Interview นายไกรษร เพริศแก้ว
นักวิชาการศึกษา ทต.เมืองแก ต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
การเข้าร่วมโครงการและบทบาทของตัวเองในโครงการ
ผมมาเข้าร่วมโครงการนี้ (โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย) เมื่อประมาณกลาง ๆ โครงการในเฟสแรก มีบทบาทไปช่วยงานเป็นบางครั้ง การเข้าร่วมโครงการทำให้ได้เห็นบทเรียน เห็นท่านปลัด (นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร) เห็นกระบวนการทำงาน พอมาเฟส 2 นี่ได้เข้ามาเต็มตัว ได้ศึกษาแล้วว่า เบื้องต้นเป็นอย่างไร ทำอย่างไร
พอเข้ามาเรียนรู้ในโครงการและได้พาเยาวชนมาเข้าค่ายด้วย ตัวเราได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าค่ายครั้งนั้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ได้เห็นว่าเด็กเยาวชนจังหวัดอื่นมีโอกาสน้อย แต่เด็กและเยาวชนจังหวัดสุรินทร์ได้โอกาสดี มีมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้ามาช่วย ได้พาเด็กไปเข้าร่วมโครงการ ตอนแรกไม่เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ แต่พอได้ ซึมซับเรื่อย ๆ เห็นกระบวนการ เราเข้ากับเด็กอย่างไร วิธีการ แรก ๆ เราเป็นผู้ใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจว่าจะเข้ากับเด็กอย่างไร สิ่งที่เราได้คือวิธีการทำงานกับเด็ก
สิ่งที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้
การมาเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ สิ่งที่ได้คือกระบวนการทำงานในโครงการที่ละเอียดขึ้น วิธีการเข้าไปหาเด็กจะมีกระบวนการ วิธีการที่ละเอียดและขยายความเรื่องเราสามารถทำงานกับเด็กได้ เมื่อก่อนทำงานกับเด็กอย่างไร แล้วพอมีวิธีการทำอย่างไรแต่ก่อนเราก็ทำตามหน้าที่แหละครับ คือ ทำตามคำแนะนำของคนอื่น หลังจากเราเรียนรู้กระบวนการแล้วมีปลีกย่อย คือเราต้องมีมิติที่สัมพันธ์กับเด็ก มีความใกล้ชิด ทำอย่างไรให้เขาไว้ใจได้ มีกระบวนการที่ปฏิสัมพันธ์กับเรา เช่น ครั้งก่อนผมไปร่วมกับเด็กในการเข้าค่าย ไปอาบน้ำกับเด็ก ได้คุย นอนกับเด็ก มีระบบความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เค้าก็จะอธิบายและบอกเรื่องราวในหมู่บ้านเขา ถ้าเราไปแล้วไม่รู้จักกับเขา เขาก็จะไม่เปิดเผย แต่ถ้าเราไปเป็นเด็กด้วย ทำตัวเหมือนเด็ก เด็กจะอธิบายมีเรื่องราวลึก ๆ ที่ไม่เคยบอกใคร เขาก็จะบอกเรา เพราะเขาไว้ใจเรา
สิ่งที่เราได้รับสิ่งนี้ มันเป็นประโยชน์ต่อตัวเราหรือการทำงานของเราอย่างไรบ้าง
ประโยชน์ที่ได้กับตัวเรา คือ เราจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ข้อมูลความเป็นจริง เพราะบางทีเราคิดเองเหมือนเรานั่งเทียนข้อมูลต่าง ๆ แต่ถ้าเราได้ไปสัมผัสเด็ก วิถีชีวิตเด็ก ปัญหาต่าง ๆ ที่เขามี เราก็รู้ซึ้งขึ้น ถ้าเราคิดเอง มันเหมือนเราจินตนาการน่ะครับ แต่ถ้าเราได้ความจริงจากเด็ก ก็จะแก้ปัญหาได้
การเปลี่ยนแปลงส่วนตัวที่เกิดขึ้นมีอะไร
การเปลี่ยนแปลงของตัวเองในส่วนของลักษณะนิสัย ปกติกระบวนการทำงานเราไม่รู้ขั้นตอนอะไร เราก็จะทำธรรมดา แต่นี่เราได้รู้ขั้นตอน กระบวนการ การเข้าหาเด็ก การสันทนาการ เราเริ่มต้นอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร มันก็จะลึกซึ้งก็จะนำมาปรับใช้กับการทำงานได้
