"คิดบวก - มองบวก" ความสุขเมื่อทำงานกับเยาวชน : จิราพร น่าชม ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร ทต.กันตวจระมวล จ.สุรินทร์

พูดถึงการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เยาวชน นับว่าคนๆ นั้นต้องมีศาสตร์และศิลป์กันพอตัว ผู้ใหญ่ต้องหาวิธีเข้าหาเด็ก และต้องเปลี่ยนมุมมองและความคิดของตนที่มีต่อเด็กถึงจะทำงานไปด้วยกันราบรื่น เรื่องราวเหล่านี้มีแง่มุมสะท้อนสิ่งดีๆ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กที่ควรนำมาถ่ายทอดให้ทราบกัน มูลนิธิสยามกัมมาจล จึงขอแนะนำตัวอย่าง “พี่เลี้ยง” ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ “มาง – จิราพร น่าชม” ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร เทศบาลตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน แต่เมื่อหน่วยงานส่งให้มาทำงานด้านนี้ เจ้าตัวถึงกับอึ้งเพราะมองเห็นว่าเด็กคือตัวปัญหา เมื่อต้องมาทำงานร่วมกัน “มาง” จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมากขนาดไหน ลองไปฟังเรื่องราวของเธอกัน

มาง เรียนจบในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ คณะพืชป่า พืชสวน สาขา พืชสวน หลังจากเรียนจบได้เริ่มทำงานที่แรกที่สหกรณ์การเกษตรที่พันธุ์พืช จ.สุรินทร์ จำนวน 6 เดือน แต่ต้องลาออกเพราะที่ทำงานย้ายสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ไกลบ้าน จากนั้นย้ายมาทำงานที่โรงงาน ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ทำอยู่ได้ประมาณสองปี ประจวบเหมาะกับยายมีอาการป่วย มางจึงจำเป็นต้องลาออกเพื่อมาอยู่บ้านดูแลยาย และทำงานเป็นครูอยู่ใกล้บ้าน แต่ทำอยู่ได้ไม่นานเพราะไม่มีความถนัดในการสอน สอนเด็กไม่เป็น แถมต้องมาเจอกับหลานตัวเองที่ไม่ยอมเชื่อฟังทำให้ต้องลาออกอีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าตัวหันมาทำงานที่สถานีอนามัยตำบลกันตวจระมวล ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลอยู่ได้สักพัก ทางเทศบาลได้มีการเลือกตั้งนายกคนใหม่ ซึ่งนายกคนใหม่ได้เป็นผู้ชักชวนให้มางมาทำงานที่เทศบาลตั้งปี 2554 ถือเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่งานพัฒนาชุมชนอย่างเต็มตัวในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร ซึ่งมีความรู้ความสามารถตรงกับที่ตนเองได้เรียนมานั่นเอง

บทบาทหน้าที่ผู้ช่วยนักวิชาการเกษตร มางเล่าว่าทำงานด้านการส่งเสริมชาวบ้านในด้านต่างๆ มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเกษตร ส่งเสริมอาชีพในชุมชน ส่วนใหญ่ทำนา และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นความรับผิดชอบของเกษตรตำบลจึงได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด และมีการทำโครงการเรื่องเกษตรอินทรีย์ การทำ

ปุ๋ยพืชสด ส่งเสริมอาชีพปลูกกล้วย สรุปตนส่งเสริมอาชีพในด้านพืช สัตว์ และประมง มางบอกว่างานที่เทศบาลนั้นถือว่าได้ทำงานตรงสาขาที่เรียนมาและทำงานใกล้บ้าน (บ้านมางอยู่หมู่ 6) จึงทำให้ทำงานนี้ได้ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างที่ทำงานที่เทศบาล มางทำงานกับคนในชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งโดยภารกิจของงาน เจ้าตัวไม่คาดคิดว่าว่าจะต้องมาทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน “เป็นคนไม่รักเด็ก ไม่ชอบงานเกี่ยวกับเด็กเลย” นั่นคือความคิดของมางที่ถูกนำออกมาบอกเล่า เมื่อทางหน่วยงานส่งให้มาเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในปี 2556 – ปี 2559มางถึงกับกังวลใจเป็นอย่างมาก และยังต้องมาเข้าร่วมต่อใน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย ในปี 2559 – ปี 2563

มางเล่าว่า มุมมองที่ตนมีต่อเด็กและเยาวชนมีมุมมองที่ไม่ดีนัก “ตอนแรกเห็นเด็กจับกลุ่มตามศาลาก็เกิดความคิดว่าเด็กพวกนี้ไม่มีอะไรทำหรือไง ทำไมต้องมาจับกลุ่มและขี่รถเสียงดัง ทำให้คนอื่นต้องด่าด้วย เลยพยายามเลี่ยงไม่พบปะพวกเขา และก็เป็นคนใจร้อนถ้าไม่พอใจจะฉะเลย ถ้าไม่ชอบก็เดินออก ก็พยายามเลี่ยงไม่เจอประมาณนี้ค่ะ” และยังมองไปถึงผู้ปกครองอีกว่า “มองถึงผู้ปกครองว่า ทำไมปล่อยให้ลูกหลานตัวเองมาอยู่อย่างนี้ หรือว่าไม่มีเวลามาดูแลลูก คิดไปเองว่าทำไมเขาไม่ว่า ไม่ตักเตือนลูก ซึ่งเราก็มีน้องแต่น้องก็ไม่ออกไปแว๊นก็เลยไม่เข้าใจค่ะว่าทำไมเด็กพวกนั้นถึงออกไปอยู่อย่างนั้น แล้วพ่อแม่เขาละไม่ทำอะไรบ้างเลยเหรอ” เป็นคำถามและมุมมองที่มางมองวัยรุ่นในชุมชนของตนเอง แต่เมื่อต้องมาทำงานด้วย มาง ก็ต้องวิ่งสู้

มาง จับพลัดจับผลู ต้องมาทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เมื่อทางหน่วยงานส่งมาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน บอกว่าให้เป็นตัวแทนมาประชุมเท่านี้ เพราะพี่ๆ ที่ต้องมาร่วมติดภารกิจมาไม่ได้ “แต่พอกลับมาพื้นที่ปรากฎว่าเราก็ต้องทำต่อไปเลย เลยคิดว่าทำไมต้องเป็นเรา มีความรู้สึกเหนื่อยทุกครั้งที่ไปร่วมอบรมเพราะต้องออกเวที เดินไปตามตำบลเดือนละ 2 – 3 วัน เขาให้ทำอะไรก็ไม่รู้ เพราะตัวเองเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบทำกิจกรรม ซึ่งคำพูด คำถาม เป็นสิ่งเดิมๆ เช่น คำถาม คุณได้อะไรจากกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งถามทุกครั้ง คิดว่าทำไมเขาไม่เชื่อที่จะถามหรือ ซึ่งเราเบื่อที่จะตอบ เพราะเป็นคำถามซ้ำๆ เดิมๆ” มางเปิดความในใจแบบหมดเปลือก

ทำแบบนี้อยู่เกือบปี ก็มานั่งคิดว่าถ้าเราคิดในแง่ลบอย่างนี้ทุกครั้ง ก็จะเบื่อทุกครั้ง เลยลองเปลี่ยนความคิดว่าเราลองเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ดู บางทีอาจทำให้สนุกก็ได้” มางเล่าจุดเปลี่ยนของตนเอง เริ่มคิดบวก

“จากกระบวนการของพี่อ้อย (วราภรณ์ หลวงมณี ผอ.สถาบันยุวโพธิชนฯ) ที่ให้อยู่กับตัวเอง แล้วคิดมองย้อนกลับ และให้พูดถึงข้อดี ข้อเสียของตัวเอง แล้วนำมาเชื่อมโยงกัน แล้วทำไมเราเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนนั้นในสภาวะนั้น แบบนั้น เราจะตัดสินใจอย่างไร และพี่อ้อยบอกเสมอว่าให้เราต้องหัดให้กำลังใจตัวเอง ต้องคิดบวก สิ่งที่เราไม่ชอบอาจกลายเป็นสิ่งที่ชอบก็ได้ บางครั้งเราไม่ชอบคนนี้ แต่เราอาจไม่รู้เบื้องหลังของเขามาก่อนว่าเขาเป็นอย่างไร แล้วลองมองย้อนกลับไปว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้เลยทำให้เริ่มคิดบวก”

หลังจากอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชน สิ่งที่มางได้คือวิธีคิดบวก แต่ด้วยโครงการได้จบลงและต่อด้วยโครงการวิจัย มางจึงเริ่มนำวิธีคิดบวกมาใช้ในงานนี้ “ตั้งแต่มาเริ่มโครงการใหม่ งานวิจัยชุมชนที่ต้องมีเวทีเชิญชาวบ้านมาประชุม จัดกิจกรรมที่เทศบาล เราก็เริ่มมองอะไรในแง่บวกมากขึ้น เช่น เวลามีใครพูดไม่เข้าหูก็นิ่งไว้ เงียบไว้ เพราะคิดว่าคงเป็นความคิดของเขา เขาไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้เหมือนเราหรือเข้าใจงานเรา เลยไม่โวยวาย ส่งผลให้บรรยากาศดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น เพราะไม่ต้องทะเลาะกับใคร ไม่ต้องมีปัญหากับใคร เมื่อก่อนไม่พอใจจะเดินบ่น แต่ตอนนี้คิดได้แล้วว่าบ่นไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น กลับเลวร้ายกว่าเดิม ตอนนี้เลยเงียบดีกว่า ดูว่าผู้ใหญ่จะจัดการอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

“ดีที่เลือกจะเงียบหรือนิ่ง ทำให้ใจสงบ ไม่ค่อยเดือดร้อน ไม่โมโหร้าย แล้วจะดีขึ้นเอง บางครั้งก็ลืมด้วยซ้ำว่าโกรธใคร” มางเล่าการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นกับตัวเอง

เมื่อทำงานกับผู้ใหญ่ใช้วิธีนิ่งสยบความโกรธจนได้ผลแล้ว มางก็ยังหนีไม่พ้นต้องมาทำงานร่วมกับเด็กๆ ที่ตนมีมุมมองกับคนกลุ่มนี้ไม่ดีนัก มางรับผิดชอบ บ้านสระ หมู่ที่ 2 ซึ่งมีเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งจับกลุ่มมั่วสุม และแว๊น สร้างปัญหาให้ชุมชน

“ครั้งแรกที่ต้องลงไปพูดคุย ก็กังวลว่าจะเข้ากับพวกเขาได้ไหม จะทำอย่างไรให้ตีสนิทกับเขาได้ ทำให้เขาร่วมงานกับเราได้ รู้สึกลำบากใจมาก แต่ยังดีว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว ก็มีน้องๆ ในชุมชนบางคนคอยช่วย พอทำไปก็เริ่มสนิทกับเด็กๆ มากขึ้น”

“พอทำงานกันไปสักพักมุมมองกับเด็กๆ พวกนี้ก็เปลี่ยนไป “เปลี่ยนมุมมองค่ะ มองว่าบางทีที่พวกเขาจับกลุ่มกัน เขาอาจจะรวมกลุ่มกันเพื่อไปทำกิจกรรมดีๆ ก็ได้ ไม่ควรไปตัดสินเขาว่าเขาไปสร้างปัญหา ไปทะเลาะกับใคร บางทีพวกเขาอาจนัดไปแข่งกีฬา ซ้อมกีฬา โดยที่เราไม่รู้ก็ได้ ไม่คิดว่าเขาจะทำเรื่องไม่ดีอยู่ตลอด อย่างแถวบ้านมีกลุ่มซ่อมมอเตอร์ไซด์ มีการนัดเด็กมารวมตัวขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำกิจกรรมดีๆ ในต่างจังหวัด หรือแข่งขันกีฬา ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนในการจัดทริป”

การเปลี่ยนแปลงในการมองเด็กในแง่บวกขึ้นนั้น มางบอกว่าเกิดจากการเข้าร่วมอบรมนักถักทอชุมชน ที่ให้มุมมองในการมองแง่บวก “ในโครงการให้แง่คิดว่า ต้องมองย้อนกลับ เพราะบางทีเด็กไม่อยากอยู่บ้าน อยากพบปะเพื่อนฝูง บางทีไม่รู้ว่าในบ้านเขามีปัญหาอะไรบ้าง บางทีเขาอยู่บ้านไม่ได้ ในบ้านอาจจะมีปัญหาครอบครัวก็ได้”

มางเล่าบรรยากาศในการเริ่มทำงานกับเด็ก เยาวชนอย่างจริงจังว่า... “จากนั้นเริ่มมาทำงานโครงการวิจัย ครั้งแรกจะมีโจทย์ให้ต้องเก็บบริบท ค้นหาเด็ก ซึ่งรู้สึกว่าลำบากมากในครั้งแรกที่โจทย์ให้ค้นหาเด็ก เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เลือกคือ หมู่บ้านตาแจ๊ค และหมู่บ้านสระ ซึ่งหมู่บ้านแรก เทศบาลจะทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด ทางผู้ใหญ่ในชุมชนสามารถติดต่อเด็กให้ได้ แต่ที่บ้านสระ พวกเราคิดว่าผู้ใหญ่บ้านงานเยอะ และเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กมีปัญหาชอบดื่มเหล้า เลยคิดว่าจะหาเด็กได้อย่างไร แต่พอได้เข้าไปจริงๆ กลับพบว่าที่บ้านสระ มีผู้นำชุมชนที่ใส่ใจกับงานเด็กมากกว่า ติดต่อง่ายกว่า

มางเล่าต่อว่า... “แต่ช่วงแรกที่เข้าไปที่บ้านสระ เด็กๆ วิ่งหนีเราไม่เลย ไม่ยอมคุยด้วย ตอนเรียกประชุมไม่มีเด็กโตมาเข้าร่วมเลย มีแต่เด็กเล็ก ป.1 – ป.2 ส่วนเด็กวัยรุ่นที่ทำเรื่องซ่อมรถไม่มาเลย เราไปเรียกเขาๆ ก็ไม่สนใจ แต่ก็แก้ปัญหาโดยเข้าไปหาเขาบ่อยๆ เวลาเจอหน้าในพื้นที่ก็พยายามทักทาย พูดคุย เพื่อสร้างความคุ้นเคย เป็นกันเอง”

จากคนที่บอกว่าไม่รักเด็ก แต่วันนี้ มางพยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้เด็กมาร่วมโครงการ เป็นเพราะอะไร “เราคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ต้องรับผิดชอบ เพราะถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ และอยากแบ่งเบาภาระของหัวหน้าคือพี่ป๋า (รัตนา สุขสบาย หัวหน้าสำนักงานปลัด) ด้วย และก็ทำด้วยความเต็มใจ บางทีพวกเด็กๆ ก็มองว่าเราเข้าไปหาเขาเพราะอะไร เราก็ต้องให้ “ใจ” กับเขา เขาจึงจะให้ “ใจ” เรากลับคืนมา”

มางเล่าถึงกลุ่มเด็กๆ ... “หัวหน้ากลุ่มคือพี่ต๋อง (กิตติศักดิ์ เป็นตามวา ลูกชายผู้ใหญ่บ้าน มนัญชยา เป็นตามวา) ซึ่งเป็นคนที่ใช้เวลานานที่สุดกว่าจะได้คุยกัน ส่วนที่คุยกันรู้เรื่องคือน้องแม็ค (วิชัย มณีรัตน์) เรียนเทคนิคอยู่ และน้องโดนัท (ณัฐพล ไชยผง) จึงให้แม็คเป็นคนประสาน และคอยพูดคุยกับโดนัททางเฟสบุ๊ค บางทีเจอก็ทักทายกัน ถามว่าเขาไปไหน ไปทำอะไร ช่วงไหนว่างทีมเทศบาลก็จะชวนกันเข้าชุมชน...” เที่ยวไป เที่ยวมาเกือบสองเดือน เด็กๆ ก็เริ่มคุ้นเคย หลังจากใช้ความจริงใจเป็นใบเบิกทางได้สำเร็จ มางจึงเริ่มทำงานกับเด็กและเยาวชน บ้านสระ ในโครงการแรก กลุ่มซ่อมจักรยานยนต์

