ทบาทผู้ใหญ่ในการเป็นกลไกพัฒนาเยาวชนชุมชนบ้านทุ่ง จังหวัดสตูล
พี่เลี้ยงเยาวชนโครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ชุมชนบ้านทุ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี
ชื่อเล่น มะเดีย
อายุ 62 ปี อาชีพ แม่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชนและคณะกรรมการสภาชุมชน
ถาม : แนะนำตัวเอง ชื่อสกุล ตอนนี้ทำงานอะไร
ตอบ : ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี อายุ 62 ปี อยู่บ้านและส่วนใหญ่ทำงานเพื่อชุมชน ที่สภาชุมชน
ถาม ทำงานสภาองค์กรชุมชนทำมานานแล้วยังคะ
ตอบ สิบกว่าปี
ถาม เป็นไงมาไงถึงได้มาทำงานสภาองค์กรของชุมชนคะ
ตอบ ย้อนกลับไปหลายมีมาแล้วมะกำลังหาทางแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน แล้วได้รู้จักกับทีมกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่เข้ามาช่วยเหลือจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย หลังจากนั้นน้องๆ เข้ามาแนะนำว่า ถ้าตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา จะสามารถดูแลจัดการประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชนและปัญหาของคนอำเภอละงูด้วยค่ะ
ถาม ที่สัมภาษณ์กันในครั้งนี้ จะเน้นถามมะเกี่ยวกับกลไกชุมชนที่เข้ามาช่วยโครงการปันจักสีลัตของน้องๆ นอกจากตัวมะ ก๊ะนุช และทีมบังหยาดบังเชษฐ์แล้ว ยังมีใครอีกบ้างที่เข้ามาช่วย เช่น โรงเรียน ผู้นำชุมชน หรือ อบต. อยากให้มะช่วยเล่าตรงนั้น แต่ก่อนอื่นอยากให้มะเล่าสภาพชุมชนก่อนคะ
ตอบ มะโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นโอกาสให้ได้ช่วยชุมชนบ้านเรา บ้านทุ่งเป็นชุมชนบ้านๆ อยู่กันแบบพี่น้อง ช่วงหลังๆ มะได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายได้ช่วยกันหลายฝ่าย เช่น บังเชษฐ์ บังคม เข้ามาช่วยให้ชุมชนได้มีกิจกรรม หรือประสานกับ อบต. เราก็จะได้รับตำแนะนำที่ดีมาดำเนินงานต่อ
ถาม ถ้าพูดถึงทุนชุมชนของบ้านทุ่ง มีทรัพยากร หรือธรรมชาติอะไรที่โดดเด่นบ้างคะ
ตอบ ทุนชมชนบ้านทุ่ง ม.5 มีคนและทรัพยากรที่สมบูรณ์ค่ะ เช่น คนก็เป็นทุนอย่างหนึ่งที่สามารถทำกิจกรรมได้ เพียงแต่เราต้องเอาทักษะความรู้จากข้างนอกมาช่วยในส่วนนี้
ถาม คนของบ้านเราเข้มแข็งกว่าที่อื่นอย่างไร ในความคิดของมะ
ตอบ เรามีทีมแกนนำชุมชนที่เข้มแข็งสามารถคุยกันได้และทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ไม่เกี่ยงกัน
ถาม ส่วนใหญ่คนในชุมชนทำอาชีพอะไรคะ
ตอบ ทำสวน ทำเกษตร 100 % เช่น ทำสวนยาง ปลูกปาล์ม ทำนาข้าว และปลูกผักกินเอง
ถาม มะเป็นผู้หญิงที่ทำงานเป็นผู้นำชุมชน อยากให้เล่าว่าทำไมถึงสนใจงานพวกนี้
ตอบ เมื่อก่อนเคยคิดว่าชุมชนเราทำไมไม่มีอะไรทำเลย โครงการอะไรก็ตามเข้ามาไม่ถึงบ้านทุ่ง มะจึงได้ปรึกษากับน้องพงษ์ ตอนสมัยมะสาวๆ อายุประมาณสี่สิบกว่าว่า ทำไมบ้านเราถึงอาภัพ ไม่ค่อยมีกิจกรรมพัฒนาชุมชน หรือเพราะเยาวชนและผู้ใหญ่ต่างคนต่างอยู่ มันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราควรทำอย่างไรให้มีงาน มีกิจกรรมทำเหมือนที่อื่น น้องพงษ์พูดว่า มะเดียก็หากิจกรรมทำสิ แต่ด้วยความที่เราชาวบ้านธรรมดา เราคิดไม่ออกว่าต้องเริ่มจากตรงไหน
ถาม เราจึงสนใจและลุกขึ้นมาทำใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ เราเป็นคนริเริ่มเองก็ว่าได้ และก็ชวนเพื่อนๆ จากสมาชิกสองสามคน ช่วยคิดกันเราจะอะไรบ้าง
ถาม มะมีความคิดว่าถ้าเรามีกิจกรรมมันจะมีประโยชน์ยังไงคะ
ตอบ อย่างน้อยๆ คนจะได้นั่งคุยกัน ได้ปรึกษาหารือ หาทางออกให้กับปัญหาในชุมชน เช่น บางครั้งปัญหาที่คิดว่าใหญ่ เมื่อได้มาชวนคุยชวนคิดก็กลายเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ มะอยากรวมกลุ่มแม่บ้านด้วย เพราะบ้านทุ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ร้อยละ 70-80
ถาม ถ้าเป็นปัญหาของเด็กในชุมชน เป็นเรื่องอะไรบ้างคะ
ตอบ เมื่อก่อนมะคิดว่า ทำไมเด็กๆ พวกนี้ ต่างคนต่างอยู่ เละเทะ แว้นกัน และขี้เกียจเรียนหนังสือ ประเด็นหลัก คือ พ่อแม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษา
ถาม เมื่อเด็กๆ ไม่มีอะไรทำ ก็จับกลุ่มกันทำอย่างอื่น ใช่ไหมค่ะ
ตอบ ใช่ เวลาไม่มีอะไรทำ จับกลุ่มกันไปที่ขนำ บางคนแอบอยู่หลังบ้าน
ถาม มะมีเป้าหมายอยากพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน อย่างไรบ้างคะ
ตอบ เราอยากให้เด็กๆ ในชุมชนหันมาดูแลตัวเองและสังคม เพื่อให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ โดยไม่สร้างปัญหาให้ตัวเองและผู้อื่น ถ้าพวกเขามีอาชีพจะดีมากๆ จากประสบการณ์ทำงานมา จากการที่มะได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ สิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องดีมะก็อยากมอบให้กับพวกเขา สร้างสำนึกให้เขารักตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวได้
ถาม เรื่องแนวคิดนี้ ผู้นำชุมชน หรือคนอื่น คิดเห็นไปในทางเดียวกันไหมคะ
ตอบ ไม่ถึงขนาดขัดแย้ง แต่หลายๆ คนก็ไม่ได้คิดในเรื่องที่จะมาดูแลเด็กๆ
ถาม เขาไม่เคยทำ และไม่เคยรู้ใช่ไหมว่าจะต้องทำอย่างไร
ตอบ ใช่ บางครั้งเราเข้าไปปรึกษากผู้ใหญ่บางคน เขายังบอกว่า ทำไม่ได้หรอก ทำยาก ขนาดพ่อแม่ของเขายังไม่ทำอะไรเลย แล้วเราเป็นใคร นี่คือสิ่งที่ใครหลายๆ คนสะท้อนออกมา มะคิดว่าถ้าเราคิดแบบนี้มันก็ไม่ถูก เราลองทำดูสิ ถ้าได้มันก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้เขาได้คิดเองทำเอง
ถาม รู้จักกลุ่มบังเชษฐ์ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ตอบ เมื่อสิบปีที่แล้ว ตอนทำเรื่องสภาองค์กรชุมชน วันนั้นเราทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมคนในสภาฯ สภาของเราเป็นหมู่บ้าน พื้นที่กว้างมาก จึงปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนในสภารู้จักกันและทำงานร่วมกันได้ จากนั้นก็ลองคุยกับบังคมและบังเชษฐ์
ถาม เกี่ยวกับโครงการ Active Citizen มะมาเข้าร่วมได้อย่างไร
ตอบ มะทำกิจกรรมชุมชนเกี่ยวกับครอบครัวอบอุ่นร่วมกับทาง สสส. มะชวนทีมบังเชษฐ์มาเป็นที่ปรึกษา และเป็นพี่เลี้ยงให้มะด้วย บังเชษฐ์เห็นว่ามะทำกิจกรรมกับเด็กๆ ได้ จึงถามมะเดียว่า มีโครงการ Active Citizen มะสนใจไหม มะตอบทันทีว่า ชอบเลย จึงได้เข้าร่วมด้วย เพราะอย่างน้อยก็ได้ให้โอกาสเยาวชนบ้านเราทำกิจกรรม พวกเขาอาจปรับเปลี่ยนตัวเองได้
ถาม ตอนนั้นมะ เข้าใจรูปแบบการทำงานของ Active Citizen ไหมคะว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่เหมือนกับโครงการอื่นๆ
ตอบ ตอนแรกคิดว่าเหมือนโครงการอื่นๆ ที่เคยทำมา จริงๆ แล้วกลับไม่ใช่ โครงการ Active Citizen ทำให้เด็ก รวมถึงตัวมะเอง รู้ลึก รู้จริงในสิ่งที่ทำ โดยมีทีมบังเชษฐ์และบังคมที่เก่ง คอยสอนให้ และทำให้มะนำไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้
ถาม ตอนแรกที่ได้เข้ามาร่วมในบทบาทอะไรคะ
ตอบ เป็นพี่เลี้ยง
ถาม หลังจากนั้นมะ ทำยังไงต่อ ต้องหาทีมไหมคะ
ตอบ หลังจากที่ได้ข้อมูลจากบังเชษฐ์และบังคม มะก็ลองหาทีม กลับไปดูเป้าหมาย และกลุ่มเด็กๆ ที่สนใจ เราเข้าไปถามพวกเขาว่ามีโครงการแบบนี้นะ สนใจไหมเป็นโครงการเกี่ยวกับชุมชน เมื่อเด็กๆ ได้ยินก็รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ เพราะปกติไม่เคยได้รับโอกาสแบบนี้ด้วย
ถาม ส่วนหนึ่งเราก็บอกกับเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และอีกส่วนหนึ่งมะได้ไปคุยกับกลุ่มผู้ใหญ่ไหมและพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ตอบ ข้อดีของชุมชนเรา ถึงไม่เห็นด้วยแต่ไม่ค่อยต่อต้าน คนในชุมชนและผู้ปกครองเห็นชอบด้วย เพียงแต่พวกเขาไม่ค่อยมีเวลามาร่วมกิจกรรมเท่านั้นเอง เราเข้าไปเล่าให้ฟังว่ามีโครงการแบบนี้เข้ามาให้เด็กทำและมีการอบรบให้เก็บเด็กๆ ด้วย อย่างน้อยเด็กๆ ก็ได้ผ่านการอบรม ได้เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ พอทำไปเราดึงผู้นำชุมชนมาเป็นแนวร่วมได้
ถาม มะเลือกทีมมาทำงานอย่างไรบ้าง
ตอบ ตอนนั้นเลือกหลายคน และก็มีบางคนที่หลุดไป แต่มีน้องนุชที่คอยเดินเคียงคู่กันตลอด ถ้ามีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความร่วมมือดีมาก แต่ถ้าต้องมีการออกไปข้างนอก ผู้ติดต่อประสานงานหลัก คือ มะและน้องนุช
ถาม คือมะและก๊ะนุช เป็นพี่เลี้ยงหลักใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ค่ะ
ถาม ก๊ะนุชพูดถึงมะบ่อยๆว่า มะเป็นตัวอย่างในการทำงานให้เขา อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่า คุณสมบัติแบบนี้ คิดบวกและใจเย็น ได้มาอย่างไร
ตอบ บางทีคนเราไม่รู้ตัวเองว่าอยู่ในสภาพไหน มะเป็นคนใจเย็น แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเหมือนกันนะ น้องนุชเป็นคนที่ปรับตัวได้ดีมาก เพราะปีแรกเขาเป็นคนใจร้อน โมโหง่าย พอปีถัดไปเขาค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาก
ถาม มะคิดว่าตัวเองเป็นคนทำงานสไตล์ไหนคะ
ตอบ ก่อนเข้าร่วมโครงการมะเป็นคนที่ไม่ฟังใคร แต่พอเราผ่านการอบรมและเรียนรู้ เรากลายเป็นคนที่รับฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ หรือเด็กๆ หลายคนคิดว่าการทำงานสังคมมีแต่ให้มากกว่าได้รับ แต่สิ่งที่เราได้รับ คือ คำแนะนำที่ดีจากทุกคนที่เข้ามาหาเรา
ถาม นอกจากก๊ะนุช ยังมีใครอีกบ้างคะคอยสนับสนุนกิจกรรมของเด็กๆ
ตอบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อบต. เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้จัดงบประมาณบางส่วนให้กับเด็กๆ
ถาม มะรู้จักงบประมาณนี้ได้ยังไร และคิดว่ามันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ตอบ สปสช . เราเคยขอมาก่อน เพื่อพัฒนาคนในชุมชน เช่น ทำเรื่องครอบครัวอบอุ่น ผลลัพธ์ คือ เกิดความสามัคคีภายในชุมชน อิงจากการทำงานเป็นทีมเยาวชน และได้มานั่งคิดกันว่าเราเอามาประยุกต์ใช้กับครอบครัวและชุมชนได้ดีมาก จึงคิดกับทีมว่า เราลองไปขอทุนกับ สปสช . ทำกันมา 2-3 ปีแล้ว
ถาม ชุมชนอื่นเขาทำโครงการเหมือนกัน แต่อาจจะไม่รู้ว่ามีงบ สปสช. หรือ อบต. ถ้าให้แนะนำการ เข้าไปของบแบบนี้ เราต้องทำยังไงบ้าง
ตอบ มะจะแนะนำทุกเวทีที่ได้มีโอกาสแนะนำหมู่บ้านอื่นๆ ว่า ขั้นต่ำงบประมาณที่ของ่ายที่สุด คืองบประมาณชุมชนตำบล เปิดโอกาสให้ชุนชนได้รับงบประมาณ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน มะจะบอกทุกครั้งที่มีการประชุมสภา ถ้ามีใครสนใจมาเรียนรู้กับทีมมะได้เพราะบางชุมชนไม่รู้ว่าควรเริ่มตรงไหน
ถาม เราต้องเขียนโครงการเข้าไปใช่ไหมคะ และเมื่อเขียนเสร็จ นำไปยื่นให้เขาพิจารณาใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ๆ แจ้งวัตถุประสงค์ที่เราจะทำคืออะไร
ถาม จากประสบการณ์ งบประมาณขั้นต่ำประมาณเท่าไหร่คะ
ตอบ ประมาณสี่หมื่นกว่าบาท ถ้าในนามของสภาฯ เราให้ความรู้เรื่องโควิดและการป้องกัน ได้มาประมาณแปดหมื่นกว่าบาท เพราะปีที่แล้วทุนส่วนใหญ่ เขาให้ในส่วนของโควิด
ถาม ขึ้นกับว่าเราจะเสนอในนามชุมชน หรือในนามกลุ่ม ใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ๆ
ถาม เมื่อเราได้งบมาแล้ว ผลจาก สปสช.เป็นยังไงบ้างคะ
