เรื่อง : ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ : ธันวา ศิริโพธิโสรัตร์
- “คนชนเผ่าโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เค้าไม่อยากเป็นคนชนเผ่า เค้าอยากทิ้งสีของตัวเอง อยากทิ้งกลิ่น ทิ้งรส ทิ้งตัวเองไปเพื่อสร้างกลิ่นใหม่ให้ตัวเองมีกลิ่นไทย จะทำแบบนั้นได้เขาต้องปรับตัวขนานใหญ่ ในร้อยเปอร์เซ็นต์อาจมีคนทำได้ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นคนตกขอบโดยทันที แต่ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ ยังไงเขาก็ต้องสูญเสียหลายอย่าง ต้องลงทุนหลายอย่างเพื่อให้เป็นแบบนั้น”
- สวนสายรุ้งแห่งวัฒนธรรม งานที่จัดโดยเยาวชนชาติพันธ์ุจังหวัดตาก ต้องการสื่อสารว่าทุกคนมีสีของตัวเอง กลิ่นของตัวเอง รสชาติของตัวเอง ที่รุ้งสวยก็เพราะสีสันหลากหลายแต่ไม่กลืนกัน
- ถอดรหัสการออกแบบการเรียนรู้เบื้องหลังงาน ‘I-You-We’ คือขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้เบื้องหลัง ‘สวนสายรุ้งแห่งวัฒนธรรม’ ครั้งนี้
“ผมตั้งชื่องานว่า ‘สวนสายรุ้งแห่งวัฒนธรรม’ เพื่อให้เห็นว่า 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตากนั้น มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีสีสัน มีกลิ่น มีรสชาติ และหน้าตาของมันเอง รุ้งอาจไม่ได้มอบพลังงานเท่าแสงอาทิตย์ก็จริงอยู่ แต่ในทางความเชื่อของปกาเกอะญอ รุ้งคือความงามที่มีความชุ่มฉ่ำ คือความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติสอนเราอย่างนี้
“สังคมเรามีความเชื่อว่าถ้าคุณจะเป็นคนที่พัฒนาคุณต้องเป็นคนไทย ถ้าคุณพูดภาษาชนเผ่าหรือพูดไม่ชัดแสดงว่าคุณยังไม่พัฒนา คุณเป็นคนบ้านนอก เป็นผู้อพยพ เป็นคนอื่น เป็นคนต่างด้าวต่างแดน แต่ฝรั่งพูดไม่ชัดได้นะ (หัวเราะ) นี่คือการเลือกปฏิบัติ พอถูกเลือกปฏิบัติเยอะๆ เกิดอะไรขึ้น? คนชนเผ่าโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เค้าไม่อยากเป็นคนชนเผ่า เขาอยากทิ้งสีของตัวเอง อยากทิ้งกลิ่น ทิ้งรส ทิ้งตัวเองไปเพื่อสร้างกลิ่นใหม่ให้ตัวเองมีกลิ่นไทย จะทำแบบนั้นได้เขาต้องปรับตัวขนานใหญ่ ในร้อยเปอร์เซ็นต์อาจมีคนทำได้ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์จะกลายเป็นคนตกขอบโดยทันที แต่ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ ยังไงเขาก็ต้องสูญเสียหลายอย่าง ต้องลงทุนหลายอย่างเพื่อให้เป็นแบบนั้น
“สิ่งที่เราอยากทำคือทำยังไงให้เด็กเข้าใจ มองเห็นสีและกลิ่นของตัวเอง ให้เขารู้ว่าเขาเป็นสีตัวเขาได้ รู้ว่าในสีนั้นมีอะไรดีอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจและยอมรับว่ามันมีสีที่แตกต่างกันอยู่”
คือคำของ ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปิน นักเคลื่อนไหว และอาจารย์ปกาเกอะญอ สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวประโยคข้างต้นในฐานะผู้จัดงาน มหกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก* วันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ทีปังกรรัศมีโชติ (สวนสมเด็จพระนเรศวร แม่สอด) ซึ่งการจัดงานในปีนี้เดินทางมาสู่ปีที่ 5 แล้ว
5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก (จากทั้งหมด 9 อำเภอ) มีประชากรส่วนมากเป็นคนชนเผ่า ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย ประกอบด้วย อำเภออุ้มผาง พบพระ แม่สอด แม่ระมาด และ ท่าสองยาง โดยมีชาวปกาเกอะญอ เป็นประชากรหลัก ตามด้วย ม้ง ลีซู ละหู่ อะข่า เมี่ยน และชาติพันธ์ุอื่นๆ
ประชากรเยาวชนร่วมร้อยชีวิตที่ปรากฎตัววันนี้ไม่ได้แค่รวมและร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อบอกว่าพวกเขาคือใคร มีชีวิตและสิ่งที่เชื่ออะไร แต่นี่คืองาน ‘โชว์ของ’ ‘Showcase’ นำเสนองานวิจัยที่สมัชชาเยาวชนชาติพันธ์ุร่วมร้อยคน จากทั้งหมด 9 โครงการ ซึ่งได้ดำเนินงานมาตลอด 1 ปี* ประเด็นที่พวกเขาทำครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม การจัดการศึกษา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินทำกิน และ สัญชาติ
จักรพล มรดกบรรพต และ ปราโมทย์ เวียงจอมทอง สองแกนนำเยาวชนชาวปกาเกอะญอ โครงการสร้างพลังเครือข่ายเยาวชนเทือกเขาเบ๊อะบละตู ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก แม้โดยชื่อและกระบวนการคือโครงการที่ตั้งใจรวมตัวเครือข่ายเยาวชนให้เหนียวแน่นสามัคคีโดยใช้ ‘กีฬาพื้นบ้าน’ เป็นตัวเชื่อมและได้สืบสานวัฒนธรรมไปในตัว แต่เป้าประสงค์ที่ลึกและเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงคือเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและความเข้าใจผิดเรื่องการใช้ชีวิตของคนปกาเกอะญอ (เช่น คนชนเผ่าเป็นคนเผาป่า ตัดป่า) ทั้งสองเชื่อว่าหากเยาวชนรวมตัวกันและได้เรียนรู้วัฒนธรรมจะเกิดความเข้าใจภูมิปัญญา จากนั้นจะมั่นใจและออกไปเป็นปากเป็นเสียงสื่อสารเรื่องราวที่แท้จริงของชุมชนตัวเองได้ ซึ่งพวกเขามองว่านี่จะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีที่สุด
ขณะที่ พิงค์-นิศาชล สมบูรณ์ศรีสกุล นักเรียนชาวม้ง ชั้นม.ปลาย ปัจจุบันเธอกับเพื่อนทำโครงการ ‘ผ้าใยกัญชง’ เพื่อนำไปถักทอเป็นผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ซึ่งในปัจจุบันใยกัญชงเป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมในตลาดเครื่องแต่งกายมาก พิงค์บอกว่านี่เป็นโอกาสดีที่เยาวชนจะศึกษาใยกัญชงตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป ทอ การขึ้นเป็นเครื่องประดับ และวัฒนธรรมการใช้ผ้าใบกัญชงในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวม้ง โดยเธอและเพื่อนได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตาก เข้ามาร่วมวิจัยและช่วยต่อยอดลวดลายและผลิตภัณฑ์จากผ้าใยกัญชงที่กลุ่มทำด้วย
เยาวชนทั้ง 3 ที่เก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเล่าออกมาในรูปแบบของตัวเอง เป็นแค่กลุ่มคนที่เราได้พูดคุยด้วย แต่พวกเขาย้ำคล้ายกันว่าการปรากฎตัวของพื้นที่แบบนี้ก็เพราะอยากสื่อสารให้คนนอกเข้าใจว่าความหลากหลายมีอยู่จริง พวกเขาไม่ใช่คนพลัดถิ่น ไม่ใช่คนต่างด้าว แต่เป็นคนที่อยู่และใช้ชีวิตตรงนั้นมาเนิ่นนานเพียงแต่พูดกันคนละภาษากับคนส่วนใหญ่ สิ่งที่กระทบและรบกวนคือความเชื่อที่ว่าพวกเขาเป็นคนต่างด้าว พลัดถิ่น ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริงพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่มาเนิ่นนาน และชีวิตของชนเผ่าพึ่งพิงระบบนิเวศ ธรรมชาติมากกว่าที่คนเมืองเข้าใจมากนัก
I-You-We คือสามขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้เบื้องหลัง ‘สวนสายรุ้งแห่งวัฒนธรรม’
เพราะตั้งใจให้สวนสายรุ้งแห่งวัฒนธรรมทำหน้าที่ชวนคนมาเข้าใจความหลากหลายของสี กลิ่น รสชาติของเพื่อนมนุษย์ แต่การจะเปิดประตูแห่งความ(อยาก)เข้าใจ ประตูเหล่านั้นต้องมาพร้อมความรื่นรมย์และการเปิดใจ กิจกรรมในสวนสายรุ้งนี้ (ซึ่งจัดทำกันเองโดยเยาวชนทั้งหมด) จึงเต็มไปด้วย อาหาร เพลง ของเล่น และการเวิร์กช็อปให้ลงมือทำจริงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถักสร้อยข้อมือจากใยกัญชง, สานตะกร้า, ทำจานใบไม้, ถักพรมเช็ดเท้า, ฝนแป้งทานาคา
หากมองทะลุตัวกิจกรรมดีๆ เราจะเห็น ‘คอนเทนต์’ หรือข้อมูลทางวัฒนธรรมเชิงลึกที่เยาวชนเจ้าของบูธ หรือ เจ้าของโครงการวิจัยนั้นพร้อมจะบอกเล่าให้ฟังอย่างแข็งขัน แต่ที่เรียกว่าเป็นไฮไลต์คือ การแสดงทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นลาวกระทบไม้ (ที่กระทบกันไปมาหลายรูปแบบมาก) ระบำเกลียวเชือกพร้อมเพลงชาวปกาเกอะญอ
เบื้องหน้าเต็มไปด้วยความสนุก แต่เบื้องหลัง ชิ ในฐานะอาจารย์ และหัวหน้าโครงการสมัชชาเยาวชนชาติพันธ์ฯ เล่าให้ฟังถึงวิธีคิด การออกแบบกิจกรรมที่จะย้อนกลับไปให้เยาวชนเกิดความมั่นใจ และภูมิใจกับการเป็น สี และ กลิ่น ของตัวเอง ว่า…
“ที่ผมบอกว่าสีรุ้งเดิมมันถูกกลืนก็ดี ถูกรุกให้เข้าไปสู่กระแสอื่นก็ดี ที่กระทบมากคือเด็กขาดความมั่นใจ ก่อนจะขาดความมั่นใจก็เพราะเขาขาดความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมตัวเอง พอเป็นแบบนั้นก็ขาดความภูมิใจ ไม่เข้าใจว่าใส่เสื้อแบบนี้หมายความว่าอะไร ท่ามกลางคำว่า ‘ไม่’ ทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ยากมากที่จะหวังให้เค้าสื่อสาร ปกป้อง สืบสาน
“กระบวนการที่เราทำคือ ข้อแรก ศึกษา ‘I’ หรือตัวฉันก่อน เพราะ inter cultural skill เริ่มจากความเป็น I นะครับ ค้นหารากเหง้า งานวิจัยที่ทำกับโครงการ active citizen ครั้งนี้เลยเป็นโครงการที่เชื่อมกับวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ภูมิใจและรู้ว่าเรามีดีอะไร แต่รู้ว่าเราพัฒนาต่อได้ มีทักษะจะใช้ภูมิปัญญาของตัวเองได้ จะใช้เพื่อความสนุกสนาน ใช้หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ หรือเป็นเครื่องมือสื่อสารก็ได้ ถ้าเค้ารู้ว่ารากเหง้าตัวเองมีอะไรบ้าง เค้าเริ่มภูมิใจและรู้ว่าจะใช้อย่างไร นี่คือทักษะขั้นแรกคือรู้จักความเป็น I
“ข้อสอง รู้จักตัวเองแล้วต้องรู้จักคนอื่นด้วยนะ หรือคือรู้จักความเป็น ‘You’ ถ้าจะสื่อสารกับคนในเมืองต้องสื่อสารยังไง ถ้าจะเอาของใช้ของตัวเองไปเล่าความเป็นเรา ต้องใช้อะไร สมมติเรามีของอยู่ 20 อย่าง แต่จะมีกี่อย่างกันที่จะสื่อสารกับเค้าได้ เสื้อหรือย่ามเหรอ? ห่วงคอเหรอ หรือหมาก? เรามีอาหารมากมายแต่จะเอาเมนูไหนไปสื่อสารกับเค้า นี่คือประตูบานแรกที่จะเชื่อมสีอื่นๆ ในรุ้งให้เข้ามาได้
“สุดท้าย ‘We’ การที่เราจะเอาตัวเองไปเชื่อมกับคนอื่น จะไปจอยกัน มันควรเป็นกิจกรรมอะไร ที่บ้านเราอาจจะเล่นการละเล่นนี้แบบนึง แต่พอมาเล่นในพื้นที่กลาง เราจะปรับมันเมื่อให้เค้าเข้าใจยังไง
“I-You-We พูดง่ายๆ ว่ามันก็คือการ accept, adapt และ integrate (ยอมรับ-ปรับตัว-ผสมผสาน) เราต้องยอมรับว่าสังคมสมัยนี้อยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ ถ้าอยู่แต่ของเราอย่างเดียวก็ไม่ใช่สีรุ้งอยู่ดี”
ชิ ยกตัวอย่างที่เห็นภาพว่า คืนที่เด็กๆ ชาวปกาเกอะญอกำลังเล่นลาวกระทบไม้ที่มีกลุ่มนักดนตรีเล่นประกอบเพลงเข้าจังหวะ คืนนั้นมีครูนาฏศิลป์คนนึงเดินมาบอกเด็กว่า เด็กคนนี้ใช้กลองคนไทยตีในการละเล่นปกาเกอะญอ นี่เป็นสิ่งที่ผิดและครูคนนี้รับไม่ได้ แต่เด็กคนนี้ยืนยันกับชิว่า ตั้งแต่เขาเกิดมาก็เห็นคนที่บ้านใช้กลองแบบนี้ในประเพณีต่างๆ ทั่วไป เขาตั้งคำถามกลับว่า อะไรคือกลองคนปกาเกอะญอ อะไรคือกลองคนไทย?
“นี่แหละ นี่คือสิ่งที่เราต้องทำคือสร้างเด็กแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราสร้างเด็กหัวแข็งต่อต้านคนอื่น แต่เราอยากสร้างเด็กให้เข้าใจและเป็นนักสื่อสารที่มีชีวิต สื่อสารอย่างมั่นใจในข้อมูลที่มีในมือของเค้าได้” ชิกล่าว
อย่างที่ชิย้ำเสมอ ไม่ใช่แค่คนชาติพันธ์ุจะมั่นใจ ไม่ทิ้งสีและกลิ่นของตัวเอง แต่การเป็นรุ้ง สีอื่นๆ ต้องยอมรับการมีอยู่ของเฉดสีอันหลากหลาย เคารพและรู้ว่าเราต่างมีอัตลักษณ์ทับซ้อนกัน เราเดินทางมาไกลเกินกว่าจะปฏิเสธการมีอยู่ของอัตลักษณ์อื่นเพียงเพราะความไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ต่อความเป็นอื่นของผู้คน
เพราะไม่ใช่แค่กลุ่มชาติพันธ์ุที่ต้องรู้จัก I-You-We เราที่เรียกตัวเองว่า ‘ไทย’ ก็ต้องกลับมาเข้าใจ I ของตัวเองด้วยว่าที่เรียกตัวเองว่า ‘ไทย’ อยู่นี้ สาวกลับไปที่มาของปู่ย่าตายายแล้ว เราแล้วเป็นไทยกี่เปอร์เซ็นต์กัน