เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา
- ‘เรือพลี้ด’ เรือที่มีรูปทรงแหลมสีฉูดฉาดที่มีความโฉบเฉี่ยว เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งไม่ใช่แค่การออกทะเลกว้าง แต่ต้องลัดเลาะไปตามคลองสายย่อยเพื่อจับสัตว์น้ำและทำประมง ที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง
- แว้นบอย และเพื่อนเยาวชนที่อำเภอหาดสำราญทำโครงการ ‘เรือพลี้ด เรือเร็วแห่งสายน้ำ’ เพื่อทำเรือพลี้ดจำลองสืบค้นประวัติของเรือพลี้ดในชุมชน ลองไปเป็นลูกมือช่างเรือช่วยประกอบเรือ รวมทั้งเรียนรู้การประดิษฐ์เรือพลี้ดจำลองจากผู้รู้ในชุมชน เพื่อหวังจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นช่องทางสร้างงานสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง
- “แว้นรถ ไร้สาระ พูดจาหยาบตาย อยู่ไปวันๆ” คิว เล่าถึงสิ่งที่มักได้ยินเข้าหูจากผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ เพราะพวกเขาเป็นตัวจี๊ดประจำชุมชน เขาบอกว่าคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้สะทกสะท้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากพัฒนาตัวเอง ชวนติดตามเรื่องราวของแว้นบอยและผองเพื่อนที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง กันค่ะ
การแข่งขัน ‘เรือพลี้ด’ กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์งานเทศกาลประจำปี อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ชาวประมงท้องถิ่นประยุกต์ ดัดแปลงเรือพลี้ดจากรูปทรงดั้งเดิมที่ยังมีความหนา ต้านลม ไม่มีสีสัน มาเป็นรูปทรงแหลมสีฉูดฉาดที่มีความโฉบเฉี่ยว เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งไม่ใช่แค่การออกทะเลกว้าง แต่ต้องลัดเลาะไปตามคลองสายย่อยเพื่อจับสัตว์น้ำและทำประมง นี่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาที่มักถูกเอ่ยถึง “การเรียนรู้ ลงมือทำ ปรับและประยุกต์ ผ่านกาลเวลา” ปัจจุบัน ชาวบ้านยังใช้เรือพลี้ดเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเรือชมป่าโกงกาง เรียนรู้วิถีชีวิตของสัตว์น้ำและชาวเล
บ้านทุ่งกอ ตำบลบ้าหวี เขตอำเภอหาดสำราญ เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดตรัง และเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งแห่งหนึ่งที่จัดให้มีการแข่งขันเรือพลี้ดประจำปี เรือพลี้ดจึงเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนบ้านทุ่งกออย่างแยกไม่ออก หากมองจากแผนที่ทางอากาศ คลองบ้านทุ่งกอหลายสายลัดเลาะ คดโค้งไปมาเชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน เรียกรวมๆ กันว่า ‘ลุ่มน้ำปะเหลียน’ แหล่งอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่ยังอุดมสมบูรณ์บนเนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ การเดินทางมาที่นี่สามารถใช้เส้นทางตรัง – ปะเหลียน มุ่งหน้าจากเมืองตรังไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
บอย – อภิสิทธิ์ ยอมใหญ่ เยาวชนบ้านทุ่งกอ เล่าว่า ‘ทุ่งกอ’ มีที่มาจากชื่อ ‘ต้นกอ’ ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นในหมู่บ้าน ทางเข้ามาทุ่งกอเรียกว่า ‘ช่องกอ’ เนื่องจากเคยเป็นบริเวณที่มีต้นกอมากที่สุด ปัจจุบันยังมีต้นกออายุเกือบ 100 ปีเหลืออีก 1 ต้น ไว้เป็นร่องรอยการคงอยู่ของธรรมชาติที่มาตั้งถิ่นฐานก่อนมนุษย์
เรือพลี้ด…เรือเร็วแห่งสายน้ำ
ประวัติของชุมชนเล่าต่อกันมาว่า แต่เดิมการทำประมงในคลองแถบนี้ใช้เรือขุด* แล้วเปลี่ยนมาเป็นเรือหัวโทง** กระทั่งปรับเปลี่ยนความนิยมมาใช้เรือพลี้ดเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เนื่องจากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือซึ่งมีขนาดลำเล็ก ท้องแบนตื้น สามารถเข้าไปทำประมงในคลองหรือสายน้ำเล็กๆ สายย่อยที่แยกไปตามป่าชายเลนซึ่งต้องอาศัยเรือที่มีความคล่องตัวได้ ส่วนที่มาของชื่อเรียกว่า ‘เรือพลี้ด’ สันนิษฐานว่ามาจากภาษาท้องถิ่นภาคใต้
พลี้ด เป็นคำกริยาหมายถึง ลื่นไหลไปอย่างรวดเร็ว หรือ พลัดหกล้มโดยไม่รู้ตัว เทียบเคียงได้กับคำว่า ปรี๊ด ในภาษากลางที่อธิบายถึงลักษณะการพุ่งไปอย่างรวดเร็วก็ได้
ขนาดที่เล็กและเพรียวลมทำให้เรือพลี้ดวิ่งฉิวกว่าเรือแบบไหนๆ จุดเด่นเรื่อง “ความว่องไว” นำมาสู่การแข่งขันเรือพลี้ดของผู้คนละแวกนี้ในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งเพื่อเป็นประเพณี เพื่อความสนุกสนานและส่งเสริมการท่องเที่ยว ว่ากันว่าจากสถิติความเร็วสูงสุดของเรือพลี้ดที่บันทึกได้อยู่ที่ 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว สำหรับบ้านทุ่งกอ ความปราดเปรียวและสมรรถนะที่คล่องตัวเหมาะกับภูมิประเทศทางทะเลส่งผลให้เรือพลี้ดได้รับความนิยมมากกว่าเรือหัวโทงและเรือหางยาว นอกจากนี้ต้นทุนที่ใช้ต่อเรือยังน้อยกว่าเรือประเภทอื่นทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
บอยหนึ่งในกลุ่มแกนนำเยาวชนที่ทำโครงการ ‘เรือพลี้ด เรือเร็วแห่งสายน้ำ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดตรัง อธิบายว่า เรือพลี้ดสำหรับคนภายนอกอาจเป็นเพียงพาหนะที่ใช้เดินทาง แต่สำหรับเยาวชนบ้านทุ่งกอ เรือพลี้ดเป็นเครื่องมือทำมาหากินของครอบครัวและของคนในชุมชน ปัจจุบันคนบ้านทุ่งกอไม่ใช้เรือขุดในชีวิตประจำวันแล้ว ในชุมชนมีเรือหัวโทงเหลืออยู่เพียง 2 ลำ ส่วนเรือพลี้ดมีอยู่ประมาณ 40 กว่าลำ ทว่ามีช่างทำเรือพลี้ดในชุมชนเหลืออยู่เพียง 5 คนเท่านั้น
เมื่อได้รู้ข้อมูลเหล่านี้จากการสืบค้นด้วยตนเอง พวกเขาจึงเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของเรือพลี้ดที่เป็นของใกล้ตัวมากขึ้น
เรือพลี้ดหนึ่งลำใช้งานได้ประมาณ 7 ปีซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร กลุ่มแกนนำเยาวชนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเรือพลี้ดจากการสอบถามผู้รู้เกี่ยวกับพัฒนาการการต่อเรือของชุมชน จนได้รู้ว่ามีการส่งต่อวิชาความรู้ผ่านรุ่นสู่รุ่น อาศัยการซึมซับประสบการณ์จากการเป็นลูกมือและฝึกฝนฝีมือแบบครูพักลักจำ แต่ภูมิปัญญาการทำเรือพลี้ดขาดการถูกส่งต่อ
คิว – อนิรุจน์ สัญยี อีกหนึ่งสมาชิกของทีมแกนนำเยาวชน กล่าวเสริมว่า เรือพลี้ดเป็นของเล่นของพวกเขามาตั้งแต่จำความได้ เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นเครื่องมือทำมาหาเลี้ยงชีพ เรือพลี้ดจึงไม่ใช่แค่คนรู้จักแต่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่ผูกพันกันมานานและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา
ด้วยเหตุนี้กลุ่มเยาวชนจึงสนใจสืบค้นประวัติของเรือพลี้ดในชุมชน ลองไปเป็นลูกมือช่างเรือช่วยประกอบเรือ รวมทั้งเรียนรู้การประดิษฐ์เรือพลี้ดจำลองจากผู้รู้ในชุมชน เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นช่องทางสร้างงานสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง
แสบซ่ามหาประลัย สู่การประกอบร่างสร้างตัวตนใหม่ที่ใช่กว่าเก่า
“ลึกๆ ผมก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกันที่มาขับรถเสียงดัง” บอย ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา
“แว้นรถ ไร้สาระ พูดจาหยาบตาย อยู่ไปวันๆ” คิว เล่าถึงสิ่งที่มักได้ยินเข้าหูจากผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ เพราะพวกเขาเป็นตัวจี๊ดประจำชุมชน เขาบอกว่าคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้สะทกสะท้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากพัฒนาตัวเอง
ลูกจ้างงานรับเหมาก่อสร้างเป็นงานประจำของบอยกับคิว แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นเป็นเวลาทำงานของพวกเขา หยุดทำงานเฉพาะวันศุกร์ เพื่อนสมาชิกคนอื่นในทีม เช่น ปาล์ม – สุธิพงศ์ ยอมใหญ่ และ ร่อเฉด กาเส็มสะ ก็ยังเรียนหนังสืออยู่ ปัญหาอย่างหนึ่งในการทำงานของพวกเขา คือ เรื่องเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน แต่เพราะ ‘ความเร็ว’ เป็นเรื่องที่พวกเขาสนใจ เรือพลี้ดจึงดึงดูดใจแกนนำเยาวชนกลุ่มนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
“เรื่องแต่งมอเตอร์ไซค์และปรับแต่งท่อให้มีเสียงดัง ผมเห็นตัวอย่างมาจากรุ่นพี่ข้างบ้าน คิดว่าเท่ดีเลยสั่งซื้อของมาลองแต่งรถของตัวเองบ้าง พอแต่งแล้วก็ต้องเอารถออกไปขี่ ผมก็รู้ว่าส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นแต่ก็ไม่ได้สนใจเพราะเวลาได้ขี่เข้ากลุ่มกันยิ่งสนุก ตอนนี้ผมก็ยังชอบแต่งรถอยู่แต่แต่งเพื่อความสวยงามอย่างเดียวแล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องท่อรถ โครงการมีส่วนทำให้ผมคิดได้เพราะได้หันเหไปทำอย่างอื่น บวกกับอายุมากขึ้นด้วย ช่วงที่ทำโครงการผมกับคิวลางานเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง โชคดีที่หัวหน้างานเป็นพี่ชายเลยไม่มีปัญหา จะว่าไปก็เป็นความชอบส่วนตัว ผมชอบเรือพลี้ดอยู่แล้ว ผมสามารถนั่งทำสิ่งที่ชอบได้ทั้งวันเพราะมีความสุข” บอย ในวัย 21 ปีกล่าวอย่างจริงจัง
บอย เล่าว่า ปัจจุบันการต่อเรือพลี้ดพัฒนารูปแบบไปตามยุคสมัยเพื่อประโยชน์ใช้สอย ช่างต่อเรือและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการต่อเรือจึงต้องพัฒนาทักษะการต่อเรืออย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อพลิกแพลงให้เหมาะสมกับความต้องการและวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น การคิดแบบเรือถูกปรับปรุงให้มีรูปทรงที่ทำให้ขับขี่ด้วยความเร็วได้มากขึ้น มีความสวยงามและมีสีสัน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ค่อยๆ เกิดขึ้นตามประสิทธิภาพของเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยให้การต่อเรือสะดวกขึ้น ด้วยเหตุนี้ช่างต่อเรือในชุมชนแต่ละเจเนอเรชันต้องหาความรู้เรื่องการต่อเรือจากพื้นที่อื่นนอกชุมชนมาผนวกกับประสบการณ์การใช้เรือลำเดิม
เรือพลี้ดที่ใช้งานจริงมักมีขนาดใกล้เคียงกัน ความยาวของเรือมีตั้งแต่ 3 – 6 เมตร ส่วนใหญ่แล้วลำเล็กๆ มักไว้สำหรับแข่งขัน ส่วนลำใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อทำประมง ไม้ที่ใช้ทำเรือพลี้ดใช้ไม้ท้องถิ่น ที่เป็นไม้เนื้อเบา ทนน้ำ แต่ไม่อมน้ำ และไม่แตกง่าย ได้แก่ ไม้ทัง เทียม และพะยอม สำหรับการทำโครงการครั้งนี้องค์ประกอบต่างๆ ของเรือพลี้ดถูกนำมาย่อส่วน แล้วประดิดประดอยขึ้นเป็นเรือพลี้ดจำลอง กลุ่มแกนนำเยาวชน บอกว่า พวกเขาใช้วิธีศึกษาจากต้นแบบที่รุ่นพี่ (เสรี ลู่เด็นบุตร อายุ 35 ปี) มีอยู่ แล้วค่อยๆ ปรับปรุง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต ส่วนประกอบสำคัญของเรือพลี้ดจำลองมี 5 ส่วน ได้แก่ กระดานข้าง กระดานปูหัวเรือ กงเรือ (ไม้รูปโค้งใช้เป็นโครงเรือ หรือไม้ท่อนหน้าทำเป็นรูปโค้งติดตามขวางตลอดลำเรือ) กันสาดน้ำ และกันชน หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ‘ลูกกล้วย’ คิดค่าอุปกรณ์บวกค่าแรงแล้ว ขายลำละ 400 – 500 บาท แต่ละส่วนใช้วิธีแบ่งงานกันทำแยกออกไปแล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน
“ผมเห็นตัวอย่างเรือพลี้ดจำลองจากเพจในอินเทอร์เน็ต ทำออกมาสวยกว่าที่เราทำ ก็คิดกับตัวเองว่าเราจะทำให้สวยออกมาแบบนั้นได้ไหม ก็ลองทำลำใหม่ขึ้นมา พอทำได้คล่องแล้ว เรือพลี้ดจำลองลำนึงใช้เวลาทำประมาณ 2 วัน พวกผมทำออกมาได้ 5 ลำแล้ว ตอนดูผู้ใหญ่ทำเหมือนไม่ยาก แต่พอได้มาลงมือทำเอง ถึงได้รู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ต่อไปทำลำใหม่ขึ้นมาก็จะทำให้ดีกว่าลำเดิม” บอย กล่าว
อย่างไรก็ตามความยากหรืออุปสรรคไม่ได้ทำให้พวกเขาท้อแท้แต่กลับทำให้อยากฝึกฝนและศึกษาเรื่องการทำเรือพลี้ดจำลองเพิ่มเติมให้เข้มข้นมากขึ้น
“ผมรู้สึกว่าออกแบบเอง ทำเอง เอามาเล่นเอง ทำให้ภูมิใจและมีความสุข” บอย กล่าว
สำหรับการท่องเที่ยวชุมชน บ้านทุ่งกอมีทริปเชิงอนุรักษ์นั่งเรือพลี้ดชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตชาวเล บอย เล่าว่า ‘หินลูกช้าง’ แนวก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนโขลงช้างกำลังเล่นน้ำอยู่ จำนวน 6 สายๆ ละ 8 – 10 เชือกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า หินเหล่านี้อยู่ในช่วงยุคครีเทเชียส ถึงยุคจูราสสิก มีอายุประมาณ 66 – 140 ล้านปี เป็นภูเขาหินทรายที่มีการแตกหักภายในจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเส้นทางธรรมชาติอุโมงค์ป่าโกงกางที่โค้งเข้าหากันเป็นระยะทางยาวถึง 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถดำน้ำและชมวิถีประมงพื้นบ้าน เช่น การเก็บสาหร่ายขนนก ผักพื้นบ้าน บริเวณคลองเกาะกลาง และการเก็บ ‘เคย’ วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำกะปิ
“จะสนุกหรือไม่สนุก ผมว่าต้องมาลองนั่งดู เวลาใครไปใครมาแล้วผมได้เห็นรอยยิ้มของเขา ผมรู้สึกดีใจที่เขามีความสุขที่ได้มาเห็นธรรมชาติและชุมชนของผม และรู้สึกภูมิใจ” บอย กล่าว
“มันเป็นไปได้ยังไง?” คิว เอ่ยถึงความคิดที่แว้บขึ้นมา เมื่อได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงพวกเขาด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นเป็นเพราะพวกเขาหันมาเอาจริงเอาจังกับการเรียนรู้และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดังรบกวนชาวบ้านไปวันๆ อย่างแต่ก่อน
กลุ่มแกนนำเยาวชนคาดการณ์ว่าผู้คนทั้งในชุมชนและชุมชนข้างเคียงน่าจะมีความต้องการใช้เรือพลี้ดมากขึ้น เนื่องจากราคายางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักทางภาคใต้มีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนหันมาประกอบอาชีพประมงเพิ่มขึ้น แม้ขาดรายได้จากทางอื่นแต่ความสมบูรณ์ของป่าชายเลนบ้านทุ่งกอยังเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงปากท้องของคนท้องถิ่น รวมถึงการใช้เรือพลี้ดเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บอย บอกว่า การต่อเรือพลี้ดเพื่อใช้งาน และการทำโมเดลเรือพลี้ดจำลองเป็นของที่ระลึกจึงเป็นโอกาสทางอาชีพที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อคนท้องถิ่นในอนาคต
“ผมรักชุมชนมากขึ้น มีความสุขขึ้นจากผลตอบรับของผู้ใหญ่ ผมรักความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ในชุมชนนี้ และเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ร่วมกันทุกคน” บอย กล่าวทิ้งท้าย
เรือขุด* เป็นเรือยุคแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นพาหนะในการสัญจรทางน้ำ โดยใช้ต้นไม้ทั้งต้นที่มีขนาดใหญ่และลอยน้ำได้มาขุดเป็นลำเรือ |
โครงการ ‘เรือพลี้ด เรือเร็วแห่งสายน้ำ’ เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเครือข่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดตรัง” ดำเนินการโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ตรัง สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)
เมื่อแว้นบอยย่อส่วน “เรือพลี้ด” มหัศจรรย์ความเร็วแห่งทะเลหาดสำราญเป็นงานฝีมือแสดงเอกลักษณ์