“นาข้าวอัลฮัม” โรงเรียนรู้ของเยาวชนที่ตำบลเกตรี
เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา
- ถ้าเยาวชนค้นเจอว่าเรื่องอะไรที่เขาสนใจ จะพบว่ามีพื้นที่เรียนรู้หลากหลายและเป็นไปได้มากมาย รวมถึง ‘นาข้าว’
- กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรีสนใจทำโครงการ ศึกษาเรื่องข้าวอัลฮัม ซึ่งเป็นของดีของตำบล มีที่มาจากคำว่า ‘อัลฮัมดุลิลละห์‘ เป็นภาษาอาหรับ ที่แปลว่า ขอบคุณอัลลอฮฺหรือขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า เป็นข้าวที่นิยมปลูกในตำบลเกตรีในอดีต แต่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์อื่น เช่น ข้าวหอมปทุม เข้ามาแทนที่
- พวกเขาศึกษาวิธีการปลูก ลงมือปลูก หาวิธีเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแป้งข้าวอัลฮัม รวมถึงประชาสัมพันธ์ความรู้ผ่านทางออนไลน์ เป็นโครงการระยะ 1 ปีที่พบว่าคนทำนั้นเติบโตไปพร้อมๆ กับข้าว…
“กินมัน อิ่มนาน ทำงานทน”
กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี เปรียบเปรยถึงคุณสมบัติข้าวอัลฮัม ข้าวพื้นถิ่นตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
The Potential จะพาไปทำความรู้จักข้าวพันธุ์พื้นเมืองหายากอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ข้าวอัลฮัม‘ กับ โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดย กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
ความเป็นมาของข้าวอัลฮัมที่ได้อรรถรส
“กินมัน อิ่มนาน ทำงานทน” กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี เปรียบเปรยถึงคุณสมบัติข้าวอัลฮัม ข้าวพื้นถิ่นตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
จุดเด่นทางโภชนาการของข้าวอัลฮัม เป็นข้าวที่มีแคลเซียม กาบา โอเมก้า 3, 6 และ 9 สูง หากวัดคุณภาพเมล็ดข้าวทางเคมี ข้าวอัลฮัมมี ‘อะไมโลส‘ (Amylose) หรือปริมาณแป้งในเนื้อข้าวอยู่ในระดับสูง (25%) ขณะที่ข้าวหอมมะลิมีอะไมโลสอยู่ในระดับต่ำ (12%)
ปริมาณอะไมโลสบ่งบอกอะไร?
อะไมโลสส่งผลโดยตรงต่อเนื้อสัมผัสของข้าวหุงสุก เช่น ความนุ่ม ความร่วน และการพองตัว กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี บอกว่า ข้าวที่มีอะไมโลสสูงเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความแข็งร่วนมากกว่าข้าวที่มีอะไมโลสต่ำ จากคำบอกเล่าของกลุ่มเยาวชนที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนท้องถิ่นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวอัลฮัมเป็นข้าวแข็ง หุงขึ้นหม้อ กินอิ่มท้อง ให้พลังงาน เหมาะสำหรับกินกับแกงส้ม แกงคั่ว และแกงใต้รสจัดจ้าน แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่มีความนุ่มมากกว่า
“ทุกคนต้องกินข้าว ดังนั้นเราจะทำให้ข้าวไม่ใช่แค่ข้าว”
