บทสัมภาษณ์เยาวชนเด่น โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล
เยาวชน
ชื่อ-นามสกุล จันทิมา แก้วทอง ชื่อเล่น พราว
อายุ 16 ปี การศึกษา โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ถาม: เราทำโครงการอะไร
ตอบ: โครงการสานพลังพัฒนาสวนป่าสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ค่ะ
ถาม: ตอนที่ทำตอนนั้นอยู่ ม.3 ใช่ไหมคะ
ตอบ: ใช่ค่ะ
ถาม: แล้วก็เรียนกับอีกโรงเรียนหนึ่งถูกไหม เพราะว่าโรงเรียนมีแค่ ม.3 ใช่รึเปล่าคะ
ตอบ: ใช่ค่ะ โรงเรียนอนุบาลมะนัง
ถาม: ตอนที่มาทำโครงการสวนป่า ก่อนหน้านี้เคยทำอะไรกับชุมชนมาก่อนไหม
ตอบ: มีกิจกรรมวิจัยเล็กๆ ภายในโรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนสืบทอดภูมิปัญญาของคนในชุมชนค่ะ
ถาม: โครงการหรือกิจกรรมจริงจัง ระยะยาว แบบกิจกรรมแอคทีฟซิติเซน เช่นนี้เคยทำอะไรมาก่อนไหม
ตอบ: ไม่เคยค่ะ
ถาม: อยากให้พราวเล่าย้อนไปหน่อยค่ะ ว่าตอนที่ได้รู้จักโครงการนี้ หนูรู้จักได้อย่างไร ใครเป็นคนแนะนำให้เรารู้จักโครงการนี้
ตอบ: โครงการนี้ทางโรงเรียนอนุบาลมะนัง นำกระบวนการวิจัยเข้ามาแล้วให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัย ให้นักเรียนคิดโจทย์การทำโครงงานด้วยตัวเองค่ะ
ถาม: ตอนนั้นที่หนูเรียนอยู่ชั้น ม.3 ตัวโครงงานฐานวิจัยเป็นครั้งแรกเลยไหมที่หนูได้เคยทำ
ตอบ: ใช่ค่ะ เป็นโครงการแรกที่ได้ทำแบบระยะยาว และประสบผลสำเร็จมากที่สุด
ถาม: อยากให้หนูเล่าบรรยากาศ ให้ฟังว่าโครงงานฐานวิจัยนี้เป็นโครงการของโรงเรียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนักเรียนทุกคนก็ต้องทำถูกไหม
ตอบ: ทางโรงเรียนให้นักเรียนแบ่งกันว่า เราอยากสำรวจเรื่องอะไร ห้อง ม.3 ช่วยกันเสนอโครงการที่อยากทำ ตอนนั้นเสนอมา 3 เรื่องค่ะ น้ำประปาสีชาเย็น เรื่องบ่อน้ำยาดาล แล้วก็สวนป่า พวกเราลงสำรวจพื้นที่ แล้วลงความเห็นกันจนมาได้เรื่องส่วนป่า เพราะเป็นจุดใหญ่กลางชุมชนที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนมะนังด้วย พวกเราอยากแก้ปัญหาสวนป่าที่ถูกทิ้งให้รกร้าง จนกลายเป็นพื้นที่อันตราย เป็นแหล่งมั่วสุม
ถาม: ส่วนตัวพราวถ้าพูดถึงสวนป่า มันมีความสำคัญกับเราไหม ยกตัวอย่าง เช่น หนูก็ผ่านสวนป่า กลับบ้านทุกวัน สำหรับตัวเรา สวนป่ามีความเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรบ้าง
ตอบ: หนูเป็นเยาวชนในชุมชนบ้านมะนัง หนูเห็นว่าสวนป่าเป็นประโยชน์และเป็นมรดกของชุมชนมะนังค่ะ เราเป็นคนที่นี่ เราต้องเป็นคนอนุรักษ์ผืนป่าไว้ให้เยอะๆ มะนังมีสวนป่าน้อยมาก อีกทั้งยังติดกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่หนูเคยเรียน หนูอยากช่วยรักษาไว้ให้น้องๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติค่ะ
ถาม: ที่นี่สภาพสวนป่าก่อนที่เราจะมาทำโครงการอยู่ในลักษณะไหน
ตอบ: เวลาขับผ่านสวนป่า จะเห็นได้ว่าสวนป่ารกร้าง มีเศษแก้ว เศษขยะ
ถาม: คือรกขนาดน่ากลัวไม่กล้าเข้าไปแบบนี้เลยไหม
ตอบ: ใช่ค่ะ พื้นที่ตรงนั้นเป็นป่าทึบด้วยค่ะ ยิ่งมีต้นไม้เยอะก็ยิ่งน่ากลัวค่ะ
ถาม: เราตัดอีก 2 เรื่องออกไป แล้วก็มาจบที่ตรงนี้ อีกสองประเด็นมันมีความยากยังไง หรือว่าเหตุผลอะไร ถึงไม่เลือก
ตอบ: ถ้าเราศึกษาบ่อบาดาล เราต้องเจาะลึกลงไปถึงบาดาลค่ะ พวกเราก็ไม่สามารถดำเนินการ แบบลึกขนาดนั้นได้ แล้วในส่วนของน้ำประปาเกี่ยวข้องกับองค์กรบริหารส่วนตำบลอีก พวกเราเลยคิดว่าให้พวกเขาเป็นคนดูแลดีกว่า สวนป่าที่เราเลือก เราคิดว่าสามารถช่วยพัฒนาไปได้ไกลกว่าสองเรื่องที่เราตัดออกค่ะ
ถาม: กลุ่มเพื่อนๆ ในทีม ในห้องเรา มีกันกี่คนค่ะ
ตอบ: 23 คนค่ะ
ถาม: ถ้าพูดถึงบรรยากาศการที่เราระดมความคิด เราคิดว่าเป็นอย่างไรเป็นไปในทิศทางเดียวกันไหม หรือว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง
ตอบ: ตอนที่ร่วมกันคิดส่วนมากเห็นตรงกันค่ะ มีนิดๆ ที่ขัดแย้งกันบ้าง แต่ว่าเราวางแผนกันใหม่ จนได้ความคิดตรงกัน
ถาม: แล้วเวลาเราทำงาน มีการแบ่งบทบาทกันไหม
ตอบ: มีค่ะ เราแบ่งบทบาทหน้าที่กัน เราจะเลือกคนที่เป็นผู้นำในการทำโครงการนี้ แล้วแบ่งกันเป็นฝ่ายๆ ว่าใครถนัดด้านไหน อยากทำอะไร แบ่งให้เขาไปรับผิดชอบฝ่ายนั้นจะได้ทำงานกันอย่างเต็มที่
ถาม: แล้วพราวอยู่ฝ่ายอะไรคะ
ตอบ: เพื่อนๆ ให้หนูเป็นประธานโครงการค่ะ
ถาม: เราคิดว่าเพราะอะไรเพื่อนๆ ถึงเลือกให้เราเป็นประธานโครงการคะ
ตอบ: ในแง่คิดของหนู หนูสามารถทำให้เพื่อนๆ ร่วมมือกันได้ พาเพื่อนๆ ไปพัฒนาสวนป่าตรงนั้นให้ประสบผลสำเร็จได้ค่ะ
ถาม: เราคิดว่าเพื่อนเห็นอะไรในตัวเราถึงเลือกเรา หรือว่าพราวเองก็มีบทบาทการทำอย่างอื่นในโรงเรียนที่โดดเด่นไหม
ตอบ: หนูคิดว่าเพื่อนก็น่าจะเห็นว่า หนูเป็นประธานโรงเรียนด้วย สามารถบริหารงานกลุ่มย่อยกลุ่มใหญ่ได้ เขาก็เลยเลือกให้หนูเป็นประธาน
ถาม: เป็นประธานโรงเรียนกี่สมัย
ตอบ: 2 สมัย
ถาม: ถ้าให้พราวมองตัวเอง เรามองว่าตัวเองเป็นคนมีคุณสมบัติเด่นอะไรบ้าง เพราะประธานโรงเรียนต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง
ตอบ: หนูลงสมัครประธานนักเรียน เพราะหนูมองเห็นปัญหาภายในโรงเรียน หนูจึงเลือกทำงานส่วนรวมมากกว่าทำงานของตัวเองก่อน แล้วหนูคิดว่าตัวเองสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาภายในโรงเรียนได้ค่ะ ก็เลยลงสมัคร
ถาม: เรามีไอดอลหรือมีตัวอย่างไหมที่ทำให้เราสนใจทำงานส่วนรวมก่อน
ตอบ: ไม่มีค่ะ หนูเห็นทุกคนที่เขาเสียสละ ทำให้คิดว่าถ้าเราเป็นคนแบบนี้ เราก็น่าจะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นค่ะ
ถาม: ครอบครัวเกี่ยวไหม กับการบ่มให้เราเป็นคนที่มีความคิดแบบนี้ อย่างไรบ้าง
ตอบ: หนูว่าเกี่ยวค่ะ
ตอบ: พ่อกับแม่คอยสนับสนุนในสิ่งที่หนูทำ เวลาทำงาน ทำโครงการหรือว่ามีประชุม พ่อเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะพ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หนูเห็นว่าเป็นเป็นคนเสียสละ ได้แบบอย่างการทำงานมาจากพ่อค่ะ
ถาม: พ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ตอบ: ไม่ค่ะ พ่อเพิ่งได้มาเป็น ในปีที่ผ่านมาค่ะ
ถาม: พราวมีนิสัยส่วนตัวอย่างอื่นอีกไหม อยากให้อธิบายให้ฟังหน่อยว่าหนูคิดว่าหนูเป็นคนอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ชอบเข้าสังคม ชอบเข้าหาผู้ใหญ่ได้ดี
ตอบ: หนูรู้สึกว่าเป็นคน 2 บุคลิกค่ะ ถ้ากับผู้ใหญ่หนูก็สามารถเข้ากับผู้ใหญ่ได้ สำหรับเพื่อนรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ หรือว่ารุ่นน้องหนูก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่ชอบคุยกับคนที่ไม่สนิท หลายคนบอกว่าบางครั้งนิ่งๆ หยิ่งๆ แต่ถ้าสนิทกันแล้ว หนูเป็นคนพูดเยอะค่ะ
ถาม: ก่อนที่จะมาเป็นประธานโครงการพัฒนาสวนป่า เราก็มีประสบการณ์การเป็นประธานนักเรียนก่อนแล้วด้วย ประสบการณ์จากการเป็นประธาน โรงเรียนมันช่วยให้เราทำงานในโครงการได้ดีขึ้นอย่างไร
ตอบ: ได้ดีขึ้นค่ะ เพราะว่าตอนที่เราเป็นประธานนักเรียน ได้รู้จักวางแผนงาน การแบ่งงาน และการควบคุมคนเยอะๆ ได้ พอได้มาทำงานโครงการ คนน้อยกว่า หนูก็สามารถดำเนินงานได้ง่ายค่ะ
ถาม: การทำงานร่วมกัน 23 คน ร่วมตัวเราด้วยมีความยากง่ายแบบไหนไหมคะ
ตอบ: การทำงานกับเพื่อนไม่ยาก เพราะเรารู้ใจกันค่ะ ว่าเราจะทำอะไร มีความคิดเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน
ถาม: ก็มีประธาน มีฝ่ายอะไรอีกที่ ชัดๆ เลย นอกจากประธาน แล้วมีฝ่ายไหนบ้าง
ตอบ: มีประธาน มีเหรัญญิกคอยรวบรวมว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ มีเลขาจดข้อมูลที่ประชุมกัน แล้วก็ฝ่ายอื่นๆ พอมีงานย่อยเราให้เขาแบ่งงานตามถนัด เช่น ถ้าจัดโครงงานขึ้นมาสักหนึ่งโครงการ ก็จะแบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายสถานที่ ฝ่ายเตรียมอุปกรณ์ทำโครงงาน ฝ่ายนำเสนองาน แล้วแต่ว่าเขาถนัดอะไร
ถาม: พราวเล่า ให้หน่อยว่าในรายละเอียดโครงการทำอะไรบ้างคะ
ตอบ: เริ่มโครงการเราไปสำรวจพื้นที่ มีคำถามเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่แล้วก็ลงไปหาคำตอบ ลงไปสัมภาษณ์ ลงไปเก็บข้อมูล หลังจากนั้นมาตั้งคำถามใหม่อีกรอบ เพื่อให้ได้ปัญหาที่เราอยากทำ อยากแก้ไขอย่างชัดเจนค่ะ แล้วก็ลงไปสัมภาษณ์อีกรอบหนึ่งเกี่ยวกับโครงการ แล้วจัดกิจกรรมเพื่อให้คนในชุมชนตระหนักกันว่าเราทำโครงการนี้เพื่อให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพืชพรรณในป่า จากการสำรวจของพวกเราเอง นำมาเทียบกับข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และการสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน แล้วก็มาถึงการทำพิธีบวชป่าค่ะ เป็นกิจกรรมใหญ่ที่เราเลือกทำร่วมกับชุมชน ผู้นำชุมชน คนในชุมชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี แล้วเราก็เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อไปนำเสนอผู้ทรงคุณวุฒิที่ละงูค่ะ
ถาม: เล่าให้ฟังหน่อยว่าเราจัดสรรเวลากันอย่างไร
ตอบ: ในโรงเรียนตอนนั้นมีคาบวิจัย 2 ชั่วโมงค่ะ เราวางแผนไปสำรวจพื้นที่ใน 2 ชั่วโมงนั้นแต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็จะนัดมาทำงานกันต่อเสาร์อาทิตย์ค่ะ
ถาม: ส่วนใหญ่ทำเสร็จทันเวลาหรือเปล่าในชั่วโมง
ตอบ: ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทันค่ะ ต้องมาทำเสาร์อาทิตย์ต่อ
ถาม: แล้วเวลานัดกันมา เสาร์อาทิตย์ โดยส่วนใหญ่มาโดยพร้อมเพรียงกันไหม
ตอบ: มาพร้อมเพรียงกันค่ะ แต่บางครั้ง ถ้าคนไหนติดธุระก็ไม่เป็นไร
ถาม: แต่ก็เป็นเหตุผลที่เรารู้กัน ไม่ใช่ว่าหายไปเลยใช่ไหม
ตอบ: ใช่ค่ะ
ถาม: เราบอกว่ามีการสำรวจพื้นที่ก่อนเล่าให้ฟังหน่อยว่าเราทำอะไรตรงนี้กันบ้าง
ตอบ: ก่อนไปสำรวจพื้นป่า พวกเราใส่ชุดพละกางเกงขายาว แล้วก็มีรองเท้าผ้าใบ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้เก็บรวบรวมข้อมูล เช่น สมุดบันทึกสำหรับจดข้อมูลต่างๆ ว่าในสวนป่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง ที่ต้องแก้ไข แล้วเราต้องไปสำรวจว่าพื้นที่ไหนที่เราพัฒนากันได้บ้าง
ถาม: นอกจากพวกเราแล้ว ครูชัย แล้วมีคนอื่นอีกไหมคะ
ตอบ: มีคุณครูนันท์ ผู้อำนวยการค่ะ ผู้อำนวยการจะแนะนำในบางครั้ง เช่น ในวิธีการทำงานค่ะ
ถาม: เรารู้สึกอย่างไรบ้างที่ครูและผู้อำนวยการก็ให้ความสนใจด้วยกับโครงการที่เราทำ
ตอบ: รู้สึกดีที่มีคนที่มีความรู้มาชี้นำแนวทางให้เราประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น
ถาม: อยากให้พราวพูดถึงครูชัยให้ฟังหน่อยว่า เพราะครูชัยก็มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงของโครงการ แล้วก็เป็นครูที่ปรึกษาด้วยใช่ไหมคะ
ตอบ: สำหรับครูชัย เป็นคุณครูและพี่เลี้ยงที่ดีมากสำหรับหนู ไม่ว่าทำงานอะไรครูชัยมักช่วยวางแผนงาน และยังวางแผนงานสำรองด้วย ถ้าแผนนี้ไม่สำเร็จก็จะมีแผนสำรองไว้ให้เราดำเนินงานได้ต่อ ครูชัยเป็นคนคอยควบคุมงานให้พวกเรา แกเข้ากับพวกเราได้ง่าย เพราะเรเรียนกับแกมาด้วยกันหลายปีค่ะ ครูเข้าใจว่าพวกเราต้องการอะไร เราก็จะเข้าใจครูชัยเหมือนกันว่าครูชัยอยากให้เราทำอะไร เวลาทำงาน จะประสบผลสำเร็จ
ถาม: บรรยากาศที่คุยกันในห้องระหว่างหนูก็มีกลุ่มนักเรียนใช่ไหม ตัวพราวเองก็เป็นประธาน ครูชัยเองก็อยู่ในวงเดียวกันแบบนี้ คือ หลักๆ แล้วเราเป็นคนนำ หรือว่าครูคอยเข้ามาช่วยเสริมอย่างไร
ตอบ: บางครั้งครูชัยก็จะเป็นคนนำ บางครั้งหนูก็เป็นคนที่ได้รับมอบหมายมาจากครูชัยมาอีกทีหนึ่งว่า เราจะทำงานอะไรกันในแต่ละวัน บางครั้งครูชัยก็ให้พวกเราช่วยกันคิดว่าเราดำเนินงานอะไรกันต่อ
ถาม: ซึ่งโครงการฐานวิจัย ก็เพิ่งเข้ามาในโรงเรียนถูกไหมคะ
ตอบ: ค่ะ
ถาม: ก่อนหน้าหนูก็เรียนปกติ หนูคิดว่าการเรียนแบบปกติ กับการเรียนแบบนี้ ชอบแบบไหนมากกว่ากัน
ตอบ: การเรียนปกติในห้องมันก็ดีค่ะ แต่ว่าเราไม่ได้ลงสำรวจเจาะลึกข้อมูลที่เราอยากรู้ มันไม่ได้เปิดโลกกว้าง ารเรียนโครงงานฐานวิจัย ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้รู้จักกับคนในชุมชนมากขึ้น รู้จักการวางแผน ได้ทำงานกับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่หาในชั้นเรียนไม่ได้ค่ะ
ถาม: มันยากไหม พอพูดถึงการวิจัยน่าจะยากเราคิดอย่างไรบ้าง
ตอบ: โครงงานฐานวิจัยตอนแรกคิดว่าน่าจะยากทำไม่ได้แน่นอน แต่ครูบอกให้ลองทำดูว่าทำได้ไหม พอทำไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก แค่เราลงมือทำค่ะ
ถาม: ในกิจกรรมของเรา สำรวจพื้นที่ และตั้งคำถาม ตรงการตั้งคำถามรูปแบบกิจกรรมเป็นอย่างไรคะ
ตอบ: ก่อนไปลงพื้นที่ พวกเรารวบรวมความคิดกันก่อนว่าจะแก้ไขปัญหาหรือว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับสวนป่า แล้วก็มาตั้งคำถามแยกเป็นหัวข้อ ตอนนั้นมี 4 หัวข้อ เช่น คำถามเกี่ยวกับต้นไม้ ขยะในสวนป่า สภาพอากาศ และสัตว์ป่า เราแยกเป็นหมวดหมู่เกี่ยวกับปัญหา มีอะไรบ้างที่เราต้องแก้ไขแล้วตั้งออกมาเป็นคำถามค่ะ
ถาม: มีข้อค้นพบอะไรบ้างจากการไปสำรวจ
ตอบ: ตอนที่ลงสำรวจสภาพป่าครั้งแรก เจอเศษแก้ว เศษขยะ ม้าหินอ่อนพุพัง แล้วก็รู้สึกว่าป่าตรงนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ติดกับโรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับนักเรียน
ถาม: มันเคยมีเหตุการณ์อะไรที่ดูน่ากลัวในสวนป่าไหม อาจจะเป็นข่าวลือในชุมชน
ตอบ: ไม่มีเหตุการณ์น่ากลัวค่ะ แต่กลุ่มวัยรุ่นมักเข้าไปนั่งสังสรรค์ในสวนป่า ทำลายข้าวของทิ้งขวดแก้ว ทิ้งขยะค่ะ
ถาม: พวกหนูก็กลับมาตั้งคำถาม แล้วก็ดูว่าจะแก้ไขปัญหาแต่ละอย่าง อย่างไร เล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าตรงที่แก้ปัญหาเราระดมความคิดกันอย่างไรบ้าง เราจะมีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ตอบ: ตอนนั้นเราช่วยกันคิด และคิดว่า ถ้าเราคิดเพียงแค่กลุ่มเด็กๆ เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ พื้นที่ตรงนี้มีกำนันเป็นคนดูแลอยู่แล้ว เราเลยขอสัมภาษณ์เขาว่า ว่าควรทำอย่างไร แล้วก็ช่วยกันเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยค่ะในวันที่ไปสัมภาษณ์
ถาม: แล้วตอนที่เราไปคุยกับผู้นำชุมชนเราเกร็ง ๆไหม ว่าอย่างไง
ตอบ: ตอนแรกรู้สึกเกร็งๆ ค่ะ เพราะเราไม่ได้รู้จักกับเขาเป็นการส่วนตัว คิดว่าเราจะเข้ากับเขาได้ไหม จะคุยรู้เรื่องหรือเปล่า รู้สึกกลัวๆ ว่าที่พูดไปจะเข้าหูเขาไหม แต่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ กำนันยอมรับความคิดเห็นของนักเรียนที่เสนอไป คือ การพัฒนาสวนป่าให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของชุมชน
ถาม: ก่อนที่จะไปคุยกับกำนันผู้นำชุมชน เราต้องติดต่อประสานงานไปก่อนหรือเปล่าคะ
ตอบ: ใช่ค่ะ ติดต่อก่อนค่ะ
ถาม: ในบทบาทตรงนี้เราทำอะไรบ้างในช่วงประสานงาน เราเป็นคนทำเองไหม หรือขอให้ครูช่วย
ตอบ: ทำกันเองค่ะ ร่างหนังสือขึ้นมา แล้วเอาไปให้คุณครูดูว่าทำหนังสือเชิญประชุมแบบนี้ดีไหม ครูนันคอยให้คำแนะนำว่าต้องแต่งเติมตรงไหนบ้าง แล้วก็พวกเราพิมพ์กัน หนังสือเชิญขอเข้าร่วมประชุม แล้วขออนุญาตครูชัย ขับรถออกไปส่งเอกสารเองค่ะ เพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียน
ถาม: นอกจากกำนันมีใครอีกไหมคะ ที่ได้เข้าไปสอบถามข้อมูล
ตอบ: มีคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน แล้วก็บุคคลากรในชุมชนแถวนั้นด้วยค่ะ
ถาม: ที่นี่เวลาไปเรามีด้วยกัน 23 คน เราจัดการกันอย่างไร
ตอบ: เราก็แบ่งเป็นกลุ่มๆ ประมาณ 5-6 กลุ่ม ให้แต่ละคนในแต่ละกลุ่มแบ่งงานเป็นสายๆ ว่า คนนี้ถ่ายรูป คนนี้ช็อตโน้ต คนนี้ตั้งคำถาม คนนี้สอบถามข้อมูล
ถาม: แล้วส่วนตัวพราวมีอะไรประทับใจ ไปลงสัมภาษณ์พูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ หรืออะไรกับชุมชนไหมคะ
ตอบ: รู้สึกประทับใจตอนสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ตอนที่ลงไปเก็บข้อมูลเราได้รู้จักผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่เคยรู้จัก รู้สึกว่าเขาดีใจเวลาที่มีเด็กๆ มาบ้านแล้วก็พูดคุยกับเขา
ถาม: เราสัมผัสได้อย่างไร
ตอบ: ใช่ค่ะ ตอนที่หนูไปสัมภาษณ์ ตากับยายบอก กลับมาอีกนะลูก ถึงไม่มีงานให้ทำ ก็กลับมาเยี่ยมกันนะ
ถาม: เราไปสัมภาษณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ใหญ่ สักกี่คนได้คะ
ตอบ: ผู้เฒ่าผู้แก่ ประมาณ 5-6 สำหรับคนที่อยู่เดิมๆ ใกล้ถิ่นฐานตรงนั้น แล้วก็มีวัยรุ่น เยาวชน และผู้ใหญ่ละแวกนั้นด้วยค่ะ
ตอบ: ถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหา เราให้คนในชุมชนช่วยกันระดมความคิด เพราะว่าสวนป่าเป็นของทุกคนในพื้นที่ค่ะ
ถาม: ตรงที่เราบอกว่าสวนป่าเป็นของทุกคน ความคิดนี้มันมาได้อย่างไร
ตอบ: ครูชัยให้ลองคิดดูดีๆ ว่ามีใครมีส่วนในสวนป่าบ้าง แล้วพวกเราก็คิดกันว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนร่วม ก็น่าจะเป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นเราต้องให้เขาช่วยกันคิดแนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าเอาความคิดใดความคิดหนึ่งเป็นหลัก อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน
ถาม: กิจกรรมต่อมาหลังจากไปสัมภาษณ์มาแล้ว กิจกรรมในชุมชน เราทำอะไรคะ ทำที่ไหน
ตอบ เราจัดงานกันที่อนามัน ใกล้ๆ กับสวนป่า จัดวันเดียวกันแต่แบ่งเป็น 2 ช่วง เวทีคืนความรู้สู่ชุมชน มีข้อมูลที่รวบรวมกันตั้งแต่แรก ใช้แผนที่ วิดีโอที่พวกเราลงสำรวจพื้นที่จริง และมีการนำเสนอโดยใช้พาวเวอร์พอยท์ ให้คนในชุมชนได้รู้ต้นเหตุและปลายเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร รวมถึงแนวทางการพัฒนาสวนป่า ส่วนวงเสวนาเป็นเวทีที่ให้ตัวแทนนักเรียนในชุมชน ผู้นำชุมชนและผู้อำนวยการช่วยกันวิเคราะห์ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเสนอแนวทางแก้ปัญหา
ถาม: ตอนคืนความรู้สู่ชุมชน เรานำเสนอข้อมูลในรูปแบบไหนบ้างมีทำแผนที่อะไรบ้างไหม
ตอบ: มี ค่ะ
ถาม: วันนั้นพราวทำอะไร
ตอบ: ทำหน้าที่เป็นพิธีกรค่ะ
ถาม: ยากไหม เคยทำมาก่อนไหม
ตอบ: เคยทำมาก่อน ไม่ยากค่ะ
ถาม: ถ้าเคยทำมาก่อนครั้งนั้นทำได้ดีกว่าครั้งก่อนๆ ไหม
ตอบ: ค่ะ ครั้งนั้นนำความรู้สู่ชุมชนทำได้ดีกว่าครั้งก่อนๆ ค่ะ เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว เวลาพูดนำเสนอจึงสามารถจับใจความได้ค่ะ
ถาม: หลังเสร็จงาน ได้มีการทบทวนกับตัวเองไหมว่าข้อผิดพลาดเป็นอย่างไรหรือว่าอยากจะทำให้ดีกว่าในครั้งต่อไปตรงไหนบ้าง ในบทบาทพิธีกรของเรา
ตอบ: มีค่ะ หลังจากจบการนำเสนอโครงงานในวันนั้น คุณครูชัยให้พวกเราทุกคนมานั่งกันเป็นกลุ่มค่ะ แล้วก็ให้ทุกคนพูดเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อผิดพลาดของตัวเองว่าจะแก้ไขอย่างไร
ถาม: แล้วพราวมองตัวเองอย่างไรบ้างคะ
ตอบ: ในวันนั้นบางตอนพูดผิดบ้าง รู้สึกว่าต้องพูดให้ช้ากว่านี้ แต่ก็รู้สึกดีใจค่ะ ที่วันนั้นผู้คนมาให้ความร่วมมือกันเยอะค่ะ
ถาม: ใครมาบ้างคะ
ตอบ: มีผู้ปกครองของนักเรียน เขามานั่งฟังว่าลูกแต่ละคนทำอะไร มีผู้เฒ่าผู้แก่ก็มานั่งดูพวกเรานำเสนองานด้วยค่ะ แล้วก็มีพวกวัยรุ่นและเยาวชนในชุมชนค่ะ
ถาม: ทั้งหมดเราสักประมาณกี่คน
ตอบ: ประมาณ 40-50 คนค่ะ
ถาม: มันเป็นเวทีเฉพาะกิจที่เราจัดมาเฉพาะหรือไปเราไปแจมกับเวทีประชาคม อะไรแบบนี้ไหม
ตอบ: เราจัดมาโดยเฉพาะสำหรับงานนี้ค่ะ
ถาม: แล้วถ้าประเมิน 40-50 คนนี้ถือว่าเยอะไหมสำหรับชุมชนเรา
ตอบ: หนูว่าถือว่าเยอะค่ะ
ถาม: แล้วเราใช้วิธีการอย่างไรในการชวนคนมาร่วมเวที เพราะว่าถ้าเป็นเวทีประชาคมเค้าจะรู้กันอยู่ว่าทุกเดือนมี แต่ว่าอันนี้มันเป็นแบบเฉพาะเลย
ตอบ: ประสานงานผ่านกำนันค่ะ เพราะว่าเขาเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่ ให้เขานำเสนอไปในที่ประชุมของหมู่บ้าน ว่าจะมีการจัดกิจกรรมนี้จากนักเรียน พื้นที่ตรงนั้นมีหลายๆ หมู่ติดกัน ในแต่ละหมู่มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านคนอื่นด้วย ว่าให้เชิญชวนผู้คนมาร่วมประชุม
ถาม: แสดงว่ากำนันให้ความร่วมมือในระดับที่โอเค ถูกไหมมีอะไรหนักใจไหมระหว่างกำนันกับพวกเรา
ตอบ: ไม่มีค่ะ เขาก็ช่วยแก้ไขปัญหาตรงจุดที่เราจะแก้ไข คอยเสริมเติมแต่งให้ค่ะ
ถาม: ซึ่งตรงนี้มีปัญหาอะไรไหม
ตอบ: ในขั้นตอนตรงนี้ไม่มีปัญหา เพราะเราวางแผนก่อนดำเนินงานกันค่ะ
ถาม: วางแผนการทำกิจกรรมต่อจากนี้อย่างไรบ้าง
ตอบ: หลังจากที่เราได้ตั้งเวทีเสวนาและมีกิจกรรมในวันนั้น เราให้คนในชุมชนร่วมกันเสนอความคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรดีที่จะรวมคนได้มากกว่านี้ เพราะสวนป่าตรงนี้มันมีประโยชน์ต่อทุกคน ทุกคนต่างเสนอแนวทางหลากหลาย หลังจากที่รวบรวมข้อมูลตรงนั้น คุณครูให้พวกเรากลับมาตั้งประเด็นใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด แล้วก็มีประชุมย่อยกันอีกครั้งหนึ่งกับผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสารวัตรกำนัน ให้พวกเขาช่วยกันตีโจทย์ว่าที่ทุกคนต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหาคือเรื่องอะไร จึงได้หัวข้อการบวชป่ามาค่ะ มะนังจะเป็นป่าแห่งแรกที่ทำการบวชป่าขึ้น ซึ่งถ้าทำพิธีบวชป่าเสร็จ จะมีผู้คนให้ความสนใจเยอะ เมื่อคนเข้ามาเห็น เขาจะรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญมากและหันมาดูแลรักษากันมากขึ้นค่ะ
ถาม: เรื่องการบวชป่ามีอะไรเกิดขึ้นไหมที่น่าหนักใจ
ตอบ: หนักใจในเรื่องของพิธีการ เพราะว่าในมะนังไม่เคยมีใครทำบวชป่าเลย พวกเราแบ่งหน้าที่กันสืบค้นข้อมูลเรื่องพิธีบวชป่าในอินเทอร์เน็ตจากหลากหลายแหล่งที่มา และไปสืบค้นข้อมูลกับพระอาจารย์ที่วัดนิคมพัฒนาราม วัดประจำชุมชนด้วยว่าแต่ละขั้นตอนทำอย่างไรบ้าง
ถาม: หลังจากไปถามข้อมูลแล้ว เราสรุปผลการบวชป่าเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ: สำเร็จตามเป้าหมายค่ะ มีคนเข้าศึกษาและมาร่วมในพิธีวันนั้นเยอะมาก ทั้งคนสำคัญในจังหวัดสตูล รวมถึงนายอำเภอมะนังก็มาด้วย ผู้คนเห็นความสำคัญในพื้นที่ป่ามากขึ้น พวกเราได้ทำการผูกผ้าในสวนป่า ให้คนเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นะไม่ควรทำลาย
ถาม: เราคิดว่าเพราะอะไรคนถึงมาร่วมกันเยอะขนาดนั้นเรามี เทคนิคอะไรไหมที่ชวนคนมากันอย่างไร
ตอบ: วันนั้นมีการทำบุญด้วยค่ะ คนที่มาทำบุญนำปิ่นโตมาให้พระฉันเพล เสร็จพวกเราก็นั่งทานข้าวในสวนป่าเลยค่ะ
ถาม: ยุงไม่กัดเหรอ
ตอบ: ไม่ค่อยมียุ่งค่ะ เพราะก่อนจัดงานพวกเราไปจัดการเคลียพื้นที่เยอะไปพอสมควร
ถาม: พวกเด็กๆ ไปกัน มีใครไปอีกไหม
ตอบ: นอกจากพวกหนู ยังมีทีมสารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านค่ะ
ถาม: ในบทบาทของประธานโครงการ พราวรู้สึกอย่างไรบ้างกับความร่วมมือของชุมชน
ตอบ: ผู้นำและคนในชุมชนให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาส่วนร่วมดีมาก โดยเฉพาะผู้นำชุมชนให้ความสนใจกับโครงการที่พวกหนูทำ พร้อมให้ความร่วมมือ และพร้อมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตรงนั้นให้ประสบผลสำเร็จค่ะ
ถาม: เรื่องยากที่สุดสำหรับการทำโครงการนี้ คืออะไร
ตอบ: เรื่องยากคือตัวหนูเอง บางครั้งในแต่ละวันเหนื่อยกับงาน เราต้องกำจัดความรู้สึกตรงนี้ไปให้ได้ หนูก็บอกตัวเองว่าพรุ่งนี้ก็หายเหนื่อยแล้ว เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ถาม: ไปๆ มาๆ แล้วตอนที่เป็นประธานโครงการนี้ เหมือนเป็นแค่โครงการในห้องเรียน กับการเป็นประธานนักเรียนอะไรรับผิดชอบมากกว่ากัน
ตอบ: เป็นโครงการที่เหนื่อยพอๆ กับงานโรงเรียนเลยค่ะ เพราะเราทำงานวางแผนและเกี่ยวข้องกับคนในชุมชน ซึ่งมีความคิดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักรับมือกับแต่ละคนให้ได้ค่ะ
ถาม: แล้วเรารับมือแต่ละคนได้ดีแค่ไหนถ้าให้ประเมินตัวเอง
ตอบ: ตอนที่หนูเป็นประธานช่วงแรกยังไม่เข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ทำไมมีความคิดที่ต่างจากอีกกลุ่มหนึ่ง พอหนูโตขึ้น ฉะนั้นเราต้องทำให้ 2 กลุ่มนี้สามารถเข้ากันได้ค่ะ แล้วก็เราจะให้เขายอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันให้ได้ค่ะ
ถาม: เราใช้วิธีอย่างไรในการให้เขายอมรับในความแตกต่างของกันและกันให้ได้คะ
ตอบ: ก่อนที่เราจะทำงานในแต่ละครั้ง เราจะตั้งกฎขึ้นมา ในทุกกิจกรรม เพื่อให้ทุกคนการยอมรับความคิดเห็นของซึ่งกันและกัน
ถาม: ก็คือเราวางข้อตกลงร่วมกันไว้ก่อนถูกไหม
ตอบ: ใช่ค่ะ
ถาม: ไหนๆ พูดถึงผู้นำแล้ว จากประสบการณ์ของพราว ภาวะผู้นำหรือบทบาทความเป็นผู้นำต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เราพอจะยกตัวอย่าให้พี่ให้ได้ไหม
ตอบ: การเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้สั่งคนอื่นเพียงอย่างเดียว เราต้องสั่งตัวเองด้วย ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเราต้องนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะคนอื่นเลือกเรามา ให้เป็นคนดำเนินงาน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรเห็นแก่ตัว เราควรยึดความเป็นส่วนรวมให้มากที่สุดค่ะ
ถาม: มีอีกไหม
ตอบ:ผู้นำถ้ามัวแต่สั่งงานคนอื่น ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้งานไปพร้อมๆ กับพวกเขาหรือไม่ได้ลงมือปฏิบัติ เราอาจจะเป็นผู้นำที่มีความรู้น้อยกว่าคนที่เขาดำเนินงาน เพราะฉะนั้นในทุกๆ งาน ผู้นำต้องรู้จักทำงานไปพร้อมกับเพื่อนๆ ในทีม เราจะได้มีการเรียนรู้ มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาในกลุ่มของเราได้ค่ะ
ถาม: เรื่องที่บ้านเรื่องที่โรงเรียน พราวจัดการตัวเองอย่างไร
ตอบ: หลังจากกลับมาจากโรงเรียน เราก็หมดภาระการเป็นผู้นำที่โรงเรียน เราวางแผนงานไว้ก่อนค่ะ เพราะที่บ้านเราก็ต้องรับผิดชอบ เช่น ล้างจาน ซักผ้า เสร็จแล้วมาทำการบ้านทำหน้าที่ของนักเรียนต่อค่ะ
ถาม: เราได้พูดคุยกับพ่อแม่บ้างไหม เขาว่าอย่างไรบ้าง
ตอบ: พูดคุยกับพ่อกับแม่ค่ะ หนูเหนื่อยหนูก็บอกแม่ แม่บอกว่าให้อดทนเขาเลือกเรามาแล้ว เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หนูคิดว่ามันเหนื่อยแต่มันก็เหนื่อยแค่วันนั้นวันเดียว แล้วอีกวันหนึ่งมันก็หายเหนื่อยไปเอง มันเป็นแค่ความรู้สึกว่าเหนื่อยจัง มันก็แค่ความรู้สึกค่ะ แต่ว่าร่างกายของหนูยังไหวอยู่
ถาม: แต่ถ้าเรื่องเหนื่อยใจมีไหม จริงๆ แล้ว
ตอบ: มีค่ะ ตอนให้ลงความคิดเห็นกัน เพื่อนก็ไม่ค่อยเข้าใจกันค่ะ ก็รู้สึกว่าอยากให้คน สองคนนั้นเข้าใจกัน แล้วก็สามารถทำให้เขาเข้าใจกันได้ค่ะ
ถาม: หนูใช้วิธีอย่างไรนะ
ตอบ: วันนั้นก็เรียกเขามาคุยกันเลยค่ะว่าทั้งสองคนรู้สึกอย่างไร
ตอบ: วันนั้นครูชัยก็พูดด้วย เพื่อนสองคนไม่เข้าใจโครงการนี้ เขาเถียงกันเพราะความคิดที่แตกต่าง จนอีกคนร้องไห้ อีกคนหนึ่งปากจัด เป็นคนพูดโผงผาง พูดไม่คิด แล้วอีกคนก็คล้ายๆ กัน เราก็เรียกมาถามว่า ทำไมมีปัญหาอะไรกัน จนเขาก็กลับมาดีกันได้ค่ะ
ถาม: แต่จำเรื่องไม่ได้ใช่ไหมว่าเรื่องอะไร
ตอบ: ใช่ค่ะ เป็นเกี่ยวกับกิจกรรมโครงการ
ถาม: ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือผู้หญิงกับผู้ชาย
ตอบ: ผู้หญิงกับผู้หญิงค่ะ
ถาม: ซึ่งเราก็ต้องเป็นตัวกลางในช่วยกันใช่ไหม
ตอบ: ใช่ค่ะ แต่ก็มีเพื่อนๆ คนอื่นๆ มาช่วยกัน
ถาม: เกิดขึ้นบ่อยไหมเหตุการณ์แบบนี้
ตอบ: ไม่ค่ะ นานๆ ครั้ง
ถาม: จากการทำโครงการมาทั้งหมดเกิดผลลัพธ์ อะไรกับชุมชนบ้างเรา
ตอบ: เราทำโครงการได้สำเร็จ คนในชุมชนหันมาสนใจอนุรักษ์สวนป่า ช่วยกันดูแลพื้นที่ไม่ให้รกร้างเหมือนแต่ก่อน เด็กๆ สามารถเข้าไปศึกษาเรื่องพันธุ์ไม้ได้ ช่วงที่เตรียมงานหลังจากที่รวบรวมข้อมูลมาเสร็จพวกหนูได้ทำแผ่นป้ายชื่อพันธุ์ไม้ไปติดไว้ในป่าด้วย
ถาม:ไปติดจริง ๆ เป็นช่วงบวชป่า หรือเป็นช่วง ให้ความรู้
ตอบ: หลังจากจัดเวทีคืนความรู้ค่ะ
ถาม: มีพันธุ์ไม้สักกี่ชนิด พอจำได้ไหมค่ะ
ตอบ: ในป่านั้นประมาณ ลุงอำนวยผู้เชี่ยวชาญพันธุ์ไม้ บอกว่าประมาณ 105-107 พันธุ์ แต่ว่ามันจะมีสายพันธุ์ที่เราไม่รู้จักด้วยค่ะ
ถาม: เท่าที่หนูจำได้มีพันธุ์อะไรบ้างที่เยอะๆ เลย มีต้นอะไรบ้าง
ตอบ: ต้นที่เยอะๆ จะมีต้นกระท้อน ต้นไทร กระพ้อน่าจะเยอะที่สุดค่ะ
ถาม: ป้ายนี้เราช่วยกันทำเหรอ เอาอะไรมาทำ
ตอบ: ใช่ค่ะ เอาป้ายไม้ค่ะ
ถาม: ไม้เอามาจากที่ไหนคะ
ตอบ: ขอซื้อจากคนในชุมชนค่ะ
ถาม: แล้วก็มีทำแผนที่สวนป่าด้วยเหรอ
ตอบ: ใช่ค่ะ
ถาม: แผนที่ทำมาจากอะไร แล้วเอาไปไว้ที่ไหน
ตอบ: แผนที่ตอนนี้อยู่ที่ครูชัยค่ะ
ถาม: อยู่ในไวนิล อยู่บนผ้า หรือว่าอยู่บนอะไร
ตอบ: อยู่ในกระดาษค่ะ
ตอบ: แผนที่ภายในสวนป่า กำนันเจะอาไปทำแผนที่แสดงจุดที่น่าสนใจในสวนป่า เพราะว่าในอนาคตข้างหน้า อาจจะมีคนเข้ามาศึกษาสวนป่าเยอะขึ้น
ถาม: ถ้าพี่อยากจะไปเรียนรู้ในสวนป่าพี่จะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร
ตอบ: จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ด้วยค่ะ วันนั้นเราได้เคลียงานเคลียของกัน อีกวันได้เข้ามาสวนป่าอีก แล้วก็เข้ามานั่งคุยพูดคุยและนอนเล่นกัน เราก็เห็นลิงด้วย ทำให้รู้สึกว่าป่าน่าอยู่ขึ้น ก็มีสัตว์กลับมา
ถาม: แล้วถ้าพี่อยากไปพี่ต้องติดต่อประสานงานกับใครถ้าอยากดูสวนป่า
ตอบ: สามารถติดต่อประสานงานผ่านหนูหรือว่าครูชัยก็ได้ค่ะ เพราะว่าถ้าวันไหนหนูไม่มีเรียนหรือถ้าตรงกับเสาร์อาทิตย์ หนูกับเพื่อนๆ ก็สามารถไปเป็นไกด์ได้ค่ะ
ถาม: กลับมาที่ผลลัพธ์ของการทำโครงการ เราได้ระเบียบการใช้สวนป่า มีรายละเอียดอย่างไรบ้างคะ
ตอบ: ระเบียบการใช้สวนป่า มีห้ามขายของบริเวณนั้น ห้ามตัดต้นไม้ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตค่ะ แล้วก็ห้ามฆ่าสัตว์ในพื้นที่ป่าด้วยค่ะ
ถาม: คืออันนี้เป็นระเบียบใหม่เลยไหม ไม่ใช่ว่าเป็นเป็นระเบียบเดิม ระเบียบบังคับใช้ให้เข้มข้นขึ้น
ตอบ: ใช่ค่ะ เป็นระเบียบใหม่ที่ช่วยกันตั้งขึ้นค่ะ
ถาม: ที่นี่นอกจากระเบียบมีอย่างอื่นอีกไหมคะ ที่ผลลัพธ์จากเราทำขึ้นจากโครงการ
ตอบ: มีปฏิทินด้วยค่ะ
ตอบ: หลังจากที่พวกหนูเรียนจบจากอนุบาลมะนัง ตอน ม.3 พวกหนูได้วางแผนกับผู้นำชุมชนและกำนัน เรื่องปฏิทินแผนงานที่จะดำเนินงานต่อในสวนป่า เนื่องจากพวกเราไม่มีเวลาดูแลต่อ เราก็มอบหมายงานให้กำนันช่วยดูแลต่อแทน เราก็วางแผนปฏิทินวางแผนงานโดยในปฏิทินนั้นระบุว่าในแต่ละเดือน ในแต่ละปีเราจะทำกิจกรรมอะไรในสวนป่าบ้าง เพื่อให้คนรู้สึกว่าพื้นป่าตรงนี้มีความสำคัญค่ะ
ถาม: พราวคิดว่าชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องที่เราทำบ้าง
ตอบ: หนูเป็นเยาวชนในชุมชนบ้านมะนัง หนูเห็นว่าสวนป่าเป็นประโยชน์และเป็นมรดกของชุมชนมะนัง เราเป็นคนที่นี่ เราต้องเป็นคนอนุรักษ์ผืนป่าไว้ให้เยอะๆ มะนังมีสวนป่าน้อยมาก ตอนนี้ชุมชนได้ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กลับมา เพราะเราช่วยกันพัฒนาจึงเปลี่ยนป่าร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ทำให้น้องๆ ในโรงเรียนได้เข้าไปเรียนรู้ แล้วก็ยังได้ความสามัคคีภายในชุมชน
ถาม: ก็เหมือนเสียงตอบรับจากชุมชนก็ดีใช่ไหม ทัศนะคติกับผู้ใหญ่ต่อเด็กเยาวชนเปลี่ยนไปไหม
ตอบ: ก่อนทำโครงการหนูไม่ค่อยได้ไปสัมผัสกับคนในชุมชน จึงไม่รู้ว่าผู้ใหญ่มองเด็กๆ ว่าอย่างไร หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมนี้ทำให้รู้สึกว่า เขาได้เห็นถึงความสามารถในแต่ละด้านของเด็กๆ นอกจากเรียนหนังสือ แล้วเด็กๆ ก็สามารถพัฒนาแก้ไขปัญหาภายในชุมชนได้ด้วยค่ะ
ถาม: ก็ถือว่ามีความร่วมมือกันรอบด้านในชุมชนซึ่งโรงเรียนที่หนูเรียน ม.4 กับโรงเรียนเดิมอยู่ในพื้นที่เลยหรือว่าอย่างไร
ตอบ: อยู่คนละพื้นที่เลยค่ะ โรงเรียนอนุบาลมะนัง ตั้งอยู่ในอำเภอมะนัง ห่างจากโรงเรียนที่หนูเรียนมากเพราะอยู่ในเมืองสตูล
ถาม: ประสบการณ์ที่เราได้ทำมาตั้งแต่ทำโครงการแล้วก็ได้เป็นประธานพวกนี้มันส่งผลหรือประโยชน์ในการเรียนชั้น ม.ปลาย ซึ่งตอนนี้เพิ่งเริ่ม ม.4 ของหนูบ้างไหม
ตอบ: มีประโยชน์มากค่ะ หลังจากที่หนูได้เรียนรู้จากการทำโครงการวิจัย ในชั้น ม.4 . ให้นักเรียนทำโครงงาน หนูสามารถนำแนวทางที่เคยทำมาปรับใช้ในการเรียน
ถาม: ยกตัวอย่างได้ไหม เราทำอะไรในเรื่องไหนได้ง่ายขึ้นคล่องขึ้น
ตอบ: จากที่หนูได้ทำโครงการสวนป่า หนูได้มีประสบการณ์เรื่องการทำเอกสาร รู้แนวทางว่าต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง ต้องทำรายงานอย่างไร
ตอบ: หนูทำงานเอกสารได้คล่องขึ้นและตีความโจทย์ในแต่ละหัวข้อได้ เพราะโครงการที่เราทำมา เราทำแต่ละขั้นตอนอย่างเจาะลึก พอไปทำโครงการย่อยๆ เหมือนที่ครูให้ทำเอกสาร จะเข้าใจเลยว่าหัวข้อนี้ ควรเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร สามารถทำงานได้ง่ายขึ้นค่ะ
ถาม: มีจุดเปลี่ยนตรงไหนไหมที่ทำให้เราค้นพบศักยภาพของตัวเองที่ไม่เคยรู้มาก่อนหรืออาจส่งผลให้รู้จักตัวเองมากขึ้น
ตอบ: หลังจากที่หนูได้ทำโครงการ เรามีความเป็นผู้นำมากขึ้น พอเข้าไป ม.4 ที่โรงเรียนใหม่ หนูก็ได้เข้าร่วมโครงการครอบครัวพอเพียง ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมครอบครัวพอเพียงด้านประชาธิปไตย
ถาม: เราอาสาสมัครไหม ทำไมถึงได้เป็นประธาน
ตอบ: วันนั้นเพื่อนๆ ก็เสนอชื่อหนูค่ะ
ถาม: เพื่อนใหม่เสนอชื่อเราเหรอคะ
ตอบ: เป็นเพื่อนใหม่ค่ะ
ถาม: แล้วเราคิดว่าเพื่อนใหม่เห็นอะไรในตัวเราเขาถึงเสนอชื่อเรา
ตอบ: ก่อนมีโครงการครอบครัวพอเพียงหรือก่อนมารับเรื่องประธาน ก็จะมีการนำเสนอหน้าชั้นเรียนหรือว่าทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อนๆ น่าจะได้เห็นบางอย่างในตัวหนู เวลาเสนองานหนูก็จะเป็นคนนำเสนองานค่ะ
ถาม: เราก็มีความมั่นใจพูดจารู้เรื่อง นำเสนองานได้ มีความกล้าแสดงออก
ตอบ: ค่ะ
ถาม: จากเดิมที่หนูก็มีความรู้สึกว่าอยากทำอะไรเพื่อส่วนรวมอยู่แล้ว พอผ่านโครงการมาได้ทำงานกับผู้ใหญ่ ความรู้สึกเรามีความเปลี่ยนแปลงไปไหม
ตอบ: จากแง่มุมก่อนทำโครงการรู้สึกว่าเด็กกับผู้ใหญ่มีความคิดที่แตกต่างกัน เด็กกับผู้ใหญ่น่าจะเข้ากันได้ยาก แต่ว่าหลังจากที่ทำโครงการเข้าใจแล้วว่า ช่วงอายุมันไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับการทำงาน เพราะว่าพวกเรากับคนในชุมชนเข้ากันได้ดีค่ะ
ถาม: จากประสบการณ์ของเราในฐานะที่เราเป็นเด็ก เราทำงานกับผู้ใหญ่เ เราจะทำตัวอย่างไรในการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ได้โดยที่ไม่มีปัญหาระหว่างกัน
ตอบ: ผู้ใหญ่มีอายุมากกว่า เพราะฉะนั้นแนวทางที่เขาบอก เรารับมาพิจารณาว่ามันเป็นแนวทางที่ดีไหม ตอนที่เขาเสนอมา เราควรเก็บความคิดความรู้สึกไว้ในใจก่อนว่าอันนี้มันโอเคไหม มันพอเป็นแนวทางให้เราได้ไหม หลังจากที่เราประชุมกันหรือว่ามีผู้ใหญ่เสนอแนวคิดมา พวกเราจะมาวิเคราะห์ข้อเสนอแนะอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีการเถียงกลับไปในที่ประชุม เพราะว่าเขามีอายุที่มากกว่าเพราะฉะนั้นเราต้องให้ความเคารพและก็นับถือเค้าด้วยค่ะ
ถาม: ตอนนี้ก็คือจบโครงการแล้ว พราวมีโปรเจคอะไรอีกไหมที่อยากทำเพื่อชุมชนของเราเอง
ตอบ: ถ้าเป็นไปได้อยากให้เพื่อนๆ ในทีมงานเก่า โรงเรียนอนุบาลมะนังกลับมาร่วมตัวกันได้อีกครั้ง หนูคิดว่าสวนป่าตรงนั้น สามารถพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ได้ อย่างเช่น
ถาม: โครงการที่เราทำก็เกี่ยวกับป่าเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราซึมซับความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรติดตัว มาไหม
ตอบ: ได้กลับมาค่ะ หลังจากที่เราได้ฟื้นฟูป่า เราก็ได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีกลับมา ป่ามีประโยชน์ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ร่วมโลก หนูรู้สึกว่าป่าทุกแห่ง เราควรอนุรักษ์ไว้ เพราะยังมีป่าอีกหลายแห่งที่รอการฟื้นฟู สัตว์ยังรอคอยที่จะกลับมาในป่า
ถาม: หนูมีความฝันอยากเป็นอะไร
ตอบ: ความฝันของหนูอยากเป็นครูค่ะ
ถาม: เพราะอะไร
ตอบ: เพราะหนูรู้สึกว่า ถ้าเราเป็นครูในแบบที่ไม่เหมือนคนอื่น เช่น ให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก เขาก็จะรู้สึกเหมือนหนูที่ได้ทำโครงการ ความรู้ในห้องเรียนอาจไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อการนำไปใช้ในชีวิตต่อถ้าไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง แต่ถ้าได้เรียนรู้และปฏิบัติด้วย เราสามารถใช้เป็นแนวทางในชีวิตได้ เด็กบางคนเขาไม่ได้เรียนจบปริญญา แต่มีแนวทางในการดำเนินชีวิตเพราะเอาแนวทางชีวิตที่ได้เรียนในชีวิตจริงนอกห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ถาม: แล้วตัวเราเองอยากเรียนรู้หรืออยากพัฒนาตัวเราเองเพิ่มขึ้นอีกไหมคะ
ตอบ: อยากเป็นคนให้ความรู้ อยากพัฒนาตัวเองให้เป็นคนเก่งขึ้น เพราะถ้าเราเก่งขึ้น เราก็จะส่งต่อความรู้ได้ดีขึ้น
ถาม: ความรู้สึกที่อยากเป็นครูนี้เรารู้สึกตอนไหนเราค้นพบต้องการเป็นของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอบ: ตั้งแต่ตอนเรียนที่อนุบาลมะนัง เพราะว่าครูที่โรงเรียนเป็นคุณครูที่เข้าใจนักเรียนมากค่ะ ที่โรงเรียนก็อยู่กันแบบครอบครัวค่ะ
ถาม: แล้วโรงเรียนตอนนี้มันแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ: โรงเรียนตอนนี้มีเด็กเยอะค่ะ เป็น 1,000 คน อนุบาลมะนังมีเด็กน้อย ครูเข้าถึงทุกคนค่ะ
ถาม: การเป็นครูที่เข้าถึงนักเรียนได้ดีอย่างไร
ตอบ: เราก็จะได้เป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียน ถ้าเราได้ใกล้ชิดหรือว่าได้สนิทสนมกับนักเรียน เขาไว้ใจเรา เราให้คำปรึกษาเขาได้
ถาม: หนูรู้สึกว่าการที่เป็นครูที่ให้ความปรึกษาได้นี้มันสำคัญใช่ไหม
ตอบ: สำคัญ เพราะว่าในบางครั้งถ้านักเรียนไม่สนิทกับคุณครูจริงๆ ก็ไม่กล้าปรึกษาค่ะ
ถาม: ส่วนตัวหนูมีประสบการณ์ไหมกับการที่เราสนิทกับครู เราก็ได้ครูเป็นที่ปรึกษา
ตอบ: มีช่วงหนึ่งหนูมีปัญหาในชีวิตของหนู หนูสามารถปรึกษาครูทุกคนได้เลยค่ะ เพราะคุณครูเข้าใจนักเรียน คอยซับพอร์ต แนะนำแนวทาง คอยดูนักเรียน ครูรู้ว่าคนนี้มีบุคลิกอย่างไร นิสัยอย่างไร เขาสัมผัสและรู้จักนักเรียนเป็นอย่างดีค่ะ