“อ๋าย”พัฒนาแกนนำเยาวชนให้มีขึ้นมาต่อจากรุ่นพี่
....................................
นิดติยา เห็นสิน หรืออ๋าย ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ เป็นหนึ่งในเยาวชนแกนนำของเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่ได้มาเข้าร่วมค่าย 10 วัน ในครั้งนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองชัดเจน จึงนำมาแชร์ให้ฟังกัน
ในค่ายนี้ชอบอะไรมากที่สุด
ในค่ายนี้ชอบทุกอย่าง เพราะว่าทำให้เราสนิทกับเพื่อนที่มาจากต่างถิ่น
มีประโยชน์อย่างไรกับการรู้จักเพื่อนต่างถิ่น
ยกตัวอย่างจากเรื่องเกม โดยช่วงแรกที่มายังไม่รู้จักใคร ทำให้เกมสำเร็จไปช้า แต่พอช่วงหลังเราเริ่มสนิท เริ่มรู้จักคุ้นเคยกันแล้ว เลยทำให้เกมมีการวางแผน มีการคุยกัน ช่วยกันแสดงความคิดเห็น และทำให้เกมสำเร็จไปได้เร็วกว่าแต่ก่อน
ในค่ายนี้อยากจะพัฒนาอะไรในตัวเราเอง
คิดว่าอยากพัฒนาเรื่องความคิดของเรา โดยให้เรากล้าแสดงออก กล้าลุกมาเป็นผู้นำ เพื่อนำน้องๆ และกล้าจะกลับไปพัฒนาชุมชน กล้าที่จะนำน้องๆ ให้ช่วยพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาชุมชน
สิ่งที่ได้จากค่ายในครั้งนี้ได้ในเรื่องความคิดเป็นขั้นตอน
จากแต่ก่อนแค่คิดและผ่านไป แต่ค่ายนี้ทำให้เราคิดและเจาะลึกลงไป การคิดเป็นขั้นเป็นตอนสามารถนำไปใช้ในการเรียนได้ เพราะว่าเรียนสายอาชีพก่อนจบก็ต้องมีโปรเจ็ค ต้องคิดเป็นขั้นตอน ต้องวางแผน
การเข้าทำให้เราเปลี่ยนแปลงตนเองด้านใดบ้าง
ก่อนหน้านี้เคยเข้าค่ายเยาวชน 21 วัน (ค่ายการสร้างเครือข่าย และพัฒนาภาวะการนำของแกนนำเด็กและเยาวชน : สร้างไฟฝันปั้นอุดมคติให้เบ่งบาน) ที่บ้านดิน จังหวัดขอนแก่น สิ่งที่ตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในเรื่องการเรียนเช่น หากครูสั่งงานมา เรากล้าจะรับงานเพื่อมาประสานให้เพื่อนต่อ และกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าพูดกับครูมากขึ้น กล้าพูดกับเพื่อนมากขึ้น หลังจากกลับจากค่าย 21 วัน มีการทำโครงการ และเราได้คิดโครงการเกี่ยวกับขยะ เมื่อกลับไปเราก็ได้คิดวางแผนว่าเราจะเริ่มวันไหน จะลงมือทำวันไหน และเราหารายชื่อน้องๆ ในชุมชนว่ามีกี่คน แล้วแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มตามคุ้ม คุ้มละประมาณ 10 คน จากนั้นช่วยกันเดินเก็บขยะรอบหมู่บ้าน มีผลลัพธ์ที่ดีเพราะหมู่บ้านเราสะอาดขึ้น และชุมชนเห็นว่าดีเพราะแต่ก่อนขยะไหลลงท่อระบายน้ำ มีการอุดตัน แต่พอพวกเราไปทำโครงการทำให้คนในชุมชนรู้สึกดีขึ้น ตอนนี้ขยะลดลงไปเยอะเพราะว่าในชุมชนของเราได้มีการให้แต่ละครัวเรือนจัดการขยะในบ้านของตัวเองด้วยการคัดแยกขยะ ทำให้ไม่ค่อยมีขยะตามร่องน้ำแล้ว
สำหรับการค่ายครั้งนี้ (ค่าย 10 วัน) มีการเปลี่ยนแปลงด้านใดบ้าง
จากค่ายที่แล้วซึ่งเป็นค่ายครั้งแรกเหมือนเราติดเล่นมากกว่า แต่พอค่ายนี้เราได้เห็นว่าเราเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ดีขึ้นมีบุคลิกภาพดีขึ้นไม่ติดเล่น เวลาทำงานก็คือทำงาน เวลาเล่นก็ส่วนเล่น
เล่าโครงการที่จะกลับไปทำที่ชุมชน
