นางสาววราภรณ์ ประวัติ (ฟ้า) อายุ 17 ปี
ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (วิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์)
โรงเรียนบ้านตาขุนวิทยา
โครงการคนกล้าดี
ถาม ช่วยแนะนำตัวและโครงการ
ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาววราภรณ์ ประวัติ ชื่อเล่นชื่อฟ้า อายุ 17 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านตาขุนวิทยา ทำโครงการคนกล้าดี เป็นประธานโครงการ
ถาม เคยมีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนมาก่อนไหม
ตอบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ครูจำลองเคยชวนเด็ก ๆ ไปปลูกผักที่สวนเราทำกันมาเรื่อย ๆ จนมีโครงการนี้ขึ้นมา ครูจำลองชวนเข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มของเครือข่ายในซอยนี้ ตอนที่ทำโครงการพวกเราช่วยกันคิด ผู้ใหญ่ให้พวกเราช่วยกันเสนอความคิดเห็น และถามว่าพวกเรามีประสิทธิภาพที่จะทำงานตรงนี้ได้ไหม
ถาม เมื่อผู้ใหญ่ชักชวนพวกเรามีความคิดเห็นอย่างไร
ตอบ หนูอยากหาความรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพราะว่าอยู่ที่บ้านไม่ค่อยได้ทำอะไร อยากได้ประสบการณ์ใหม่เพิ่ม ในโครงการมีญาติและพี่น้องที่เรารู้จักกัน หนูไม่รู้สึกหนักใจอะไร
ถาม ช่วยเล่าถึงตัวเราเองก่อนเข้ามาทำโครงการนี้
ตอบ อยู่ที่บ้านหนูไม่ค่อยได้ทำอะไร หนูทำงานบ้านปกติ ไม่ค่อยได้ทำสวนหรือปลูกผักแบบนี้ หนูเป็นคนเงียบ พูดไม่ค่อยเก่ง พูดไม่ค่อยได้ ยิ่งพูดต่อหน้าคนอื่นจะพูดไม่ได้ พอมาทำงานตรงนี้รู้สึกว่าตัวเองได้คิดได้พูดได้ทำอะไรมากขึ้น ได้ฝึกหัดพูดออกเวทีมากขึ้นจึงเริ่มทำได้คล่องขึ้น
ถาม ช่วยเล่าความเปลี่ยนแปลงของตัวเองหลังจากที่ได้ทำโครงการนี้
ตอบ รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น เพราะหนูได้รับมอบหมายเป็นประธานโครงการ ถ้าได้รับมอบหมายหนูจะทำอย่างเต็มที่ หนูจะทำให้สุดฝีมือ หนูได้พบปะคนมากขึ้น หนูมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมาจากปกติ แต่ก่อนเราจะเป็นแค่ลูกน้องลูกมือ แต่ตอนนี้เราได้เลื่อนขึ้นมาเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยฝึกน้อง ๆ รู้สึกว่าเรารับผิดชอบงานได้หลากหลายมากขึ้น
ถาม ช่วยเล่าถึงงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ
ตอบ หนูช่วยแบ่งหน้าที่ให้ทีม หนูถามน้องว่าน้องสะดวกทำงานแบบไหน อยากทำอะไรและแบ่งหน้าที่กัน เวลาแบ่งกลุ่มบางครั้งน้อง ๆ ก็ยกมือถามความคิดเห็น และหนูเป็นคนเก็บเงินออมประจำเดือน คนละ 1 บาท เราจะเก็บเงินออมรายเดือนทุกเดือน หนูจะนัดประชุมต้นเดือน ทุกเดือน หนูบอกน้อง ๆ ว่า “อย่าลืมเงินออมกันมานะ”
ถาม การเก็บเงินออมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำโครงการอย่างไร
