อบต.พลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณ ได้ดำเนินการทำโครงการศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลพลับพลาไชยในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย โดยส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมพัฒนางานด้านเด็กและเยาวชน โดยหนึ่งในนั้นคือ "หล้า-ยุพา โพธิ์ทอง" นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ที่เด็ก ๆ หมู่ 7 เลือกจะทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่สุดท้ายกิจกรรมกลับขยับไปได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อหล้าชวนเด็ก ๆ ถอดบทเรียนก็พบว่า เด็กเลือกโจทย์นี้เพราะถูกปลูกฝังมาตลอดว่าชุมชนของพวกเขาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เด็ก ๆ ยึดติดกับกรอบของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านหล้ายอมรับว่าการเข้ามาทำงานวิจัยทำให้เธอได้มองย้อนกลับไปประเมินการทำงานที่ผ่านมาของตัวเอง ซึ่งทำให้เธอค้นพบสาเหตุที่การทำงานในตำแหน่งเดินไปได้ไม่ไกลนัก
“เมื่อก่อนเราทำงานในลักษณะอีเวนต์ คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วจบไป ไม่ได้วางแผนพัฒนาให้ยั่งยืน เลยต้องแก้ปัญหาเดิม ๆ วนไปไม่กี่เรื่อง แต่พองานวิจัยเข้ามา เราต้องผ่านการทำงานที่เป็นกระบวนการอย่างจะจัดเวทีในชุมชนก็มาคุยวางแผน แบ่งหน้าที่ สรุปบทเรียน ปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัญหาให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป ทำซ้ำ ๆ จนรู้ว่าปัญหานี้จะใช้วิธีการไหน ควรไปปรึกษาใคร ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพในทุกเวที ถึงการทำงานแบบอีเวนต์อาจจะง่ายกว่า ไม่ต้องมีกระบวนการคิด แต่แบบนี้ทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้พวกเราเองเหนื่อยน้อยลงด้วย”