ตอบ ของหมู่บ้านที่ทำเรื่องครอบครัวอบอุ่น ผลคือได้ทุนแล้ว เกิดผลลัพธ์ที่น่าประทับใจอย่างที่เล่ามาว่า จากเดิมคนชุมชนบ้านทุ่งไม่ค่อยทำกิจกรรม พอเราหากิจกรรมเข้ามา คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมบ่อยขึ้น มีแกนนำ เขารวมกลุ่มกันได้ แล้วเชื่อถือเรามากขึ้น ไม่ว่าเราเสนออะไร พวกเขาก็เห็นด้วยตลอด เช่น กิจกรรมครอบครัวอบอุ่น เป้าหมายที่ตั้งไว้ 80 คน แต่เอาเข้าจริงมีคนมาร่วมถึง 150 คน เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจน จากที่เมื่อก่อนถ้าเด็กๆ มาร่วม ผู้ปกครองมักไม่มาด้วย ตอนแรกคิดกันในทีมว่า คงไม่มีคนมาแล้วเพราะฝนตก แต่สุดท้ายปีนี้มากันทั้งครอบครัวเลย
ถาม ตรงนี้ เชื่อมกับโครงการปันจักสีลัตยังไงคะ
ตอบ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกัน กลุ่มเยาวชนสามรถดึงคนในครอบครัวตัวเองและครอบครัวเพื่อนๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมได้เลย ทั้งๆ ที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ต่างหมู่บ้าน พวกเขาสามารถดึงคนมาร่วมได้
ถาม ก๊ะนุชเล่าว่าพาน้องไปรำงานประจำปีของ อบต. ด้วย เริ่มกันมายังไงคะ
ตอบ ในทุกปีที่จัดงาน ถ้ามีโอกาสเราพยายามพาเด็กไปแสดง เพื่อให้มีเวทีฝึกฝน บางงานติดต่อมาทางมะ จ๊ะนุช หรืออาจติดต่อโดยตรงไปที่ อบต. คนที่ทำงาน อบต. ก็คือคนในชุมชนบ้านทุ่ง เลยทำงานร่วมกันได้ และทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะส่วนตัวก็รู้จักกันอยู่ เรียกว่าเป็นเครือข่ายภาคีกัน เช่น อบต.จัดกิจกรรม ก็ประสานงานมาที่บ้านทุ่ง ถามว่าจะจัดกิจกรรมอะไรดี มีการแสดงอะไรบ้าง สถานที่ตรงไหนดี เราก็เสนอไปว่า บ้านเรามีปันจัตสีลัตนะ เด็กและเยาวชนสามราถรำและเชิญคนมาร่วมงานได้
ถาม ตอนนี้กับทาง อบต. มีกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมไหมคะ ในส่วนของปันจักสีลัต
ตอบ อยากของบประมาณบางส่วน เพื่อให้เด็กๆ ได้ซ้อม และเป็นค่าอาหารกันต่อไป
ถาม นอกจาก อบต. ยังมีหน่วยงานอื่นอีกไหมที่เป็นกลไกชุมชน เช่น โรงเรียน
ตอบ โรงเรียนมีส่วนสำคัญมากเลย เขาช่วยเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะขอนักเรียนหรือคุณครู
ถาม โรงเรียนเข้ามาช่วยยังไงบ้างคะ
ตอบ เวลามีกิจกรรม ครูเข้ามาให้ความรู้บ้าง เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลเด็กๆ โรงเรียนเองก็เคยสนับสนุนเรื่องเครื่องแต่งกายของกลุ่มเยาวชนที่ออกไปทำการแสดง
ถาม น้องๆ เรียนอยู่ที่โรงเรียนด้วยไหมคะ
ตอบ เป็นศิษย์เก่า เด็กๆ จบจากที่นั่นก็ออกไปเรียนที่อื่น
ถาม โรงเรียนชื่ออะไรคะ
ตอบ โรงเรียนบ้านทุ่งสภากาชาด
ถาม เป็นโรงเรียนประจำชุมชนใช่ไหมคะ มีชั้นเรียนไหนบ้างคะ
ตอบ เป็นโรงเรียนของชุมชนเลย ตั้งแต่อนุบาล ถึง ป.6
ถาม ชั้นมัธยมต้องไปเรียนที่อื่นหรอคะ
ตอบ ชั้นมัธยม เด็กๆ จะออกไปเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยา หรือโรงเรียนปอเนาะ (สอนศาสนาอิสลาม)
ถาม โรงเรียนข้างนอกเราได้ไปทำกิจกรรมร่วมไหมคะ
ตอบ ยังไม่เคย แต่เคยขอเราไปแสดงที่โรงเรียนสาครพิทยาคาร ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ 1 ครั้ง
ถาม ได้พาเด็กๆไปแสดงที่ไหนแล้วบ้างคะ
ตอบ ไปเรียนรู้กับกลุ่มปันจักสีลัตปัตตานี 1 ครั้ง ไปงานยอนหอยหลอด งานประจำปีของ อบต.ละงู
ถาม ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบ ดีมาก ทำให้เยาวชนต่างชุมชนสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้กับเราด้วย
ถาม สมัยเด็ก มะเคยเห็นเขารำไหมคะ แล้วในมุมที่มะเป็นผู้ใหญ่ ที่เห็นเด็กรุ่นนี้รำ เราคิดว่าเขาทำได้ไหมคะ
ตอบ ตอนเราเห็นเขารำปันจักสีลัตได้ มะน้ำตาไหลเลย เมื่อก่อนเคยเห็นแต่คนเฒ่าคนแก่รำกัน วันนี้เป็นเด็กๆ ที่เราไม่เคยคิดว่า เขาจะหันมาสนใจวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างจริงจัง ความฝันของมะ คืออยากให้บ้านทุ่งเป็นโรงเรียนสอนปัญจักสีลัตให้ได้ จากเด็กๆ กลุ่มนี้เพื่อให้เขาได้มีอาชีพของตัวเองได้
ถาม ถ้าอยากให้บ้านทุ่งเป็นโรงเรียนที่สอนปันจักสีลัตให้ได้ ต้องดึงใครมาสนับสุนอย่างจริงจังบ้างไหมคะ
ตอบ เคยคิดกับบังเชษฐ์และบังคมว่า จะทำยังไงให้บ้านทุ่ง และเด็กรุ่นนี้ได้มีความรู้ ได้มีอาชีพ สอนคนรุ่นหลังได้ อันนี้คือสิ่งที่คิด และคิดว่าจะพึ่งงบประมาณทาง อบต. บังเชษฐ์และบังคมต่อไป
ถาม เอาแกนนำหลักในชุมชน มาเป็นการสนับสนุน
ตอบ คิดแบบนั้น
ถาม จากประสบการณ์ของมะที่ได้ร่วมทำงานกับผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีการผลัดเปลี่ยน เช่น นายกคนนี้เห็นชอบ เมื่อเปลี่ยนคนเราต้องไปเสนอใหม่อีก ตรงนี้มะคิดว่าเป็นปัญหาไหมคะ
ตอบ ไม่เป็นปัญหาเลย ถึงผู้นำท้องถิ่นเปลี่ยนคน แต่ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบกับงานชุมชนในหลายเรื่อง เราสามารถคุยกันได้ ถ้าไปเสนอกับนายกฯ ไม่ว่าคนไหน คุยกันดีๆ เขาก็ต้องยอมรับ เพราะสิ่งที่เสนอ เป็นสิ่งที่ทำแล้วจับต้องได้และเกิดประโยชน์
ถาม ให้มะแนะนำและเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นด้วย บางทีเขาอาจกลัว เมื่อต้องไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ มะมีคำแนะนำอะไรบ้างไหมคะ
ตอบ ถ้าชุมชนอื่นอยากทำแบบนี้ มะคิดว่าไม่ยาก แต่ต้องมีทีมสักสองสามคน ปรึกษาหารือกัน เข้าหาหน่วยงานไหนก็ได้ที่เรารู้จัก หรือจะเลือก อบต. ก็ได้เพราะอยู่ในท้องถิ่นอยู่แล้ว และยังมีทีมบังเชษฐ์ บังคม เป็นคนชุมชน มะว่าเรื่องนี้ไม่ยากเลย หรือถ้ามีชุมชนไหนสนใจอยากทำ เข้ามาปรึกษามะได้เช่นกัน
ถาม หลายคนคิดว่าการเขียนโครงการยาก สำหรับมะคิดว่ายากไหมคะ
ตอบ ไม่ยาก กลุ่มมะก็เริ่มมาจากไม่รู้อะไรเลย จุดประสงค์โครงการคืออะไร เป้าหมายคืออะไร แต่เราเขียนสื่อสารถึงสิ่งที่เราอยากทำ ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็น ค่อยๆ เรียนรู้รูปแบบการเขียนไปได้
ถาม จากประสบการณ์ของมะ การที่ชุมชนให้ความร่วมมือ สำคัญไหมสำหรับการทำงานกับเยาวชน
ตอบ สำคัญ เพราะมีไม่กี่คนที่มีความคิดเหมือนกับมะ อีกมุมหนึ่งก็มีหลายคนที่อยากทำ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน หลายๆ ชุมชนที่ไปสัมผัส เขาอยากเป็นแบบมะ อยากมีกิจกรรมทำบ่อยๆ
ถาม มะทำกิจกรรมบ่อยๆ เบื่อบ้างไหมคะ
ตอบ มะสนุกๆ และสังคมให้มะได้คุ้ม
ถาม ความคุ้มที่ได้รับอย่างไรบ้าง
ตอบ อย่างแรก คือ การทำงานสังคมมีแต่ให้มากกว่าได้รับ แต่สิ่งที่เราได้ คือ คำแนะนำที่ดีจากทุกคนที่เข้ามาหาเรา
ถาม จากที่ทำโครงการ Active Citizen มาแล้ว มะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในชุมชนบ้างคะ
ตอบ อย่างแรกคือ เด็กและเยาวชน เมื่อก่อนไม่ค่อยคุยหรือทักทายกับใคร เมื่อเข้าร่วมกิจกรรม และได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พวกเขาพูดคุยกับครอบครัวของเขาได้ เขาสามารถทักทายคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญาติได้ เขามีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน
ถาม เด็กมีหลายกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มเรียนและไม่เรียนแล้ว พวกเขารวมตัวกันได้หรือยัง หรือว่าก็ยังแยกกันอยู่
ตอบ เด็กๆ เวลาว่างจากงานหรือว่างจากการเรียนก็มาหากัน เมื่อมีกิจกรรมชุมชนก็ไปทำกิจกรรมร่วมกัน ยกตัวอย่าง โรงเรียนบ้างทุ่งสภากาชาด จัดงานเลี้ยงส่งครูเกษียณ เด็กๆ จะไปช่วยเสิร์ฟน้ำและอาหาร ไปช่วยทุกเรื่องที่มีงานของชุมชน เมื่อก่อนเราไม่เห็นเด็กๆ มาทำอะไรแบบนี้เลย แม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่เห็น
ถาม ที่มะบอกว่าเด็กไปรวมตัวกันที่ขนำ เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงไหมคะ
ตอบ ใช่ เปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย มีบ้างที่พวกเขาอยู่ที่ขนำ แต่ก็ไม่ได้อยู่ตลอดทั้งวันเหมือนแต่ก่อน
ถาม มีเสียงสะท้อนอะไรบ้างไหมคะ ที่ได้ยินมาชัดๆเลย
ตอบ ได้ยินมาสองสามคนว่า ขอบคุณ มะเดีย และทีม ที่ทำให้ลูกของพวกเขาได้กล้าคิดและเปลี่ยนตัวเองในทางที่ขึ้น
ถาม นอกจากครอบครัวอบอุ่นที่ทำอยู่ มีแพลนอย่างอื่นที่อยากทำเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอีกไหมคะ
ตอบ ที่คิดร่วมกันว่าใครมีโครงการดีๆ เขาก็จะมาถามเราว่า มะสนใจไหม อยากทำไหม ความคิดของมะ คืออยากให้เด็กๆ มีอาชีพ มีรายได้เป็นของตัวเอง
ถาม ตอนนี้มีโครงการเข้ามาเสนอเรื่อยๆ หรือคะ แล้วมะเลือกยังไง