ตอบ เราได้รู้จักความรับผิดชอบของน้อง ๆ ด้วย เพราะว่าต้องเก็บวันละ 1 บาท หนูเก็บเฉพาะเหรียญบาทเท่านั้น หนูจะไม่รับแบงค์น้องต้องเก็บเหรียญบาทจริง ๆ เงินส่วนนี้เราสามารถเอามาช่วยบริหารกลุ่มของเราได้ ในระหว่างที่เรารอผลผลิต เราสามารถเอาเงินตรงนี้มาหมุนเวียนช่วยโครงการต่อ เอามาพัฒนางานจากที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้น หรือว่าใครที่คิดอยากจะเข้ามาอยู่ในโครงการเพิ่ม เราจะเอาเงินที่พวกเราสะสมกันไว้มาช่วยกันทำต่อ
ถาม มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรอีกบ้าง
ตอบ เรามีความสามัคคีกันมากขึ้น และมีความซื่อสัตย์ เมื่อโครงการเรามีปุ๋ยเราก็จะมาช่วยกันยกปุ๋ย ใส่ปุ๋ย ปรับดิน พรวนดิน และรดน้ำ เวลาที่ถามพวกเขาจะช่วยกันออกความคิดเห็น ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์หนูเป็นคนดูแลเงินของกลุ่ม เราจะต้องทำบัญชี หนูได้คิดอะไรมากขึ้น สิ่งไหนที่หนูทำไม่เป็น หนูจะต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่มจาก YouTube จากInternet เราต้องลองทำ ถ้าเราทำไม่สำเร็จเราต้องหาวิธีใหม่ เราต้องทำเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะสำเร็จ หนูได้ทักษะในการคิดมากขึ้น
ถาม จุดเปลี่ยนที่เป็นที่สุดในการทำโครงการคือเรื่องอะไร?
ตอบ ความรับผิดชอบจากที่ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลยก่อนหน้า เป็นคนที่ไม่ได้รับผิดชอบพอได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น พอหนูได้เป็นประธานหนูต้องจัดการกับหลายอย่าง หนูต้องรวบรวมข้อมูล หนูรู้จักวิธีการพูดมากขึ้น การพูดกล้าทำสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยได้ทำมาก่อน เปลี่ยนจากคนที่ไม่กล้าพูดเป็นคนกล้าพูดมากขึ้น
ถาม ช่วยยกสถานการณ์ให้ฟัง
ตอบ การอธิบายเกี่ยวกับโครงการของตัวเอง ต้องนำเสนอให้คนอื่นเข้าใจ หนูต้องหาวิธีการพูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจโครงการของตัวเอง
ถาม มีวิธีการสร้างความมั่นใจในเรื่องการพูดอย่างไร
ตอบ มาจากความเข้าใจของตัวเอง โครงการนี้เราได้ลงมือทำด้วยตัวเอง แล้วนำมาเรียบเรียงว่าในโครงการเราทำอะไรไปบ้าง เรียบเรียงคำพูดเพื่ออธิบายให้คนอื่นเข้าใจ บางครั้งตื่นเต้นจนนึกคำไม่ออกมันอยู่ในหัว หนูพูดไม่ออกหนูเลยนิ่งไป พอเราเริ่มพูดมากขึ้นความตื่นเต้นก็น้อยลง เราคุ้นชินจากการได้พูดมาหลายครั้ง
ถาม จากที่ซ้อมพูดกับเพื่อนในโครงการ พอขึ้นเวทีจริงเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ ยังตื่นเต้นอยู่แต่พอพูดได้ หนูพูดให้คนอื่นเข้าใจโครงการของเราได้ หลังจากพูดเสร็จหนูรู้สึกโล่ง
ถาม หลังจากเหตุการณ์วันนั้นเรารู้สึกหรือมีความคิดต่อตัวเองอย่างไร
ตอบ รู้สึกว่าตัวเองมีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น กล้าคิดกล้าพูดออกไปมากขึ้น
ถาม ปัญหาอุปสรรคจากการทำโครงการมีอะไรบ้าง
