Interview
นางสาวอาทิตยา บุญสม
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผนเทศบาลตำบลกันตวจระมวล จังหว้ดสุรินทร์
“พอเราคิดตามงานวิจัย ก็คิดเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น และเป็นการดึงให้ตัวเองมีความกล้าพูดมากขึ้น”
มาร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร
เริ่มเข้าร่วมโครงการตั้งแต่หลักสูตรนักถักทอ (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว) สำหรับหลักสูตรนักถักทอช่วงแรก ก็จะงงเหมือนกัน ทำไมเรียกหลักสูตรว่านักถักทอ พอเข้าไปในโครงการได้รู้ว่า อ๋อ ถักทอคือเป็นตัวประสานระหว่างชุมชน หน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ซึ่งตอนแรกจะเป็นโครงการเกี่ยวกับเยาวชน อาจารย์(อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข-สรส.) จะบอกเสมอว่าให้เราเลือกทำโครงการอะไรก็ได้ ให้เลือกทำโครงการที่ง่ายสุดก่อน ที่เรามั่นใจที่สุด เราจะมีพลัง
สิ่งที่ได้จากโครงการนักถักทอ
ความรู้กับทักษะที่ได้จากนักถักทอ ตอนแรกเป็นคนขี้อายมาก ไม่คุยกับใครเลย ไม่ชอบคุย ไม่ชอบเข้าสังคม จะเรียกว่า โลกส่วนตัวสูงก็ได้ ชอบอยู่กับตัวเองมากกว่า แล้วก็ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย พูดไม่ได้คิดว่า ถ้าพูดให้คนอื่นฟัง คนก็คงไม่เข้าใจ แต่พอได้เข้าหลักสูตรนักถักทอเป็นเหมือนการฝึกฝนตัวเองอย่างหนึ่ง ฝึกให้เราเข้าไปหาสังคม จากเดิมที่ไม่เคยคิดว่าต้องเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน หลักสูตรนักถักทอเหมือนกระตุ้นให้เราวิ่งเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปหาชุมชน วิ่งไปหาเด็ก
สิ่งที่ตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากเข้าร่วมโครงการวิจัยเฟสที่ 1
สำหรับโครงการวิจัยระยะแรก (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) มุมมองตอนแรกและด้วยนโยบายจากผู้บริหารเทศบาลด้วย จะเน้นให้เราเข้าไปหาเด็กนอกระบบ เด็กนอกระบบในมุมมองแรกของเรา คือเด็กหัวฟู ๆ แว้น ตัวเองรู้สึกกลัว คิดกังวลว่าจะเข้าไปคุยกับเขาอย่างไร จะมีปฏิกิริยากับเราอย่างไร ยอมรับค่ะว่ากลัวเด็กกลุ่มนี้มากค่า แต่เพราะด้วยงานวิจัย ด้วยการประสานกับผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องทำให้เรากล้าที่จะเข้าไปหาเขา พอเข้าไปหาเขา ได้คุย ได้ทำโครงการวิจัยระยะแรก มุมมองที่เคยมองเด็กพวกนั้น มันเปลี่ยนไปชัดเลยค่ะ ทำให้เรามองว่า พวกเขาก็ไม่ใช่คนน่ากลัวขนาดนั้น เขาไม่ใช่แบบเหมือนคนทั่วไปมองว่าเป็นเด็กมีปัญหา เขามีอะไรที่ลึก ๆ ที่น่าสนใจค่ะ บางคนก็มีความคิดที่เรามองตอนแรกเรื่องแบบนี้ (การทำโครงการ) เขาคิดไม่ได้หรอก แต่พอไปสัมผัสเราได้รู้สึกได้เลยว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง น่าสนใจ เขาคิดได้มากกว่าที่เราคิดไว้ด้วยซ้ำ จากกรอบที่เราเคยกั้นไว้ก็ค่อย ๆ คลายมาบ้าง
สิ่งที่ได้รับจากโครงการวิจัยระยะที่ 1 เพิ่มเติมจากหลักสูตรนักถักทอชุมชนในด้านความรู้ใหม่หรือทักษะใหม่มีอะไรบ้าง
ได้ความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น งานวิจัยจะสอนเราให้แยกข้อมูล แยกบริบท แยกประเด็น แล้วก็แยกหัวข้อจับหัวข้อให้เป็น พอเราคิดตามงานวิจัย ก็คิดเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น เป็นการดึงให้ตัวเองมีความกล้ามากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น ถ้าพูดแบบนี้ในสมัยก่อน อยากจะร้องไห้แล้ว อย่ามากดดันเราอะไรประมาณนี้ พอในโครงการวิจัยระยะที่ 1 รู้สึกว่าเราต้องโตขึ้นมาแล้ว เราต้องกล้าสอนเขาให้ได้ค่ะ สิ่งที่เราเปลี่ยนคือการที่เรากล้าที่จะออกมาพูดมากขึ้น กล้าที่จะคุยกับผู้อื่นมากขึ้น ตรงนี้ที่รู้สึกเปลี่ยนไป
ทักษะที่ได้คือทักษะการเข้าสังคม ส่วนเครื่องมือที่ได้จากงานวิจัย เช่น ตาราง Timeline เราสามารถไปปรับใช้กับงานประจำที่เราทำทุกวันได้
ความรู้ที่เราได้ทบทวนแล้วทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้น จากการอบรมในครั้งนี้ความรู้ที่เราได้คือการทบทวน การวิเคราะห์ข้อมูล แต่ก่อนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องไปเก็บบริบทชุมชน ทำไมต้องเอาบริบทชุมชน ข้อมูลพวกวัฒนธรรมหรืออะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพ เพราะเราทำเรื่องอาชีพเด็กใช่ไหมคะ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันเลย ทำไมต้องเอามาใส่ในบริบทวิจัย แต่พอมาครั้งนี้ อ้อ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเด็กๆ เขา แสดงถึงความเป็นตัวพวกเขา เรียกว่าเหมือนตัวควบคุมพฤติกรรมของคนในแต่ละระยะเวลา พฤติกรรมในแต่ละช่วงเวลามันก็แตกต่างกัน สามารถเอามาดูได้ว่า อาชีพไหนในแต่ละช่วงเวลาของเขา พฤติกรรมของคนในชุมชนมันเอามาโยงเข้ากันได้ สิ่งนี้เพิ่งมาเข้าใจในโครงการในเฟสที่สองค่ะว่าข้อมูลที่เก็บมา ไม่ได้เก็บมาเปล่ามีอะไรที่นำมาโยงกันได้
ความรู้ใหม่ในการอบรมในครั้งนี้ ที่จะนำไปใช้เป็นโคชให้กับพี่เลี้ยงในโครงการเยาวชนได้
ทักษะที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ เป็นทักษะการฟังและการจับประเด็น จากแต่ก่อนเราได้แค่ฟัง ฟังแล้วก็สรุปข้อมูลนิดหน่อยแล้วเอามาเขียน แต่การอบรมครั้งนี้ ให้เรารู้จักหัดสังเกตด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังพูด หรือคนที่เขากำลังฟังคนที่พูด เหมือนเราได้เก็บรายละเอียดในการทำงานที่ผ่านมาไปด้วย แต่ก่อนเราแค่ฟังเฉยๆ เราไม่ได้สังเกตว่า เขาพูดอย่างไร เขามีปฏิกริยาอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร แต่ครั้งนี้เหมือนเป็นการทบทวนนะ ครั้งที่แล้วเรา ทำไมเราไม่เคยสังเกต ไม่เคยคิดที่จะหันมามองคนที่กำลังพูด
คิดอย่างไรในเรื่องการพัฒนาตำบลของเรา
ชุมชนเราก็มีการพัฒนาแต่ในการพัฒนาในรูปแบบของชุมชน อาจไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนเมืองกรุง แต่เขาก็พัฒนาในระดับที่เป็นชุมชน ถ้าให้มองอดีตของชุมชนกับปัจจุบัน เขาก็มีความสุข มีความฝันว่า ชุมชนจะพึ่งตนเองมากขึ้น การพึ่งตนเองของหนู คือ เราอยู่กับบ้านของเรา มีปัญหาเราก็ช่วยกัน พึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด พึ่งตัวเองแล้วไม่ไหว ถึงจะพึ่งภายนอก เราไหวเราสู้ได้ เราก็อยู่ของเราแบบนี้
สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติม
ความรู้หรือทักษะที่อยากได้เพิ่มเติม คือ ความรู้ที่เข้าไปหาเด็กกลุ่มเสี่ยง จะเรียกกลุ่มเสี่ยงดีไหม หนูขอเรียกว่า กลุ่มเด็กพิเศษดีกว่า เขามีได้หลายมุม มีทั้งมุมดี มีความคิดที่แปลกๆ และความคิดที่หลากหลายมากกว่า การเข้าไปหาเขาแล้วให้เขาเชื่อใจเรา เขากล้าที่จะพูดออกมากับเรา การเข้าไปในระยะแรกจะต้องทำอย่างไร ทักษะตรงนี้หนูยังไม่มี
Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท