เด็กและเยาวชน เป็นอนาคตของชาติ ผู้ใหญ่ต่างตระหนักความสำคัญในข้อนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะหาแนวทางในการดึงเด็ก เยาวชน บางส่วน ที่หลงเดินออกนอกเส้นทางให้กลับคืนมา “แบงค์” คือตัวอย่างเยาวชนที่สามารถกลับคืนสู่ครอบครัว ชุมชนได้อย่างภาคภูมิใจ
โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบ ที่ได้มีการนำกระบวนการต่าง ๆ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน มาดำเนินการจนเกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม หนึ่งในกระบวนการที่นำมาใช้ ได้แก่การจัดค่ายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็ก เยาวชนได้อีกทางหนึ่ง
ซึ่งวันนี้เรามีตัวอย่างเยาวชน ได้แก่ หาญพล เที่ยงตรง หรือแบงค์ หนึ่งในแกนนำเยาวชนของ ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ตอนนี้แบงค์อายุ 20 ปี กำลังเรียนเทียบ ม.4 (กศน.ระดับชั้น ม.ปลาย) เรียนด้วยทำงานไปด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลสลักไดให้การหนุนเสริม ส่งให้มาเข้าเรียนรู้ในค่ายต่าง ๆ ภายใต้โครงการนี้ ผลที่มองเห็น “แบงค์” เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลด้านดีที่เกิดขึ้นทั้งตนเอง ครอบครัว และชุมชน วันนี้เรามาเรียนรู้ว่า “แบงค์” เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างไร
ย้อยวัยเด็กพฤติกรรมเกเร พ่อแม่ระอาใจ
“พฤติกรรมเกเรของผม ตอนนั้นหนักเลยครับ คือเกเรตั้งแต่เด็ก ๆ เลยครับ ตอนเรียนศูนย์เด็กเล็ก อนุบาล ตอนนั้นไม่จบครับ มีเรื่องตีร้องไห้เลย สมัยยังเป็นเด็กขี้มูกโป่ง มีเรื่องแล้วแม่ก็ให้ไปอยู่บ้านจนอายุได้ประมาณ 6 ขวบ ผมเข้าอนุบาลปฐมวัย ได้เรียนมา พอถึงช่วง ป.6 ก็เริ่มหนีแล้ว แค่จักรยานปั่นก็ข้ามตำบลได้ ไปเล่นบ้านเพื่อน พ่อต้องตาม ช่วงนั้นคือโทรศัพท์ก็ยากแล้วครับที่จะติดต่อได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ พอผมเข้าเรียนมัธยม เข้าเรียนโรงเรียนที่ลำดวน ตอนนั้นผมหนีเรียนด้วย อะไรด้วย เหมือนเวลาเลิกเรียนยังไม่ถึง ผมออกก่อนเวลา แต่ช่วงนั้นคือผมพูดเลยว่าผมก็ไม่ทิ้งการเรียนเหมือนกัน แต่ผมมีเกเรบ้างบางที มีเรื่องบ้าง พอมาผ่านช่วงที่อยู่ในเมือง ผมก็มีเพื่อน มีเที่ยว ผมไปเรียนอยู่ที่เมือง อยู่ที่วิทยาลัย ผมเรียนปีหนึ่ง 4 ปี วนอยู่กับปีหนึ่งอย่างเดียว ติดเพื่อน พ่อกับแม่บ่นแล้วว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ ให้มาช่วยงานอยู่ที่บ้าน พอใกล้เปิดเทอม พ่อก็จะถามแล้วว่าอยากเรียนไหม ใจเราด้านหนึ่งก็อยากเรียน แต่เราติดตรงที่เราติดเพื่อนมากเกินไป เราติดอบายมุขมากเกินไป เราแยกแยะไม่ออก เราแยกเวลาไม่ออก เราอาจตื่นสาย ไม่ไปเรียน จนผมเสียเวลา 4 ปี เข้า 5 ปีเลยตอนนั้น มีทั้งเรื่องทะเลาะวิวาท เรื่องแว้น เรื่องเที่ยว ก็หนักเลยครับ เหมือนมีแก๊งค์ สุดท้ายผมขึ้นปี 2 แต่กำลังจะไปฝึกงานแล้วแต่ก็มีปัญหาเดิม ๆ เลยไปฝึกงานแล้วไม่ผ่าน ต้องออกมาใช้ชีวิตอยู่บ้าน” แบงค์เล่าวีรกรรมนอกลู่ของตนเอง
เข้าร่วมโครงการเพราะมองเห็นโอกาสดี
เมื่อเตร็ดเตร่อยู่บ้าน วัน ๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่ยังดื่ม เที่ยว แว๊น ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เป็นที่ระอาใจแก่ครอบครัวและชุมชน จนกระทั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได มีโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 ฯ ที่ได้ดำเนินการมายังต่อเนื่อง และครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเด็กนอกระบบให้กลับเข้าสู่ห้องเรียน หรือ พัฒนาอาชีพให้ ทางองค์กรบริหารส่วนตำบลสลักได มองเห็นว่า “แบงค์” เป็นเด็กนอกระบบที่ตรงกลุ่ม และมีความน่าสนใจที่เป็น “หัวโจก” ทั้ง มานพ แสงดำ นายก อบต.สลักได คัมภีรภาพ ยวนจิ (ยู) และ สาโรจน์ เที่ยงตรง (โรจน์ ซึ่งเป็นน้าชายแบงค์) นักพัฒนาชุมชน เป็นทีมนักถักทอชุมชน มาชักชวน “แบงค์” ให้เข้าร่วมโครงการ
“การได้มาเข้าร่วมโครงการของพวกผม จะเป็นทีมพี่เลี้ยง อบต.สลักไดมาชวน มีน้าสาโรชที่เป็นน้าของผม และมีน้ายู นักพัฒนาชุมชน และนายก อบต.สลักได ตอนที่เขาชวนเราเข้าโครงการ เขาบอกว่าเราชอบซ่อมรถใช่ไหม แต่เราไม่มีทุน แล้วที่บ้านในชุมชนเขาไม่ยอมรับด้วย ส่วนตัวน้าเขาบอกว่า “มา เดี๋ยวน้าพาทำโครงการ แล้วชาวบ้านยอมรับเรา ให้เห็นเราว่าเราก็ไม่ได้มั่วสุมอะไร” ตอนแรกคือเขาคิดว่าพวกเรามั่วสุม จึงชวนกันมาทำงานกับ อบต.
ตอนที่น้าสาโรชบอก สิ่งที่ทำให้ผมสนใจคือมันเหมือนเปิดโอกาสให้เรามีที่ยืนในสังคม ในชุมชนเหมือนกับว่าผู้นำชุมชนอาจจะไม่ยอมรับเกี่ยวกับเด็กที่ซ่อมรถอะไรนัก ในความคิดของผู้ใหญ่ คิดว่าเราไปแว้น โดยที่ไม่ได้เข้าถึงจริงๆ
สิ่งที่จุดประกายคือในความคิดของเราคือถ้าเรามีจุดยืนของเราเป็นหลักเป็นแหล่งจริง ๆ ถ้าเรามีหน่วยงานสนับสนุน เราน่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงมุมมองของชาวบ้านได้ครับ”
สร้างโครงการ สร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชน
“ขณะนี้ ผมกำลังทำโครงการฝึกอาชีพทักษะการซ่อมรถจักรยานยนต์ ที่มาที่ไปของการทำโครงการ คือตอนแรกเป็นความชอบส่วนตัว เสร็จแล้วเรารวมกลุ่มคนที่ชอบแบบเดียวกันในตำบลมา ตอนแรกมี 3 - 4 คน ยังไม่เป็นแบบแผนอะไรมากมายนัก สุดท้ายได้เข้าโครงการ เขามีหลักสูตรให้เราอบรม ให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น กล้าวางแผน กล้าแสดงออกมากขึ้น
พอเข้าโครงการมาแล้ว ส่วนมากที่ให้ทำเกี่ยวกับโครงการ เกี่ยวกับการทำอะไรให้เป็นระบบระเบียบมากกว่าครับ เหมือนกับว่าเรามีการจัดการในชีวิตประจำวันของเรา เราใช้ชีวิตตามปกติของเราเลย เราอะไรก็ได้ แต่ว่าพอเรามาเข้าเป็นโครงการ เป็นแบบแผนจริง ๆ คือเราต้องมีระบบระเบียบ และวัตถุประสงค์เราต้องชัดเจนมากขึ้นครับ”
เริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงตน
การเข้าร่วมโครงการนี้ นอกจากทางโครงการจะให้ดำเนินการโครงการตามกรอบการดำเนินโครงการแล้วโดยมี “พี่เลี้ยง” จากอบต.มาช่วยประคับประคองในการดำเนินโครงการแล้ว ยังมีกระบวนการอื่น ๆ ระหว่างทางเพื่อช่วยในการพัฒนาตนเองให้แก่เด็กและเยาวชน กระบวนการสำคัญคือการจัดค่าย “แบงค์” ได้เล่าให้ฟังว่า
“ตอนไปเข้าค่าย ผมได้ไปเข้าค่ายอยู่ที่บุรีรัมย์ 3 วัน 2 คืน (การอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT สร้างแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับสมรรถนะของเยาวชนและพี่เลี้ยง จังหวัดสุรินทร์ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์) ตอนนั้นเป็นค่ายแรกเลยครับ เป็นน้องใหม่ ได้เข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ที่อยู่ต่างอำเภอ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้สนิทสนมกันมากมาย ก็ทักทายกันผิวเผิน แต่พอช่วงหลังมีค่าย 21 วันของมูลนิธิสยามกัมมาจล ผมได้เข้าค่าย 21 วัน (ค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น 21 วัน ระหว่างวันที่ 1-21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้าห้วยสามสบ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มีเป้าหมาย เพื่อให้เยาวชนแกนนำกล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าลงมือทำและกล้าเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเป็นคนดี คนเก่ง มีวิถีที่เป็นสุข มีทักษะการทำงาน ทักษะอาชีพและมีสัมมาชีพดำรงตน และเพื่อให้เยาวชนมองเห็นคุณค่า มีความมั่นใจ สามารถดึงศักยภาพแห่งตนมารับใช้ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาตนเองเพื่อสร้างคุณลักษณะ/ นิสัยที่พร้อมต่อการเรียนรู้และดำเนินวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21) เราได้แลกเปลี่ยนความรู้มากขึ้น อะไรที่เราไม่สนิทสนมกัน ใน 21 วันนี้เราได้พบกันหมดเลย มีอะไรแลกเปลี่ยนกันหมด เหมือนเป็นครอบครัวเล็ก ๆ แต่มีความสุขมากในช่วงเวลานั้น ทำให้เราเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้เลยครับช่วงนั้น
ที่บอกว่าเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้ คือ ตอนแรก มุมมองของผมคือผมจะมองโลกในแง่เดียว คือเอาความคิดส่วนตัวเป็นใหญ่เสมอ โดยไม่ได้มองความคิดของคนรอบข้างเลย เราถูกเสมอ บางอย่างเราอาจจะมองไปแล้วว่าคนนั้นผิด คนนี้ถูก คือเราเป็นคนตัดสินโดยที่เราไม่มีข้อมูลของคนอื่นมาประมวลผล พอได้ไปอยู่ 21 วัน เราได้ไปเจออะไรใหม่ ๆ ความรู้สึกใหม่ ๆ จากเพื่อน มาจากต่างถิ่น ต่างที่ และได้แลกเปลี่ยนความรู้ มีอะไรช่วยเหลือกันตลอด ทำให้เราได้กลับมาคิดว่าที่เราทำไป เราคิดแค่คนเดียว แต่ทุกอย่างเหมือนประสบการณ์ก็ต้องการคนสนับสนุน ต้องการทีม ต้องการเพื่อน อะไรแบบนี้ครับ
สิ่งที่ได้จากการเข้าค่าย
“สิ่งที่ผมได้จากค่ายนั้นแล้วเปลี่ยนตัวเอง คือ เราได้เห็นตัวเองมากขึ้น เราได้กลับมาดูตัวเองก่อนที่เราจะไปดูคนอื่น และเรามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าพูด กล้าคิด กล้าแสดงออก และเราได้กลับมาเปลี่ยนชีวิตประจำวัน เราได้กลับมาช่วยเหลือทางบ้าน จากแต่ก่อนที่เราเกเร เราไม่เคยสนใจที่บ้าน เราได้กลับมาทบทวนตัวเอง มีวินัยมากขึ้น และเหมือนกับว่าเรามีไหวพริบ มันช่วยได้หลายทาง ค่าย 21 วันนี้คือทำให้เราเห็นตัวเองรอบด้านเลยครับ สิ่งใดที่เราสงสัย ที่เราไม่รู้ หรือเราคิดทุกอย่าง คือเราได้เห็นทั้งหมดเลยครับ”
จุดเปลี่ยนในการเปลี่ยนแปลงตนเอง
“ตอนแรกเข้าค่ายไป ผมไม่ค่อยถูกกับค่าย ผมไม่อยากทำกิจกรรม เช่น เขาอยากให้ตื่นตามเวลา หรือเข้าตรงเวลา พักเบรก พักอะไรแบบนี้ ผมอาจจะเป็นคนเข้าสายครับ แต่ว่าจุดเปลี่ยนตัวหลัก ๆ ของค่ายนี้เลยก็คือการกล้าคิดกล้าแสดงออก คือในความคิดของผมแต่ก่อนคือ ผมไม่เคยคิดในชีวิตเลย ที่ผมอยากจะจับไมค์หรือผมอยากจะออกกล้อง คือผมอยากจะเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังมากกว่า แล้วถ้าผมมีทีม ผมจะเป็นคนออกความคิด ออกการพูด ออกอะไรให้หมด แล้วจะมีคนที่ออกสัมภาษณ์อีกคนหนึ่งมากกว่าครับ ผมจะไม่ชอบกล้อง ไม่ชอบออกสื่อเลยครับ ไม่อยากถือไมค์เลยครับ เหมือนกับว่าเปลี่ยนทั้งอารมณ์ ทั้งความรู้สึก ทั้งความคิดของเรา ตอนแรกเราแค่คิด คิดแล้วเราบอกใครไม่ได้ คือเรากลัว แล้วเราเก็บกด พอเราผ่านจุดที่เราได้นำเสนอออกพื้นที่หรือว่าเราได้พูด เหมือนถ้าว่าตามสุภาษิตคือยกภูเขาออกจากอก คือมันทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไป เหมือนเป็นคนละด้านเลยครับ จากเราคนที่ไม่กล้าพูด เราก็กล้าพูด จากคนไม่กล้าแสดงออก เราก็กล้าแสดงออก เราสามารถฟังเหตุผลของคนอื่นได้เพื่อเอามาประมวลผลทั้งความคิด ทั้งความรู้สึกอะไรแบบนี้ เราต้องใจเย็นแล้วฟัง ได้ทั้งหมดเลยครับ”
“การกล้าคิดกล้าแสดงออกเปลี่ยนวิถีชีวิตเราเลย เปลี่ยนทุกอย่างเลยจากที่ว่าเราเคยคิดว่าเรานอนดึก เราต้องนอนตื่นสายได้ คือนอนให้อิ่ม ตามความคิดคือนอนให้อิ่ม แต่พอเรากล้าพูด เรากล้าคิดแล้ว ความคิดเริ่มออกมาแล้ว คือแบบว่าถ้าเรานอนดึก เราก็ต้องมีวินัยว่าเราต้องตื่นเช้า นอนดึกได้ก็ต้องตื่นเช้าได้ตรงตามเวลา เหมือนกับว่าเราจะไปนอนอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เราต้องตรงเวลา เราต้องมีหน้าที่ หน้าที่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ คือเราคิดแล้วว่าเราจะนอนดึก ถ้าเรานอนดึก เราต้องตื่นเช้า ถ้าเรานอนเร็ว เราต้องตื่นเช้าเหมือนเดิมครับ สิ่งที่กระตุ้นให้เรารับผิดชอบ มีวินัย คืออย่างแรกเลย ของผมคือว่าเป็นคำพูดด้วย ความคิดด้วย และเป็นที่นิสัยด้วย เหมือนกับเราเปิดรับมากขึ้น เลยทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปมากเลยครับ”
การเปลี่ยนแปลงส่งผลลัพธ์ฉับพลัน
“พอกลับมาที่บ้าน พ่อแม่บอกว่าไปค่าย 21 วันนี้ ผมเปลี่ยนไปมากเลยครับ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ฟังคนอื่น ฟังเหตุผลมากขึ้น ตรงต่อเวลา พูดอะไรก็พูดง่าย และตื่นเช้า ช่วยเหลืองานที่บ้านทุกอย่างเลย คนก็คิดว่าเราจะเปลี่ยนประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวเราก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม เขาคิดว่าเราไปเสร็จแล้วเราทำได้แค่ช่วงแรก ๆ อะไรแบบนี้ หลัง ๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไป คือผมก็พูดไปเลย คำพูดของเราก็เหมือนเรายังอายุน้อย เขาคิดว่าเราแค่ความคิดเด็กน้อย พูดแต่ให้หลบ ๆ ไป เราต้องแสดงให้เขาเห็น เขาถึงจะยอมรับ พอหลัง ๆ ผมทำให้เขาเห็นมากขึ้น ทีนี้เขาไม่พูดแล้วครับเรื่องนั้น คือเขายอมรับแล้วตอนนี้”
ย้อนมองตนแล้วรู้สึกขอบคุณตนเอง
“ย้อนกลับไปดูตัวเองตอนนั้น ที่ต้องเรียนซ้ำชั้นปี 1 อยู่ 4 ปี บางคนคิดว่า 4 ปีสั้นนะครับ แต่ว่าถ้าเราหวนกลับมาคิดอีกที ก็นานเหมือนกันครับ เหมือนกับว่าเราผ่านอายุวัยไป 4 ช่วงแล้วถ้าเราได้คิดได้ คือเสียเวลาไปมากกับการที่เราต้องมาเที่ยว กินเหล้า มีเรื่องทะเลาะวิวาท คือมันเสียไปมากเลยครับ ถ้าเทียบกับเพื่อนคนอื่นก็คือจบไปแล้วตอนนี้ พ่อแม่ผมเขาเอือมระอามากครับ บางทีมีปากเสียงกันจนไม่คุยด้วยเป็นเดือนเลยครับ เราเป็นคนใจแข็งอยู่แล้ว เราบอกว่าไม่ก็คือไม่ จนพ่อแม่ต้องมาพูดก่อน จนต้องยอมชวนคุยก่อน เราจึงได้เปิดใจคุยกัน ตอนนั้นคือเหมือนกับว่าเขาแทบจะไม่เรียกผมว่าลูกแล้วด้วยซ้ำครับ
แต่ถึงผมจะเกเร แต่เรื่องยาเสพติด คือผมจะไม่ยุ่งเลยครับ ผมจะเกเร ทะเลาะวิวาท แว้น แต่ผมปฏิญาณตัวเองด้วยคำว่าเกเรของผมเอง ผมนับถือคำว่าเกเรของผมคือผมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดครับ อย่างเดียวเลยที่ผมไม่ยุ่งครับ คือสามารถทำลายคน ๆ หนึ่งได้เลยครับ เสียประวัติมาก ผมพอเข้ามาในเมืองแล้วเห็นจากคนรอบข้าง คือสังคมเริ่มไม่ค่อยยอมรับแล้วครับ แค่เราได้เข้าไปข้างในเรือนจำแล้วทุกอย่างพอออกมาเปลี่ยนไปเลยครับ เหมือนคนละโลกเลย ตอนเข้าไปตอนแรกยังไม่มีอะไร พอกลับมาสังคมเริ่มไม่ยอมรับ
ผมยังไม่เคยเข้าเรือนจำ ได้พ่อแม่ช่วยเหลือตลอด คือเราได้พ่อแม่ช่วยทั้ง 2 คน เราก็ได้คิดกับตัวเอง คือเราเริ่มรู้ตัวเองแล้ว เราใกล้เข้าไปถึงประตูลูกกรง เราต้องห้ามตัวเองแล้วครับ ห้ามตัวเองเลยก่อนที่จะไปห้ามคนอื่น
ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่คิดเลยครับว่าตัวเองจะมาถึงจุด ๆ นี้ได้ครับ คือเกเรมาก เกเรจนออกจากบ้านไปอยู่บ้านเพื่อน ไปนอนไปเที่ยวบ้านเพื่อน กลางวันนอน กลางคืนเที่ยวอย่างเดียว หนวดไม่โกน ผมไม่ตัด เดินเซอร์ ๆ กินเหล้าทุกวันเลยครับ ไม่คิดเลยว่าชีวิตจะมาเปลี่ยนแปลงแบบทุกวันนี้”
กลับตัวเป็นคนใหม่เพราะผู้ใหญ่ให้โอกาส
“สิ่งที่ทำให้ผมกลับมาเป็นคนใหม่คือโอกาสจากน้าและได้โครงการดี ๆ จากมูลนิธิสยามกัมมาจลด้วยครับ คือผมเป็นสไตล์แบบถ้าท้ามาผมก็กล้าไป แล้วน้าท้าผมว่าถ้าเป็นวัยรุ่น ถ้าห้าวจริง ถ้าเก่งจริง ต้องผ่านค่ายนี้ไปได้ แค่ 21 วันเอง ผมถึงได้ไปครับ ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดอะไรครับ ไปก็คือไปตามคำท้า ไม่ได้คิดอะไรสักอย่าง คิดว่าอยู่ให้ครบๆ 21 วันไป”
เพราะทำโครงการทำให้ชุมชนเห็นคุณค่า
“สำหรับโครงการฝึกทักษะอาชีพซ่อมรถจักรยานยนต์ ตอนแรกผมตั้งเป้าหมายเป็นหมู่ที่ 13 บ้านโคกกระชาย ตอนแรกคือรวมทีมกัน 4 คน เสร็จแล้วเราก็ทำได้ ทาง อบต.ก็มีกิจกรรมให้ไปเยี่ยมชม ไปดูงานที่ อบต.อื่น ตอนนั้นได้ไป ต.กันตวจระมวล บ้านสระ (เป็นโครงการเยาวชนในเฟสแรก) ก็ได้ไปดู พอเราไปดู ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเป็นใคร พอเราได้คุยๆ กันกับเจ้าของทางนั้น ก็รู้ว่าเราเคยทำธุรกิจด้วยกันมาแต่ก่อน พวกซื้อขายอะไหล่รถตามอินเทอร์เน็ต คือพอเราได้ทำโครงการ ผมก็กลับมาที่กลุ่ม กลับมาที่ อบต.ก็คุยกับพี่เลี้ยงว่าผมอยากจะออกบูธนะ คือเราไปขอความร่วมมือจากชุมชนเรา เราอยากคืนความสุขให้กับชุมชนบ้าง ผมเลยออกบูธไปช่วยเหลือชุมชน ซ่อมบำรุงเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทั้งการซ่อมเครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ ผมก็คิดแล้วว่าถ้าเกี่ยวกับงานจักรยานยนต์ เกี่ยวกับเครื่องยนต์แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นมอเตอร์ไซด์เสมอไป ถ้าเกี่ยวกับกลไกก็สามารถซ่อมได้อยู่แล้วครับ”
การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยดีเพราะมีแผนงาน
“เป้าหมายของโครงการ ตอนแรกคือฝึกทักษะอาชีพให้กับเด็กที่ไม่มีโอกาส และอยู่บ้านใช้เวลาไม่เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน คนที่สนใจ เขาสามารถต่อยอด สำหรับคนที่อยากเรียนต่อแต่ไม่มีโอกาส อาจเสียเวลานิดหน่อยมาทำโครงการแล้วเราแบ่งปันกำไรนิด ๆ หน่อย ๆ เหมือนกับว่าเราได้แบ่งเบาภาระที่บ้านด้วยและถ้าใครจะเรียนต่อก็บอกกับตัวบุคคลแล้วว่าให้เก็บออมจากที่ให้ไป อาจจะไม่ได้เป็นเงินก้อนที่มากมายอะไร คือผมจะบอกตลอดว่าให้เก็บสะสมเรื่อยๆ ครับ
ตอนนี้ในโครงการมีแกนหลักคือคนร่วมโครงการมี 4 คน และแบ่งจาก 4 คนนั้นก็จะมีน้องๆ ที่รู้จักกัน แต่ละคนก็แยกต่อไปอีก คือเหมือนกับว่าพออีกคนมาเห็นเราทำงาน ก็มีคนอยากเข้ามาร่วมโครงการเรื่อย ๆ ๆ ตอนนี้คือไม่สามารถบอกเป็นจำนวนได้ แต่ว่าคนสนใจมากเลยครับ ทั้งในและนอกตำบล ความสนใจของเขาคือรักการซ่อมรถ แต่ว่าไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะ แต่ชอบเกี่ยวกับเรื่องรถ จึงคิดว่าถ้าเรามีใจรักแล้ว ทักษะมันไม่ยาก ทุกคนสามารถสร้างได้ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ไม่มีข้อจำกัดครับ”
หากมีใจรัก “แบงค์” รับเข้าโครงการหมด
“การเลือกคนเข้ากลุ่มกับเรา คือผมเป็นคนที่เลือกคนไม่ยากครับ อย่างแรกคือต้องมีใจรักก่อน ถึงเราจะไม่มีเวลาตรงกัน เขาอาจจะติดธุระ อย่างหนึ่งที่เราคิดตอนแรกคือทำไมเขาไม่มีเวลาให้เรา แล้วเรามาคิดกลับอีกทีว่าแล้วทำไมเราไม่มีเวลาให้เขาบ้าง ผมเลยเปลี่ยนจากเขาไม่มีเวลาให้เรา กลายเป็นเราไม่มีเวลาให้เขา มาจับเข่าคุยกันว่าว่างตอนไหน เดี๋ยวเราค่อยมาคุยกัน แล้วผมจะเป็นคนไปหาเขาครับ ขออย่างเดียวคือให้เป็นคนที่ชอบจริง ๆ ส่วนเรื่องทักษะ การอยากเข้ากลุ่ม เรามาเปิดใจคุยกัน มีอะไรคุยกันได้หมด คุยเหมือนกับพี่น้องกันเลยครับ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องกดดันอะไรมากเลยครับ”
สอนแบบพี่สอนน้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“พอเขามาอยู่กับเรา เราสอนอย่างแรกเลยคือเรื่องระบบจัดการ ถ้าเป็นผม ผมจะไม่สอนแบบว่าให้คนหนึ่งต้องทำอย่างโน้น คนนี้มีหน้าที่ทำอย่างนี้ ผมจะไม่ทำแบบนั้นเลย ผมจะให้ทุกคนทำแบบเดียวกันทั้งหมด ความคิดของผมคือถ้าคนใดคนหนึ่งมีธุระ อย่างน้อยเราก็มีคนตรงนี้มาช่วยเติมอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าเรามัวแต่รอคนนั้นติดธุระ ติดอะไร จะไม่เป็นระบบ เราจึงครอบคลุมเลยครับ อยู่ด้วยกัน รู้จักเหมือนกัน ทำให้เหมือนกัน อย่างนี้จะไม่มีอุปสรรคครับ
สิ่งที่ผมสอนเขา คือ ผมจะสอนเกี่ยวกับการถอดประกอบและอาการเบื้องต้นเกี่ยวกับรถ ผมจะสอนทุกอย่างเกี่ยวกับเครื่องยนต์ การถ่ายน้ำมันเครื่อง การซ่อมรถที่จอดนาน ผมสอนหมดเลยครับ แล้วผมก็ต่อยอดไป ถามเจาะจงแต่ละคนว่าที่บ้านมีเครื่องกลอะไรบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ครอบครัวเราใช้ มีอะไรที่มีปัญหา ผมแลกเปลี่ยนสอบถาม อะไรที่เราตอบได้ เราตอบให้หมดเลยครับ ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็ไปหาความรู้มาให้ครับ น้องถามมาเราตอบไม่ได้ น้องไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบจากไหน เราจะไปหาคำตอบมาให้ครับ ผมเองก็รู้งู ๆ ปลา ๆ บางอย่างยังมีความรู้ตื้น ๆ เขาอาจจะรู้ เรามาแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์ เหมือนพี่คุยกับน้อง น้องคุยกับพี่ มากกว่าครับ ไม่เหมือนลูกศิษย์กับอาจารย์ ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว บางทีเราอาจจะวิชาการมากเกินไปจนลืมไปว่าความรู้พื้นบ้านมันอาจจะใช้ควบคู่กันได้ครับ คือเราเป็นแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป เอื้ออาศัยกัน อะไรที่เราไม่รู้ เราก็มาแลกเปลี่ยนกัน อาจจะเจอปัญหาเดียวกัน เราจับเข่าคุยกัน ว่าเราจะหาคำตอบอย่างไร แบ่งกันไปโน้นไปนี่มากกว่าครับ”
ความรู้ ทักษะ เรียนรู้กันได้
“ทักษะการซ่อม ผมได้มาจากการที่ผมเรียน แต่ยังเรียนไม่จบเรียนวนไปมาในเรื่องนั้น แล้วการที่ไปเรียนตรงนั้นเพราะผมมีใจรักในเรื่องเครื่องยนต์ด้วย บวกกับ ที่เราเรียนวนไปวนมา ๆ จนเข้าสมองแล้วเราต่อยอดโดยที่เราไปดูยูทูปบ้าง เราเอาวิชาการมารวมกับพื้นบ้านบ้าง จากช่างตามร้านแถวบ้าน บางอย่างอาจจะช่วยเหลือกันได้ เราไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องมือแพง ๆ เราอาจจะไปเจอความคิดใหม่ ๆ ที่อยู่กับช่างแถวบ้าน เราเอามาประยุกต์ใช้ คำว่าช่างคือทุกอย่างต้องซ่อมได้อยู่แล้วครับ
ตัวอย่างการประยุกต์เช่นถ้าพูดถึงจักรยานยนต์ เราตั้งต้องลูกสูบ ต้องตั้งวาล์ว ถ้าเราไปเรียนวิชาการ เราต้องตั้ง 0.5 อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเรามาอยู่ตามพื้นบ้าน เครื่องมือไม่ทันสมัยเท่าไหร่ ต้องใช้การตั้งด้วยความรู้สึก เหมือนใช้ประสบการณ์มากกว่า ใช้ความรู้สึกด้วยมือตัวเองจับสัมผัสเอง ตัวนั้นจะช่วยเราได้มากขึ้นครับ”
อุปสรรคของโครงการ
“อุปสรรคโครงการซ่อมรถจักรยานยนต์ อย่างแรกคือชุมชน เขาไม่ยอมรับ คิดว่าเรามั่วสุม มีช่วงหนึ่งเราได้เสนอตัวไปช่วยเหลืองานชุมชน เทศกาลงานอะไร เราพาทีมเราไปช่วยเหลือชุมชน ทางชุมชนเขาก็ชื่นชมยอมรับและเหมือนกับว่าจากที่เขามองเราในแง่ไม่ดี เขามาเปลี่ยนแปลงใหม่ มีอะไรเขาเข้ามาถามไถ่ตลอด ช่วยเหลือตลอด ทุกวันนี้คือเขาถามไถ่ตลอดว่าเราทำอะไร อุปสรรคทางด้านชุมชนตอนนี้ก็คลี่คลายลง และอุปสรรคอย่างที่สองคืออยู่ในทีมในกลุ่มที่มีเวลาไม่ตรงกัน ตอนนี้ก็เข้าใจกันมากขึ้น ส่วนเรื่องเวลาตรงนั้นมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พวกผมคือตามสไตล์ เรานอกระบบอยู่แล้ว คือตามความสะดวกของแต่ละคน เราจะหาวันที่ต้องมีเวลาใดเวลาหนึ่งจับเข่าคุยกันได้ อาจจะเป็นวันเดียวกันแต่คนละเวลา เราก็ใช้เวลานอนของเรามาคุยกันนิดหนึ่งก็ดีขึ้น ได้คุยกัน”
แนวคิดสร้างรุ่นต่อรุ่นเพื่อสร้างความยั่งยืน
“เราหารุ่นต่อรุ่นทำไปเรื่อย ๆ ครับ สำหรับตอนที่จบเฟส ผมคิดว่าสมาชิกภายใน 10 คนนี้ ครึ่งหนึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงครับ คือผมเริ่มตั้งแต่ พ.ย.62 แล้วมาตอนนี้เป็น ก.พ.63 คือมีการเปลี่ยนแปลง สมาชิกส่วนหนึ่งได้ไปศึกษาต่อ สมาชิกอีกส่วนหนึ่งได้มีพื้นที่ในการทำงานของตัวเองแล้วตั้งเป้าหมายของตัวเองเอาไว้
หลังจากจบโครงการเฟสนี้แล้ว ผมอยากส่งต่อรุ่นต่อรุ่นครับ ให้น้องๆ ได้ต่อยอดกันต่อตรงที่วางไว้เกี่ยวกับชุมชนและงานทักษะอาชีพ ไม่อยากให้ทิ้งไป ให้ควบคู่กับวัฒนธรรมที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้อยู่แล้วครับ ส่วนตัวของผมอาจจะมีภารกิจส่วนตัวแต่ผมสามารถให้คำปรึกษาได้หลังจากจบโครงการนี้ และสามารถช่วยเหลือได้เสมอ ตลอดเวลา
นิยามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของผม คือ เป็นความคิดของตัวเองและคนอื่นมากขึ้น รับฟังคนอื่นมากขึ้น และช่วยเหลือครอบครัวได้ อยู่ด้วยตัวเองและยืนด้วยเหตุผลของตัวเองมากขึ้น ที่ตั้งไว้อย่างนี้คือได้มาจากประสบการณ์ของผมเอง ชีวิตประจำวันที่ผมเห็น โดยที่ว่าเราไปสัมผัสเองแล้วเราเอาตัวเองมาปรับและแก้ไขให้คนอื่นที่เราเจอด้วยตัวเอง เราวัยเดียวกัน วัยรุ่นส่วนหนึ่งคือต้องการเพื่อนฝูง แล้วถ้าอะไรทุกสิ่ง ความคิดตัวเองส่วนมากคือต้องให้เพื่อนฝูงยอมรับ แล้วไปไหนก็ต้องมีเพื่อนฝูง เราจึงเอาตัวเอง เหมือนเรามองตัวเองในกระจกแล้วเรามาสะท้อน สะท้อนแล้วเหมือนเราสะท้อนให้คนอื่นด้วย แล้วเราก็บอกคนอื่นต่อจากที่เราเป็นของตัวเองให้คนอื่นปรับใช้”
ผลลัพธ์โครงการสมาชิกในกลุ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง
“ผลลัพธ์โครงการตอนนี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้วคือทุกคนมีเป้าหมายมากขึ้น และมีวินัยมากขึ้น การจัดการเป็นระบบระเบียบและมีการเปลี่ยนแปลงดีมากเลยครับ การช่วยเหลือทางบ้านก็ดีมากขึ้นครับ กับทุกคนที่อยู่ในกลุ่ม ตอนแรกๆ กลุ่มผมเป็นเด็กนอกระบบทั้งหมด แล้วตอนนี้คือจากที่เราทำโครงการมาจนถึงช่วงสุดท้ายก็หน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ เหมือนกับเปลี่ยนแปลงไปเลย ต่างคนต่างมีเป้าหมายของตัวเอง ไปตามหาความฝันของตัวเองโดยที่มีทักษะติดมือไปด้วย
เพื่อนที่เปลี่ยนแปลง มี 1.แม็ค ตอนนี้เข้าเรียนวิทยาลัยในเมือง 2.สอง ไปทำงานกับนายจ้าง 3.บีทำงานอยู่ที่ร้าน และมีผมคนหนึ่งที่ทั้งศึกษาและทำงานด้วย ตอนนี้ก็มีน้องเข้ามาใหม่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็นน้องใหม่ ตอนนี้มี 2 คนทั้งเรียนและทำเกี่ยวกับเรื่องรถ อีกคนเรียนไม่จบ ตอนนี้อยู่ในความดูแล ตอนนี้มาอบรมด้วย เพิ่งมาอบรมครั้งแรก ส่วนอีก 2 คนตอนนี้ทำงาน ผู้หญิงคนหนึ่ง และผู้ชายอีกคนหนึ่ง เห็นเพื่อนเปลี่ยนแปลงก็รู้สึกดีครับ แบบว่าอาจจะเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ บางคนคิดว่าเป็นความสำเร็จที่น้อยมาก ไม่เท่าที่เขาทำ แต่ความสำเร็จของผม ที่ผมเห็น ไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเราเองมากกว่า มีความสุขมากกว่าครับ”
ชีวิตได้ดำเนินต่ออย่างมีเป้าหมาย
“ตอนนี้ผมซ่อมรถประจำ แต่เรื่องรายได้ก็ไม่ได้เสมอไป รถไม่ได้เสียกันทุกวัน ผมจึงมีอาชีพเสริมมาเพิ่ม แต่ไม่ได้หลุดไปจากวงจรเกี่ยวกับรถ คือเราทำงานเกี่ยวกับรถแข่งด้วย เกี่ยวกับสนามเซอร์กิตด้วย บางทีเราอาจจะทำอะไหล่ และอีกอย่างคือผมซื้อขายเกี่ยวกับรถด้วย ทั้งรถใหม่ รถเก่า รถโบราณ รถที่จอด ๆ ไว้ด้วยครับ แต่เฉพาะรถที่ซ่อมและซื้อขายที่เกิดในโครงการก็เกิน 50 คันแล้วครับ มีรายได้รวม ๆ ไม่ได้หักอะไรเลยก็ประมาณห้าหมื่นบาทแล้วครับ เหมือนเราทำอะไรได้อย่างหนึ่ง มีน้อยเราก็แบ่งกันน้อย เราจะไม่ได้เก็บไว้ทั้งหมด เหมือนเราซ่อมได้ 100 บาท เราอยู่กัน 5 คน ก็แบ่งเลยคนละ 20 บาท อย่างน้อยก็ช่วยค่าข้าว ค่ากับข้าว ตอนเย็น ก็ยังดีครับ เรื่องการเก็บเงินจะมีเพื่อนคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแล
เมื่อก่อนกินเหล้าไปด้วยซ่อมรถไปด้วย กินเหล้าเสร็จแล้วก็ไปแว้นกระจุยกระจายเสียงดังหนวกหูชาวบ้านชาวเมืองเสมอเลยครับ เป็นที่มาว่าชาวบ้านมองว่าเรามั่วสุม สังคมไม่ยอมรับ ชุมชนไม่ยอมรับ เราก็เลยมาปรับ ความคิดแรก ๆ คือทำอย่างไรให้ชุมชนปรับตัวเข้าหาเรา สุดท้ายมันทำไม่ได้ เราเลยปรับใหม่เป็นเราปรับตัวเข้าหาชุมชนเองมากกว่าครับ ช่วงแรก ๆ ก็ยาก ฝืนใจตัวเอง จากปกติเราเป็นคนที่นอกกรอบอยู่แล้ว แต่พอเรามาทำอะไรในกรอบ เราก็ต้องปรับตัว คือชุมชนเขาเกิดมาก่อนเรา เรามาทีหลัง เราต้องปรับตัวเข้าหาชุมชนครับ สิ่งที่ทำให้เราต้องยอมทำอย่างนั้นคือสภาพพื้นที่ที่อยู่และการดำเนินชีวิตทุกวันและบริเวณรอบด้านด้วย คือตรงที่ผมทำ รอบด้านเป็นบ้านพัก จึงต้องมีเวลาซ่อม เวลาซ่อมเราก็ซ่อมช่วงกลางวันที่เขาทำงาน พอช่วงจะเย็นเราก็เลิกซ่อม จากปกติที่เราซ่อมยันตีสี่ตีห้าเลยครับ เราเปลี่ยนแปลงกันใหม่ เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ปรับตัวเองไปหาเขา ถ้าเขาปรับมาหาเราไม่ได้ เราต้องปรับเข้าไปหาเขา”
ชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในชุมชนตนเอง
“กับชีวิตตอนนี้ก็ดีขึ้นครับ เหมือนเราได้คุยกันมากขึ้น เรามีอะไรเราช่วยเหลือตลอดเวลา เขามีปัญหาเกี่ยวกับการซ่อมรถ ซ่อมอะไร เขาจะมาปรึกษาเรา แล้วเวลาซ่อมของ เราอาจเอาแค่ค่าอะไหล่ ไม่เอาค่าแรง เหมือนเราสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนมากกว่า ตอนนี้ชาวบ้านในชุมชน สหกรณ์หมู่บ้าน เขาก็รอพวกผมไปทาสีให้ ช่างคนอื่นมาเขาไม่เอา ไม่ให้ทา รอแต่พวกผมคิวว่างเมื่อไหร่ให้ไปทาสีให้ เหมือนชุมชนต้องการพวกผมมากขึ้น ให้ช่วยงาน ช่วยอะไรมากขึ้น แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้วครับ รู้สึกเบิกบานใจ ทั้งสองฝ่ายมีความสุข แค่นี้มันอยู่ได้แล้วครับ”
สร้างเครือข่ายรถจักรยานยนต์ จ.สุรินทร์
“สำหรับเรื่องเครือข่าย คือเครือข่ายคนที่ชอบแต่งรถด้วยกัน ทั้งแบบที่เป็นช่าง และเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบแต่งรถ เครือข่ายคือกล้าพูดได้เลยว่าวันหนึ่งจะมีใหม่ ๆ มาทุกวันเลยครับ คือเครือข่ายโยงกัน เหมือนทั้งจังหวัด เราจะมีกลุ่ม กลุ่มในเฟสบุ๊ค มีกลุ่มที่เชื่อมกันทั้งประเทศ เชื่อมกันทั้งจังหวัด ต่างอำเภอมาเจอกันหมดเลยครับ ทั้งแลกเปลี่ยนอะไหล่ ทั้งซื้อขายอะไหล่ ทั้งซ่อม ทั้งปรึกษาหาข้อมูลอย่างนี้ก็มีครับ ในส่วนของการซื้อรถถูกกฎหมาย จะมีช่างที่เป็นเครือข่าย ทำเกี่ยวกับอะไหล่มือสองที่ถูกกฎหมายที่เสียภาษี เป็นร้านคล้าย ๆ เซียงกง ถ้าคุณต้องการอะไหล่อะไร ก็คล้ายๆ เราเป็นคนกลางไปคุยกับเจ้าของร้าน เราซื้อมาแล้วส่งต่อ เราซื้อมาจากเขาชำแหละ แล้วเรามาเช็คสภาพให้ลูกค้าก่อนที่จะส่งให้ถึงมือลูกค้า”
ชื่อเสียงด้านซ่อมเริ่มมี
“ผลตอบรับเรื่องฝีมือการซ่อม ตอนนี้ก็ดี บางทีผู้สูงอายุเขาให้ลูกหลานอยากมาเรียนกับเรา ให้ช่วยสอนหน่อยนะ ผมบอกว่าได้ อย่างหนึ่งผมอยากให้คนสนใจและช่วยเหลือครอบครัว และลดภาระที่บ้านด้วย ซึ่งถ้ามีคนสนใจจำนวนมาก การจัดการอย่างแรกเลยคือตัวบุคคลก่อน บางอย่างเราอาจจะจัดการเขาไม่ได้ คือช่วงวัยรุ่นแล้ว เขามีความคิดส่วนตัว เราเข้าไปยุ่งกับเขาได้ไม่มาก ถ้าเขาพร้อม เขารักจริง เขาจะมาเองโดยอัตโนมัติ เราไม่จำเป็นต้องตามอะไรมากเลยครับ ถ้าเรามีจุดยืนให้เขา อย่างไรเขาต้องมาอยู่แล้วครับ ถ้าใครชอบก็มาเรียน ถ้าเขาสนใจมันก็เป็นอีกทางหนึ่งของเขา ให้เขามีทักษะอีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้แบบว่าสนับสนุนให้คนหนีเรียน เราไม่รู้หรอกว่าเขาว่างหรือไม่ว่าง ถึงจะหนีเรียนก็ดีกว่าเขาหนีไปเที่ยวไปกินเหล้า ถ้าเขาหนีเรียนมาช่วยงานที่บ้านแล้วเขาว่างแวะมาที่นี่ อย่างน้อยเราสอนอะไรเขาได้ เราก็ให้เขาไปครับ ใครจะมาก็มา ใครจะไปก็ไป พร้อมรับน้อง ๆ เสมอ ผมใจเย็นอย่างนี้ครับ เขามาก็มา เขาไม่มาผมก็อยู่ของผมไปอย่างนี้ครับ ถ้าไม่มีใครมาซ่อม อย่างน้อยผมก็ทำของผมไปทุกวันครับ”
อยากพัฒนาตนเองให้มากกว่าเดิม
“สำหรับตัวเอง การเปลี่ยนแปลงของผมมันยังไม่ดีมาก แต่อย่างน้อยเราเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นยอมรับ ให้คนอื่นเห็นก่อนครับ เป็นอย่างแรกที่เราจะยืนได้ในสังคม เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้คนอื่นเห็นก่อน แล้วเราปรับเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อย ๆ ครับ โดยที่เราศรัทธาในตัวเองมากกว่า อย่างแรกก่อนให้คนอื่นศรัทธา เราต้องศรัทธาตัวเองก่อนถึงจะทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งที่อยากปรับปรุงตัวเองคือการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ผมเป็นคนที่ชอบทำอะไรแล้วทำไปเลย พอเข้ามาอยู่โครงการแล้วแบบว่าถ้ามีงานก็คือมีงานมาชนกันหมดเลย คือผมคล้าย ๆ มี 3 งานในวันเดียว ผมจะไปทั้ง 3 งานเลย เลยดูเหมือนไม่มีแบบแผน ส่วนมากจะวางแผนให้คนอื่นมากกว่าตัวเองจนเป็นนิสัยไปแล้ว”
วางแผนชีวิตในปัจจุบันเพื่ออนาคต
“ตอนนี้ผมไปเรียนต่อที่ศูนย์การศึกษานอกห้องเรียน เรียนต่างอำเภอ อยู่ที่ลำดวน คือผมเรียนไปด้วยแล้วทำงานตัวเองที่ชอบไปด้วย นิสัยผมชอบจับทุกอย่างมาทำด้วย ตอนนี้ที่ลำดวนเขาให้ผมเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตร ไปอบรมเกษตร และมีเกี่ยวกับอบรมสภาเยาวชนของ อบต.สลักไดด้วย และโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจลด้วย และมีงานที่บ้านด้วย งานซ่อมรถด้วย ตอนนี้แบบงานพันกันไปหมด
การวางแผนชีวิต ตอนนี้คือผมวางชีวิตไม่เป็นระเบียบมาก คือผมเน้นเห็นผลก่อนแก้ไข ถึงผลจะออกมาอย่างไร ให้เราได้ทำก่อน แล้วเราค่อยมาแก้ไขบางอย่างที่ไม่ดี ผมจะทำก่อนครับ ไม่ค่อยคุย ทำเลย แล้วค่อยมาคิด มาแก้ไขที่หลังบางอย่าง
วันนี้ผมพอใจกับตัวเองระดับหนึ่งครับที่ว่าเราได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าเดิม แต่ว่าเราจะไม่หยุด ผมยังไม่หยุดเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
ครอบครัว บอกว่าถ้าเรามาทางนี้แล้ว เขาก็ชื่นชมและยินดีสนับสนุนด้วย เพราะว่าเรามาถูกทางแล้ว มันเป็นทางที่ดีแล้วก็สนับสนุนครับ”
สิ่งที่ต้องการให้สนับสนุนในการดำเนินโครงการ
“ตอนนี้สิ่งที่อยากให้สนับสนุนคือพวกเครื่องมืออุปกรณ์ ผมเก็บเงินส่วนของตัวเองด้วย ซื้อพวกเครื่องมือตามตลาดนัด ชิ้นละ 10 – 20 บาท ใช้ครั้งสองครั้งก็เสียแล้ว ขอเขามาบ้างอะไรบ้าง ตอนนี้ก็ใช้แบบนั้น เครื่องมือไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนกัน ส่วนมากผมจะเก็บเองซื้อเองมากกว่า เราใช้ด้วย เราต้องใช้ต่อไปด้วย แต่ใช้แค่ครั้งสองครั้งแล้วเสีย อุปกรณ์มันไม่ได้มาตรฐาน ซื้อตามตลาดนัด ชิ้นละ 10 - 20 บาท”
ฝากบอกเพื่อนรุ่นเดียวกัน
“สิ่งที่อยากบอกกับเพื่อน ๆ อยากบอกว่าทุกวันนี้วัยรุ่นที่ความผิดพลาดครั้งเดียว มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้เสมอครับ เราสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าเราทำผิดครั้งเดียวแล้วมันจะผิดเสมอไปครับ” #
“
วันนี้ผมพอใจกับตัวเองระดับหนึ่งครับ
ที่ว่าเราได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าเดิม
แต่ว่าเราจะไม่หยุด
ผมยังไม่หยุดเปลี่ยนแปลงตัวเอง
จะเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
”
ข้อมูลโครงการ
โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย
เป็นความร่วมมือของภาคี ดังนี้ 1) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)(เดิมใช้ชื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)) 3) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และ 4) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีทีมพี่เลี้ยงวิจัยใน จ.สุรินทร์ ได้แก่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน จ.อุบลราชธานี
เป็นการดำเนินโครงการในการขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) นักถักทอชุมชน อปท. 2) แกนนำชุมชน และ 3) แกนนำเยาวชน ที่สามารถจัดการความรู้ (KM) และใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นและคลี่คลายปัญหาของท้องถิ่นสู่การพึงพาตนเอง หรือท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
เป้าหมาย
ทีมนักถักทอชุมชน อปท. (นายกฯ ปลัด เจ้าหน้าที่) แกนนำชุมชน (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่ใจดี ผู้รู้ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือผู้มีบทบาทเป็นแกนนำชุมชน) และแกนนำเยาวชนหรือสภาเด็กและเยาวชนในระดับหมู่บ้าน/ ตำบล สามารถทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" ในการขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ชุมชนและเป็นพลังสำคัญที่พร้อมรับใช้ชุมชนสังคมและประเทศชาติ โดยใช้หลักการจัดการความรู้ (KM) และกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (CBR) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต