นางสาวนภัสวรรณ บัวแก้ว (ฟ้า) อายุ 17 ปี
เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สายการเรียน วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง : หัวหน้าโครงการ
โครงการ การศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ถาม ขอให้แนะนำตัว
ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาวนภัสวรรณ บัวแก้ว ชื่อเล่นฟ้าค่ะ อายุ 17 กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนท่าชนะ บทบาทหน้าที่คือ หัวหน้าโครงการการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ
ถาม ขอให้ช่วยเล่าภูมิหลังของตัวเองก่อนเข้าร่วมโครงการ
ตอบ หนูเป็นคนร่าเริงและตลก หนูเป็นเด็กกิจกรรม เริ่มทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ม.3 โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการนานกว่ากิจกรรมอื่นที่เคยทำมา ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำงาน การทำโครงการนี้ หนูได้ทักษะการพูด ทักษะความเป็นผู้นำเพิ่มมากขึ้น
ถาม ขอให้ช่วยเล่าตัวอย่างกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนหน้านี้
ตอบ ส่วนใหญ่หนูทำกิจกรรมในโรงเรียนเกี่ยวกับการแข่งขันทางวิชาการ โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่หนูได้ทำงานเกี่ยวกับชุมชน
ถาม ทำไมถึงสนใจทำหัวข้อวิจัยนี้
ตอบ เริ่มจากเราต้องเรียนวิชาค้นคว้าอิสระ (Individual Study: IS) โครงการนี้อยู่ในรายวิชา IS เป็นการเรียนรู้แบบโครงงาน ครูแอนให้โจทย์พวกเราศึกษาเกี่ยวกับอำเภอท่าชนะ เริ่มจากให้เราระดมค้นหาของดี จุดเด่น ใน 6 ตำบลของ ได้แก่ ตำบลประสงค์ ตำบลวัง ตำบลคันธุลี ตำบลท่าชนะ ตำบลคลองพา ตำบลสมอทอง ต่างคนก็ต่างเขียนเรื่องที่สนใจในพื้นที่ตำบลของตัวเอง จนในที่สุดเพื่อน ๆ ลงมติเลือกเรื่องนี้น่าสนใจมากที่สุด คือศึกษาเรื่องลูกปัดท่าชนะในตำบลวัง เนื่องจากลูกปัดพบยาก ไม่สามารถพบเห็นได้ง่าย ส่วนใหญ่ลูกปัดเป็นของส่วนบุคคล ที่เจ้าของขุดพบในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ลูกปัดจึงเป็นของเจ้าของที่ดินคน เราไม่สามารถบุกรุกเข้าไปได้ การศึกษาลูกปัดจึงน่าสนใจตรงที่ศึกษากันได้ไม่ง่ายนัก
ถาม หนูอยู่ที่ตำบลอะไร
ตอบ หนูอยู่ที่ตำบลประสงค์ ตำบลของตัวเองก็น่าสนใจ แต่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องราวของแม่นางสงอยู่แล้ว จึงไม่ได้รู้สึกท้าทายถ้าเราเลือกศึกษาเรื่องนี้ เพื่อนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันสนใจเรื่องราวของต่างตำบล
ถาม ความท้าทายจำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างไร
ตอบ จำเป็น ถ้าเราทำอะไรที่ตัวเราสนใจจริงอยากจะทำจะทำให้งานเรามีประสิทธิภาพ ไม่ใช่อยากทำเพื่อจะเอาเกรด เมื่อเราได้ทำสิ่งที่อยากทำ เราจะมีความลึกซึ้ง ถามว่าเราหาข้อมูลลูกปัดทางอินเตอร์เน็ตได้ไหม เราหาได้ข้อมูลบางส่วน ข้อมูลเชิงลึกไม่สามารถค้นพบได้ในอินเตอร์เน็ต เพราะว่าเป็นเรื่องความเชื่อเฉพาะของพื้นที่ตรงนั้น
ถาม ขอให้เล่าถึงบทบาทหน้าที่ในโครงการ
ตอบ ในวิชา IS ครูแอนเห็นศักยภาพในตัวเรา จากการทำงานและความสนใจ ครูแอนให้หนูเป็นหัวหน้าโครงการเพราะหนูเคยทำงานกับครูแอน หนูบอกครูว่าหนูสนใจเรื่องลูกปัดเป็นพิเศษ หน้าที่ของหัวหน้าโครงการคือต้องหาน้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เข้าไปถามน้อง ๆ ว่าสนใจเข้าร่วมโครงการไหม เราเปิดรับสมัครน้อง ๆ คนที่สนใจร่วมเข้าชุมนุมกับเรา โดยมีคุณครูแอนและคุณครูปรียาเป็นครูผู้ดูแล การจัดตั้งชุมนุมต้องมีครูดูแล ตอนนั้นเป็นชุมนุมวิทยาศาสตร์ แต่เราทำประเด็นเรื่องลูกปัด น้อง ๆ ส่วนใหญ่เป็นน้อง ม.4 ซึ่งวิชา IS เป็นวิชาของนักเรียน ม.5 เป็นขึ้นไป การรับสมัครน้อง ม.4 จึงเป็นการเตรียมความพร้อม ฝึกฝนการทำโครงการสำหรับการเรียนระดับ ม.5
ถาม สมาชิกในชุมนุมมีจำนวนเท่าไหร่
ตอบ สมาชิกมีทั้งหมด 10 คน มีคนที่สนใจอีก 1 คน รวมทั้งหมด 11 คน เขาสนใจแต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
ถาม สมาชิกในกลุ่มแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไร
ตอบ แบ่งหน้าที่ตามความถนัด เช่น คนนี้พูดเก่งจะให้เป็นประชาสัมพันธ์ ส่วนขวัญช่วยฟ้าได้ให้เป็นรองหัวหน้าโครงการ ใครถ่ายรูปสวยเป็นช่างภาพ ส่วนเลขาให้น้องทำเพราะน้องเขามีความสามารถในการจดและการใช้ภาษา
ถาม การเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร (ทักษะ นิสัย พฤติกรรมสำนึกพลเมือง)
ตอบ ปกติหนูทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องภาวะผู้นำอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงสั้น ๆ แต่พอเรามาทำโครงการนี้เราได้เพิ่มศักยภาพการเป็นผู้นำในระยะยาวมากขึ้นจนติดเป็นนิสัย ก่อนหน้านี้หนูทำงานในส่วนการพูดค่อยข้างเยอะ หนูเป็นพิธีกรให้กับโรงเรียน พอมาทำโครงการนี้เราต้องทำตั้งแต่ 1 จนไปถึง 10 ให้เสร็จ ยกตัวอย่าง ตอนเป็นพิธีกรเราเริ่มนับ 8 เพราะว่าอาจารย์เป็นคนเขียนสคริปให้ เราแค่มาทำอีก 2ให้เสร็จ
ตอนแรกทำงานกับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมชุมชน หนูรู้สึกเกร็งไม่กล้าพูด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีสัมพันธไมตรีที่ดีกับน้อง เพราะว่าหนูไม่มีความสนิทกับน้อง แต่พอมาทำโครงการ หนูพูดคุยกับน้องได้ดียิ่งขึ้น น้องๆ เข้าใจในตัวเรามากขึ้น จากนั้นหนูปรับตัวเข้าหาน้อง ๆ ตอนลงพื้นที่เรามีปัญหามากคือ เนื่องจากเวลาของพวกเราไม่ตรงกัน วันเสาร์ พี่ ม.5 เรียนพิเศษ ส่วนวันอาทิตย์น้อง ม.4 เรียนพิเศษ บางสัปดาห์ต้องเรียนพิเศษทั้ง 2 วัน ตอนนั้นหนูไม่รู้ว่าจะไขปัญหาอย่างไร เราแก้ปัญหาโดยการประชุมในคาบชุมนุม เราตกลงกันว่าจะลงพื้นที่อย่างไร เพื่อให้น้องทุกคนได้ข้อมูลเหมือนกัน โดยทุกคนไม่ต้องลงพื้นที่ก็ได้
หนูมีพัฒนาการทางด้านความคิดมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาได้และตอบคำถามได้ด้วยความเข้าใจ ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อหนูเป็นพิธีกรของโรงเรียน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของหนูไม่ดี พูดไม่ชัดเจนไม่ตรงประเด็น หลังจากทำโครงการหนูพูดรู้เรื่องชัดเจนมากขึ้น ตอนที่หนูพูดในเวทีโครงการหนูคิดว่าหนูทำได้ดีกว่าตอนเป็นพิธีกรที่โรงเรียน สามารถพูดให้น้อง ๆ เข้าใจและทำกิจกรรมนันทนาการให้กับน้อง ดูว่าช่วงไหนที่น้องเครียด ก็หาวิธีทำให้น้องผ่อนคลาย หนูมีประสบการณ์มากขึ้นจากการทำโครงการนี้
ถาม ช่วยเล่าถึงวิธีการทำงานและวิธีการปรับตัวเข้าหารุ่นน้อง
ตอบ ใช้วิธีการที่ถนัดคือใช้ความร่าเริงและความตลกเข้าหาน้อง ๆ เพื่อให้น้องไม่เครียด หนูบอกน้องว่า น้องอย่าเครียดนะ พี่ไม่ได้มากัดนะ น้องทำตัวสบาย ๆ ได้เลย หนูพยายามชวนน้องพูดคุย ตอนแรกหนูไม่พูดคุยในส่วนของโครงการก่อน หนูชวนพูดถึงเรื่องการเรียน พูดเรื่องชีวิตส่วนตัว น้องเขากล้าพูดกับเรามากขึ้น บางครั้งเขามีปัญหาเรื่องการเรียนก็มาปรึกษาเรา พอหนูขอความช่วยเหลือน้องให้ความร่วมมืออย่างดี น้อง ม.4 เริ่มกล้าทำกิจกรรมคนเดียว และไม่กลัวว่าจะไม่มีเพื่อน
ถาม มีทักษะอะไรที่เพิ่มมากขึ้นอีกไหม
ตอบ การแบ่งเวลาลงพื้นที่ช่วงแรกเป็นปัญหาทำให้ทุกคนไม่สามารถลงพื้นที่ได้หมด เราจึงมานั่งคิดว่าถ้าเราลงพื้นที่ไม่ครบทุกคน เราจะทำอย่างไรเพื่อให้น้องคนที่มาไม่ได้มีความรู้จากการลงพื้นที่ด้วย เราประชุมกันแบบประชาธิปไตยโดยให้น้อง ๆ ร่วมเสนอ ได้มติว่า 2 คน ที่ลงพื้นที่วันเสาร์วันอาทิตย์จะนำข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่ผ่าน Page ในวันพฤหัสที่มีคาบ อีกทักษะหนึ่งที่ได้คือ ทักษะการศึกษาหาข้อมูลในชุมชน การลงชุมชนไม่เหมือนเวลาเราเรียนกับอาจารย์ เราอยากรู้อะไรในชุมชนสามารถตั้งคำถามแบบปลายเปิดได้ เช่น วิธีการขุดลูกปัดด้วยวิธีแบบนี้จะได้ผลลัพธ์มากเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการขุดอีกแบบแตกต่างกันอย่างไร การสอบถามคนในชุมชน ทำให้หนูมีความสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น หนูรู้จักผู้คนในพื้นที่มากขึ้น
ถาม ขอให้เล่าถึงวิธีการตั้งคำถามและวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
ตอบ ตอนเราลงพื้นที่มีกำนันเรืองศักดิ์เข้ามาช่วย ลุงกำนันบอกกับหนูว่า “ถ้าอยากรู้อะไร ก็ถามเลย เพราะคนที่ลุงพามา เป็นผู้ที่สามารถตอบคำถามได้” เราได้ถามเรื่องลูกปัด เช่น ลูกปัดแบ่งออกเป็นกี่ประเภท เขาตอบว่า 2 ประเภท มีอะไรบ้างมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร เขาช่วยให้เรามีทักษะในการตั้งคำถามเพิ่มขึ้น เขารอให้เราถามมากกว่าเล่าให้จบทีเดียว
ถาม จุดเปลี่ยนที่เป็นที่สุดของเราในการทำโครงการคือเรื่องอะไร
ตอบ ความรับผิดชอบ เราต้องรับผิดชอบเวทีอบรม กำหนดรูปแบบ จัดการและควบคุมเวลาเอง ตอนทำค่ายอบรมต้องจัดการทั้งเยาวชนของเราและน้อง ๆ ที่เข้าอบรมด้วย น้องมีจำนวน 30 ถึง 40 คน ร่วมลงมือทำกิจกรรมกับเรา ตัวเราเหมือนเป็นคุณครูที่มาจัดอบรมให้กับน้อง เมื่อก่อนคิดว่าการจัดค่ายเป็นเรื่องปกติ แต่พอเราได้ลงมือทำเองทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น ช่วงเช้าเราต้องดูแลเรื่องการลงทะเบียน ช่วงบ่ายลงพื้นที่เราต้องคอยกำหนดขอบเขต การนำน้อง ๆ มาเข้าค่าย หนูรู้สึกว่าเราต้องมีการจัดการที่ดี
ถาม ขอให้เล่าถึงการเรียนรู้ที่ได้รับจากการทำโครงการ
ตอบ การเรียนรู้ที่สุดคือการลงมือปฏิบัติงานจริง เราลงมือทำทุกอย่างเอง ทำให้รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หาวิธีการว่าเราจะทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ การลงพื้นที่เราทำหน้าที่เหมือนนักข่าว ต้องสัมภาษณ์ให้ตรงประเด็น เพราะต้องนำข้อมูลไปบอกต่อ การเปลี่ยนแปลงเกิดในช่วงลงพื้นที่และการทำค่ายมากที่สุด เรารู้จักความสามัคคีในกลุ่มได้เพราะการลงพื้นที่และการจัดเวทีซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับฟ้าที่เป็นหัวหน้าคนเดียว ขึ้นอยู่กับคนที่ร่วมทำกิจกรรม น้อง ๆ เป็นแรงผลักดันให้เรา น้อง ๆ ร่วมทำด้วยกัน ผลลัพธ์ออกมาดี แกนนำของเราทำออกมาได้ดี พวกเราได้รับคำชมทำให้คนทั้งกลุ่มรู้สึกดีกับงานที่ทำ
ถาม ขอให้เล่าถึงปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการ
ตอบ ครั้งแรกที่ลงพื้นที่เราได้ข้อมูลกลับมาน้อยมาก ข้อมูลไม่ต่างจากที่เราค้นคว้าในอินเตอร์เน็ตเป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เรากลับมาคิดว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราลงมาในพื้นที่แล้วเราจำเป็นต้องหาตัวช่วย จึงปรึกษาคุณครูว่า “ในพื้นที่นี้คุณครูรู้จักใครไหมคะ” มีคุณครูท่านหนึ่งเป็นคุณครูในหมวดวิทยาศาสตร์ ครูแนะนำว่า ทำไมไม่ขอความช่วยเหลือที่หมู่บ้าน ในพื้นที่มีกำนันอยู่ เราจึงประสานไปทางกำนันเพราะกำนันเป็นคนที่สนิทกับลูกบ้านมากที่สุด ตัวช่วยของพวกเราคือกำนันเรืองศักดิ์ กำนันช่วยเราตั้งแต่การประสานชาวบ้าน ช่วยหาคนที่มีความรู้เรื่องลูกปัด แนะนำคนให้ข้อมูล หาคนที่มีอาชีพขุดลูกปัดให้พวกเรา อีกปัญหาหนึ่งตอนทำโครงการในช่วงแรก หนูไม่สนิทกับน้อง ๆ ตอนนั้นรู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เรายังทำไม่ดีพอเหรอ” ครั้งแรกที่ลงพื้นที่หนูรู้สึกว่าทำไมเวลาที่ลงพื้นที่ถึงมีปัญหามากขนาดนี้ คนไม่พร้อมไม่ได้ข้อมูลที่ตามหา ไม่คิดมาก่อนว่าเป็นแบบนี้
ถาม มีวิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
ตอบ หนูมีเพื่อนสนิทคือขวัญที่ทำโครงการนี้ร่วมกัน หนูระบายกับเพื่อนว่า “ทำไมมันต้องมีปัญหาแบบนี้” ขวัญบอกว่า “อาจจะเป็นเพราะน้อง ๆ เขาไม่สนิทกับเรา น้องอาจจะไม่เข้าใจเราว่าเรากำลังจะทำอะไร ทำเพื่ออะไร” ขวัญแนะนำให้พูดถึงวัตถุประสงค์ที่เราทำ ลองคุยกับน้องว่าน้องโอเคไหมเวลาที่ลงพื้นที่ไม่จำเป็นต้องไปทุกคนก็ได้ ในคาบชุมนุมเราเปิดโอกาสให้น้องพูดเรื่องที่ไม่โอเคว่ามีอะไรบ้าง ถามความเห็นของน้องว่า “เป็นเพราะจัดการเวลาที่ไม่ดีหรือเปล่า การลงพื้นที่สามารถลงวันจันทร์ถึงวันศุกร์ได้ไหม ที่จริงมันก็ได้แต่เราต้องเรียน เราจึงเลือกเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ ช่วงนั้นพอเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ก็ติดเรียนพิเศษ ทำให้หนูท้อพอได้ระบายกับเพื่อนรู้สึกโอเคมากขึ้น เพื่อนคอยเตือนให้พูดกับน้องดี ๆ หนูคุยกับตัวเองว่า “ถ้าเราอยากเป็นผู้นำเพื่อนจริง ๆ ปัญหาแค่นี้เป็นปัญหาที่เล็กมากเราจะต้องข้ามผ่านให้ได้” การเป็นผู้นำต้องพบปัญหาอยู่แล้ว จึงมาคิดกับตัวเองว่า “อย่ามัวแต่คิดแบบนี้เลย การทำงานทุกอย่างก็ต้องมีปัญหา” จึงเลือกบอกกับน้องไปตรง ๆ ว่า “มันมีปัญหาจริง ๆ นะน้องบอกพี่ได้นะว่าพี่ควรทำอย่างไร”
ถาม อะไรทำให้เราเปลี่ยนความคิดและเลือกวิธีการที่จะสื่อสารกับน้องแบบตรงไปตรงมา
ตอบ เพราะเพื่อนค่ะ ขวัญคอยให้กำลังใจและคอยเตือนให้มองในมุมของน้อง
ถาม หลังจากเหตุการณ์นี้มุมมองของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตอบ เราคาดหวังได้แต่อย่าคาดหวังเยอะมากเกินไป ถ้ามันไม่สำเร็จเราก็หาวิธีแก้ปัญหา คือทัศนติใหม่ที่หนูได้คือ คาดหวังแล้วไม่เกิดอย่างที่เราหวัง เราต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อให้มันโอเคขึ้นกว่าเดิม อย่าคิดว่าไม่โอเคแล้วเราถอยออกจากตรงนั้น มัวแต่คิดว่า มันไม่ได้ มันทำไม่ได้ มันก็แค่นั้น กลับมาทำใหม่ให้ดีกว่าเดิมดีกว่า
ถาม หลังจากที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง สถานการณ์ของกลุ่มเป็นอย่างไร
ตอบ ดีขึ้นค่ะ เราปล่อยวางมากขึ้นฟังความคิดเห็นของน้อง ให้น้องมีส่วนร่วมในการลงมติเพื่อหาทางออกสัก 3 ทาง ให้น้องร่วมตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน เราลงมติและเคารพเสียงข้างมาก
ถาม เวลาที่เกิดปัญหาเราปรึกษาใคร
ตอบ นึกถึงเพื่อนระบายกับเพื่อนก่อน ไปปรึกษาคุณครูแอนเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา ตอนที่ไม่ได้ข้อมูลรู้สึกว่าเราสัมภาษณ์ได้ไม่ดีเหรอ จึงปรึกษาขวัญและครูแอนว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรหรือต้องเสริมทักษะการพูดอย่างไร ครูในหมวดวิทยาศาสตร์มีทักษะในการพูด หนูถามครูแอนว่า “หนูควรจะพูดอย่างไรให้ดูธรรมชาติและไม่เกร็ง ทำอย่างไรให้เขารู้ว่าเราสนใจเรื่องนี้จริง ๆ” ครูแอนแนะนำว่า เราควรจดหัวข้อที่เราจะถามก่อน เรามีเวลาสัมภาษณ์ 1-2 ชั่วโมง เราต้องไม่เครียดและไม่คิดว่าสัมภาษณ์ครั้งนี้แล้วต้องเสร็จ
ถาม ขอให้เล่าถึงตอนที่ลงไปสัมภาษณ์
ตอบ หนูเข้าไปแนะนำตัวก่อนว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร เพื่ออะไร ตอนนั้นที่ไปถามแค่ลักษณะของลูกปัด ชื่อของลูกปัดและความเชื่อ ใช้คำถาม เช่น “วันนี้หนูจะมาขอความรู้ในส่วนของความเชื่อและลักษณะทางกายภาพของลูกปัดนะคะ” เราเตรียมหัวข้อคำถามมาเป็นคำถามปลายเปิด พอเราสงสัยอะไรเพิ่มเราจะถามต่อจากคำตอบที่เขาตอบมา ตอนครั้งแรกที่ไปสัมภาษณ์แล้วไม่ได้ข้อมูลกลับมาอาจจะเป็นเพราะว่าเราเริ่มไม่ถูก ไม่ได้บอกชาวบ้านว่าเราจะมาทำอะไร ใช้คำถามมั่วกันไปหมดไม่ได้จัดระเบียบคำถาม
ถาม ความยากที่สุดของการทำโครงการคือเรื่องอะไร
ตอบ เรื่องการจัดระเบียบการลงพื้นที่ เรามี Timeline เช่น ในเดือนสิงหาคมเราจะลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ เดือนกันยายนเราจะเริ่มทำสื่อ แต่ช่วงนี้เราไม่สามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกได้หมด นอกเหนือจากลูกปัดยังมีเรื่องเครื่องขัดด้วย และช่วงนี้เราลงพื้นที่ไม่ได้เราต้องหยุดทั้งหมด สื่อที่เราจะทำให้ทุกคนและโครงการได้เห็นต้องหยุด เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอสื่อที่เราอยากทำยังไม่ได้ทำ อาจจะเป็นความพร้อมเรื่องของคน พวกเราต้องลงมติใน Messenger การพิมพ์ข้อความจะไม่เหมือนกับการที่เราได้นั่งพูดคุยด้วยกัน การทำรูปเล่มเราต้องแบ่งสัดส่วนกันทำงาน แต่ข้อมูลตรงนั้นหายไป ต้องกลับไปลงพื้นที่ใหม่แต่ตอนนี้ลงไม่ได้ สื่อที่เราได้มาตอนนี้ประมาณ 80% อีก 20% ที่เหลือเราต้องลงไปศึกษาใหม่อีกครั้ง
ถาม ช่วยเล่าถึงคุณสมบัติที่ได้รับจากการทำโครงการ
ตอบ เรื่องการพูดรู้วิธีการพูดที่ไม่ทำให้น้อง ๆ กดดัน เครียด รู้วิธีพูดให้กำลังใจน้อง ๆ พูดเพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อก่อนเราพูดแล้วน้องไม่เข้าใจ น้อง ๆ กดดันเพราะเราพูดเชิงวิชาการ ในการทำโครงการมีรูปแบบและรายละเอียดเยอะ เช่น ตอนเราสัมภาษณ์มีรูปแบบที่ต้องบันทึก ชื่อ อาชีพ อายุ เนื้อเรื่องที่เป็นข้อมูล สิ่งที่ได้มายังขาดรายละเอียดชื่อคน บางทีหนูอาจจะพูดเร็วไปทำให้น้องจับประเด็นไม่ทัน พอมีปัญหาแบบนี้หนูใช้ Timeline เพื่อให้น้องได้เห็นภาพมากขึ้น ครูแอนให้ Timeline เรื่องระยะเวลาการทำงานมา หนูทำเป็นแผ่นชาร์จเพื่ออธิบาย ถ้าใครไม่เข้าใจก็สามารถถามได้ หนูจะพยายามพูดให้น้องเห็นภาพ
คุณสมบัติอีกข้อคือ การเป็นผู้ฟัง หนูฟังน้องแล้วรอให้น้องถามจึงค่อยอธิบายขยายคำตอบให้น้อง มีครั้งหนึ่งที่เราต้องทำเส้นทางประวัติศาสตร์ของลูกปัด เราทำเป็นแผ่นชาร์จให้เห็นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วน้องถามว่า ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร เป็นการฝึกน้องให้กล้าพูดมากขึ้น
คุณสมบัติอีกข้อหนึ่ง เรื่องการทำงานเป็นทีม ตอนที่จัดเวทีไม่สามารถขับเคลื่อนงานด้วยตัวคนเดียวได้ เราต้องทำงานเป็นทีม พอเห็นน้อง ๆ ทำรู้สึกดีมาก เราได้รับคำชื่นชมจากคุณครูที่ไม่ได้อยู่ในโครงการนี้ น้อง ๆ บอกว่าเป็นกิจกรรมแรกที่ครูไม่ต้องมาช่วยจัดการ แต่พวกเรารับผิดชอบทำกันเอง หนูรู้สึกว่าน้อง ๆ น่ารักมากที่สามารถช่วยกันทำโครงการให้สำเร็จ สิ่งที่ทำไปน้องได้ทักษะ ตัวเราก็ได้ทักษะ
ถาม ขอให้ช่วยให้คะแนนโครงการ (คะแนนเต็ม100 คะแนน)
ตอบ หนูให้ 80 คะแนนเพราะเราได้ทำตาม Timeline ที่ตั้งไว้ มีแค่เรื่องสื่อที่ทำยังไม่สมบูรณ์ เราวางแผนจะทำตอนเดือนมีนาคมแต่เกิดติดปัญหาเรื่องโรคโควิด ส่วนอีก 20 คะแนน ที่ขาดไปคือช่วงที่ท้อ ไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ท้อตอนที่มีปัญหาเรื่องพูดแล้วน้องไม่เข้าใจ หนูคาดการณ์ไม่ถึงว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับตัวเอง เพราะเคยเห็นการทำงานแบบนี้ของผู้ใหญ่คนที่มีประสบการณ์ เขาทำงานอย่างรวดเร็ว การทำงานไม่มีปัญหาจุกจิก แต่พอเรามาเจอกับปัญหานี้ คิดว่าจะสวยอย่างที่เราคิดแต่ก็ไม่เป็นแบบนั้น
ถาม ความมุ่งมั่นสำคัญกับตัวเราอย่างไร
ตอบ เราจะทำ 1-8 ไม่ได้ ถ้ามี 10 เราต้องทำให้ได้ถึง 10 ถ้าทำสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเราเลือกที่จะทำแล้วเราต้องทำให้ดี เราห้ามท้อห้ามถอย ต้องคิดว่าอีกนิดเดียวเราจะทำได้แล้ว
ถาม ถ้าเกิดเราทำไม่สำเร็จ เรามีวิธีการจัดการกับตัวเองอย่างไร
ตอบ เราจะเอาส่วนที่ไม่สำเร็จมากพลิกเป็นโอกาส คิดว่าเราผ่านมันมาแล้วเราต้องทำใจยอมรับได้ ถ้าเกิดขึ้นเราต้องผ่านตรงนั้นไปให้ได้ เราต้องมีทักษะ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เราต้องทำความเข้าใจกับปัญหานั้นและหาวิธีการแก้ปัญหาให้ตรงจุด
ถาม รู้สึกอย่างไรที่ได้ทำโครงการนี้
ตอบ รู้สึกดีที่ได้ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนแบบเต็มตัว ได้ทำอะไรที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน เป็นการพัฒนาศักยภาพหลายด้านและเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตต่อไป ต่อไปข้างหน้าเราจะได้ทำงานในรูปแบบนี้และมีการเผชิญปัญหามากมายเช่น ปัญหาการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ถาม ช่วยเล่าถึงเป้าหมายในอนาคต
ตอบ หนูอยากเรียนต่อในสายวิทยาศาสตร์ หนูจะนำทักษะที่เราได้จากการทำโครงการมาใช้ในชีวิตจริง ไม่ว่าต่อไปหนูจะเรียนอะไรหนูต้องใช้ทักษะการพูด และทักษะในการทำงานแบบนี้ หนูจะนำประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในการดำรงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยต่อไป