นายภัศรุท ประเสริฐ (บอม) อายุ 18 ปี
เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด
ถาม ขอให้แนะนำตัว
ตอบ ผมชื่อภัศรุท ประเสริฐ ชื่อเล่น บอม อายุ 18 ปี ตอนนี้จบ ม.6 โรงเรียนเวียงสระกำลังเตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะรัฐประศาสนศาตร์ ทำโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านป่าลัด เป็นหัวหน้าโครงการ เริ่มทำโครงการนี้จากการชักชวนของพี่ทีม สก.สว. สุราษฏร์ธานี ตอนนั้นผมโทรไปถามซื้อลูกปัดมโนราห์ได้คุยกันพี่ ๆ เขาจึงชวนทำโครงการ และผมมีความชื่นชอบมโนราห์อยู่แล้วจึงตัดสินใจทำโครงการ
ถาม ตัวเราและครอบครัวมีประวัติเกี่ยวข้องกับโนราห์อย่างไร
ตอบ คุณทวดมีบรรพบุรุษที่รำมโนราห์ คุณทวดเองก็ชอบรำมโนราห์ ได้ไปเรียนมโนราห์ที่จังหวัดตรังแต่เรียนไม่เต็มรูปแบบ เนื่องจากสมัยก่อนการเดินทางไปมาลำบาก จึงค่อย ๆ ห่างจากการรำมโนราห์ไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับมโนราห์ จนมาถึงรุ่นผมซึ่งเป็นรุ่นเหลนที่กลับมาสนใจอีกครั้ง
ถาม ทำไมเราถึงสนใจ
ตอบ ตอนแรก ๆ ผมไม่สนใจ ผมไปเที่ยวงานวัดได้เห็นมโนราห์คณะหนึ่งทำการแสดง ผมเริ่มสนใจชอบการแสดงที่สร้างบรรรยากาศสนุกไม่เครียด มีมุกตลกและสาระไปพร้อมกัน เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ ที่โรงเรียนของผมเคยให้เรียนรำมโนราห์แต่ทิ้งเว้นช่วงไป 10 กว่าปี มโนราห์ได้หายไปจากชุมชนนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนผมได้มาเจอกับพี่ สก.สว. และครูชานนท์ มโนราห์จึงกลับมาอีกครั้ง
ถาม ก่อนร่วมโครงการเราเป็นคนที่นิสัยบุคลิกอย่างไร
ตอบ เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ ไม่ค่อยยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เวลาทำงานกลุ่มที่โรงเรียนเพื่อนเสนอความคิดแต่ไม่ตรงกับประเด็นที่เราวางไว้ เราก็มีอารมณ์ฉุนเฉียว แสดงสีหน้าไม่พอใจ หรือยกให้คนอื่นทำไปเลย ชอบทำงานให้เสร็จเร็วและชอบเร่งงาน เมื่อก่อนชอบทำคนเดียวทำแล้วเสร็จไปเลย ถ้ารอคนอื่นกว่าจะได้ต้องตามอีก นิสัยเป็นคนเฮฮาเฉพาะกับคนที่สนิท ส่วนคนที่ไม่สนิทก็เฉย ๆ
ถาม พอมาร่วมโครงการเป็นแกนนำหลักเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้าง
ตอบ บางครั้งยังมีบ้างที่หลุด พยายามปรับตัวให้ได้ จากที่อารมณ์ฉุนเฉียวจากความโมโหก็พยายามควบคุมสติตัวเองก่อน มีเหตุการณ์หนึ่งในเวทีแสดงความสามารถเราเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตอนนั้นวางแผนไว้เยอะแต่งบประมาณไม่เพียงพอ ก็มีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมึนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เรื่องซุ้มถ่ายรูปตอนแรกที่คุยกันจะไม่มี พอลงมือทำงานก็วางแผนกันใหม่จะทำซุ้ม พอทำไปกลางทางปรากฏว่างบประมาณไม่พอ ต้องหาวิธีแก้โดยการไปหากิ่งไม้ตามริมถนนละแวกนั้น เช่น ใบโกสน มาจัดแทนดอกไม้ ตอนนั้นโมโหตัวเองที่ทำพลาด ยังไม่รู้แนวทางแก้ไข กว่าจะได้ก็ต้องปรับตัว พยายามปล่อยวาง ไม่เก็บมาคิดมาก ยืดหยุ่น พัฒนาตัวเองให้รู้จักการวางแผน จากเป็นคนที่จะทำอะไรก็ทำเลยไม่วางแผน ทำให้เกิดอะไรแบบนี้ พอได้ทำโครงการนี้ ทำให้รู้ว่าต้องวางแผนก่อนการทำงาน เป็นขั้นตอน งานออกมาดีปัญหาที่เกิดขึ้นมีน้อยลง
เมื่อก่อนเป็นเด็กอยู่แต่บ้านไม่ชอบออกสังคม พอทำงานแบบนี้ได้รู้ว่าสังคมอยู่แบบนี้ เราต้องพัฒนาตามให้ทันสังคมเรื่องความรู้ ต้องรับฟังคนอื่นก่อนแล้วนำมาวิเคราะห์ ค้นหาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เนต ตอนแรกลำบากเรื่องการปรับตัวอยู่ในสังคม เพราะว่าต้องเจอกับผู้ปกครองของเด็กที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเป็นคนอย่างไร แต่เราต้องรับมือกับเขาให้ได้ พอเขาแสดงความคิดเห็นมาเราต้องรับฟังเขา นำมาคิดก่อน เราจะปฏิเสธทันทีไม่ได้ เช่น บางคนเขาจะมาบอกเราว่าเด็กบางคน ถ้ารับเข้าศูนย์ ให้ระวังจะมีภัยแก่ตัว เขามีประวัติไม่ดี เขาเตือนให้เราระวัง แต่เราก็รับเด็กเพราะเขาตั้งใจเข้ามาแล้ว
ถาม พอมีคนมาเตือนแต่เรารับเขาเข้ามา ทำไมเราถึงรับไม่ปฏิเสธทั้งที่มีผู้ใหญ่มาเตือน
ตอบ ได้คำแนะนำจากครูชานนท์ว่า คนเราต้องให้โอกาสคนก่อน และเราเองก็ต้องระมัดระวังด้วย เขาเตือนมาให้เรารับฟังเพื่อป้องกันตัวเอง ซึ่งตั้งแต่อยู่ด้วยกันมายังไม่เกิดปัญหาอะไร น้องเขามีปัญหาอะไรก็พยายามเข้ามาพูดคุยด้วย มีคนเตือนว่าน้องชอบเอาของคนอื่น แต่พอมาอยู่กับเราน้องเขาก็แก้ไขปรับปรุงตัวได้
ถาม มีคนเตือนว่าน้องอาจจะมีปัญหาลักเล็กขโมยน้อย ทางเรารับฟังไว้ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามา โดยวิธีการของเราคือคอยสังเกต คอยดู เราเตรียมการป้องกันอย่างไรบ้าง ถ้าน้องเขาเป็นอย่างที่มีคนเตือน
ตอบ ใช้การสังเกตเป็นส่วนใหญ่ ที่บ้านจะเป็นชุมชนที่เด็ก ๆ ทุกคนมาอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัว
ถาม คนอื่นมาเราก็รับฟังแต่เราก็ไม่ตัดสินน้องว่าเป็นแบบนั้น
ตอบ ใช่ครับ
ถาม การไม่ตัดสินนี่คือข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก ต่อให้เขามีประวัติมาอย่างไร มีเมื่อคนเตือนเราเพียงฟังไว้แต่ไม่ไปตัดสินเขาต่อ เราดูเขาจากสภาพที่เขาเป็น ตามที่น้องบอมยืนยันว่าเขาไม่มีปัญหาแบบนั้น สิ่งนื้เรียกว่า เราไม่ตัดสินเขาจากสิ่งที่คนอื่นบอกมา แต่เราเชื่อในสิ่งที่เห็นจากปฏิสัมพันธ์ของเรากับเขา
ถาม หัวหน้าโครงการเราทำอะไรบ้าง
ตอบ วางแผนก่อนทำ พอทำแล้วเกิดปัญหาก็นำมาแก้ไข ต้องฟังจากทุกคน การวางแผนจะเรียกทุกคนมานั่งล้อมวงคุยกันแบบพี่แบบน้อง ไม่ประชุมเป็นพิธีการ คุยกันว่าเราต้องทำอะไรถ้ามีปัญหาต้องแก้อย่างไร ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการอื่นมาแก้ต้องผิดลองถูกไปก่อน เอาผลลัพธ์จากครั้งนั้นมาคุยกัน แล้วก็หาวิธีการที่ทำให้สำเร็จเป้าหมาย
ถาม มีปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการอะไรบ้าง
ตอบ เรื่องระยะเวลา ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะเวลากระชั้นชิดเกินไป เช่น วางแผนจัดงาน 10 วันแต่จัดจริงได้ 7 วัน ในหนึ่งสัปดาห์เราใช้ได้แค่วันเดียว แก้ปัญหาโดยหาวิธีที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์เท่ากับเวลาที่ทำเต็ม เช่น จัดงานการแสดงใช้เวลาในการวางแผนประมาณ 2 วัน มีครูชานนท์ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการติดต่อประสานงานให้รวดเร็วขึ้น
ถาม ในโครงการนี้บทบาทของน้องบอมมีหลายชั้น บอมเป็นหัวหน้าโครงการ เพราะเห็นว่ามโนราห์น่าสนใจควรสืบสานต่อ บอมขอโครงการนี้ ในขณะเดียวกันบอมก็ต้องวางแผนกับเพื่อนร่วมทีมที่ตั้งต้นมาด้วยกัน 8 คน มีครูชานนท์เป็นที่ปรึกษา บอมต้องจัดการเรียนรู้ให้น้อง ๆ อีก สมาชิก 400 คน บอมดูแลเรื่องการเรียนรู้ของน้อง ๆ อย่างไร แต่ละคนฐานไม่เท่ากัน บอมมีระบบจัดการเรื่องการเรียนรู้มโนราห์ของอย่างไร
ตอบ การเรียนรู้เราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย กลุ่มรำ กลุ่มดนตรี กลุ่มการประดิษฐ์ จะเอาหลายหมวดมารวมกัน ใครอยากเรียนกลุ่มไหนก็เรียนไป แต่ก็เรียนอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยในช่วงเวลาว่าง ส่วนดนตรีจะเรียนเครื่องดนตรีมโนราห์ การประดิษฐ์จะมีการร้อยชุด ทำเครื่องแต่งกายมโนราห์ ในหนึ่งวันจะมีการทำกิจกรรม 3 กลุ่มย่อย กลุ่มที่รำก็รำ กลุ่มดนตรีก็เรียนดนตรี กลุ่มประดิษฐ์ก็ประดิษฐ์ก็คือมี 3 กลุ่มนี้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ในศูนย์ แต่ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกัน
ถาม แล้วเราดูแลอย่างไรมีอยู่ 3 กลุ่มย่อย
ตอบ จะมีครูชานนท์และรุ่นพี่มาช่วยสอน ผมดูทุกกลุ่ม ประเมินว่าแบบนี้โอเคไหมสิ่งที่ทำไป ดูภาพรวมในวันนั้นจาก 3 กลุ่มย่อย
ถาม วิธีการดูภาพรวมของบอมทำอย่างไร
ตอบ ดูที่เขาทำว่าแย่ลงหรือว่ามีการพัฒนาฝีมือขึ้น ถ้าเขาไม่มีพัฒนาการดูแย่ลง เราจะปรับอย่างไรให้เขาพัฒนาขึ้นตามคนอื่นทัน วิเคราะห์การสอนและการเรียนรู้ของน้องไปด้วย
ถาม เห็นปัญหาอะไรบ้างจากการที่ดูภาพรวมทุกวันใน 3 กลุ่ม
ตอบ เด็กบางคนร่างใหญ่หรือตัวใหญ่ ให้เขาลองดู ต้องให้เขาพัฒนาไปเรื่อย ๆ เริ่มจากท่าง่ายก่อนใส่ท่าที่ยากให้ ที่อื่นเขาจะไม่รับเด็กกลุ่มนี้ แต่ครูชานนท์เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ บางคนตัวดำรูปร่างอ้วนที่อื่นจะไม่เอา แต่ครูชานนท์เอาเพราะถือว่าเด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้
ถาม บอมคิดอย่างไรกับสิ่งที่ครูชานนท์เสนอไม่จำเป็นต้องติดอยู่ที่รูปร่าง สีผิว
ตอบ ดีครับ เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นด้วย จากที่เขาไม่เคยมีโอกาส เขาก็ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมา เขาก็ทำได้ พอมีงานรำก็แต่งหน้าแต่งผมแต่งตัวให้สวยๆ ก็โอเค
ถาม เขาได้รำเป็นตัวเด่นไม่ต้องเป็นตัวตลกใช่ไหม เป็นมโนราห์ที่ตัวใหญ่เท่านั้นเอง
ตอบ ใช่ครับ
ถาม คิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่สนใจมากสำหรับโครงการนี้ คือ เคารพในความความแตกต่างหลากหลายของรูปร่าง สีผิว ทุกคนฝึกได้ เป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจมากในการพัฒนาคนไม่ตัดสินใครว่าด้อยจากรูปลักษณ์ของเขา น้องบอมต้องดูทุกกลุ่มต้องดูรายบุคคลด้วยซ้ำไปว่าพัฒนาการการเรียนรู้ของเขาเป็นอย่างไร คิดว่าน้องบอมมีคุณลักษณะของการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้อยู่ด้วย เพราะต้องฝึกเขาให้เป็น วิธีคิดหรือหลักคิดของบอมที่นำมาใช้มอง ซึ่งต้องใช้สมาธิจดจ่อมากจึงจะรู้ว่ารำไปถึงไหน ผิดท่าไหม ต้องดัดอย่างไร บอมได้วิธีคิดหลักการมาจากไหน วิธีการสอนและมองพัฒนาการรุ่นน้องของเราในการฝึก
ตอบ ตอนที่อยู่โรงเรียนได้เป็นลูกเสือพิเศษ อยู่กับอาจารย์ที่ดุมาก ทำงานพลาดโดนตำหนิบ่อย วิธีการนี้บางครั้งก็ใช้ได้กับเด็กแต่บางครั้งใช้ไม่ได้ เมื่อก่อนผมทำผิดจะโดนตี แต่พอเด็กทำผิดเราจะตีเด็กเราก็รู้สึกผิด คือเราไม่สามารถที่จะไปทำอย่างนั้นกับเด็กได้ ใช้วิธีการพูดคุยกันก่อนว่าทำไม พูดแล้วแต่เขายังไม่เข้าใจ ต้องนั่งอธิบายให้เขาฟังว่าต้องทำอย่างไร ถามเขา บางคนก็บอกว่าปวดท้องทำให้เป็นแบบนี้เราก็ต้องยอมรับ เขามีอาการป่วยเราไม่สามารถบังคับให้เขาทำให้ได้ ถ้าเราไปบังคับเขาจะเกิดการบาดเจ็บที่มากขึ้นกว่านั้น
ถาม เราใช้วิธีการแบบนี้ พูดคุยรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ดุไม่ตี เกิดการเปลี่ยนแปลงกับน้อง ๆ นักเรียนของพวกเราอย่างไร
ตอบ น้อง ๆ ร่าเริง สนิทกันมากขึ้นเข้ามาพูคุยด้วย เขาพร้อมเรียนรู้มากขึ้น
ถาม พอเราเลือกใช้วิธีการที่ฟัง คุยกันทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับน้องดีขึ้น ส่งผลต่อการเรียนรู้ของน้องที่ดีขึ้น ถ้าแบบเดิมในโรงเรียนครูก็อำนาจตีลงโทษบอกว่าผิด เป็นการบอกเรื่องเดียวกันแต่บอกด้วยวิธีการที่ต่างกันให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน บอมใช้อีกวิธีการหนึ่งจัดความสัมพันธ์เพราะสังเกตเห็นว่าตีก็คือเจ็บ น่าสนใจมาก
ตอบ ใช่ครับ
ถาม การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดของบอมคือเรื่องอะไร
ตอบ เรียนรู้เรื่องการยอมรับทุกสิ่งให้ได้ บางครั้งความผิดเกิดจากตัวเราเอง เราต้องยอมรับตัวเองให้ได้ บางครั้ง เราจะรู้สึกเจ็บด้วยตัวเองกับสิ่งที่เราทำลงไป เจ็บอยู่ด้านใน รู้สึกผิดกับตัวเอง เราก็ค่อย ๆ แก้ไขปัญหานั้นต่อไป ต้องรู้ว่า ตัวเองต้องพยายามก่อน เมื่อผิดไปแล้วเราต้องพยายาม
ถาม บอมมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่สำคัญที่ดีมาก การเห็นผลกระทบของข้อผิดพลาดที่เราทำไป มีความรู้สึกเจ็บปวด พี่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบหนึ่งของคนเป็นผู้นำ
ตอบ ยอมรับความผิดพลาดด้วยบ้างครั้ง
ถาม การยอมรับว่าเราผิดพลาดได้ ก็เป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้นำเช่นกัน ไม่มีใครทำสมบูรณ์แบบไปหมดแต่พลาดแล้วเราจัดการแก้ไขอย่างไร ยอมรับอย่างไร คนที่นำคนจะต้องแบกเรื่องพวกนี้ไว้ แต่ก็ต้องจัดการได้ด้วย ไม่ใช่ทำให้เราสูญเสียกำลังใจ
ตอบ ใช่ครับ
ถาม ในการทำโครงการคิดว่าเรามีคุณสมบัติอะไรในตัวเองมากขึ้นไหมคุณสมบัตินี้ก็อาจจะเป็นเรื่องศักยภาพก็ได้หรืออาจจะเป็นเรื่องความคิด
ตอบ จากที่ไปอบรมมีทีมพี่จากกรุงเทพ ฯ มาสอนวิธีการต่าง ๆ เขาเล่าให้เราฟัง ผมคิดตามว่าเราเป็นคนอย่างไรสิ่งที่เราทำไป มาคิดได้ตอนที่เวลาผ่านไปแล้ว สายไปแล้วเด็กคนนั้นเขาดีกับเราแล้ว หายโกรธกันแล้วแต่เราเพิ่งมาคิดได้ มาฟังจากคนอื่นแล้ว รู้สึกน้อยใจอยู่ด้านในที่ตัวเองทำไปแล้วตอนนั้น เราก็ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ ที่จะทำให้เขาเห็นใจมากกว่านี้ ได้รู้ทักษะการเข้าหาคนอื่นต้องทำอย่างไร ทักษะการสื่อสาร บางครั้งผมยอมรับว่ารับข่าวมาสื่อสารยังผิดเองเลย
ถาม การเป็นนักสื่อสารที่ดีต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอบ เราต้องตั้งสติฟังก่อน จดบันทึกกันลืม
ถาม ทักษะการเข้ากับคนอื่นได้ดีต้องทำอย่างไร
ตอบ ยอมรับเพื่อนให้ได้ก่อน ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร เราต้องยอมรับให้ได้ก่อน ไม่ว่าเขาเป็นคนแบบไหนเราต้องยอมรับเขาให้ได้ก่อน
ถาม ในฐานะที่เราอยู่ในตระกูลโนราห์มาศึกษาเรื่องนี้จริงจัง ได้พบผู้รู้ ครูชานนท์ เป็นตัวกลางในการเชื่อมการเรียนรู้กับน้อง ๆ ทำงานเพื่อสื่อสารสืบทอด บอมมีความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้นต่อเรื่องโนราห์อย่างไรบ้าง
ตอบ ได้รู้มากขึ้นจากที่เข้าใจผิด เมื่อก่อนเคยเข้าใจอย่างนี้ เราไม่เข้าใจเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ พอจะนำไปใช้ที่อื่น เราต้องยอมรับว่าใช้เหมือนกันไม่ได้ในทุกที่ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง การละเล่นใหม่ ๆ ผมมักจะยึดติดของเก่า เราต้องพยายามยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
ถาม คิดว่ามโนราห์สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับน้อง 400 กว่าคนที่อยู่กับเรา
ตอบ จากเด็กที่ชอบขับรถเที่ยวไปวัน ๆ มั่วสุมยาเสพติด เขาก็พยายามถอยห่างออกมาจากเดิมมากขึ้น บางคนผอมมาก ตอนนี้กลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น
ถาม ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้และสร้างเครือข่าย บอมรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ในโครงการ
ตอบ ดีใจที่ได้ขนาดนี้ ถือว่าเยอะแล้ว ที่สามารถทำให้คนในชุมชนและครอบครัวของเราพัฒนาเกิดความคิดใหม่ ๆ ได้
ถาม รู้สึกอย่างไรกับกระบวนการการเรียนรู้แบบนี้
ตอบ กลุ่มแบบนี้เราใช้ได้ทั้งสองกระบวนการแบบนี้และแบบของโรงเรียนได้ บางครั้งใช้ไม่ได้ เช่นเรื่องการพูดกับเพื่อนต้องพูดแบบนี้ พอพูดกับน้อง ๆ ต้องใช้การพูดอีกแบบ เป็นเรื่องวิธีการสื่อสารเหมาะสมกับกลุ่ม กับเพื่อนเราพูดจาแบบก้าวร้าวก็ได้ แต่พอพูกับเด็ก ๆ เราไม่สามารถพูดก้าวร้าวได้
ถาม วิธีการเรียนรู้กระบวนการแบบนี้มีประโยชน์กับเด็กและเยาวชนคนอื่นอย่าง
ตอบ การเรียนรู้แบบนี้เขาสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ การปรับตัวอยู่กับเพื่อน การสื่อสารเวลาที่ไปโรงเรียนสามารถนำไปสื่อสารกับครูกับเพื่อนได้
ถาม การเรียนรู้แบบนี้ให้ทักษะชีวิต
ตอบเหมือนที่เขาบอกว่า เด็กโดนครูตีก็จะจำ พอเป็นครูเด็กจะสร้างความคิดทันทีว่าเวลาเป็นครูจะต้องตีคนอื่นให้ได้ แต่มาวันนี้เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เราต้องสร้างการเรียนรู้
ถาม มีเป้าหมายอนาคตของศูนย์และโครงการอย่างไร
ตอบ อยากพัฒนาโครงการต่อให้น้อง ๆ เรียนรู้เรื่องมโนราห์มากขึ้นกว่านี้ในปีต่อไป ที่นี่ครูชานนท์สอนทุกอย่างไม่สอนแค่มโนราห์ สอนเรื่องการอยู่กับเพื่อนในโรงเรียน สอนถึงการใช้ชีวิตในครอบครัว อย่างที่ครูได้เล่าว่าเด็กที่แม่เสียชีวิตแล้วพ่อเป็นมะเร็ง เขามาบอกผมซึ่งผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องปรึกษาครูชานนท์ เป็นปัญหาครอบครัวของเขา เมื่ออยู่ร่วมกันเราต้องช่วยเหลือกัน เด็กบางคนมีปัญหาที่โรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พอรู้เราประสานงานให้ บางครั้งครูชานนท์ก็ช่วยเหลือค่าเทอมเด็กเอง
ถาม บอมเป็นตัวกลางในการประสาน มากกว่าความรู้ในศูนย์ ช่วยเขาแก้ปัญหาชีวิตด้วย
ตอบ เรารู้ปัญหาจากเขาซึ่งบางทีมีปัญหาจากโรงเรียนและครอบครัว พอมารวมตัวกับเราเขาไม่สามารถบอกกับเราได้ พอเราเปิดโอกาสให้เขาพูดคุย เราสนิทกันมากขึ้น เขาสามารถอธิบายให้เราฟังได้ทุกอย่าง เราจึงได้รู้ว่าทำไมวันนี้เขารำไม่ได้เลย เขายังมีปัญหาติดอยู่ในใจไม่รู้จะปรึกษาใคร
ถาม บอมเป็นตัวกลางใช้ทักษะการฟังช่วยให้น้องปลอดภัยที่จะเล่าความไม่สบายใจ บอมใช้ทักษะการฟังอย่างไร
ตอบ น้องมาเล่าเขาจะสั่งว่าอย่าไปบอกครูชานนท์ น้องกลัวเพราะครูชานนท์เป็นระดับครู ผมยังอยู่แบบพี่น้องพูดคุยกันได้ บางครั้งเขามีปัญหาผมรับมือไม่ได้ก็ต้องปรึกษาครูชานนท์ เขาก็รู้ว่าเมื่อมีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาได้ หลังจากปรึกษาเขาจะรู้สึกปลดปล่อยออกมา ไม่เครียด ผมฟังบ้างถามบ้าง คุยตามประสารุ่นพี่รุ่นน้อง
ถาม บอมเป็นพื้นที่ปลอดภัยของน้อง เขารู้สึกปลอดภัยและวางใจที่จะมาเล่าเรื่องให้ฟัง ขณะเดียวกันบอมรู้ว่าตัวเองเป็นคนประสาน สิ่งใดแนะนำได้ก็แนะนำ รับฟังให้เขาระบาย แต่สิ่งใดที่เกินกำลัง บอมปรึกษาครูที่สามารถช่วยได้เข้ามาช่วย
ตอบ ใช่ครับ
ถาม บอมมีทักษะการเป็นคนให้คำปรึกษาด้วย
ตอบ เลขาผม (น้องเค) เขาอยู่กลุ่ม YC ด้วย กลุ่มที่ให้คำแนะนำปรึกษากับนักเรียนที่มีปัญหาต่าง ๆ เช่นเครียด ในโรงเรียน คนที่อยู่โรงเรียนเดียวกันจะรู้ เวลาผมมีปัญหาก็ปรึกษาเขาอยู่เหมือนกัน ที่โรงเรียนจะมีกลุ่มครูแนะแนว อบรมและตั้งชมรม กลุ่ม YC ไว้ แต่ละห้องเรียนจะมี YC อยู่ 2 คน คอยให้คำปรึกษา เพื่อนในห้องเรียนผมถ้ามีปัญหาจะไปปรึกษากลุ่มนี้ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเขาจะไม่พูดกับคนอื่น โรงเรียนตั้งชุมนุมมโนราห์ขึ้นมา ผมอยู่ชมรมมโนราห์จนจบ ม.6 มีการสอนมโนราห์ในโรงเรียนนอกจากสอนที่ศูนย์
ถาม อนาคตอยากเป็นอะไร
ตอบ อยากทำงานราชการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายได้