นายอภิชัย มันตาธรรม (นัท) อายุ 17 ปี
เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม
โครงการการออกแบบกิจกรรมในด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนปกาเกอะญอบ้านไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
ถามแนะนำชื่อจริง นามสกุล ชื่อเล่น อายุ แล้วก็ตอนนี้เรียนชั้นไหน ที่ไหน?
ตอบ ผมชื่อนายอภิชัย มันตาธรรม ชื่อเล่นนัท อายุ 17 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม
ถามทำโครงการชื่ออะไร?
ตอบ โครงการการออกแบบกิจกรรมในด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนปกาเกอะญอบ้านไร่เหนือ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก
ถามนัทเป็นคนป่าไร่เหนือไหม?
ตอบ ครับตั้งแต่เกิด
ถามที่บ้านป่าไร่เหนือมีภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ชนเผ่าที่อยู่เป็นใครบ้าง?
ตอบ หมู่บ้านของผมคือบ้านป่าไร่เหนือเป็นหมู่บ้านใหญ่ ชนเผ่าที่คือคนปกาเกอะญอ หมู่บ้านอยู่ใกล้ธรรมชาติติดแม่น้ำ เรียกว่าห้วยแม่จะเรา หมู่บ้านป่าไร่เหนือมี 2 โซน คือบ้านโจะปิและป่าไร่เหนือ
ถามใครมาชวนเราทำโครงการนี้?
ตอบ ก่อนทำโครงการได้เข้าอบรมของพี่ๆ หลายครั้ง พี่โจอี้ชวนมา พี่หอยติดต่อให้มาทำ
ถามพี่โจอี้กับพี่หอยเป็นคนป่าไร่เหนือเหมือนกัน?
ตอบ พี่หอยเป็นคนป่าไร่เหนือส่วนที่โจอี้เรียนที่โพธิฯ
ถามทำไมเราถึงตัดสินใจมาทำล่ะ?
ตอบ ตอนแรกผมก็ไม่รู้ว่าว่าเขาให้ทำอะไร เห็นว่าเกี่ยวกับหมู่บ้านก็มาร่วม
ถามพอได้ยินว่าทำเกี่ยวกับหมู่บ้านเลยเข้ามา?
ตอบ ครับ งานหมู่บ้านเขาบอกว่าทำเกี่ยวกับวัฒนธรรม
ถามเข้ามาร่วมตอนไหน?
ตอบ ผมมาตั้งแต่ครั้งแรกที่เสนอโครงการ
ถามเราเป็นส่วนหนึ่งในการคิดชื่อโครงการหรืออย่างไร?
ตอบ มาร่วมนำเสนอ กับพี่โจอี้ คิดกันวันนั้นว่าจะผ่านไหม?
ถามมีหัวข้อะไรบ้างตอนนั้นก่อนจะมาเป็นหัวข้อนี้ มีหลายหัวข้อไหม?
ตอบ ตอนนั้นเป็นหัวข้อแนววัฒนธรรม
ถามโครงการผ่านรู้สึกอย่างไรบ้าง?
ตอบ รู้สึกดีครับไม่คิดว่าเราทำได้ หัวข้อผ่าน ดีใจกับพี่โจอี้ ได้ทำโครงการเพราะปีสี่พี่เขาก็ต้องทำ และหมู่บ้านน่าจะได้รับประโยชน์
ถามเราทำหน้าที่อะไรในโครงการ?
ตอบ ผมอยู่ฝ่ายหาข้อมูลประสานงาน หาข้อมูลชุมชนช่วยประสานงานกับพี่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคือพี่หอย และเพื่อน ส่วนพี่โจอี้ช่วยประสานงานอยู่นี่ (โพธิฯ) ผมประสานงานกับเพื่อนและผู้ช่วยหอยเป็นตัวกลางนัดว่า พี่เขาจะลงมาเมื่อไร
ถามหาข้อมูลอะไรบ้าง?
ตอบ หาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาวัฒนธรรม ด้านการทอผ้าการจักสาน การเต้นและอาหาร ผมมีเพื่อนคือ โยนาและโบเก้ พากันไปหาข้อมูลจากคนแก่ ปราชญ์ การจักสาน เหลือปราชญ์สองคนในหมู่บ้านที่รู้ ส่วนการทอผ้า ทุกบ้านมีการทอผ้า
ถามเอกลักษณ์ของปกาเกอะญอคือ เรื่องอะไรบ้างที่เราคิดว่าเด่นจากการลงพื้นที่หาข้อมูล?
ตอบ ผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวการแต่งกาย
ถามเป็นอย่างไร?
ตอบ คิดว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สุด เมื่อก่อนการแต่งกายของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน จะใส่ชุดสีขาว “เชวา” เชวาจะยาวเลยมาถึงข้อเท้า ต้องรักนวลสวนตัว สีขาวแสดงความบริสุทธิ์ และสมัยนี้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว จะใส่สีดำเชมดดู่ มีลวดลายนิดหน่อยเพื่อความสวยงาม ผู้ชายตั้งแต่เด็กจนโตถึงแต่งงานจะใส่ชุดสีแดง พอแต่งงานจะเป็นใส่กางเกง แทกอวอ
ถามประทับใจอะไรบ้างในการเก็บข้อมูล?
ตอบ ประทับใจที่ตายายให้ความร่วมมือ เขาดีใจที่มีเด็กอย่างพวกเราสืบทอดไปหาข้อมูล เขาอยากให้เด็กเข้าไปศึกษาเพราะเขาแก่แล้ว ไม่มีใครทำอะไรพวกนี้ เขาดีใจให้ความร่วมมือ แต่พอถามนานๆ เขาเริ่มเหนื่อยเริ่มขี้เกียจตอบ
ถามเราเข้าไปทำอย่างไรบ้าง?
ตอบ สวัสดีทักทายทำความรู้จัก บอกว่าเรากำลังมาทำอะไร บอกเป้าหมาย จะทำอะไรก่อน จากนั้นสอบถามเขาและจดบันทึก
ถามใครเป็นคนคิดคำถาม?
ตอบตอนนั้นผมถามกับพี่โจอี้ พี่ภู และโยนา ใครคิดออกก็ถาม
ถาม ถามสดเลยเหรอ?
ตอบ ถามสดแล้วก็อัดเสียงไว้
ถามเรารู้ใช่ไหมว่าเราต้องถามอะไรบ้าง?
ตอบ รู้ครับ ถามต่อจากคำตอบที่เขาตอบ
ถามตอนลงเก็บข้อมูลไปกี่คน?
ตอบ ถ้าพี่โจอี้ไม่ว่างมา ผมกับโยนาก็ไปหาข้อมูลด้วยกัน
ถามใช้เวลานานไหมในการเก็บข้อมูล?
ตอบ นานเดือนกว่า เรามีเรียนใช้เวลาว่างหาข้อมูล ถ้าไม่ติดกิจกรรมที่โรงเรียน หลังเลิกเรียนไปหาข้อมูล เขียนลงกระดาษฟริบชาร์ตเก็บไว้ ตามที่พี่บอกให้จดบันทึกไว้
ถามเอาข้อมูลมาทำอะไรต่อหลังจากนั้น?
ตอบ มารวบรวมไว้เป็นข้อมูลของแต่ละเรื่อง หัวข้อที่เราจะจัดแสดงทางวัฒนธรรม
ถามนอกจากข้อมูลมีงานอะไรบ้างที่เราคิดไว้ นอกจากตัวหนังสือ?
ตอบ มีรูปถ่ายและของจริง ทั้งการทอผ้า เสื้อปกาเกอะญอ งานจักสาน รูปจักสานตะกร้า เรียกว่า กือ กระด้ง มีของจริงมาให้ดู การละเล่น เช่น ปืนไม้ไผ่ หน้าไม้ ขาหยั่ง ลูกสะบ้า
ถามของเล่นพวกนี้เราเคยเล่นไหมตอนเด็ก?
ตอบ เคยเล่นมากกว่านี้ ตอนเด็กมีหลายอย่าง จำไม่ได้
ถามแล้วตอนปัจจุบันหายไปเหรอ?
ตอบ หายไปเพราะเทคโนโลยีเข้ามา เด็กตั้งแต่ประถมเริ่มเล่นโทรศัพท์ แต่รุ่นผมตอนอนุบาล ป.1 ยังเล่นการละเล่น หมากเก็บ กระโดดเชือก ลูกข่าง พ่อทำของเล่นจากไม้ให้ผม กระโดดแม่โดดตารางสี่เหลี่ยมบนพื้นดิน มีหลายอย่าง เพิ่งมารู้จักการเล่นโทรศัพท์ช่วง ม.ต้น ม.2-3 ถึงจะเล่นโทรศัทพ์ได้จับโทรศัพท์
ถามความรู้สึกระหว่างของเล่น การละเล่นกับเล่นมือถือต่างกันอย่างไร?
ตอบ เล่นแบบนี้เล่นกับเพื่อนได้เจอเพื่อนและสนุก ถ้าเล่นมือถืออยู่แต่ในห้องคนเดียว ไม่ได้ออกสู่โลกภายนอก ถ้าเล่นกับเพื่อนอยู่ตรงนี้ก็เล่นได้ อยู่ตรงนู้นเราก็เล่นได้ ไปอยู่บ้านเขาเราก็เล่นได้ เล่นข้างล่างใต้ถุนบ้าน พ่อแม่มองเห็นอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง
ถามเห็นปัญหาอะไรไหม เด็กสมัยนี้ ป.1 ก็เล่นมือถือแล้ว พอเราเก็บข้อมูลเรื่องของเล่นด้วยเราก็เห็นว่าปัจจุบันเด็กก็เล่นมือถือด้วย เล่นแบบนี้สนุกกว่าได้แรงบันดาลใจที่อยากให้การเล่นยังอยู่?
ตอบ เด็กยิ่งเล่นโทรศัทพ์มีทัศนคติไม่ค่อยสนใจอะไร โลกส่วนตัวสูง เวลามาอะไรก็ไม่เอา เป็นปัญหาคือเวลาเราชวนเขาไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยอยากทำ เราโตขึ้นกว่าหน่อยรู้ว่าแบบนี้ รู้ถ้าเราทำได้หลายอย่างเป็นการอนุรักษ์ การละเล่นสนุกจริงๆ
ถามได้อนุรักษ์ ได้ปฏิสัมพันธ์เพื่อนด้วย?
ตอบ ออกกำลังกายด้วยการวิ่งไล่จับ แค่มีต้นไม้ก็วิ่งไล่จับได้แล้ว เล่นกระต่ายขาเดียว ปีน กระท่อมหลังเดียวก็เล่นได้ หลับตาปีนขึ้นไปให้เพื่อนไล่จับเดาว่าใครเป็นใคร มีวิ่งไล่โดเรม่อนหยุด วิ่งแล้วก็หยุดแข็งไว้หรือวิ่งแปะแข็ง วิ่งไล่ ตำรวจ จับโจร เมื่อก่อน ตอน ป. 4 ฮิตมากเลย ทั่วโรงเรียนเล่น คนเล่นเป็นโจรจะวิ่ง ตำรวจจับใครได้ก็เอามาเก็บไว้ คิดถึงบรรยากาศตอนนั้น คนยุคนั้นสนิทกันมาก ตอนเด็กสนุกจริงๆ เล่นขุดดินยังสนุกเลย
ถามเป้าหมายของโครงการของเราคืออะไร?
ตอบ โครงการออกแบบกิจกรรมในลานวัฒนธรรม ออกแบบรวบรวมกิจกรรม วัฒนธรรมที่อยู่ข้างนอกเอามารวมไว้ในจุดเดียว ตรงลานวัฒนธรรมของเรา เพื่อให้คนเวลาเข้ามาศึกษา ศูนย์การเรียนรู้จะได้เห็นจุดเดียวง่ายต่อการศึกษา
ถามถ้าให้เลือก สมมติพี่ได้ไปตรงลานวัฒนธรรม พื้นที่การเรียนรู้ของเรา คิดว่าพี่จะได้เรียนรู้?
ตอบ คิดว่าน่าจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอ วัฒนธรรมการละเล่น วัฒนธรรมเกี่ยวกับบ้านในสมัยก่อนที่อนุรักษ์ไว้ และอาหารชนเผ่า
ถามวิธีการทำงานของกลุ่มเราเป็นอย่างไรบ้าง ได้โจทย์มา นอกจากการประสานงานเก็บข้อมูล?
ตอบ เริ่มตั้งแต่รวบรวมเยาวชน รวบรวมเพื่อน ส่วนใหญ่เรียนมัธยมปลาย มัธยมต้นมีบ้าง สิบกว่าคน แบ่งหน้าที่กัน ว่าคนนี้ทำอะไร เหมาะสมกับงานไหน ส่วนใหญ่ผู้ชายที่ไม่ค่อยมีหน้าที่ก็ให้ใช้แรง ผู้หญิงช่วยทำอาหารเตรียมน้ำ เตรียมผ้า เวลาที่จัดงานให้ผู้หญิงจัดผ้า ผู้หญิงทำได้ดี
ถามมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการทำงาน?
ตอบ มีปัญหาตั้งแต่รวบรวมเยาวชน กว่าจะรวบรวมได้นานมาก เขาไม่ค่อยสนใจเท่าไร พอเราชวนไม่ค่อยมีใจ แต่ก็ค่อยๆ มา ใช้ทักษะการพูดชวนจนเขาสนใจ ค่อยๆ เล่าเกี่ยวกับโครงการว่าดีอย่างไร มาเข้าโครงการแล้วดีต่อหมู่บ้านต่อตัวเราอย่างไร ได้อะไรบ้าง พูดแนวนี้ โน้มน้าวไปเรื่อยๆ จนเขามีใจโครงการน่าสนใจขึ้นมา เพื่อนรุ่นเดียวกันชวนมาบางคนก็มาไม่ได้ แข่งกีฬา ผู้ชายจะชวนผู้หญิงลำบากหน่อยแต่ถ้าเป็นผู้ชายจะชวนง่ายกว่า แต่ผู้หญิงก็มา
ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรอีกไหม ช่วงกลางเมื่อได้คนมาแล้วต้องจัดการลงพื้นที่?
ตอบ กำหนดเวลาที่จะไปหาข้อมูลยาก เพราะติดเรียนคาบ 8 เรียนถึงสี่โมงเย็นกว่า กลับถึงบ้านเวลาประมาณ 5 โมง บางวันมีกิจกรรมที่ต้องทำของสภานักเรียนเลิก ประมาณ 6 โมง กลับถึงบ้านค่ำไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไร ต้องติดต่อกันใน Chat ในกลุ่ม
ถามจัดสรรเวลากันอย่างไร?
ตอบ จัดเวลาคือหาเวลาว่างให้ได้ เช่น วันเสาร์ มีเวลาว่างเยอะ วันอาทิตย์ขึ้นโบถส์ วันเสาร์คนว่างคนสองสามคนก็แบ่งกันหาข้อมูล ใครไปหาตรงไหน พี่เขาสอนมีตอนแรก เตรียมประเด็นคำถามให้เรา ถาม ที่มา ประโยชน์ วัสดุอุปกรณ์ ขั้นตอน ที่ผมถามถ้าได้คำตอบ หมดคำถามก็ถือว่าครบ
ถามถ้าไม่ครบล่ะ?
ตอบ ก็ไปหาเพิ่ม
ถามชุมชนให้ความร่วมมือดีไหม?
ตอบ ดีครับ มีแม่ๆ พ่อๆ ให้ความร่วมมือดี เหลือแต่เยาวชน หมู่บ้านผมจะอยู่เฉพาะที่เรียนมัธยม คนโตไปเขาไปทำงานกันหมด อายุยี่สิบกว่าหายออกจากบ้านไปทำงานหมด
ถามเรารู้สึกอย่างไรกับประเด็นนี้?
ตอบ เขาออกไป เขาก็ไปเรื่อยๆ ที่กลับมาบ้านไม่มี หายไปช่วงเรียน จบ ม.6 ก็หายไป เขาจบมาปุ๊บก็ไปทำงาน เด็กที่โตขึ้นมาทำไม่ค่อยมี
ถามเขากลับมาช่วงไหน มีที่กลับมาอยู่ในหมู่บ้านไหม?
ตอบ กลับมาช่วงเทศกาล มีอยู่บ้านบ้างแต่เขาจะทำการเกษตรค่อยไม่สนใจกิจกรรม มีไม่กี่คนที่สนใจ
ถามตัวเราวางแผนไว้อย่างไรถ้าไปเรียนต่อ?
ตอบ ผมต้องเรียนต่อ ตอนนี้ดีที่สุดคือคอยปั้นน้อง สอนน้องให้มีความสนใจ มีคนสืบทอดจะได้ไม่หายไป
ถามมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง?
ตอบ แต่ก่อนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเลย อยู่บ้านไปเรียนกลับมาอยู่บ้าน ไม่ค่อยศึกษาเรื่องหมู่บ้าน ไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมหมู่บ้านเลย รู้บ้างเล็กน้อยไม่ลึกมาก ตอนแรกกล้าพูดบ้าง ยังไม่ดี กล้าๆ กลัว ครึ่งๆ กลางๆ พอเข้าโครงการได้เรื่องการวางแผน การทำงานมีลำดับขั้นตอน เรียงลำดับความสำคัญ มีความสนใจหาความรู้ประวัติของหมู่บ้าน วัฒนธรรมหมู่บ้านว่ามีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ที่ดี ความโดดเด่นของชนเผ่าเรา
ถามดูจากสถานการณ์ไหนที่กล้าแสดงออกมากขึ้น?
ตอบ ตั้งแต่เข้ามานำเสนองานที่เราเขียน มาร่วมกิจกรรมเริ่มกล้าพูดขึ้น เข้ากับเพื่อนได้ รู้วิธีจะอยู่กับเพื่อนอย่างไร อยู่กับเพื่อนควรทำอย่างไร เราควรจะเข้าหาเพื่อนอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด คุยกับเพื่อนอย่างไร เริ่มยิ้มเป็นหลัก ยิ้มแสดงความจริงใจ ค่อยๆ ทักทายเปิดอกคุยกัน ถ้าเป็นผู้ชายสบตาเข้าได้เลย ถ้าเป็นผู้หญิง ค่อยๆ ทำความรู้จัก
ถามถ้าพูดถึงทักษะได้เรื่องอะไรบ้าง?
ตอบ การวางแผน ทักษะการพูด การแบ่งเวลาและจัดสรรเวลา ความเป็นผู้นำ พี่โจอี้เขารับงานแสดงความเป็นผู้นำให้เราเห็น เราศึกษาไว้ว่าทำอย่างไร พอเราเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้หัวข้อมา เขายังไม่เริ่มเราก็บอกเขาก่อนว่าเป็นอย่างนี้ เราเป็นคนนำวง นำเพื่อนคุย ถ้าเราไม่พูด เขาก็มองหน้า เราก็นำไปเลย พอเรานำแต่ละคนเริ่มมีความคิดที่แตกต่างกันออกมา ความคิดสร้างสรรค์ค่อยทยอยออกมา ต้องมีคนนำก่อน คนอื่นก็ค่อยตามๆ
ถามเราก็ต้องจับใจความสำคัญ สรุป ด้วยไหม?
ตอบ มีครับบางคนก็พูดไม่เหมือนกัน เราก็ค่อยๆ ถามแต่ละคน ดีไหม ถามเขาจนได้ความ บางคนเข้าใจอีกแบบกว่าจะคุยกันรู้เรื่อง เราก็ต้องสรุปให้ด้วย
ถามคำว่าผู้นำที่ดีในความคิดเห็นของเราเป็นอย่างไร?
ตอบ ต้องฟังทุกคน ต้องเข้าใจทุกคน แต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกันค่อยๆ ฟังเขา ให้เกียรติแต่ละคน เพราะว่าแต่ละคนมีความคิดในแบบของตนเอง เพราะฉะนั้นในกลุ่มผู้นำต้องพูดให้ทุกคน เข้าใจร่วมกัน
ถามรับฟัง ให้เกียรติ ทุกความคิดเห็น เพราะทุกความคิดเห็นก็มีความหมายให้เข้าใจกันทุกคนให้ได้ ดีมากเลย ถ้าถามว่ามีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเราไหม เหตุการณ์ที่เปลี่ยนนัทเป็นคนใหม่หรือเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ตัวเราเปลี่ยนความเชื่อบางอย่างไปเลย?
ตอบ ตอนแรกเอะใจเรื่องที่จะเรียนต่อว่าเราทำถูก ทางพออาจารย์เอ็กส์บอกว่า ทำโครงการนี้ให้ดี ถ้าเราขึ้นมหาวิทยาลัยเราก็ต้องทำแบบนี้ พออาจารย์พูดเราก็เอะใจขึ้นมา ตอนแรกเราก็ทำไปเรื่อยๆ ทำตาม พออาจารย์บอกเราก็คิดเปลี่ยนความคิดตัวเองว่า การทำคือการฝึกฝนตัวเอง เราก็ได้ประสบการณ์ในการทำโครงการ
ถามพอเราทำแล้วได้หยุดมอง เปลี่ยนความคิดเราว่าเป็นโอกาสและประสบการณ์?
ตอบ ทัศนคติเปลี่ยนคือจากที่เราคิดว่าโครงการก็แค่ส่งมา เราก็ทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดถึงประสบการณ์ที่ออกมา ไม่คิดถึงอย่างอื่น แค่เราทำเกี่ยวกับหมู่บ้านเราก็ทำ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน พออาจารย์เขาทักตั้งแต่ช่วงแรกก็เปลี่ยนเลย ทำงานนี้เพื่อประสบการณ์
ถามประสบการณ์สำคัญสามข้อของเราคืออะไรบ้าง?
ตอบ ประสบการณ์การวางแผน การพูด การเข้าสังคม ทักษะการเข้าสังคมได้เยอะ เจอเพื่อนที่มาจากซูแมวคี ตอนแรกเราอยากจะฝึกภาษา ได้เข้าไปทักทายเขาภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาเราบ้าง ถามไถ่กัน เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากเขา รูปแบบโรงเรียนมีกี่คน มีครูกี่คน เขาสอนอะไรบ้าง มีครูฝรั่ง มีนักเรียนเยอะตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย
ถามทักษะการเข้าสังคมของเราทำให้เห็นโลกใบอื่น?
ตอบ ครับ กว้างขึ้น
ถามคิดว่าตัวที่เราหาข้อมูลที่ไปสอบถามมาเป็นประโยชน์อะไรกับชีวิตเรา?
ตอบ ความรู้พื้นฐานของหมู่บ้านของเราเมื่อก่อนเป็นอย่างไรบ้าง เช่น การจักสานเราเห็นเขาทำ ถ้าเราเรียนรู้เราก็ทำได้ ช่วยพ่อจักตอกช่วยพ่อทำเราก็ได้ฝึกทักษะ เห็นเขาทำก็ได้เรียนรู้ขั้นพื้นฐาน
ถามรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแม่มากขึ้นไหม?
ตอบ ใกล้ชิดพ่อแม่มากขึ้น
ถามพ่อแม่บอกว่าอย่างไรบ้างเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรา?
ตอบ แม่เป็นประธานกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน เห็นเรามีความสนใจต่อกิจกรรมพวกนี้มากขึ้น แม่ของผมก็ช่วยทำอาหาร เช่น ข้าวตำ นิโตปิ เวลามีกิจกรรม
ถามนัทคิดว่าที่เปลี่ยนเป็นคนที่จริงจังกับงานมากขึ้น เห็นว่าเป็นประสบการณ์จากที่ทำไปเรื่อยๆ รู้จักวางแผน กล้าพูด กล้าเข้าสังคมกับเพื่อน คิดว่าอะไรทำให้เราเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้?
ตอบ ความคิดที่อาจารย์เอกส์บอก คำพูดของผู้ช่วยบอกให้ “ลองทำสิ” เราก็ได้หลายอย่าง พอเราลงมือทำก็คิดเองบ้าง เขามาพูดกับเราก็ยิ่งทำให้มีแรงจูงใจกระตุ้นมากขึ้น
ถามในฐานะที่เราเป็นเยาวชนเราคิดว่า เยาวชนต้องมาทำอะไรแบบนี้ไหม?
ตอบ ผมคิดว่าดี ได้ฝึกตัวเองหลายอย่าง ทักษะการดำเนินชีวิต ประสบการณ์การเข้าสังคม
ถามมีเยาวชนที่ไม่กล้าทำกิจกรรมเราคิดว่าอย่างไร?
ตอบ ผมคิดว่าถ้าเขาได้ไปครั้งแรก ชวนครั้งแรกได้จะมีครั้งที่สองตามมา
ถามจุดเด่นของนัทคืออะไร จุดแข็งที่ยังไม่ไปไหนและยังทำโครงการนี้?
ตอบ ผมได้ประสบการณ์แล้วเราก็เติบโต จุดแข็งคือการได้เติบโต ฝึกความเป็นผู้นำ เชื่อมั่นว่าต้องมีอะไรดีขึ้นกว่านี้
ถามนี่คือจุดแข็งของเรา?
ตอบ กล้าที่จะลองทำ การที่เราได้ลงมือทำ ต้องมีอะไรออกมาแน่นอน
ถามในอนาคตวางแผนเรียนต่อด้านไหน?
ตอบ อยากเป็นครูที่หมู่บ้าน อยากทำให้เด็กในหมู่บ้าน จะค่อยๆ สอนปลุกใจ ผมอยู่โรงเรียนครูก็ปลุกใจ สอนการดำเนินชีวิต
ถามครูก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นครู?
ตอบ ครับ ครูคอยสอนให้เราตั้งใจเรียน หาความรู้หาประสบการณ์ อยากเป็นครูเพื่อผลักดันน้องๆ เพราะว่าน้องๆ ในหมู่บ้านไม่ค่อยสนใจ ให้เขาเห็นเราแล้วเกิดแรงจูงใจเขาก็จะพัฒนา
ถามมองกลับไปที่โครงการให้คะแนนตัวเองเท่าไร?
ตอบ 8 ครับ ต้องใช้เวลานานในการจัดสรรเวลาเก็บข้อมูล ถ้าแบ่งเวลาจัดเรียงให้ดีกว่านี้ สำหรับ 2 คะแนน เรารวมกันเฉพาะโครงการนี้ มีเพื่อนมัธยมที่ชักชวนกันมา และน้องประถมเป็นกลุ่มการแสดง เห็นแววน้องหลายคน กล้าพูดในการเป็นพิธีกร
ถามเราเห็นพัฒนาการของน้องรู้สึกอย่างไรบ้าง?
ตอบ ดีใจน้องเริ่มกล้าพูด ที่อายก็กล้าขึ้นมา กล้าเข้าสังคมมากขึ้น