เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยทรงดำ
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนากลไกการจัดการและกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย ซึ่งโครงการนี้ ได้มีผู้ใหญ่ใจดีในพื้นที่มาร่วมขับเคลื่อนกลไกในนาม "นักถักทอวิจัย"
ตา-ปาณิตา ทองแพร ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.หนองขาม ที่ดูแลโครงการประวัติศาสตร์ไทยทรงดำหมู่ 4 และ 11 เล่าว่า กลุ่มนี้มีเด็กอยู่ประมาณ 10 คน อายุระหว่าง 8-15 ปี เห็นผลที่น้องเลือกทำโครงการนี้เกิดจากเวทีพัฒนาโจทย์โครงการที่ทีมโคชชวนเด็กคิดว่าบ้านตัวเองมีเรื่องดี ๆ อะไรบ้างที่พวกเขาอยากทำ เพราะเห็นว่าวิถีชีวิต “ไทยทรงดำ” เป็นจุดเด่น เนื่องจากเวลามีงานเทศกาลจะมีคนเชิญให้ไทยทรงดำไปเดินขบวนด้วย เลยถามเขาต่อว่า เมื่อเราอยากทำเรื่องไทยทรงดำแล้วเราอยากรู้เรื่องอะไรบ้าง เด็กเสนอว่าอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องของการแต่งกายของชาวไทยทรงดำ ประเพณี และประวัติความเป็นมา
ส่วนกระบวนการเรียนรู้มีดังนี้ สร้างความเข้าใจร่วมกันของทีมในชุมชน โดยนำน้องๆ ที่เข้าร่วมเวทีมาสร้างความเข้าใจกับน้อง ๆ ในชุมชนที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีฟัง ชวนเพื่อน ๆ ถอดบทเรียน โดยนำข้อมูลที่ได้ในเวทีทั้งเรื่องการวาดภาพ การออกแบบกิจกรรมมาเล่าให้เพื่อนฟัง
“พอดีวันนั้นมีกิจกรรม OTOP ของไทยทรงดำอยู่พอดี พี่ตาจึงพาน้อง ๆ ไปเล่ารายละเอียดให้ชาวไทยทรงดำรับรู้ว่าจะมีเยาวชนทำกิจกรรมเรื่องราเกี่ยวไทยทรงดำ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีเด็ก ๆ ลงไปสำรวจข้อมูลกับพี่ ๆ จากนั้นก็น้อง ๆ ถอดบทเรียนต่อจากกิจกรรมที่พาน้องๆ ไปเรียนรู้ในกิจกรรม OTOP ของชาวไทยทรงดำ” พี่ตาบอกกลยุทธ์การทำงาน
จากนั้นก็ลงพื้นที่บ้านครูบุญนาค สังขะกรรู้ปราชญ์ของชาวไทยทรงดำ เรียนรู้เรื่องของการเย็บ ปักเสื้อผ้าของไทยทรงดำ การแต่งกาย เช่น ชื่อเรียกชุดแต่ละชุด การแต่งกายของไทยทรงดำในแต่ละพิธีกรรมแต่งอย่างไร โดยเด็ก ๆ จะแบ่งบทบาทหน้าที่ในการถาม จดบันทึกข้อมูลในสิ่งที่เขาอยากรู้ พี่เลี้ยงจะมีหน้าที่ในการประสานงานให้เท่านั้น หลังลงพื้นที่ทุกครั้งต้องมีการถอดบทเรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่
สำหรับข้อมูลที่เด็ก ๆ เก็บได้แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้ คือ เครื่องแต่งกาย ประเพณี วิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ โดยข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาทำเป็นป้ายอิงเจ็ทติดอยู่ศูนย์ OTOP ของชาวไทยทรงดำของหมู่บ้าน ให้นักท่องเที่ยวอ่านเวลาเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
ตา บอกว่า ตอนนี้น้อง ๆ วางแผนที่จะต่อยอดงาน เป็น การทำกระเป๋าจากผ้าดิบ ซึ่งเป็นลายผ้าของชาวไทยทรงดำ แต่ยังอยู่ในช่วงรอดำเนินการ เพราะเด็กเห็นจากการที่ลงพื้นที่ไปที่บ้านของผู้รู้ที่มีความชำนาญเรื่องการเย็บผ้า ทำให้เยาวชนอยากต่อยอดประกอบกับในหมู่บ้านมีศูนย์ OTOP อยู่แล้วทำให้เด็กวางแผนอยากทำกระเป๋าเพื่อสร้างรายได้เสริม
บทบาทของพี่เลี้ยง
ตา บอกว่า จากการนำเสนอของเด็ก ๆ ทำให้เห็นว่าการที่เขาได้ลงมือทำเอง ปฎิบัติจริงทำให้เขาสามารถพูดได้เอง เขาสามารถเล่าได้ มีทักษะในการเข้าหาผู้ใหญ่ การสื่อสาร และการพูดคุย
“โครงการนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของเด็ก ถึงเขาจะอายุไม่เท่าไหร่แต่เขาสามารถทำได้ เช่น การออกไปนำเสนอต่อที่สาธารณะ บางครั้งเราไม่ต้องบอกเขาเลยว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง แต่เขาสามารถพูดได้เลยว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง เราเองก็ปลื้มใจที่เห็นเขาสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นฟังได้ในสิ่งที่ตัวเองทำ มุมมองของเราก็เปลี่ยนไปเวลาเจอเด็ก ๆ เราจะบอกเขาเสมอว่าต้องพูดนะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องพูด อย่างน้อยก็ให้บอกความรู้สึกก็ยังดีว่าแต่ละครั้งที่ทำกิจกรรมได้เรียนรู้อะไรบ้าง”
ส่วนคนในชุมชนก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนมากขึ้น เพราะหมู่ 4 จะมีกิจกรรม OTOP ท่องเที่ยว เขาจะชวนเด็ก ๆ มาแสดงต้อนรับ เป็นต้น