ตอบ เรื่องเวลาเพราะว่าเรายังเรียนอยู่ เรานัดน้อง ๆ ได้เฉพาะวันเสาร์กับอาทิตย์ หรือวันอาทิตย์วันเดียว ผักเราก็ต้องดูแล แต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เราต้องไปโรงเรียน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมาช่วยดูแลผัก ถ้าไม่ช่วยดูแลผัก ผักของเราก็จะตายเพราะว่าไม่มีใครดูแลรดน้ำ
ถาม ช่วยเล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้
ตอบ ตัวอย่างบ้านพี่ส้มเขาเลี้ยงปลาดุก ก่อนไปโรงเรียนเราต้องแวะให้อาหารปลาดุกก่อน พอกลับจากโรงเรียนในตอนเย็นเรามาให้อาหารอีกครั้ง ส่วนผักตอนเช้าถ้าทันก็รดน้ำถ้าไม่ทันก็กลับมารดตอนเย็น ถ้าวันไหนไม่ทันบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ช่วยรดให้
ถาม รู้สึกอย่างไรที่ต้องดูแลสิ่งเหล่านี้
ตอบ หนูรู้สึกว่าต้องใจเย็นมากขึ้น ปลูกผักต้องใช้เวลาไม่ใช่แค่วันสองวันแล้วโตเลย สัตว์เลี้ยงก็เหมือนกัน ต้องเลี้ยงดูแลเขาให้ดี ๆ กว่าจะได้มา เราต้องเป็นคนใจเย็น ทะนุถนอมหาวิธีมาดูแลให้ดี
ถาม มีปัญหาอุปสรรคเรื่องอะไรอีกไหม
ตอบ เวลานัดเพื่อนบางทีเด็กมาไม่ครบ เพราะว่าบางคนติดธุระ เวลานัดไม่ค่อยพร้อมหน้ากัน แต่เป็นส่วนน้อย พวกเราไม่ค่อยมีปัญหากัน ถ้าเขาไม่มาเราจะตามไปบอกเขาทีหลัง ว่ามีประชุมเรื่องอะไรบ้างต้องทำอะไรบ้าง
ถาม จากการที่ทำโครงการนี้ประทับใจเรื่องอะไรบ้าง
ตอบ หนูได้คุยกับญาติ ๆ มากขึ้น เมื่อก่อนเราอยู่กับตัวเองไม่ค่อยได้ไปไหน พอมาทำโครงการนี้เราได้อยู่รวมกลุ่มกัน จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยได้คุยกัน ตอนนี้เราสนิทกับคนอื่นมากขึ้น
ถาม การที่เราได้สนิทกับญาติมากขึ้นมีความหมายกับเราตัวเราอย่างไร
ตอบ หนูรู้สึกดีที่ได้พูดคุยกับญาติตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนห่างและไม่ค่อยได้คุยกัน พอมาทำโครงการช่วยให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น เราได้รู้จักกันมากขึ้นได้สานสัมพันธ์กัน ดูเหมือนว่าพวกเราจะรักกันมากขึ้นด้วย
ถาม รู้สึกอย่างไรที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของเครือญาติและคนในชุมชน?
ตอบ รู้สึกว่าคนที่นี่เต็มใจมาร่วมมือกับเรา พวกเขาเต็มใจช่วย เพราะว่าพวกเขาทำแล้วไม่มีอะไรเสียหาย ช่วยพวกเขาให้มีทักษะชีวิตมากขึ้น ช่วยเรื่องความคิดเรื่องความสัมพันธ์ในเครือญาติ ความสามัคคี การพูด การเข้าสังคม
ถาม จากการทำโครงการนี้มีเสียงสะท้อนของคนในชุมชนอย่างไรบ้าง
ตอบ เป็นสิ่งที่ดีพวกเขาเต็มใจมาช่วย เพราะเขาอยากทำกันอยู่แล้ว เขาสนับสนุนเมื่อเราขอให้ช่วย เขาเต็มใจและสนับสนุนเราทุกวิธี เขาสนับสนุนให้พื้นที่ข้างบ้าน เพราะเราต้องใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการทำแปลงผัก เขามาช่วยตั้งของขนไม้และทำคานให้
ถาม ตัวเรารู้สึกอย่างไรเวลาที่เห็นคนในชุมชนปลูกผักและแบ่งปันผัก
