​นางสาวปู่เตะ หาดเด็น โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย

นางสาวปู่เตะ หาดเด็น (จ๊ะเต๊ะ) อายุ 42 ปี

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านบ้านมดตะนอย ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

­

­

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาวปู่เตะ หาดเด็น ชื่อเล่นจ๊ะเต๊ะ อายุ 42 ปี เป็น อสม. บ้านมดตะนอย ทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย ตำแหน่งพี่เลี้ยงเยาวชน

ถาม ก่อนเข้าร่วมโครงการนี้ เคยทำงานเกี่ยวกับเยาวชนหรือชุมชนอะไรมาบ้าง

ตอบ ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับเยาวชน โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ทำงานร่วมกับเยาวชนอย่างจริงจัง พี่เคยทำงานกับ สก.สว. เป็นนักวิจัยรุ่นใหญ่ ทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นของชุมชนบ้านมดตะนอย

ถาม ทำงานชุมชนมากี่ปี

ตอบ พี่เป็น อสม. ของหมู่บ้านมา 8 ปี ทำงานของชุมชนในทุก ๆ ด้านเท่าที่เราจะทำได้ ช่วยงานกิจกรรมจิตอาสาของหมู่บ้าน เก็บขยะในชุมชน งานพัฒนาชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่งานของหมู่บ้านมีทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนในชุมชนเข้ามาร่วม โครงการนี้เป็นงานแรกที่พี่ทำร่วมกับเยาวชนแบบชัดเจน

ถาม ทำไมถึงสนใจเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

ตอบ พี่ฟังชื่อโครงการแล้วรู้สึกสนใจ พี่เป็นคนหนึ่งที่ชอบลงไปหาหอย สมัยก่อนตอนที่บนอยู่เกาะลิบง ที่นั่นมีหอยเป๋าฮื้อแต่ตอนนี้ได้สูญหายไปจากเกาะ โครงการนี้ทำให้พี่เชื่อมโยงความคิดเรื่องหอยเป๋าฮื้อที่หายไปจากเกาะลิบง พี่คิดว่าเราต้องร่วมกันอนุรักษ์ ถ้าเราให้คนนอกพื้นที่เข้ามาหาหอย อาจจะทำให้หอยสูญพันธุ์ไปจากหมู่บ้าน พี่เก็บหอยเป็นอาชีพเสริม ส่วนใหญ่จะหาหอยเพื่อมาทำอาหารในครัวเรือน อาชีพหลักของพี่คือ แม่ค้าขายอาหารตามสั่ง เมื่อก่อนลงพื้นที่ไปหาหอยสะดวก เราลงไปที่ชายหาดไม่ไกลจะพบหอยจำนวนมาก แต่ตอนนี้กลับไปลงพื้นที่อีกครั้ง รู้สึกตกใจ ไม่เหมือนเดิม ตอนนี้เราต้องลงไปหาหอยไกลขึ้น หอยมีจำนวนลดน้อยลง พี่คิดว่าเราต้องทำโครงการนี้ พี่จึงตัดสินใจมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

ถาม ขอให้เล่าถึงบทบาทหน้าที่พี่เลี้ยงที่เราทำ

ตอบ ช่วยติดต่อประสานงาน ประชุมพูดคุยกับน้อง ๆ ให้ความรู้ คำปรึกษากับน้อง ๆ เขามาปรึกษาว่า เขาควรเริ่มทำอะไรก่อนจึงจะดี ควรทำกิจกรรมอะไรบ้าง เราแนะนำให้เขาวางแผน ตามหาผู้รู้ เริ่มจากให้เขาเก็บข้อมูลก่อน เวลาที่มีการอบรม เราเป็นคนพาน้อง ๆ ไปเข้าร่วม เราจะอยู่กับพวกเขาในทุกกิจกรรม

ถาม ในโครงการนี้มีพี่เลี้ยง 2 คน ทีมพี่เลี้ยงมีวิธีการทำงานอย่างไร

ตอบ ถ้าน้อง ๆ ลงพื้นที่ พี่เลี้ยงทั้ง 2 คนจะลงพื้นที่ร่วมกับน้อง ตอนลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ ถ้าพี่ไม่ว่างน้องแหวนจะลงไปช่วยน้อง ๆ แทน ในชุมชนเรามี 2 โครงการ มีพี่เลี้ยงโครงการละ 2 คน ทีมพี่เลี้ยงมีทั้งหมด 4 คน เราจะทำงานเป็นทีม ถ้าลงพื้นที่พวกเราจะไปด้วยกันทั้งหมด โครงการโกงกางสานรักเขาจะทำในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งที่ตรงนั้นจะมีหอยอาศัยอยู่ โครงการของเราจะไปเก็บข้อมูลที่นั่นด้วย

ถาม จุดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงของเราคืออะไร

ตอบ เราคอยกระตุ้นน้อง ๆ ในวงประชุม ในโครงการของเราจะตั้งกลุ่มสนทนาออนไลน์ เพราะน้อง ๆ วัยนี้เขาติดโทรศัพท์มือถือมาก เราจึงเลือกติดต่อกันด้วยวิธีนี้ ถ้าน้อง ๆ คนไหนไม่มา เราตามโดยใช้วิธีการสื่อสารแบบพี่น้อง ทำตัวเป็นเพื่อนกับพวกเขา เราเป็นคนประสานงานกับพ่อแม่ของน้อง ๆ สื่อสารกับพ่อแม่ให้เข้าใจว่าโครงการเราทำอะไร มีกิจกรรมอะไร เพราะว่าเราต้องขอเวลาว่างของน้อง ๆ ให้เขาแบ่งเวลามาร่วมทำกิจกรรม พ่อแม่ของน้องทุกคนยินดีให้ความร่วมมือพร้อมสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

ถาม เรามีวิธีการสื่อสารกับผู้ปกครองของน้อง ๆ อย่างไร

ตอบ คนในชุมชนเราอยู่กันแบบพี่น้อง เราจะรู้จักกันอยู่แล้ว เราสามารถพูดคุยกันได้ ในส่วนของเด็ก ๆ เรารู้จักเห็นกัน แต่ไม่รู้จักนิสัยของเด็กว่าลึก ๆ เขาเป็นแบบไหน เราต้องใจเย็น คิดในแง่บวกทุกเรื่อง เราต้องทำความเข้าใจกับเด็ก

ถาม ช่วยยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เราต้องใช้ความใจเย็น คิดบวก ทำความเข้าใจกับเยาวชน

ตอบ เวลาที่เราคุยกับเขา บางทีเขาเล่นโทรศัพท์ไม่ฟังเราพูด เราต้องใจเย็นและสื่อสารกับเขาโดยใช้คำพูดดี ๆ เช่น “ลูกวางโทรศัพท์ก่อนนะ เดี๋ยวค่อยเล่น” พอเราพูดแบบนี้เด็ก ๆ ก็เชื่อฟังขึ้น อาจมีบางครั้งที่เราขึ้นเสียงกับเขาไปบ้าง เช่น “ถ้าไม่ฟังจะโดนนะ” เราต้องสังเกตเด็ก บางครั้งถ้าเราตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปก็ไม่ดี เราต้องมีทั้งตึงและหย่อนเข้าหา ความพอดีที่จะสื่อสารกับเขา เพราะทุกวันนี้พ่อแม่ของเด็กเองยังเอาพวกเขาไม่อยู่ นับประสาอะไรกับพี่เลี้ยงอย่างเรา

ถาม จุดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงของเรามีอะไรเพิ่มเติมอีกไหม

ตอบ พี่เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังเรื่องของน้อง ให้คำปรึกษากับพวกเขา ทำให้น้องเขาไว้วางใจในตัวเรา ยกตัวอย่าง น้องโอมเขาจะคอยเข้าหาเรา ถามเราอยู่ตลอดว่า เมื่อไรจะมีกิจกรรมให้พวกเขาทำอีก จะมีเด็ก ๆ ในโครงการมาถามเราบ่อย เมื่อวานยังเด็กมาถามว่าวันนี้จ๊ะมาทำอะไร เราบอกว่า พี่ ๆ จะมาสัมภาษณ์จ๊ะกับพี่นาน พวกเขาบอกว่า ทำไมไม่มาสัมภาษณ์พวกเขาบ้าง น้อง ๆ สนใจที่เข้าร่วมกิจกรรมอยู่ตลอด

พี่คิดว่า การฟังที่ดี คือ เราต้องค่อย ๆ ฟังสิ่งที่เขาพูดให้จบก่อน เราจะไม่พูดแทรก ตอนที่เราฟังเขา เราคิดตามเขาไป ในตอนจบถ้าเขาถาม เราก็เสนอความคิดเห็นของเราได้ เมื่อก่อนไม่เคยใช้วิธีการนี้ค่ะ เพิ่งมาใช้ตอนที่เราเริ่มอายุมากขึ้น เรามีลูกที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับเขา เราต้องทำตัวเป็นเพื่อนเขา พี่เอาวิธีการที่ใช้กับลูกมาใช้กับน้อง ๆ ในโครงการ ตอนที่เข้าค่ายพี่เลี้ยง เรากลับมาคิด การเป็นพี่เลี้ยงต้องใจเย็น คิดในแง่บวก ต้องเป็นผู้ให้ เรากระตือรือร้นมากขึ้นหลังจากกลับจากค่าย ปกติพี่เป็นคนคิดบวก พอเราได้ความรู้จากค่ายพี่เลี้ยงเพิ่ม ทำให้พี่มีทักษะชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ถาม ช่วงที่น้อง ๆ ไปลงพื้นที่ พี่เลี้ยงมีส่วนช่วยในการพาน้องเรียนรู้อย่างไร

ตอบ ตอนที่ไปสัมภาษณ์ผู้รู้ พี่จะนั่งรับฟังร่วมกับน้อง ๆ ถ้าน้องมีข้อสงสัย เราคอยตอบคำถาม เราวางแผนร่วมกัน เฝ้าดูน้อง ๆ ทำงาน ช่วงลงพื้นที่เราสำรวจร่วมกับน้องว่ามีหอยอะไรบ้างที่หายไป หอยชนิดไหนที่เราควรอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าน้อง ๆ ทำอะไร ทีมพี่เลี้ยงจะทำด้วยตลอด ช่วงที่ลงพื้นที่จริงพี่จะไปด้วยตลอด มีอยู่หนึ่งครั้งที่พี่ไม่ว่างไปร่วม ก็มีทีมพี่เลี้ยงคือน้องแหวนช่วยดูแลน้อง ๆ

ถาม ช่วงที่น้อง ๆ ไปทำกิจกรรม พี่เลี้ยงมีส่วนช่วยในการพาน้องเรียนรู้อย่างไร

ตอบ ช่วงทำกิจกรรมประกวดทำอาหาร น้อง ๆ คิดเมนูจากหอย เขาจะดูว่าหอยชนิดนี้ทำเป็นเมนูอะไร ทำแบบไหน ส่วนทีมพี่เลี้ยงเป็นคนช่วยทำ ช่วยปรุงอาหาร

ถาม หลังจากทำกิจกรรม พี่เลี้ยงมีส่วนช่วยในการพาน้องเรียนรู้อย่างไร

ตอบ พวกเรากลับมาคุยสรุปผลกัน จากการที่เราลงพื้นที่ พวกเราทำอะไรบ้าง เราได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง หอยชนิดไหนได้สูญหายไป

ถาม ตอนที่เด็ก ๆ ร่วมผลักดันในการสร้างกฏกติกาในหมู่บ้าน พี่เลี้ยงมีส่วนช่วยอย่างไร

ตอบ เรามานั่งประชุมกันระหว่างกลุ่มเด็ก ทีมพี่เลี้ยง ผู้ใหญ่บ้าน ในวันประชุมประชาคมประจำเดือน เราทำข้อตกลงกับชาวบ้านร่วมกัน พอชาวบ้านในหมู่บ้านรับรู้ เขาพูดกันปากต่อปาก เวลาที่มีคนนอกพื้นที่เข้ามา เขาจะช่วยกันตรวจตรา ตักเตือน คนในชุมชนช่วยกันประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ โดยใช้วิธีพูดปากต่อปาก ถ้าโครงการได้ทำต่อ เราน่าจะมีโอกาสได้พัฒนาต่อไป

ถาม เครื่องมือ เทคนิค วิธีการไหนที่พี่เลี้ยงใช้แล้วได้ผล ใช้ตอนไหน ผลที่ได้เป็นอย่างไร

ตอบ เปิดโอกาสให้น้องได้ใช้ความคิด ลงมือทำด้วยตัวเขาเอง แต่ถ้าเขาสงสัยหรือมีคำถาม สามารถมาถามทีมพี่เลี้ยงได้ เช่น ตอนหลังจากที่เราได้ลงพื้นที่ เรากลับมาประชุมสรุปงานกัน เราชวนเด็ก ๆ ตั้งคำถามต่อว่า “เราจะทำอะไร ทำอย่างไร” เราเปิดพื้นที่ให้เขาได้คิดเอง อยากให้เขาช่วยกันแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดหรือถูก เราเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดออกมา ส่วนไหนที่เราแนะนำเพิ่มเติมได้ เราจะแนะนำหลังจากที่ได้ฟังเขาแล้ว พี่เคยทำงานกับทีม รพ.สต. เราจะใช้วิธีนี้การนี้ คือไม่มีผิดไม่มีถูก ขอให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นออกมาก่อน

ถาม คิดว่าวิธีการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น ทดลองทำ มีผลดีกับตัวเขาอย่างไร

ตอบ เขาจะได้เรียนรู้วิธีการหาข้อมูลด้วยตัวเอง เป็นความท้าทายสำหรับพวกเขา ตอนที่พี่เป็นนักวิจัยรุ่นใหญ่ เราต้องลงหาข้อมูลในพื้นที่เอง หลังจากนั้นนำข้อมูลมาสรุปกัน ตอนนั้นพี่เลี้ยงของเราทีม รพ.สต. คอยบอกเราว่า “ไม่มีผิด-ไม่มีถูก” ทำให้เรากล้าที่แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เรามีโอกาสพูดสิ่งที่เราคิดออกไป เมื่อก่อนเราไม่กล้าพูด เพราะเรากลัวว่าความคิดของเราจะไม่ถูกต้อง แต่พอได้ยินคำพูดที่ว่า ไม่มีมีผิด ไม่มีถูก มันทำให้เรากล้า เรานำวิธีการนี้มาใช้กับน้อง ๆ ต่อ เราสังเกตตอนที่เราใช้วิธีการนี้กับน้อง……ที่อายุ 13 ปี เขาเป็นคนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ตอนนี้เขาเปลี่ยนไป กล้าคิด กล้าแสดงออก เพราะว่าเราให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก

ถาม เรียนรู้อะไรจากการพี่เลี้ยงเยาวชน

ตอบ เราไม่เคยเป็นพี่เลี้ยงมาก่อน เราต้องเป็นโคชให้กับเด็ก ๆ พร้อมมอบความรู้ให้เขาได้ในเวลาที่เขาสงสัย บางเรื่องที่เรายังไม่รู้ ถ้าเด็กถาม เราก็ต้องหาข้อมูลสอบถามจากผู้รู้มาให้เขา เช่น เด็ก ๆ ถามความรู้เกี่ยวกับหอยในพื้นที่ ซึ่งเราไม่ใช่คนดั้งเดิมในพื้นที่ เราไม่รู้ว่าในพื้นที่มีหอยอะไรบ้าง เราต้องไปถามข้อมูลจากผู้รู้มาให้เขา บางทีเรากลัวน้องว่า ทำไมเป็นพี่เลี้ยงถึงไม่รู้ ก็เป็นการกระตุ้นให้เราต้องช่วยเขาหาข้อมูล

การเรียนรู้อีกอย่าง คือ เราได้เรียนรู้ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง จากการไปเข้าค่าย เราได้ทำกิจกรรม “ไข่ตลก ตกไม่แตก” เราต้องหาวิธีทำอย่างไรไม่ให้ไข่แตก เราสนุกไปกับกิจกรรม ในกิจกรรมทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราคิดมากไปไข่อาจจะแตก หรือ ถ้าเราคิดน้อยไปไข่อาจจะแตก เราต้องทำให้พอดี ๆ เราได้หลักคิดตรงนี้มาใช้กับเด็ก ๆ คือ เราต้องไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป

ถาม เด็กในโครงการของเรา ที่มีช่วงอายุที่แตกต่างกันมีผลต่อการทำงานของพี่เลี้ยงอย่างไร

ตอบ มีผลกระทบบ้าง เวลาที่เราทำงานกับพวกเขา เราต้องใจเย็น บางครั้งเราต้องนับ 1 – 10 ในใจ เด็กช่วงนี้เขาติดโทรศัพท์ ติดเกม เขาจะไม่ฟังเรา พอเราตลวาดเล็กน้อย เขาจะฟังแต่สักพักเขาจะกลับไปเล่นโทรศัพท์ต่อ เราต้องบอกเขาว่า “เราจะยึดโทรศัพท์แล้วนะ” เขาจะรับรู้ว่าเราเริ่มโมโห บางครั้งเราจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้

ถาม การจัดการอารมณ์ตัวเองสำคัญต่อการเป็นพี่เลี้ยงอย่างไร

ตอบ สำคัญ ถ้าเราใช้อารมณ์มากเกินไป เขาก็จะไม่ฟัง เด็กรุ่นใหม่เขาจะต่อต้าน เขาไม่ชอบเสียงตวาด เราต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ

ถาม อะไรในตัวเราที่ทำให้น้อง ๆ ไว้วางใจและเชื่อมั่น

ตอบ เริ่มต้นจากทีม รพ.สต. ทีมพี่เลี้ยงและน้อง ๆ ในโครงการโหวตให้เรามาเป็นพี่เลี้ยง คิดว่าการที่เด็ก ๆไว้ใจเรา เลือกเรามาเป็นพี่เลี้ยง เพราะว่าเราขายของอยู่ในชุมชน เราเป็นร้านขายอาหารตามสั่งร้านเดียวในชุมชน เด็ก ๆ จะมากินข้าวร้านเรา เขาผูกพัน คุ้นเคยกับเรามาก่อนแล้ว เด็ก ๆ มาพูดคุยในร้านบ่อย ๆ เราน่าจะดูใจดี เป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษาให้เขาได้

ถาม ปัญหา อุปสรรคในการทำโครงการคืออะไร

ตอบ เรื่องเวลา มีช่วงที่เด็ก ๆ ว่างไม่ตรงกัน เพราะเขาติดเรียน หรือ เวลาของพี่เลี้ยงกับเด็กที่ไม่ตรงกัน สำหรับตัวเรา เราเลือกมาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว เราให้เวลากับเด็ก ๆ ได้เสมอ เราแก้ปัญหาโดย หาเวลาให้ตรงกัน ถ้าได้ช่วงกลางคืนเราก็ประชุมกันตอนกลางคืน เราต้องเสียสละเวลาเพื่อเด็ก ๆ ตอนที่เข้าค่ายวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้เราต้องปิดร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งวันหยุดจะเป็นช่วงที่ร้านขายดีที่สุด เพราะคนทำงานหยุด เด็ก ๆ ในชุมชนไม่ต้องไปโรงเรียน เรายอมปิดร้านเพื่อไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และคนในทีมเลือกเรามาเป็นพี่เลี้ยงแล้ว เราต้องรับผิดชอบหน้าที่ เราสงสารเด็ก ๆ ด้วย ถ้าให้น้องแหวนไปคนเดียว เด็ก ๆ ก็จะถามหาเรา อีกอย่างหนึ่งพ่อแม่ของเด็ก ๆ เขาไว้วางใจเรา เราเลยอยากเสียสละเวลาของเราเพื่อเด็ก ๆ

ปัญหาอีกอย่างคือ ตอนที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียที่เป็นปัญหาคือ เด็กไม่สามารถทำกิจกรรม หรือ หาข้อมูลเพิ่มได้ แต่ข้อดีคือ ทำให้หมู่บ้านของเราปิด เราได้ใช้กฏกติกาที่คนในชุมชมตั้งไว้อย่างเคร่งครัด เราตั้งจุดคัดกรองหน้าหมู่บ้านเพื่อตรวจสอบคนภายนอกที่จะเข้ามาหาหอยและลากอวน เรามีโอกาสลงพื้นที่สำรวจหอย เราพบว่าหญ้าทะเลเจริญเติบโตขึ้นมากเยอะ พบหอยชักตีนขนาดเล็กที่ไม่เคยได้เห็นมานาน จากการที่เด็ก ๆ เป็นแรงผลักดันเรื่องการตั้งกฏกติกาในชุมชน และสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการบังคับใช้กฏอย่างจริงจัง เราได้เห็นทรัพยากรในหมู่บ้านกลับมาดีขึ้น

ถาม รู้สึกอย่างไรที่ได้ทำในโครงการนี้

ตอบ รู้สึกดีที่เราได้ทำโครงการนี้ เสียงสะท้อนจากกลุ่มม๊ะที่หาหอยในพื้นที่เขาบอกว่าทรัพยากรในหมู่บ้านดีขึ้น จากแต่เดิมที่คนมาแย่งกันหาหอย คนนอกพื้นที่เขาจับหอยทุกขนาดไป ทำให้หอยมีจำนวนน้อยลง แต่คนในพื้นที่เลือกจับเฉพาะหอยที่โตเต็มที่แล้วเท่านั้น เพราะว่าเราจะไม่ทำลายทรัพยากรในหมู่บ้าน เราทำโครงการนี้สร้างผลดีต่อชุมชนของเรา

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร

ตอบ อยากพัฒนาให้ตัวเองมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เวลาที่เด็ก ๆ ตั้งคำถามเราจะตอบพวกเขาได้ ตอนนี้เรามีแต่ข้อมูลที่เกิดจากประสบการณ์ตรง คิดว่าความรู้ของเรายังไม่มากพอที่จะให้เด็ก ๆ แต่ก็พยายามหาความรู้มาให้พวกเขามากที่สุด อยากพัฒนา ทักษะการตั้งคำถามเพื่อจะชวนน้อง ๆ คุย พี่จะนึกคำถามไม่ออก ไม่รู้ว่าจะถามอะไรกับน้อง ๆ พี่คิดว่าทักษะการตั้งคำถามมีความจำเป็น เราจะได้ทดสอบความรู้ของน้อง ๆ และกระตุ้นให้พวกเขาคิดเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

ถาม ในอนาคตอยากทำโครงการอะไรร่วมกับน้อง ๆ อีกบ้าง

ตอบ เด็ก ๆ อยากทำโครงการต่อยอด เขาอยากทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหอย ถ้าเด็ก ๆ ทำจริง พี่เลี้ยงจะทำด้วย พี่เองเป็นอาสาสมัครอยู่แล้ว กิจกรรมที่ทำตอนนี้มีอยู่หลายโครงการ โครงการขยะ แกนนำรักการอ่าน

ถาม สิ่งที่เด็ก ๆ ทำในโครงการ มีความสำคัญอย่างไรกับชุมชน

ตอบ อยากให้มีทรัพยากรรุ่นต่อรุ่น เมื่อก่อนตอนที่พี่ย้ายมาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ จะพบหอยปูนจำนวนมาก แต่ตอนนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว พี่คิดว่าเด็กรุ่นหลังอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นหอยพวกนี้ พี่อยากให้คนรุ่นหลาน รุ่นเหลนได้เห็นทรัพยากรที่สมบูรณ์ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ใช่เห็นแค่เปลือกหอยหรือรูปภาพ

ถาม การเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ในโครงการเป็นอย่างไร

ตอบ จากที่คนภายนอกเข้ามาหาหอย เด็ก ๆ ในหมู่บ้านไม่เคยสนใจว่าใครจะเข้าจะออกในหมู่บ้าน หลังจากเขาร่วมโครงการ เข้ากระตือรือร้นมากขึ้น ช่วยสังเกตและเฝ้าระวังคนที่เขาออกในหมู่บ้าน คอยมาบอกผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน พี่คิดว่าโครงการนี้กระตุ้นให้เด็ก ๆ ในชุมชน เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน กลัวว่าทรัพยากรจะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ของเขา