อัพดอล พงศ์สวัสดิ์ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล

นายอัพดอล พงศ์สวัสดิ์  แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สตูล


อัพดอล พงษ์สวัสดิ์ หรือ อัพดอล ปัจจุบันทำงานฝ่ายสื่อสาร อยู่ที่บริษัทเดอะเกอร์ลิล่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ อัพดอลเป็นแกนนำเยาวชนในโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล ทำให้มีประสบการณ์ด้านการถ่ายทำวิดีโอและตัดต่อวิดีโอมาเกือบ 2-3 ปี หลังจากจบโครงการแล้ว บังพงษ์และบังเชษฐ์ (โค้ชพัฒนาพลเมืองเยาวชน) จึงชักชวนอัพดอลเข้าไปทำงานที่บริษัทนี้ด้วยกัน

ย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นทำโครงการในปีที่ 1 อัพดอลเล่าว่า บังเชษฐ์ ได้มาชักชวนก๊ะราด้า (พี่เลี้ยงชุมชน) และเด็ก ๆ ในชุมชนเกตรี ให้ไปทำโครงการ Active Citizen ร่วมกัน ซึ่งตอนนั้นอัพดอลยังไม่เข้าใจว่าโครงการ Active Citizen ที่ว่านี้เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร รู้เพียงว่าเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน จนกระทั่งตนเองได้มาทำโครงการเพื่อชุมชนในปีที่ 1 จึงค่อย ๆ เข้าใจว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร และจะเกิดประโยชน์กับตนเองอย่างไร

  • การทำโครงการในปีที่ 1 อัพดอลและเพื่อน ๆ มีความตั้งใจที่อยากจะทำแผนที่ชุมชนตำบลเกตรี แต่พอได้พูดคุยกับทีมโค้ช จึงตั้งเป้าหมายในการทำโครงการเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนตำบลเกตรี เนื่องจากอัพดอลและเพื่อน ๆ ไม่เคยรู้จักประวัติศาสตร์บ้านเกิดของตนเองเลย อีกทั้งยังอยากที่จะนำเรื่องราวที่ได้ศึกษานี้ไปเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนในตำบลเกตรีได้เรียนรู้อีกด้วย

ส่วนการทำโครงการในปีที่ 2 เป็นโครงการเกี่ยวกับการศึกษาข้าวอัลฮัม ที่เลือกศึกษาเรื่องนี้เพราะว่าเป็นการต่อยอดความรู้จากการทำโครงการในปีที่ 1 ที่เคยได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเองมาก่อน ซึ่งการทำข้าวอัลฮัมก็นับเป็นหนึ่งในเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรีที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้อัพดอลและเพื่อน ๆ ในทีมสนใจและอยากศึกษาเรื่องนี้ต่อให้ลึกขึ้น

อัพดอลเล่าให้ฟังว่า ในการทำโครงการในปีที่ 1 ของตนเองไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะเพื่อน ๆ ในทีมของอัพดอลต้องออกไปเรียนต่อที่อื่น ทำให้อัพดอลต้องรับบทหนักในการทำโครงการเพียงคนเดียว ทั้งการบริหารจัดการโครงการและการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ด้วยความที่อัพดอลมีความมุ่งมั่นตั้งใจและคิดว่าตนเองอยากทำโครงการต่อให้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้กับเพื่อน ๆ อัพดอลจึงหาเพื่อนร่วมทีมเพิ่ม โดยเริ่มชักชวนจากคนใกล้ตัว คือ น้องชายของตนเอง และน้องชายของเพื่อนที่เคยทำโครงการมาด้วยกัน ทำให้อัพดอลได้มีกำลังเสริมมาอีก 2 คนเพื่อช่วยกันทำโครงการต่อ

อีกช่วงหนึ่งของการทำโครงการในปีที่ 1 อัพดอลตั้งใจว่าอยากจะจัดค่าย เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ที่ตนเองได้ศึกษามาให้กับเยาวชนและคนในตำบลเกตรี แต่ตอนนั้นอัพดอลประเมินแล้วว่า ถ้าจัดค่ายกัน 3 คนไม่ไหวแน่ ๆ จึงได้กระจายกำลังกันไปช่วยหาคนมาจัดค่ายเพิ่มเติม ซึ่งตอนนั้นอัพดอลได้น้อง ๆ มาช่วยเกือบ 20 คน ซึ่งอัพดอลบอกกับเราว่าทีมงานมากกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมค่ายซะอีก และสิ่งที่อัพดอลรู้สึกประทับใจมาก สำหรับการจัดค่ายในวันนั้นก็คือ เพื่อน ๆ ของอัพดอลที่ออกไปเรียนต่อ ได้กลับมาช่วยอัพดอลจัดค่ายกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ทำให้การจัดค่ายวันนั้นเต็มไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

อีกหนึ่งเรื่องที่ท้ายก็คือ ช่วงที่จะต้องจัดงานมหกรรมเยาวชนในปีที่ 1 อัพดอลต้องทำสื่อวิดีโอ เพื่อนำไปใช้ในการนำเสนอเรื่องราวการทำโครงการตนเอง ซึ่งการที่อัพดอลทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทำให้การเล่าเรื่องนั้นเป็นไปด้วยความยาก เพราะไม่รู้จะเล่าเรื่องยังไงให้สนุกและเล่าเรื่องยังไงให้คนอื่นเข้าใจ จนกระทั้งทีมโค้ชได้เข้ามาช่วยอัพดอลเปิดมุมมองในการสื่อสารใหม่ ว่าจะต้องสื่อสารยังไงให้คนอื่นเข้าใจ ทำให้อัพดอลสามารถทำสื่อวิดีโอออกมาได้จนสำเร็จ

เมื่อเข้าสู่การทำโครงการปีที่ 2 อัพดอลก็ได้พบเจอกับอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะตนเองได้ขยับเข้ามาเป็นแกนนำเครือข่ายเยาวชนจังหวัดสตูล ซึ่งแน่นอนว่าบทบาทการทำงานของอัพดอลต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าตอนปี 1 ก็จะทำงานแค่ในชุมชนของตนเอง และทำงานร่วมกับทีมงานของตนเอง แต่พอขยับมาทำงานเครือข่ายเยาวชน ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนๆ อีก 14 พื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้อัพดอลรู้สึกว่ายากหรือทำไม่ได้ เพราะอัพดอลค่อนข้างจะสนิทกับเพื่อน ๆ ในเครือข่ายมาตั้งแต่ตอนทำโครงการในปีที่ 1 อัพดอลบอกว่าในการทำงานนั้น พวกเขาจะเน้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าหรือหากต้องทำกิจกรรมอะไรก็จะร่วมกันคิดร่วมกันทำจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากนักในการเป็นแกนนำเครือข่ายเยาวชน

และนอกจากอัพดอลจะรับบทบาทเป็นแกนนำเครือข่ายเยาวชนแล้ว แต่อัพดอลก็ไม่ได้ทิ้งน้อง ๆ ที่ทำโครงการกันต่อในปีที่ 2 ตอนนั้นอัพดอลได้มอบหมายให้น้อง ๆ สานต่อโครงการ แต่อัพดอลก็ยังเข้าไปช่วยน้อง ๆ เป็นระยะ ๆ ในฐานะพี่เลี้ยง คอยชวนน้อง ๆ คิด ชวนน้อง ๆ ทำโครงการ จนสำเร็จไปได้ด้วยดี

อัพดอลยังเล่าต่อว่า ในระหว่างการทำโครงการในปีที่ 1 อัพดอลได้เข้าร่วมอบรมทักษะด้านการสื่อสาร ซึ่งทางมูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นคนจัดให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ Active Citizen ซึ่งการอบรมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อัพดอลค้นพบความถนัดของตนเองในที่สุด

เริ่มต้นจากการฝึกถ่ายและตัดต่อวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือ หลังจากนั้นอัพดอลก็เริ่มรู้สึกสนุก เลยตั้งใจว่าอยากฝึกฝนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงได้ตัดสินใจซื้อกล้องมาลองถ่ายวิดีโอและฝึกตัดต่อวิดีโอโดยใช้คอมพิวเตอร์ จากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงงานมหกรรมเยาวชนในปีที่ 2 ซึ่งตอนนั้นมีสถานการณ์โควิด-19 พอดี ทำให้ไม่สามารถจัดงานมหกรรมแบบ On-site ได้ จึงได้ปรับมาจัดงานแบบ Online โดยการให้เยาวชนทั้ง 14 ชุมชน นำเสนองานในพื้นที่ของตนเอง และสื่อสารผ่านทาง Facebook Live ซึ่งตอนนั้น อัพดอลได้รับหน้าที่เป็นคนถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live อัพดอลบอกว่าการได้มอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชนของเพื่อนๆ ไปด้วย และที่สำคัญคือตนเองได้พัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสารมากขึ้นด้วย จนกลายเป็นว่า ‘ทักษะด้านการสื่อสา’นี้ ติดตัวเขาไปจนกระทั่งการทำงานในปัจจุบัน

นอกจากการค้นพบว่าตนเองชอบในการทำสื่อและมีทักษะนี้ติดตัวไปใช้ในการทำงานแล้ว อัพดอลบอกกับเราว่า เขามีทักษะการเข้าสังคมด้วย เพราะเมื่อก่อนอัพดอลเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบการเข้าสังคมเลย เวลาเจอคนแปลกหน้าก็จะปิดกั้นตัวเอง แต่พอได้ทำโครงการ Active Citizen ก็รู้สึกว่าตนเองกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น และกล้าที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ มากขึ้นด้วย

สุดท้าย อัพดอลบอกว่า สิ่งที่ตนเองอยากจะทำต่อในอนาคตก็คือ การไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้านภาพยนตร์ เพราะว่าตนเองชอบเส้นทางสายสื่อมาก ๆ และอีกหนึ่งสิ่งที่อยากจะทำในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ การจัดงานมหกรรมเยาวชนจังหวัดสตูลอีกครั้ง โดยการชวนเพื่อน ๆ ที่ทำเคยทำโครงการ Active Citizen ตอนปี 1 มาจัดงานร่วมกัน ซึ่งอัพดอลได้ไอเดียมาจากบังพงษ์ ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 นี้