิดและริเริ่มงานที่พวกเขาเห็นว่าเป็นจุดบกพร่องและเป็นจุดด้อยของคนในพื้นที่ ตอนนี้เยาวชนเริ่มวิเคราะห์พื้นที่ออกว่าเราจะต้องมาร่วมมือร่วมใจกันในเรื่องใด โดยเฉพาะโปรเจกต์ของปีที่สอง ทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้นำศาสนาทั้งพี่เลี้ยงแทบไม่ต้องคิดเลย ไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไชเลยว่าถึงเวลาแล้วต้องทำให้เสร็จนะ เขาคิดเสร็จสรรพมาเลย แล้วมานำเสนอว่าเป็นอย่างนี้ได้ไหม แสดงว่าหลังจากที่เราทำงานกับเยาวชนแล้วได้เข้าโครงการของแอคทีฟซิติเซน หลังจากเราได้พัฒนาเด็กขึ้นมา ทำให้เด็กเกิดความคิดและสามารถวิเคราะห์ตนเอง วิเคราะห์พื้นที่ วิเคราะห์สังคมได้ นี่ถือว่าเป็นจุดเด่นที่เห็นได้ชัด และต้องขอบคุณโครงการนี้ด้วย เดี๋ยวน้องคนนั้นมา แต่บอกให้ก่อน ต้องขอบคุณโครงการนี้ด้วยว่าน้องที่อยู่ในโครงการ จากการพัฒนาของโครงการ ทำให้น้องปีนี้ทางโรงเรียนส่งน้องเข้าเสนอเพื่อรับรางวัลพระราชทานนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับรางวัลพระราชทานครับ นี่เป็นผลจากการพัฒนาของโครงการเห็นชัดเจนเลย บวกกับโครงการทูบีนัมเบอร์วันสองโครงการ การที่เราทำให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ขึ้นมา มันสามารถขยายงานของตนเองไปได้


ถ้ามองในมุมของพี่เลี้ยง ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นความแตกต่างของการทำงานของน้อง ๆ ถ้าเทียบโครงการในปีที่หนึ่งกับปีที่สองมีความแตกต่างอย่างไรบ้าง อาจจะเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น

เห็นได้เยอะเลยครับ ในโปรเจกต์ของปีที่หนึ่งกับโปรเจกต์ปีที่สอง คือถ้าพูดตรง ๆ แล้วปีที่หนึ่งหลังจากที่เราได้พูดคุยกับน้อง ๆ เพื่อมาทำโปรเจกต์ การพบกันครั้งแรกระหว่างคณะทำงานแอคทีฟซิติเซน พี่และคณะทำงานนี้มีโครงการงบประมาณมาสนับสนุนน้อง ๆ น้องมีความคิดอย่างไรบ้าง ในวงล้อมประมาณ 7 – 8 คน ที่เป็นแกนนำ มีผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 3 คน มาด้วยกัน พอโยนคำถามไป น้อง ๆ แอบไปอยู่หลังเสา ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้น ผม ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม ต้องเค้นน้องๆ ให้พูดออกมาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร พร้อมที่จะทำหรือไม่ ใช้เวลาเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะมีคำพูดแรกออกมาจากน้อง ๆ  เราได้เห็นว่าการที่เราไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กทำงานตั้งแต่ต้น เมื่อถึงบทที่จะทำงานจริง ๆ แล้ว เด็กไม่กล้าแสดงออก เห็นชัดเจนเลย แม้ว่าเป็นการสนทนาที่ไม่มีพิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น เด็กก็ยังไม่กล้าแสดงออก ถ้าเป็นพิธีการเราคิดว่าน่าจะหนักไปกว่านี้อีก แต่หลังจากที่ทำโครงการมา เด็กตอบรับกับโครงการ เข้ารับการพัฒนา วิถีการเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ดีขึ้น มีความรับผิดชอบขึ้น แล้วก็มีคำพูดกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น พอมาโปรเจกต์ปีที่สอง เหมือนที่ผมบอกตอนต้นว่า แทบไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชไม่ต้องไปช่วยคิดอะไร เขาสามารถวิเคราะห์ขึ้นมาเองได้ ต่อไปจะต้องทำอะไร นั่นก็คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน


งั้นถ้าปีที่สองที่เกี่ยวกับประวัติชุมชน มีเรื่องอะไรบ้างที่น้อง ๆ จะเข้ามาหาครู

ในเรื่องการประสานงานกับองค์กรภายนอก


ขั้นต่อไป อยากให้ครูเจาะแต่ละกลไกให้หน่อย ว่าแต่ละส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนในประเด็นหลักอะไรบ้าง อย่างแรกอยากให้ครูวิเคราะห์ให้หน่อย ว่ากลไกไหนเป็นคีย์สำคัญในการเชื่อมโครงการในครั้งที่สอง ในโครงการประวัติชุมชน

ในพื้นที่เด็กเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ หลังจากทำงานกับผู้สูงอายุมาในโปรเจกต์แรกเรื่องสุขภาพ ตอนนั้นเด็กๆ ฉุกคิดจากการที่ไปนั่งเผชิญหน้ากันแล้ว ไม่รู้จักกันเลยทั้งที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน สิ่งที่เห็นชัดเจนจากโปรเจกต์แรก คือ เราได้น้ำตาจากผู้สูงอายุ เพราะเขาไม่รู้ว่านี่คือลูกคือหลานของเขาเอง เด็กไม่เคยเข้าหาผู้สูงอายุ อยู่คนละส่วนกัน หลังจากนั้นก็มานำเสนอแล้วมานั่งคุยกันว่าเหมาะสมแล้วที่จะทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ เน้นไปที่เรื่องวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่โปรเจกต์ที่สองเกิดขึ้นมาบนคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมรู้จักกันดีขึ้น เพราะแม้กระทั่งพี่น้องใกล้ชิดกันก็ยังไม่รู้ว่าเป็นพี่น้องที่มาจากต้นตระกูลเดียวกัน จากต้นตระกูลหกคน นามสกุลก็ไปคนละทิศละทาง ดังนั้นถ้าเด็กอยากรู้เรื่องประวัติชุมชน ตัวเราเองก็ยังรู้ตรงนี้ไม่ลึก เด็กต้องไปหากับผู้สูงอายุเอง มีปราชญ์ที่เป็นแกนนำในพื้นที่อยู่สองสามคน เด็กก็เข้าไปคุยกันเอง อาทิตย์นี้ได้มาสักสองเรื่อง อาทิตย์หน้าตั้งข้อสงสัยอีกก็ไปถามต่ออีก เจาะลึกขึ้นมาเรื่อย ๆ


คือผู้สูงอายุ ความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับน้อง ๆ ซึ่งมันสืบเนื่องมาจากโครงการตั้งแต่ปีแรกใช่ไหม

ใช่ครับ คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดเป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างกัน


มี อบต. เข้ามาให้ความร่วมมือสนับสนุนในส่วนไหนบ้าง

กองสาธารณสุขของ อบต. สนับสนุนงบประมาณโปรเจกต์ที่สองของปีแรกเรื่องบุหรี่ อบต. มาสกัดนักสูบหน้าใหม่ เราทำเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการสูบ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ อบต. เคยให้มาก่อนหน้านี้แล้ว พอแอคทีฟมาเราก็มาผนวกการทำงานเข้าด้วยกัน ที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ อบต. ยอมรับกับกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ สืบเนื่องว่าเมื่อก่อน อบต. ทำโครงการแบบไฟไหม้ฟาง แต่พอเราเข้าโครงการเยาวชนแอคทีฟ เรามีกระบวนการขั้นตอนในการทำงานของแต่ละโครงการ เราคิดวิเคราะห์ครบทุกด้าน ตอนนี้ อบต. ก็ยกระดับโครงการของ สปสช. ของ อบต. มาทำในลักษณะเดียวกันกับโครงการแอคทีฟ ไม่ใช่ว่าให้มาแล้วทำวันเดียวจบ อย่างน้อยก็สองเดือน ให้มีกระบวนการทำงานเกิดขึ้น มีขั้นตอนการทำงานที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่เราได้รับจากตรงนี้ และทำให้องค์กรที่เขามีงบประมาณอยู่ในมือ เห็นดีด้วยกับเรา แล้วเขาทำตามเราไป เป็นที่ยอมรับตรงนี้เลย


ตรงนี้ อบต. ท้องถิ่นเข้ามาหาเราเอง หรือว่าตัวเราได้เข้าไปเชื่อมกับเขาอย่างไร

เขาเข้ามาหาเราเอง เขาเห็นการทำงานของเยาวชนแล้วเข้ามาหาเราเอง เพราะว่าในพื้นที่ไม่มีเยาวชนชุมชนไหนแข็งแกร่งเหมือนกับที่นี่ และตอนนี้จะมีชุมชนบ้านลานที่เอาเข้ามาร่วมอีกชุมชนหนึ่งตอนนี้ก็เริ่มเข้มแข็งขึ้น


แล้วพัฒนาชุมชน

น้อยมาก ยังฉาบฉวยอยู่ ไม่มีอะไรที่จะมาพัฒนาน้อง ๆ อย่างชัดเจน


พัฒนาชุมชนไปแล้ว แต่ถ้าเป็น สปสช. เขาจะมาด้านสุขภาพกับโครงการสูบบุหรี่ใช่ไหม

สปสช. ด้านสุขภาพครับ มันยังมีอีกหลายโครงการ แต่เราเน้นไปที่ตรงนี้ เพื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ให้มันทุเลาเบาบางไปให้เยอะก่อน


แล้วจะมีสถาบันราชมงคลศรีวิชัยที่ครูบอก ตรงนี้ครูมีอะไรเสริมไหม ที่เขาเข้ามาหนุนเสริมอะไรเราอย่างไรอีกบ้าง

จากที่เรามีพื้นที่การท่องเที่ยวชุมชน กิจกรรมของน้อง ๆ แล้วกิจกรรมของคณะกรรมการหมู่บ้านที่เราจัดพื้นที่เป็นจุดชมวิว แล้วปรับเปลี่ยนถนนให้เป็นถนนสุขภาพในพื้นที่ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้ว เขาก็นำนักศึกษาสาขาผังเมืองมาวางมาสเตอร์แปลนของพื้นที่ให้ ว่าจากตรงนี้ถึงตรงนั้นเราจะต้องจัดการอย่างไรกับชุมชน มีจุดชมวิวอย่างไร มีจุดที่เราจะศึกษาเรียนรู้ในเรื่องสุขภาพในพื้นที่เป็นจุด ๆ ไป เขาเข้ามาหนุนเสริมในการทำกิจกรรม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยหนุนเสริมเรื่องการปลูกผักคอนโดเพื่อสุขภาพในพื้นที่ด้วย


ทุกเรื่องก็จะดึงเยาวชนเข้าไปร่วมใช่ไหม

เด็กเยาวชนเข้าร่วมหมด ตอนนี้โครงการใหม่ที่กำลังเข้ามาให้กับเยาวชน เยาวชนในพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนอยู่แล้วชัดเจนเลย ส่วนที่หนึ่งคือเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งคือเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จากครอบครัวมีปัญหาบ้าง จากปัญหาของเด็กเยาวชนโดยทั่วไปบ้าง ตอนนี้ก็ได้นำเด็กเยาวชนประเภทที่สองที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เข้าสู่กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อยู่ เพิ่งเริ่มนะ ได้เขียนโครงการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังรออนุมัติงบประมาณอยู่


กสศ. ยังใช้เยาวชนหรือดึงกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในชุมชน

เน้นเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาอยู่ เพราะว่าทำอย่างไรก็ได้มาพัฒนาเขา เพื่อดึงเขาเข้าสู่ระบบ นั่นคือความต้องการ ชุดนี้ก็สิบสามชีวิตด้วยกันที่จะต้องพัฒนากันต่อจะต้องช่วยเหลือกันต่อ


อยากให้ครูช่วยวิเคราะห์ให้อีกทีหนึ่ง ว่าปัจจัยสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้กลไกทั้งหมดทำงานต่อเนื่องมาได้จนถึงปีที่สอง เพราะบางพื้นที่เด็กก็ทำไป ผู้ใหญ่หรือใคร ๆ ก็แทบไม่รับรู้ไม่สนับสนุน แต่ถ้าพูดถึงพื้นที่เรา ครูว่าปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้มันมาได้ไกล

ปัจจัยที่ชัดเจนเลยก็คือผู้นำในท้องที่ ทั้งสามส่วน ทั้งศาสนา ทั้งท้องที่ แล้วก็ท้องถิ่น หากเด็กทำไปแล้วทั้งสามส่วนไม่เป็นตัวหนุนเสริม ไม่ให้โอกาสก็ลำบาก เด็กจะเดินไปไม่ได้ ปัจจัยที่สอง พี่เลี้ยงต้องเอาใจใส่ต้องเป็นกันเอง อยู่เสมือนพี่กับน้อง แม่กับลูก ทำงานร่วมกันได้ สามารถสื่อสารกันเข้าใจระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็ก พี่เลี้ยงต้องเป็นที่ไว้วางใจของเด็ก เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวของพี่เลี้ยง สำหรับครูลูกตัวเองอยู่กับครูอย่างไร ลูกของคนอื่นก็อยู่กับครูแบบนั้น นั่นคือจุดที่เด็กให้ความไว้วางใจ อยู่กับเราแล้วเขาปลอดภัย เขามีความสุข ลูกเขาก็เหมือนลูกเรา เด็กทุกคนสามารถเข้ามาพูดคุยได้ตลอด ไม่ต้องกลัวการเข้าหาเรา ปัจจัยที่สาม การบริหารจัดการเงิน เราเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการของเขา เด็กทำบัญชีเอง เด็กต้องรู้ว่ามีงบประมาณอยู่เท่านี้ ระยะเวลางานเหลืออีกสองเดือนต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนแล้ว มิฉะนั้นปัจจัยของเราอาจไม่สอดคล้องกัน แล้วพอหลายส่วนมาหนุนเสริม มันช่วยให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของเราไปได้เร็วขึ้น ปัญหาการเงินเป็นอีกประเด็นหนึ่งทำให้บางโครงการเดินไปไม่ได้ คือ ปัจจัยที่ได้รับจากโครงการมาต้องมีความชัดเจน บางพื้นที่จบด้วยปัจจัย บอกตรง ๆ เลย เพราะว่าไม่มีความชัดเจน เมื่อทุกอย่างไม่ชัดเจน ไม่เปิดเผย งบไม่ขึ้นมา เด็กก็เกิดข้อสงสัย เพราะว่าบางทีพี่เลี้ยงรวบเองหมด ไม่ให้เด็กมีส่วนร่วม แต่ของเราที่เป็นไปได้เนี่ย เราได้จากโครงการแอคทีฟ เรามีองค์กรจากภายนอกเข้ามาหนุนเสริมในการทำกิจกรรมของเด็ก


นับจากปี พ.ศ. 2558 มาจนถึงตอนนี้ ครูเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในชุมชนบ้าง

ตอนนี้ที่เห็นชัดเจน สังคมในชุมชนของเราเป็นสังคมที่มีความสงบ เมื่อก่อนกลางคืนก่อนปี พ.ศ. 2558 รถราวิ่งไม่หยุดเลย ไม่มีโอกาสได้หลับสนิทกัน แต่ตอนนี้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เราสามารถยับยั้งสิ่งเหล่านั้นได้ สามทุ่มชุมชนเราเงียบ เข้าสู่ที่พักกันหมด อยู่ในครอบครัวของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ประมาณสิบถึงสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องปกตินะ มีธุระปะปัง แต่ความวุ่นวายในชุมชนไม่มี นี่ก็คือเราสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งจากรากหญ้าขึ้นมา เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัด


รถราที่วิ่งไม่กลับบ้านกันคือคนในชุมชนไม่กลับบ้านหรือ

เมื่อก่อนก็คนในชุมชนนั่นแหละ ที่วุ่นวายอยู่เมื่อก่อน แต่ปัจจุบันสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปเยอะมาก


เขาไปไหนกันหรือ

เมื่อมันมีการมั่วสุมเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นที่รู้กัน เขาก็จะไปตามจุดของเขากัน


ในส่วนของเด็กและเยาวชน อยากให้ครูสรุปอีกสักครั้งว่าในภาพรวมเด็กและเยาวชนในชุมชนตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

เด็กในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้านเลย ในด้านการศึกษามีโอกาสเข้าสู่การศึกษาได้ 100% แต่มีที่ตกขอบอยู่บ้างนิดหน่อย ตั้งแต่อายุ 10 ปี จนถึง 22 ปี สิบกว่าคนถือว่าไม่เยอะนะ ถ้าคิดปริมาณที่ไม่ได้อยู่ในระบบ มาจากปัญหาครอบครัว ครอบครัวแยกทาง ปัญหาใหม่ที่เจอมาก็คือถูกคุกคามจากครู ตอนนี้ 85% โอเค หลุดนิดหน่อยก็ถือว่าเป็นส่วนที่ถ้าพูดในเชิงศาสนาก็คือพระเจ้าทดสอบผู้นำ ว่าเราจะแก้ปัญหาชุดนี้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ให้ผู้นำทั้งสามกลุ่มมาหาทางออกให้กับเยาวชนในพื้นที่ แต่เมื่อสังคมมันสงบแบบนี้ ปัญหาการลักขโมยในพื้นที่ไม่มี มอเตอร์ไซค์สามารถจอดอยู่หน้าบ้านได้ในตอนกลางคืน ไม่ต้องจอดในรั้วบ้านเลย นี่ก็คือเป็นจุดเข้มแข็ง เมื่อปัญหายาเสพติดไม่มี ปัญหาการพนันไม่มี เยาวชนสร้างเกราะคุ้มกันให้กับตัวเอง ทุกคนในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ก็สามารถจรรโลงให้ชุมชนของเราเป็นสังคมที่มีความสุขได้


ก่อนหน้านี้มีปัญหาอะไรบ้างไหม ที่น่าหนักใจในการทำโครงการ

ในระยะแรกก็ปัญหาในเรื่องเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่อยู่ในระบบ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลา เราก็ปรับจูนกันมาตลอด เราได้ทดลองเวลาในการทำงานในแต่ละครั้งในแต่ละเดือน ในระยะหลังก็ปรับขึ้นมาให้ทำงานไปร่วมกันได้


ทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อเด็กและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปไหม ลูกบ้าน พ่อแม่

ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ใหญ่มีทัศนคติที่ดีขึ้น เมื่อก่อนนี้มีอคติอยู่บ้าง พ่อแม่คิดว่าเด็กไปทำอะไรกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็ก แต่พอเด็กทำงานขึ้นมาสำเร็จในปีแรกก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ล่าสุดโดยเฉพาะวันที่นำเสนอผลการดำเนินงานของโปรเจกต์ปีที่สองที่เป็นการไลฟ์สดกันทางเฟซบุ๊ก ผมไม่นึกเลยว่าจะมีคนมาร่วม ๆ กันเกือบร้อยคน ผู้ปกครองมากันหมด ผู้นำก็มากัน ถือว่าประสบความสำเร็จ เมื่อก่อนไม่มีแบบนี้ งานเด็กก็คืองานเด็ก งานผู้ใหญ่ก็คืองานผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้ทุกคนให้ความสำคัญให้สิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียมกันในพื้นที่


ถ้าไม่มีโครงการอะไรเข้ามา ทำจนเต็มอิ่มแล้ว ครูคิดว่าความแข็งแรงที่เราสร้างมายังจะคงอยู่ในชุมชนแบบนี้ได้ไหม ตอนนี้ความสัมพันธ์เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ดูกลมเกลียว

ถ้าไม่มีงบประมาณ ไม่มีโครงการเข้ามาใช่ไหม ก็คิดว่าคงจะเดินต่อไปได้ เพราะตอนนี้ทุกคนมีจิตสำนึกเดียวกันแล้วในพื้นที่


หรือถ้าเปลี่ยนผู้ใหญ่เป็นคนอื่น คือคนปัจจุบันเขาดูเป็นคนที่เชื่อมโยงและเข้าหาคนอื่น ๆ ถ้าวันหนึ่งเกิดเปลี่ยนผู้ใหญ่บ้าน ในมุมมองของครูคิดว่าความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นแบบนี้จะไปได้ไหม

น่าจะไปได้ เพราะว่าจุดหลักของคนที่จะมาเป็นผู้นำคนต่อไปจะโดนสแกนจากชาวบ้านก่อน


มันคล้าย ๆ กับว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำมา เหมือนสร้างมาตรฐานคนในชุมชนด้วย ถ้าเราจะเลือกใครมาเป็นผู้นำ เราต้องมีมาตรฐานแบบนี้

ใช่ ๆ เพราะเราได้ประสบการณ์ของท้องถิ่น ในระยะแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ท้องถิ่นมี สอบต. ชุมชนละสองคน คนที่ทำงานกับคนที่ไม่ทำงานนั้นเป็นอย่างไร มันมีผลกระทบกับพื้นที่อย่างไร เห็นได้ชัดเจน หลังจากนั้นเราได้สรรหาผู้ใหญ่บ้านที่เชื่อมแล้วก็แมตช์กับกลุ่มงานที่อยู่ในพื้นที่ได้ นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เห็นได้ชัดเจน ใน สอบต. การอยู่พื้นที่เดียวกัน คนหนึ่งเสนอไปให้ อบต. ในเรื่องการพัฒนาในพื้นที่ แต่ตัวเองไปขวาง มันเป็นบทเรียนให้กับคนในพื้นที่ได้เห็น


ในอนาคตถ้าเกิดอะไรขึ้น กลไกในชุมชนทั้งหมดจะขับคนที่ไม่ใช่ออกไปเองหรือ

ครับ


สุดท้ายแล้ว ในอนาคตมีสิ่งที่ครูอยากจะทำไหม ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเด็กและเยาวชน

งานต่อไปก็สร้างเยาวชนต่อให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ตอนนี้ถือว่าเข้มแข็งแล้ว แต่ต้องให้มันลึกกว่านี้ มี กสศ. เข้ามาพัฒนาชุมชนอีกชุดหนึ่ง เพื่อสานต่อโครงการไม่ให้ขาด ตอนนี้ อบต. ในรูปแบบโครงการของ สปสช. ปกติเราทำโครงการสกัดนักสูบหน้าใหม่เฉพาะในพื้นที่ของชุมชนเรา แต่ปีนี้ อบต. ไว้ใจ สปสช. ไว้ใจเรา มอบภาระนี้ให้ชุมชนบ้านเขาน้อยทำโครงการสกัดนักสูบหน้าใหม่ทั้งตำบล เชื่อมกับชุมชนอื่นด้วยในอีกห้าหมู่บ้าน ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของเยาวชนชุดที่ทำงานแอคทีฟ ที่ทำให้หน่วยงานมั่นใจกับพวกเรา แล้วก็ให้ทำโปรเจกต์ทั้งตำบลเลย เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมของตำบล


ที่ครูบอกว่าอยากพัฒนาน้อง ๆ ให้เลิศกว่านี้ ครูมีในใจไหมว่าเป็นเรื่องอะไร

ตอนนี้อยากพัฒนาน้อง ๆ ให้มีอาชีพที่มั่นคงเป็นของตัวเอง สามารถดำรงชีพในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องดิ้นรนมากเกิน เน้นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงให้เยอะ เน้นให้ทุกคนมีอาชีพที่เป็นของตัวเองในชุมชน แล้วแต่ความถนัดของน้อง ๆ


ครูมีบอกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลไกขับเคลื่อนไปได้ก็คือพี่เลี้ยง เราต้องสื่อสารกันเข้าใจ ทำให้เด็กวางใจ มันมีความสัมพันธ์ในฐานะที่ครูเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้นำศาสนาด้วย แล้วก็เด็ก ตรงนี้เราสร้างสมดุลระหว่างความใกล้ชิดกับความเคารพ ครูมีวิธีการทำงานอย่างไร

สำหรับครูลูกตัวเองอยู่กับครูอย่างไร ลูกของคนอื่นก็อยู่กับครูแบบนั้น นั่นคือจุดที่เด็กให้ความไว้วางใจ อยู่กับเราแล้วเขาปลอดภัย เขามีความสุข ลูกเขาก็เหมือนลูกเรา อยู่กันแบบเป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งเพื่อน คือไม่มีเรื่องตำแหน่ง เหมือนพี่เหมือนน้อง


สองปีที่ผ่านมานี้ ครูได้ปรับบทบาทตัวเองในการทำงานกับชุมชนกับเยาวชนอย่างไรบ้าง หรือว่ามีเรื่องอะไรที่ครูรู้สึกว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับตัวเองบ้าง

จากการทำงานตรงนี้เห็นได้ชัดว่าสิ่งสำคัญครูได้พัฒนาตัวเองไปเยอะ หลายเรื่องราวเราไม่รู้ แต่พอมาอยู่ในโครงการนี้เราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องการอยู่กับเด็ก ทักษะชีวิตในการเข้าใจเด็ก เรามีวุฒิภาวะมากขึ้น มีภาวะผู้นำมากขึ้นจากการรับบทบาทตรงนี้  หากเรายังใช้ชีวิตเดิม ๆ ของเรา ไม่พัฒนาไม่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ แม้กระทั่งการพูดกับเด็กก็ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญแล้ว เมื่อก่อนบางทีเราอาจพูดไม่เข้าหูเด็กบ้าง เราก็เข้าใจว่าเยาวชนวัยรุ่นเป็นช่วงที่อ่อนไหว แต่พอเราได้พัฒนาตัวเอง เราสามารถเลือกใช้คำพูดวาจาต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ นี่ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นใจในพื้นที่ สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของความไว้วางใจ ต้องเอาความซื่อสัตย์และความเสียสละของเราเข้ามาส่วนหนึ่งในการทำงานตรงนี้ครับ