นางสาวพีระดา โปสู่ แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตรัง
นางสาวพีระดา โปสู่ หรือพี ปัจจุบันอายุ 18 ปี กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ พีเป็นแกนนำเยาวชน โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดตรัง ด้วยความทีพีเป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมเลยได้เข้ามาทำโครงการ Active Citizen ร่วมกับเพื่อน ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โครงการที่พีและเพื่อน ๆ ทำก็คือ โครงการโกงกางสานรัก บ้านมดตะนอย อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง พีเล่าให้ฟังถึงเหตุผลของการทำโครงการนี้ว่า ‘คนในชุมชนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของป่าโกงกาง พวกเราก็เลยมีความสนใจที่จะอนุรักษ์ป่าตรงนี้ไว้ เพราะป่าโกงกางเป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหากินของคน และก็ยังช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำเล็ก ๆ ให้มันมีความเจริญเติบโตขึ้น เราเลยไม่อยากให้ป่าหายไป’
พีเล่าต่อว่าในการทำโครงนี้ ตนเองมีความคาดหวังเล็ก ๆ ว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือว่าผู้ใหญ่ในชุมชนทุกคนจะเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และอยากที่จะช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรนี้ไว้ไม่ให้มันสูญหายไป
ซึ่งระหว่างการทำโครงการ พีก็ได้พบกับปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของการลงพื้นที่ไปสำรวจต้นโกงกาง ด้วยความที่ตนเองและเพื่อน ๆ ยังมีความรู้ยังไม่มากพอ เวลาที่เจอต้นโกงกางที่มีลักษณะแปลกจากที่ตนเองรู้จัก จึงทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่าต้นโกงกางที่พบนี้คือต้นโกงกางประเภทไหนและรายละเอียดเป็นอย่างไร แต่พีและเพื่อน ๆ ก็ไม่ย้อท้อ พยายามหาความรู้เพิ่มเติมจากการไปสอบถามผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับต้นโกงกาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปทำงานกันต่อ
หลังจากที่พี่และเพื่อน ๆ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับต้นโกงกางครบถ้วนแล้ว ก็ได้ร่วมกันสรุปข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้ไปสื่อสารให้กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้โครงการของพีเป็นที่รู้จัก และได้เชิญชวนให้คนในชุมชนรู้จักอนุรักษ์และรักษาป่าโกงกางไม่ให้หายไปตามที่พีและเพื่อน ๆ ตั้งใจไว้
พีเล่าต่อว่า ถ้าจะให้ประเมินว่าการทำโครงการนี้มันสำเร็จตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ พีตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า ‘ที่เห็นได้ชัด คือ คนหันมาเห็นความสำคัญของทรัพยากรในชุมชนมากขึ้น ลดการตัดต้นโกงกาง และยังช่วยระบบนิเวศได้มากขึ้นด้วย จากที่เมื่อก่อนอาจจะมีคนในหมู่บ้านที่ชอบทิ้งขยะและมันไปติดบริเวณป่าโกงกาง แต่ช่วงนี้ไม่มีเลย คนให้ความร่วมมือมากขึ้น’
ถึงแม้โครงการโกงกางสานรักจะจบไปแล้ว แต่ประสบการณ์ที่พีได้รับจากการทำโครงการก็มีมากมาย เรื่องแรกคือ การมีส่วนร่วมกับเพื่อน เวลาที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม พีจะต้องรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งทักษะนี้พีได้นำมาใช้กับชีวิตมหาวิทยาลัยของเธอด้วย เพราะเธอกำลังจะประกวดดาวเดือน ทำให้เธอต้องรับฟังความคิดของคนอื่น ไม่สามารถเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางได้ เรื่องที่สอง พีมีความรู้เกี่ยวกับต้นโกงกางมากขึ้น เรื่องที่สาม คือการมีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น กล้าที่จะนำเสนอในสิ่งที่ทำให้กับผู้อื่นได้รับรู้ และเรื่องสุดท้าย คือ การทำงานอย่างเป็นขั้นตอน เพราะจะต้องคิดวางแผนด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นว่าจะทำอะไรบ้าง และจะนำเสนออะไรเพื่อให้คนเข้าใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการทำโครงการอื่น ๆ ที่จะมีคุณครูคอยวางแผนให้ และให้ทำตามอย่างเดียว
สุดท้ายพีเล่าถึงแผนอนาคตให้ฟังว่า อยากทำงานเกี่ยวกับสายการบิน เพราะชอบภาษาและชอบที่จะสื่อสารกับผู้คน ส่วนความฝันด้านงานพัฒนาชุมชน พีบอกว่า เนื่องจากชุมชนของตนเองมีทรัพยากรดี ๆ เยอะแยะมากมาย ในอนาคตถ้ามีโอกาสตนจึงอยากที่จะรวมกลุ่มคน เพื่อพัฒนาบ้านมดตะนอยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และอยากทำให้บ้านมดตะนอยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น