โครงการที่เราเลือกเป็นโครงการเกี่ยวกับแกนนำเยาวชน เพราะว่าแต่ก่อนมีพวกพี่ๆ แกนนำเยาวชนทำกิจกรรมต่างๆ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัญหาคือ เด็กไม่อยากขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่อยากลุกขึ้นมาช่วยเป็นคนจัดการให้น้องๆ มาร่วมกิจกรรม ทำให้ขาดแกนนำเยาวชน เราเลยเลือกปัญหาที่ไม่มีแกนนำเยาวชนในชุมชน เพื่อที่จะทำโครงการหาแกนนำเยาวชนให้กับหมู่บ้าน เราเลือกทำที่หมู่ 3 บ้านเมืองแก บ้านของเราค่ะ
วิธีการและกระบวนการที่จะทำมีคิดกันไว้บ้างหรือไม่
จะเดินสำรวจว่ามีน้องๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านกี่คน แล้วจัดค่ายเล็กๆในหมู่บ้าน 1 วันขึ้น เพื่อถึงเวลาจบจากค่ายจะได้เลือกใครขึ้นมาเป็นผู้นำแกนนำเยาวชนได้ เมื่อสำรวจเสร็จแล้ว เราจะนำโครงการเราเข้าที่ประชุมในหมู่บ้าน
และเสนอโครงการว่าเราจะทำ เพื่อให้ผู้ปกครองของเด็กในชุมชนได้รู้ด้วยว่าเราจะทำโครงการพัฒนาแกนนำเยาวชนให้มีขึ้นมาต่อจากรุ่นพี่คิดว่าถ้าเราร่วมมือกันน่าจะสำเร็จไปได้ด้วยดีค่ะ
กระบวนการที่ทำให้น้องๆ อยากมาเป็นแกนนำเยาวชน
เราต้องบอกน้องว่าการที่เราจะลุกขึ้นมาช่วยชุมชน ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำเยาวชน ส่งผลดีกับตัวเราในอนาคตเราคิดว่าถ้าเด็กจะอยู่บ้านเฉยๆ เล่นโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกม แต่ถ้าเราชวนน้องๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ก็เหมือนเปลี่ยนจากเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้ จะได้รู้จักชุมชนของเรามากขึ้นได้รู้จักวัฒนธรรมของชุมชน ได้รู้จักการทำงานของคนในชุมชนด้วย และคิดว่าจำเป็นต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะว่าถ้าเราโตไปแล้วเราไม่ได้ทำงาน อยู่แต่ในโลกส่วนตัวของเรา อยู่แต่กับที่บ้านไม่ออกไปช่วยงานชุมชน ไม่รู้จักคนอื่น ต่อไปเขาก็ไม่รู้จักเราแล้วเขาก็ไม่รู้ว่าจะพูดกับเราอย่างไร เหมือนเราอยู่คนเดียวตลอด เราก็ไม่กล้าเข้าหาคนอื่น และทำให้เกิดผลดีคือเด็กไม่เอาเวลาว่างไปทิ้งกับการเล่นเกมเล่นอินเตอร์เน็ตช่วยพัฒนาด้านความคิด การกล้าแสดงออก การกล้าพูดกล้าทำ กล้าเข้าหาคนอื่นและการเข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกทักษะให้กับน้องๆ ต่อไปในอนาคตเมื่อไปทำงาน คิดว่าเขาจะกล้าพูดกล้าเข้าหาเพื่อนร่วมงาน กล้าที่จะแสดงออกไป ในทางที่ดีมากกว่าทางลบ
การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก มีความคิดเห็นอย่างไร
การทำงานร่วมกันของเด็กกับผู้ใหญ่ คือเด็กได้แสดงความเห็นใหม่ๆ ผู้ใหญ่ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ ไม่ใช่รับฟังแต่ความคิดเห็นของผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว เพราะเด็กก็อยากมีส่วนร่วมอยากคิดอยากแสดงออก สมมติมีงานบุญประเพณีขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ทำก็เหมือนทำซ้ำๆ เดิมๆ แต่ถ้าเด็กเยาวชนไปช่วยคิดและวางแผนว่างานนี้จะทำอย่างไร ก็เหมือนได้ความคิดใหม่ๆ ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ น่าจะเกิดผลดีกับผู้ใหญ่และเด็ก อยากฝากผู้ใหญ่ว่าถึงแม้เราจะเป็นเด็กอายุยังน้อย แต่ความคิดของเราก็มีสิ่งใหม่ๆ มาให้กับคนในชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดที่ “อ๋าย” ได้สะท้อนให้เห็นว่าการผ่านค่ายทำให้ตัวเองเป็น “ผู้ใหญ่” ขึ้น
ถอดบทเรียน จากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล