นายศราวุธ ปิจนันท์ (ครูจูน) อายุ 33 ปี
ครูแผนกทวิศึกษาช่างไฟฟ้า โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4
โครงการการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้งอำเภอพบพระ จังหวัดตาก
สัมภาษณ์วันที่ 20 มกราคม 2563
ถามให้คุณครูเล่าภูมิหลังที่มาที่ไป คุณครูเคยมีประสบการณ์เป็นโคชให้เด็กๆ เยาวชนแบบนี้มาก่อนไหม?
ตอบ ผมเป็นครูสอนทวิศึกษาสอนทั้งสองโปรแกรมพร้อมกันทั้งสามัญและช่าง ดูแลแผนกช่างไฟฟ้า อยู่ทั้งสองเฟสคือทั้งสอนความรู้และวัดเด็กจากการปฏิบัติ ผมเคยทำโครงการนี้มาก่อน เรียกว่า “ป่าประโยชน์” ผมเสนอผ่าน YouTube ช่อง TPBS หยิบไปทำรายการสองกำลังสื่อ ตอนนั้นผมเป็นแกนนำในการทำโครงการ ชื่อว่าโครงการป่าประโยชน์ เกิดขึ้นเพราะเด็กอยากปลูกป่า ครูมีหน้าที่ทำอย่างไรให้สนุกเกิดประโยชน์ที่สุด ทำอย่างไรให้อยู่ยาว รวบรวมไอเดียกับเด็ก ปลูกอย่างไร ปลูกที่ไหน จึงตั้งโจทย์ให้เด็กว่าปลูกอย่างไรให้ป่ายังอยู่ เพราะว่าปลูกแล้วป่าหายแห้งแล้งไปก็เยอะ ได้ไอเดียว่าถ้าเราปลูกต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ กินได้เป็นไม้ในป่าอยู่แล้ว จึงไปปรึกษากับกรมป่าไม้ เขาแนะนำ ลูกเนียง บะตึ๋ง มะขาม ที่ยืนต้นได้ เรารู้จักป่าชุมชนและพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ไปปลูกระหว่างป่ากับชุมชนตรงพื้นที่ชายป่า ปรากฏว่าครั้งแรกทำขอปลูกตามแนวป่า สร้าง Buffer ระหว่างชุมชนกับป่า ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ ชุมชนบุกรุกไม่ได้แล้วเพราะจะโดนชาวบ้านด้วยกันต่อว่า เขาเช็คกันเอง ผมทำสองปี อยากให้โรงเรียนเลยปล่อยโปรเจคให้โรงเรียนเดิมทำ ปีที่สองได้ไอเดียดีกว่านั้น คนที่บุกรุกป่าไปเรียบร้อยแล้วคืนพื้นที่ให้ ไม่เอาแล้ว ยอมคืนให้เห็นเด็กมาปลูกกัน ถือว่าสำเร็จ เป็นโปรเจคก่อนหน้านี้ที่ผมเคยทำกับเด็กมาก่อนในพื้นที่แม่กึดหลวง จังหวัดตาก
ถามทำไมครูถึงได้มาทำงานโคชเด็กกลุ่มนี้?
ตอบครูที่ดูแลชวนผมมาทำ ที่นี่มีโครงการเริ่มจากครูกฤษณาวางแผนไว้ก่อนว่าโรงเรียนเราตั้งอยู่ในชุมชน มีองค์ความรู้หนึ่งที่เรียกว่า กัญชง ชวนผมมาร่วมกันอาจจะเพราะเห็นจาก Background ว่าผมอาจช่วยดูแลเด็กได้
ถามโดยความสนใจของครูถือว่า Match กันพอดีเลยใช่ไหม?
ตอบMatch กันพอดีผมเป็นครูแนวที่วัดเด็กที่ความสามารถ เป้าในการเรียนของเด็ก เด็กจบไปแล้วจะทำงานอะไร เด็กจบไปแล้วมีความสามารถติดตัวบ้าง เกณฑ์ของผมไม่ได้อยู่ที่ว่าเด็กจบมีคะแนนเท่าไร มัน Match กับเป้าของผมพอดี อันนี้ค่อนข้างจะท้าทายว่า เป็นองค์ความรู้ชุมชนซึ่งจะหายแน่นอน เพราะ Generation นี้ เด็กเยาวชนไม่มีใครทำได้แน่นอน คนที่ทำได้คืออายุสี่สิบปีขึ้นไป พอผมได้ข้อมูลนี้ขึ้นมา พี่เขาชวนผมก็ลุยเลยครับ
ถามบทบาทของคุณครู ที่ช่วยเด็กๆ ทำอะไรบ้าง?
