จินดา แช่มประสพ รองนายก อบต.หนองขาม เล่าถึงการเข้าร่วมโครงงานกลไกการจัดการและการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรีทีมวิจัย อบต.หนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี
"ตอนที่คิดโจทย์โครงงานกลไกการจัดการและการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองขาม อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี คิดถึงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในตำบลหนองขาม เช่น เด็กติดเกม เด็กแว้น ไม่เรียนหนังสือ ท้องก่อนวัย
“ตอนแรกเรามองว่าเด็กเป็นปัญหา หลังผ่านกระบวนการงานวิจัยมาได้สักระยะ เริ่มมองว่าปัญหาไม่ได้มาจากเด็กโดยตรง บางเรื่องเกิดจากครอบครัว เช่น งานบ้านบางอย่างที่เด็กไม่ทำ เพราะพ่อแม่กลัวลูกเหนื่อยเลยไม่ให้ทำ ซึ่งก็เกิดจากผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นการเรียนรู้ เมื่อรับรู้ถึงเหตุผลหลักของการเกิดปัญหาทำให้ทีมงานเริ่มมองรอบด้านมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น”
หลังจากเข้าใจความหมายของกระบวนวิจัยมากขึ้น ทีมงานจึงกลับมานั่งคุยกันภายในทีมเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเยาวชนร่วมกัน และค้นพบจุดเด่นของทีมงานวิจัยว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนที่รู้บริบทของชุมชนตัวเองในระดับหนึ่ง จึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองใหม่ มองหาความต้องการจากชุมชน ทั้งจากผู้ปกครอง คนในชุมชน ถึงความคาดหวังที่มีต่อเด็กในชุมชน อีกทั้งยังเลือกลงพื้นที่เพื่อมองหาทุนดี ๆ ที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้านเพื่อนำมาเป็นตัวเลือกในการทำโครงงานวิจัย "
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน
รองจินดาผู้รับผิดชอบ เล่าว่า เด็กหมู่ 3 ที่ทำโครงการนี้ 7 คน อายุระหว่าง 11 -13 ปี เหตุผลที่เขาเลือกทำเรื่องนี้เพราะ “ความอยากรู้” เนื่องจากว่าเดิมเด็ก ๆ เคยทำเรื่องประวัติชุมชนกับทางโรงเรียนอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงลึกมากนัก ทำให้เขาอยากรู้มากขึ้น เนื่องจากการทำงานของงานวิจัยจะมีขั้นตอนที่ละเอียดกว่าที่โรงเรียนทำ เด็กจะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่า เพราะเด็กมีโอกาสได้ลงไปสอบถามข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน
สำหรับการทำกิจกรรมเริ่มต้นจากเด็ก ๆ เข้าไปพูดคุยกับผู้นำหมู่บ้าน ขอความคิดเห็นจากชาวบ้าน เกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านจากผู้รู้ในชุมชนในเวทีประชุมของหมู่บ้าน พวกเขาจะแบ่งบทบาทหน้าที่กันเองว่าใครจะจด ใครจะถาม โดยมีผู้ใหญ่คอยช่วยจด ช่วยถามอีกแรง
“ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามชาวบ้าน ผมจะช่วยแนะนำเรื่องการจัดระเบียบข้อมูลเป็นรายประเด็น เช่น การปกครองในอดีต ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือใคร อบต.คนแรกคือใคร กำนันคนแรกคือใคร ประวัติชุมชน เช่น เคยมีหนองน้ำอยู่ในชุมชนมาก่อนซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ที่มาของทะเลน้อยที่เคยมีอยู่ในชุมชน การเกิดของสถานที่สำคัญในชุมชน เมื่อสรุปประเด็นได้แล้วก็ให้น้อง ๆ นำข้อมูลมาวาดภาพลงในกระดาษฟลิปชาร์ต เปิดโอกาสให้เด็ก ใช้จินตนาการของตัวเองได้เต็มที่ ซึ่งภาพวาดนี้เด็ก ๆ ตั้งใจว่าจะนำไปแขวนไว้ที่อาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน เพื่อให้คนในชุมชนรับรู้ประวัติหมู่บ้าน โดยก่อนนำไปติดตั้งเด็ก ๆ นำภาพวาดดังกล่าวมานำเสนอผู้นำหมู่บ้านและผู้ปกครอง เพื่อช่วยเติมเต็มข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาก็มี เรื่องประเพณีวัฒนธรรม เส้นทางน้ำ เป็นต้น” รองจินดา อธิบายระหว่างรอให้ภาพวาดประวัติหมู่บ้านมีข้อมูลครบถ้วน ทีมวิจัยได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เด็กแต่ละโครงการได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
“ผมคิดว่าตัวโครงการมีผลต่อการทำกิจกรรมเหมือนกัน เพราะยังหาทางออกในการทำกิจกรรมต่อไม่ได้ ซึ่งระหว่างนี้สิ่งที่ผมได้คือพาเด็กไปร่วมเรียนรู้กิจกรรมกับหมู่อื่นบ้าง” แม้กิจกรรมยังไปสุดทาง แต่การทำโครงการของเด็กก็สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ไม่น้อย
“ผมว่าการที่เด็กลุกขึ้นมาสืบค้นข้อมูลประวัติความเป็นมาบ้านของตัวเอง ครั้งนี้กระตุ้นชาวบ้านในเรื่องของประวัติความเป็นมา เช่น เรื่องของปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในชุมชน ก็ทำให้ชาวบ้านชวนกันถกถึงอดีตเรื่องการใช้น้ำจนนำไปสู่การพูดคุยเพื่อหาทางออก ทำให้ผู้ใหญ่ตั้งวงในการพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา คนในชุมชนได้พูดคุยกันมากขึ้นจากเดิมที่ไม่ยอมรับกันสักเท่าไหร่ ต่างคนต่างอยู่ แต่พอมามีโครงการนี้เหมือนมีเด็กมาเป็นตัวกระตุ้นให้เขาได้เปิดวงคุยกัน”
ส่วนเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมก็เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน รองจินดา บอกว่า ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ มีเด็กคนหนึ่งเมื่อก่อนเขาลูกติดแม่มาก แต่พอเข้ากิจกรรมกับเรา เห็นเลยว่าเขาสามารถนำเสนอข้อมูลได้ มีความรับผิดชอบ ผู้ปกครองเองก็ภูมิใจที่เห็นความแตกต่างของลูกตัวเอง
“เด็ก ๆ เรียนรู้การแบ่งบทบาทหน้าที่ของตัวเอง พี่คนโตพยายามแจกจ่ายงานให้น้องตามความถนัดของแต่ละคน”
รองจินดาบอกว่า เดิมตัวเองเป็นคนที่คาดหวังเยอะ จากเดิมจะเจอเด็กที่เป็นเด็กคัด เด็กเก่ง ๆเข้าทำกิจกรรมทำให้เราคาดหวังว่าเด็กเขาจะต้องทำได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ เด็กบางคนเขาไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านนี้มาตั้งแต่เริ่ม ทำให้เรารู้ว่าการที่เขาตั้งใจศึกษาและตั้งใจที่จะทำให้ได้เท่าเพื่อน ทำให้เขาต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา ทำให้เข้าใจเด็กมากขึ้นว่า การเรียนรู้และประสบการณ์คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาตัวเองได้ จากเดิมถ้าอะไรที่เราไม่ได้อย่างที่หวังเราจะดุ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าบางอย่างต้องอาศัยการเรียนรู้จริง ๆ”
เป็นผู้บริหารตัวจริงที่ลงมาคลุกฝุ่นกับเด็กๆ และ ชุมชน จนก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้อย่างแท้จริง