ตอบ การปลูกผักกินเองสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของพวกเราได้ การแบ่งปันทำให้พวกเรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น พวกเราได้แบ่งปันกันมากขึ้น ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ได้ปลูกอะไรจึงไม่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนกัน พอเราปลูกผักที่เหลือจากการขายเราก็เอามาแบ่งปันกัน
ถาม ตอนที่เราเอาของเราแบ่งปันให้คนอื่นเรารู้สึกอย่างไร
ตอบ รู้สึกว่าตอนนั้นเราไม่สามารถกินผลผลิตจากที่เราปลูกได้หมด เอาไปแบ่งให้เพื่อนหนูรู้สึกดี เหลือจากแบ่งเราก็ขาย บางบ้านเขาขายได้กำไร หลังจากขายเขาก็เอามาแบ่งให้บ้านหนู ความสัมพันธ์ในชุมชนแบบนี้ทำให้เราได้พบปะกันพูดคุยกันมากขึ้น หนูใช้โอกาสนี้ชวนพวกเขาเข้าร่วมโครงการ จากคนที่ไม่เคยเข้าร่วม เราให้เขาไปหาคนเข้ามาร่วมโครงการเพิ่ม เพราะโครงการและสิ่งที่เราทำอยู่ดีจริง
ถาม การเรียนรู้ที่สำคัญของตัวเราคือเรื่องอะไร
ตอบ ได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ ได้ค้นหาวิธีการจากแหล่งต่าง ๆ ทั้ง YouTube, Internet และการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่
ถาม สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนคือเรื่องอะไรและวิธีการเป็นอย่างไร
ตอบ เรื่องการเลี้ยงหอยขมได้ศึกษาจากฟาร์มเลี้ยงหอยขม ในช่อง YouTube เขาทำระบบน้ำ มีการแนะนำระบบน้ำ อาหารที่ทำให้หอยขมตัวโต ดูแล้วก็จดข้อมูลไว้จากนั้นนำมารวบรวมและทดลองทำ เวลาที่เราทำต้องทดลองปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ถาม การทดลองเลี้ยงหอมขมพบปัญหาอะไรบ้าง
ตอบ ปัญหาแรกเรื่องน้ำ พอน้ำมากเกินไปเราต้องระบายน้ำออก พอปริมาณน้ำน้อยเกินไปเราต้องเพิ่มน้ำ ต่อมาปัญหาเรื่องอาหารเราให้อาหารหอยขมมากไป เราต้องหาทางเอาอาหารออกเพราะว่าหอยกินไม่ทัน ปัญหาที่สามเรื่องตัวแม่หอยพอออกลูกแล้ว แม่หอยจะตาย ปัญหาที่สี่เรื่องลูกหอยหยุดโต เราต้องตามหาว่าทำไมลูกหอยหยุดโตมัน พบว่ามีหลายเหตุผลมาก
ถาม อะไรที่ทำให้เรารู้สึกท้าทายและอยากทำต่อ?
ตอบ หนูรู้สึกว่าอยากทำให้มันสำเร็จ เราต้องการขยายพันธุ์หอยขมที่มีขนาดตัวโต เพื่อที่เราสามารถนำมากินได้ แต่เรายังทำไปไม่ถึงขั้นนั้น เราจึงต้องหาวิธีการต่อไปเรื่อย ๆ พอเราทำไปแล้วเราก็อยากทำต่อให้มันสำเร็จ
ถาม คุณสมบัติอะไรในตัวเราที่ทำให้อยากทำโครงการนี้ต่อให้สำเร็จ
ตอบ ความรับผิดชอบ เพราะหนูรับผิดชอบในส่วนนี้จึงต้องทำมันให้ดี
ถาม ความรับผิดชอบในตัวเราเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?
ตอบ เวลาที่ได้รับงานมาจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ถ้ารับผิดชอบเต็มที่แล้วไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว
ถาม คุณสมบัติพิเศษที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำโครงการนี้คืออะไร?
ตอบ เรื่องการพูดเพิ่มขึ้นมากที่สุด และเรื่องความคิดได้คิดในสิ่งที่เราไม่เคยคิด ได้ลงมือทำ กล้าคิดค้นหาวิธีการทำ ถ้าเราคิดแล้วเราต้องทำ ถ้าเราวางไว้ผลัดไปเรื่อย ๆ เราจะขี้เกียจแล้วจะไม่ได้ทำ พอหนูได้เป็นประธานหนูรู้ว่า ต้องใจเย็นให้มากขึ้น เวลาที่เจอคนหลายคนมาพูดพร้อมกันและมีความคิดต่างกัน เราต้องฟังเราต้องใจเย็น ใจร้อนไปเราก็ทำอะไรไม่ได้ มีเหตุการณ์หนึ่งเราคุยกัน แต่น้อง ๆ ไม่ฟัง หนูบอกให้เงียบน้องก็ไม่เงียบ น้องยังแอบคุยและเล่นกันต่อจนผู้ใหญ่ต้องกำราบพวกเขาถึงจะฟัง ถ้าหนูพูดแล้วไม่มีใครฟังก็ทำให้หนูรู้สึกหงุดหงิดแต่ไม่ถึงขั้นโกรธ หนูจึงรู้ว่าเมื่อมีผู้พูดต้องมีผู้ฟัง
ถาม จัดการกับเหตุการณ์นี้อย่างไร
ตอบ เวลาที่พวกเขาไม่ฟัง จะมองไปที่เขารอให้เขาเงียบ เขาจะรู้ตัวเองว่าพวกเขาต้องเงียบแล้วนะและพวกเขาจะเงียบไปเอง หลังจากนั้นเราก็พูดต่อ
ถาม มีวิธีการอย่างไรให้คนในกลุ่มกล้าแสดงความคิดเห็น
ตอบ ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเริ่มพูดก่อน ถ้าต่างคนต่างเงียบไม่มีใครกล้าก็จะไม่มีใครพูด มีน้องหนึ่งคนที่เขากล้าพูดก่อน หลังจากนั้นพวกเขาจะช่วยกันพูด พวกเราทุกคนจะช่วยฟังทุกความคิดเห็น คุยกันว่าจะเอาแบบไหนดี สมมุติแบ่งเวร เราจับฉลากกันใครสะดวกตอนเช้า ใครสะดวกตอนเย็นสามารถเสนอกันมาได้
ถาม จากการทำโครงการให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ (จากคะแนนเต็ม100)
ตอบ หนูให้ 80 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ที่เหลือ 20 คะแนน เพราะยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราจะต้องค้นหาเพิ่ม ในเวลาที่จำกัดไม่มีเวลามากพอ เรากำลังหาข้อผิดพลาดและแก้ไขปัญหา เช่น เรื่องต้นแมะ เมล็ดพันธุ์ที่เราเก็บมาได้ไม่สามารถเพาะพันธุ์ต่อได้ สมมุติว่าเราเอาเมล็ดพันธุ์แมะไปโยนตามที่ชื้นแฉะทิ้งไว้โดยที่เราไม่ได้สนใจ ต้นแมะสามารถงอกขึ้นได้ แต่ถ้าเราเอาเมล็ดมาเพราะทีละเมล็ดจะขึ้นยากมาก งอกเพียงแค่ 1% ส่วนผักต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลและการเพาะเมล็ด
ถาม โครงการที่อยากทำในอนาคตคืออะไร
ตอบ คุณครูจำลองได้ชักชวนหมู่บ้านใกล้เคียงที่ไม่ได้อยู่ซอยเดียวกับเรา เข้ามาร่วมกับโครงการ พวกเราอยากขยายโครงการเพิ่ม ตอนนี้พี่ส้ม (พี่เลี้ยงชุมชน) สอนวิธีการทำปลาดุกร้าให้คนในหมู่บ้านที่เราอยากขยายโครงการ เพราะว่าเขาทำไม่สำเร็จปลาเน่าและกินไม่ได้ แต่บ้านของพี่ส้มทำสำเร็จแปรรูปปลาดุกร้าได้
ถาม ถ้ามีโอกาสเป็นวิทยากรอยากจะทำอบรบเรื่องอะไร
ตอบ หนูจะสอนเรื่องปลาดุกร้า การเก็บเมล็ดพันธุ์ การรักษาเมล็ดพันธุ์ การขยายพันธุ์พืช การผสมปุ๋ยชีวภาพและน้ำหมักต่าง ๆ
ถาม อนาคตอยากทำอะไร
ตอบ ตอนนี้กำลังหาอาชีพที่สามารถทำแล้วมั่นคงอยู่ได้ในระยะยาว อาชีพที่ไม่ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไม่กระทบกับชีวิตเรา หนูกำลังหาอยู่ เช่น โปรแกรมเมอร์