เนื่องจากกระบวนการวิจัยต้องใช้เวลานาน และมีการอบรม ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่ชอบการอบรม แต่มางก็หาวิธีได้ในที่สุด “เราใช้วิธีการหลอกล่อค่ะ เช่น เขาอยากซ่อมรถจักรยานยนต์ แต่เราคิดว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโครงการใหญ่ ใช้อุปกรณ์มาก และเราไม่คิดว่าเด็กๆ จะทำได้ แต่มองว่าในหมู่บ้านมีสระน้ำอยู่แล้ว จึงยื่นข้อเสนอว่าให้ลองเลี้ยงปลาดูก่อน ถ้าเลี้ยงปลาสำเร็จ ขายได้ จะเปิดโอกาสให้พวกเขาซ่อมรถได้ เขาก็ยอมเพราะเขาอยากทำกิจกรรมซ่อมรถ”

ส่วนกิจกรรมเลี้ยงปลาในกระชัง มางได้เข้าไปผู้ใหญ่บ้าน และพูดคุยกับเด็กๆ ว่าการเลี้ยงปลาในกระชังจะต้องทำอย่างไร มีวัสดุอุปกรณ์อะไร และทุกอย่างต้องทำเอง ไม่มีใครทำให้นะ แต่ในเรื่ององค์ความรู้การเลี้ยงปลา และหัวอาหารทางเทศบาลจะให้การสนับสนุน ทางน้องๆ เขาก็ตอบตกลง ซึ่งกลุ่มเยาวชนกลุ่มหลัก ได้แก่ ต๋อง , แม็ค , โดนัท , ฯลฯ ประมาณ 6 คน และมีน้องผู้หญิงที่เรียนอยู่ระดับชั้น ม.3 มาเข้าร่วมโครงการด้วย และผู้ใหญ่บ้านตร้อป ให้ความร่วมมือในการประสานกับผู้ปกครองและเยาวชนในพื้นที่ โดยการประกาศทางเสียงตามสายชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งก็ได้ผล ผู้ปกครองกับเยาวชนมาเข้าร่วมกันพอสมควร

การเลี้ยงปลาในกระชังไปได้ด้วยดี มางก็ใช้กุศโลบายต่อเนื่องอีก มางเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาว่า...“ช่วงนั้นมีโครงการ 9101 ซึ่งมีการเลี้ยงปลาอยู่เลย ก็เลยพยายามบอกเด็กๆ ให้เลี้ยงปลาแข่งกับผู้ใหญ่ ปลาของโครงการ 9101 เป็นการเลี้ยงปลาดุกที่นำพันธุ์มาจากต่างจังหวัด ทำให้ปลาน็อกน้ำตาย ส่วนปลาที่น้องๆ เลี้ยง ปลานิล ปลาดุก ปลาหมอแปลงเพศ ปลาตะเพียน เป็นปลาที่นำพันธุ์มาจากท้องถิ่น ทำให้น้องๆ เลี้ยงปลาได้ดีกว่า เด็กๆ เขาก็เกิดกำลังใจ ดีใจว่าเขาเลี้ยงปลาและขายได้มากกว่า ซึ่งเงินนั้นจะให้เด็กเขาบริหารจัดการกันเอง จะไม่เข้าไปวุ่นวายกับเด็ก เพียงแค่ถามว่าปลาโตหรือยัง ขายได้หรือยัง ซึ่งเด็กๆ จะมาบอกเวลาขายปลา ที่เทศบาลมีใครสนใจไหม เราก็ประสานกับคนในเทศบาลให้ค่ะ...

...การลงทุนช่วงแรกไม่ได้ลงทุนอะไรมาก ในส่วนของ พันธุ์ปลา หัวอาหาร วิทยากรประจำจังหวัดที่มาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลา ทางเทศบาลสนับสนุนให้จากงบประมาณที่เทศบาลตั้งเอาไว้ จำนวน 2 หมื่นบาท เป็นงบโครงการเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งจะมีโครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในเรื่องการเลี้ยงปลาอยู่แล้ว จึงใช้งบตรงนี้ส่งเสริมได้ ทำให้พวกเขาได้กำไรทั้งหมด แต่ส่วนที่เด็กๆ ได้ร่วมมือร่วมใจทำ น้องๆ ผู้หญิงจะช่วยกันเย็บกระชังจากเชือกอวน ซึ่งวิทยากรแนะนำว่าจะมีความทน และกันไม่ให้ปลาข้างนอกเข้ามาในกระชังได้ ผู้ช่วยก็ช่วยในเรื่องการดูแล ให้อาหารปลา ผลัดเวรกันมา...

ตอนแรกเราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กๆ เขาจะขายได้กำไร หรือ ขาดทุน แต่อยากดูว่าเขามีความรับผิดชอบไหม ปลาเขาจะโตไหม จะได้ขายไหม ผลก็คือเขาขายปลาหมอได้มาก ส่วนปลาตะเพียนกับปลานิลมีการอบรมการแปรรูป ได้เชิญกลุ่มแม่บ้านมาสอนการทำปลาส้ม แต่หลังจากถอดบทเรียนว่าถ้าเลี้ยงปลาแล้ว มีการทำปลาส้มแบบนี้ดีไหม เด็กผู้ชายเขาบอกว่าไม่ชอบ อยากเลี้ยงปลาอย่างเดียว อยากส่งปลาให้กลุ่มแม่บ้านทำปลาส้มแทน เลยมาคุยกับกลุ่มแม่บ้านและผู้ใหญ่บ้านก็ตอบตกลงกันตามแนวทางนี้...”

มาง เล่าผลสำเร็จของการเลี้ยงปลาในกระชังได้ผลเป็นที่น่าพอใจว่า... “ใช้เวลาเลี้ยงปลาอยู่ 3 เดือน ก็เห็นว่า เด็กๆ เขาไม่บ่นกันเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าที่ไม่บ่นเพราะอยากเลี้ยงปลาจริงๆ ไหม ได้เห็นเด็กๆ เขาทำงานตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ไปตัดไม้ไผ่มาทำกระชัง เขาก็มีความรับผิดชอบอยู่ แม็ค ซึ่งมีพื้นฐานทางงานช่าง เราแค่บอกครั้งเดียวว่าจะทำอย่างไร เขาก็ออกแบบได้เองว่าจะทำอย่างไร แบบไหน และนัดมาลงมือทำกันวันไหน เขาก็ทำกันเองเลย เรามองว่าอย่างน้อย เด็กกลุ่มนี้ เขามีความรับผิดชอบ ทำสำเร็จ เราจึงทำตามสัญญา ให้ทำกิจกรรมซ่อมจักรยานยนต์ได้

ทางเทศบาล จึงสนับสนุนทุนให้เด็กกลุ่มนี้ ทำโครงการซ่อมรถจักรยานยนต์ ด้วยทุน 18,000 บาท โดยมีการอธิบายว่าด้วยจำนวนเงินที่มีไม่มากพอที่จะซื้ออุปกรณ์ อุปกรณ์อะไรที่ยังไม่จำเป็นให้รอไปก่อน พวกเขาก็คิดกันว่าจะทำอย่างไร เลยไปซื้อรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆ มา แล้วเอามาแต่งแล้วขายออก สรุปได้เงินกลับมาประมาณ 23,000 – 25,000 บาท ซึ่งต๋องก็ถามว่าทางเทศบาลจะเอาเงินคืนไหม เราก็บอกว่าไม่เอาคืนหรอก ให้นำเงินส่วนนี้ไปบริหารจัดการในกลุ่ม แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุด อย่าล่ม ให้ใช้ในการหมุนเวียนทำกิจกรรมนี้ต่อไป

หลังจากกลุ่มซ่อมรถจักรยานยนต์ มีความมั่นคงพอสมควร แม็ค ซึ่งเรียนจบพอดี ได้มาหารือกับทางมางว่ามีน้องๆ ในหมู่บ้าน บางคนก็ไม่ชอบซ่อมรถ เลยขอเสนอโครงการใหม่ ทางเราเห็นด้วยหรือไม่ เช่น ให้เด็กผู้หญิงปลูกผัก ซึ่งมีพื้นที่ในชุมชนให้ปลูกผักได้ ส่วนน้องผู้ชายให้มาเลี้ยงไก่ไข่จะดีไหม “เราก็ตอบแม็คกลับไปว่าถ้าแม็คสามารถคุยกับน้องๆ ได้ทางเราก็ไม่มีปัญหา แต่จะพวกพี่ช่วยเรื่องอะไรก็บอกมา ซึ่งแม็คก็บอกว่าพอมีกำไรจากการซ่อมรถ แต่อยากจะของบประมาณบางส่วนเพิ่มเติม กำไรจากการซ่อมรถจะนำมาสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ และขอสนับสนุนพันธุ์ไก่ไข่จากเทศบาล เทศบาลซื้อให้ 50 ตัวๆ ละ 200 บาท เราจึงได้ไปปรึกษากับหัวหน้าสำนักงานฯ ซึ่งพี่ป๋าก็ตกลง โดยให้น้องๆ เขาบริหารจัดการกันเอง มีการออกแบบเองสร้างเอง แต่เราก็ไปบอกผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านให้มาช่วยดูน้องด้วย และบางครั้งเราก็ลงไปดูและให้กำลังใจเขาเป็นระยะๆ


ส่วนผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการที่สอง มาง เล่าต่อว่า... “โครงการนี้ ต้อม เป็นแกนหลัก จากที่สอบถามต้อม เขาก็บอกว่าไก่ออกไข่ทุกวัน มีผลผลิตทุกวัน” ส่วนโครงการปลาในกระชังก็ยังเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดน้องๆ ก็บอกว่า “ปลาในกระชังน้องๆ ทำกิจกรรมต่อยอดในช่วงสงกรานต์ น้องๆ ขายบัตร หว่านแห แหละ 100 – 150 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงของหมู่บ้าน โดยเงินที่ได้จะแบ่งให้เยาวชนส่วนหนึ่ง และแบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่หมู่บ้าน” ส่วนกิจกรรมปลูกผักนั้นได้ล้มเลิกไปแล้ว เพราะผู้ปกครองเป็นห่วง สถานที่ปลูกผักใกล้แหล่งน้ำ และเด็กที่ทำก็เล็กเกินไปที่จะดูแลตัวเอง ผู้ปกครองกลัวตกน้ำ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงหลังจากทำโครงการที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ โดนัท ที่ออกเรียนกลางคั่นในชั้น ม.2 ได้กลับไปเรียน กศน. ต่อให้จบ ม. 3 เพื่อไปเรียนต่อช่างยนต์ในระดับปวช.ตามที่ตนได้ฝันไว้ เพื่อนำมาประกอบอาชีพมีอู่ซ่อมรถในอนาคต และยังช่วยยายทำไร่อ้อยอีกด้วย ส่วนแม็คตอนนี้ติดทหาร แต่ก็ยังกลับมาเป็นอาสาชุมชนเป็นระยะๆ ส่วนต๋อง ก็ยังคงมุ่งมั่นซ่อมรถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ในชุมชนต่อไป

จากกระบวนการวิจัยที่นำพาให้ มาง ต้องทำงานใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น การทำหน้าที่พี่เลี้ยงซึ่งมางเล่าว่าได้ทำอย่างไรบ้าง “การที่เข้าไปหนุนเด็กๆ เราคอยให้กำลังใจ ถ้าเขาขาดเหลืออะไรเขาจะบอกมา เวลาเข้าไปให้กำลังใจก็จะมีการตั้งคำถาม เช่น อยากทำอะไร โตขึ้นอยากทำอะไร เช่น โดนัทอยากเรียนช่าง ก็ถามต่อว่าถ้าอยากเป็นต่างที่เก่ง ต้องฝึกตัวเองแบบไหน ตั้งคำถามชวนคิด สร้างแรงบันดาลใจ เป็นการให้เขาได้คิดเองบ้าง”

มางบอกต่อว่าเป้าหมายการพัฒนาเด็กกลุ่มนี้คือ... “อยากให้เขามีอาชีพในชุมชน ไม่เป็นภาระของผู้ปกครองและสังคม เขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่แว๊น แค่นี้ก็รู้สึกดีแล้ว คิดว่าตอนนี้เราทำได้ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ไปเกาะกลุ่มกันตามศาลาแล้ว แต่เป็นเด็กจากที่อื่นมาแทน จากการสังเกตุล่าสุด งานกีฬาและงานเลี้ยงของชุมชน จะเห็นได้ว่าเด็กไม่ไปวุ่นวายกับใคร ไม่ทะเลาะกัน ต่างจากเด็กหมู่บ้านอื่นที่มีการทะเลาะวิวาท ตีกัน ซึ่งก่อนทำโครงการนี้ เด็กที่นี่ก็มีปัญหาตีกันแต่ตอนนี้เงียบแล้ว”

มางมองว่าที่ปัญหาของเด็กคลี่คลายเกิดจาก... “คิดว่าเหมือนกับรุ่นพี่คุยกับรุ่นน้องและปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้ ที่สำคัญผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ความสำคัญกับเด็กมาก คอยดึงเด็กมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน และให้มาร่วมแสดงความคิดเห็นตลอด ถ้าเด็กต้องการอะไร ผู้ใหญ่ก็ไม่ขัด แต่ให้ความสำคัญกับเด็ก ฟังความคิดเด็ก”

ด้วยภารกิจที่ไม่ตรงกับเด็กและเยาวชนเลย แต่ด้วยความรักและเข้าใจว่าเด็ก เยาวชนคือพื้นฐานในการสร้างคน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มางจึงคิดต่อยอดให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้มีอาชีพได้จริงในชุมชน... “ภารกิจคืองานด้านการส่งเสริมการเกษตรก็มีการตั้งงบประมาณให้กระจายไปทุกหมู่บ้าน เมื่อก่อนจะเชิญแต่ผู้ใหญ่มาร่วมโครงการ แต่ตอนนี้จะไม่เน้นเฉพาะผู้ใหญ่ จะพยายามดึงเด็กเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย เผื่อเขาสนใจ ส่วนผู้นำในชุมชนก็มองว่างานในกรุงเทพฯ หายาก เริ่มแออัด จึงอยากดึงเด็กมามีส่วนร่วม และพยายามทำให้มีอาชีพรองรับ เพราะหากดึงเด็กมาในชุมชนแล้วไม่มีงาน ก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม จึงมีการส่งเสริมอาชีพในหลายๆ อาชีพ ตัวอย่าง ในปีนี้มีเรื่องการขยายพันธุ์กบ การเลี้ยงปลา แต่เน้นเรื่องการเพาะพันธุ์ เพื่อให้เพาะพันธุ์เอง ขายได้เอง ขายให้คนในชุมชน สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานพัฒนาที่ดิน ที่สนับสนุนให้มีการขุดบ่อด้วย หากใครมีที่ดินที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาได้ทางสำนักงานจะมาทำให้ จึงอยากส่งเสริมการเพาะพันธุ์กบและปลา” มางกล่าวตบท้าย

เส้นทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนของ มาง ยังไม่สิ้นสุด แม้ภารกิจงการพัฒนาเด็กและเยาวชนจะไม่สอดคล้องกับงานของตน แต่มางก็สามารถพัฒนางานต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพให้เด็กในชุมชนได้ และ“พลังบวก” ในตัวเองแบบนี้ ที่เข้าใจเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนส่งผลต่อชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่พี่น้องในชุมชนต้องการ และหากมองไกลไปในอนาคตของไทย หากมีคนตัวเล็กๆ แบบมางที่คิดได้แบบนี้ ประเทศชาติจะพัฒนาก้าวไปได้ไกลทีเดียว.

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูล : โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) นักถักทอชุมชน อปท. 2) แกนนำชุมชน และ 3) แกนนำเยาวชน ที่สามารถจัดการความรู้ (KM) และใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นและคลี่คลายปัญหาของท้องถิ่นสู่การพึ่งพาตนเอง หรือท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างยั่งยืน