จักรพล มรดกบรรพต : กีฬาเยาวชน ‘เบ๊อะบละตู’ : สนามนี้ไม่ได้มีไว้ชนะ แต่ชวนปกาเกอะญอรุ่นใหม่รักษาสิทธิดูแลป่า

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การเพิกถอนสิทธิในที่ดินทำกิน ทำให้เยาวชนบ้านแม่ปอคี แม่อมยะ และซอแขระกลา อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก รวมกลุ่มทำโครงการการใช้กีฬาสร้างพลังร่วมเครือข่ายเยาวชนเทือกเขาเบอบาตู ใช้กีฬาพื้นบ้านเพื่อรักษารากเหง้าและสร้างความเข้มแข็งในกลุ่ม
  • “เคยมีกรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปในชุมชนของผม (บ้านแม่ปอคี) วันนั้นกลุ่มเยาวชนประชุมกันอยู่ เลยขอแรงขึ้นไปช่วยกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชนของผม กลุ่มเบอบาตูช่วยอธิบายให้ชาวบ้านฟัง เพราะปกติชาวบ้านจะกลัวเจ้าหน้าที่ พอเราลุกขึ้นมาแบบนี้เจ้าหน้าที่ก็เห็นว่า หมู่บ้านนี้มีการรวมกลุ่ม กล้าโต้ตอบ สร้างความเกรงให้เขา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ที่ผ่านมาเวลาเจ้าหน้าที่เข้ามาในชุมชนมักไม่เห็นหัวพวกเรา” ปราโมทย์ เวียงจอมทอง หนึ่งในตัวแทนเยาวชนโครงการ

ร้อยกว่าปีกับการอยู่อาศัยในเขตป่า โดยที่ทรัพยากรธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์ คือภูมิทัศน์ที่ทำให้เยาวชนปกาเกอะญอ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ลุกขึ้นมารวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิตบนแผ่นดินเกิด

“ชาวบ้านแทบฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง เพราะการศึกษาเข้ามาไม่ถึงบ้านของเรา แต่เรามีบัตรประชาชน ยืนยันได้ว่าเราอาศัยอยู่ที่นี่และเป็นคนไทยเหมือนกัน เราเกิดและใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ ถ้าพวกเราไม่ลุกขึ้นมาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน มันก็จะเป็นปัญหา ต่อไปวันหนึ่งเราอาจต้องอพยพออกไปจากชุมชนของตัวเอง”

เทือกเขาเบอบาตู หรือ “เบ๊อะบละตู” ตามสำเนียงภาษากะเหรี่ยง “บละตู” หมายถึง เทือกเขาหลายลูกที่อยู่ซ้อนกัน เป็นชื่อเรียกแนวเทือกเขาถนนธงชัย แถบอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ท่ามกลางความสวยงามของทิวเขา ยอดดอย และทะเลหมอกที่รับกับแสงอาทิตย์ ไล่เฉดสีชมพูไปจนถึงสีส้มระเรื่อทาบขอบฟ้าในยามเช้า เบื้องล่างผืนดินบางส่วนตีนดอยเบอบาตูแถบบ้านแม่ปอคี แม่อมยะ และซอแขระกลา อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากชาวบ้านกำลังเผชิญหน้ากับ การเพิกถอนสิทธิในที่ดินทำกิน ที่กำลังประกาศขึ้นเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

นี่เป็นเหตุผลให้เยาวชนในพื้นที่ บ้านแม่ปอคี บ้านแม่อมยะ บ้านซอแขระกลา บ้านปอเคลอะเด บ้านเคาะทีโค๊ะ บ้านปางทอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ชุมชนกะเหรี่ยง 6 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตตามลุ่มน้ำหุบเขาของดอยเบอบาตู ซึ่งมีเชื้อสายเครือญาติร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน รวมกลุ่มทำ โครงการการใช้กีฬาสร้างพลังร่วมเครือข่ายเยาวชนเทือกเขาเบอบาตู

จักรพล มรดกบรรพต อายุ 24 ปี จากบ้านปอเคอะเด และ ปราโมทย์ เวียงจอมทอง อายุ 24 ปี จากบ้านแม่ปอคี เป็นตัวแทนเยาวชนกลุ่มเบอบาตู มาร่วมพูดคุยกับ The Potential

เยาวชนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในเครือข่ายพลังเยาวชน จังหวัดตาก พวกเขาเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการซึ่งดูเหมือนเป็นจังหวะของความบังเอิญที่เหมาะเจาะ ให้ได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชุมชนของตนเอง

จักร เล่าว่า เป้าหมายของโครงการเป็นไปตามชื่อโครงการ พวกเขาต้องการใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง สร้างพลังรวมกลุ่มเยาวชนทั้ง 6 หมู่บ้าน สืบสานภูมิปัญญาด้านกีฬาที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกีฬาพื้นบ้าน และจัดกิจกรรมกีฬาในชุมชน เป็นพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันผ่านการเล่นกีฬา

แต่ไม่ทันได้เริ่มทำกิจกรรม กลับเจอปัญหาเข้าเสียก่อน!!

ปัญหาที่ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่หากขาดความเข้มแข็งของคนในชุมชน ย่อมนำมาสู่การล่มสลายของชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน

  • จักรพล มรดกบรรพต
  • ปราโมทย์ เวียงจอมทอง

พื้นที่ของชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 150 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยนั้นยังเป็นป่าลึกที่ตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง พวกเขาใช้ชีวิตเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่นบนผืนดินแห่งเดิม การพัฒนาจากภายนอกคืบคลานเข้ามาจนทำให้พื้นที่แห่งนี้สามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ยังไม่ง่ายนักเพราะสภาพภูมิประเทศมีความลาดชันและถนนหนทางยังไม่ได้สะดวกสบาย

ปัจจุบันบางส่วนในชุมชนของพวกเขากำลังจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่เงา ที่มีอาณาเขตอยู่ในท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก ไม่ว่าเหตุผลเกิดจากการเป็นหมู่บ้านชายขอบที่ตกสำรวจ หรือเกิดจากการไม่ได้สนใจและใส่ใจของหน่วยงานราชการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของปกาเกอะญอในพื้นที่ดังกล่าว

“เคยมีกรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปในชุมชนของผม (บ้านแม่ปอคี) วันนั้นกลุ่มเยาวชนประชุมกันอยู่ เลยขอแรงขึ้นไปช่วยกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชนของผม กลุ่มเบอบาตูช่วยอธิบายให้ชาวบ้านฟัง เพราะปกติชาวบ้านจะกลัวเจ้าหน้าที่ พอเราลุกขึ้นมาแบบนี้เจ้าหน้าที่ก็เห็นว่า หมู่บ้านนี้มีการรวมกลุ่ม กล้าโต้ตอบ สร้างความเกรงให้เขา เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ ที่ผ่านมาเวลาเจ้าหน้าที่เข้ามาในชุมชนมักไม่เห็นหัวพวกเรา” ปราโมทย์ เล่า

“เราได้เจอกับสถานการณ์ด้วยตัวเอง เป็นแรงขับให้พวกเราทั้ง 6 ชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นตัวแทนชาวบ้าน เป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐ จากหมู่บ้านเดียวขยายรวมกับหมู่บ้านอื่นเกิดเป็นเครือข่าย หมู่บ้านผม (ปอเคลอะเด) มีคนพูดภาษาไทยได้อยู่ไม่ถึง 20 คน ถ้าเป็นไปได้ผมอยากเห็นทุกหมู่บ้านมีสำนักงานชุมชน เพราะหมู่บ้านแต่ละแห่งตั้งอยู่กันคนละทิศคนละทาง ชุมชนไหนมีปัญหาจะได้เข้าไปปรึกษา ถูกจุด ถูกคน ถูกกลุ่ม มีตัวตนและเป็นที่พึ่งพาให้ชาวบ้าน สร้างความเข้มแข็งจากในชุมชนเอง” จักร ขยายความ

“มานึกๆ ดู วันนั้นพวกเราได้ขึ้นไปเจรจากับเจ้าหน้าที่เพราะกำลังประชุมกลุ่มกันอยู่พอดี ถ้าไม่มีการประชุม เราคงไม่ได้ขึ้นไปช่วย” ปราโมทย์ กล่าวเสริม

กีฬารวมใจ สร้างมิตรภาพ

โครงการการใช้กีฬาสร้างพลังร่วมเครือข่ายเยาวชนเทือกเขาเบอบาตูนอกจากช่วยสร้างการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนปกาเกอะญอไม่ให้หลงลืมรากเหง้าของตัวเองแล้ว ระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ยังช่วยสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมีความเชื่อมั่นในพลังของเด็กและเยาวชนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ในกลุ่มเยาวชนเอง พวกเราบางคนยังแทบไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ”จักร เอ่ยขึ้น แล้วเล่าต่อว่า เดิมทีผู้ใหญ่บางชุมชนไม่เห็นด้วยกับการรวมกลุ่มของเยาวชน ตั้งคำถามกับการทำกิจกรรมของเยาวชนว่า ทำไปทำไม? เพื่ออะไร?สงสัยไปถึงขนาดว่า กลุ่มเยาวชนทำงานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า ความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนจิตใจ แต่ทีมงานก็แก้ปัญหาด้วยการอธิบาย ให้ข้อมูลและลงมือทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นความตั้งใจ ทำให้การทำกิจกรรมของพวกเขามีพลัง เปิดพื้นที่ให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสพูดคุย และทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากกว่าแต่ก่อน

ปราโมทย์ เล่าถึงวิธีการทำงานว่า กิจกรรมแรกที่ทำ คือ การประชุมทีมงานที่เป็นแกนนำจากทั้ง 6 หมู่บ้าน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบตามความถนัดและความสมัครใจ หลายคนได้เรียนรู้จากการทำงานจริง สิ่งไหนไม่เคยทำหรือทำไม่ได้ก็ได้ลงมือฝึกฝนและพัฒนาตัวเอง

เยาวชนเบอบาตูแต่ละหมู่บ้านลงพื้นที่สอบถามข้อมูลชุมชนจากคนเฒ่าคนแก่ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชนและกีฬาพื้นบ้านปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน พวกเขาช่วยกันออกแบบแผนที่ทำมือแสดงพิกัดของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ ทำปฏิทินกิจกรรมของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อศึกษาการละเล่นและประเพณีที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาสรุปผล วิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อออกแบบกิจกรรมกีฬาชุมชน

จักรและปราโมทย์บอกว่า การทำโครงการเกี่ยวข้องกับกีฬาพื้นบ้านมีความท้าทาย เพราะเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ พวกเขาจึงต้องประยุกต์กิจกรรมผสมผสานทั้งการละเล่นแบบเก่าและแบบใหม่ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ขณะเดียวกันยังสามารถดึงเยาวชนให้รวมกลุ่มด้วยกันได้ การแข่งขันกีฬาฟุตซอลเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้น

พวกเขาใส่ความเท่าเทียมลงไปในกีฬา ให้แต่ละทีมส่งผู้เล่น 5 คน ที่ประกอบด้วย ผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 3 คน โดยไม่แบ่งแยก เพราะเชื่อว่าผู้หญิงมีศักยภาพและมีความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ไม่ต่างจากผู้ชาย

“กีฬาและการละเล่นแต่ละชนิด มีที่มาที่ไป มีความหมาย นอกจากได้เล่น เราได้ให้ความรู้น้องๆ เช่น การยิงลูกสะบ้า ขาหยั่ง หนังสติ๊กคันธนูยิงลูกก้อนดิน กระบอกไม้ไผ่ตักน้ำวิ่งแข่งกัน ในอดีตคนปกาเกอะญอไม่มีแกลลอนน้ำ แต่ใช้กระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำ ข้อมูลหลายอย่างพวกเราเองไม่เคยรู้มาก่อน กีฬาบางชนิดมีเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บางชนิดก็เล่นตามฤดูกาล หรือเวลาเราจะตัดต้นไม้ ตัดไม้ไผ่มาใช้งาน เรามีความเชื่อว่าต้องขอขมาเจ้าของต้นไม้ก่อน

พวกเราอยากเห็นน้องๆ ในชุมชนกลับมาเรียนรู้และสนใจวิถีชีวิต ภูมิปัญญา วัฒนธรรมและความเป็นปกาเกอะญอเหล่านี้ แล้วสามารถเผยแพร่และสร้างความเข้าใจให้คนภายนอกรับรู้อย่างถูกต้องว่า คนปกาเกอะญอไม่ได้ทำลายป่า ไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายป่า และเราอยู่กับป่าได้อย่างไร การที่เราจะรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนได้ ที่ผ่านมาเราเห็นว่าต้องใช้เรื่องกีฬาและการละเล่นเข้ามาช่วยดึงความสนใจ” ปราโมทย์ เล่า

“เคยเห็นน้องบางคนออกไปเรียนนอกชุมชน แล้วกลับมาดูถูกวิถีชีวิตของปกาเกอะญอ เลยอยากให้น้องๆ รุ่นหลังได้เรียนรู้ จะได้เข้าใจ ไม่ลืมและไม่รังเกียจวิถีชีวิตตัวเอง” จักร กล่าว

ชุมชนแต่ละแห่งตั้งอยู่ในทำเลที่ห่างไกลกัน การเดินทางสัญจรลำบาก ถนนเข้าหมู่บ้านเป็นพื้นที่ลาดชัน ส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง ยิ่งฤดูฝนด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึง ดินโคลนทำให้การเดินทางค่อนข้างอันตราย บางครั้งเส้นทางถูกตัดขาด สัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย และบางพื้นที่ยังไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม กลุ่มแกนนำเยาวชนได้พยายามจัดสรรเวลาเจอกันอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการทำงานและหารือปัญหาเร่งด่วนต่างๆ

“พวกเราอยากเจอกันให้มากกว่านี้ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ของตัวเอง ผมเมื่อก่อนเรียนอยู่เชียงใหม่ ตอนนี้น้องๆ หลายคนก็เรียนอยู่นอกชุมชน แต่ถึงไม่ได้เจอกันก็ยังคุยกันในแชทกลุ่ม ยิ่งมาเจอปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เรายิ่งมีเรื่องคุยกันได้ไม่สิ้นสุด” จักร กล่าว

แน่นอนว่าระหว่างการทำโครงการย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น แกนนำเยาวชนเบอบาตู บอกว่า พวกเขาเน้น ‘การทำงานเป็นทีม’ ‘เปิดใจ’ และ ‘ไว้วางใจ‘ ซึ่งกันและกัน นอกจากช่วยสร้างความเข้มแข็งภายในทีมแล้ว ยังเป็นตัวอย่างให้รุ่นน้องได้เห็น

“ถ้ามีปัญหา เราคุยกันต่อหน้าเลยครับ ไม่เอาไปพูดให้คนอื่นฟัง เพราะเราต้องสร้างความไว้วางใจกัน เปิดอกเปิดใจ แล้วจะไม่โกรธกันเลยเพราะแป๊บเดียวก็ปรับตัวได้” จักร กล่าว

“สิ่งที่เราทำ น้องๆ ในชุมชนชื่นชม เห็นความกล้าหาญของรุ่นพี่ บอกกับพวกเราว่าจะตามมาทำงานกับพวกเราด้วย เป็นอีกกำลังใจและเป็นเหตุผลให้พวกเราเดินหน้าต่อ เพราะไม่อยากทิ้งพวกเขา ถ้าไม่มีน้องๆ พวกเราคงไม่มีกำลังใจแบบนี้ ส่วนน้องๆ มีพี่นำก็มีพลังขับเคลื่อนตามไปด้วย”

“เรามีมิตรภาพเป็นพื้นฐาน บางทีเครียดหนักให้กำลังใจพูดคุยกัน กำลังใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้ทีมเราอยู่ต่อ หลายครั้งพวกเราถูกมองในแง่ลบ ท้อจนไม่รู้กี่รอบ เคยคิดเหมือนกันว่าเลิกเลยไม่ต้องทำแล้ว แต่พอได้กลับมาเจอกัน ได้คุยปัญหา หาทางออก ก็มีกำลังใจขึ้นมาอีก พวกเรามีอุดมการณ์และมองที่เป้าหมาย การทำโครงการลักษณะนี้ไม่ได้เป็นแค่การทำงาน แต่ผมได้เรียนรู้ด้วย ได้เข้าใจรากเหง้า วิถีชีวิตของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ผมได้เรียนจากโรงเรียนข้างนอก” ปราโมทย์ เสริม

‘ไร่หมุนเวียน’ ไม่ใช่ ‘ไร่เลื่อนลอย’ และไม่ใช่การทำลายป่า

จากการสำรวจและการวิจัยเชิงวิชาการ ยืนยันชัดเจนว่า ระบบการทำไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยที่ทำลายป่าไม้ พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนไม่ใช่แค่ไร่ทำการเกษตร ที่คนข้างล่างมองขึ้นมาเห็นเหมือนภูเขาหัวโล้น แต่เป็นระบบการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติระหว่างคนกับป่า

คำว่า “หมุนเวียน” มาจากวัฎจักรการใช้สอยพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กับการดูแล รักษา และพื้นฟูพื้นที่อื่นๆ ที่มีอยู่ วัฎจักรของไร่หมุนเวียน จึงประกอบไปด้วยหนึ่ง ไร่ทำกินที่ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน สองไร่ที่กำลังฟื้นฟู ดูแลให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นป่า หรือที่เรียกว่า “ไร่เหล่า” (Secondary Forest)ซึ่งชาวบ้านให้เวลาผืนดินพักฟื้นอย่างน้อย 7 ปี จนกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม และ สาม ป่าชุมชน พื้นที่จิตวิญญาณที่มีข้อตกลงร่วมกันในชุมชนว่าเป็นผืนป่าที่ห้ามตัดไม้มาใช้ประโยชน์

งานวิจัย พบว่า ไร่เหล่าแต่ละจุดมีความหลากหลายของพันธุ์พืชต่างกันไปตามระยะเวลาฟื้นฟู บางพื้นที่พบต้นไม้ถึง 242 ชนิด และมีลูกไม้ถึง 345 ชนิด เป็นแหล่งอาหารชั้นดีและเป็นที่หลบภัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์มีกีบ เช่น หมูป่า ที่ตามธรรมชาติไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าทึบ

1 ใน 3 ของนกในประเทศไทย หรือประมาณ 300 สปีชีส์ จาก 900 สปีชีส์ เป็นนกที่อาศัยอาหารจากไร่นา (Farmland Bird) จากแปลงไร่หมุนเวียน ที่สำคัญชาวปกาเกอะญอมีทักษะและความรู้เรื่องการทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟไหม้ลุกลามเข้าป่า พวกเขาเป็นด่านหน้าเข้าจัดการกับไฟป่าก่อนใครเสมอ เพราะเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเกื้อกูลกันระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์

แต่สิ่งที่กลับถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด และสร้างความเข้าใจผิดอย่างมหาศาลมาจนถึงปัจจุบัน

“หลักของการตัดต้นไม้ที่คนพื้นราบมองขึ้นมาแล้วคิดว่าต้นไม้ตาย ความเป็นจริงไม่ใช่เลยนะครับ เพราะต้นไม้ไม่ได้ถูกตัดจนถึงราก เราตัดเพื่อให้ไม้งอกขึ้นมาใหม่ได้ ตัดต้นเดียวสามารถแตกงอกออกมาได้อีก 4-5 ต้น ส่วนการทำไร่หมุนเวียนของทั้งหมู่บ้าน แต่ละปีเราทำรวมกันแค่เพียงผืนเดียว แล้วทำแนวกันไฟให้พื้นที่อื่นๆ ทั้งหมดโดยรอบเพื่อป้องกันไฟป่า

การใช้ชีวิตกับธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำ แต่เราให้ความเคารพธรรมชาติ ถ้าวิถีชีวิตของเราทำลายป่าจริง อยู่มาร้อยกว่าปีขนาดนี้ ป่าคงไม่เหลืออยู่แล้ว” ปราโมทย์ อธิบาย

“เกิดมาผมรู้ว่าเราเติบโตมากับอะไร ถ้าไม่มีข้าว ไม่มีต้นไม้ ไม่มีดิน ไม่มีฝน ไม่มีอากาศให้หายใจ ผมจะเกิดมาได้ยังไง มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าต้นข้าวที่มีให้กิน ถ้าไม่ปลูกคงไม่ขึ้นมา ป่าที่มีถ้าไม่รักษาก็คงไม่มีให้เห็น ผมจึงต้องรักษา ต่อยอดเพื่อดูแลให้คงอยู่” จักร กล่าว

การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชน แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายทศวรรษ ชุมชนท้องถิ่นยังคงขาดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิชุมชน ขาดการสนับสนุนจากรัฐและหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ชาวเขาในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงตกเป็นจำเลยทางสังคม หนำซ้ำยังถูกตีตราและยังแบ่งแยกความเป็นชาวเขาชาวเราอยู่เสมอ

ปกาเกอะญอและชาวเขาในหลายพื้นที่อาศัยอยู่กับป่ามาเป็นเวลานับร้อยปี มีภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ทำให้พวกเขาอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพิงอาศัยไม่ใช่ผู้ทำลาย การลุกขึ้นมารวมกลุ่มของเยาวชนเบอบาตู ส่งพลังไปถึงชาวบ้านในชุมชน ทำให้พวกเขายืนหยัดเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ขอกันเขตพื้นที่ชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา

“โซนบ้านผมโดนป่าสงวนทั้งหมดเลยตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ที่ผ่านมาไม่มีชาวบ้านกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง แต่ปัจจุบันเราเท่าทันข่าว ทันเหตุการณ์รอบตัว เป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่รวมกลุ่มกันอย่างจริงจังลุกขึ้นมายืนยันกับรัฐ ชุมชนเรากำลังเผชิญปัญหา ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาก่อนคงไม่มีใครทำ ผมว่าแต่ละชุมชนมีปัญหาต่างกัน แต่ไม่มีใครรู้จักปัญหาดีเท่าคนในชุมชนเอง” ปราโมทย์ กล่าว

“โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมมีเหตุผลมากขึ้น รู้จักการทำงานอย่างมีแบบแผน ทำให้ผมเข้าใจปัญหา และสามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจสิ่งที่ชุมชนต้องการได้ ไม่ใช่แค่เพราะต้องการต่อต้านหรือเอาชนะ” จักร กล่าวทิ้งท้าย

ตัวอย่างการละเล่นพื้นบ้านปกาเกอะญอจากการสำรวจโดยกลุ่มเบอะบาตู

อูแกว่
แต่เดิมตอนเช้าก่อนออกไปไร่ จะใช้เครื่องอูแกว่เป่าปลุกและให้สัญญาณคนในหมู่บ้านว่าถึงเวลาไปไร่แล้ว ตามธรรมเนียมผู้ชายเป็นคนเป่า เป็นเสียงปลุกใจในการทำงาน

สไลเดอร์ดอย
อ่านบทความต้นฉบับที่นี่