"สำเนียง" มองเห็นมุมดีของเด็กมากขึ้น

­

โครงการสร้างฝายมีชีวิต

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนากลไกการจัดการและกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย ซึ่งโครงการนี้ ได้มีผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนกลไกในนาม "นักถักทอวิจัย" ซึ่ง "สำเนียง สมใจเพ็ง"สมาชิกอบต. หมู่ 6 เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมขับเคลื่อน โดยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เยาวชนหมู่ 6 ในโครงการสร้างฝายมีชีวิตซึ่ง "สำเนียง" ได้เล่าว่ามีฝายมีชีวิตอยู่แล้ว เป็นฝายที่ทางนายกฯ มาทำไว้ เป็นคลองที่ขุดสำหรับเป็นทางน้ำทิ้ง เนื่องจากเวลาหน้าน้ำจะมีน้ำป่ามาเสมอ จึงสร้างฝายขึ้น เด็กเห็นว่าน่าจะเป็นต้นทุนของชุมชนที่น่าจะนำมาสานต่อได้จึงเลือกทำโครงการสร้างฝายมีชีวิต เพราะอยากรู้ทำฝายน้ำล้น โดยกระบวนการเรียนรู้คื กระบวนการทำฝายทำอย่างไร ใช้วัสดุอุปกรณ์อะไร ประกอบกับฝายน้ำล้นแห่งนี้ทำมาหลายปีแล้วจึงเกิดการชำรุดเสียหาย เด็ก ๆ จึงอยากจะพัฒนาฝายน้ำล้นให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม

สำหรับการคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการ พี่สำเนียงอาศัยความสนิทกับผู้ปกครองของเยาวชนก่อนแล้วชักชวนผ่านผู้ปกครอง จากตอนแรกผู้ปกครองไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะเด็ก ๆ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานวันหยุด เรียนพิเศษบ้าง หลัง ๆ เริ่มเห็นว่าเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับทาง อบต.แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมพอเห็นว่ามีกิจกรรมนี้ก็เลยสนับสนุนให้ลูก ๆ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมีประมาณ10 คน มีตั้งแต่ ป. 2 - ม. 3

กิจกรรมฝายมีชีวิตเริ่มต้นด้วยการประชุมทีม เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยเชิญทั้งผู้ปกครอง เด็ก ๆ ในชุมชน รวมถึงนายก อบต.มาให้ความรู้เรื่องการทำฝาย หาข้อมูลเรื่องการทำฝายว่าต้องใช้อะไรบ้าง (ก่อนการประชุมน้องๆ ลงไปสำรวจพื้นที่ก่อนเพื่อนำมาประเมินว่าต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง) สอบถามข้อมูลเรื่องการทำฝายเพิ่มจาก นายก อบต. อีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง นายก อบต. พาลงกิจกรรมซ่อมฝาย โดยมีทั้งเยาวชน คนในชุมชน ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ อบต. บรรยากาศวันนั้นทำให้เราเห็นความร่วมมือของผู้ปกครองที่ทำอาหารมาเลี้ยงน้อง ๆ ทำฝ่ายเสร็จก็ชวนน้องสรุปบทเรียน

สำเนียง บอกว่า เธอทำงานร่วมกับเด็กมาตั้งแต่แรกแล้ว จากเด็ก ๆ ที่เคยเกเร พูดจาไม่เพราะก็เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยอยู่คนละโรงเรียนทะเลาะกันบ้าง พอมามีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันเขาก็สนิทกันมากขึ้น ไปเที่ยวด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกันได้ จากที่เคยเจอกันแล้วมองตาขวางตอนนี้เขาก็สามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกันแล้วเขาใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ในหมู่ 6 กระจายกันไปเรียนโรงเรียนนอกหมู่บ้านเพราะหมู่ 6 ไม่มีโรงเรียนทำให้ไม่ค่อยรู้จักกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นพี่น้องกันแต่เขาไม่รู้จักกัน

ส่วนคนในชุมชนสำเนียงรอมรับว่า ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงน้อย อาจเป็นเพราะหมู่บ้านค่อนข้างกระจาย ต่างคนต่างอยู่ แต่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้เมื่อเราต้องการขอความร่วมมือ

สำเนียงบอกว่า งานวิจัยทำให้เธอเห็นความรู้สึกของน้อง ๆ อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้เราดูแลลูกแล้วเราอาจจะเข้มงวดกับลูกมากไป เพราะเราเชื่อว่าลูกจะต้องฟังเรา พูดอะไรแล้วเขาต้องทำตามเรา แต่พอเรามาเข้ากระบวนการวิจัยทำงานกับเด็กทำให้เราเห็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง เราเห็นว่าเด็กเขามีความคิดเป็นของตัวเอง เขามีศักยภาพและความสามารถที่จะทำงานของเขาเองได้ คิดเองได้โดยที่เราไม่ต้องนำ จากเด็กอายุ 8-9 ขวบที่เราต้องคอยชี้คอยบอกให้เขาทำ แต่พอเราลองปล่อยให้เขาทำเอง เราเห็นว่าเขาสามารถทำเองได้ คิดได้โดยที่เราไม่ต้องบอก เราก็คิดย้อนกลับมาที่ลูกเราว่าที่ผ่านมาเราอาจจะเข้มงวดกับมากไป ลูกเลยไม่กล้าที่จะพูด หรือแสดงความคิดเห็นให้เราฟังเ พราะกลัวว่าเราจะดุเขา เพราะตอนนั้นเราเลี้ยงลูกเข้มงวดมาก แต่กิจกรรมนี้ทำให้เราเห็นว่าเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องบังคับให้เขาเป็นหรือเขาทำ ทำให้เขาเองก็มีความสุข กล้าบอก กล้าถามเรา จากเมื่อก่อนลูกเราไม่อยากไปไหนมาไหนกับเรา ทำให้เรามาย้อนที่ตัวเองว่าทำไมเราต้องบังคับลูก เห็นใจลูกมากขึ้นเข้าใจเด็กมากขึ้น จากการทำกิจกรรมนี้

“งานวิจัยช่วยให้เราทำงานกับเด็กบ่อยขึ้น เข้าถึงเด็กมากขึ้นหากเป็นกิจกรรมอื่น ที่เราทำกับสภาเด็กเราจะเจอแค่ปีละครั้งถึงสองครั้ง แต่งานวิจัยช่วยให้เราเห็นมุมมองของเด็กมากขึ้น ทำกิจกรรมกับเด็กมากขึ้น”สำเนียงย้ำข้อดีที่ได้จากงานวิจัย