เติมเทคนิค "การทำงานร่วมกันเป็นทีม" โดย สุทัศน์ พรธีระปกรณ์ : SCB ACADEMY


สุทัศน์ พรธีระปกรณ์จาก SCB ACADEMY คือหนึ่งในกระบวนการที่มาร่วมเติมเต็มทักษะ เครื่องมือ ความรู้ ให้แก่พี่เลี้ยงเยาวชน และแกนนำเยาวชนในเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT สร้างแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับสมรรถนะของเยาวชนและพี่เลี้ยง จังหวัดสุรินทร์ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟรส 2สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฎาคม 2562 โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มาฟังรายละเอียดเบื้องหลังของเนื้อหาการอบรมในส่วนที่สุทัศน์ได้นำมาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้ในโครงการต่อไปนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันได้เลย

มาเป็นกระบวนกรในการอบรมนี้ได้อย่างไร

ทันทีที่ได้รับโจทย์จากพี่แอ๋ม (สุทิน ศิรินคร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล) ให้มาช่วยเป็นกระบวนกรในการทำเวิร์กช็อปกับนักถักทอวิจัย ให้กับ อบต.และเทศบาล ของจังหวัดสุรินทร์ 5 ตำบล และต้องการให้ทางผู้เข้าร่วมอบรมได้เครื่องมือบางประการ ในการที่จะนำไปทำกับโครงการวิจัยของเขา ที่เขาได้มีการนำเสนอแผนโครงการวิจัยของเขามาแล้วบางส่วน แต่ว่าในขั้นตอนการลงมือทำมันอาจจะมีบางทักษะที่ยังจะต้องเติมให้เขา รวมถึงตัวพี่เลี้ยงของโครงการเอง ที่บางท่านยังไม่ได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมหรือกระบวนการเวิร์คช็อปมา จึงได้ออกแบบเครื่องมือที่นำมาใช้คืออันแรกๆ เลยก็คือเรื่องของการฟัง ฟังคนอื่นเราก็จะทำอย่างไรให้น้องเข้าใจเรื่องของ Deep Listening ซึ่งจริงๆ มันมีการออกแบบกระบวนไปเป็นการฟังอีกก้าวหนึ่ง แต่พอมาถึงวันจริง เราก็มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ให้เหมาะสม


เรามองว่าการเรียนรู้จะเกิดเป็นประโยชน์สูงสุดถ้าหากผู้เรียนมีโอกาสได้แชร์ ได้เล่า ได้ Discussion กันได้ถกเถียงกันในประเด็นที่เขาสนใจหรือเห็นร่วม เพื่อหาจุดร่วมร่วมกันจะดีกว่าการทำผ่านการสอน การบรรยายอย่างเดียว แต่ทีนี้การที่เขาจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ สามารถแชร์ประสบการณ์ สามารถแชร์เรื่องเล่าของเขาได้ นั่นหมายความว่ากระบวนกรต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาก่อน ซึ่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมันมีหลายวิธี เช่น การทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ก็คือผ่านกิจกรรมแบบละลายพฤติกรรม หรือสันทนาการต่างๆ ซึ่งในทีมกระบวนกรที่ทำงานด้วยกัน ก็มีพี่เจี้ยบ (อาจารย์สุรชาติ เล็กน้อย : บริษัทรักลูก ฮิวแมน แอนด์ โซเชียล อินโนเวชั่น จํากัด ) พี่หวาย (พีรศุภ อินลี : บริษัทรักลูก ฮิวแมน แอนด์ โซเชียล อินโนเวชั่น จํากัด ) น้องอ้อย (นางสาวณัฎฐาธีรกานต์ ทีลิ้นฟ้า จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) )ก็ชวนกันออกแบบว่าวันนี้เราจะทำอะไร เพราะว่าเราต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งหลักการของการทำการละลายพฤติกรรม หรือบางศัพท์เขาเรียกว่า Brain Gym หรือ Brain Base ต่างๆ นี้มันเป็นการพักสมอง หรือกระตุ้นสมองบางอย่าง บางครั้งเราต้องพัก บางครั้งเราต้องกระตุ้น เพื่อให้เด็กเปิดสมองที่จะรับรู้สิ่งใหม่ๆ เข้ามา พอสมองของเขาโล่งโปร่งปุ๊บ เขาจะรู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นเวลาเราให้เขาแชร์อะไร ให้เขาทำอะไร เขาก็จะพรั่งพรูหรือสามารถปล่อยของออกมาได้เต็มที่

­

ในทุกๆ กิจกรรม หรือในทุกวันก็ตาม เราจะจบด้วยกิจกรรมที่เรียกว่า Reflection หรือการสะท้อนการเรียนรู้ด้วยคำถาม 3 F ช่วยขยายความ

สำหรับ 3 F ประกอบด้วย1.Feeling ความรู้สึก 2. Finding ความรู้ใหม่ 3. Future การนำไปใช้ในอนาคต เพื่อเป็นการ Reflection หรือการสะท้อนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองหลังการทำกิจกรรมต่างๆโดยได้ใช้ในลักษณะนี้....

Feeling ความรู้สึกเราจะชวนผู้เรียนหรือชวนน้องๆ สะท้อนความรู้สึกของเขาต่อกิจกรรมในชั่วโมงนั้นๆ หรือกิจกรรมในวันนั้นๆ หรือกิจกรรมที่เขาเพิ่งทำไปเมื่อสักครู่ว่าเขามีความรู้สึกกับกิจกรรมอย่างไรเพราะมีความเชื่อว่าการที่คนเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของตัวเองได้ หรือสามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองได้ เขาจะทำให้คนรอบข้างเข้าใจเขามากขึ้นผ่านสิ่งที่เขาบอกออกมา ให้เขาแยกออกระหว่างความรู้สึกกับความคิด ฝึกไปเรื่อยๆ เด็กหรือคนไทยหลายๆ คนจะแยกความรู้สึกกับความคิดไม่ค่อยออก ถ้าเขาสามารถแยกออกได้ คนก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผู้ฟังจะเข้าใจเขามากยิ่งขึ้น อันนี้คือ Feeling

Finding อะไรคือความรู้ใหม่เขาได้เห็นอะไรใหม่บ้าง เขาได้เห็นสิ่งใหม่เรื่องอะไร ค้นพบอะไรใหม่ อะไรคือความรู้ใหม่ ความเข้าใจใหม่ ความรู้ใหม่และความเข้าใจใหม่แตกต่างกัน ความเข้าใจใหม่คือเดิมเคยเข้าใจเรื่องนี้เท่านี้ แต่วันนี้วิทยากรพาเขาทำอะไรสักอย่าง หรือเขาได้เรียนรู้อะไรสักอย่างมา จากความเข้าใจเดิมที่มีอยู่เท่านี้มันเติมเขามากขึ้น แสดงว่าโอเค อันนี้คือความเข้าใจใหม่ ส่วนความรู้ใหม่ เขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย อยู่ๆ วันนี้จากการทำกิจกรรมเขาได้สิ่งนี้เข้ามาในสมองของเขา เขาเกิดจดจำได้

Futureการนำไปใช้ในอนาคตเขาจะนำความรู้จากข้อสอง ความเข้าใจจากข้อสองเมื่อสักครู่นี้ ไปปรับใช้ในอนาคต ในชีวิตการทำงาน การเรียน การทำโครงการ หรืออะไรก็ตามของเขา ได้อย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น จะทำให้เกิดกระบวนการกลั่นกรองตั้งแต่ความรู้สึก ความรู้ ความเข้าใจ และตกผลึกมาเป็นองค์ความรู้ของตัวเองเพื่อเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ ถ้าหากกระบวนกร พี่เลี้ยง หรือแม้แต่ตัวน้องๆ เองฝึกการทำการสะท้อนการเรียนรู้หรือ Self Reflection ด้วย 3 F เป็นประจำจะทำให้ความรู้ที่เขาได้รับมาในแต่ละครั้งจะติดตัวเขาอยู่ และสามารถหยิบจับเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เรียนจบแล้วก็แยกไป เพราะว่าย้อนกลับมาตอนที่พี่เจี๊ยบแชร์เรื่องพีระมิดสามเหลี่ยมของการเรียนรู้ คือ ฐานล่างสุดจะเป็นการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จหรือได้ผลมากที่สุด คือการที่เป็น Active Learning (กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ) ส่วนได้ผลตรงกันข้ามคือ Passive Learning (การเรียนแบบฟังการบรรยาย)

Active Learning เกิดจากการ Discussion กัน การถกกัน การวิเคราะห์ร่วมกัน การพูดคุยกัน เขาอาจจะจำได้ถึง 70 - 80 % เลยที่จะติดตัวไป แต่ให้ดีที่สุดคือความรู้นั้นผ่านกระบวนการที่เขาได้ลงมือทำเอง ได้ปฏิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญ ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ด้วยตัวเองผ่านกระบวนการอย่าง 3 F จนเขาตกผลึกแล้วสามารถนำไปต่อยอดใช้ แล้วยิ่งเขาสามารถนำความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้ด้วย เขาก็จะได้ความรู้ติดตัวอยู่ในเนื้อในตัวเขาไปตลอด ในทางตรงกันข้าม ความรู้ปัจจุบันที่เราได้รับมาส่วนใหญ่มันจะผ่านกระบวนการการสอนจากคุณครู การบรรยาย หรือการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นความรู้แบบ Passive คือเข้ามาปุ๊บ อาจจะเข้าใจในระยะหนึ่ง ถ้าคนที่มีความจำดีก็อาจอยู่ได้นานหน่อย แต่ถ้าเด็กที่มีสิ่งอื่นมาเร้า มากระทบไปปุ๊บ ความรู้ก็จะหมดลงไปได้ง่ายก็จะจำไม่ได้

บทเรียนที่นำมาอบรมให้แก่โค้ชพี่เลี้ยงและเยาวชนมีเรื่องใดบ้าง

ในวันแรกก็คือเราอยากจะชวนพี่เลี้ยงชวนน้องๆ เยาวชนให้รู้จักตัวเอง และรู้จักคนอื่นผ่านบทเรียนหรือความรู้เรื่องสัตว์สี่ทิศซึ่งสัตว์สี่ทิศมันเป็นศาสตร์ที่สำคัญและน้องหลายๆ คนก็บอกว่าเคยเรียนมาบ้างแล้ว ซึ่งเราโชคดี มีน้องที่เคยผ่านกระบวนการมาแล้วเขาบอกว่าเขาเคยเรียน เราจึงใช้โอกาสนี้ให้น้องเหล่านี้เป็นเหมือน พี่เลี้ยงคอยเสริมช่วยเพื่อนที่ยังไม่เคยเรียนให้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทำไมต้องเข้าใจคนอื่น ทำไมต้องเข้าใจตัวเรา เพราะว่าคนเราทุกคนมันจะมีบุคลิกบางอย่าง มีพฤติกรรมบางอย่าง มีคุณลักษณะบางอย่างที่จะโดดเด่นออกมาตามคุณลักษณะของสัตว์ทั้งสี่ประเภท สัตว์ทั้งสี่ทิศ

ทั้งนี้ มี 3 ลิขิต จะมีฟ้าลิขิตคือเป็นมาตั้งแต่เกิด ดินลิขิตคือเป็นลักษณะพฤติกรรมของสัตว์นั้นๆ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่อยู่ สภาพการเลี้ยง พ่อแม่ สภาพแวดล้อม ชุมชน ก็จะมีผลทำให้พฤติกรรมของเขาแสดงออกในสัตว์ประเภทนั้น กับอีกประเภทหนึ่งคือชีวิตลิขิตเอง คือบางครั้งคนเราอาจจะมีการปรับตัวหรือ Transform ตัวเองให้เป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งเพื่อเหตุผลบางประการด้วยตัวเขาเอง เช่น อยากเติบโตในหน้าที่การงาน จะทำอะไรก็ได้ ยิ่งถ้าเขารู้จักตัวเองว่าเขาเป็นคนประเภทไหน คนทิศไหน แล้วก็รู้จักคนรอบข้าง สามารถอ่านคนรอบข้างได้ว่าคนแบบนี้เขาทำพฤติกรรมแบบนี้เพราะว่าเขาเป็นคนประเภทนี้ เป็นสัตว์ประเภทนี้ เป็นคนทิศนี้ เขาก็จะได้เอาจุดที่เขาชอบ ไม่ชอบ มาปรับ และเวลาเขาไปปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นก็จะทำให้ง่ายขึ้นเพราะฉะนั้นเมื่อคนเราสองคนมันคลิกกัน ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยร่วมกัน เขาก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้อันนี้คือสิ่งที่เราอยากให้น้องๆ และพี่เลี้ยงได้

ทีนี้ ในตัวสัตว์สี่ทิศ กระบวนการวันนี้พี่ก็พาผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ด้วยกัน อันแรกคือให้เขาไปหยิบการ์ดมา 2 ใบ รูปถ่ายนะครับ โดยการ์ด 2 ใบนี้ ใบแรกคือพอเขาเห็นปุ๊บ เขาบอกเลยว่ารูปนี้คือตัวฉันเลย เหมือนเลย เห็นปุ๊บ บุคลิกแบบนี้นี่คือฉัน หรือสีแบบนี้ ภาพแบบนี้ คือตัวฉันกับอีกแบบหนึ่งคือมีคนหลายๆ คนมักจะบอกว่าฉันเห็นภาพนี้แล้วฉันนึกถึงเธอเลย เธอเป็นคนแบบนี้ เธอเป็นคนลักษณะแบบนี้ เมื่อเขาได้ภาพ 2 ภาพมาแล้วก็ให้เขาแชร์กับเพื่อน เนื่องจากวงค่อนข้างใหญ่ก็เลยให้เขาแชร์ในกลุ่มแล้วทุกคนได้แชร์ ได้เล่าให้เพื่อนฟังผ่านภาพเหมือน เป็นการแนะนำตัวเองว่าฉันเป็นคนบุคลิกลักษณะแบบนี้ ท่าทางแบบนี้ แล้วคนอื่นมักมองฉันแบบนี้ เหมือนการแนะนำตัวไปในกลุ่มย่อยของเขา และสุดท้ายก็มีการขออาสาสมัครว่าใครอยากแชร์ให้คนอื่นฟังแล้วก็เล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นอย่างไร อันนี้เป็นการปูให้เข้าใจก่อนว่าให้เขาเข้าใจตัวเขาผ่านคนลักษณะที่คนอื่นเห็นมันเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นก็จะโยงเข้าสัตว์สี่ทิศสัตว์สี่ทิศมีอะไรบ้าง ก็มีบนสุดคือทิศเหนือคือตัวกระทิง ซึ่งบุคลิกของแต่ละสัตว์ก็จะมีฝั่งตรงข้ามกันเสมอ มีกระทิง ฝั่งข้างล่างสุดก็จะเป็นหนู ฝั่งขวาก็จะเป็นอินทรี ฝั่งซ้ายก็จะเป็นหมี ก็เริ่มให้เขารู้จักสัตว์ทั้งสี่ทิศ

อันแรกก็คือกระทิงคุณลักษณะของกระทิงก็คือเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง ว่องไว กล้าหาญ เพราะฉะนั้นคนที่มีบุคลิกของความแข็งแรง มีความเป็นผู้นำ มีความมุมานะ มุ่งมั่น มุ่งหวังกับเป้าหมายจึงเป็นคนที่อยู่ในลักษณะของกระทิง ไม่ค่อยสนใจเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นถ้าได้รับมอบหมายงานมาแล้ว หรือเขาอยากจะทำอะไรปุ๊บ เขาจะพุ่งไปที่เป้าหมาย เขาจะทำเต็มที่ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จในงานนั้นๆ อันนี้คือลักษณะของคนที่เป็นกระทิง

ฝั่งตรงกันข้ามคือคนที่เป็นหนูหนูเป็นสัตว์สังคม ชอบเจาะแจะไปเรื่อย ชอบคุย ชอบหาอะไรที่อยู่ใกล้ตัวทำเยอะแยะมากมาย เพราะฉะนั้นหนูก็จะแทนคุณลักษณะของคนที่เพื่อนเยอะ ชอบคุยมากกว่าชอบทำถ้าให้หนูทำงานอะไรสักอย่าง อย่าเพิ่งสั่งงาน ชวนคุยเรื่องละครก่อน ชวนคุยเรื่องดินฟ้าอากาศก่อน หรือแม้แต่หนูมาหาเรา จะมาขอความช่วยเหลือจากเรา ไม่ได้บอกเราตรงๆ ทันที กว่าจะคุยกับเราได้ ชักแม่น้ำทั้งห้าก่อน อันนี้คือลักษณะพิเศษของหนู

ส่วนอินทรีเป็นสัตว์ที่บินสูง เขาจะมีมุมมองที่กว้างไกล เป็นลักษณะเหมือน Bird Eye View ที่จะเห็นภาพรวมทั้งหมด อินทรีทำอะไรว่องไวโฉบเฉี่ยว เพราะฉะนั้นคนที่เป็นลักษณะของอินทรีคือชอบอะไรใหม่ๆ ชอบความตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง คิดเยอะ คิดการณ์ไกล มองเห็นอะไรเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นนักคิดแต่ไม่ใช่นักทำคิดใหม่แล้วก็ทำอะไรได้เยอะแต่จะทำได้ไม่นาน เช่น ได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นนี้ ตอนแรกก็ทำสนุกสนาน พอสักพักจะเริ่มเบื่อแล้ว ก็จะไปหางานอื่นทำแทน ในขณะที่งานเดิมอาจจะทิ้งไปก็ได้

ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือหมีหมีเป็นสัตว์ที่อยู่ในถ้ำ ชอบจำศีล ทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ กินอาหารเหมือนเดิม นิ่งๆ ไม่ขยับตัว อยู่ในความปลอดภัย อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นลักษณะของคนที่ทำอะไรก็ทำตาม ทำงานตามขั้นตอนจาก 1 ไป 2 คุณจะมา 1 แล้วไป 4 ไม่ได้ ต้อง 1 2 3 4 ไปตามสเต็ป ตามขั้นตอน ทุกอย่างต้องปลอดภัย ถ้าจะให้คิดอะไรที่ลงทุนมากมายแล้วได้ผลตอบแทนไม่ดี หมีจะไม่ทำ อันนี้คือคุณลักษณะเด่นของสัตว์ทั้งสี่ทิศ

ทีนี้พอจูนน้องๆ และพี่เลี้ยงให้รู้จักคุณลักษณะของสัตว์ทั้งสี่ประเภทแล้ว เราก็ให้เขาพิจารณาตัวเองว่าเขามีคุณลักษณะแบบนี้ในสัตว์ประเภทอะไรบ้าง แล้วก็ไปรวมกลุ่มกัน จากนั้นก็ท้าทายเขาต่อด้วยการให้เขาคุยกันว่าเขาในฐานะที่เขาอยู่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน เป็นคนในกลุ่มเดียวกันนั้น ตัวตนของเขาเป็นแบบไหน ให้เขาช่วยกันเขียนออกมา และคนแบบไหนถ้าเขาจะต้องไปติดต่อปฏิสัมพันธ์ด้วย ลักษณะแบบไหนที่เขาชอบ แล้วแบบไหนที่เขาไม่ชอบเลย เพื่อที่เขาจะเล่าให้คนอื่นฟัง จากนั้นทุกกลุ่มเมื่อระดมเสร็จแล้วเราก็ให้ออกมานำเสนอ เหตุผลที่ต้องการให้นำเสนอเพราะว่ายกตัวอย่างอินทรีออกมานำเสนอ เขาก็จะบอกว่าตัวเองเป็นคนแบบนี้ ประเภทแบบนี้ ให้เขาไปคิดลักษณะที่เขามีเพิ่มเติมจากที่เรายกตัวอย่างไปให้ แล้วก็ดูว่าถ้าอยู่กับคนอื่น อินทรีจะปฏิบัติอย่างไร ชอบคนแบบไหน และไม่ชอบคนแบบไหนเลยที่ถ้าเขามาทำลักษณะหรือพฤติกรรมแบบนี้ อินทรีเลือกที่จะไม่คุยด้วย เลือกที่จะไม่คบเป็นอย่างไร ขณะที่อินทรีนำเสนอ สัตว์ประเภทอื่นก็จะได้ฟังว่าฉันเป็นคนแบบนี้ ฉันชอบเจาะแจะแบบนี้ อินทรีไม่ชอบ เขาก็จะได้ระวังตัวถ้าเขาจะต้องไปติดต่อกับอินทรี อะไรแบบนี้ครับ เพราะฉะนั้นทั้งสี่กลุ่มก็จะได้ออกมานำเสนอตัวตนของตัวเอง สิ่งที่ชอบและไม่ชอบของตัวเอง ในอีก 3 กลุ่มที่เป็นผู้ฟังก็จะได้วิเคราะห์ว่าฉันต้องไม่ทำแบบนี้ถ้าฉันต้องไปติดต่อกลุ่มนี้ แต่ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ นี่คือวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันที่หนึ่ง

ทีนี้จริงๆ แล้วในสัตว์สี่ทิศมันเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้กันมานาน มันเป็นศาสตร์ที่มีอยู่มานานแล้ว แต่พี่โชคดีที่ได้ไปเรียนกับอาจารย์ด็อกเตอร์วรภัทร ภู่เจริญ ซึ่งท่านก็เพิ่มเติมต่อยอดว่าจริงๆ แล้ว พฤติกรรมของคนเรามันอาจจะมีบางอย่างที่มันแปลกแตกต่างไปจากสัตว์สี่ทิศที่ว่ามา โดยมีลักษณะของการผสม หรือรวมลักษณะเด่นของสัตว์แต่ละประเภท หรือคนแต่ละบุคลิกมาปรุงแต่งหรือปรับให้เป็นของตัวเอง มันก็เลยมีสัตว์เพิ่มมาอีก 4 ประเภทโดยอยู่แกนกลางระหว่างสัตว์ที่อยู่ใกล้เคียงกันมาเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นคนที่เป็นกระทิงเมื่อเอาลักษณะเด่นของกระทิงที่เป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน ทำงานแบบหวังผลแบบที่กำหนดไว้มารวมกับคนที่มีลักษณะเด่นของอินทรีคือนักคิด เจ้าโครงการ คิดโครงการ คิดอะไรใหม่ๆ เยอะแยะ ถ้าเอาสองอย่างมารวมกัน มันจะเป็นคนอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าเป็นมังกร ซึ่งมังกรเป็นลักษณะของคนที่คิดเองและทำเอง เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จะรู้รอบในเรื่องที่เขาอยากจะทำ จึงเป็นคุณลักษณะของมังกรที่มีความเติบโต มีอนาคตที่จะเป็นเจ้าสัว ส่วนใหญ่เป็นเจ้าสัว คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเยอะๆ

อีกด้านหนึ่งเอาลักษณะเด่นของอินทรีรวมกับลักษณะเด่นของหนูก็เลยกลายมาเป็นค้างคาวเหมือนนกมีหูหนูมีปีก เอาลักษณะของคนที่แคร์คนอื่นคือหนู มีเพื่อนเยอะ มาผสมกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักคิดอย่างอินทรีเมื่อมารวมกันก็จะเป็นนักการสื่อสารเหมือนค้างคาว คิดเอง ทำเร็ว และแคร์คนอื่นมากๆ ด้วย มีเพื่อนฝูงเยอะ ดังนั้นคนลักษณะแบบนี้คือนักประชาสัมพันธ์ เป็นที่รักของคนอื่น ให้กิจกรรมอะไรไป คนเหล่านี้จะประสานคนอื่นได้ดีอันนี้ก็จะเป็นที่มาของสัตว์ตัวที่ 6

ต่อมาตัวที่ 7 เป็นสัตว์ที่รวมคุณลักษณะเด่นของหมีรวมกับหนูก็จะเป็นหมาป่าหมาป่าจะเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมชอบอยู่เป็นฝูง เวลาไปไหนจะไปเป็นฝูง หรือแม้แต่การล่าเหยื่อเขาก็จะชอบทำอะไรเป็นฝูง เหมือนลักษณะของหนูที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ และเขาก็จะทำอะไรเป็นแบบแผนเช่น หมาป่าจะล่าสัตว์หนึ่งตัว แม้แต่สัตว์ตัวใหญ่ก็ตาม เขาจะไม่ล่าตัวคนเดียว แต่เขาจะล่าเป็นฝูง เขาจะมีการวางแผนกัน โดยหัวหน้าหมาป่าให้สัญญาณ หอนบอกเพื่อน ชุดแรกวิ่งประกบซ้าย หอนอีกทีอีกชุดวิ่งประกบขวา ไล่เหยื่อ เขาจะมีกลยุทธ์ มีการวางกลยุทธ์กัน วางรูปแบบไว้ชัดเจน

ส่วนตัวสุดท้ายจะเป็นคุณช้าง คือเป็นคุณลักษณะของหมีที่ทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ เน้นความปลอดภัยบวกกับกระทิงที่เป็นนักทำ นักลงมือปฏิบัติ นักเป้าหมาย จึงกลายเป็นช้างซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามคนที่มีลักษณะเป็นช้างคือคนที่รักความปลอดภัย และเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ และทำงานได้ดีด้วย และทำเป็นแบบแผน ไม่จับฉ่ายอันนี้คือคุณลักษณะของช้าง รวมทั้งหมดคือเป็นสัตว์แปดทิศ ซึ่งทางอาจารย์ได้ถ่ายทอดมาก็เลยเอาเวทีนี้มาถ่ายทอดให้น้องๆ และพี่เลี้ยงของนักถักทอชุมชนให้ได้เรียน เพราะหลังจากนี้เขาจะต้องลงไปทำโครงการของเขาอีก 6 เดือน เขาจะต้องปฏิสัมพันธ์กับพี่เลี้ยงหรือแม้แต่เพื่อนในกลุ่มของเขาเอง ชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน คนในหมู่บ้าน เขาก็ต้องดูว่าถ้าผู้ใหญ่บ้านเป็นแบบนี้ คุณครูมีคุณลักษณะแบบนี้ เขาเป็นคนอีกลักษณะหนึ่ง เขาจะต้องปรับตัวเองอย่างไรในการเข้าไปหาข้อมูล เข้าไปขอความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้ได้อย่างไร ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่จะนำลงไปทำงานจริงครับ

­

หัวข้อเรื่อง Financial Literacy

เรื่อง Financial Literacyเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ได้รับจากพี่แอ๋ม เนื่องจากเป็นการทำโครงการ น้องๆ จะได้รับการอนุมัติงบประมาณในการทำโครงการอันนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือปัญหาเรื่องการเงิน ปัญหาเรื่องการใช้เงิน ภาระหนี้สินหรืออะไรก็ตามในคนไทยหลายๆ คนหรือในชุมชนต่างจังหวัดเอง จะมีปัญหาเรื่องภาระหนี้สิน มีปัญหาเรื่องการไม่มีเงินออม ปัญหาเรื่องการไม่รู้จักใช้เงิน ทำให้เกิดหนี้สิน มีปัญหาตามมาเยอะแยะมากมาย ดังนั้นเราจึงอยากใช้เวทีนี้ ใช้โอกาสนี้ในการสร้าง Mindset หรือสร้างกรอบความคิดบางประการให้กับน้องๆ ให้เขารู้จักใช้เข้าใจเงิน

กระบวนการวันนี้ก็คือพาเขารู้จักว่าในมุมของเขา เขาคิดว่าเงินมันคืออะไร เป็นเรื่องที่หนึ่ง ชวนเขาคิดว่าเงินในความคิดของเขามันคืออะไร มันมีความหมายกับตัวเขาอย่างไรบ้าง ให้เขาสะท้อน เราได้บทเรียนจากวันแรกว่าน้องๆ ค่อนข้างที่จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นออกมาทางการพูดมากนัก เราจึงเลือกที่จะให้เขาเขียนลงโพสต์อิท ก็พบว่าเขาเขียนออกมาได้เยอะมาก ได้เยอะกว่าการที่ต้องพูดออกมา ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง เขาอาจจะเขินหรือเขาอาจจะอายเพื่อน เราให้เขาเขียนออกมา อันที่สองก็คือชวนเขาคิดต่อว่าแล้วอะไรในชีวิตของเขาที่เขาซื้อด้วยราคาที่แพงที่สุด ตั้งแต่เขาจำความได้จนถึงปัจจุบัน เขาซื้ออะไรที่แพงที่สุด เพราะอะไรเขาจึงซื้อ เขาซื้อไปทำไม แล้วมันมีประโยชน์อะไรกับเขาหรือเปล่า เหมือนเราชวนเขาคิดว่าของที่เขาซื้อมา ณ ตอนนั้น เขารู้สึกอะไร ซึ่งจริงๆ มันเชื่อมโยงมาจากภาคเช้าที่พี่เจี๊ยบได้สอนเรื่อง EF เรื่องการยับยั้งชั่งใจ หรือเรื่องการใช้สมองในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ก็เชื่อมโยงเขาให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้เชื่อมต่อกันมา แล้วก็ให้เขาแชร์ โดยใช้เทคนิคเดิมคือให้เขียนบนโพสต์อิทแล้วแชร์ให้คนอื่นฟัง จากนั้นเราก็พาเขาไปต่อด้วยการให้เขาเข้าใจพฤติกรรมการใช้เงินของคนในสังคมในปัจจุบัน หรือแม้แต่วัยรุ่นเอง หรือตัวพี่เลี้ยงเอง บางทีก็จะมีการทำพฤติกรรมบางอย่าง ก็จะเห็นว่าในปัจจุบัน แม้แต่น้องๆ ที่เริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว หรือตัวพี่เลี้ยง หรือคนในชุมชน หรือคนในสังคมปัจจุบันก็จะมีพฤติกรรมการใช้เงินเกินตัว หรือพฤติกรรมที่อยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ อยากเป็น Celeb อยากเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม อยากให้ตัวเองมองดูแพง มองดูหรู ด้วยการสรรหาหรือใช้ของที่ฟุ่มเฟือยหรือเกินตัวหรือมีจำนวนมากเกินไป

ขั้นตอนนี้เราก็พาเขาไปดูวิดีโอของคุณนายออม คุณนายออมเดอะซีรีส์ เป็นคลิปวิดีโอที่ SCBทำแล้วปล่อยออกมาในโลกโซเชี่ยลผ่าน Youtube สามารถไปค้นหาด้วยคำว่าคุณนายออมเดอะซีรีส์ ซึ่งตอนแรกมันจะเป็นตอน “ชีวิตด้านมืดของคุณนายออม”จากภาพสาวสวยสาวสังคมชั้นสูงที่หรูหราฟุ้งเฟ้อดูแพงดูหรู แต่จริงๆ แล้วเขามีภาระหนี้ที่ซ่อนอยู่เยอะแยะมากมาย เขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด สุดท้ายโชคดีที่คุณนายออมเปลี่ยนตัวเองแล้วไปศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้การเข้าใจเงิน การเอาเงินไปต่อยอด การเคลียร์หนี้สิน จนสุดท้ายคุณนายออมก็มีความรู้แตกซ่าน จากผมดำกลายมาเป็นผมขาว แล้วมาเป็นคุณนายออมเพื่อมาช่วยคนอื่นที่มีปัญหาเรื่องการเงินในอนาคตต่อไป

พอเขาดูคลิปนี้เสร็จ ก็ชวนน้องๆ ถอดบทเรียนว่าเขาได้อะไรด้วย 3 F ที่ว่ามา หลังจากนั้นพอเขาแชร์เสร็จก็ชวนเขาต่อด้วยคลิปของซ็อตซินโดรมๆ เป็นพฤติกรรมของคนหลายๆ คน โดยเฉพาะวัยทำงานหรือน้องๆ เองที่บอกว่าได้เงินจากพ่อแม่แต่ละอาทิตย์ วันแรกที่ได้เงินมาก็จะใช้กันเต็มที่โดยที่ปลายอาทิตย์หรือปลายเดือน เงินก็จะไม่พอใช้แล้วก็จะเกิดอาการซ็อตซินโดรม คุณนายออมก็ชวนคิดว่าในเงินหนึ่งก้อนเขาจะแบ่งอย่างไรบ้าง เงินฝาก 10% ก่อนเลย หักไว้ก่อนเลย จากนั้นก็มีเงินใช้ เงินช่วย เงินช็อป เงินชิล เขาก็ให้น้องเห็นภาพชัดเจนขึ้น จากนั้นเราชวนเขาถอดบทเรียนว่าคุณนายออมให้อะไรบ้าง

เมื่อจบคลิปก็จะเป็นช่วงของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมการใช้เงิน ว่าการออมเงิน หรือสมการความมั่งคั่งมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากกำไรได้เข้ามา ลบเงินออมก่อน เอาเงินออมมาก่อนแล้วค่อยเป็นรายจ่าย เพราะว่าหลายๆ คนมักจะมีแนวความคิด ยกตัวอย่างเมื่อวานน้องๆ บอกว่าจะออมก็ต่อเมื่อเหลือก่อนแล้วค่อยออม ซึ่งจริงๆ แล้วอยากจะชวนทุกคนเปลี่ยน Mindset ว่าพอได้เงินมาก้อนหนึ่ง ให้แบ่งเงินออมออกไปก่อนแล้วเราจะได้เงินก้อนหนึ่งเอาไว้เป็นเงินใช้ หรือรายจ่าย มันจะทำให้การออมเงินของเราดียิ่งขึ้น แต่การออมเงินอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดความมั่งคั่ง มันอาจแค่พอมีกินมีใช้ แต่ถ้าอยากจะมั่งคั่งหรืออยากเป็น Financial Freedom ก็คือมีอิสรภาพทางการเงินจริงๆ คือคุณต้องเอาเงินออมเหล่านั้นไปต่อยอด ในการลงทุนต่างๆ ซึ่งน้องๆ ยังเด็กอยู่ เราก็แค่ปู Mindset หรือปูแค่สมการให้เขาเห็นภาพว่าโอเค เงินที่มีต้องแบ่งอย่างไร แล้วต้องเอาไปออม ออมแล้วเอาเงินไปทิ้ง ถ้าออมทิ้งไว้ คุณค่าเงิน มูลค่าเงิน มันจะลดน้อยลงจากภาวะเงินเฟ้อหรืออะไรก็ตาม แต่เงินที่ออมควรเอาไปทำอะไร ซึ่งภาพที่เห็นได้ชัด ขอยกตัวอย่างเรื่องการมีน้ำในตุ่ม การฝากเงินเหมือนน้ำในตุ่ม ถ้าน้ำเต็มตุ่มแล้ววางทิ้งไว้ไม่ทำอะไร น้ำอาจจะระเหยไป ปริมาตรของน้ำจะลดลงไปได้ แต่ถ้าคุณเอาน้ำเหล่านี้ไปรดต้นไม้ ไปรดผัก คุณสามารถได้ผักงอกเงยเอาไปกิน เอาไปขายได้ เหมือนกันกับเงินออม เอาไปต่อยอด เขาก็จะมั่งคั่งได้ในอนาคตนั่นเอง

โดยสรุปคือวันนั้นเราอยากให้น้องได้กรอบความคิดหรือ Mindset บางอย่างให้เข้าใจเรื่องของการออมเป็นหลัก แล้วให้เข้าใจว่าเงินมันมีคุณค่าอย่างไร เพราะสุดท้ายเขาต้องไปทำงาน เช่น ถ้าเขาทำโครงการ เงินที่เขาได้มามันมีคุณค่า มันจะทำอย่างไรที่จะทำให้โครงการของเขาประสบความสำเร็จ เมื่อได้เงินมาแล้วเขาจะไปต่อยอดจากงบประมาณที่ได้รับมาในก้อนแรกแล้วทำแล้วได้ผลได้กำไรขึ้นมา เขาจะต่อยอดได้อย่างไรให้มันเกิดความยั่งยืนในอนาคตได้นั่นคือวัตถุประสงค์ที่เราอยากได้จากน้องๆ ครับ”

กระบวนกรได้ขยายความเบื้องหลังความคิดในการอบรมครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ หากจะมีใครนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย.

ติดตามกิจกรรมขับเคลื่อนเวทีได้ที่นี่

­