"อุ้ย-ชลธิชา พุทธโกศา" เน้นใจอาสา พัฒนาบ้านเกิด

อุ้ย-ชลธิชา พุทธโกศา นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ อบต.หนองขาม มาเล่าถึงโครงงานกลไกการจัดการและการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมเธอและทีมงานไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับงานวิจัยเลย ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่เพราะมีจุดมุ่งหมายหนึ่งที่ตรงกัน ที่เป็นสาเหตุให้ทีมงานเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการด้วยนั่นคือ การพัฒนาเด็กและเยาวชน

อุ้ย เล่าต่อว่า ตอนนั้นพี่เอ็กซ์-ธนินธร พิมพขันธ์ อดีตหัวหน้าสำนักปลัด ที่เคยเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชนฯ อยากทำโครงการนี้ต่อ เธอและทีมงานทำงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อหัวหน้าทำ พวกเธอก็ต้องทำด้วย แต่ยอมรับว่าตอนนั้นตามแบบยังไม่เข้าใจ จนมีโอกาสเข้าร่วมเวทีเครือข่าย โดยทีมโคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ที่เข้ามาช่วยคลายความกังวลของพวกเธอเกี่ยวกับกระบวนการวิจัยชุมชน

“ตอนแรกยอมรับว่าเราเครียดมาก นึกภาพคำว่างานวิจัยจะต้องเป็นเหมือนการทำงานวิชาการเป็นเล่ม ๆ ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว แต่พอได้เข้าไปเรียนรู้จากทีมวิทยากรแล้ว ทำให้เราเข้าใจงานวิชาการในรูปแบบใหม่ ซึ่งงานวิจัยสำหรับโครงการนี้คือ การทำตามความต้องการของเด็ก และให้เราไปมีส่วนร่วมคือการเป็นพี่เลี้ยง ทีมโคชเข้ามาสอนเทคนิคในการเข้าชุมชน การวางแผนการทำงาน ทำให้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่งานวิจัยที่ต้องทำเอกสารเยอะ แต่เป็นการทำงานที่ต้องการให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมและลงมือทำ โดยพวกเรามีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง พอเราได้เข้าอบรม ได้ชุดความรู้ทางความคิดในหลาย ๆ เวทีทำให้เราเริ่มเข้าใจมากขึ้น จนมีโครงการที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้” อุ้ยเล่าถึงข้อกังวลใจในช่วงแรก

เน้นใจอาสา...พัฒนาบ้านเกิด

อุ้ย เล่าย้อนให้ฟังว่า เพราะต้องอาศัยแนวร่วมในการทำงานจึงใช้วิธีเลือกคนที่พร้อม มีใจ หรือใครว่าง ก็อาศัยความสนิทส่วนตัวชวนมาช่วยกันทำงาน เห็นใครดูเข้าท่าเข้าทีก็จะชักชวนให้เข้าร่วมทีมด้วย จนเกิดเป็นทีมงานที่ประกอบด้วย ต้อม-ธงชัย จันมะณี นักพัฒนาชุมชน, นก-นงทิพย์ เถื่อนเฉย ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก , ธัญญาภรณ์ แตงทอง, อ้อย-ณัฐกาญ ทองเลิศพร้อม กองการศึกษา และ จินดา แช่มประสพ รองนายก อบต. เป็นทีมงานนักวิจัยของ อบต.หนองขาม ผสมรวมกับทีมวิจัยในชุมชนอีก 5 พื้นที่ คือ หมู่ 1 หมู่ 3 หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 4 และ หมู่11

ทีมงานยอมรับว่า ในระยะแรกที่ต้องเฟ้นหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมโครงการตอนนั้นคิดแค่ว่าคัดเฉพาะคนที่มีบทบาทหรือหน้าที่ที่สอดรับกับงานด้านนี้เพื่อความสะดวกในการทำงาน จนทำงานร่วมกันได้สักระยะพบว่าคนที่มีจิตอาสาเป็นพี่เลี้ยงจริง ๆ เริ่มมีเข้ามาเยอะ จากครั้งแรกอาศัยดึงคนที่เกี่ยวข้องในเนื้องานและคนใกล้ชิด แต่เมื่อทำงานจริง ทีมเริ่มขยายวงมากขึ้น มีแกนนำของแต่ละหมู่บ้านเข้ามาเติม แต่ละคนก็จะเด่นกันคนละอย่าง เช่น ครูนกเดิมดึงเข้ามาเพราะเป็นครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งพบว่าครูนกมีอิทธิพลกับเยาวชนและได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองของเด็กในชุมชนเป็นอย่างมาก

หลังจัดทัพจัดทีมลงตัวก็เริ่มเรียนรู้กระบวนการวิจัยจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ามาให้ความรู้เรื่องกระบวนการการเป็นพี่เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่คอยบริหารจัดการโครงการเท่านั้น ทำให้ทีมงานเริ่มรู้และเข้าใจการทำงานวิจัยมากขึ้น เช่น บทบาทหน้าที่ของนักวิจัยคืออะไร จากแต่ก่อนคิดว่านักวิจัยคือคนทำโครงการที่ต้องคิดกิจกรรมไว้หมดแล้วว่า จะทำโครงการอะไร มีใครเข้าร่วมบ้าง จำนวนกี่คน กิจกรรมเป็นแบบไหน จัดหาวิทยากรมาอบรมให้ความรู้ แต่เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการวิจัยจากทีมวิทยากร ทำให้เรียนรู้ว่า “ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการทำงาน แต่ต้องมองว่าสมาชิกแต่ละคนมีพรสวรรค์ด้านไหนบ้าง และแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความสามารถของเขา และที่สำคัญคือต้องยึดเด็กเป็นแกนหลัก ไม่ใช่ยึดความคิดจากเราเป็นหลักและให้เด็กทำ”

จัดทัพเซ็ตระบบเพื่อชุมชน เพื่อเยาวชนหนองขาม

หลังจากบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่เรียกว่าเยาวชนให้งอกงามเติบโตในหลายชุมชนได้แล้ว สิ่งที่ทีมวิจัยต้องทำต่อไปคือ การเซ็ต “กลไกการทำงาน” อุ้ย บอกว่า เธอออกแบบให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันออกความคิดเห็น

“เมื่อก่อนยอมรับว่าตนเองมีอคติมาก ไม่เชื่อใจทีมว่าทุกคนจะทำงานได้ เพราะเราตีกรอบให้ทุกคนแล้ว เช่น เมื่อมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องหนึ่งแล้วทุกอย่างต้องเป๊ะ เพราะเรามีทุกอย่างอยู่ในหัว วางแผนไว้หมดแล้ว ฉะนั้นคุณต้องทำอย่างนี้ ทุกอย่างต้องเป๊ะ ผิดพลาดไม่ได้” อุ้ย บอกข้อเสียของตนเอง

จากที่เคยวางตัวเองเป็นศูนย์กลาง กระบวนการวิจัยทำให้อุ้ยเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่เป็นกระจายงานตามความสามารถของแต่ละคน ซึ่งก็ทำให้เธอเห็นว่า คนทุกคนมีความสามารถต่างกัน อำนวจหน้าที่จึงถูกแบ่งกระจายตามความสามารถของแต่ละคน เช่น ครูนกและต้อมที่เด็ก ๆ ในโครงการจะติดเขามาก จึงมอบหมายให้ทั้ง2 คนทำหน้าที่ติดตามงานกับเด็กในแต่ละพื้นที่ โดยเธอยอมรับว่า ตอนนี้การทำงานของเธอสบายขึ้น จากที่เป็นคนเป๊ะไม่ไว้ใจลูกน้อง ปัจจุบันเธอมีหน้าที่รับฟังรายงานของทุกคน และติดต่อประสานงานทีมโคชจากศูนย์ประสานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเท่านั้น

ทีมวิจัยยังสะท้อนอีกว่า สิ่งที่พวกค้นพบจากการเข้าร่วมโครงการนี้คือ เดิมมองว่ากลไกการทำงานด้านเด็กและเยาวชนจะต้องประกอบไปด้วย หน่วยงานรัฐ เช่น อบต. โรงเรียน รพ.สต. ผู้นำชุมชน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งหมด แต่เมื่อทำจริงแล้วพบว่า บางครั้งเราไม่สามารถยึดติดกับหน่วยงานได้ เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบ บางครั้งเขาอาจจะเข้าร่วมกับเราบ้างแต่อาจจะไม่ได้เข้าร่วมทั้งหมด ทำให้เราค้นพบว่าการจะสร้างทีมขึ้นมาได้เราต้องอาศัยคนที่มีใจ และเข้าใจเป้าหมายการทำงานของเราจะช่วยให้ทีมเข้มแข็งมากกว่า จึงเป็นที่มาที่เราพยายามเซ็ตทีมพี่เลี้ยงให้เป็นคนในหมู่บ้านนั้น ๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังทำคือ การทำเพื่อบ้านของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ทีมงานค้นพบจากการทำงานวิจัยนี้

นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังออกแบบการทำงานในแต่ละหมู่บ้าน ด้วยการวางระบบติดตามจากตัวพี่เลี้ยงในพื้นที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูล ติดตามการทำงานของเยาวชนและทำหน้าที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของเด็กแต่ละคน แล้วพี่เลี้ยงซึ่งเป็นเจ้าหน้า อบต.จะมาสะท้อนให้เราฟังจากการสังเกตพฤติกรรมของพี่เลี้ยงในพื้นที่ที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก โดนบางครั้งทีมงานจะนัดล้อมวงถอดบทเรียนจากสิ่งที่ทำเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการทำงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายสุดสิ่งที่พวกเรามุ่งหวังนั่นคือตัวเด็กและเยาวชนของชุมชนที่ได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่ทีมวิจัยตั้งเป้าไว้

อุ้ย สะท้อนให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทาง อบต.เคยทำโครงการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาหลายต่อหลายครั้งแต่มักจะล้มเหลวแทบทุกโครงการ ซึ่งตนวิเคราะห์ว่า เมื่อก่อนการทำงานจะเป็นแบบหน้าที่ใครหน้าที่มัน เพราะหน้าที่ถูกแบ่งด้วยการทำงาน เมื่อจัดโครงการอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นของสำนักปลัด คนอื่นที่มาในฐานะคนร่วมงานเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำกับเรา การจะให้พี่เลี้ยงแต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้านมาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับเราตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีชุดความรู้ในการจะดึงให้เขามาร่วมกิจกรรมกับเรา จากบทเรียนของความผิดพลาดที่เคยทำมา เมื่อเห็นช่องทางและโอกาสในการพัฒนาเด็กและเยาวชนจากกระบวนการวิจัยทำให้เธอเริ่มเปิดใจและเรียนรู้ที่จะลองเป็นผู้ฟังมากกว่าการเป็นผู้ตัดสิน

ก่อนจบบทสนทนา อุ้ยกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “สำหรับเราที่รับราชการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมา 10 ปี วันนี้ตอบทุกโจทย์ ทั้งการทำงาน ทีม ชุมชน เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่า ‘กลไก’ คืออะไร แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าคือ การทำงานร่วมกัน เหมือนรถยนต์ที่ตรงนี้คือเฟือง ล้อ พวงมาลัย ที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน เรามองว่า ณ ตอนนี้ อบต.หนองขามของเรากำลังเป็นเสมือนรถยนต์คันหนึ่งที่พร้อมจะขับเคลื่อนผ่านฟันเฟืองต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้เยาวชนของเราเป็นเยาวชนที่ดีของชุมชนหนองขามในอนาคต...”