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอัลฮัมเป็นความตั้งใจแรกของกลุ่มเยาวชน ที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีทำโครงการ วันนี้ ซี – ภารดร พงค์สวัสดิ์, มุค – อับดุลมุคนี ขุนรักษ์, บีม – ภาวี อาดำ, ยิบ – มูฮัมหมัด แก้วสลำ และ บัส – สุชาติ เกสมาน เป็นตัวแทนกลุ่มมาบอกเล่าเรื่องราวการทดลอง ค้นคว้า สืบเสาะ สัมภาษณ์ ตะลุย และชิมขนมจากข้าว อย่างสนุกสนานครบรส
โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนไม่ใช่โครงการแรกในนามกลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี ก่อนหน้านี้รุ่นพี่สภาเยาวชนตำบลเกตรีเคยทำ โครงการศึกษาและรวบรวมตำนานและประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรี เพื่อเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนในชุมชนมาก่อน ทำให้พวกเขามีฐานข้อมูลประวัติชุมชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
“รุ่นพี่ได้ไปหาข้อมูลมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงลึก พวกผมเลยเลือกมาลงลึกเอาจริงกับเรื่องข้าวอัลฮัม” มุค กล่าว
การทำโครงการเริ่มต้นจากการมองหาประเด็นปัญหาหรือของดีที่มีอยู่ในชุมชน แล้วศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนวางแผนลงมือทำ และบริหารจัดการกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วงตามแผน กลุ่มเยาวชน เล่าว่า แนวทางการทำโครงการของพวกเขายึดหลัก R-D-M
R เป็นขั้นตอนสืบค้นข้อมูล ประกอบไปด้วย 3R ได้แก่ Research Review และ Reconceptual ซึ่งเป็นการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม การทบทวนข้อมูล แล้วตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากแหล่งต่างๆ
“ก่อนทำโครงการ พวกผมได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนก่อน แล้วกลับมาประชุมเสนอกันว่าจะทำโครงการประเด็นไหน ในช่วงแรกพวกผมลงพื้นที่อย่างเดียวหาข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด มีค้นหาในอินเทอร์เน็ต ไปถามปราชญ์ชาวบ้าน ลงพื้นที่สำรวจเอง ผมได้ยินชื่อข้าวอัลฮัมมาตั้งแต่ยังเด็ก และจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ บังเฉ็ม (บูกาเส็ม กรมเมือง) อายุประมาณ 60 ปี เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าว ทำให้รู้ว่าข้าวอัลฮัมเป็นของดีของตำบล และตำบลเกตรีก็ส่งข้าวอัลฮัมไปให้โรงพยาบาลสตูล ประจวบเหมาะกับตอนลงพื้นที่พวกผมเจอปัญหาว่าพื้นที่ปลูกข้าวอัลฮัมในชุมชนลดลง เรื่องข้าวอัลฮัมจึงกลายเป็นทั้งประเด็นปัญหาและเป็นของดีของตำบลด้วย ในกลุ่มเลยสนับสนุนและผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่” ซี เล่าเริ่มต้นเล่า
ส่วน D มาจาก Doing หรือ Development และ M มาจาก Management เป็นการนำชุดข้อมูลที่สรุปได้จาก 3R มาวางแผนกิจกรรม เพื่อลงมือดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย
“การวางแผนทำโครงการของพวกเราแบ่งเป็นสองงวด งวดที่หนึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอัลฮัม มุ่งเน้นศึกษาว่าข้าวหายไปจากชุมชนเพราะอะไร จนได้รู้ว่าเพราะราคาผลผลิตตกต่ำ ดังนั้นเราคิดว่าถ้าข้าวราคาสูงขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว ชาวนาน่าจะเห็นคุณค่าของข้าวแล้วหันมาปลูกข้าวเยอะขึ้น” ซี เล่าต่อ
“หลังจากมีเป้าหมาย พวกผมค้นคว้าจนได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอัลฮัมมาพอสมควร ทำให้พวกผมตระหนักว่าก่อนที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่สิ่งใด เราควรศึกษาเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งให้ดีก่อน ทำให้เราเปลี่ยนเป้าหมายในงวดที่สองเป็นเรื่องการศึกษาข้าวอัลฮัม ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมา วงจรชีวิตข้าว คุณค่าสารอาหารของข้าว และจำนวนพื้นที่นาในชุมชนที่ยังคงปลูกข้าวอัลฮัม เพราะอยากได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงและศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงด้วย”
ข้าวอัลฮัม มีที่มาจากคำว่า ‘อัลฮัมดุลิลละห์‘ ภาษาอาหรับ ที่แปลว่า ขอบคุณอัลลอฮฺหรือขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า จึงมีความเชื่อว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เป็นผลผลิต ตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของชาวนา เป็นข้าวที่นิยมปลูกในตำบลเกตรีในอดีต แต่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์อื่น เช่น ข้าวหอมปทุม เข้ามาแทนที่
สำหรับประวัติความเป็นมาของข้าวอัลฮัม มีความเชื่ออยู่ 2 แบบ ประวัติแรก บอกเล่าต่อกันมาว่า คนบ้านเกตรีสมัยก่อนรับจ้างทำนาที่ประเทศมาเลเซีย จึงนำเมล็ดข้าวอัลฮัมกลับมาปลูกในพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตดี ส่วนประวัติที่สอง กล่าวว่า พันธุ์ข้าวชนิดนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เนื่องจากจังหวัดสตูลแต่เดิม คือ รัฐไทรบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย
“แต่เดิมข้าวยังไม่มีชื่อ ยังไม่มีการระบุสายพันธุ์ มีชาวนาที่เป็นเจ้าของไร่นา เห็นว่าข้าวออกรวงสวย ออกรวงเยอะ มีน้ำหนัก เขาเป็นคนมุสลิม เลยกล่าว อัลฮัมดุลิลละห์ ขอบคุณพระเจ้าที่ข้าวนี้ให้ผลผลิตดี มีคนที่อยู่ข้างหลังเขาได้ยินว่าอัลฮัม เลยบอกว่าข้าวนี้ชื่ออัลฮัมดุลิลละห์ กลายเป็นที่มาของชื่อพันธุ์ข้าว” มุค อธิบาย
‘นานอกนา’ กับ ‘แผนที่นา’ ที่เกิดจากความขี้สงสัย
เพื่อศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจเรื่องข้าวอัลฮัมอย่างลึกซึ้ง กลุ่มเยาวชนวางแผนการทำโครงการเป็น 4 กิจกรรม ได้แก่ นานอกนา แผนที่นา (ออนไลน์) การแปรรูปขนมรังต่อจากแป้งข้าวอัลฮัม และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรม และความรู้เรื่องข้าวอัลฮัมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เด็กขี้สงสัย‘ ชื่อที่สะท้อนความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังผลิตสื่อวิดีโอและโปสเตอร์สำหรับการนำเสนอในที่สาธารณะตามเวทีต่างๆ ด้วย
“จะปลูกข้าว ทำไมต้องปลูกในนา” เป็นคำกล่าวของ พิเชษฐ์ เบญจมาศ โค้ชจากโครงการสตูล active citizen ที่ทำให้กลุ่มเยาวชนฉุกคิด จนได้ริเริ่มทดลองปลูกข้าวนอกฤดูกาล ไม่ใช่ในนาแต่ในถุงดำ จำนวน 100 ถุง โดยมีบังเฉ็มเป็นผู้อนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าวและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการปลูก และใช้พื้นที่บ้านพี่เลี้ยง (ราฎา กรมเมือง) เป็นศูนย์รวมทำกิจกรรม
“ตอนแรกเราวางแผนไว้ว่าอยากปลูกข้าว แต่ช่วงทำโครงการไม่ใช่ฤดูทำนา พวกผมเลยตัดสินใจทำนานอกแปลงนา คือปลูกในถุงดำและห่วงล้อยาง จุดประสงค์ของพวกเรา คือ ต้องการศึกษาระยะการเจริญเติบโตของข้าว การออกรวง ข้าวเจริญเติบโตขึ้นมามีลักษณะเป็นอย่างไร เรียนรู้เรื่องการดูแลข้าว ยกตัวอย่างเช่น การเช็คสภาพข้าว เช็คสภาพน้ำ และการให้ปุ๋ย” มุค กล่าว
วิธีคัดเลือกเมล็ดที่มีคุณภาพ เริ่มจากการใส่น้ำลงในกะละมังประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วนำไข่ทั้งฟองที่ยังไม่ต้มใส่ลงไปในน้ำ ปกติแล้วไข่จะจมน้ำ หลังจากนั้นจึงใส่เกลือผสมลงไป จนกว่าไข่จะลอยขึ้นเหนือน้ำ สังเกตให้ส่วนที่ลอยเหนือน้ำมีขนาดใหญ่ประมาณเหรียญ 5 บาท จึงเทเมล็ดข้าวลงต่อ
กลุ่มเยาวชน อธิบายว่า เมล็ดข้าวที่ลอยน้ำ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดข้าวที่จมน้ำเป็นเมล็ดที่นำมาเพาะเป็นต้นกล้าต่อได้ โดยให้แช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำขึ้นมาวางในที่ชื้นจนมีรากลักษณะเป็นหัวสีขาวงอกออกมา แล้วนำไปเพาะต่อในแผงเพาะกล้า
“ตอนที่บังเฉ็มบอกให้เอาไข่เป็นตัวชี้วัด ครั้งแรกพวกผมตอกไข่ใส่ลงไป ใส่เกลือตามไป 6 ถุง คนเกลือในน้ำเท่าไหร่ไข่ก็ไม่ลอยขึ้นมาสักที พวกผมก็คิดว่า ทำผิดไหมนะ? กลับไปถามบัง แกบอกว่าไม่ต้องตอกไข่ ให้ใส่ไข่ทั้งฟองลงไปเลย” กลุ่มเยาวชน เล่าไปหัวเราะไป
“เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว เพาะไว้ 30 วัน หลังจากที่ต้นกล้าเจริญเติบโตพอจะลงถุงได้ พวกผมก็นำต้นกล้าลงถุงดำ จากนั้นก็เริ่มดูแลรักษาและสังเกตการณ์การเจริญเติบโต เมล็ดข้าวสามเมล็ด แตกต้นได้ถึง 30 – 40 ต้น สูงสุดได้ถึง 50 ต้น ในหนึ่งต้นจะมีหนึ่งรวง ในหนึ่งรวงมีแง่งที่เป็นเส้นเล็กๆ แตกออกมา 15 แง่ง ในหนึ่งแง่งด้านบนสั้นกว่านับเมล็ดข้าวได้ประมาณ 10 – 15 เมล็ดครับ ตรงกลางมี 20 – 25 เมล็ดขึ้นไป แล้วในหนึ่งรวงมีร้อยกว่าเมล็ดขึ้นไป แล้วแต่ความสมบูรณ์” มุค อธิบายข้อมูลจากการบันทึก
ระหว่างรอข้าวจากภารกิจนานอกนาเติบโต กลุ่มแกนนำเยาวชนแบ่งกลุ่มลงสำรวจแปลงนาในชุมชน พบพื้นที่นาถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้น คือ ที่นาของราฎาพี่เลี้ยงโครงการ พวกเขาจึงอยากทำแผนที่นาเป็นสื่อกระตุ้น สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนฉุกคิดได้ว่านาที่ว่างและถูกทิ้งร้างสามารถนำมาทำประโยชน์ได้
“ตอนเด็กๆ ไปเล่นในพื้นที่นา เลยมีความทรงจำว่าบ้านเรามีพื้นที่นาเยอะ เมื่อก่อนมองไปด้านไหนก็เห็นแต่นา แต่ตอนนี้คือมีสวนปาล์ม สวนยาง มีบ่อ มีบ้านขึ้นมา ตอนแรกพวกผมลงพื้นที่ไปสำรวจก็ได้แผนที่นามาเป็นเรียบร้อยแล้ว เป็นแผนที่แบบวาดด้วยมือ พอมาดูเราก็ไม่รู้ว่านาตรงนั้นเป็นของใคร แต่อยากรู้ พี่เลี้ยงเลยแนะนำว่าให้ไปหาข้อมูลที่เกษตรอำเภอ เผื่อมีขึ้นทะเบียนที่ดินเกษตรกร พวกผมก็ไปหาแล้วก็ได้ข้อมูลเพื่อนำมาเทียบเคียงกับที่ลงไปสำรวจเอง” ซี กล่าว
“พวกเราไปลงพื้นที่หลายครั้ง เพราะต้องไปเดินนับที่นาเองเลยว่านาอยู่ตรงไหน แล้วก็ตรวจเช็ค ในกูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) เทียบกันเพื่อวาดแผนที่ตามสัดส่วน เราอยากนำเสนอออกมาในรูปแบบออนไลน์ เพราะในตำบลของเราไม่มีข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับนาเลย พวกผมอยากจัดเก็บไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ แล้วอัพเดตไปเรื่อยๆ ให้ผู้คนสามารถเข้ามาหาข้อมูลได้ตลอด” มุค อธิบาย
ตำบลเกตรี เรียกที่นาหนึ่งผืนว่า ‘หนึ่งบิ้ง’ แต่ละบิ้งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่แตกต่างกัน จากการสำรวจของกลุ่มเยาวชน พบว่า ในตำบลมีนาทั้งหมด 700 บิ้ง ทำนาอยู่ 400 บิ้ง และเป็นนาร้าง หรือเปลี่ยนไปทำประโยชน์อย่างอื่นแล้ว 300 บิ้ง
“ปัญหา คือ เราไม่ได้สำรวจทุกวัน ข้อมูลที่มีมาจากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2562 – มกราคม 2563 ถัดจากนั้นอีกสองเดือน บางพื้นที่ก็เปลี่ยนไปเลย มีการสร้างบ้านมาถมดินเพิ่มไปอีก ถัดมาอีกหกเดือน ก็มีการขุดลอกขุดคลองประมาณ 100 ไร่ แค่ในช่วงเวลาที่เราทำโครงการตอนขี่รถผ่าน นาบางแห่งก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปแล้ว เลยรู้สึกเศร้า ผมเข้าใจว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ แต่ในความรู้สึกของผมคือ รู้สึกเสียใจและเสียดาย ในเมื่ออัตราประชากรเพิ่มขึ้น อาหารต้องเพิ่มขึ้น แต่ว่าพื้นที่แหล่งอาหารกลับลดลง พวกผมก็รู้สึกแบบ เอ๊ะ…มันน่าเสียดายนะ” ซี กล่าว
ต่อชีวิตข้าวอัลฮัม
การนำข้าวมาแปรรูปเป็นขนมดอกจอก หรือขนมรังต่อจากแป้งข้าวอัลฮัม เป็นกิจกรรมที่สามที่มาจากความตั้งใจเดิมของกลุ่มเยาวชน คือ ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอัลฮัม แม้พวกเขายังไม่ได้ลงลึกในกระบวนการวิจัยหรือทำการทดลอง แต่ก็ได้ลงมือทำขนม ด้วยการนำข้าวมาป่นละเอียดเป็นแป้งข้าว สอบถามสูตรทำขนมจากผู้รู้ในชุมชน แล้วหยิบกระทะจับอุปกรณ์มาลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเด่นเรื่องอะไมโลสในแป้ง ทำให้ขนมดอกจอกมีความกรอบ และขึ้นรูปได้ง่าย
“ตอนแรกคิดทำเป็นสบู่ แต่เราคิดว่ามันข้ามขั้นเกินไป เลยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อน คือ การทำแป้งข้าว อยากรู้ว่าข้าวจะทำออกมาเป็นแป้งได้ไหม เราไปหาเครื่องโม่แป้งหินโบราณแบบดั้งเดิมในชุมชน ขอยืมมาใช้ก่อน พวกเราลองเอาข้าวที่โม่ได้เป็นน้ำไปตากแดด อยากดูว่าจะได้แป้งแบบที่ซื้อตามร้านไหม พอเอามาตากแดดก็มีบางส่วนที่เสียไปเพราะไม่รู้วิธีการจัดการที่ดีพอ ตอนหลังเลยใช้แป้งที่เป็นน้ำ ลองเอาไปทำขนม” ยิบ อธิบาย
และกิจกรรมที่สี่ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้รู้จักและรู้ถึงคุณประโยชน์ของข้าวอัลฮัมมากขึ้น ผ่านเพจเด็กขี้สงสัยและเฟสบุ๊กส่วนตัวของราฎา กลุ่มเยาวชน เล่าว่า เมื่อถึงหน้าฤดูกาลทำหน้าช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้จัดกิจกรรมดำนาแล้วประชาสัมพันธ์ผ่านเพจชักชวนให้คนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี
“ก๊ะราฎาเขาก็รู้สึกไม่ดี เพราะพวกเราทำโครงการเกี่ยวกับข้าวแล้วทำไมนาของเขาถึงยังร้างอยู่ พอได้มาเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ เขาก็ต้องการเปลี่ยนพื้นที่นาตรงนั้นให้เป็นพื้นที่นาจริง ๆ เลยร่วมมือกันทำ ชวนคนทำนา พี่ ป้า น้า อา เครือข่ายเยาวชนในชุมชน และเยาวชนจากที่อื่นมาร่วมด้วย บางคนรู้ข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของเราทางเฟสบุ๊ก เขาก็อยากมาช่วย” ซี กล่าว
“ก๊ะราฎาเสนอมา พวกผมก็สนองครับ เหมือนกับว่าเรามีแต่ข้อมูล เรามีแต่ตัวหนังสือ เราไม่ได้ลงไปทำจริง เหมือนนักรบที่ยังไม่ได้รบ” ยิบ ขยายความ
พวกเขาใช้เวลาราวหนึ่งอาทิตย์ลงแรงเตรียมพื้นที่ และใช้เวลาอีก 3 วัน เตรียมต้นกล้า ก่อนลงมือดำนาครั้งแรกในชีวิต
“มีเพื่อนหรือรุ่นน้องที่ติดตามเพจและเฟสบุ๊กของก๊ะราฎาติดต่อมา น่าสนุกจังไปด้วยได้ไหม แต่กิจกรรมของพวกเรา ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาทีเดียวสามสิบคนแล้วยืนกันเต็มท้องนา แต่ละคนมาในช่วงเวลาที่ตัวเองว่าง มาช่วยตรงนี้แป๊บหนึ่ง บางคนอยู่ในช่วงถอนกล้า ขนกล้า ล้างกล้า หรืออยู่ในช่วงดำนาเลย แล้วแต่จังหวะที่มาถึง ระหว่างทำกิจกรรมเรามีไลฟ์ผ่านทางเพจด้วย” บีม กล่าว
“ผมชอบการไลฟ์สด มันไม่โดดเดี่ยวเกินไป มีหลายคนมามองเราด้วย ถ้าเราทำกันเองก็รู้กันเอง แต่ พอเราไลฟ์สดคนอื่นก็ได้เห็นด้วย ถึงไม่ได้ช่วยทำก็ได้เห็น อยากนำเสนอเป็นวีดิโอกิจกรรมของเราด้วย แล้วโพสต์ลงไปในกลุ่ม แชร์ ๆ กันให้คนอื่นเห็น บางทีคนที่เห็นอาจจะกดเข้ามาดูหน้าเพจว่าเป็นเพจเกี่ยวกับอะไร” ยิบ กล่าวถึงแผนงานที่วางไว้
‘นาข้าวอัลฮัม’ โรงเรียนรู้ในพื้นที่กว้าง
‘นาข้าวอัลฮัม’ เปรียบเสมือนโรงเรียนที่ให้อิสระทางความคิด ให้โอกาสได้ทดลองและลงมือทำ เยาวชนตำบลเกตรีได้เรียนรู้บทเรียนนอกตำราที่ไม่มีสอนในห้องเรียน สิ่งที่พวกเขาได้รับไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง ทั้งด้านการจัดการตัวเอง การวางแผนและการเข้าสังคม โดยเฉพาะหลายคนบอกว่าเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง นาข้าวอัลฮัมสอนทักษะการเข้าสังคมและการทำงานร่วมกันเป็นทีมให้กับพวกเขา ทำให้เข้าใจตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
“ผมได้ฝึกได้พัฒนาตนเองในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน พวกผมก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้คุยกัน แต่ละคนโลกส่วนตัวสูง พอได้มาอยู่ร่วมกันเราได้เห็นมุมมองความคิดการเป็นอยู่ของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เวลาเราออกไปนอกกลุ่ม เราจะได้วางตัวถูก ว่าเราควรอยู่อย่างไร เพราะแต่ละคนแตกต่างกัน
ผมได้ฝึกเรื่องการวางแผนด้วย เมื่อก่อนผมทำอะไรไม่ค่อยวางแผน ไม่ค่อยจัดเวลา เป็นคนไม่ตรงต่อเวลา พอได้ทำโครงการนี้เราต้องวางแผน วางระเบียบชีวิตของตัวเองมากขึ้น การแบ่งเวลาในแต่ละวัน ต้องทำอะไรก่อน ต้องทำอะไรหลัง เมื่อก่อนมีอะไรผุดมาก็ไปทำ บางทีลืมหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นต้องทำ ตอนนี้ผมบริหารเวลาได้ดีขึ้น” ยิบ กล่าว
ซี กล่าวเสริมว่า “เหมือนกับยิบ เรื่องเวลา ผมรู้จักจัดการเวลา มันมาคู่กันกับความเป็นระบบมีแบบแผน จัดการงานต่างๆ ให้เรียบร้อย รู้ว่าควรทำอะไรตอนไหนเพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี ได้นำทักษะไปใช้ในการเรียน การทำงานกลุ่ม และใช้จัดการตัวเอง”
“ตอนมาทำโครงการแรกๆ ผมยังไม่รู้สึกว่าเป็นโอกาสนะครับ มาสนุก มาอยู่แบบมีความสุขมากกว่า พอช่วงหลังๆ คิดว่าตัวเองพัฒนามากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของผู้คนได้ง่ายขึ้น อยู่กับสังคมได้ง่ายขึ้น ทักษะแต่ละอย่างในการเข้าสังคมก็เพิ่มมากขึ้นด้วย อย่างในห้องเรียนเมื่อก่อนผมอยู่กับเพื่อนแค่สองสามคน ตอนนี้ผมอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ทุกคน ทั้งๆ ที่เพื่อนอยู่เป็นกลุ่ม เพื่อนผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง เพื่อนผู้ชายอีกสองกลุ่ม ผมสนิทกับเพื่อนทุกกลุ่มเลย เข้าไปอยู่ร่วมกับทุกกลุ่มได้ หรือถ้าเพื่อนไม่เข้าใจเรา เราก็เข้าไปคุยว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงโกรธ ทำให้ผมเข้าใจว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร เมื่อก่อนคงเลิกคุยกันไปเลย” มุค กล่าว
“เมื่อก่อนผมคิดว่าตัวเองทำอะไรก็ถูกหมด จริง ๆ มันมีผิดบ้างถูกบ้าง เราต้องฟังเหตุผลของผู้อื่น ทำให้ผมฟังเหตุผลคนอื่นมากขึ้น” บาส กล่าว
นาร้างบนพื้นที่เกือบ 2 ไร่ ที่กลุ่มเยาวชนร่วมกันหักร้างถางพงด้วยตัวเอง จากวันที่มีหญ้าขึ้นรกสูงกว่าเอว บางจุดสูงถึงหัว ตอนนี้ต้นข้าวกำลังค่อยๆ ออกรวงเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทองพร้อมเก็บเกี่ยว แน่นอนว่าความสำเร็จนี้สร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขาเป็นอย่างมาก
“เวลาคนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าพวกผมใส่ปุ๋ยอะไร ทำไมข้าวสวยดีจัง ทั้ง ๆ ที่พวกผมยังไม่ได้ทำอะไร ดินตรงนั้นมันสมบูรณ์มาก เพราะไม่ได้ทำอะไรมานาน เลยมีแร่ธาตุสะสม พอไปปลูกต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้เร็วและออกรวงดี” ยิบ กล่าว
“ตามตำนานครับ เหมือนประวัติความเป็นมาของข้าวที่เล่าไปผู้คนเห็นว่าข้าวออกรวงดี เลยพูดว่า อัลฮัมดุลิลละห์ ขอบคุณพระเจ้าครับ ข้าวอัลฮัมเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เป็นข้าวพื้นเมืองของเกตรี พวกผมได้รักษาวัฒนธรรมของผู้คนได้สืบทอดต่อไป ต่อชีวิตของข้าวให้อยู่กับชุมชน” มุค กล่าวเสริม
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับข้าว ทำให้ข้าวพื้นถิ่นกลายเป็นข้าวที่ ‘เคยนิยม’ แล้วค่อยๆ สูญหายไป ความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวไทยที่เคยมีมากกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ จึงเหลือเพียงชื่อเรียกตามลิสต์สั้นๆ ในเชิงการตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวขาวและข้าวเพื่อสุขภาพ
เราในฐานะผู้บริโภคสามารถแยกแยะข้าวที่รับประทาน ได้เพียงความแตกต่างในระดับผิวเผิน เช่น ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว ข้าวกล้อง/ ข้าวแดงกับข้าวขาว ข้าวเหนียวขาวกับข้าวเหนียวดำ หรือ ข้าวต้มกับข้าวสวย ทั้งที่เอกลักษณ์ของข้าวแต่ละสายพันธุ์มีความมหัศจรรย์และมีคุณประโยชน์มากมายซ่อนอยู่
การเข้ามาเรียนรู้และลงมือทำในโครงการเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนแกนนำได้รื้อฟื้นที่นาร้าง ให้กลับมาเป็นแปลงนาทดลองฝีมือเยาวชน นอกจากสวมบทบาทเกษตรกรหรือคนปลูกข้าวแล้ว พวกเขายังได้เป็นทั้งนักวิจัยพันธุ์ข้าวและนักชิม เป็นทั้งคนขายและคนกินข้าว นำเสนอคุณค่าของ “ข้าวอัลฮัม” ให้คนในชุมชนและผู้คนได้รับรู้
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติข้าวอัลฮัม เป็นความฝันที่พวกเขาอยากสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นในตำบลเกตรี เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ที่จะช่วยเผยแพร่ให้ข้าวอัลฮัมเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
“พิพิธภัณฑ์ข้าวไม่มีหลังคา ถ้าอยากมาเรียนรู้ มาดู คุณต้องลงพื้นที่นา คุณต้องพร้อมสกปรก คุณต้องพร้อมเกลือกโคลนไปกับเรา ตอนนี้ชุมชนอาจจะยังไม่ได้อะไรมากนักจากสิ่งที่เราทำ แต่สิ่งที่ชุมชนได้คือตัวพวกผมเอง อย่างน้อยก็มีพวกผมแล้วสิบคนที่เห็นคุณค่าของข้าวอัลฮัม ศึกษา เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับข้าว” กลุ่มเยาวชน กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม