นางสาวอรวรรณ นิตมา (ตะวัน) อายุ 33 ปี
เจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำศูนย์บริการทางการเเพทย์ฉุกเฉินองค์การบริหารส่วนตำบลละมอ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน
เลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.)
ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน
โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว
ตอบ นางสาวอรวรรณ นิตมา ชื่อเล่นพี่วรรณ อายุ 33 ปี พี่ทำงานในชุมชนหลายอย่าง เช่น กรรมการกองทุนหมู่บ้าน รองประธานสตรีหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำศูนย์บริการทางการเเพทย์ฉุกเฉินอบต.ละมอ เจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในหมู่บ้าน ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนกรรมการกองทุนข้าวสาร กรรมการกองทุนน้ำมันในหมู่บ้าน กรรมการเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (สสอ.) และทำโฮมสเตย์
ถาม เริ่มเข้ามาทำงานกับชุมชนได้อย่างไร
ตอบ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ตอนนั้นพ่อของพี่เป็นผู้ใหญ่บ้าน เริ่มจากช่วยพ่อทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนหลังเริ่มทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนที่พ่อได้เป็นกำนัน พี่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับชุมชนมากขึ้น ขยายขอบเขตการทำงานไปทั่วทั้งตำบล
ถาม ตอนที่ทำงานกับชุมชนเกิดจากคุณพ่อชวนหรือเกิดจากสาเหตุอะไร
ตอบ เกิดจากคุณพ่อชวน แต่ตอนหลังเกิดจากความสนใจของตัวเรา ที่อยากทำและอาสาไปทำเอง งานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ
ถาม ทำไมถึงสนใจทำงานชุมชน
ตอบ ตอนที่ช่วยงานหมู่บ้านเราคิดว่าตัวเราพอมีความรู้อยู่บ้าง เวลาประชุมหมู่บ้าน ต้องมีงานบันทึกการประชุม ต้องทำรายงานส่งที่อำเภอ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหรือชาวบ้านในชุมชนยังบันทึกการประชุมไม่เป็น เราก็มาช่วยงานตรงนี้ หลังจากนั้นเริ่มทำมาเรื่อย ๆ ส่วนงานกองทุนหมู่บ้าน เรามีความรู้เรื่องบัญชีอยู่บ้าง เรามาช่วยจัดการเรื่องทำบัญชี คนที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นชาวบ้านธรรมดาทำบัญชีแบบชาวบ้านทั่วไป ยังไม่เป็นระบบมากนัก
หลังจากนั้นมีโครงการราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า โครงการปลูกป่าลาดตระเวนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ พี่เริ่มทำกิจกรรมมากขึ้นและชวนเด็ก ๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ชวนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านทำฝาย พอเราเริ่มทำงานเพื่อส่วนรวมและเพื่อคนในหมู่บ้าน เราเห็นคนในหมู่บ้านได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นเรารู้สึกมีความสุข ทำให้เราอยากทำเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพื่อเป็นการพัฒนาหมู่บ้านของเราให้ดีขึ้น
ถาม ขอให้เล่าถึงโครงการนี้และบทบาทที่ได้รับในโครงการ
