อภิชัย มันตาธรรม : “ป่าไร่เหนือ” แม่ระมาด เมื่อคนรุ่นใหม่หยิบวิถีดั้งเดิมมาตั้งรับโลกที่เปลี่ยนไป

  • ดอยก่อหล่าโจ ทิวไผ่งาม ต้นเดปอทุฯลฯ คือสิ่งที่มีบ้านป่าไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
  • แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ แต่วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอก็ยังคงต้องอยู่ต่อ เพื่อรักษาสิ่งนี้ พร้อมๆ กับวิ่งตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เยาวชนแห่งบ้านป่าไร่เหนือจึงรวมตัวกันทำโครงการออกแบบกิจกรรมด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ
  • เกิดเป็น ‘ลานวัฒนธรรม’ พื้นที่ศูนย์กลางชุมชนและเป็นที่จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ

แม้อยู่ในชุมชนห่างไกลที่คนนอกมองว่ามีความสงบ อยู่สบาย ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้คนปกาเกอะญอต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก ความรวดเร็วแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พุ่งชนและเกิดขึ้นฉับพลันนี้ทำให้หลายคนตั้งตัวไม่ทัน เกิดความสับสนในการเลือกรับและปฏิเสธความยั่วยวนใหม่ๆ ที่ดึงความสนใจไปจากค่านิยม ประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม หลายอย่างเข้ามากระทบให้สิ่งที่มีอยู่นั้นต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส

เทคโนโลยีมีประโยชน์มากมายหากรู้เท่าทัน เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ให้ความสนใจและเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไวและรวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องผิดที่พวกเขาจะเปิดรับความทันสมัย แต่สิ่งที่ ณัฐ – อภิชัย มันตาธรรม วัย 17 ปี, โยนา – ขจรศักดิ์ ตระกูลำนาสุข วัย 18 ปี และแกนนำเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ในบ้านป่าไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากกำลังทำ คือ การสร้างความสนใจและการรับรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ใช่แค่เพื่อให้เกิดการสืบทอดต่อ แต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างวิถีชีวิตจริงในท้องถิ่นที่ยังต้องดำเนินต่อไป กับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่โหมกระหน่ำ ทางเดียวที่จะรอดได้ คือ ต้องการรู้เท่าทันเพื่อไม่ให้เดินหลงทาง

ของดีที่ป่าไร่เหนือ

บ้านป่าไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด อยู่ไม่ไกลนักจากอำเภอแม่สอด คิดเป็นระยะทางราว 30 กิโลเมตร ณัฐ โยนา และแกนนำหลักรวม 5 คน รวมพลเด็กและเยาวชนชุมชนบ้านป่าไร่เหนือได้กว่า 15 คน สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมใน โครงการออกแบบกิจกรรมด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนปกาเกอะญอบ้านป่าไร่เหนือ

ภาพความสนุกสนาน รอยยิ้มของเด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชนที่ได้มาใช้เวลา ‘ลอง เล่น เรียนรู้’ ร่วมกันแบบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เสน่ห์ของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นปกาเกอะญอดึงดูดพวกเขาให้ก่อร่างสร้าง “ลานวัฒนธรรม” จนเป็นรูปเป็นร่าง กลายเป็นศูนย์กลางที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนและเป็นที่จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว

เริ่มแรกพื้นที่รกร้างในหมู่บ้านที่ปล่อยให้พืชพรรณไม้ขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน ถูกปรับเป็นพื้นที่ใช้สอยเมื่อบ้านป่าไร่เหนือเปิดรับการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ปี 2560 ภูมิประเทศแถบนี้มีธรรมชาติอันทรงเสน่ห์ ‘ดอยก่อหล่าโจ’ เป็นภูเขาลูกใหญ่ตั้งสูงตระหง่านเหนือหมู่บ้าน สามารถเดินป่าทะลุไปล่องแก่งในแม่น้ำแม่ระเมาได้

“ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในหมู่บ้านมีหลากหลาย แต่กระจัดกระจายตามจุดต่างๆ ในชุมชน ลานวัฒนธรรมจึงทำหน้าที่รวบรวมทุกอย่างมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านได้เห็นภาพวิถีชีวิตของคนที่นี่ อีกทางหนึ่งก็เพื่อสร้างพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของเด็กและเยาวชน ผู้รู้ และผู้ใหญ่ในชุมชนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน” ณัฐ เล่า

ชาวบ้านป่าไร่เหนือช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งเป็นผืนป่าต้นน้ำไว้เป็นอย่างดี บนศรัทธาและความเชื่อในธรรมชาติ ทำให้ผืนป่าแถบนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เส้นทางเดินเท้าไปยังป่าชุมชนมีสะพานสานทำจากไม้ไผ่ ให้เดินข้ามห้วยเล็กห้วยน้อยซึ่งเป็นงานฝีมือที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์แห่งวิถีและภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ทิวไผ่งาม’ ทางเดินที่มีต้นไผ่โค้งงอเข้าหากันจาก 2 ด้านดูคล้ายเป็นซุ้มอุโมงค์ต้นไม้ มีแสงแดดรำไรส่องเข้ามา

เนื้อแท้วิถีปกาเกอะญอนั้น ผูกพันและเกื้อกูลกับธรรมชาติจึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมนักเมื่อชาวเขามักถูกใส่ร้ายจากการนำเสนอข่าวและข้อมูลจากสื่อมวลชนโดยปราศจากความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่อง “ชาวเขาทำลายป่า” “ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย” ที่กลายเป็นความรับรู้ของคนในสังคม จนมาถึงตอนนี้กลายเป็น “ชาวเขาเผาป่า” ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 แต่อย่างน้อยก็ทำให้ได้รู้ว่าแม้แต่วาทกรรมผิดพลาดก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

วิถีชีวิต เรื่องเล่า รากเหง้าเคล้าภูมิปัญญา

เมื่อความก้าวหน้าแทรกซึมเข้ามา เช่น เทคโนโลยี มือถือ อินเทอร์เน็ต ที่ดึงดูดความสนใจให้เด็กและเยาวชนสนใจโลกภายนอกมากขึ้น ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่จึงค่อยๆ หมดความสำคัญ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ หรือเรียกได้ว่าอยู่นอกสายตาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่

ยังดีที่การเปิดชุมชนเป็นหมู่บ้านนวัตวิถีให้คนนอกและนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเทำให้คนในชุมชนตื่นตัวหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของตนเอง ยิ่งเมื่อเด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาทำโครงการออกแบบกิจกรรมด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นฯ ยิ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างผู้คนต่างวัย เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย นำมาซึ่งความแน่นแฟ้นและความเข้มแข็งของชุมชนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“พวกเราได้รับการสนุบสนุนจากผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะเขาอยากให้เราลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และหมู่บ้านของเรา” ณัฐ กล่าว

แกนนำเยาวชนเก็บข้อมูลทุนวัฒนธรรมชุมชนแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะการละเล่น ศิลปหัตถกรรม อาหาร และภูมิปัญญาในการสร้างบ้าน

พวกเขาสืบเสาะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ทำให้รู้ที่มาที่ไปของชุมชน ซึ่งย้อนกลับไปราว 150 กว่าปีก่อน โยนา เล่าว่า “พือหม่อตา” ผู้ก่อตั้งชุมชน ย้ายชุมชนจากหมู่บ้านปลอเด๊ะอุ๊ (ต้นน้ำแม่น้ำแม่จะเรา) อพยพเข้ามายังพื้นที่ในปัจจุบันแล้วได้รับชื่อจากทางการว่า “บ้านป่าไร่เหนือ” ส่วนชาวบ้านยังคงเรียกชุมชนของตัวเองว่า “หม่อตา” ตามภาษากะเหรี่ยง

รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2482-2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นใช้เส้นทางผ่านบ้านป่าไร่เหนือเดินทัพไปยังพม่า เป็นที่มาของชื่อถนน “สงครามโลก” ที่ใช้สัญจรไปมา แล้วขนานนามถ้ำซึ่งใช้เป็นคลังอาวุธ เก็บปืน มีดดาบและเสื้อเกราะจำนวนมากว่า “ถ้ำซามูไร” น่าเสียดายที่ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามได้ระเบิดปิดปากถ้ำไว้อย่างดีทำให้เข้าไปสำรวจในถ้ำไม่ได้ แต่บริเวณนั้นก็ถือเป็นร่องรอยทางประวัติแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ

แล้วจะมีสักกี่ที่ที่ยังคงรักษาต้นไม้อายุเกือบร้อยปีไว้ ‘ต้นเดปอทุ’ เป็นต้นไม้สัญลักษณ์แห่งการเกิดของหมู่บ้าน แต่เดิมชาวปกาเกอะญอนำรกหรือสายสะดือของทารกแรกคลอดมาแขวนฝากไว้บนต้นไม้ คล้ายเป็นการฝากชีวิตและแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของชุดข้อมูลประวัติศาสตร์บ้านป่าไร่เหนือที่คนรุ่นใหม่ ลูกหลานของคนในชุมชนช่วยกันศึกษารวบรวมไว้

ส่วนการละเล่นที่กลุ่มเยาวชนช่วยกันรื้อฟื้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ได้แก่ การเล่นทอยลูกสะบ้า (ข่ามอแก) แข่งยิงลูกสะบ้า การแข่งปีนเสาน้ำมัน ขาหยั่ง (เคาะจิ๊) ปืนไม้ไผ่ (เสะหนะวะโพ) ศิลปะการแสดง เช่น การรำดาบ (แหง่แซ) ระบำก๋วยน้อย ที่มีท่ารำสะท้อนวิถีทำไร่ของคนปกาเกอะญอ ดัดแปลงท่าทางให้มีความอ่อนช้อยรำประกอบกับอุปกรณ์ที่ใช้ทำนาทำไร่ เช่น กระจาด ตะกร้า และสวิง เป็นต้น รำกระทบไม้ไผ่ (จิ๊กลิ๊) รำกระทุ้งไม้ไผ่ (โถะฆี) ซึ่งเดิมเป็นการรำฉลองหลังหยอดข้าวไร่เสร็จเรียบร้อย

“พวกผมโตมากับการเห็นและยังได้เล่นการละเล่นพวกนี้อยู่ แต่เป็นช่วงปลายๆ ที่การละเล่นเหล่านี้เริ่มหายไป มีให้เห็นเฉพาะตามเทศกาลของหมู่บ้าน เช่น วันคริสมาสต์และปีใหม่” โยนา กล่าว

“ตอนนี้ไม่มีแล้วครับ เด็กว่างก็เข้าห้องคอม ดูโทรศัพท์ ขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่น สมัยก่อนเวลาว่างเด็กในชุมชนอย่างพวกเรานี้แหละ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มวิ่งเล่นไล่จับกันบ้าง เล่นลูกข่าง ปืนไม้ไผ่ ขาหยั่ง” ณัฐ กล่าว

ยุคสมัยเปลี่ยนไป การละเล่นและสิ่งที่เด็กและเยาวชนสนใจย่อมเปลี่ยนแปลงตามได้ ฟังดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องปกติ จากการเล่นหมากเก็บ ขาหยั่ง แข่งทอยลูกสะบ้า เปลี่ยนมาเป็นเล่นเกม ดูคลิปวิดีโอจากมือถือ พฤติกรรมมนุษย์ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง แต่ณัฐและโยนาบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าสร้างพฤติกรรมที่น่ากังวลกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับน้องๆ ตั้งแต่วัยประถมศึกษา

“เด็กไม่ค่อยสนใจกันและกัน ไม่เข้าสังคมในกลุ่มเพื่อนฝูง หมกหมุ่นกับเกมจนไม่สนใจเพื่อน ไม่สนใจการเรียน สอบตก มีแนวโน้มทำให้อาจเรียนไม่จบ พวกเราเห็นความเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ รุ่นหลังด้วยตาตัวเอง จึงคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา” ณัฐ กล่าว

เมื่อถามถึงความต่างระหว่างการเล่นเกมผ่านหน้าจอมือกับการละเล่นพื้นบ้าน ณัฐและโยนา บอกว่า สิ่งที่ได้รับจากการละเล่น ไม่ใช่แค่ “การได้เล่น” แต่เป็นการ “ฝึกปฏิบัติ” ทักษะบางอย่างในการใช้ชีวิตที่การเล่นเกมบนมือถือให้ไม่ได้

“การละเล่นหลายอย่าง เราได้ทดลองทำ หาอุปกรณ์มาประกอบ เจอเพื่อนเห็นหน้ากันจริงๆ เวลาเล่นด้วยกันก็ยิ้มให้กัน สนุกไปด้วยกัน” ณัฐ กล่าว

“ถ้าจะเล่นปืนไม้ไผ่ ก็ต้องไปตัดไม้ไผ่มา เราได้รู้วิธีใช้มีด วิธีสังเกตไม้ไผ่จากต้นว่าต้องมีลักษณะอย่างไรถึงตัดมาใช้ได้ วิธีตัดไม้ไผ่เฉียง 45 องศา ถ้าตัดไม่เป็น ปล้องไม้ไผ่ก็จะแตก ตอนทำก็ได้ฝึกสมาธิ หรือช่วงทำนาทำไร่ เวลามัดข้าวรวมกันเราไม่ได้ใช้เชือกฟาง แต่ใช้ตอกซึ่งต้องเหลาไม้ไผ่ออกมา เรียกว่า จับตอก เด็กเดี๋ยวนี้จับตอกไม่ค่อยเป็นแล้ว รุ่นพวกผมยังพอทำได้อยู่” โยนา อธิบาย “ส่วนตัวผมชอบการแสดงรำดาบมากที่สุด เพราะดูน่าตื่นตาตื่นใจ ได้มาเรียนรู้วิธีการรำหลังจากเข้ามาทำโครงการ ขนาดพ่อผมเองยังรำไม่เป็นเลย การให้ผู้เฒ่าผู้แก่มารื้อฟื้นมาสอนเด็กๆ อย่างเราได้ ต้องใช้ความอดทนทั้ง 2 ฝ่าย เพราะคนสอนก็อายุเยอะแล้ว สอนได้ท่าสองท่าต้องพักก่อน คนเรียนก็ต้องตั้งใจจดจำ ฝึกซ้อมตามจังหวะให้คล่อง”

จากการละเล่นมาสู่ชีวิตจริง ทีแรกเราอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าการได้ลองทำ ลองตัดไม้ไผ่มาทำของเล่นจะมีประโยชน์อะไร ในความเป็นจริงการประดิษฐ์อุปกรณ์การละเล่น นอกจากมีความสนุกสนานเป็นเครื่องดึงดูดใจแล้ว สิ่งที่ได้ติดตัวไปคือทักษะชีวิต

บ้านเรือนของชาวปกาเกอะญอมีไม้ไผ่เป็นองค์ประกอบ ผุพังตามกาลเวลา เรื่องการก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้านเรือน อย่างการทำฝ้าเพดาน การทำเสาบ้าน ฯลฯ จำเป็นต้องรู้วิธีคัดเลือกไม้ไผ่ การจับ ดัด ตัดไม้ไผ่อย่างเชี่ยวชาญ ไปจนถึงวิธีการประกอบสานขึ้นรูป แล้วคลี่ออกมาเป็นแผ่นก่อนนำไปใช้งาน ณัฐและโยนาเห็นตรงกันว่า แม้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีเข้ามามากมาย ทักษะการใช้ชีวิตเหล่านี้เป็นสิ่งที่ปากเกอะญอรุ่นใหม่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้เพราะเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต

“ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าถ้าจับตอกไม่เป็น ฝานไม้ไผ่ยังไม่เป็น ยังมีครอบครัว มีเมียไม่ได้” โยนา กล่าวยิ้มๆ แล้วอธิบายต่อว่า “ต้องใช้ไม้ไผ่ระดับกลางๆ ถ้าแก่เกินไปจะแข็งและหักง่าย เลือกต้นที่ยังเพิ่งโตสีไม่เข้มจนเกินไป ใบไม่เยอะ เวลาทำจะฝานเนื้อไผ่ตรงกลางออกมาใช้ได้ง่าย”

“หากเข้ามาเยี่ยมชมชุมชน ตอนนี้เรามีบ้านภูมิปัญญา เป็นบ้านตัวอย่างที่แสดงให้เห็นรูปแบบบ้านและการจัดวางบ้านสมัยดั้งเดิมอยู่ด้วย มีเด็กและเยาวชนในชุมชนเป็นคนให้ความรู้และพาเที่ยวชมชุมชน” ณัฐ กล่าว

คำว่า ผักสวนครัวรั้วกินได้ เป็นวลีที่ลืมไปได้เลย เมื่อมาอยู่ใกล้ธรรมชาติในบ้านป่าไร่เหนือ เพราะที่นี่พืชผักมีแทบทุกที่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านหาผัก หาปลากันที่ริมห้วยริมคลอง

“ตรงลานวัฒนธรรมเรามีที่ตำข้าวไว้ให้ลองตำ ชาวบ้านจะทำอาหารท้องถิ่นมาต้อนรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มที่เข้ามา”

ด้านศิลปะหัตถกรรม สตรีปกาเกอะญอทอผ้าโดยใช้ “กี่เอว” โยกตัวเป็นจังหวะ การโยกตัวของผู้ทอเป็นตัวกำหนดฝีทอของเส้นใยแต่ละเส้น ตามธรรมเนียมดั้งเดิมผู้หญิงแต่ละบ้านทอผ้าไว้ใช้งานในครัวเรือน ต่างคนต่างทอเมื่อว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา แม่ถ่ายทอดวิชาส่งต่อให้ลูก แต่เมื่อมีเสื้อผ้าแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามาให้จับจ่ายใช้สอยได้ง่าย คนรุ่นใหม่ในชุมชนจึงสนใจการทอผ้าน้อยลง ในทางตรงข้ามคนภายนอกกลับมองผ้าทอปกาเกอะญอเป็นเรื่องแฟชั่นและให้คุณค่ากับงานหัตถกรรมพื้นถิ่น ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรวมกลุ่มทอผ้าในชุมชนอย่างจริงจัง สามารถผลิตเป็นสินค้าสร้างรายได้ จนทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจและเห็นคุณค่าหัตถกรรมดั้งเดิมอีกครั้ง

ณัฐ บอกว่า สีแดงเป็นสีพื้นดั้งเดิมของเสื้อผู้ชาย ส่วนผู้หญิงสวมชุดตัวยาวทรงกระบอกคล้ายชุดเดรส เด็กหญิงและคนโสดที่ไม่แต่งงานสวมชุดสีขาว เมื่อแต่งงานแล้วจะใส่เสื้อสีดำ นุ่งซิ่นแดง เรียกว่า “หนี่คิ” โดยห้ามไม่ให้กลับไปใส่ชุดสีขาวอีก

“แม่ผมยังทอผ้าทุกวัน ตอนนี้นอกจากสีแดงแล้วยังมีสีอื่นที่ทำขึ้นมาเพื่อความสวยงามและให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

ณัฐกับโยนาบอกว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการพวกเขาไม่มีได้เข้ามาเมืองแม่สอดบ่อยนัก ปีหนึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง แต่โครงการเปิดประสบการณ์และทำให้พวกเขามีโอกาสได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ชาติพันธุ์นอกพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ จากพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดตาก

“ผมคิดว่าทักษะการเข้าสังคมเป็นเรื่องสำคัญ พวกผมก็เล่นเกม ไม่ใช่ไม่เล่นแต่ไม่ถึงขนาดหมกหมุ่น รู้จักโทรศัพท์มือถือก็ตอนเรียนชั้น ม.3 หรือ ม.4 แล้ว ประมาณ 2-3 ปีก่อน แรกๆ จำได้ว่าเล่นจากมือถือโนเกีย เล่นแล้วก็สนุกดี แต่เราควรเปิดหูเปิดตารับรู้สิ่งใกล้ตัวและสร้างสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย ตอนนี้มีเด็กและเยาวชนมาสนใจมาทำกิจกรรม ทำโครงการด้วยกันมากขึ้น ถ้าน้องๆ ได้เห็นและสัมผัสบรรยากาศเหมือนอย่างที่พวกผมได้เห็นและสัมผัส เขาจะเข้าสังคมได้ดี ใช้ชีวิตได้และ เอาตัวรอดได้” ณัฐ กล่าว

อ่านบทความต้นฉบับที่นี่