นางสาวอุทัยวรรณ เหมสะอาด แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตาก
- ออกเดินทางจากบ้าน สู่โลกใหม่ที่สอนให้รู้จักวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ถั่วงอก หรือ อุทัยวรรณ เหมสะอาด พื้นเพเดิมของเธอเป็นคนจังหวัดนครปฐม แต่ต้องเดินทางไกลมาเรียนถึงจังหวัดตาก เพราะเอกที่เธอเรียนเป็นเอกที่ศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม มีการเรียนแบบลงพื้นที่ ลงชุมชน อยู่ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด
เหตุผลของการเลือกที่จะออกจากบ้าน แล้วมาเรียนในถิ่นไกลแบบนี้ ถั่วงอกเล่าให้ฟังว่า ‘ตอนอยู่มัธยมหนูรู้สึกว่าเราอยากทำงานที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบ ถ้าเป็นราชการ อันนี้เรารู้สึกว่าไม่ใช่ ถึงแม้จะช่วยคนได้ก็จริง แต่มันต้องอยู่ในกรอบที่ถูกวางเอาไว้ บนระเบียบต่าง ๆ ประมาณนี้ แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากทำแค่นั้นนะเราอยากทำงานที่มันสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เยอะ แต่พอมาเจอวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยที่มีการเรียนแบบ Block Course เข้าพื้นที่เข้าชุมชน เราก็คิดว่าโอเคสำหรับเรา และพอมาเลือกการจัดการวัฒนธรรม เราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนเมือง เป็นคนพื้นราบ ยังไม่รู้จักชาติพันธุ์ ไม่รู้จักเลยว่ากระเหรี่ยงหรือม้งเป็นยังไง ซึ่งข้อมูลมีประชาสัมพันธ์ในเว็บเด็กดี มันก็ทำให้เราสนใจและก็ลองไปสอบ ซึ่งก็ติด’
หลังจากที่ถั่วงอกสอบติดคณะที่ตัวเองอยากเรียนแล้ว การเปิดโลกใหม่ที่ตัวเองสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมก็ได้เริ่มต้นขึ้น ถั่วงอกได้เล่าให้เราฟังเพิ่มเติมถึงความรู้สึกของเธอตอนที่เข้าเรียน ‘พอเริ่มเข้าเรียนเราก็เลยรู้สึกว่ามันน่าจะตอบโจทย์เพราะว่ามันได้ทำกิจกรรมที่มหาลัยเยอะในส่วนของคณะก็มีการเข้าพื้นที่ ยิ่งมาอยู่แม่สอดเราได้เจอกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายและได้เรียนรู้ด้วยแล้วเราไปอยู่ที่นั่นได้อยู่กับคนรอบข้างเรา อย่างเช่น อาจารย์ชิหรือว่าอาจารย์ต่าง ๆ ในมหาลัย ที่เขาทำงานเพื่อสังคม ขับเคลื่อนเรื่องของสังคมด้วยเหมือนกัน’ ขณะฟังถั่วงอกเล่า ทำให้เห็นภาพว่าเธอได้ค้นพบโลกที่เธออยากศึกษา และการได้มาเจอกับคนที่มีแพชชั่นเหมือน ๆ กัน ทำให้ถั่วงอกรู้สึกว่าตัวเองมา ‘ถูกที่’ คล้ายได้มาพบกับ ‘บ้านใหม่’ ของเธอเอง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นแกนนำเยาวชนในโครงการ Active Citizen ในโครงการดอกไม้เพื่อความมั่นคงทางอาหารในบ้านห้วยน้ำนัก จังหวัดตาก
- ·จากแพชชั่นสู่โครงการ Active Citizen ‘อยากให้เด็กๆ รักบ้านเกิด’
‘ก่อนที่เราจะเข้ามาในโครงการนี้เราได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งเราก็ได้ไปในพื้นที่ห้วยน้ำนักมา แล้วเหมือนก่อนหน้านี้หมู่บ้านน่าจะมีปัญหาในเรื่องของพื้นที่อุทยาน ที่เขาจะเอาพื้นที่ตรงหมู่บ้านห้วยน้ำนักไปเป็นพื้นที่อุทยาน ซึ่งในพื้นที่นั้นมีดอกไม้ มีอาหารที่กลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงเขาสามารถที่จะขึ้นเขาลูกนั้นเพื่อไปเก็บของมากินและใช้ดำเนินชีวิตได้ ตอนแรกที่เราเรียน เราก็ทำเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าทำเป็นเกี่ยวกับค่ายเด็กๆ ให้รู้จักรักบ้านตัวเอง แต่พอมาเข้าโครงการ Active มันก็เลยเหมือนสอดคล้องไปเลยที่ว่ามันมีปัญหาอยู่แล้วในเรื่องของพื้นที่นั้น ก็เลยเลือกทำที่นี่ เพราะว่าอย่างน้อยการทำงานตรงนี้ สามารถสร้างเด็กในพื้นที่ให้สามารถรู้จักบ้านตัวเองได้ และถ้ามีปัญหาเด็กสามารถลุกขึ้นมาช่วยบ้านตัวเองได้’ ถั่วงอกเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นแกนนำเยาวชนในโครงการ Active Citizen ที่อยากส่งเสริมให้เด็กรักบ้านเกิด ซึ่งตอนนั้นกลุ่มของถั่วงอกทำโครงการที่มีชื่อว่า โครงการดอกไม้เพื่อความมั่นคงทางอาหารในบ้านห้วยน้ำนัก จังหวัดตาก และด้วยความที่ถั่วงอกมีพื้นฐานความรู้เรื่องของการทำวิจัย ได้เรียนรู้เครื่องมือในการทำวิจัยจากอาจารย์ชิมาบ้าง ทำให้ถั่วงอกได้นำความรู้เรื่องวิจัยที่ตัวเองมี มาเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันให้กับชาวบ้านในห้วยน้ำนัก ซึ่งถั่วงอกได้ขยายความเพิ่มเติมว่า ‘ก่อนที่จะทำโครงการ เด็กๆ ก็รู้นะว่ามีปัญหาตรงนี้ เด็กๆก็รักพื้นที่นี้ พออาจารย์ชิแนะนำว่าเราควรที่จะทำโครงการนี้นะเพราะว่ามันมีปัญหาแบบนี้ และชาวบ้านก็อยากได้ข้อมูลงานวิจัยจากเรา ที่รองรับว่า ดอกไม้ที่อยู่ในพื้นที่นี้สามารถที่จะทำประโยชน์ได้ เป็นอาหารได้ เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ได้ด้วย แล้วอีกอย่างดอกไม้พวกนี้ ชาวบ้านสามารถที่จะนำไปค้าขายทำให้มีอาชีพได้ เราก็เลยเลือกทำงานตรงนี้’
เป็นจังหวะที่ค่อนข้างลงล็อกไปด้วยกันระหว่างการทำโครงการ Active Citizen และการทำวิจัยของถั่วงอกในตอนเรียนหนังสืออยู่ แต่ทว่าในระหว่างของการทำโครงการนั้น ถั่วงอกก็ได้พบเจออุปสรรคในบทบาทของการเป็นแกนนำเยาวชนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษาที่ใช้ ถั่วงอกเล่าให้ฟังว่า ‘ภาษาเป็นเรื่องที่ยากมากเพราะเราไม่ใช่คนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เด็กๆในกลุ่มเป็นเด็กชาติพันธุ์หมดเลย เป็นปกาเกอะญอหมด แต่เราเป็นคนไทยคนเดียว ซึ่งเราก็ต้องมีคนแปลให้เราด้วย เวลาเราเก็บข้อมูลจะยากมาก แล้วเวลาการเรียบเรียงการทำรายงานเราต้องเป็นคนทำ เพราะน้องๆ ก็ยังเด็กๆ อยู่แต่ว่าน้องๆ ก็ช่วยในส่วนของข้อมูล เพราะภาษากระเหรี่ยงพูดอีกแบบ แต่ภาษาไทยแปลออกมาอีกแบบนึง’ และอีกเรื่อง คือการลงพื้นที่ในชุมชน ที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ในตอนกลางวัน เพราะชาวบ้านจะต้องทำมาหากินกัน ถั่วงอกจึงแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนไปลงพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้านในช่วงเย็นแทน
ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้างในทำงานโครงการต่าง ๆ แต่ถั่วงอกก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ดี ๆ จากการได้ทำโครงการเหมือนกัน เช่น การได้มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเยาวชน เป็นความรู้สึกที่สนุก เพราะเมื่อเรียนจบ และได้มาทำงานท่ามกลางผู้ใหญ่ ทำให้ถั่วงอกรู้สึกคิดถึงการทำงานกับเด็ก ๆ ได้เห็นเขาเติบโต รวมตัวกันและเป็นกำลังหลักของหมู่บ้านได้ มันเลยเป็นความภาคภูมิใจ และอีกเรื่องคือ การที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งเรื่องภาษา วิถีชีวิต และศาสนา
- สานต่อความฝัน ขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็ก สู่การทำงานเชิงนโยบายด้านการศึกษาเพื่อเด็กชาติพันธุ์
ปัจจุบันถั่วงอกทำงานอยู่ที่ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ที่ถั่วงอกเคยมาฝึกงานเกี่ยวกับแนวทางการสอนสำหรับเด็กชาติพันธุ์ที่ใช้ทั้ง 2 ภาษา ซึ่งต้องอบรมคุณครูที่จะนำวิธีการไปสอนแก่เด็กๆแล้วก็มีการทำสื่อต่างๆเพื่อที่จะให้เด็กๆได้เรียนแล้ว และเชื่อมโยงมาสู่งานการขับเคลื่อนชุมชนและผู้บริหารของระดับนโยบาย ซึ่งถั่วงอกขยายความเพิ่มว่า ‘ในส่วนของระดับนโยบายมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์การทำวิธีการสอนแบบให้กับเด็กๆ ต้องใช้ครูท้องถิ่นในหมู่บ้านจำนวนทั้งหมด 1 ชั้นต่อ 1 คนซึ่งเราทำถึง ป.3 อาจจะมีทั้งหมด 1 โรงเรียนมี 5 คนซึ่งเราเป็นส่วนที่มูลนิธิได้สนับสนุนครูท้องถิ่นเพื่อมาสอนเด็กๆในชั้นเรียนด้วย ทีนี้ในเรื่องของการจัดจ้างครูมูลนิธิฯ ช่วยมานานแล้ว 15 ปี ซึ่งรู้สึกว่า เราจะทำยังไงที่จะสามารถถอยออกมาโดยที่ไม่มีผลกระทบกับคุณครูกับโรงเรียนนั้น ซึ่งมันก็เลยต้องมีการขับเคลื่อนในเรื่องของระดับนโยบายด้วยว่า ในการเรียกร้องให้รัฐบาลมาเห็นในส่วนของการพัฒนาเด็กชาติพันธุ์และครูบนดอยหรือดูข้อปลดล๊อคต่างๆ ให้กับคุณครู เช่น การบรรจุคุณครูขึ้นไปบนดอย ซึ่งตอนนี้บนดอยแต่ละที่ก็ขาดคุณครูเยอะ ขาดผู้บริหารเยอะมาก และเราก็ต้องทำการขับเคลื่อนในส่วนนี้ด้วย’
นอกเหนือจากการทำงานขับเคลื่อนด้านการศึกษาแล้ว ถั่วงอกยังมีแพชชั่นอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับการทำงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน เช่น อยากเป็นนักเขียน ที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ สิ่งที่ได้ค้นพบจากการทำงานกับคุณครู และโรงเรียนหลายแห่งที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน และยังคงไม่ลืม ‘ฝัน’ ที่อยากจะทำงานสร้างเยาวชนในรูปแบบของตัวเอง โดยถั่วงอกเล่าว่า‘เรารู้สึกว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่องเรียน และมีปัญหาหลายๆ อย่าง ซึ่งเราก็อยากตั้งศูนย์หรือไม่ก็มูลนิธิฯ ให้เด็กๆ มารวมตัวกันที่นี่ โดยมีเราคอยพัฒนาให้เด็กแต่ละคนดีขึ้น ก็อยากที่จะทำตรงนี้อยู่ค่ะ’ ถั่วงอกได้ทิ้งท้ายกับเรา