นางสาวจิณณพัต สุขหู แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ลี้ นางสาวจิณณพัตร สุขหู ปัจจุบันอายุ 21 ปี กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลี้เป็นแกนนำเยาวชนจากโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน และได้เข้าร่วมโครงการในปีแรกตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านการชักชวนของพี่ในหมู่บ้าน (พี่ทอง พี่เลี้ยงชุมชน)
“โครงการผลิตฝ้าย (เส้นด้าย) และการย้อมสีธรรมชาติบ้านไม้สลี” เป็นโครงการที่ลี้ และเพื่อน ๆ ทำในปีแรก เหตุผลที่เลือกทำโครงการนี้ก็เพราะว่า ลี้เริ่มเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของตัวเองเริ่มจะหายไปโดยเฉพาะการผลิตฝ้ายจากเส้นด้าย และการย้อมสีธรรมชาติ เพราะคนในหมู่บ้านมักจะไปซื้อเส้นใยสังเคราะห์มาใช้แทน เพราะว่ามันไวกว่าและสีสันสวยงามกว่า ลี้จึงอยากจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมาทำใหม่ และที่สำคัญ ลี้มีความคาดหวังว่าอยากให้น้อง ๆ ในหมู่บ้านมาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ไปด้วยกัน
ด้วยความที่ลี้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าโครงการในปีแรก ก็ได้เจอกับความท้าทายในเรื่องของการแบ่งบทบาทหน้าที่กันในทีม เพราะลี้คิดว่าการเป็นหัวหน้าโครงการจะต้องรับผิดชอบงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านเอกสาร รายรับรายจ่ายโครงการ หรือการเขียนรายงาน ทำให้ลี้ไม่อยากที่จะสื่อสารขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ แต่เพื่อน ๆ ก็คอยถามไถ่และขอแบ่งงานจากลี้มาช่วยทำ เพราะไม่อยากให้ลี้เครียดและต้องรับผิดชอบงานเพียงคนเดียว
“จะมีเรื่องแบ่งหน้าที่กัน เหมือนกับว่าเป็นงานแรกด้วย หนูเป็นหัวหน้าทีม แล้วก็แบ่งงานให้เพื่อนไม่ได้ เรารู้สึกเหมือนว่า อันนี้เป็นหน้าที่ของเราหรือเปล่า ก็เลยให้เพื่อนช่วยแค่นิดหน่อย ส่วนใหญ่เรารับมาทำเอง มันก็เลยวุ่นวายนิดนึง แต่ว่าเพื่อน ๆ ในทีมน่ารัก ให้ความร่วมมือกันทุกคน เขาคอยถามว่าจะให้ช่วยไหม เหมือนเขาก็รู้ว่าเราเครียด เขาก็เลยถามว่าจะให้ช่วยตรงไหนไหม มีปัญหาตรงไหนหรือเปล่า หลังจากนั้นก็เลยคุยกันและแบ่งงานกันทำ”
นอกจากนี้ ลี้ยังเล่าให้ฟังถึงอีกหนึ่งความท้าทายว่า ในช่วงที่ลี้ได้เข้าร่วมการอบรมทักษะสื่อกับทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ตอนนั้นตัวเองรู้สึกเครียดมาก ๆ เพราะไม่มีพื้นฐานในเรื่องของการถ่ายและตัดต่อวิดีโอเลย แต่ลี้ก็ผ่านปัญหานั้นมาได้เพราะกำลังใจจากหลาย ๆ คน
“ตอนนั้นหนูเครียดมาก มันจะมีช่วงอบรมสื่อ ที่พี่ ๆ มาสอน แล้วพวกหนูไม่มีพื้นฐานในเรื่องการทำวิดีโอก็เลยรู้สึกว่ามันติด ๆ ขัด ๆ ไม่เสร็จสักที ก็เลยรู้สึกเครียดมาก ช่วงนั้นก็มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ มาให้กำลังใจว่าไม่ต้องเครียดมาก ทำเสร็จแค่ไหนก็แค่นั้น เพราะเป็นแค่การฝึกอบรมเฉยๆ เราก็เลยรู้สึกเบาใจไปนิดนึง”
จากความท้าทายที่ลี้ได้พบเจอจากการทำโครงการมาหนึ่งปีเต็ม ๆ ทำให้ลี้ได้ทักษะหลาย ๆ อย่างติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการเรียนในมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสื่อสารกับผู้อื่น ทักษะการนำเสนอโครงการ ทักษะการเขียนรายงาน และทักษะการทำคลิปวิดีโอ
สุดท้ายลี้บอกกับเราว่า เมื่อตนเองเรียนจบแล้วและมีโอกาสเธอจะนำทักษะ ความรู้ และความสามารถที่มี กลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองผ่านการสืบสานเรื่องราว “ผ้าทอ” ของชุมชนให้คงอยู่สืบไป