ตอบหน้าที่ผมอันดับแรกคือฟังว่าเด็กอยากทำอะไร แล้วค่อยจับประเด็น ชอบพูดกับเด็กว่า หนูบอกครูได้เลยว่าอยากทำอะไรก็ได้ แล้วครูจะทำให้มันดูดีเอง ยกตัวอย่างเช่น หนูอยากวาดแผนที่ชุมชน ผมก็ถามกระตุ้นไอเดียว่าวาดไปทำไม อยากเห็นอะไรในตรงนี้ สุดท้ายเริ่มอยากรู้ หนูทำโปรเจคกัญชง อยากรู้ว่าในตำบลของเรา มีชุมชนที่ไหนทำบ้างหรือใครทำบ้าง ชาติพันธุ์อื่นทำไหม
พอเขาเริ่มผมก็กระตุ้นว่าทำแบบสอบถามมาให้ครู Review ต้องกระตุ้น เพราะว่าคนนำแผนการต้องเป็นครูพี่เลี้ยง ตอนแรกๆ ต้องฝึกเด็กก่อน ผมมองว่าเด็กแต่ละคนยังวางแผนการไม่เป็น ตอนแรกครูเก็บข้อมูลจากเด็กเพื่อตั้งเป้า แล้วมาวางแผนร่วมกัน ส่วนคนตีข้อมูลให้อยู่ในแผนในร่องในรอยก็ต้องเป็นครู
พอวางแผนแล้วเด็กเริ่มลองทำ Step ต่อมาก็เริ่มให้เป็นหัวข้อ เช่น คิดประเด็นมาว่า ถ้าหนูจะลงพื้นที่ไปสอบถามหนูอยากรู้อะไรบ้าง list หัวข้อมาแล้วเราก็มารวมคำพูดต่างๆ เหล่านั้นมาสร้างเป็นประเด็นขึ้นมา พอเราเห็นประเด็นก็เริ่มหยอดหัวข้อต่างๆ เข้าไปในประเด็นอยากรู้อะไรบ้าง เฟสแรกในการประชุมก็จะได้แบบสอบถามมา โดยเด็กเป็นผู้สร้างแบบสอบถามมาเอง แบบสอบถามก็ดูดีระดับหนึ่งเพราะครูพี่เลี้ยงช่วยเกลาให้
อะไรก็ตามผมอยากให้เด็กทำเอง ทำผิดก็ได้ทำถูกก็ได้ ให้เด็กทำก่อนดีไม่ดีเราค่อยมาดูให้ ผมคิดว่าเห็นโลกมากว้างระดับหนึ่งเคยทำงานกับต่างประเทศมา ผมจะมีไอเดียแปลกๆ มาใส่ให้เด็ก หนูเพิ่มมูลค่าใส่ตรงนี้สิเราจะได้ไอเดียเพิ่ม คำถามจะกึ่งเปิดกึ่งปิด คือมีคำถามอย่างไรก็ได้ พอตอบมาเราจะได้ยินอะไรแปลกๆ เช่น เด็กบอกครูรุ่นหนูไม่มีคนทำ เด็กลงพื้นที่กันมาเยอะ ประเด็นน่าสนใจถ้าไม่ทำจะสูญหาย เก็บข้อมูลอะไรน่าสนใจ ไม่น่าสนใจก็ปรับเด็กให้อยู่กับแผน แล้วคอยดูพัฒนาการเด็ก เราไม่สามารถดูแลเด็กคนเดิมด้วยวิธีการเดิมได้ตลอด ต้องดูที่พัฒนาการเขา พัฒนาการแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรับผิดชอบได้มาก บางคนรับผิดชอบได้น้อย ค่อยๆ ปรับไปแบบที่เขาไม่รู้ตัว ช่วงแรกก็ต้องเคร่งหน่อยเพื่อให้เขาอยู่กับร่องกับรอย
ถามอย่างไร?
ตอบดุครับ ทำไม ไม่ตรงเวลานัด พอมาถึงต้องทำหน้าเข้มใส่ ใจก็ไม่อยากจะเข้มเท่าไรครับ ถ้าเราไม่ดุตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ หนึ่งเรื่องตรงเวลา สองคือความรับผิดชอบ ผมถือว่านัดงานแล้วไม่มีงานมาเลยบอกว่าลืมผมนั่งรอ ให้กลับไปเอางานที่บ้านมาเลย ครูจะนั่งรอ ให้เด็กฝึกพูดปัญหาที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่นเด็กบอกไม่ได้เอางานมา จริงๆ คือไม่ได้ทำงาน ไม่ทำงานคือเหตุผล แต่บอกว่าลืมไม่ใช่เหตุผล ถ้าบอกว่าลืมครูก็จะนั่งรอ ผมมองว่าต้องโหดก่อนเพื่อฝึกให้เขาพูดปัญหาจริงๆ ตั้งแต่ตอนแรกครับ เด็กติดนิสัยประนีประนอม แต่ทำงานประนีประนอมไม่ได้ ต้องเห็นปัญหาถึงจะแก้ได้ ตอนแรกทุกคนจะมีปัญหาค่อนข้างเยอผะ เช่น ทำไมต้องให้หนูมาอบรมเครียด ไม่สนุกเลย ผมก็บอกว่าไม่อยากไปถอนตัวไหม พูดเชิงหยอกนะครับ ว่าเขาจะมี Feedback มาอย่างไรแล้วค่อยแก้แนวคิดนั้น ต้องทั้งเล่ห์ทั้งกล ในการถาม เจอหลายปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า หลักๆ ผมต้องมองปัญหาจริงๆ ให้ออกถึงจะแก้ปัญหาให้เด็กได้ เพราะว่าบางครั้งเด็กบอกปัญหานี้ ในความคิดผมไม่ใช่ปัญหานี้ ถ้าบอกเกิดปัญหานี้แก้ปัญหานี้ไม่จบ ผมรอจนกว่าจะเจอว่าปัญหาที่แท้จริง
ถามลองยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคุณครูแก้ไข?
ตอบกรณีนัดให้เด็กเอางานมา ผมบอกว่ารอนะ ให้เด็กกลับไปเอางานมาเด็กลุกลี้ลุกรน บอกว่าทำไมไม่เอางานมาอีก จนเด็กสารภาพว่าครูขาหนูไม่ได้ทำ ถามเด็กว่าทำไมไม่ทำ ปรากฏว่าคำตอบที่ได้ทำให้ตกใจเลยนะ บอกว่างานเยอะค่ะ พอเขาให้เหตุผลแบบนี้สำหรับผมคือไม่สนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญกับงานนี้ ต้องเรียกมาคุย อย่างนี้ต้องคุยตรงๆ ว่างานนี้สำคัญไหมให้เขาตอบมาเองว่าสำคัญหรือไม่สำคัญ เด็กจะไม่พูดว่าไม่ ก็ต้องชวนทบทวนว่าเป้าของหนูคืออะไร เริ่มไล่เป้าให้ชัดเจนไล่เป้าให้เห็นภาพเดียวกับเราว่าสุดท้ายมันจะไปอย่างไร ถ้าเขาไม่ทำงานนี้คือไปต่อไม่ได้ หน้าที่เราที่จะให้เยาวชนรุ่นของหนูทำสิ่งนี้ จูงใจให้ได้ สามารถเป็นอาชีพให้ได้ ซึ่งปัจจุบันมันเป็นแค่ภูมิปัญญา มันไม่สร้างรายได้ คนไม่สามารถหาเงินให้กับชุมชนของหนู เด็กก็จะเริ่มรู้ว่านี่คือความรับผิดชอบ แล้วเขาจะมีความรู้สึกร่วม สามารถปรับขึ้นมาจนพอนัดปุ๊บ มีงานทุกครั้งเอามาทุกครั้งได้
ถามเคสนี้คุยแล้วเขาบอกอะไรออกมาบ้าง?
ตอบคุยครับวิธีพิสูจน์ว่าเขาให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญ คืองานครั้งที่สองว่าเขาทำงานมาส่งหรือเปล่า ครั้งที่สอง 9 แบบสอบถามได้ 9 แบบสอบถาม ถ้าแบบนี้ชัดเจนแสดงว่าเด็กให้ความสำคัญ ปรับความสัมพันธ์กันได้ ครั้งแรกไม่มีไม่ให้ความสำคัญไม่ใช่แล้ว ผมบอกเขาเสมอว่าทำผิดไม่เป็นไร แต่หนูต้องทำเพราะไม่งั้นมันจะเป็นสูญ ถ้าหนูทำมาได้ 20 ครูพร้อมปรับ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ครูพร้อมทำให้อยู่กับร่องกับรอย แต่ไม่สามารถเอากระดาษเปล่ามายื่นให้ครูทำให้ได้ เพราะมันไม่ใช่โครงการของครู เป้าเป็นเรื่องของเด็กที่อยากตั้งเป้าให้กับตัวเอง เรามีหน้าที่ทำให้เขาเข้าใจเป้านั้นมากกว่า ตามความเข้าใจของผม
ถามมีเหตุการณ์อื่นอีกไหมที่คุณครูต้องแก้และปรับไป?
ตอบตอนลงพื้นที่ตอนแรกเด็กๆ มีความกังวลหลายเรื่อง ทั้งเรื่องทีมงาน เรื่องสัมภาษณ์เด็กทำไม่เป็นเด็กจะบอกว่าทำไม่ได้ พอทำไม่เป็นจะทำไม่ได้ ปัญหาชัดเจนคือทำไม่เป็น ผมสอนเขาให้ทำเป็น หนูคิดว่าจะลงพื้นที่ 13 หมู่บ้านในหหนึ่งตำบลไม่ใช่เรื่องง่าย หนูจะทำอย่างไร ตระเวนอย่างไรก็ไม่ครบ เรามีเพื่อนอยู่ทั้งโรงเรียนใช่ไหม เด็กตอบ ใช่ ทำไมไม่ชวนเพื่อนในโรงเรียนที่อยู่หมู่บ้านนั้นแล้วก็สอนเขาว่า ทำวิจัยทำยังไง เขาก็ไปสร้างแบบสอบถามมา ผมก็บอกว่า ครูสรุปว่าทีมที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ คือทีมนักวิจัยกัญชงรุ่นเยาว์ ให้ดึงคนมา อันนี้คือหนึ่งปัญหาเกิดขึ้น ผมบอกให้ไปชวนเพื่อน เขาก็ชวนเพื่อนมาได้ Set ให้เป็นรูปธรรม เด็ก Get เลย เด็กนักเรียนมองไม่ออก ครูมองออก แต่ถ้าเด็กไม่ทำมาครูมองออกก็ไม่เป็นประโยชน์ คือ ผมสอนเด็กกลุ่มนี้เสมอว่าถ้าหนูไม่ช่วยตัวเอง ต่อให้เทพเจ้าก็ไม่ช่วยหนูครูก็ไม่ช่วย พยายามให้ครูเห็นก่อนแล้วครูถึงจะช่วย ผมสอนพวกนี้อยู่เสมอ ความพยายามเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กต้องมี
ถามมีปัญหาเรื่องอื่นอีกไหมในการทำโครงการ?
ตอบยังไม่เกิดคือเรื่องเบิกเงินสอนเด็กไปหมดแล้วว่า หนูไปลงพื้นที่ต้องขอบิลขอใบเสร็จมา แล้วคราวนี้การประชุมแต่ละครั้งถ้าเราประชุมในองค์กร ผลลัพธ์ของการประชุมต้องมีขึ้นมา ทำทุกอย่างในการเบิกผมมองว่าปัญหาต่อไปที่จะเกิดขึ้น เด็กไม่สามารถที่จะสรุปเอกสารในการเบิกได้ ในความคิดของผม แผนการต่อไปคือผมจะทดลองอีกสักพักว่าสุดท้ายเด็กจะเห็นภาพและทำได้ไหม ต้องฝึกให้เด็กทำ ไปซื้อไหมไปตามร้านว่าร้านนี้ไปซื้อของมา หนูจะต้องเขียนรายละเอียดลงไป เพราะความคิดผมเรื่องนี้อยากฝึกเด็กเหมือนกันให้ทำเอกสารทำหลักฐานเข้มข้นเชิงวิชาการ ถ้าหนูใช้เงินจริงหนูก็ต้องเบิกให้ได้แต่นี่หนูเบิกไม่ได้ เราได้เงินสำรองก้อนแรกมาเราก็ใช้หมด หนูปิดเรื่องนี้ไม่ได้ ผมอยากให้เด็กเห็นปัญหาก่อนว่าอย่างไร ทำไม่ได้ก็ต้องค่อยปรับเอาเอกสารมาให้เขียนทีละอัน บอกแนวทางเด็กยังทำไม่ได้เด็กไม่เคยทำมาก่อน บอกวิธีการเด็กก็ยังทำไม่ได้ ต้องให้มาลองทำลองเขียนลองรวบรวม จนกระทั่งเล่มออกมาหนา 1 ฟุตถือว่าปิดได้แล้ว
เราก็ต้องบอกอีกว่าหลักฐานตัวนี้หนูจะปิดอย่างไร เด็กเพิ่งแจ้งมาว่าที่โน่นถามเอกสารการเบิกเงิน ผมก็บอกว่าแล้วหนูเตรียมอย่างไรบ้าง เด็กรู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้างเพราะผมสอนสรุปว่าต้องมีอะไรบ้างทำอย่างไรบ้าง ตราบใดที่เด็กยังไม่เห็นเป็นใบใบ ยังไม่ได้เขียนออกมายังไม่ได้ลองทำ ผมเชื่อว่ายังทำไม่ได้ ผมจะไม่โทษเด็กว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีเด็กคนไหนทำได้แน่นอน การแก้ปัญหาอยู่ที่เราว่าจะใช้กลยุทธ์ไหนในการแก้ บางคนจัดให้ทำบางคนก็ปล่อยให้ทำ ผิดแล้วก็แก้ อย่างกรณีนี้ต้องจัดให้ทำก่อน เพราะเด็กคงไม่มีความรู้เรื่องการเขียนบิลการทำบัญชี การเข้าไปติดต่อประสานงานเพื่อขอหลักฐาน ทำอะไรอย่างไร ผมคิดอย่างนั้น
ถามมีเด็กท้อไม่อยากทำแล้วไหม?
ตอบเด็กวัยนี้พอเด็กคนหนึ่งท้อ เด็กคนอื่นจะต้องทำ ผมก็จะทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ในกลุ่มนี้ เขาต้องรับผิดชอบพอเขารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบเขาก็จะทำ ส่วนใหญ่เด็กทะเลาะกัน ผมจะปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเองสักพักนึง พอให้เด็กคนอื่นไปทำแทน เขาจะเห็นว่าเพื่อนเหนื่อย เขาจะมีความรู้สึกว่าเขาเป็นกลุ่มสุดท้ายเราก็สะกิดชวนเขามา เพราะเมื่อไหร่เด็กท้อเด็กจะปฏิเสธ ผมใช้คำพวกนี้ว่าทิฐิเด็ก ทุกคนมีทิฐิในตัวเองทิฐิที่อยู่ในตัวเองคือความไม่กล้า ผมมองว่าเราเป็นครูไม่ต้องรอให้เด็กเข้าหาหรอก ผมมองว่าผมช่วยดูแลโครงการนี้อยู่ ผมก็ชวนเรียกมา บางครั้งก็คุยเล่นที่ไม่เกี่ยวกับโครงการ ถามเกี่ยวกับการเรียนอนาคต สุดท้ายให้เขามีเวลาอยู่กับตัวเอง เขาเห็นว่าเพื่อนทำอะไรบ้าง เดี๋ยวเขาก็กลับมา เพราะไม่มีเด็กท้อพร้อมกัน ที่นี่โชคดีคือไม่มีเด็กท้อพร้อมกัน คนนี้ท้อคนนี้สู้ให้เด็กเหวี่ยงกันเองคือ คนนี้ยังสู้อยู่คนนี้เหนื่อยเราก็ไปสะกิดเล็กน้อยช่วยไหม ได้ค่ะครู พอเขาลองทำปุ๊บเริ่มให้เขารับผิดชอบ เริ่มถามหาผลงานแบบไม่ต้องจี้ ช่วงที่ทำแบบสอบถามลงพื้นที่ เด็กจะท้อสลับกันไปเพราะว่าเขาแบ่งหัวข้อกันทำ “ไม่ได้ค่ะครู” เด็กที่นี่จะมีภาษาใช้คำตลกแปลว่า “ทำไม่เป็น” พอเขาท้ออย่างนี้แต่เพื่อนทำได้เราก็ชมเพื่อนเขา สุดยอดมากเลยอันนี้ครูปรับเล็กน้อย บางคนทำมาไม่ดีไม่เป็นไรเดี๋ยวครูปรับให้ เขาจะเห็นว่าไม่เป็นไร เขาทำอะไรมาก็ได้แต่ขอให้เขาทำ ถ้าทำเสร็จเขาก็จะฟื้นตัวเองขึ้นมาเพราะเขารู้ว่าเขาเอื้อมถึงเขาทำได้ คำว่าเอื้อมไม่ถึงทำไม่ได้นี่ล่ะ ทำให้คนท้อ
ถามวิธีการของคุณครูน่าสนใจมากเลย?
ตอบผมใช้คำว่าผมต้องปรับหน้างาน วิธีการพวกนี้ไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับว่าเจออะไร สำหรับผมอย่างที่บอกว่าผมชอบเห็นปัญหา ถ้าผมเห็นปัญหาผมจะแก้ได้ แต่ถ้าผมไม่เห็นปัญหาแก้ไม่ได้ ขอให้เรารู้ปัญหายากที่สุดคือรู้ปัญหา บางครั้งรู้ปัญหาก็ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงก็ต้องถามต่อไป ผมโชคดีผมมี skill ติดตัวคือผมตอบไม่เป็นแต่ผมถามเป็น ส่วนใหญ่เวลาผมสอนเด็ก เด็กตอบถูกแล้วผมจะถามว่าหนูมั่นใจไหมหนูลองไล่วิธีการหาคำตอบวิธีคิดของหนูอีกรอบ ถ้าถูกหมดแล้วหนูมั่นใจไหม เด็กตอบมั่นใจค่ะครู ก็บอกเด็กหนูทำถูกแล้วลบทำไม เขาจะจำได้ ถ้าเราทำมาให้ดู เด็กจะไม่รู้เรื่องทำไม่เป็น ไม่เข้าใจอะไรเลย ผมโชคดีตรงนี้ ผมถามเป็นผมไม่ชอบตอบ ผมตอบด้วยคำถาม กระตุ้นวิธีคิดดีครับ
ถาม ซึ่งเป็นการกระตุ้นวิธีคิดด้วยตั้งคำถาม?
ตอบตอบด้วยคำถามไปเรื่อยๆ จนเขาเคลียร์ ไอเดีย ถ้าเขาเคลียร์ไอเดียตัวเองเมื่อไหร่ ก็จบเรื่องนั้นไป เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่งั้นจะเกิดปัญหาเดิมซ้ำขึ้นมา ถ้าเราบังคับให้เขาทำ ผมไม่บังคับผมไม่ชอบบังคับและโปรเจคเราก็ปรับได้เมื่อมีไอเดียใหม่แต่ยังคิดอยู่ในหัวข้อ จนตกตะกอน โครงการของเราตามชื่อเราจบได้ แต่เราเฟสแรกทำได้ถึงไหน เราเรียนรู้ได้ถึงไหน ทุกอย่างต้องมีแผนครูจะมองแผนระยะยาวและระยะสั้น งานระยะสั้น เด็กทุกคนต้องมีเป้าร่วมกัน ถ้าไม่เห็นเป้าร่วมกันทำงานด้วยกันไม่ได้ ถามดูพรุ่งนี้ว่า หนูอยากให้กัญชงหายไปจากรุ่นหนูไหม ทุกคนก็ต้องตอบว่าไม่นี่เป็นคำถามปลายปิด ที่ทำให้เด็กเข้าใจเป้า เราไม่ต้องบอกหนูระวังกัญชงหายไปในรุ่นหนูนะ กับหนูอยากให้กัญชงหายไปในรุ่นหนูไหม ต้องการสื่อแบบเดียวกัน แต่เด็กจะเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน พัฒนาการที่เกิดขึ้นก็ไม่เท่ากัน
ถามวิธีการสอนด้วยกลยุทธ์ การตั้งคำถามแบบนี้ซึ่งครูมีต้นทุนเดิมตัวเองอยู่แล้วมาจากงานที่มีประสบการณ์เดิมก่อนที่จะมาสอนนักเรียน?
ตอบผมมี background ที่แปลก ผมจบวิศวะเคยทำงานกับหลายประเทศ เคยทำงานกับทางยุโรปทางญี่ปุ่นทางเกาหลี ผมจะมีมุมมองแบบหลายประเทศ ผมโชคดีตรงที่ผมอ่านเยอะ ผมชอบเรียนรู้วิธีคิดของคน ฟังวิธีคิดของคน เรื่องพวกนี้ทำให้เป็นไปโดยอัตโนมัติ วิศวกรถูกฝึกให้แก้ปัญหา วิศวกรรมมาเติมผม ตอนผมมาเป็นครูใหม่ๆ ผมโชคดีอย่างนึงตรงที่ผมเจอครูที่ดี สอนผมว่าไม่ต้องเสียใจถ้าสิ่งที่เราทำไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่เราต้องมาถามตัวเองว่าเราทำให้โรงเรียนหรือเปล่า เราทำเพื่อนักเรียนหรือเปล่าให้เราตอบตัวเองได้ โครงการป่าประโยชน์เลยเกิดเพราะครูคนนี้สอนผม ผมเป็นคนที่ถ้าใครพูดอะไรแล้วมันถูกต้องหรือมันดีผมจำ แต่อะไรไม่ดีก็ช่างมันไป ผมเป็นคนจำเรื่องพวกนี้ไม่ได้จำเรื่องไม่ดีไม่ค่อยได้
ถามบทบาทตัวเองที่ทำกับนักเรียนใน Project นี้โครงการนี้สิ่งที่เป็นความโดดเด่นและเป็น Signature ของตัวเอง?
ตอบเด็กกล้าเข้าหา เด็กรู้ว่ามาหาผมแล้วงานจะเกิด ถ้าไม่เดินมาหาผมบางครั้งผลลัพธ์ไม่ออก ผมพูดถึงผลลัพธ์ ไม่ใช่วิธีการ คนชอบคุยวิธีการว่าทำอย่างไร ทำทุกอย่างแต่ผลลัพธ์ไม่ออก เมื่อก่อนนัดประชุมมาบ้างไม่มาบ้าง ติดเรียนบ้าง ปัจจุบันนี้ถ้าบอกว่าประชุม 7 คนมาครบ ผมบอกเด็กว่าไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ ถ้าหนูทำมานิดนึงครูจะช่วยเกลาให้
เรามีครูกฤษณาหัวหน้าโครงการ จบด็อกเตอร์มามีความชำนาญด้านวิชาการ ผมเน้นสายปฏิบัติและวิธีคิดและกระบวนการซึ่งมุ่งเน้นผลลัพธ์ ผมก็เติมเต็ม ครูสุพิศมีความคิดเป็น Perfectionist เพราะว่ามีประสบการณ์ในชีวิตมาเยอะ และครูสาธนีเป็นคนประสานงาน และคอยดูแลโครงการ ซึ่งผมมองว่าครูพี่เลี้ยงทุกคนมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน คือข้อดีของครูพี่เลี้ยงโรงเรียนเรา ผมใกล้ชิดเด็ก เพราะเด็กต้องมาหาถ้างานไม่ออก งานไม่ออกผมก็จะไปอยู่ใกล้ๆ ผมจะถามว่าเป็นยังไงบ้างสบายดีไหม ผมชอบพูดประโยคนี้ long time no see นานแล้วนะที่ไม่ได้เจอกัน ถ้าเด็กไม่ได้เจอเรานานกลัวเด็กจะหลุด ต้องเข้าไปทักทาย
ถามคุณครูลองมองย้อนกลับไปว่าใช้เทคนิคเครื่องมือวิธีการอะไรที่ใช้ประจำกับเด็กๆ จัดหมวดดูว่าเทคนิควิธีการที่เราใช้คืออะไรบ้าง?
ตอบที่ผมใช้ 1.การตั้งคำถาม 2.คือฟังก่อน 3.คือต้องให้เขาเชื่อใจเราถ้าไม่เชื่อใจเราก็จบ 4.เขาต้องรู้สึกสบายใจ ถ้าไม่สบายใจ ความคิดไม่ออกผมชื่อเรื่อง creative จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างชื่นใจ โปรเจคกัญชงเกิดขึ้น ทำให้เยาวชนทำกัญชงเป็น ประโยคนี้พูดง่ายแต่ทำยากมาก ชาวบ้านพูดเลยว่าเด็กทำวิจัย ถ้าเด็กทำได้ก็ทำที่บ้านไม่ต้องรอไปโรงเรียนท้าทายมาก
เวลาใครพูดอะไรได้ข้อมูลมาผมเชื่อก่อนแล้วลองดู ถ้าเขาพูดโกหกผมเชื่อในสิ่งที่โกหกแล้วลองเดินตาม เขาจะไม่โกหกเรา เขาจะรู้ว่าถ้าโกหกไปแล้วแน่นอนว่าจะเจอทางตัน ผมเป็นคนที่เชื่อก่อนทำก่อนรอได้ ทำให้เขาเชื่อใจเรา กัญชงคือสิ่งที่ผมพยายาม ให้เขาเรียนรู้ ผมพยายามรวมองค์ความรู้อื่นขึ้นมาด้วย ทั้งเรื่องการเขียนลายเทียนในผ้ากัญชง ผมรู้สึกถึงความโชคดี พื้นที่เราได้รับอนุญาตปลูกกัญชงในตำบลคีรีราษฎร์ได้ 300 ไร่ พื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ 10-20 ไร่ ที่นี่ กัญชงธรรมชาติ 100%
Thailand Only เราใช้มือ 100% ทำจนเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ไม่ธรรมดา คนเราจะใส่อะไรแล้วคันเป็นไปไม่ได้ ผมมองจุดเด่นได้เร็ว กว่าผมจะมองได้ต้องคุยกับชาวบ้านในชุมชน ผมชอบนั่งฟังเขาพูดคุย เพราะว่าผมไม่รู้จึงต้องฟัง ชอบฟังเด็กพูดคุย สอบถามเด็กเยอะๆ บ้านหนูเคยทำเป็นยังไง ครูเคยเห็นอย่างนี้มานะจริงไหม หนึ่งในกระบวนการ ผมฟังเยอะชอบฟังเราจะได้ประเด็น ถ้าเราไม่ฟังเราจะไม่ได้ประเด็น เราจะถามไม่ได้ จะต้องได้ประเด็นจนถามได้ ไม่ใช่ได้ข้อมูลแล้วทิ้งไป
ถามคุณครูก็ต้องหาความรู้คู่ขนานล้ำหน้านักเรียน?
ตอบจะวางเป้าหรือ Step ต่อไปไม่ได้ หรือจะมองพัฒนาการเขาต่อไปไม่ได้ ถ้าเรารู้เกินเขาเราจะวางพัฒนาการเขาได้ แต่บางครั้งเขาก็มาทำให้เราเกิดไอเดียว่า Step ต่อไปควรไปอย่างนี้ ตอนแรกที่เด็กลงพื้นที่พอไปหาพื้นที่เสร็จ วิธีการปลูกของแต่ละหมู่บ้านไม่เหมือนกัน ทำไมกัญชงมันถึงขึ้นและเติบโตดีไม่ดีอย่างไร แต่ละอันพอเกิดประเด็นคำถามก็เกิดเป็นแบบสอบถาม ที่เราต้องไปเก็บข้อมูลเด็กจะได้แบบสอบถามลงพื้นที่วิจัยรอบแรก
ลงพื้นที่วิจัยครั้งที่ 2 เพื่อไปดูกระบวนการจนได้ข้อมูลรอบที่ 2 มาว่าเด็กทำไม่เป็น ข้อมูลการวิจัยรอบที่ 2 สรุปว่าเด็กทำไม่เป็น ผมมีคำถามต่อไปว่าทำไมเด็กถึงทำไม่เป็น ในวงการการศึกษาบอกว่าสาเหตุที่ทำไม่เป็นเพราะว่าไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียน หลายคนบอกว่าทำไม่เป็นเพราะไม่มีคนสอนไม่ใช่ เช่น คนขับรถถ้าเขาไม่มีความคิดว่าเขาอยากจะขับรถ เขาไม่มีทางขับรถเป็น แต่ถ้าเขาอยากขับรถเป็นเขาก็เรียนขับรถแป๊บเดียวเขาจะขับรถเป็น เพราะฉะนั้นคนทำไม่เป็นอยู่ที่ไม่มีแรงจูงใจ ทำไมถึงไม่มีแรงจูงใจ เพราะเขามองไม่เห็นประโยชน์ มันไม่ได้เป็นสาระสำคัญในชีวิตเขาไม่มีประโยชน์ในชีวิตเขา ทำอย่างไรให้เขาได้ประโยชน์ต้องพูดถึงอนาคตเรื่องผลตอบแทน
ผมศึกษาแม้กระทั่งว่าคนที่นี่มองอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คนที่นี่มองผลตอบแทน เด็กมาทำงานทุกครั้งเด็กต้องได้ผลตอบแทน เด็กร่วมกันทำเขียนลายกัญชง ลายเขียนเทียน ได้เงินเราต้องได้ product ออกมา โรงเรียนพยายามให้เด็กลองทำ เด็กกลุ่มนี้เคยทำมากกว่าที่ไปบอกในโครงการ เด็กกลุ่มนี้เคยเขียนเทียนกันมาเรียบร้อยแล้ว เคยปักลายม้งกันมาเรียบร้อยแล้ว เคยเอาเส้นใยกัญชงทำสร้อยข้อมือเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีผลลัพธ์ออกมา เด็กจึงไปนำเสนอได้แค่ส่วนหนึ่ง
เขาจะได้มองว่าทำอย่างไรให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งผลลัพธ์ของผมตอนนี้คือมองข้ามสเต็ปไปว่าไปจูงใจก่อน เราได้ข้อมูลแล้วเราจูงใจทำให้มันเป็นสินค้าให้ได้ แต่สินค้าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับโรงเรียน ต้องดึงความร่วมมือของฝ่ายอื่นเข้ามาช่วยเข้ามาคิด โรงเรียนและผมไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ว่าจะขายอย่างไรชิ้นงานกับสินค้าไม่เหมือนกันในความคิดผม ผลิตของกับขายของกับการตลาดก็ไม่เหมือนกัน
ผมพยายามมองหาและโชคดีเจอหนึ่งในผู้ประกอบการของพื้นที่นี้ และเขาโอเคที่จะให้คำปรึกษากับโปรเจคเรา แต่เพราะเขาเป็นผู้ประกอบการ เคยทำสำเร็จมาก่อนธุรกิจสวนส้มประสบความสำเร็จเป็นพันไร่ ถือว่าเป็นความโชคดีต่อไปที่อยากจะวางให้กับโครงการนี้
ความจริงผมไม่รู้ว่าโครงการจะสนับสนุนต่อหรืออย่างไร ความคิดผมก็คือประเมินบนความจริงพยายามดันต่อให้ได้ อยากเห็นภาพวันหนึ่งถ้าเรามีผลิตภัณฑ์อยู่หน้าโรงเรียน เรามีสินค้าที่เกิดจากเด็ก จูงใจเด็กวันนึงมีเด็กที่บอกว่าครูขาหนูอยากไปเรียน ทอวัสดุ หนูอยากมาขึ้นเส้นใยกัญชงเพราะปัจจุบันนี้ขึ้นเส้นใหญ่ด้วยมือ คนเลยไม่ทำเรื่องพวกนี้ เด็กสามารถศึกษาและทำเป็นเรื่องเป็นราวได้อลังการมาก ถ้าเด็กจะไปทำต่อ
ผมมองว่านี่คือโอกาสของพวกเขา แต่อย่างที่บอกเรามีหน้าที่แสดงให้เขาเห็นโอกาสเขาไม่ได้มองหาเอง เขาจะมองหาเองต่อเมื่อเขารู้ว่า มันมีโอกาสอย่างนี้อยู่นะ เขาจะเริ่มมองหา เขาจะเริ่มหารายละเอียด หน้าที่เราไม่ได้ลงไปทำ เราไม่ได้พยายามทำให้ แต่เราต้องพยายามเรียนรู้เยอะๆ ทุกวันนี้ยังต้องคุยกับคนอื่น อยู่ยังต้องสร้างเครือข่ายสร้างเน็ตเวิร์คอยู่ อีก 1 Step ต่อมาไอเดียอาจจะเรียงสลับโครงการ ไม่รู้ว่าโครงการจะไปถึงไหนแต่ต้องดันโครงการ ถ้าผมยังอยู่
ถาม น่าสนใจมากถ้าทำและสร้างรายได้ก็เป็นสุดยอดของ Process ได้กลับคืนมาเป็นค่าตอบแทนกำไร?
ตอบ เด็กได้ทำและได้แรงจูงใจที่ดีที่สุด ถ้าผมจะบอกว่าค่าตอบแทนเป็นสิ่งที่คนที่นี่มองไหม ตอบว่าใช่สำคัญที่สุด สำคัญมากกว่าความภาคภูมิใจ เพราะว่าเงินจะเป็นตัวทำให้เขาภาคภูมิใจได้รับความชื่นชม อย่างหนึ่งเขาจะไม่รู้สึกภาคภูมิใจอย่างเดียว ผมต้องจับประเด็นให้ได้ว่าคนที่นี่อะไรจูงใจ ต้องคุยเยอะสังเกตเยอะ ไม่รู้ว่าวิเคราะห์ถูกหรือผิดแต่ถ้าผมตั้งโจทย์ บอกว่าทำกัญชงให้เป็นอาชีพแค่พูดคำนี้ เด็กถามครูอาชีพนี้คือหาเลี้ยงครอบครัวได้ใช่ไหม
มีเด็กคนนึงพ่อแม่บังคับให้เรียนครูเขาบอกว่าหนูอยากเรียนอาชีวะ หรืออยากรู้ว่าจะขายของอย่างไร เพราะผมเคยเล่าให้เขาฟังว่าในอนาคตคนขายของที่ตลาดจะเจ้ง เพราะปัจจุบันนี้คนขายของออนไลน์ ตลาดออนไลน์รายใหญ่มาก ถ้าเราทำการตลาดเก่งลูกค้าเราไม่ใช่แค่ Thailand ลูกค้าของเราคือ World ลูกค้าของเราคือโลกทั้งใบดาวดวงนี้ สงสัยว่าทำไมเด็กถึงอยากไปเรียน ปวส. แสดงว่าเขาเข้าใจไอเดียผม ถ้าไปเรียนครู หนูไม่มาตรงนี้ เด็กไม่พูดถึงการเรียน ป.ตรี เด็กอยากเรียนการตลาดอยากเรียนบัญชี มองว่าเพื่อเอามาทำอาชีพ เด็กพูดอย่างนี้ได้แสดงว่าเด็กชัดเจนเข้าใจ เรื่องพวกนี้ผมเชื่อว่าเด็กไม่น่าจะมีมุมมองมาก่อนจากพ่อแม่
ถามต้องเรียนให้ตอบโจทย์ตัวเอง?
ตอบใช่ครับผมเล่าให้ฟังก่อน ผมบอกว่าหนูอย่าเพิ่งปฏิเสธสิ่งที่ครอบครัวหนูบอก หนูมองทั้งสองมุมมันอาจจะดีกับหนูก็ได้ เพราะครอบครัวอาจจะรู้จักตัวตนหนู ผมไม่ชอบ No Man ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ทำ ผมชอบ Think Man คิดก่อนจะทำหรือไม่ทำ พอฟังปุ๊บไม่ใช่พูดว่าไม่รอด ถ้า Think Man คิดแตกต่าง เราต้องสร้าง Think Man ให้เกิด
ถาม ให้ครูช่วยสรุปว่าในการเป็นพี่เลี้ยงที่ผ่านมาของครูในโครงการนี้มีบทเรียนสำคัญอะไรบ้าง?
ตอบ เกือบทุกอย่างที่พูดมา เกิดการเรียนรู้กับเด็กกลุ่มนี้ด้วยว่าฟังให้เยอะขึ้นก็เกิดการเรียนรู้ คำว่าอุตสาหะ คำนี้ก็เกิดจากเด็กกลุ่มนี้ คำที่ผมพยายามสอนเด็กว่า ถ้าหนูไม่พยายามเลยพระเจ้าก็ไม่ช่วยหนูก็ไม่ช่วย คำนี้เกิดกับเด็กกลุ่มนี้ ผมรู้สึกว่ามันใช้กับตัวผมได้ ผมจะไปขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการ ผมต้องเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อม เพื่อไปคุยกับเขาจะได้หรือไม่ ผมได้พยายามแล้ว ถ้าเขาไม่สนใจผมก็ไม่เสียใจ กับผมเดินไปคุยกับเขาอย่างเดียวไม่มีข้อมูล ไม่มีอะไรให้เขาดูเขาคงไม่เชื่อ ผมก็จะเสียใจทีหลังว่า ทำไมผมไม่เตรียมไม่ทำให้ดี อุตสาหะช่วยเหลือตัวเองก่อนที่ใครจะมาช่วย เทพเจ้าก็ไม่ช่วยเรา ได้เรียนรู้จากโครงการนี้จริงๆ เด็กเป็นตัวทำให้รู้ เอามาใช้กับตัวเองด้วย ถ้าผมไม่พยายามก็ไม่มีใครมาช่วยผมเหมือนกัน ผมเคยได้ยิน คนญี่ปุ่นพูดประโยคหนึ่งขอบคุณที่ทำงานหนักมากพอ ชัดเจนนะครับถ้าทำงานหนักไม่มากพอก็ไม่ต้องขอบคุณด้วย ขอบคุณที่ทำงานหนักมากพอผมชอบคำนี้
ถามคุณครูอยากจะพัฒนาอะไรบ้างที่จำเป็นสำหรับการทำหน้าที่โคช?
ตอบผมมองว่าเป็นทักษะที่ผมขาด คือ ทักษะการตลาด ไม่มีทักษะการสร้างสินค้า ไม่มีทักษะการหาเงินทุนทักษะการทำบัญชีก็ยังไม่มี มองว่าทุกอย่างถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้ ต้องมองภาพรวม ถ้าเราทำพวกนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ มีโอกาสที่จะชี้เป้าของเราได้ว่าอนุรักษ์มันไว้ได้ คำว่าอนุรักษ์ประโยคนี้ผมต้องบอกว่าความรักไม่ได้เกิดจากผม มันอาจจะดูเว่อร์ คนสอนให้ผมทำกัญชงชื่อว่า แม่เมาะ เมื่อปี 2548 แม่เมาะเคยเข้าเฝ้าสมเด็จราชินีรัชกาลที่ 9 พระพันปี สมเด็จฯ ตรัสว่า “สอนให้ลูกหลานทำด้วย” ท่านมองออกก่อนเรา ผมอาจจะถอดคำได้ไม่ครบ แต่ประโยคนี้ลงหนังสือมีในหนังสือมีอินเทอร์เน็ต ผมได้ยินจากคนที่ได้ยินมาจากหู ผมก็เลยอินมากกว่าคนอื่น
ถามที่คุณครูอยากจะพัฒนาพูดว่าทักษะการเป็นผู้ประกอบการไหม?
ตอบอยากใช้คำว่าทักษะการสร้างผู้ประกอบการมากกว่า เพราะตัวผมมองว่า เป็นปฏิมากรเป็นคนปั้นแต่ อยากปั้นตามใจคนที่อยากให้ปั้น ผมไม่อยากปั้นตามใจผม เราต้องรู้ให้มากพอจะปั้นได้หลายๆ แบบครับ
ถามขอบคุณมากๆ ที่ช่วยสร้างน้องๆ ให้เป็น Active citizen พลเมืองก็ต้องถูกสร้างแบบนี้ คิดตั้งคำถามเจอปัญหาใช้ทักษะ
ตอบผมมีไอเดียนี้มาก่อนที่ผมจะมาเป็นครูก็คือ World Citizen คุณเป็นพลโลกคุณต้องคิดต่อโลกใบนี้ คุณห้ามคิดว่าคุณเป็นแค่คนในพื้นที่นี้ คุณจะคิดได้กว้างอันนี้ ยังไม่ได้ถ่ายทอดไปถึงเด็ก ผมอยากให้เด็กมองกว้าง คำว่า World citizen มีความหมายคุณคือพลโลก คุณไม่ใช่คนเกิดมาที่นี่แล้วตายที่นี่อย่างเดียวครับ