อบต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์หนึ่งในหน่วยงานขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในด้านของการพัฒนาเด็กเยาวชนมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 5 ปี โดยมี “มานพ แสงดำ” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหัวหอกในการนำทีม พาเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านภายในและภายนอกมาโดยตลอด ล่าสุดให้ความไว้วางใจ ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์ (ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค) ที่จัดขึ้นในระหว่าง วันที่ 1- 21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบัน ยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) , มูลนิธิสยามกัมจล
โดยอบต.สลักได ได้ส่งเยาวชนนอกระบบ จำนวน 4 คน ได้แก่ ธวัชชัย ขอชัย (สอง) , อนิรุต สำราญกาย (บี) , หาญพล เที่ยงตรง (แบงค์) และ กรวิชญ์ การกระสัง (เบ็ค) เข้าร่วมในการพัฒนาตนเอง ภายใต้โครงการที่อบต.สลักไดให้การสนับสนุนอีกชั้นหนึ่งคือ “โครงการฝึกทักษะอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์เด็กนอกระบบและในระบบ หมู่ที่ 1 , 3 , 11 , 13 ตำบลสลักได” วันนี้ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับนายกฯ ต.สลักไดถึงแนวคิดและการมองเห็นความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนนอกระบบเป็นเพราะอะไร
นายกฯมานพ ได้เกริ่นถึงที่มาในการพัฒนาเยาวชนนอกระบบครั้งนี้ว่า.. “เป็นเพราะในบทบาทของท้องถิ่น เรามีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ให้เขาได้มีศักยภาพ สำหรับค่ายนี้เราได้ส่งเด็กนอกระบบ เด็กที่ออกจากการเรียนกลางคัน เข้ามาอบรม เราคิดว่าเด็กกลุ่มนี้ สังคมไม่ได้ดูแลเขา ทิ้งเขา ทั้งที่เขาเป็นคนมีศักยภาพ ถ้าเราได้ส่งเขาได้มาเรียนรู้ คิดว่าเขาสามารถค้นหาตัวเองเจอ คิดว่าศักยภาพภายในตัวเขาสามารถทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
เด็กที่ส่งมามี 4 คน อายุประมาณ 16 – 18 ปี เป็นเด็กคนละหมู่บ้าน เราคาดหวังว่าเด็กที่ส่งมาในครั้งนี้จะเป็นตัวแทน เป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ เด็กเยาวชนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มา แล้วเราหวังว่าเด็กเยาวชนกลุ่มนี้จะกลับไปในตำบลสลักได เราคงจะจัดค่าย รวบรวมกลุ่มเพื่อนๆ ของเขาให้เขาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับแนวทางจากตัวน้องๆ ที่เขามาที่นี่”
สำหรับเรื่องของการสนับสนุนจากอบต.นั้น นายกฯ บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว “ในเรื่องของ อบต.เรา ในบทบาทท้องถิ่น เรามีหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนอยู่แล้ว เป็นภารกิจ เป็นหน้าที่ ในการส่งเสริมเรื่องของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งในข้อบัญญัติของเรา เราก็จัดงบประมาณส่วนนี้ไว้ ให้เขาได้พัฒนาได้ตลอดเวลาครับ”
สำหรับสถานการณ์เด็กของเด็กนอกระบบในตำบลสลักไดในปัจจุบัน นายกฯ เล่าให้ฟังต่อว่าทุกวันนี้สถานการณ์ด้านแย่ ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.. “เราคิดว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประจวบกับสังคมยังไม่มีองค์ความรู้ในการที่จะไปดูแล พัฒนาศักยภาพของเขา ทั้งในตัวของชุมชนเอง ตัวผู้ปกครอง ครอบครัว พี่น้องในชุมชนเอง ไม่มีองค์ความรู้มากเพียงพอ ก็จะเป็นการโทษเด็กมากกว่า แต่จริงๆ แล้วเมื่อเข้าไปสัมผัสแล้ว เด็กพวกนี้ กลุ่มนี้ มีศักยภาพมีความเป็นตัวตนของเขาค่อนข้างสูง ถ้าเราได้ชี้แนะแนวทาง ให้กระบวนการ ให้เขาได้เรียนรู้ที่เขาสัมผัสได้จากตัวเขาเองแล้ว ผมคิดว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีศักยภาพและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต”
สถานการณ์เด็กนอกระบบรุนแรงแค่ไหนนั้น นายกฯ เล่าต่อว่าตามที่เห็นเป็นข้อมูล เด็กเรียนสัก ม.2 แล้วออกกลางคันก็มี จะจบ ม.3 แล้วออกกลางคันก็มี ขึ้น ม.4 สักพักแล้วออกก็มี.. “ก็มีทั้งหญิงและชาย อาจจะเกี่ยวกับสภาพครอบครัวด้วย สภาพเศรษฐกิจด้วย จริงๆ ลึกๆ เราอาจจะมองเรื่องของระบบการศึกษาด้วยที่อาจจะมีผลกระทบที่ให้เด็กได้ออกเรียนกลางคัน ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆ ก็จะมีสัก 2 – 3 คน ถ้าเปรียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 2 – 3 % เด็กนอกระบบทั้งตำบลก่อนที่เราเข้าค่ายกัน มีเด็กรวมกันได้สัก 10 คน หมู่บ้านละ 2 – 3 คน”
พอนายกฯ มองเห็นปัญหา ที่มีเยาวชนออกนอกระบบ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเมื่อลงไปทำข้อมูลตามหมู่บ้านได้มองเห็นตัวเด็กจริงๆ จึงได้นำเรื่องนี้ไปหารือผู้ปกครอง โดยเสนอให้พามาเข้าค่าย 21 วัน แต่เนื่องจากยังไม่เข้าใจกระบวนการค่ายจึงปฏิเสธไปเป็นจำนวนมาก “พอเรานำเรื่องไปเสนอผู้ปกครอง ไปเสนอกับตัวเด็ก จริงๆ เด็กอาสามาหมด แต่อาจจะด้วยผู้ปกครองไม่เข้าใจ คิดว่ามาทำไมตั้ง 21 วัน ซึ่งจริงๆ ถ้าเราได้พูดทำความเข้าใจกันแล้ว ถ้าผู้ปกครองเห็นความสำคัญ เห็นความตั้งใจของเรา หรือเห็นเนื้อหาที่ทางมูลนิธิสยามกัมมาจลได้สนับสนุน ได้ส่งเสริม ได้ลงทุนงบประมาณ กระบวนการต่างๆ ผมคิดว่าผู้ปกครองพ่อแม่คงจะมีความเข้าใจมากขึ้น อาจจะรวมถึงผู้นำชุมชน ถ้ารู้ถึงความตั้งใจ รู้กระบวนการ อาจจะช่วยเรา สื่อสารกับผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ได้ ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ทางโครงการมอบให้ครับ”
นายกฯ มานพ บอกถึงเหตุผลว่าทำไมตนจึงผลักดันให้เยาวชน ๆ เหล่านี้ มาร่วมค่าย 21 วัน เพราะก่อนหน้านี้ เคยส่งเด็ก เยาวชน ในตำบลมาร่วมค่ายลักษณะแบบบนี้มาแล้ว และเคยเห็นกระบวนการอบรมมาก่อน จึงเกิดความมั่นใจเป็นอย่างมากนั่นเอง “ผมมีความมั่นใจว่าทางมูลนิธิสยามกัมมาจลกับสถาบันยุวโพธิชนที่ผมได้ร่วมโครงการกับ 2 หน่วยงานนี้มาเป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้ว สิ่งที่ผมมีความมั่นใจคือทางหน่วยงานพยายามที่จะให้เราได้มีกระบวนการเรียนรู้ ฝึกทั้งเรื่องของจิตใจ ฝึกทั้งเรื่องของการจัดการและการเรียนรู้ และการสัมผัส การลงมือทำ ทำให้เราเรียนรู้ได้ด้วยตัวเราเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน...
สิ่งนี้ทำให้ทางผมเองมีความมั่นใจว่า ถ้าเด็กเยาวชนของพวกเรามาเรียนรู้กับทางมูลนิธิสยามกัมมาจล และทางสถาบันยุวโพธิชนนี้ ถ้าให้ใจเด็ก ให้เด็กฝึกทักษะจิตใจ ทักษะกระบวนการคิด การจัดการความรู้ และให้เด็กลงมือทำ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในตัวเขา ทำให้ฝังอยู่ในตัวเขาผมคิดว่าสิ่งนี้ล่ะ ที่ทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นและมีความมั่นใจว่ามูลนิธิฯ และสถาบันยุวโพธิชนสามารถที่จะนำพาพัฒนาทำให้เด็กเยาวชนของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ และในเบื้องต้นในการสนับสนุนของท้องถิ่น และตามสิ่งที่เราได้คาดหวัง เมื่อเด็กได้พัฒนาในเรื่องของจิตใจที่มีความเข้มแข็ง รู้จักความผิดชอบชั่วดีแล้ว ทำให้เขาทำงานร่วมกับคนอื่นได้ รู้จักตัวเองมากขึ้น และมีการจัดการความรู้แล้ว สิ่งที่เราจะส่งเสริมสนับสนุนต่อคงเป็นเรื่องทักษะชีวิตที่เป็นเรื่องของอาชีพที่เขาชอบสิ่งไหน เขาถนัดจะเรียนรู้สิ่งไหนนั่นคือสิ่งที่เราจะเสริมต่อจากทางมูลนิธิสยามกัมมาจลและสถาบันยุวโพธิชนครับ”
สำหรับการสนับสนุนเบื้องต้นที่จะสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนให้เกิดแก่เยาวชนนั้น นายกฯ เสริมว่า.. “ในส่วนของบทบาทของท้องถิ่น เราก็สนับสนุนในส่วนของงบประมาณตามข้อบัญญัติ พัฒนาทั้งเรื่องอาชีพ พัฒนาทั้งเรื่องของศักยภาพถ้าเด็กชอบอะไรก็ส่งไปอบรมต่อยอดในเรื่องนั้นเป็นต้น เป้าหมายที่คาดหวังคือเด็ก เมื่อมีความรู้แล้วเขาต้องมีทักษะอาชีพเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือครอบครัวได้ ถ้าเขาคิดว่าเมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือครอบครัวได้ ในอนาคตถ้าเขาเป็นคนที่ถูกฝึกมาดีแล้ว คิดว่าเขาสามารถช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือสังคมได้ครับ”
สำหรับเด็กนอกระบบในตำบลสลักไดสถานการณ์รุนแรงถึงขนาดสร้างความเดือนร้อนให้กับชุมชนหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า “โดยมวลรวม เด็กพวกนี้ จริงๆ ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนเท่าไหร่ แต่เรายังมองไม่เห็นอนาคตของเขา ซึ่งเขาเป็นเด็กเยาวชน ผมถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะถูกพัฒนาในอนาคต ถ้าเราไม่ได้ฝึกเขา ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เขา ผมคิดว่าปัญหาในอนาคตอาจจะรุนแรงขึ้น เพราะเขาจะไม่มีอาชีพที่มั่นคง ลูกหลานที่เกิดมาต่อจากพวกเขา ที่เขาเป็นพ่อเป็นแม่ เมื่อเขาไม่สามารถมีองค์ความรู้ในการเลี้ยงดูลูกหลานของเขาแล้ว ผมคิดว่าปัญหาภาระก็จะหนักยิ่งกว่านี้อีก
และตัวปัญหาเด็กเยาวชนในตำบลสลักได ผมคิดว่าจะเป็นลักษณะของผู้ปกครองรู้สึกรำคาญ อาจจะด้วยผู้ปกครองเองขาดองค์ความรู้ในการเลี้ยงดู ทักษะความเป็นพ่อแม่ด้วย เด็กอาจจะสร้างความรำคาญ เช่น มอเตอร์ไซด์เสียงดังบ้าง ตั้งกลุ่มเป็นก๊วน กินเหล้าบ้าง อย่างนี้เป็นต้น อาจจะไม่รุนแรงถึงขนาดมีแก๊งสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน แต่ในอนาคตก็อาจจะไม่แน่เหมือนกัน ถ้าเขารวมกลุ่มได้มากขึ้น ขาดวุฒิภาวะอะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าสิ่งที่มันสะสมหมักหมมเล็ก ๆ น้อ ยๆ นี้ ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นความเดือดร้อนในอนาคตก็ได้ถ้าเราไม่สร้างกระบวนการหรือให้การพัฒนาในตัวเด็กให้เขาได้คิดเองได้ อันนี้ก็เป็นข้อกังวลครับ”
สำหรับเด็กที่ออกเรียนกลางคัน หรือเด็กนอกระบบ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีจำนวนมากขึ้น นายกฯ คิดว่าระบบการศึกษามีส่วนสำคัญ.. “ผมอาจจะมองในระบบของการศึกษาของเราก่อนนะครับ ว่าระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้คนคิดเป็น อาจจะบังคับให้เรียน ให้เรียนอย่างเดียว ไม่โค้ชเด็กได้เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปลงมือปฏิบัติลงมือทำ หรือที่เรียกว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำไม่ค่อยเห็นในระบบการศึกษาไทยในสมัยปัจจุบัน และวิชาเรียนก็มาก วิชาชีวิตที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวันน้อยเกินไป เน้นวิชาการ เน้นการสอบ เน้นการท่องจำต่างๆตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัย สอบแล้วก็ลืมหมด ไม่ได้ใช้ประโยชน์...
ส่วนในมุมมองที่อยากจะสื่อกับเด็ก ก็อยากให้เด็กมีความอดทนที่จะเรียนรู้ และอาจจะต้องขวนขวายเองบ้าง และนำสิ่งที่เรียนรู้กลับมาใช้ ลงมือทำที่บ้าน ให้เกิดการเรียนรู้เองถ้าเราจะรอแต่โรงเรียน เมื่อไหร่โรงเรียนพาทำ เมื่อไหร่ใครพาทำอาจจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากตัวเรา เด็กเยาวชนเรียนรู้แล้วเห็นประโยชน์แล้วก็มาลองผิดลองถูกที่บ้าน ช่วยงานพ่อแม่ที่บ้าน ชุมชนอะไรช่วยได้ก็ช่วย เหมือนเอาความรู้มาลองปรับใช้ดู คิดว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่เราเรียนแล้วเรารอแต่โรงเรียนพาทำเราลองมาคิดช่วยชุมชน มาคิดช่วยครอบครัวของเรา อย่างนี้เป็นต้น เหมือนเอาความรู้มาฝึก มาเป็นทักษะ การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ อย่างนี้เป็นต้น อาจจะต้องให้กำลังใจเด็ก ว่าเด็กต้องอดทนและอดกลั้นในสังคมปัจจุบันที่มีการเรียนอย่างนี้นะครับ”
สำหรับเด็กนอกระบบทีทุกวันนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเด็กนอกระบบบางส่วนก็สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง แต่คำถามสำคัญคือความรู้ ทักษะ ความสามารถของเด็กนอกระบบเหล่านี้ เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันหรือไม่ นายกฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ “...ถ้าเด็กออกกลางคันแล้วมั่นใจว่าหาเงินจากการทำงานที่เราไปรับจ้าง ส่วนตัวผมคิดว่ายังไม่เพียงพอ เพราะว่าทักษะฝีมือของตัวน้องๆ เองยังไม่เพียงพอ ผมคิดว่าต้องไปเสริมทักษะทั้งเรื่องของการคิดอย่างเป็นระบบ แล้วก็จิตใจที่มีความหนักแน่น มีความอดทน หรือคุณธรรมจริยธรรมต้องเสริมสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและทักษะ การเรียนรู้ต่าง ๆ ต้องเพิ่มให้กับน้อง ๆ เหล่านี้ เมื่อเขามีทักษะเหล่านี้แล้ว จิตใจได้ การจัดการความรู้ได้ ความคิดได้ หลักคิด หลักการทำงานเบื้องต้นได้ ผมคิดว่าเมื่อเขาไปเรียนรู้อาชีพที่เขาชอบ เขาก็เอาหลักการนี้ไปเสริมทักษะนั้นให้มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ
แนวคิดในการพัฒนาเยาวชนนอกระบบของตำบลสลักได ที่นำโดย นายกฯ มานพ แสงดำ นั้นน่ายกย่อง เพราะนอกจากจะกลายเป็นตัวอย่างที่คาดว่าจะมองเห็นเป็นรูปธรรมในอนาคตแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ “คน” ให้กลายเป็นพลังของครอบครัว ชุมชน ต่อไป โดยใช้พลังจากกระบวนการค่าย 21 วัน ที่ได้กระตุกกระตุ้นให้เยาวชนเหล่านี้ ได้ค้นหาศักยภาพความเป็น “ตัวตน” ด้านดี เก่ง ของตัวเองออกมา และนำคุณค่า ศักยภาพที่ค้นพบนั้นไปพัฒนาตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว และเกื้อกูลชุมชนได้ต่อไป
ซึ่งเด็กเหล่านี้จะทำได้จริงในอนาคต ต้องมี “เรา” (อบต.,พ่อ แม่ ผู้ปกครอง, ชุมชน , สังคม) ที่มีความเชื่อมั่นกับการเปลี่ยนแปลงนี้และช่วยกันโอบอุ้มพวกเขาให้ไปถึงฝั่งฝัน หลังจากที่เด็ก เยาวชนเหล่านี้ กลับจากค่าย 21 วัน ก็ยังไม่หยุดที่จะต้องพัฒนาต่อ โดยมี “เรา” คอยประคองนั่นเอง ในที่สุดความกังวลว่าเด็กนอกระบบเหล่านี้ จะสร้างอนาคตที่ย่ำแย่ให้แก่ครอบครัว ชุมชน ก็จะหมดไป ตำบลสลักไดก็จะสดใสแน่นอน #