ตอบ มะจะถามกลุ่มเป้าหมายก่อนว่า สนใจไหม ทำได้ไหม มะกับน้องนุชคิดว่าถ้าเด็กๆ ทำ เราจะเข้าไปสนับสนุน แต่ถ้าเด็กๆ บอกว่า ไม่อยากทำ เราก็ไม่บังคับ
ถาม เกี่ยวกับปันจักสีลัต มะอยากผลักดันให้เป็นโรงเรียนสำหรับสอนใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ ความฝันของพวกเรา คืออยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนได้จะดีมากๆ
ถาม คิดไว้บ้างไหมคะ ว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหน หรือจะขอพื้นที่กับทาง อบต.ไหม
ตอบ ที่หมู่ 5 มีโรงเรียนหลังเก่าอยู่ (ของโรงเรียนบ้านทุ่ง)จะทำให้เป็นพื้นที่กลางสำหรับจัดกิจกรรมชุมชน ห้องหนึ่งมะทำเป็นห้องสภาชุมชน และยังเหลืออีกห้องคิดว่าจะให้เด็กและเยาวชนได้ใช้ห้องนั้น
ถาม คิดว่าผู้นำชุมชน มีความ Active กับการทำกิจกรรมเยาวชนขนาดไหนคะ
ตอบ 80% ไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไร เขาก็จะมาหากลุ่มเหล่านี้ ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ค่อยมีเวลา เช่น บางคนก็ดูแลคนในครอบครัวดี แต่บางคนก็ทิ้งครอบครัวไปเลย ไม่ให้ความสำคัญเลย ถ้าเราได้พูดคุยตามประสบการณ์มะก็จะบอกว่า ครอบครัวเราต้องหันมาดูแลสักหน่อย เพื่อลูกหลานของเรา
ถาม เหมือนเขารู้ตัวแล้วว่าใครทำ อะไร อย่างไรบ้าง
ตอบ ใช่ๆ
ถาม มะเหนื่อยไหมคะ
ตอบ บางทีก็เหนื่อยและก็เครียดบ้าง เพราะทำงานกับเด็กๆ เราต้องยอมรับว่ามันไม่เหมือนการทำงานกับผู้ใหญ่ เด็กมีความรับผิดชอบก็น้อยกว่า เราต้องทำใจ บางครั้งผู้ใหญ่บางคนก็ไม่มีความรับผิดชอบเหมือนกัน
ถาม มีเรื่องที่ทำให้หนักใจไหมคะ
ตอบ ไม่ค่อยหนักใจ อยู่ได้ สบายๆ
ถาม ไม่มีปัญหาอะไรที่ทำให้เครียดมากๆ
ตอบ ไม่มี มีแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ
ถาม มะกับก๊ะนุชสอนงานให้เด็กๆ และคนที่เราไปชวนมายังไง อยากให้มะเล่าให้ฟังหน่อย
ตอบ ปกติคนล้วนมีความถนัดอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมานั่งคุยกันว่า ใครถนัดด้านไหน
ถาม บังเชษฐ์บอกว่าเด็กๆ ไปช่วยงานอื่นด้วย นอกจากปันจักสีลัต อยากรู้ว่าน้องๆ เข้าไปช่วยอะไรบ้าง
ตอบ ไม่ว่ามีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับชุมชน เด็กๆ เข้าไปช่วยตลอด ปีที่แล้วที่เห็นได้ชัด คือ มีการจัดงานครูเกษียณ เด็กๆ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอยู่แล้ว ปกติไม่มีคนช่วย แต่ปีนี้เขาหาทีมงานเอง ไปช่วยกันเสิร์ฟน้ำและอาหาร ช่วยทำความสะอาด เรียบร้อยทุกอย่าง
ถาม ถ้าชุมชนอื่นมาถามมะว่า อยากเป็นแบบมะ จะแนะนำเขายังไง
ตอบ ตอนนี้มีแล้ว 2 ชุมชน ได้แก่ หมู่ที่ 11 และหมู่ที่ 13 เวลาเราจัดกิจกรรม เขาจะมาดูเราทำงานเป็นประจำ ถามมะว่า ถ้าชุมชนของเขาจะทำแบบนี้ด้วยต้องทำยังไง มะแนะนำไปว่า ลองให้เด็กๆ มาเรียนรู้กับมะดูไหม