ตอบ พี่ทำโครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก รับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน โครงการนี้เกิดจากการที่เด็กและพี่เลี้ยงโหวตกันว่าอยากทำประเด็นเรื่องนี้ ที่จริงเราเลือกไว้ทั้งหมด 5 หัวข้อ แต่จากผลโหวตโครงการควนดินดำได้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะว่าเด็ก ๆ มีความสนใจ พวกเราตกลงที่จะทำหัวข้อนี้และค้นคว้าหาข้อมูล โครงการนี้มีพี่เลี้ยง 2 คน พ่อของพี่ซึ่งเป็นกำนันร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการด้วย ระยะหลังคุณพ่องานยุ่งมาก พ่อเลยไม่มีเวลามาช่วย เวลาพาน้อง ๆ ไปทำกิจกรรมนอกหมู่บ้านพี่เป็นคนพาน้องไป ตอนนี้พี่มาเป็นพี่เลี้ยงหลัก ระหว่างทำงานถ้ามีปัญหาอะไร เราจะปรึกษากัน ตอนที่เราหาเด็กมาเข้าร่วมโครงการ เราถามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง ดูว่าใครสนใจและมีเวลาว่างมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ตอนนั้นเราไปเข้าค่ายครั้งแรกร่วมกัน มีสมาชิกทั้งหมด 5 คน พอไปเข้าค่ายที่ 2 เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้น
ถาม ขอให้เล่าถึงบทบาทพี่เลี้ยงของตัวเองที่ชวนน้อง ๆ เรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ เริ่มตั้งแต่ไปค่ายแรกน้องได้หัวข้อโครงการกลับมา อันดับแรกคือ เราชวนน้องค้นคว้าและสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ในหมู่บ้าน รวมทั้งข้อมูลที่เป็นบันทึกของหอจดหมายเหตุของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นประวัติของหมู่บ้านและประวัติควนดินดำ น้องศึกษาข้อมูลจากหอจดหมายเหตุก่อน หลังจากที่ได้ข้อมูลมา น้อง ๆ ไปถามผู้รู้ เช่น ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และศึกษาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ขอคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องป่าต้นน้ำ พันธุ์ไม้และสัตว์ต่าง ๆ
พี่พาน้อง ๆ ออกไปหาข้อมูลนอกหมู่บ้านไปที่สวนพฤกษศาสตร์ ช่วงแรกเรายังไม่ได้ไปเดินป่าเพื่อไปดูสถานที่จริง เราได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า พันธุ์ไม้บริเวณแถบนี้เหมือนกันกับที่สวนพฤกษศาสตร์ เราสามารถไปดูตัวอย่างที่นั่นได้ ที่สวนพฤกษศาสตร์มีเจ้าหน้าที่ช่วยอธิบายถึงความสำคัญของต้นไม้ในพื้นนี้แถบนี้ ชนิดของต้นไม้ ต้นไหนพบได้ง่าย ต้นไหนมีคุณค่าต่อป่า สมุนไพรในป่า จากนั้นเราไปหาความรู้เพิ่มเติมที่ห้องสมุดอยู่หลายครั้งเพราะน้อง ๆ ต้องการข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อต้นไม้ ที่ไม่สามารถหาได้จากสวนพฤกษศาสตร์
ถาม ขอให้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่พี่เลี้ยงพาน้อง ๆ เรียนรู้
ตอบ ในตอนแรกพี่เป็นคนติดต่อประสานงานผู้นำชุมชน ผู้รู้ในชุมชน และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ให้กับน้อง ๆ ระยะหลังน้องสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เอง เพราะว่าเขารู้จักเจ้าหน้าที่และผู้รู้ในชุมชนแล้ว
พี่ชวนน้องประชุมเพื่อให้เขาแบ่งหน้าที่กัน ตอนที่เริ่มทำโครงการน้อง ๆ ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น เพราะเป็นโครงการแรกที่พวกเขาทำ พวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง พี่เป็นคนช่วยแบ่งหน้าที่ ใครอยากทำอะไร ให้เขายกมือบอก แรก ๆ พี่จัดการแบ่งหน้าที่ให้ เช่น คนนี้เขียน คนนี้ถ่ายวิดีโอ
ตอนหลังพอน้อง ๆ เขาได้ทดลองทำแล้ว น้องเขารู้สึกว่าหน้าที่นี้ไม่ใช่ตัวเขา น้อง ๆ เป็นคนเลือกเอง ว่าตัวเขาอยากทำอะไรตามความถนัดของตัวเอง พอน้องเริ่มรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าใครทำหน้าที่อะไร เขาเริ่มแบ่งงานกันเอง เช่น เวลาที่เขาไปสัมภาษณ์คนในชุมชน เขาจะแบ่งกันว่าใครเป็นคนบันทึกข้อมูล ใครถ่ายภาพ ใครสัมภาษณ์ บางครั้งน้อง ๆ นัดประชุมงานกันโดยที่ไม่มีพี่วรรณก็ได้
เวลาน้อง ๆ มีปัญหาสงสัย พี่วรรณเป็นคนช่วยหาคำตอบมาให้ เช่น บางครั้งเขาเขียนชื่อต้นไม้เป็นชื่อภาษาอังกฤษ เขาค้นหาใน Google แต่ไม่รู้ว่าถูกไหม พี่วรรณพาพวกเขาไปหาข้อมูลที่ห้องสมุด ให้เขาช่วยกันหาหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พี่คิดว่าถ้าเราไปห้องสมุด เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์เขาจะแนะนำเราได้ เพราะว่าบางครั้งเราไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้ เราต้องช่วยน้องหาแหล่งข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้เขานำไปอ้างอิงได้
พี่วรรณพาน้องไปเยี่ยมพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นเครือข่ายของจังหวัดตรัง เช่น พาไปปลูกข้าวที่วังคีรี พาไปดูการปลูกแตงโมที่เกาะสุกร ไปปลูกป่าโกงกางที่ฉางหลาง ไปหมู่บ้านมดตะนอย พาไปเพราะว่าน้องบอกว่าไม่เคยเห็น น้องอยากรู้ว่าบ้านของเพื่อนคนอื่นเป็นอย่างไร เขาเคยไปเที่ยวทะเลเคยเห็นแต่ชายหาด ไม่เคยรู้ว่าวิธีปลูกโกงกาง หอยที่เพื่อนเก็บ เขาเก็บมาจากไหน น้องได้ไปดูของจริงว่าเป็นอย่างไร กิจกรรมพวกนี้เป็นเวทีสัญจรของจังหวัดตรัง ตอนที่เราไปสัญจรน้องบางคนพาผู้ปกครองไปด้วย พ่อแม่เขาอยากรู้ว่าลูกของเขาไปทำอะไร เรียนรู้เรื่องอะไร พี่จึงต้องพาผู้ปกครองน้อง ๆ ไปด้วย
พี่ชวนน้อง ๆ คุยเพื่อเตรียมตัวน้อง ๆ ก่อนลงพื้นที่ ว่าวันนี้เราจะลงพื้นที่ไหน ไปทำอะไร เช่น ถ้าเราต้องไปในหมู่บ้านที่มีคนมุสลิม เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะบางครั้งเราเป็นพุทธเขาเป็นมุสลิมอาจจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน หลังจากกลับมาจากการสัญจร พี่จะชวนน้อง ๆ คุย ว่าเขาไปเห็นอะไรมาบ้าง ได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง เช่นเราไปบ้านเพื่อนที่เป็นมุสลิม เขามีประเพณีอะไร มีวิถีชีวิตในการปฏิบัติอย่างไร เวลาที่เขาไปในมัสยิดเขาทำอะไรกัน ไม่ใช่การเรียนรู้แค่ในโครงการ น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ด้วย ช่วงแรกน้อง ๆ ที่มาจากคนละพื้นที่ยังเขินอายกัน ไม่กล้าคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน พอเราได้เจอบ่อยขึ้นพวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้น พวกเขาเต็มที่กับทุกกิจกรรมที่ทำ
ส่วนใหญ่พี่วรรณจะพาเขาไปเรียนรู้นอกพื้นที่ บางครั้งน้อง ๆ อยากทำแผนที่ แต่พี่วรรณไม่มีความรู้เรื่องแผนที่ จึงพาเขาไปศึกษากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการอ่านแผนที่ วิธีการจับพิกัด เวลาที่เราจะปักหมุดหรือกะระยะต้องทำอย่างไร พี่เองได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมกับน้อง จากไม่รู้ก็ได้รู้ เราได้เอาความรู้ที่ศึกษาจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาทำเป็นแผนที่ของน้อง ๆ
ถาม ขอให้ช่วยเล่าถึงแนวความคิดเรื่องการแบ่งบทบาทหน้าที่ของน้องในทีม
ตอบ อยากให้น้องทำงานที่เขาถนัด เขาจะไม่รู้สึกเหนื่อยหรืออึดอัดกับงานที่เขาทำ เขาจะทำงานด้วยความสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ
ถาม เทคนิค เครื่องมือของพี่เลี้ยงในการพาน้องเรียนรู้แล้วได้ผลสำเร็จคืออะไร ใช้ตอนไหน ใช้อย่างไร
ตอบ เทคนิคคือเราสังเกตว่าน้องของเราชอบการออกไปเรียนรู้ข้างนอกหมู่บ้าน นอกสถานที่ พี่จะดูว่าถ้าน้องทำงานเรียบร้อย ครั้งต่อไปพี่จะพาเขาไปอีก เป็นการพาเขาไปเรียนรู้และไปเที่ยวด้วย เวลาที่เราเรียนรู้ในพื้นที่น้องจะรู้สึกว่าเหมือนบ้านตัวเอง เป็นพื้นที่คุ้นเคยเพราะว่าเขาเคยเห็นมา การพาไปเรียนรู้ข้างนอกเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ทำให้เขาสนใจและมีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้มากขึ้น พี่สังเกตจากการที่น้องนั่งทำงานที่ศาลาของหมู่บ้าน น้องจะทำงานค่อนข้างช้า เหมือนไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน แต่พอพาไปค้นคว้าที่ห้องสมุดเขาจะมีความกระตือรือร้น เขาได้ไปทำงานข้างนอกบ้าง พวกเขาดูมีความสุข น้องบอกว่าดีกว่าอยู่บ้านเพราะเขาได้ออกไปข้างนอกบ้าง เวลาที่พาน้องไปนอกพื้นที่ เขาจะเป็นคนเรียบร้อย ไม่ค่อยเกเร เชื่อฟังพี่เลี้ยง มีปัญหาแค่เรื่องการกิน เพราะพวกเขาจะกินเก่งมาก น้องทุกคนจะเก็บตังค์และรอวันที่พี่วรรณจะพาไปข้างนอก เพราะพี่วรรณจะพาทำงานและไปกินข้าวด้วยกัน บางครั้งถ้าคนอื่นมอง เขาคิดว่าเราพาเด็กไปเที่ยวไม่มีสาระอะไร แต่จริง ๆ น้องได้งานกลับมา พวกเขามีความสุขเหมือนได้ทำงานไปและพักผ่อนไปด้วย
เนื่องจากชุมชนของเราอยู่ห่างไกลจากเมือง น้อง ๆ ไม่ค่อยได้เข้าไปในเมือง บางคนไปแค่โรงเรียนกับบ้าน ไม่ค่อยได้ไปที่อื่น บางครั้งเขาอยากไปกินขนมแต่ผู้ปกครองไม่สะดวกที่จะพาไป พี่จะให้น้องโหวตกันว่าถ้าอาทิตย์นี้ทำงานเสร็จ เราจะไปกินอะไรกัน ทุกคนจะมีแรงกระตุ้น ว่าต้องรีบทำงานให้เสร็จเราจะได้ไปกินอะไรกัน ตอนที่พวกเราไปหาอะไรกิน พวกเราได้พูดคุยกัน เพราะน้องบางคนอยู่ต่างโรงเรียนกัน มีอายุต่างกัน เวลาที่เราไปข้างนอกเราจะเห็นพี่คนโตได้ดูแลน้องคนเล็ก เห็นการแบ่งปันซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน เห็นความน้ำใจของคนในทีม มีครั้งหนึ่งพวกเราออกไปข้างนอก มีน้อง ป.5 ซึ่งเป็นน้องเล็กสุดในทีม วันนั้นเขารู้สึกไม่ดี เขาไม่อยากจะทำงานอะไร เขาร้องไห้และแอบหนีไปโดยที่ไม่มีใครเห็น พี่ ๆ ในทีมต้องไปตามหาน้อง หลายคนกลัวน้องหายไป ไม่รู้จะไปบอกผู้ปกครองของน้องอย่างไร พอพี่ ๆ หาน้องเจอ พวกเขาไปกอดและปลอบใจน้อง เขาอธิบายให้น้องฟังว่า “น้องมาช่วยพี่ทำงาน ทำนิดเดียวก็ได้ พี่ให้น้องทำในสิ่งที่น้องอยากทำ” พี่ ๆ ไม่กดดันน้องเพราะว่าน้องยังเล็กอยู่ พี่วรรณเห็นว่าพี่ที่โตกว่ามีความเป็นห่วงน้อง เห็นความรักของเด็ก ๆ ในทีมที่ช่วยดูแลกันเหมือนญาติ
พอเราได้เจอกันบ่อย ๆ ขึ้น นอกจากทำกิจกรรมกัน เราได้กินข้าวข้างนอกด้วยกัน ทำให้เราสนิทสนมกันมากขึ้น พี่วรรณกับน้องในทีมบางคนอยู่ละแวกบ้านเดียวกัน แต่ไม่ได้พูดคุยกันบ่อยหรือเจอกันบ่อย พอเรามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ เรามี LINE กลุ่ม เราพูดคุยกันทุกวัน เวลาที่น้องมีปัญหาเขาจะมาปรึกษาเรา เช่น ปัญหาเรื่องการเรียนเรื่องที่บ้าน เรื่องส่วนตัวของเขา ให้พี่ช่วยสอนการบ้าน หรือพิมพ์งาน แต่พี่ไม่พิมพ์ ให้ พี่ให้เขามาใช้คอมพิวเตอร์ของบ้านพี่ และให้เขาพิมพ์เอง ถ้าเขาทำอะไรไม่เป็น พี่ไม่ทำให้แต่จะให้คำแนะนำ ถ้าเราทำให้เขาจะไม่ได้เรียนรู้ ถึงเขาจะพิมพ์ข้อมูลช้า ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ แต่เขาได้ทำด้วยตัวเขาเอง ครั้งต่อไปเขาจะได้ทำได้ พอทำบ่อยขึ้นจนเกิดความชำนาญ เขาจะได้พัฒนาตัวเอง ต่อไปไม่มีพี่วรรณอยู่เขาก็จะได้ด้วยตัวเอง ถ้าพี่วรรณทำให้เขา ครั้งต่อไปพี่วันก็ต้องเป็นคนทำอีก การที่เขาช่วยเหลือตัวเองได้ มันดีกว่าที่เขาต้องรอการช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา อะไรที่เราคิดว่าเด็กพอจะทำได้ เราให้เขาลองทำไปก่อน ถ้าเขาทำไม่ได้จริง ๆ เราถึงจะทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง
ถาม เรียนรู้เรื่องอะไรจากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ
ตอบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในการพี่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ พี่รู้สึกตื่นเต้น กังวลว่าตัวเราจะดูแลน้องอย่างไร มีอะไรไปสอนน้องได้บ้าง เป็นเรื่องใหม่สำหรับพี่ ตอนหลังพี่เรียนรู้ไปด้วยกันกับน้อง ๆ พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับน้องให้ได้ ดูแลน้องให้เต็มที่ที่สุด ตอนที่พี่ได้ไปเข้าค่ายพี่เลี้ยง พี่ได้เรียนรู้การเป็นพี่เลี้ยงที่ดี เช่น รับฟังน้องมากขึ้น พยายามใจเย็นกับน้องมากขึ้น พูดให้น้อยฟังให้เยอะ เมื่อก่อนพี่จะเป็นคนที่พูดมากและเป็นคนใจร้อน พี่จะเสียงดังไว้ก่อน ตอนนี้พยายามลดความใจร้อนลง พูดเสียงนุ่มนวล มีความใจเย็นกับน้องมากขึ้น น้องทำได้ไม่ได้ค่อยว่ากันทีหลัง ขอให้น้องได้ทดลองทำดูก่อน
ตอนที่เราทำงานที่ศาลาในหมู่บ้าน ที่นั่นจะมี Wi-Fi น้อง ๆ จะเอาโทรศัพท์มาเล่น LINE และเกมไม่สนใจฟัง ตอนนั้นพี่รู้สึกโมโห พี่ยึดโทรศัพท์ของทุกคน ไม่ให้เขาเล่นโทรศัพท์ บ่นน้อง ๆ ที่พวกเขาไม่ใส่ใจงานที่ทำ ตอนนั้นเด็ก ๆ หน้าบึ้งที่โดนยึดโทรศัพท์ไป ตอนหลังทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง เวลาที่ทำงานจะเอาโทรศัพท์เก็บไว้ก่อน เล่นโทรศัพท์ในช่วงเวลาที่ว่าง
เราทำข้อตกลง สร้างกติการ่วมกัน เช่น เวลาที่เราทำงานเราจะไม่เล่นโทรศัพท์เราจะใช้แค่ถ่ายรูป ถ่ายคลิปวิดีโอ ข้อตกลงนี้เกิดจากการสรุปร่วมกันกับน้อง เรามานั่งคุยกันว่า ทำไมงานเราถึงล่าช้า เรานัดกันวันละ 1 - 2 ชั่วโมง แต่ทำไมงานเรายังช้าอยู่ ทำให้เราต้องนัดกันบ่อยขึ้น เราชวนน้อง ๆ มาสรุปข้อดีข้อเสียของการทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นเรานำข้อเสียมาปรับปรุง เช่น น้องบอกว่า “มีเพื่อนเล่นแต่โทรศัพท์ไม่ช่วยทำงาน” พี่จะถามกลับว่า “พวกเรามีวิธีแก้ไขอย่างไร” น้องจะเสนอว่า “เราต้องตั้งกฎกติกาว่าเวลาทำงานอย่าเล่นโทรศัพท์” จึงเกิดข้อตกลงร่วมกันของคนในทีม พี่จะเป็นคนช่วยไกล่เกลี่ยและชวนน้องตั้งคำถามเพื่อแก้ไขปัญหา
ถาม ช่วยยกตัวอย่างเหตุการณ์การเรียนรู้ จากแต่ก่อนที่เป็นคนใจร้อนแต่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใจเย็น รับฟังน้อง ๆ มากขึ้น
ตอบ เมื่อก่อนเรานัดน้อง 5 โมง แต่ 6 โมงแล้ว น้อง ๆ ยังไม่มา พี่โทรศัพท์ไปหาเขาและต่อว่าเขาว่า “ทำไมถึงยังไม่มา” ตอนหลังถ้าถึงเวลานัดแล้วน้องยังไม่มา เปลี่ยนเป็นการนั่งรอน้อง ๆ แทน พี่ได้เทคนิคนี้จากพี่โจ้ พอตอนหลังน้องเห็นว่าพี่มารอ น้องจะรีบมาตรงเวลาเอง ด้วยความที่เราสนิทสนมกัน จะมีการงอนกัน พอน้องไม่มาพี่จะงอนน้อง น้องบางคนรู้ตัว เขาเข้ามาขอโทษเรา เขาอธิบายว่า “วันนี้ที่ไม่มาเพราะเขาไม่ว่าง ครั้งต่อไปเขาจะมา” พอเราเปลี่ยนวิธีการ พี่ว่าน้องเขารู้ตัวว่าเขาต้องมาทำงาน เขาจะรับผิดชอบในส่วนของเขา เขาจะพยายามมาให้ตรงเวลาเพราะว่ากลัวเราเสียใจ พี่จะพูดน้อยลง
เมื่อก่อนตอนที่พี่วันนัดเวลาพวกเขา พี่เอาวันว่างของพี่เป็นหลัก โดยที่ลืมถามน้อง ๆ ว่าน้องเขาว่างตรงกับเราไหม เขาต้องเรียนพิเศษหรือติดงานไหม ตอนนี้พี่ให้หัวหน้าทีมเป็นคนนัดหมายแทน น้อง ๆ เขาจะสื่อสารกันผ่านแชทกลุ่ม หาข้อตกลงว่าช่วงไหนที่พวกเขาว่างตรงกัน เพื่อเขาจะได้มาพร้อมกันทุกคน ช่วงหลังน้องในทีมจะตรงเวลามากขึ้น เพราะว่าทีมเราเน้นเรื่องเวลา พี่พยายามให้น้องรักษาเวลา อย่างเวลาที่มีการประชุมพวกเขาจะรู้หน้าที่ว่าใครต้องทำอะไร ใครต้องเตรียมอะไร ใครจัดโต๊ะประชุม ใครจะซื้อขนม เขาจะช่วยเหลือกันโดยที่เราไม่ต้องไปจัดการอะไร ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนที่เราต้องคอยจัดการทุกอย่าง พี่เห็นว่าตัวเองไม่ต้องเหนื่อยเหมือนแต่ก่อนแล้ว ไม่ต้องตามน้องตลอดเวลา น้องโตขึ้นตรงต่อเวลา รับผิดชอบตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปดุด่าว่ากล่าวเขา เราไม่ต้องวีนใส่เขา ตอนนี้เขาทำหน้าที่ได้ดี
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ การทำงานกับเด็กคือการพัฒนาตัวเราเอง บางครั้งเราทำงานกับคนในวัยเดียวกันหรือคนที่อายุเยอะกว่า ไม่ค่อยได้ทำงานกับเด็ก ๆ เราต้องปรับตัวเยอะ เราคิดว่าถ้าตอนเด็กเราไม่ชอบอะไรหรือชอบอะไร นำมาปรับใช้กับเด็ก เราต้องหาวิธีการปรับตัวเข้าหาเด็ก เช่น ชวนเขาคุยเรื่องดารา นักร้อง เน็ตไอดอล คนที่เขาชอบ บางครั้งน้องเอาเพลงแปลก ๆ มาให้ฟัง เราได้แลกเปลี่ยนกัน เราต้องรู้ว่าอะไรที่กำลังได้รับความนิยมในยุคของเขา เช่น น้อง ๆ อยากได้หมวกที่เป็นทีม เราจะเก็บตังค์แล้วไปซื้อเหมือนกันทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก เวลาที่เราไปไหนเราถ่ายรูปร่วมกัน เขาจะภูมิใจที่เราใส่เสื้อทีม ใส่หมวกเหมือนกัน เราเห็นน้องเก็บตังค์วันละ 5 บาท 10 บาท กว่าจะครบ 100 บาท ค่อนข้างใช้เวลา เราเห็นความตั้งใจของเขา เขาพยายามสะสมเงินเพื่อมาซื้อ การคุยเรื่องเดียวกัน ทำอะไรเหมือนกัน ทำให้พวกเรารู้สึกถึงความเป็นทีมมากขึ้น สนิทสนมกันมากขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น
ถาม ปัญหาอุปสรรคในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการมีเรื่องอะไรบ้าง
ตอบ เรื่องเวลาเพราะว่าพี่วรรณทำงานหลายอย่าง มีงานของตัวเองที่ต้องทำ บางครั้งมีงานด่วนเข้ามา ต้องผิดนัดกันน้อง ๆ แก้ปัญหาโดยให้น้องที่เป็นหัวหน้าทีมเป็นคนนัดหมายและประสานมาที่พี่วรรณ บางครั้งพี่วรรณมาไม่ได้ ก็ให้น้องแบ่งหน้าที่กันทำงาน ให้น้อง ๆ ช่วยดูแลกันเองในทีม
มีอีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาเกี่ยวกับวัยรุ่น มีเรื่องกุ๊กกิ๊กกัน ปัญหาหัวใจของสาว ๆ ทีมพี่วรรณเป็นทีมเด็กผู้หญิงล้วน บางครั้งเด็ก ๆ อาจจะผิดหวังจากความรักมาบ้าง ทำให้เขาไม่มีแรงมาทำโครงการ เขาจะมาปรึกษาพี่วรรณว่าเลิกกับแฟนต้องทำอย่างไร น้อง ๆ เขาคุยกันไม่นาน เขาคิดว่านั่นคือการได้เป็นแฟนกัน พอไม่ได้คุยกันก็คือเลิกกัน ค่อนข้างไว พี่วรรณก็ตามน้อง ๆ ไม่ทัน พี่บอกเขาว่า “ถ้ามีปัญหาเรื่องแฟน ไม่พร้อมจะเล่าให้ที่บ้านฟังก็มาปรึกษาพี่ได้” พี่รับฟังปัญหาเขา มีน้องคนหนึ่งเขามีแฟนอยู่คนละโรงเรียน แฟนชวนไปดูหนังที่โรบินสัน เขาไม่กล้าบอกแม่ เขามาบอกเรา อยากให้เราไปด้วย เราไปเป็นเพื่อนเขา แต่เราไม่ได้เข้าไปดูหนัง เรารออยู่ข้างนอก พี่ปล่อยให้น้องได้มีเวลาส่วนตัวตามประสาวัยรุ่น เราจะคอยเตือนเขาว่าถ้าจะไปไหนให้ขออนุญาตพ่อแม่ให้เรียบร้อย บางครั้งอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับเขา เพราะว่าเขายังเด็ก ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาก พี่เป็นห่วงพวกเขาเรื่องนี้ พี่จะสอนเรื่องการวางตัวต่อเพศตรงข้าม น้องเขาคิดว่าพี่เป็นเหมือนพี่สาว สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง เด็กไม่กล้าปรึกษาผู้ปกครองในเรื่องกุ๊กกิ๊กแบบนี้
ถาม พี่เลี้ยงทำอย่างไรถึงทำให้น้องเกิดความรู้สึกไว้วางใจ
ตอบ ความไว้วางใจ น่าจะเกิดจากตอนที่เราได้พาน้องไปข้างนอกบ่อย เราได้ใช้เวลาร่วมกัน เวลาที่เราไปกินข้าวด้วยกันข้างนอก เราสามารถคุยกันได้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น จากการที่เราพูดคุยกัน ด้วยช่วงวัยที่ไม่ได้ห่างกันมากนัก การที่เราได้แชทคุยกันทุกวัน มันทำให้เราสนิทกัน ผูกพันกัน ไว้วางใจกัน มีครั้งหนึ่งมีน้องไม่สบายอยู่ที่โรงพยาบาล เราชวนเพื่อน ๆ ในทีมไปเยี่ยมน้องคนนั้น
ถาม มีปัญหาอุปสรรคอะไรเพิ่มเติมอีกไหม
ตอบ ปัญหาเรื่องผู้ปกครอง ปัญหาเรื่องผู้ปกครองของน้อง ๆ เช่น สองบ้านนี้เขามีปัญหากัน เขาทะเลาะไม่พูดคุยกัน ถ้าลูกเธอมาทำกิจกรรม ฉันจะไม่ให้ลูกฉันไป เกิดปัญหาระหว่างสองครอบครัว แต่ตัวน้อง ๆ ไม่มีปัญหากัน ทำให้น้องคนหนึ่งเขาต้องทำหยุดกิจกรรมไป พี่วรรณไปขอความช่วยเหลือจากพ่อ เล่าให้พ่อฟังว่าผู้ปกครองมีปัญหากัน ทำให้เด็กมาร่วมกิจกรรมไม่ได้ พ่อได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย สร้างความเข้าใจกับผู้ใหญ่ ตอนหลังผู้ปกครองเข้าใจมากขึ้นและให้น้องมาเข้าร่วมกิจกรรมเหมือนเดิม
ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร สิ่งนี้สำคัญต่อการเป็นพี่เลี้ยงอย่างไร
ตอบ พัฒนาตัวเองให้สอนน้อง ๆ ได้ สามารถให้คำปรึกษากับน้อง ๆ ได้ สร้างศักยภาพให้กับตัวเองในการพี่เลี้ยง อยากดูแลน้องได้ในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องโครงการและเรื่องส่วนตัวของน้อง ๆ เพราะน้อง ๆ เป็นเด็กในชุมชน เราอยากเห็นเด็กในชุมชนของเรามีพัฒนาการได้ดียิ่งขึ้นในทุกด้าน
อยากพัฒนาเรื่องข้อมูลเพราะว่าพี่ไม่มีความรู้ เช่น เรื่องป่าไม้ บางครั้งที่น้องถาม พี่ตอบไม่ถูก พี่วรรณต้องศึกษาข้อมูลเยอะเหมือนกัน พี่ต้องไปหาข้อมูลมาตอบน้อง ๆ
อยากเพิ่มความใจเย็น พยายามปรับตัวเอง ปกติพี่เป็นคนใจร้อน พูดจาโผงผาง ตอนนี้พยายามพัฒนาตัวเองให้นุ่มนวลขึ้น พยายามพูดดี ๆ กับน้องให้มากที่สุด ถ้ามีปัญหาจะไม่ดุด่าว่ากล่าวน้อง ใช้พูดคำสุภาพ ให้น้องคิดได้เองว่าทำแบบนี้มันไม่ดีนะหรือไม่ควรทำนะ การเป็นพี่เลี้ยงต้องใจเย็นเพราะว่าถ้าเรายิ่งหัวร้อน น้องเขาจะยิ่งต่อต้านเรา ถ้าเราสั่งหรือบังคับเขา เขาจะไม่มีความสุขและรู้สึกอึดอัดกับงานที่ทำ พอเราใจเย็นมากขึ้นน้องเขารู้สึกผ่อนคลายเวลาทำกิจกรรม สามารถทำงานได้ดี เราปล่อยให้น้องเขาทำ อย่าไปกดดันน้องมาก ช่วงแรกพี่วรรณกดดันน้อง เวลาที่น้องทำงานเสร็จไม่ตรงตามเป้าหมาย ตอนที่พี่พาน้องออกไปทำกิจกรรมข้างนอก น้องได้ทำงานร่วมกับเพื่อนทีมอื่น เขาได้รู้จักการปรับตัวเองเยอะ เวลาที่น้องทำงานได้ดี เราต้องให้กำลังใจและชื่นชมเขา เพื่อเขาจะได้มีกำลังใจทำงานต่อไป
อยากพัฒนาเรื่องการถอดบทเรียน ทักษะการตั้งคำถาม พี่พยายามตั้งคำถามเพื่อถามน้อง ๆ ไม่ชี้นำคำตอบให้น้องมากจนเกินไป อยากตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้น้องหาคำตอบด้วยตัวเอง
ถาม หลังจากทำโครงการน้อง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ตอบ เด็กในโครงการเป็นเด็กในชุมชนทั้งหมด ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับเรื่องควนดินดำ คือ รู้แค่ว่าที่นี่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ รู้ว่าเจ้าที่ตรงนั้นแรง เรื่องคนหลงป่า พอเด็ก ๆ ได้ลงพื้นที่จริง ทำให้เขารู้ว่าควนดินดำที่เคยเป็นแค่ความเชื่อ พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งต้นน้ำ มีความสำคัญกับชุมชน เขารู้ว่าหมู่บ้านของเราอยู่ต้นน้ำ ถ้าเราอนุรักษ์ธรรมชาติตรงนี้ไว้ คนที่อยู่หมู่บ้านถัดจากเราไป เขาจะได้มีน้ำกินน้ำใช้ด้วย คุณค่าและความสำคัญของป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ควนดินดำ ถ้าเราร่วมกันปลูกป่าและทำฝายประโยชน์ที่ได้รับมหาศาลมาก คนที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่แค่ตัวน้องหรือชุมชนตัวเองแต่ยังเป็นชุมชนอื่น ๆ ด้วย ในตอนแรกน้องบางคนไม่รู้ว่าบ้านของเราเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ เป็นความรู้ใหม่ของเด็ก ๆ เด็กบางคนไม่เคยเห็นน้ำที่มาจากดิน พอเขาได้ไปเห็นของจริง เขารู้สึกสนใจมาก ไม่รู้ว่าน้ำในคลองบ้านเราที่เราใช้กิน ใช้เล่น ใช้รดน้ำผัก เขารู้ว่าจุดกำเนิดของมันอยู่ที่ไหน จากต้นน้ำสายเล็กกลายเป็นลำคลอง กลายเป็นแม่น้ำและไหลสู่ทะเล เขาประหลาดใจว่าที่นี่คือต้นกำเนิดของแม่น้ำตรัง เขายิ่งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรในหมู่บ้านตัวเองมากขึ้น เขารู้สึกภูมิใจในหมู่บ้านตัวเอง