ปันจักสีลัตแห่งบ้านทุ่ง จังหวัดสตูล กระบวนเรียนรู้ที่มาจากสถานการณ์จริง
เรื่องและภาพ potential-test-user
- ในระดับสากล ปันจักสีลัตคือวัฒนธรรมร่วมและถูกยกระดับเป็นกีฬาสากลที่มีสมาคมวิชาชีพรองรับ หากในระดับชุมชน ปันจักสีลัตถูกใช้เป็น ‘กระบวนการเรียนรู้’ ของเด็กกลุ่มหนึ่ง ณ ชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
- ชวนอ่านวิธีคิดการจัดการเรียนรู้โดยคนในพื้นที่ที่เชื่อว่าต้องมาจาก ‘สถานการณ์จริง’ ความสำเร็จของโครงการเป็นผลพลอยได้ กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเข้าถึง ‘คุณค่า’ ต่างหาก คือเป้าหมายที่แท้จริง
- “ผมไม่ได้คิดว่าเด็กน้ำท่อมมีปัญหามากกว่า ต้องดูแลมากกว่า ต้องสปอยล์มากกว่า ปัญหาจริงๆ คือเด็กไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่ ต่อให้คุณเป็นเด็กเรียนหรือไม่เรียนหนังสือก็ไม่มีพื้นที่ พื้นที่ในการทำงานบนความเป็นจริงร่วมกันระหว่างเด็กต่อเด็ก หรือ เด็กต่อครู ต้องการพื้นที่เพื่อรวมตัวและทำอะไรร่วมกัน”
หากจำได้ งานมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2015 ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ‘ปันจักสีลัต’ เป็นหนึ่งในกีฬาที่คนไทยคว้าได้ถึง 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน แต่มีกี่คนที่รู้ว่ามันคือกีฬาอะไร?
ปันจักสีลัต ศิลปะการต่อสู้ของชาวมลายูในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ปันจักสีลัตคล้ายกีฬาเทควันโด แต่มีท่วงท่าร่ายรำที่เร่งเร้า ดุดัน หากบางจังหวะซ่อนความอ่อนไหวอ่อนโยน ยิ่งเมื่อร่ายรำพร้อมการประโคมเครื่องดนตรีแบบสีลัตในจังหวะรุกเร้าด้วยกลองและปี่ ยิ่งสะกดคนดูจนละสายตาไม่ได้ คล้ายตกอยู่ในมนตร์การต่อสู้ลี้ลับ
ในระดับสากล ปันจักสีลัตคือวัฒนธรรมร่วมและถูกยกระดับเป็นกีฬาสากลที่มีสมาคมวิชาชีพรองรับ หากในระดับชุมชน ปันจักสีลัตถูกใช้เป็น ‘กระบวนการเรียนรู้’ ของเด็กกลุ่มหนึ่ง ณ ชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
“ผู้รู้หรือคนที่ร่ายรำปันจักสีลัตในหมู่บ้านเป็นคนสุดท้ายอายุ 70 ปีไปแล้ว คนที่สอนได้กำลังจะตายไปทีละคนๆ รวมกับที่หมู่บ้านมีปัญหาเรื่องเด็กในชุมชนด้วย เด็กติดน้ำท่อม แว้นรถ คือเรียกว่ายังไง (คิด) หลายคนบอกว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็กไม่ดี พวกเรา ป๊ะๆ มะๆ เลยคุยกันว่าจะทำยังไงให้เขาดีขึ้น พอมีโครงการ Active Citizen ที่ให้เด็กๆ รวมกลุ่มกันทำโครงการในชุมชน พวกเขาเลยคิดกันว่าเอาเรื่องปันจักสีลัตขึ้นมาทำดูไหม เพราะที่หมู่บ้านเคยทำวิจัยเรื่องปันจักสีลัตอยู่เดิมแล้ว”
ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี พี่เลี้ยง โครงการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัตของชุมชนบ้านทุ่ง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านทุ่ง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล หรือ มะ ที่แปลว่า แม่ ของเด็กๆ ในชุมชนเล่าให้ฟัง และอธิบายถึงจุดเริ่มต้นที่ปันจักสีลัตเข้าไปเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และรวมกลุ่มของเด็กๆ ซึ่งมะเดี๊ยะบอกว่าเด็กในชุมชนเริ่มมีปัญหาติดน้ำท่อม ซิ่ง หรือแว้นรถมอเตอร์ไซค์ยามค่ำคืน
ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรม ยังมีปัญหาที่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็น มะ และ ป๊ะ (พ่อ) ของเด็กๆ ในชุมชน – รู้สึกร่วมกันคือ ความห่างเหิน ความไว้วางใจ ความห่วงกังวลวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าพวกเขาจะเดินไปในทางที่ไม่ดี
มะเดี๊ยะจึงชวนผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในชุมชน ร่วมกับผู้ประสานงานจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล ที่รับผิดชอบโครงการ Active Citizen เปิดพื้นที่ในชุมชนให้เด็กๆ นำประเด็นปันจักสีลัตซึ่งชุมชนเคยวิจัยอยู่แล้ว เป็นประเด็นทำโครงการ
ในช่วงต้น ไม่ใช่เด็กทุกคนที่อยากทำโครงการ เป็นการริเริ่มโดยคนหนุ่มสาวไม่กี่คนที่เห็นว่าควรรักษาปันจักสีลัตไว้ หนึ่งในนั้นคือ ‘สาว’ ณัฐดา หมื่นอาด แกนนำพี่ใหญ่ของโครงการ แล้วค่อยเข้าไปชวนคนหนุ่มสาวในชุมชนให้เข้ามาร่วมกันมากขึ้น
“สำหรับเด็กกลุ่มที่ติดน้ำท่อม ตอนแรกพวกเขาไม่ได้อยากมานะ มะต้องไปปลุกถึงที่นอน (หัวเราะ) แต่พอเราพาเขาไปเห็นปันจักสีลัตจริงที่ปัตตานี เด็กๆ กลุ่มนี้กลับมาเขาบอกเลย จะต้องทำแบบนั้นให้ได้ เด็กๆ เขามีแรงบันดาลใจขึ้นมา” มะเดี๊ยะของเด็กๆ เล่าถึงจุดเปลี่ยนให้ฟัง
ความน่ารักของจุดเปลี่ยนที่มะว่า เบื้องหลังคือการผลักดันของคนในชุมชน อย่างที่ อับดุลอาสีด หยีเหม หรือ บังปิง ผู้ประสานงานจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (จังหวัดสตูล) เล่าว่า
“ผมพยายามค้นหาว่าครูที่ฝึกสอนปันจักสีลัตดีๆ มีอยู่ที่ไหนบ้าง จนรู้ว่ามีผู้รู้อยู่ที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แม้ไม่มีงบการเดินทาง แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนบอกเลยว่าจะช่วยระดมเงินกันคนละ 200 บาทเป็นค่ารถ ส่วนอาหารก็เอาข้าวหม้อแกงหม้อไปกินกันระหว่างทางเลย”
แม้บังปิงจะขำให้กับเรื่องเล่าและสื่อว่านี่เป็นเพียงน้ำใจระดับ ‘บ้านๆ’ แต่ก็เห็นภาพการสนับสนุนของคนในชุมชน ที่อาจสะท้อนว่าไม่ใช่การทำโครงการอย่างโดดเดี่ยว แต่มีแรงผลักและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอยู่ในงานด้วย
เป้าหมายหลักไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่คือกระบวนการสร้างการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง
หากแกะรอย นี่ไม่ใช่แค่โครงการที่ต้องการแค่ผลลัพธ์ในเชิงความสำเร็จตามเป้าหมาย พูดอีกแง่ หากปันจักสีลัตจะดำรงไว้ในชุมชนได้ นั่นคือผลพลอยได้ เป้าหมายหลักที่กลุ่มโค้ชจังหวัดสตูลต้องการในโปรเจ็คท์นี้ – เยาวชนโครงการ Active Citizen ทั้ง 13 โครงการ ใน 7 อำเภอ ของจังหวัดสตูล – คือ กระบวนการเรียนรู้ที่มาจากสถานการณ์จริง อย่างที่ พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (โหนด หรือ โค้ช) จังหวัดสตูล อธิบายคอนเซ็ปท์ของโครงการว่า
“project based learning ของเรา ไม่ได้เน้นอยู่บนฐานความคิด แต่เน้นจากฐานความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในภาวการณ์ชุมชน
ซึ่งถ้าให้พูดแบบกวนตีน ทุกอย่างเป็นเรื่องชุมชนหมด แต่สเกลไหนล่ะ? ชุมชนระดับโลก ชุมชนระดับประเทศ ชุมชนระดับครอบครัว อยู่ที่คุณจะเรียก แต่ทุกวันนี้ชุมชนไม่ใช่แค่หมู่บ้านแบบที่เราเรียนมา ชุมชนเปลี่ยนแล้ว
“ยืนยันด้วยประสบการณ์ทำงานตลอดสิบปีที่ผ่านมา เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์ตรง ฉะนั้นมันไม่มีประสบการณ์ตรงไหนดีที่สุดเท่าสิ่งที่คุณเห็น และเมื่อลงไปทำจริง จะทำให้คุณเข้าใจสิ่งนี้มากขึ้น
“มันไม่ใช่แค่โปรเจ็คท์เพื่อแก้ปัญหาขยะหรือปัญหาอื่นๆ แต่คือการที่คุณเข้าถึงคุณค่าบางอย่าง ต่อการเรียนรู้บางอย่าง ต่อการสื่อสารบางอย่าง ตัวโปรเจ็คท์อาจแก้ปัญหานั้นไม่ได้ แต่เราเชื่อว่า ณ ขณะนั้นมันเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้ปฏิบัติการบางอย่างแล้ว”
คนทำงานหลายคนในโครงการปันจักสีลัตพูดตรงกัน พื้นที่นี้ตั้งใจพุ่งเป้าไปที่เด็กกลุ่มเสี่ยง หลายคนถูกขนานนามเป็นราชาน้ำท่อม หรือซิ่งแว้นป่วนเมือง บังเชษฐ์ทำงานด้วยวิธีคิดเช่นเดียวกันนี้รึเปล่า? – เราถาม
“ผมไม่ได้คิดว่าเด็กน้ำท่อมมีปัญหามากกว่า ต้องดูแลมากกว่า ต้องสปอยล์มากกว่า ปัญหาจริงๆ คือเด็กไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่ ต่อให้คุณเป็นเด็กเรียนหรือไม่เรียนหนังสือก็ไม่มีพื้นที่ พื้นที่ในการทำงานบนความเป็นจริงร่วมกันระหว่างเด็กต่อเด็ก หรือ เด็กต่อครู ต้องการพื้นที่เพื่อรวมตัวและทำอะไรร่วมกัน
“งานนี้ เราเจอเด็กหลายแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มไหนมันก็จะมีคาแรคเตอร์บางอย่างในการทำงาน เช่น กลุ่มเด็กน้ำท่อม กลุ่มเด็กเรียน กลุ่มเด็กกิจกรรม เราคิดว่า พื้นที่แบบนี้คือตัวเชื่อม แต่ผมยังยืนยัน พื้นที่นี้เป็นของเด็กทุกคน ใครอยากใช้ มา เราไม่ได้ใช้พื้นที่นี้เพื่อสปอยล์แค่สำหรับใครบางคน”
แม้พิเชษฐ์ยืนยันว่าพื้นที่นี้ไม่ได้มีเพื่อคนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ แต่อาจเพราะเมื่อพื้นที่เปิดให้กับเด็กที่สังคมเห็นว่าไม่ควรมอบพื้นที่ให้ เมื่อพื้นที่ของเขาเปิด การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่มันกลับมากมายมหาศาล
“เขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก (เน้นเสียง) รอบบ้านไม่เหลือใครเลย มีลูกเพื่อนอยู่สองสามคนแค่นั้นที่ไม่ใช้ยา มะเหมือนจะเสียคนไปเลยกับการต่อสู้ มันท้อเหมือนกันเนอะ… คนเป็นแม่
“จนวันหนึ่งมีประชุมโครงการ จากที่เคยฟังลูกเล่าว่าไปทำอะไรมา เราคิดว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งเล็กๆ แค่ไปเข้าค่าย วันนั้นเป็นครั้งแรกของมะที่ได้เข้าไปประชุมกับลูก มะก็นั่งฟัง ‘อ๋อ… นี่เอง ที่ลูกไปเข้าค่าย’ มะได้นั่งฟังพี่เลี้ยงพูด มันรู้สึกมีความหวัง เหมือนมีแสงสว่างในใจของแม่ (ยิ้ม) ว่าถ้าลูกเราจับสิ่งนี้สำเร็จ มันต้องมีอะไรสักอย่างเกิดในตัวเขา”
อีกหนึ่งเสียงของ ฮาบิด๊ะ มะของ อันวาร์ นาเคณฑ์ หนึ่งในเยาวชนเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัต แม้เราไม่เคยเจอกันมาก่อน เพียงได้พูดคุยสั้นๆ แต่ความในใจของเธอพรั่งพรูไม่ขาดสาย บางจังหวะเธอขอหยุดเพื่อหายใจเมื่อย้อนเล่าวันที่ลูกชายยังน่าเป็นห่วง บางจังหวะเธอหัวเราะเต็มเสียงยามเอ่ยถึงปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกชายดีขึ้นเพราะความรับผิดชอบและการพึ่งพาได้ของลูกชายเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้น้ำตารื้น แต่เราจับได้ว่าเธอโล่งใจ