นิสัยส่วนตัวมีเปลี่ยนแปลง ปกติเราจะการไปคุยกับคน เราจะมีความรู้ไม่มาก เราอาจคุยเฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน พอเรามีความรู้เกี่ยวกับเด็ก เราก็กล้าที่จะเข้าหาเขาอย่างเต็มที่ มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น
ในโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นระยะที่ 2 เราเข้ามาเต็มตัว มีบทบาทอะไร
บทบาทในโครงการครั้งนี้ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกลไกในระดับตำบล บทบาทคือ ต้องประสานงาน รวบรวมแต่ละกลุ่มย่อย หากมีตรงไหนไม่เข้าใจ เราก็จะสอดแทรกเข้าไป เป็นพี่เลี้ยงเฉพาะกลุ่ม แล้วก็รวบรวมข้อมูล หากยังไม่เข้าใจ ก็จะประสานผู้รู้เฉพาะด้านมาให้ความรู้ที่แท้จริง ได้ข้อมูลที่แท้จริงในการทำงานวิจัย
ความรู้ใหม่ที่เรานำไปใช้ได้จากการอบรมในครั้งนี้
ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำสันทนาการ เกี่ยวกับทักษะและจิตใจ ถ้าเขายังไม่เปิดใจ ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะยังไม่มา ถ้าเราทำความคุ้นเคยเขาไว้วางใจเรา ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะเชื่อมเข้าหากัน เป็นทักษะใหม่ที่ต้องฝึกและทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง
การจะทำงานเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน เตรียมจะทำอะไรบ้าง
เบื้องต้นก็ต้องสำรวจว่า มีข้อมูลอะไรบ้าง มีบุคลากรที่จะทำงานกับทีมนักวิจัย แต่ละคนอยู่ในสายงานไหน เอาความรู้ที่อบรมในครั้งนี้ ไปโค้ชให้เขา โดยเริ่มต้นจากการไว้วางใจก่อน ไม่ใช่ว่า เราไปแล้วไปทำอย่างนี้เลย ผลตอบรับจะได้น้อย แต่ถ้าเราเอาใจไปกับเขาก่อน ใจเขาจะเริ่มมา ค่อยมาทำงานกับเรา แล้วกระบวนการที่เขาจะไปโค้ชกับเด็กอีกครั้งหนึ่ง ก็จะชัดเจนขึ้น
มีความกังวลอะไรบ้าง กับบทบาทที่ได้รับมอบหมาย
มีนิดหน่อย เพราะเรายังไม่เคยทำงานตรงจุดนี้ครับ แต่อย่างน้อยก็มีประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ท่านผู้รู้ที่ทำมาก่อนครับ ก็อาจจะคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานไปด้วย จะแก้ไขจุดต่าง ๆ ค่อยๆ เป็นไปได้ครับ
มีความรู้อื่น ๆ หรือทักษะ อะไรที่อยากได้เพิ่ม
ความรู้เรื่องการวิจัยที่เป็นทักษะความรู้จริง ๆ เรากำหนดมาอย่างนี้ มันต้องปรับแก้ไขไหม มันจะเอาแค่นี้หรือเปล่า กระบวนการก็ต้องเป็นวนซ้ำ PDCA มีการวนให้ครบวงจร
Interview จากเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท.จ.สุรินทร์” (ภายใต้การดำเนินงานของ(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟส 2) ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฏาคม 2562สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น , มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีอปท. จังหวัดสุรินทร์เข้าร่วมได้แก่ ทต.เมืองแก , ทต.กันตวจระมวล , อบต.หนองอียอ , อบต.สลักได , อบต.หนองสนิท